ในยุคที่ ‘ความฝัน’ และ ‘ความหวัง’ ดูเป็นสิ่งที่ต้องซื้อหาในราคาแพงแสนแพง จนหลายคนอาจละทิ้งสิ่งเหล่านั้นให้หายไปในความคิด หากแต่ ฮอน-ณรงฤทธิ์ อิทธิพลนาวากุล กลับสร้างความฝันและความหวังให้กลายเป็น ‘เรื่องจริง’ จนก่อเกิดมาเป็นค่ายเพลงใต้ดิน Newlights Production ที่ช่วยสานฝันคนทำดนตรีอิสระให้เดินหน้าต่อไปได้
หากใครเป็นแฟนเพลงแนว Post Rock ต้องรู้จักชื่อ Hope The Flowers วงดนตรีที่เน้นสไตล์เพลงบรรเลง หรือหากคุณชื่นชอบเรื่องราววงดนตรีในเอเชียแล้ว ก็คงเคยติดตามอ่านเรื่องราวเหล่านั้นจากเพจ Asia Sound Space มาก่อนแน่นอน ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นหนึ่งในอีกหลายผลงานของคนทำดนตรีของเขาเช่นกัน
The MATTER ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ฮอน เจ้าของค่ายเพลงและร้าน Ageha Cafe ซึ่งมาร่วมแบ่งปันเรื่องราวและมุมมองเกี่ยวกับเส้นทางการทำธุรกิจดนตรีของคนทำเพลงใต้ดินที่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย และเป็นมากกว่าการทำเพลงเพื่อสร้างเม็ดเงินและชื่อเสียงเท่านั้น
เชื้อเพลิงจุดประกายค่าย Newlights Production
ปัจจุบัน Newlights Production มีอายุประมาณ 9 ปี ฮอนได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของค่ายที่จุดประกายจากเชื้อเพลิง ‘ความอยาก’ ที่เป็นมากกว่าการทำธุรกิจค่ายเพลงทั่วไป
“เริ่มต้นตอนนั้นทำวงดนตรีชื่อว่า Willshare ก่อนที่จะมาเป็น Hope The Flowers ในปัจจุบัน เราอยากสร้างคอมมูนิตี้รวมนักดนตรีที่ไม่มีงานเล่น ไม่มีอีเวนต์ ไม่มีช่องทางการขายหรือโปรโมตอะไรเลย เราไม่คิดว่าจะทำเป็นค่ายเรคคอร์ดที่มีการลงทุนอย่างนั้น แต่อยากทำเป็นเหมือนฮับรวมนักดนตรี อารมณ์เดียวกับค่ายเพลงใต้ดินฝั่งอเมริกาหรืออังกฤษสมัยก่อนที่มี street team ไปทัวร์ดนตรีด้วยกัน เล่นด้วยกัน สร้างผลงานด้วยกัน
“ทุกคนจะมีเพลงและผลงานของตัวเอง แต่ว่าไม่มีช่องทางโปรโมต โดยเราจะทำหน้าเป็นตัวแทนสร้างช่องทางนั้นให้กับพวกคุณ จุดหมายแรกของเราคืออยากได้คอนเน็กชันซัพพอร์ตตัวเองมากขึ้น แล้วค่อยๆ กระจายให้กับคนในค่าย อีกอย่างเราจบมาร์เก็ตติ้งมา เลยอยากทำมาร์เก็ตติ้งให้กับทุกคน ถือเป็นการฝึกตัวเองเรื่องนี้ไปในตัวด้วย”
เมื่อถามถึงที่มาของชื่อ Newlights ฮอนอธิบายไว้ว่า Newlights เปรียบเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักให้ผู้คนได้มาเริ่มทำความรู้จักวงดนตรีวงหนึ่ง บุกเบิกเส้นทางดนตรีให้ใครต่อใครได้มองเห็น ก่อนจะสานต่อเส้นทางดนตรีตามทางตัวเองต่อไป “สำหรับผม Newlights คือวงดนตรีที่เล่นดนตรีอยู่ในที่มืด เพราะแสงไม่ยอมส่องมาที่วงนี้ เหมือนมองตัวเองด้วยว่าทำวงกี่วงก็ไม่ประสบความสำเร็จสักที จะทำยังไงให้ประสบความสำเร็จ เราจึงต้องเชื่อในแสงใหม่ที่ส่องลงมา ก่อนที่คนจะรู้จักวงดนตรีได้ ก็ต้องมีแสงที่ส่องลงมาครั้งแรกเสมอ โดยแสงใหม่คือแสงที่ส่องลงมาครั้งแรก”
เส้นทางของการสร้างผลงาน
ช่วงแรกของการทำค่ายเพลงนั้นเกิดจากการชักชวนกันกับเพื่อนคนหนึ่งที่เคยทำวงด้วยกัน แต่เมื่อเพื่อนแยกมาทำอีกวงของตัวเอง แนวทางทำค่ายเพลงเลยออกมาเป็นรูปแบบ The Gang ที่ร่วมทำงานด้วยกันทุกขั้นตอน ตั้งแต่อัดเสียง สร้างงานเพลง หาอีเวนต์คอนเสิร์ต หาที่วางขายซีดี รวมทั้งหาคอนเน็กชันต่างๆ โดยเริ่มจากการทำวง Willshare, Hold Me, และ The Cosmic Goodbye
“ตอนนั้นเริ่มรีเสิร์ชว่ามีช่องทางไหน มีสถานีวิทยุอะไรบ้าง โดยใช้ 2 วงนี้เป็นหลัก แล้วก็ค่อยๆ ชักชวนเพื่อนที่สนใจเข้ามาจอยด้วยกัน บางคนก็ไม่มีเวลามาร่วมทำงานส่วนการตลาดหรือหาคอนเน็กชันตรงนั้นได้ แล้วเราเองก็รู้สึกว่ามันค่อนข้างใหญ่ขึ้นด้วย เลยคิดว่าต้องทำซีดีรวมวงในค่าย จนได้ออกมาเป็น Newlights Compilation 1 ทุกคนเห็นแนวทางเดียวกันว่านี่ไม่มีเรื่องธุรกิจในนั้น มีแต่ช่วยกันครับ”
ช่องทางแรกสู่การขยายฐานคนฟัง
ฮอนเริ่มมองหาช่องทางกระจายผลงานครั้งแรก โดยเริ่มจากสิ่งที่ตนคลุกคลีและคุ้นเคยดี นั่นคือ สถานีวิทยุออนไลน์ 24 ชั่วโมง จากประสบการณ์ที่เคยทำงานเฝ้าร้านเกมมาประมาณ 3-4 ปี ทำให้เขามองเห็นโอกาสบางอย่าง เดิมทีเด็กที่เล่นเกมมักชอบเปิดเว็บฟังเพลงออนไลน์อยู่แล้ว หากเจอเพลงที่น่าสนใจก็จะถามหาจนกลายเป็นจุดที่ทำให้ผลงานเป็นที่รู้จักและพูดถึงได้ไม่ยาก
“เราคิดว่าจะทำยังไงให้คนรู้จักพวกเราก่อน เพราะมันอาจขายไม่ได้หากไม่มีใครรู้จักพวกเรา เลยพยายามตีตลาดเว็บไซต์เป็นช่องทางแรก สมัยก่อนจะมีพวกเว็บไซต์สถานีวิทยุออนไลน์ 24 ชั่วโมง เกมออนไลน์ 24 ชั่วโมง ตอนนั้นเด็กที่ชอบเล่นเกมก็จะเปิดเว็บเพลงฟังไปด้วย เราก็เจาะกลุ่มนี้ก่อน ก็ส่งตามเว็บเหล่านี้จนเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น”
นอกจากนี้ ยังกระจายงานผ่านคอนเน็กชันของเพื่อนร่วมหุ้น โดยนำผลงานไปฝากวางขายที่ร้านน้องตรงท่าพระจันทร์ ซึ่งเป็นแผงจำหน่ายผลงานของ Newlights ที่แรกก็ว่าได้
หลังจากนั้น ฮอนก็เริ่มวางแผนขยายฐานคนฟัง โดยเน้นกระจายผลงานผ่านช่องทางเว็บไซต์ออนไลน์ที่เป็นแหล่งคนเสพที่โตขึ้นมาอีกขั้น
”ตอนนั้นผมเริ่มสนใจสถานีวิทยุที่เป็นเว็บเพลงออนไลน์แบบ You2Play, Kapook.com หรือ Sanook.com เพราะว่าเว็บไซต์เหล่านี้ก็อยากได้ Content ใหม่ๆ แล้วตอนนั้นพวกเขาก็มองหาวงนอกกระแสเพิ่มขึ้นด้วย เราพยายามสร้างคอนเน็กชันด้วยการไล่ส่งอีเมลของวงในค่ายที่ออกเพลงทั้งหมดที่มี ส่งหว่านไปทุกที่ ก็มีบางที่ติดต่อกลับมา บางที่ก็สงสัยว่ามีค่ายเพลงแบบนี้ด้วยเหรอ เป็นค่ายที่ไม่มีการลงทุนอะไรเลยแต่รวมตัวคนที่เห็นแนวคิดเดียวกัน ซึ่งผมก็พยายามอธิบายโมเดลค่ายให้ฟัง
“หลังจากนั้นก็ส่งไป Cat Radio หรือพวกคลื่น FM ทำให้เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น ผมว่ามันน่าจะเริ่มจากตรงที่มีสื่อหลักๆ หรือสื่อที่ค่อนข้างใหญ่กว่าสถานีวิทยุ 24 ชั่วโมง ค่อยๆ เปิดเพลงของเรา แล้วพูดถึงวงที่อยู่ในค่ายผม ซึ่งก็คือวง Hope The Flowers”
การขยายฐานคนฟังและสร้างคอนเน็กชันของ Newlights Production ตั้งต้นจากการนำเสนอตัวตนของค่ายผ่านผลงานเพลงเป็นหลัก ซึ่งต่างจากค่ายเพลงกระแสหลักที่คนมักเริ่มทำความรู้จักวงหรือศิลปินหน้าใหม่ด้วยเห็นว่าอยู่สังกัดค่ายมีชื่อเสียง “เรารู้ว่าถ้าอยากให้คนเข้ามาเห็นว่าข้างในตึกนี้เป็นแบบไหน ก็ต้องทำให้เห็นด้านนอกก่อนว่าเป็นอย่างไร ผมพยายามพรีเซนต์ผลงานตัวเองออกไปให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะได้ดึงดูดคนที่สนใจเพลงแนวนี้ให้เดินเข้าไปดูข้างในตึกว่าเป็นยังไงด้วยครับ”
ผลตอบรับจากคนฟัง
เมื่อพูดถึงกระแสตอบรับจากคนฟังแล้ว แน่นอนว่าตัววงดนตรีจะได้รับผลตอบรับก่อนจะส่งกลับมาถึงค่ายเพลง ซึ่งใช้เวลาในการเดินทางค่อนข้างนานพอสมควร
“เรารู้กันอยู่แล้วว่าโลกยุคใหม่ มันเป็นโลกที่ศิลปินคือ product มันไม่ใช่โลกที่ค่ายคือ product คือถ้าเราไม่ดัง ไม่มีคนรู้จัก มันยากมากที่คนจะรู้จักค่าย เพราะคนไม่ได้อยากรู้ว่าค่ายอะไร อยู่ค่ายแบบไหน เขาแค่อยากรู้ว่าวงนี้คือวงอะไร แล้วทำไมถึงอยู่ได้ เมื่อคนกลับไปมองโมเดลค่าย ก็จะเห็นว่าค่ายนี้มันคือฮอน เลยกลายเป็นว่าฮอนใช้วิธีแบกทั้งหมดไว้ที่ตัวเอง แล้วค่อยๆ สะท้อนกลับไปค่ายที่ตัวเองทำ พอมีงานจ้างเข้ามา เราก็จะพ่วงวงในค่ายไปด้วย
“ด้วยความที่แนวเพลงไม่ใช่กระแสหลัก Post Rock คือเพลงบรรเลง จึงทำให้หาที่เปิดเพลงหรือหาจุดขายค่อนข้างยาก เราต้องใช้เวลายืนยันตัวเองให้มากที่สุด โดยตอนแรก Newlights ก็คือค่ายเพลงร็อกทั่วไป มีทั้งแบบ Alternative Rock หรือ Pop ด้วย แต่พอ Hope The Flowers อายุมากขึ้น ก็เริ่มเห็นแนวทางค่ายชัดเจนว่า ถ้าคุณฟังเรา คุณจะเจอวงในค่ายเราที่เป็นแบบเรา ถ้าจะฟังเพลงแนวนี้ก็ต้องมาที่ค่ายนี้ (ใช้เวลาเป็นปีเลยไหม) จำได้ว่า Newlights ใช้เวลาสามปี เพราะมีวงที่อยู่ด้วยกันจนครบสามปี หลังจากนั้นก็แยกย้ายกันไป เหมือนว่าบางคนมี gap เวลาเกี่ยวกับแนวเพลง บางวงรู้ว่าแนวเพลงแบบเราอยู่ได้แค่นี้ พอหมดยุคเขา เขาก็จะหมดไฟ ทำให้วงไม่แอ็คทีฟ พอวงไม่แอ็คทีฟก็แยกย้าย
“ที่เหลืออยู่ก็เป็นวงของเด็กรุ่นใหม่ที่รู้สึกว่าฉันไม่มีสังคมดนตรีเลย โดยเราจะรับหน้าที่สร้างสังคมดนตรีตรงนั้นให้ นี่เลยทำให้ Newlights มีอายุค่อนข้างนาน เพราะว่ามีเด็กใหม่โตขึ้นเรื่อยๆ แล้วการแข่งขันทางการตลาดดนตรีก็สูงขึ้น ถ้าใครอยากมีชื่อเสียงเร็วหน่อยก็ส่งเพลงไปค่ายใหญ่ๆ ให้ช่วยซัพพอร์ต แต่บางคนอาจไม่ได้เรื่องแนวเพลง แล้วค่ายก็ไม่เอาด้วย ก็ต้องหาทีมหรือที่ที่จัดงานหรือทำการตลาดเพลงแนวนั้นๆ แล้วไปอยู่ในค่ายเดียวกัน ซึ่งตอนนี้มีค่ายทางเลือกมากขึ้น”
โอกาสในการเติบโตที่มากขึ้น
หากว่ากันถึงการเติบโตของตลาดเพลง Post Rock ต้องยอมรับว่ามีช่องทางใหม่เพิ่มขึ้นไม่น้อย ฮอนอธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงของตลาดเพลงดังกล่าวที่มีแนวโน้มโตขึ้นเรื่อยๆ จากแต่ก่อน ซึ่งทำให้เห็นโอกาสและช่องทางในการนำเสนอผลงานของศิลปินที่มากขึ้นตามไปด้วย
“เมื่อก่อนผมรู้สึกว่า Post Rock เป็นเรื่องของคนกรุงเทพ เราจะเห็นคนกรุงเทพส่วนใหญ่มาฟังใน avenue เล็กๆ มีคนที่ไม่ได้รู้จักกันมายืนฟังเพลงนิ่งๆ เงียบๆ ซึ่งเป็นกลุ่มคนหน้าเดิมๆ แต่พอช่วง 2010 กระแส Post Rock บูมแล้วในระดับนึง ก่อนจะหายๆ ไปในช่วงปี 2013 ซึ่ง Hope The Flowers อยู่ในช่วงตอนปลายของกระแส Post Rock แล้ว ก็เหมือนมาผิดเวลาผิดช่วงไปหน่อย เลยต้องดึงระยะเวลานั้นให้ยาวที่สุด
“4 ปีก่อนหน้านี้ กลุ่มคนฟังค่อนข้างจำกัด เพราะไม่ได้มีคอมมูนิตี้กว้างพอจนคนต่างจังหวัดรู้จัก ตอนนั้นเหมือนเราถูกแบ่งกันชัดเจน กรุงเทพคือกรุงเทพ เชียงใหม่คือเชียงใหม่ อะไรแบบนี้ ทำให้เชื่อมโยงกันยากมาก แต่ตอนนี้ทุกอย่างง่ายกว่าเดิม มันมีคอมมูนิตี้ มีสื่อโซเชียล มีช่องทางการฟังเพลงเต็มไปหมด ทุกคนเริ่มค้นหาว่า Post Rock คืออะไร อยู่ที่ไหน มีวงอะไรบ้าง แต่ระหว่างที่เขาค้นหา วง Post Rock ก็ตายไปเยอะมาก หายไปจากวงการเพลงเยอะมาก เลยคิดว่าถ้าวงดนตรี Post Rock กลับมาทำเพลงกัน ฐานแฟนเพลงจะเพิ่มขึ้นได้อีกถ้าเราทำมันอย่างต่อเนื่อง”
นอกจากนี้ เมื่อพูดถึงแนวทางการทำเพลง ฮอนก็เป็นอีกหนึ่งคนที่มองหาช่องทางใหม่ๆ ในการนำเสนอผลงานตัวเอง โดยล่าสุดได้ปล่อย solo project ชื่อว่า Last Hummingbirth ซึ่งแพลนว่าจะทดลองขายใน NFT เจ้าตัวได้เล่าถึงที่มาที่ไปของโปรเจ็กต์นี้ไว้อย่างน่าสนใจ
“จริงๆ มีเพื่อนบอกหลายครั้งว่าให้ลองทำโปรเจ็กต์ลง NFT ส่วนตัวเราคิดว่างานทดลองอย่างงานภาพหรืองานเสียงขายได้อยู่แล้ว แต่ว่าการขายงานเสียงในตอนนี้อาจจะยังไม่ค่อยมีคนทดลองทำเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะเป็นวงดนตรีใหญ่ๆ ที่ทำกัน เราจึงตั้งเป้าหมายแรกไว้ว่านำเดโมของ Hope The Flowers ไปขายใน NFT ซึ่งก็ยังรอวิธีการต่างๆ ให้ชัดเจนก่อน อย่างเรื่องค่าเทรดเงินที่ตอนนี้แพงมาก เลยยังไม่อยากลงไปเสี่ยง รอจังหวะก่อนละกัน
“ระหว่างที่รอจังหวะเลยคิดว่าเราก็ทำอะไรอย่างอื่นได้ ช่วงที่อยู่ว่างๆ ในร้านคาเฟ่ก็มาศึกษาเรื่อง NFT คริปโตบ้าง พอได้ศึกษาก็รู้สึกอยากลองทำงานเดี่ยว ไม่ต้องรอการตัดสินใจของเพื่อน แบบทำได้เลย ขายได้เลย เลยเกิดเป็นโปรเจ็กต์ Last Hummingbirth ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่ไม่ได้กำหนดตายตัว ไม่ได้ถูกจำกัดด้วยแนวเพลงแนวใดแนวหนึ่ง
“อนาคต Newlights Production มีแพลนจัดจำหน่ายวง Post Rock จากทั่วโลกในรูปแบบ merchandise เพราะที่ผ่านมาได้เริ่มทำ Compilation Being A Light To The World ที่รวมวง Post Rock ทั่วโลกไปถึง 4 อัลบั้มแล้ว ซึ่งเป็นรูปแบบของฟรีดาวน์โหลด เพื่อนำเงินไปบริจาคองค์กรที่เดือดร้อนทั่วโลก”
Ageha Cafe ต่อยอดค่ายเพลงสู่ร้านคาเฟ่
Ageha Cafe อีกหนึ่งการเติบโตที่ต่อยอดมาจาก Newlights Production โดยที่นี่เป็นมากกว่าร้านกาแฟ แต่คือพื้นที่ที่เชื่อมต่อผู้คนที่รักในดนตรีอยู่แล้วหรืออาจไม่รู้จักแนวเพลงใต้ดินมาก่อน ให้ได้มาสัมผัสและเสพงานของศิลปินอิสระกันมากขึ้น
“ผมทำ Newlights ขึ้นมาเพื่อวง Hope The Flowers และทำ Ageha เพื่อซัพพอร์ต Newlights ก็เหมือนร้านเป็นส่วนหนึ่งการทำงานของ Hope The Flowers ด้วย” ฮอนเริ่มต้นเล่าถึงที่มาของร้านคาเฟ่ที่เกิดจากการรวมเอาสิ่งที่ผูกพันในวัยเด็กและสะท้อนตัวตนของตัวเองมาจับคู่กัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความหวัง ดอกไม้ แสงสว่าง และผีเสื้อ
ที่มาของ Ageha หรือผีเสื้อในภาษาญี่ปุ่น เกิดจากความชอบตัวละคร Ageha จากภาพยนตร์เรื่อง Yen Town ของชุนจิอิวาอิ ที่พูดประโยคหนึ่งว่า ก่อนเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ก็ต้องเคยเป็นดักแด้มาก่อน ซึ่งสอดคล้องกับเส้นทางทำดนตรีของตัวเองที่มีพัฒนาการจากดักแด้และกำลังเติบโตเป็นผีเสื้อ
แม้แต่เพลงของวงดนตรีโปรดอย่างวง w-inds ก็ร้องเพลงเกี่ยวกับผีเสื้อ ความหวัง ดอกไม้ สุดท้ายก็คือเกมจับแมลงที่เขาชอบเล่นตอนเด็ก ทั้งหมดนี้ทำให้เขารู้สึกว่าชีวิตอยู่กับผีเสื้อมาตลอด โดย Ageha บ่งบอกถึงความเป็นผีเสื้อที่หายากและตัวใหญ่ที่สุด ชอบออกวิ่งเล่นตอนกลางคืน ซึ่งหมายถึงนักดนตรีนั่นเอง
Ageha Cafe วางคอนเซ็ปต์ร้านเป็นร้านกาแฟกึ่งร้านขายซีดีเพลง ฮอนได้ไอเดียโมเดลทำร้านกาแฟแบบนี้ตอนไปไต้หวัน โดยเขาเจอร้านร้านหนึ่งที่เหมือนค่ายเพลงรับซื้อลิขสิทธิ์และผลิตซีดีเพลงของกลุ่มคนทำเพลงอิสระมาขาย โดยเน้นขายซีดีเพลงเป็นหลัก ส่วนร้านกาแฟเป็นส่วนเสริมที่เปิดพื้นที่ให้คนได้มานั่งฟังเพลงและจิบกาแฟกัน
“เป้าหมายการทำร้านของผมคือซัพพอร์ตค่ายตัวเอง ผมมองภาพไว้ว่าอยากช่วยวงดนตรีอินดี้ทุกวงที่อยากวางแผ่นขายแต่ไม่รู้ว่าจะขายยังไง ติดต่อใคร ผลิตที่ไหน โดยผมจะเป็นที่ปรึกษาให้ คอยแนะนำว่าควรผลิตที่ไหน ใช้ต้นทุนเท่าไหร่ วางขายหักเงินยังไง เราจะบอกไกด์ไลน์ให้เขาเห็นภาพทั้งหมดว่าจะได้เงินเท่าไหร่ กำไรเท่าไหร่ คราวนี้ก็อยู่ที่เขาว่าจะฝากวางที่ร้านเราไหม
“Ageha คือฮับของวงดนตรีนอกกระแสที่รวมทั้งวงข้างนอกและในค่ายตัวเอง อีกมุมหนึ่งก็เป็นคาเฟ่ที่เปิดเพลงที่เราอยากนำเสนอให้ลูกค้าฟัง อยากให้คนที่มารู้สึกว่าที่นี่แปลกดี มีหลายคนที่มาซื้อแผ่นที่ร้าน แล้วรู้สึกว่ามันมีวงไทยเยอะขนาดนี้เลยเหรอ ทำไมไม่รู้จักเลย ก็ซิ้อแผ่นกลับไปลองฟัง”
อาจบอกได้ว่าหัวใจของ Ageha Cafe อยู่ตรงที่การทำให้วงดนตรีในไทยเป็นที่รู้จัก ซึ่งไม่จำกัดแค่กลุ่มคนฟังเพลงแนวนี้ แต่อาจเป็นคนทั่วไปอย่างพนักงานออฟฟิศ รปภ. หรือคนที่เหนื่อยล้าอยากหาที่นั่งฟังเพลงชิลๆ ในมุมของฮอน ร้านกาแฟเป็นหนึ่งในที่ที่คนธรรมดาที่ไม่เกี่ยวกับแวดวงดนตรีหรือคนฟังเพลงเข้าถึงได้อยู่แล้ว ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเปิดโลกดนตรีให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นกว่าเดิม
โปรเจ็กต์อื่นในฐานะมนุษย์ multi-job
เบื้องหลังคนทำเพลงและเจ้าของร้านกาแฟ ฮอนยังนิยามตัวเองว่าเป็นมนุษย์ multi-job โดยเขาเปิดร้านขายเสื้อมือสอง รวมทั้งทำโปรดักชันส์เฮาส์ชื่อว่า High Hopes House ที่รับงานหารายได้และตั้งเป้าหมายทำวิดีโอสื่อสารเรื่องราวเพื่อสังคมอีกด้วย
“ตอนนี้มัน (โปรเจ็กต์ที่ทำ) เหมือนมัลติแบรนด์ครับ มีการขาย กระจายรายได้ช่วยกัน ส่วนคนคนเดียวก็ทำงานหลายอย่างเหมือนกัน ต้องทำทุกอย่างเพื่อสร้างรายได้ ซึ่งผมเป็นอย่างนั้นตั้งแต่แรก การทำ Hope The Flowers ก็เพราะเราเชื่อในความหวังว่าสังคมต้องดีขึ้น
“พอได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น เรามองไปที่สังคม สังคมต้องถูกสร้างให้ดีกว่านี้ เพราะเราก็โดนสังคมทำร้ายมาเยอะแล้ว เราไม่อยากเห็นเด็กรุ่นใหม่มาถูกทำร้ายแบบเราที่ต้องมานั่งคิดว่า จะต้องทำอะไรดีวะทุกวันนี้ อยากให้เขาได้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปเลยดีกว่า”
เส้นทางคนทำเพลงอิสระกับการซัพพอร์ตจากรัฐ
ในฐานะคนทำงานด้านดนตรี นอกจากลงมือทำด้วยตัวเองแล้ว ฮอนยังได้แชร์มุมมองเกี่ยวกับการสนับสนุนจากองค์กรระดับใหญ่กว่าอย่างรัฐบาล ซึ่งถือว่าเป็นกำลังสำคัญในการเกื้อหนุนอุตสาหกรรมดนตรีให้เติบโตได้ เขาได้เล่าถึงประสบการณ์เดินทางไปดูงานดนตรีที่ไต้หวันไว้อย่างน่าสนใจ
“ผมไปไต้หวัน 4-5 ครั้ง ส่วนใหญ่ได้ไปเพราะรัฐบาลของเขา เท่าที่คุยกับเพื่อนที่ทำอยู่ที่ Taiwan Beats ก็รู้ว่ารัฐบาลจะจัดตั้งอะคาเดมีดนตรีตั้งแต่มัธยม เพื่อให้ทุกคนได้มาเล่นดนตรี สร้างวงดนตรี จับคู่ทำวงกัน แม้กระทั่งมาขอทุนทำอัลบั้มส่งออกวงตัวเอง หรือจะนำเข้าวงดนตรี บุคลากรทางดนตรีประเทศอื่นก็ได้ โดยรัฐบาลเป็นคนออกเงินให้หมด
“แต่ก่อนตอนเอาวง Hope The Flowers ไปทัวร์ไต้หวันก็ไปเอง ไม่ได้ผ่านรัฐบาลของเขา พอสองคร้้งหลังติดต่อผ่านรัฐบาล ก็ได้เงินสนับสนุนทั้งหมด เพราะเขาเห็นว่าเราเป็นบุคลากรทางด้านดนตรีที่มาให้ข้อมูลสำคัญกับประเทศเขา แล้วเราก็เอาข้อมูลสำคัญของเขากลับมาประเทศเรา
“เราได้เห็นว่าที่นั่นมีทั้งอะคาเดมี่ การเชิญศิลปินภายนอกและส่งออกศิลปินตัวเอง มีการมอบรางวัลทางดนตรีที่ดูจริงจังมากๆ มีการซัพพอร์ตด้านคอนเสิร์ตและอุตสาหกรรมดนตรีต่างๆ แค่สังคมดนตรีเล็กๆ เขาก็ผลักดันกันเอง โดยนำเงินรัฐบาลมาช่วยหนุน”
ถึงอย่างนั้น หากกลับมามองบริบทในประเทศไทยแล้ว การสนับสนุนอุตสาหกรรมดนตรีจากภาครัฐถือว่าน้อยมาก โดยเฉพาะกลุ่มศิลปินอิสระ เพราะไม่มีคนสนใจและตั้งใจยกให้เป็นประเด็นจริงจัง การผลักดันให้เติบโตจึงยากตามไปด้วย ทุกอย่างถูกบีบให้กลายเป็นเรื่องของตัวบุคคลไป อาจมีสื่อเอกชนหรือสื่ออิสระที่เข้ามาช่วยพูดบ้าง
“พอกลับมามองประเทศตัวเอง ทำไมวงการดนตรีบ้านเราไม่มีอะไรเลย เราไม่เห็นสมาคมหรือสมาพันธ์ที่มาซัพพอร์ตกลุ่มดนตรีอิสระ ในขณะที่อังกฤษ มีมิวสิกยูเนียนที่นักดนตรีอิสระหรือคนทำธุรกิจกลางคืนรวมตัวกัน กระจายรายได้ให้ผู้ประกอบการและศิลปินอิสระ ซึ่งมันชัดเจนมากว่าเขาทำได้จริง