“ความหลากหลายเป็นความสวยงามของประเทศชาติ ไม่ใช่ว่าหลากหลายคือความแตกต่างและแตกแยกไป”
กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงกันในวงกว้างสำหรับ #saveบางกลอย และเรื่องราวของพี่น้องชาวกะเหรี่ยงบางกลอย เมื่อพวกเขาพยายามหวนกลับคืนสู่ผืนดินเกิดที่จากมา หลังจากถูกรัฐไล่รื้อและบังคับให้อพยพมาอยู่ในถิ่นที่แตกต่าง และยังต้องสูญเสียพี่น้องคนสำคัญอย่าง ‘บิลลี่ – พอละจี รักจงเจริญ’ ไปอย่างไม่หวนกลับ
นโยบายทวงคืนผืนป่าก็อย่างหนึ่ง ความพยายามผลักดันให้ผืนป่าแก่งกระจานกลายเป็นพื้นที่มรดกโลกก็อาจมีส่วน แต่ดูเหมือนว่าปัญหาหลักๆ ยังคงเป็นเรื่องเดิมกับเมื่อหลายสิบปีที่แล้วคือ ความไม่เข้าใจของภาครัฐในวิถีชีวิตที่แตกต่างมากกว่า หรือพูดภาษาง่ายๆ ‘ใจยังไม่กว้างพอ’
แต่นอกจากพี่น้องกะเหรี่ยงบางกลอยแล้ว ในประเทศไทยยังมีกลุ่มชาติพันธุ์อีกกว่า 40 กลุ่ม และมีประชากรมากถึง 3,000,000 คน ซึ่งไม่ใช่จำนวนที่น้อยเลย และพวกเขาล้วนประสบทั้งปัญหาร่วมกันและแตกต่างกันบางประการขึ้นกับบริบทของพื้นที่และวิถีชีวิต
The MATTER จึงติดต่อพูดคุยกับ ศักดิ์ดา แสนมี่ เลขาฯ สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ถึงมุมมองต่อเหตุการณ์กะเหรี่ยงบางกลอยที่เกิดขึ้น ทั้งในฐานะเลขาฯ สภาชนเผ่าพื้นเมืองประเทศไทย องค์กรที่ทำหน้าที่แทนปากเสียงของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ และในฐานะหนึ่งในชาติพันธุ์ลีซู อีกหนึ่งกลุ่มชาติพันธุ์ของประเทศไทย และที่สำคัญคือ ความคืบหน้าใน พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองที่ขณะนี้กำลังอยู่ในกระบวนการรวบรวมรายชื่อเพื่อยื่นสู่สภา
ประเด็นที่พูดถึงกันมากในตอนนี้คือ พี่น้องกะเหรี่ยงบางกลอย สิ่งที่เกิดขึ้นมันสะท้อนความไม่เข้าใจระหว่างภาครัฐกับกลุ่มชาติพันธุ์อย่างไรบ้าง
มันสะท้อนความไม่เข้าใจของรัฐในการแก้ปัญหาพี่น้องกะเหรี่ยงบางกลอย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกอพยพมาตั้งแต่ 2539 ตรงนี้มันเป็นปัญหาเพราะไปมองว่าเขาไม่ใช่คนไทย เป็นคนอื่น เลยต้องเอาเขาออกมาจากเขตป่า ทั้งที่เขตป่าเหล่านั้นมาประกาศทีหลัง และพวกเขาเป็นชุมชนดั้งเดิมตั้งมาอยู่เป็นร้อยๆ ปีแล้ว
ผมมองว่าภาครัฐต้องไม่เอาแต่ยึดกฎหมายและนโยบาย แต่ต้องเอาข้อเท็จจริงเป็นตัวตั้ง ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้เขาสามารถใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่เดิมได้ ไม่ใช่ไปอพยพเขาออกและมาแล้วมีปัญหาในพื้นที่ใหม่อีก เพราะพื้นที่จัดสรรให้ส่วนใหญ่ก็มีคนอาศัยอยู่แล้ว ไม่ก็ทำกินไม่ได้ หรือไม่เพียงพอ ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนนโยบายแบบนี้ คนที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ทั้งประเทศซึ่งมีหลายชุมชนก็จะพบกับปัญหาเดียวกัน
โดยเฉพาะนโยบายทวงคืนผืนป่า ซึ่งแม้จะมีคำสั่งที่ไม่กระทบกับคนยากไร้ หรือคนที่มีชีวิตอยู่ก่อน แต่ข้อเท็จจริงคือเจ้าหน้าที่รัฐก็ใช้เป็นข้ออ้างในการขับไล่ไม่ให้คนบางกลุ่มอยู่ในพื้นที่ตัวเองได้อยู่ดี
ปัญหาเหล่านี้ต้องเอาข้อเท็จจริงเป็นตัวตั้ง เพราะต้องเข้าใจว่าถ้าชาวบ้านไม่ถูกทุนเข้าไปทำลายวิถีชีวิตที่อยู่กับธรรมชาติ ทั้งชีวิตเขาก็อยู่รอดได้ เพราะเขามีวิถีการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน มีความเคารพธรรมชาติ วิถีเขาควรจะอยู่ในเขตป่ามากกว่าผลักให้เขามาอยู่ข้างนอก ซึ่งพอผลักออกมาก็มีปัญหามากมายตามมาที่รัฐไม่สามารถแก้ไขได้ อย่างที่เป็นอยู่ ณ ขณะนี้
นอกจากปัญหาที่ดินทำกินแล้ว บางกลอยยังประสบกับเรื่องของการอุ้มหาย ในกรณีของบิลลี่
บิลลี่เขาเป็นคนที่ทำหน้าที่สื่อสารระหว่างคนภายในกับภาครัฐและคนข้างนอก ให้เข้าใจถึงวิถีชีวิตของคนในบางกลอยบน ซึ่งเขาเป็นหลานของปู่คออี้ ที่เป็นหลักฐานยืนยันอีกอย่างว่าชาวบ้านบางกลอยอยู่ในพื้นที่นั้นมานาน นอกจากนี้ ยังมีแผนที่ทางทหารที่เคยจัดทำไว้เป็นหลักฐานว่าชุมชนเหล่านี้ มันมีมากว่า 100 ปีแล้ว
และนอกจากปัญหาที่เกิดจากการอพยพคนแล้ว ยังมีการที่เจ้าหน้าที่เข้าไปเผาทำลายยุ้งข้าวและบ้านของพี่น้อง สิ่งเหล่านี้ฝังอยู่ในความรู้สึกของพี่น้อง และเมื่อพื้นที่ใหม่ไม่ตอบสนองชีวิตพวกเขา พวกเขาก็อยากกลับไปสู่ถิ่นมาตุภูมิของพวกเขา กลับไปมีชีวิตอยู่อย่างพอเพียงตามวิถีที่เขาเคยอยู่ ตรงนี้คือหลักการใหญ่ ที่พี่น้องสะท้อนออกมาว่ามันควรจะเป็นแบบนี้
รัฐไม่ควรเอาตัวบทกฎหมายเป็นตัวตั้งในการแก้ปัญหา แต่ควรเอาข้อเท็จจริงแล้วค่อยประยุกต์วิธีการทางรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์มาช่วยแก้ปัญหา ตรงนี้รัฐจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดในการแก้ปัญหาเลย
คุณศักดิ์ดาไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขปัญหาของภาครัฐใช่ไหม
ถ้ารัฐไม่ไปดำเนินการใดๆ ที่กระทบวิถีชีวิตเขา พวกเขาก็ดำรงอยู่ได้ อย่าไปกังวลเรื่องของป่าเลยครับ เพราะธรรมชาติที่พวกเขาใช้ประโยชน์ และการดูแล พวกเขาทำได้ค่อนข้างดีอยู่แล้ว
กลุ่มชาติพันธุ์กับธรรมชาติอาศัยอยู่ด้วยกันอย่างไร
อย่างผมเองก็เป็นกลุ่มลีซู กลุ่มชาติพันธุ์มีวิธีในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติด้วยความเคารพ เราถือว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ไม่ใช่เป็นเจ้าของ เราถือว่าธรรมชาติ ไม่ว่าดิน น้ำ ป่าไม้ มีสิ่งศักดิสิทธิ์เป็นเจ้าข้องหมด และถ้าเราจะอยู่กับธรรมชาติก็ต้องเคารพ
ที่จริงการทำไร่ของกลุ่มชาติพันธุ์ มันไม่ใช่ไร่เลื่อนลอย แต่เป็นระบบหมุนเวียน ถ้าเป็นแบบกะเหรี่ยงเป็นการหมุนเวียนย้ายพื้นที่ทำกินแบบปีต่อปี บางกลุ่มก็อาจจะมีสองสามปีและค่อยย้าย แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้รับการยอมรับ ทั้งที่โลกวิชาการสากลในนานาประเทศชี้ให้เห็นว่า ระบบไร่หมุนเวียนรักษาป่าได้มากกว่าระบบไร่ถาวร รวมถึงช่วยเรื่องการเก็บกักคาร์บอน หรือฝุ่นควันด้วย
มหาวิทยาลัยในไทยก็หยิบยกเรื่องเหล่านี้มาทำหลายครั้งเหมือนกันนะ และก็เห็นตรงกันถึงคุณค่าของระบบไร่หมุนเวียน แต่รัฐเองไม่ได้หยิบยกเรื่องนี้มาใช้ และยังมองว่าพี่น้องบนดอยทำไร่เลื่อนลอย ทำลายป่า ไม่สนใจธรรมชาติ
หมายความว่ารัฐมีความเข้าใจผิดในวิถีชีวิตของชาวบ้านว่าทำไร่เลื่อนลอย
ใช่ พอรัฐเข้าใจว่าชาวบ้านทำไร่เลื่อนลอยก็มองว่าเป็นระบบที่ไม่ได้มาตรฐาน และไม่อนุญาตให้ทำ และวิถีชีวิตก็อยู่ไม่ได้ ทำให้หลายคนต้องเปลี่ยนไปทำสวน ไปทำไร่ถาวร ซึ่งพืชต่างๆ ก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป ระบบเกษตรกรรมที่เคยผสมผสานมีพืชหลายชนิดและเคยใช้บริโภคได้ทั้งปี ก็เปลี่ยนไป
การทำไร่แบบเดิมมีพิธีกรรมเยอะมาก ต้องเคารพธรรมชาติตั้งแต่เริ่มเตรียมพื้นที่ ปลูก เก็บเกี่ยวผลผลิต และเก็บเกี่ยวเสร็จก็ยังมีพิธีกรรมต่ออีก นี่คือการเคารพในวิถีชีวิต แต่การปลูกพืชเพื่อขายมันไม่มีพิธีกรรมอะไร วิถีชีวิตกับธรรมชาติมันก็ไม่ได้มีความผูกพันธ์แบบในอดีตแล้ว ซึ่งตรงนี้ก็เป็นเพราะระบบการผลิตที่ถูกเปลี่ยนแปลงไปโดยทุนและภาครัฐเอง ซึ่งต้องยอมรับว่าเกิดขึ้นทุกที่ในขณะนี้
ดังนั้น ชุมชนที่สามารถดำรงวิถีชีวิตแบบเดิมได้ เพราะพวกเขามั่นคงทั้งในชีวิตจิตใจ และอาหารด้วยนะ เพราะเขามีกินอยู่ตลอด แต่ถ้าพื้นที่ไหนกลายเป็นระบบปลูกเพื่อขาย นำเงินไปซื้อข้าวกิน กลุ่มเหล่านี้ก็ไม่มีหลักประกันว่าในอนาคตชีวิตของเขาจะอยู่ได้อย่างไร
มองว่าสังคมและภาครัฐมีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องความหลากหลายหรือพหุวัฒนธรรม อย่างไรบ้าง
คิดว่ารัฐเองก็พยายามเรียนรู้ แต่ผู้ที่มีอำนาจส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ ยังมองว่าภาษาก็ต้องเป็นภาษากลาง วัฒนธรรมก็ต้องลอยกระทงหรือสงกรานต์ จริงๆ การส่งเสริมวัฒนธรรมร่วมเหล่านี้ทำได้ แต่ต้องไม่ลืมว่าวัฒนธรรมในชนบทหรือกลุ่มชาติพันธุ์ก็คือส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยเช่นกัน และรัฐควรต้องส่งเสริมและคุ้มครองด้วยเช่นกัน
สังคมพหุวัฒนธรรมหมายถึง เรารับรู้ว่าวัฒนธรรมเราเหมือนหรือต่างจากคนอื่น ส่วนที่ต่างก็ต้องได้รับการส่งเสริม ปกป้อง คุ้มครอง โดยกลไกของรัฐเอง และควรได้ความเข้าใจและเคารพจากคนต่างวัฒนธรรมด้วย เช่น คนลีซูก็ควรเข้าใจวัฒนธรรมกะเหรี่ยง เราจะบอกว่าวัฒนธรรมไหนดีกว่าอันไหนถือว่าไม่ใช่
การเคารพความหลากหลายของสังคมพหุวัฒนธรรม ต้องเข้าใจวิถีของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ตรงนี้เป็นส่วนสำคัญที่รัฐต้องส่งเสริม และมองว่าความหลากหลายเป็นความสวยงามของประเทศชาติ ไม่ใช่ว่าหลากหลายคือความแตกต่างและแตกแยกไป
แต่ตอนนี้เหมือนมีการแบ่งแยกว่าอันนี้ไทย อันนั้นไม่ใช่แบบนี้หรือเปล่า
ความเป็นชาติไทยถูกตีความแบบแคบมาหลายทศวรรษ ซึ่งการจะทำให้คนยอมรับความหลากหลาย รัฐต้องมีนโยบายที่ส่งเสริมให้คนกลับไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น ชุมชน และกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ใช่ให้เขาเรียนแต่ประวัติศาสตร์ส่วนกลางหรือประวัติศาสตร์จากกรุงเทพฯ เท่านั้น
ผมคิดว่ามันต้องส่งเสริมและทำให้เขาเห็นคุณค่าของประวัติศาสตร์ เราต้องรู้ประวัติศาสตร์ของเราเอง และประวัติศาสตร์ที่แวดล้อมตัวเรา ไม่ใช่แค่ในไทย แต่รวมถึงในอาเซียน และทั่วโลก นี่คือสิ่งที่ระบบการศึกษาควรจะสอน โดยเฉพาะภายในคนกลุ่มชาติพันธุ์ ต้องทำให้ประวัติศาสตร์มีคุณค่าและมีชีวิต เพื่อนำไปสู่การมีแบบแผนของกลุ่มตัวเอง ซึ่งถ้ามองไม่เห็นคุณค่าตรงนี้ก็จบแล้ว
ระบบโรงเรียนในปัจจุบันถึงแม้จะทั่วถึง แต่ไม่ได้ยึดโยงกับวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ หลักสูตรก็หลักสูตรกลางเป็นหลัก หลักสูตรท้องถิ่นถึงจะเปิดให้ทำแต่ก็ขาดการส่งเสริมอย่างมีพลังจากภาครัฐ ทำให้การมีหลักสูตรท้องถิ่นมีปัญหาในการนำไปปฏิบัติ
นี่คือวิธีที่ต้องปรับเปลี่ยน การกระจายตัวของโรงเรียนต้องไปพร้อมกับคุณภาพการศึกษาที่เอื้อให้เด็กเรียนรู้วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ตัวเอง เพื่อเชื่อมกับโลกภายนอกได้อย่างลงตัว
จริงๆ การศึกษาก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งเพื่อกลืนความแตกต่าง และแพร่กระจายแนวคิดจากส่วนกลางด้วย
ข้อสังเกตที่น่าสนใจในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา เชื่อไหมว่าระบบการศึกษาทำให้คนออกไปจากชุมชนโดยไม่ต้องบังคับอพยพ หลายชุมชนมีแต่คนเฒ่าคนแก่กับเด็กเล็กๆ คนวัยแรงงานไม่อยู่ในชุมชนแล้ว เพราะระบบการศึกษาพาพวกเขาไปเรียนข้างนอก พอจบก็ต้องทำงานข้างนอก ไม่สามารถกลับไปสานวิถีในชุมชนได้
แต่สถานการณ์ COVID-19 นำพาคนที่ลูกหลานเคยทำงานในเมืองให้กลับมาในชุมชน และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สืบสานรากเหง้าของตัวเองขึ้น เรื่องนี้น่าสนใจ ท่ามกลางวิกฤตก็ยังมีโอกาส เพราะการดำรงอยู่ของชุมชนขึ้นอยู่กับคนรุ่นใหม่ ถ้าเข้าไปใช้ชีวิตในเมืองกันหมด บนดอยคงอยู่กันไม่ได้แน่นอน
เราต้องกลับมามองว่า การศึกษาจะทำอย่างไรให้พวกเขากลับมารักถิ่นที่เคยเกิด เคยอยู่ และสามารถทำให้วิถีชุมชนดำรงอยู่ได้ นี่เป็นความสวยงามและเป็นไปตามหลักการความยั่งยืน
ภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์และทุนนิยม การมี พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองจะช่วยกลุ่มชาติพันธุ์ได้อย่างไรบ้าง
การทำกฎหมายฉบับนี้ริเริ่มตั้งแต่ 7-8 ปีที่แล้ว แต่พอเกิดการรัฐประหารในปี 2557 กระบวนการมันไม่เอื้อให้ไปต่อ กลไกที่จะมาสนับสนุนการพิจารณามันยาก เพิ่งจะมาเริ่มผลักดันอีกครั้งเมื่อเลือกตั้งปี 2562 และมีรัฐธรรมนูญใหม่นี่เอง
ผมเชื่อว่ากฎหมายเป็นเครื่องมือที่จะช่วยจัดการวิถีชีวิตและปกป้องคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะการมีสภาชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งจะทำหน้าที่ประสานกับภาครัฐ และสร้างการมีส่วนร่วมของคนที่ประสบปัญหา เพื่อแก้ไขปัญหาให้ตรงข้อเท็จจริง
กฎหมายจะน่าเชื่อถือได้ต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของคนที่เสนอกฎหมาย เราเลยใช้ช่องทางของการเสนอกฎหมายโดยประชาชนผ่านรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้มี 10,000 รายชื่อ แต่เราก็ล่าไปเผื่อหน่อย เพราะเอกสาร หลักฐาน รวมถึงเรื่องความไม่เข้าใจภาษาอาจทำให้เอกสารผิดพลาดได้ เลยเป็นที่มาของการเชิญชวนให้ร่วมลงชื่อในกฎหมายดังกล่าว
ตอนนี้ได้ประมาณกี่รายชื่อแล้ว
ได้สักประมาณ 4,000 – 5,000 แล้ว เชื่อว่าต้นๆ เดือนน่าจะเสร็จเรียบร้อย เพราะว่าได้แบ่งกันกระจายไปตามพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งมีหลายสิบกลุ่มชาติพันธุ์ที่ร่วมกันเสนอกฎหมาย และยังมีการรณรงค์ตามสื่อสาธารณะ ซึ่งก็มีพี่น้องที่มีใจช่วยกันผลักดัน อย่างตอนนี้ก็มีพี่น้องจากภาคกลางส่งเอกสารมาที่สำนักงานสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยกว่าหลายร้อยรายชื่อ ซึ่งก็เป็นแรงงานสนับสนุนที่มีค่ายิ่ง
ที่เล่าว่าเกิดการติดขัดหลังรัฐประหารปี 2557 มันเป็นอย่างไร
ตอนนั้นกำลังยกร่าง แต่มาร่างเสร็จจริงๆ ในปี 2558 พอร่างเสร็จเราก็เปิดประชาพิจารณ์ และหามติร่วมกันที่เวทีสมัชชาสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย หลังจากนั้น ก็เสนอต่อเนื่องไปที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เพื่อให้มันมีความเป็นมาตรฐานมากขึ้น
แต่เผอิญ พอสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายยื่นเสนอไปที่หน่วยงานรับผิดชอบหลักในตอนนั้นก็คือ คณะรัฐมนตรี สภาปฏิรูปแห่งชาติ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เขาก็บอกว่า ต้องออกกฎหมายตัวอื่นที่จำเป็น เราก็บอกของเราก็จำเป็น แต่เขาบอกว่ามีที่จำเป็นและเร่งด่วนกว่า (หัวเราะ) จนในที่สุดก็หมด สนช. สปช. ไป และมีการเลือกตั้ง
อำนาจของสภาชนเผ่นพื้นเมืองที่ระบุในกฎหมายดังกล่าวค่อนข้างมีพอสมควรทีเดียว มองว่าหากมันได้รับการประกาศใช้จะเป็นทิศทางที่ดีของชนเผ่าพื้นเมืองในไทยหรือเปล่า
อย่างอำนาจในการจัดทำรายงานผลกระทบนโยบาย ผมคิดว่ามันเป็นกลไกที่สะท้อนสถานการณ์ได้อย่างตรงไปตรงมาและเป็นข้อเท็จจริงที่สะท้อนผ่านชีวิตของคนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งผมเชื่อว่าข้อมูลเหล่านี้สามารถนำไปสู่การใช้ประโยชน์ และนำไปสู่การแก้ปัญหาต่างๆ ได้จริง และไทยฐานะรัฐภาคีของ UN มีหน้าทีส่งเสริมชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศของตนเองอยู่แล้ว ก็จะเกิดประโยชน์ในการส่งเสริมซึ่งกันและกัน
รัฐเองก็จะได้ประโยชน์ทางด้านข้อมูลจากเรา รัฐจะมีข้อมูลครบด้านมากขึ้น เพราะนอกจากกลไกรัฐทั่วไป ฐานข้อมูลของเขาก็จะเป็นอีกหนึ่งทางที่นำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนได้มากขึ้น
Fact Box:
- ขณะนี้ พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย กำลังอยู่ในขั้นตอนรวบรวมรายชื่อประชาชน 10,000 รายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายแก่รัฐสภา โดยสามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดได้ที่: thematter.co/quick-bite/indigenous-right-law-jan-2021
- และสามารถติดต่อร่วมลงชื่อได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก IMN เครือข่ายสื่อพื้นเมือง และ เพจเฟซบุ๊ก เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
- นอกจากนี้ กำลังมีการร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองชนพื้นเมืองอีกฉบับโดยสถาบันมานุษยวิทยาสิรินธร ในชื่อ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564