เป็นเด็กนักเรียนไทยมันเหนื่อย เรียนในห้องเรียนไม่พอ ต้องไปเรียนพิเศษกันต่อ โดยเฉพาะเด็กม.6 ที่ต้องเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัย เจอการสอบมากมาย หลายขั้นตอน ทั้งในโรงเรียน นอกโรงเรียน รอผลคะแนน คิดคำนวณ และยื่นมหาวิทยาลัยต่างๆ ไปอีก
แต่ปีนี้ ดูท่าเด็กม.6 จะต้องเจอมรสุมมากมาย ทั้งจากการเปลี่ยนระบบเป็น TCAS ปีแรก และปัญหาอย่างเว็บไซต์ล่ม ค่ายื่นคะแนนแพง คะแนนเฟ้อ แถมกลางปีแล้วยังไม่มีที่เรียนกันเลย
The MATTER มาคุยกับมนัส อ่อนสังข์ หรือที่น้องๆ คุ้นเคยกันในชื่อ ‘พี่ลาเต้’ บรรณาธิการข่าวการศึกษาและแอดมิชชั่น เว็บไชต์ Dek-D.com ที่อยู่แนะแนวน้องๆ ม. 6 และคลุกคลีกับระบบเข้ามหาวิทยาลัยมาหลายรุ่น ถึงระบบ TCAS และความกดดันที่เด็กๆ ต้องเจอ ระบบการศึกษาที่ไม่ช่วยให้เด็กๆ ค้นหาตัวเอง และการทำงานในฐานะผู้แนะแนวน้องๆ ว่ามีความเครียด และเจอประสบการณ์อะไรมาบ้าง
ทำงานกับการศึกษามานานแค่ไหน
ทำงานกับเว็บ Dek-D ปีนี้เป็นปีที่ 11 ตอนแรกเริ่มมาทำการศึกษา แต่พอเว็บ Dek-D เริ่มมีน้องๆ เข้ามาคุยเรื่องการเข้ามหาลัยมากขึ้น เราก็ไปทำตรงนั้น เราอยู่ฝ่ายแอดมิชชั่นมา 10 ปี ผ่านระบบการเข้ามหาวิทยาลัยมา 3 แบบ ตั้งแต่ A-net มาแอดมมิชชัน Gat/Pat และล่าสุด TCAS เท่ากับว่าทุกๆ 3 ปี ประเทศเราจะมีการเปลี่ยนระบบเข้ามหาวิทยาลัยครั้งนึง
เห็น TCAS ครั้งแรก คิดว่าจะมีปัญหาอะไรไหม
เห็น TCAS ครั้งแรกพร้อมน้องๆ เลย ตอนไปทำข่าว ทปอ.(ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย) แจกเอกสารให้สื่อมวลชน เราก็คิดว่ามันเป็นระบบที่งงดีนะ แต่พอทำความเข้าใจลึกๆ ก็เห็นเจตนาดีของระบบที่เอารับตรง และการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของที่ต่างๆ มาจัดระเบียบใหม่ เพราะปกติแต่ละที่จะเปิดรับกันเองเลย ก็จะเหนื่อยกับน้องๆ ที่ต้องตามข่าว ระบบนี้ก็ช่วยให้น้องตามข่าวได้ง่ายขึ้น
ตอนที่คุยกับทีมงานที่เว็บ Dek-D เราเห็นคีย์เวิร์ดของรอบ 3 คือคำว่า ‘เลือกได้ 4 สาขาแบบไม่เรียงลำดับ’ เป็นอันที่เราคิดกันเลยว่าจะทำได้จริงๆ หรอ แล้วถ้าทำแบบนี้จริงมันจะเกิดอะไรขึ้น และสิ่งที่เราเคยคิดมันก็เกิดขึ้นจริงวันนี้ เราก็เคยถามอาจารย์ของทปอ.ว่ามันจะไม่เกิดปัญหาอย่างนี้หรอ ทางนั้นก็มีคำตอบว่า มันเกิดปัญหา แต่มันลดจากอดีต ทุกคำถามที่เราตั้งคำถาม แล้วเอาไปถามทปอ.เขามีคำตอบหมดเลยนะ แต่คำตอบของเขามันคนละมุมกับเด็ก มันเลยกลายเป็นหนึ่งในจุดที่สร้างปัญหา ณ วันนี้ ที่ผู้ใหญ่กับเด็กเห็นไม่ตรงกัน
เปลี่ยนเป็น TCAS แล้วปัญหาอย่างการกั๊กที่ ค่าใช้จ่าย เด็กยังต้องไปสอบเยอะ ยังมีอยู่ไหม
TCAS มันเกิดมาเพื่อแก้เรื่อง ค่าใช้จ่าย วิ่งรอกสอบ ปัญหากั๊กที่ รวมถึงปัญหาที่อยากให้เด็กอยู่ในชั้นเรียนจนจบม.6 แล้วค่อยสอบ อย่างเรื่องค่าใช้จ่าย น้องๆ ก็สะท้อนว่ามันลดนะ แต่มันไปลดค่าเครื่องบิน ค่าโรงแรม เดินทาง แต่มันดันเกิดก้อนเงินค่าใช้จ่ายอีกก้อนที่แพงกว่า
ยกตัวอย่าง TCAS รอบแรก รอบพอร์ตโฟลิโอ ทปอ.วางมาว่าทุกมหาวิทยาลัยห้ามสอบ ต้องยื่นพอร์ตฯ ทุกแห่งก็งงว่าบางคณะมันยื่นพอร์ตไม่ได้ เช่นแพทย์ แต่พอผู้ใหญ่สั่งมาแบบนี้ไม่สอบก็ได้ แต่ไปใช้คะแนนที่เค้าจัดสอบ เช่น TOEIC, TOFEL หรืออยากเข้าแพทย์ต้องไปสอบ BMAT ซึ่งค่าสมัคร 7,000 บาท เท่ากับว่าน้องที่จะเข้าแพทย์รอบพอร์ตก็ต้องเสียขั้นต่ำแล้ว 7,000 บาท ลองเอาจำนวนนี้มาเทียบกับค่าเดินทาง มันก็มากกว่าอยู่แล้ว และเด็กก็ไม่ได้สมัครมหาวิทยาลัยเดียวอยู่แล้ว ก็มากขึ้นไปอีก
อย่างกั๊กที่ มองคนละมุมเลยระหว่างผู้ใหญ่และเด็ก พี่ไปถามทปอ. เค้าบอกว่าการกั๊กที่มีมาตั้งแต่สมัยก่อน ลงหนังสือพิมพ์เด็กคนนึงติด 10 ที่ เนี่ย TCAS ช่วยลดปัญหาการกั๊กที่ เพราะออกแบบให้ติดได้มากสุด 4 ที่ ถามว่าลดไหม มันก็ลด แต่ในมุมของน้องๆ อาจารย์จะคิดแบบนั้นไม่ได้ เพราะเด็กที่ติด 10 ที่คือจำนวน 1 ใน 100 หรือจำนวนน้อยที่ติดแบบนั้น แต่ถ้าเทียบระบบปัจจุบัน บังคับให้เด็กทุกคนติดได้ 4 ที่ และถ้าคะแนนสูงก็จะติดหมดเลย เหมือนระบบบังคับให้กั๊กที่มากกว่า น้องๆ ก็จะคิดในมุมนี้ ก็จะเห็นว่าคิดไม่ตรงกัน
พูดรวมๆ ระบบ TCAS ทฤษฎีมันค่อนข้างสวย และมันแก้ปัญหาในสิ่งที่เขาต้องการจะแก้ได้ แต่มันเกิดปัญหาใหม่ตามมา เช่นแก้ปัญหาที่ 1 2 3 ได้แล้ว แต่ดันเกิดปัญหา 4 5 6 ตามมา แล้วปัญหานี้ดันใหญ่กว่าปัญหาแรกที่แก้ได้อีก
ดูเหมือนว่าระบบ TCAS จะทำให้เด็กรอยื่นคะแนนนานกว่าระบบอื่นๆ
TCAS ก็ทำให้เด็กรอนานจริง แต่นานของเค้าก็มีเหตุผล เราก็ไปถามเค้าว่านี่มันมิถุนาแล้ว น้องยังไม่มีที่เรียนเลย ซึ่งรุ่นก่อนๆ มิถุนานี่เตรียมเข้ามหาวิทยาลัยกันแล้ว อาจารย์ก็ตอบว่าเค้าได้รับมอบหมายให้จัดสอบหลังจบมัธยม
อย่างรอบ 3 ซึ่งเป็นรอบที่สะเทือนจิตใจน้องๆ ไม่ควรมาอยู่ในช่วงมิถุนา รอบโหดๆ แบบนี้ควรอยู่ตั้งแต่ต้นๆ เลย ส่วนรอบที่ดันเด็กเข้ามหาวิทยาลัยได้เยอะๆ ควรมาอยู่กลางๆ ในช่วงที่มันเหมาะสม เพราะว่ามิถุนาเป็นช่วงที่เด็กม.6 เคว้ง จบม.6 มาตั้งแต่เดือนกุมภา นี่คือครบ 100 วันแล้วเด็กยังไม่มีที่เรียน ดังนั้นช่วงตรงนี้ระบบต้องเอื้อต่อสภาพจิตใจเด็กด้วย รอบ 3 โหดมาก แล้วยังมีเด็กอีกกว่าครึ่งแสนที่ช้ำใจ พลาดหวังซ้ำแล้วซ้ำอีกในช่วงมิถุนา เราต้องเข้าใจตรงกับสภาพจิตใจวัยรุ่น ณ ตอนนั้นด้วย
ระบบ TCAS ไม่ได้เอื้อสำหรับเด็กทุกคนหรือเปล่า
จริงๆ TCAS ถ้าไปดูเนื้อในของมัน มันเอื้อให้กับเด็กทุกคน อย่างรอบแรกพอร์ตโฟลิโอ เค้าเปิดโอกาสให้เด็กที่มีผลงานเข้าไป น้องที่ทำกิจกรรมมาก ก็ใช้การมีส่วนร่วมในกิจกรรมยื่นเข้าไปได้ รอบ 2 เป็นรอบของโควตาพื้นที่ เปิดโอกาสให้เด็กในพื้นที่ยื่นได้ก่อน จะได้ไม่เรียนไกลบ้าน ใช้โควตาพื้นที่สมัครเข้าไป ก็จะลดคู่แข่งได้ระดับนึง ทุกรอบ เค้าจะกำหนดสเป็กเด็กแตกต่างกันไป ดังนั้นพี่ว่าตรงนี้มันดีกว่าระบบก่อน ที่เปิดให้เด็กหลายๆ ประเภทได้เข้าไป
แต่คือป้ายคุณสมบัติมันบอกว่าเปิด แต่พอจริงๆ มันโดนอั้น ระบบมันมีกลไกที่พอเข้าไปก็โดนอั้นออกมา เอาง่ายๆ อย่างเรื่องเด็กเก่งที่สอบติดหมดเลย 4 ที่ อันนี้พี่ไม่ได้มองว่าเป็นความผิดของน้อง พี่มองว่าระบบไม่สามารถหาทางออกให้กับน้องที่ไม่ติดได้ เพราะการติด 4 ที่ ระบบรู้อยู่แล้วว่าเด็กยืนยันได้แค่ที่เดียว ที่เหลือจะกลายเป็นที่นั่งว่าง แต่ระบบไม่หากระบวนการที่เหมาะสมในการหาคนมาทดแทน แต่กลับผลักดันเด็กให้ไปรอรอบต่อไป ซึ่งรอบต่อไปมันก็ไปได้ แต่มันคนละเกณฑ์ คนละคะแนน เสียค่าใช้จ่ายใหม่
การเปลี่ยนระบบการเข้ามหาวิทยาลัยทุกๆ ครั้ง มันแก้ปัญหาจริงไหม
เขาเคยบอกเราว่าจะบอกก่อนล่วงหน้า 3 ปีถ้าจะเปลี่ยนระบบ แต่ TCAS นี่บอกก่อน 1 ปี บางคนไม่ได้เตรียมตัวตอนขึ้นม.6 แต่เตรียมตัวกันตั้งแต่ม.4 มาเปลี่ยนปุ๊ปก็อาจจะเสียหลักหน่อย
จริงๆ การเปลี่ยนทุกครั้งมันมีวัตถุประสงค์นะ เปลี่ยนเพื่ออะไรก็มีเหตุผล ไม่ได้อยากเปลี่ยนก็เปลี่ยน และการเปลี่ยนของเขาก็แก้เหตุผลได้หมดเลย แต่อย่างที่บอก มันก็เกิดปัญหาตามมาทุกที อย่างเปลี่ยนเป็นแอดมิชชั่น เราจำได้ว่าน้องๆ ในเว็บ Dek-D ฮือฮามาก มาเจอข้อสอบ Gat ที่ไม่มีตัวเลือก ใช้การคิดวิเคราะห์ ตอบถูกได้คะแนน ตอบผิดติดลบอีก แต่น้องๆ ก็พยายามปรับตัว พอปรับตัวได้ ก็มาเปลี่ยนอีก Gat ยังมีใช้อยู่ แต่เปลี่ยนระบบ บางคณะก็ไม่ใช้ Gat มาใช้ 9 วิชาสามัญ ก็ทำให้ผิดจากแผนที่หลายคนวางไว้ และการเปลี่ยนทุกครั้งเค้ามีเจตนาแก้ปัญหาต่างๆ แต่คนลงสนามจริงๆ คือเด็กอะเนอะ ไม่รู้ว่าการที่เค้าออก TCAS มา ออกแอดมิชชั่นมา เค้าคุยกัน คือเป็นผู้ใหญ่คุยกัน มีเด็กเข้าไปคุยรึเปล่า เพราะเด็กเวลาลงสนามจริงๆ เจอหลายอย่าง เค้าเป็นคนโดน ติดไม่ติดคือตัวเค้า
ถ้าระบบมันดี เด็กๆ ก็พร้อมที่จะตามระบบแหละ แต่พอระบบมีปัญหาขึ้นเรื่อยๆ เราต้องเข้าใจจิตใจน้องๆ ว่า พฤษภา มิถุนา 2 เดือนนี้ เด็ก 61 เจออะไรบ้างนับไม่ถ้วนเลยนะ เว็บล่ม คนที่สมัครได้ก็สมัครไม่สมบูรณ์ เอกสารถูกผิดบ้าง แล้วมาเจอเรื่องติดได้มากกว่าหนึ่งที่ กลไกที่จะไปลุ้นตัวสำรอง ข้อมูลออกมาไม่ครบอีก คือเจอหลายๆ อย่างติดกัน แล้วไม่ได้เจอแค่ระบบ เจอพ่อแม่ด้วย ที่หลายคนอาจจะเป็นห่วง แต่ไม่รู้ ก็เลยกดดันลูก เจอครูแนะแนวที่มาถามแล้วว่าติดที่ไหน จะได้เอาไปทำสถิติ เค้าเจอหลายๆ อย่าง เค้าก็เครียด
ที่สำคัญเวลา TCAS ชี้แจงออกมา มันออกมาเป็นเอกสาร การที่จะแปลงเอกสารและให้เข้าใจในมิติเรื่องยื่นหลายๆ รอบมันยาก นี่มันคือความซับซ้อนของระบบ
จากประสบการณ์ที่ได้คุยมา คิดว่าค่านิยมของเด็กในการจัดอันดับคณะเป็นยังไง
มันจะมีเด็กหลายๆ กลุ่ม ถ้าเป็นน้องที่คะแนนเทพๆ อันนี้เค้าสามารถเลือกได้ ปลอดภัยและวางใจในสิ่งที่เลือกได้ แต่อีกกลุ่มหนึ่ง ที่คะแนนไม่ได้เป็นตามที่เค้าต้องการ ซึ่งพี่ว่าเด็กไทยทุกวันนี้ถูกสังคมบีบ น้องหลายคนถ้าให้เลือก 2 อย่าง ระหว่างสอบไม่ติด กับติดคณะที่ไม่ใช่ น้องเลือกติดคณะที่ไม่ใช่ แม้ว่าถ้าสอบไม่ติด จะไปเรียนคณะไม่ใช่ในม.เอกชน
ในการจัดอันดับให้น้องๆ 4 อันดับจะเห็นเลยว่า อันดับ 3 และ 4 น้องเริ่มจะไม่เลือกในสิ่งที่ตัวเองอยากเรียนแล้ว ที่ไหนปลอดภัยเอาที่นั่น วันประกาศผลขอมีชื่อให้ติดไว้ก่อน เพราะว่าน้องกลัวว่าประกาศผลแล้วตัวเองจะไม่ติด ตอนเราม.6 เราก็กลัว แต่ประเทศไทยเราคือคนที่ได้รับการยกย่องคือคนที่สอบติด น้องกลุ่มนี้เลยไม่อยากทำให้พ่อแม่เสียใจ ทำให้สังคม กลุ่มเพื่อนๆ มองว่าเป็นเด็กไม่เก่ง เพราะทุกๆ วันนี้น้องๆ หลายคนสะท้อนว่าคนที่สอบไม่ติดคือคนไม่เก่ง
ทำไมน้องๆ ม.6 ต้องมาตามเว็บ Dek-d แทน หรือว่าโรงเรียนก็ไม่ได้ตอบโจทย์ในการช่วยนักเรียนเข้ามหาวิทยาลัย มันสะท้อนว่าในระบบมันช่วยอะไรเขาไม่ได้รึเปล่า
พี่ว่าโรงเรียนก็น่าสงสาร ครูแนะแนวที่รับผิดชอบเรื่องเด็กเข้ามหาวิทยาลัยก็น่าเป็นห่วง เพราะเป็นเหมือนครูลำดับท้ายๆ ที่โรงเรียนจะให้ความสำคัญ พี่ไปบางโรงเรียน เหลือครูแนะแนวอยู่คนเดียว สอนม.1-ม.6 แล้วครูไม่ใช่ดูแค่การสอบเข้ามหาวิทยาลัย ต้องดูเรื่องทุนการศึกษา ทั้งยังมีสอบเข้าชั้นอื่นๆ อย่างม. 4 หรือสายอาชีพ เรื่องอื่นๆ ในบริบทที่เราไม่ได้เข้าถึง พอมันเกิดปัญหาแบบนี้เลยรู้สึกว่าหลายๆ โรงเรียนเลือกจะให้ครูประจำชั้นมาสอนแนะแนวแทน หรือถ้าครูประจำชั้นไม่ว่างแนะแนวก็เป็นคาบว่างละกัน ทำการบ้าน นั่งคุยตามโต๊ะม้าหินอ่อน มันเลยไม่ได้สิ่งที่คาบแนะแนวต้องการ กลายเป็นแนะแนวหลายๆ โรงเรียนไม่ได้เต็มสูตร เต็มประสิทธิภาพที่ทำได้
อย่างนี้หมายความว่าระบบการศึกษาไทย ไม่ได้เอื้อให้เด็กค้นหาตัวเองรึเปล่า
ก็อาจจะใช่นะ เราลองย้อนเอาตัวเอง สมัยตอนเราเรียนม.ปลายมา 6 ปี พี่ก็เป็นคนหนึ่งที่มีหลายคณะในตัว อยากเรียนหลายคณะ จนเรามาทำงานเว็บ Dek-D มีน้องบางคนมาถามว่าพี่หนูจะจบม.6 ก็พยายามให้น้องๆ หาอะไรแบบนี้ น้องๆ หลายคนก็พยายามไปทำแบบทดสอบ แม่นบ้าง ไม่แม่นบ้าง แต่ก็พยายามทำเพื่ออยากรู้จริงๆ ว่าตัวเองเหมาะกับคณะอะไร
ขอตั้งคำถามดีกว่าว่าเราเรียนกันมาขนาดนี้ 12 ปี เราไม่ได้โทษน้องๆ แต่โทษหลักสูตรของไทยว่า 12 ปีเราสอนอะไรเด็กไทยบ้าง สอนให้เค้าทำเกรดสูงๆ ทำคะแนนสูงๆ แต่ไม่สอนให้เค้ารู้ตัวเองเลยหรือเปล่า เพราะถ้าไปถามน้องๆ ลึกๆ จริงๆ ว่าทำไมอยากเรียนคณะนี้ บางคนตอบว่าเพราะเป็นคณะที่ที่บ้านเป็นอยู่แล้ว เพื่อนอยากเรียน พระเอกที่ชอบเล่นบทอาชีพนี้บ้าง
ทุกวันนี้มีคณะเปิดใหม่มาก แต่เด็กไม่รู้ เวลาพี่ไปแนะแนว อย่างวาณิชศาสตร์ ถามว่าเรียนเกี่ยวกับอะไร เด็กตอบผิดหมดเลย ไม่มีใครรู้ว่าเรียนอะไร มันเป็นศาสตร์ที่เฉพาะทาง แล้วก็เป็นสาขาในอนาคตเปิดขึ้นมากมาย เช่นวิศวระบบราง เด็กหลายคนอยากเรียนวิศวะ แต่ไม่รู้ว่าระบบราง คือรางอะไร หลายคนจะรู้แค่คณะที่ตัวเองได้ยินมา คณะที่สื่อมวลชนนำเสนอ แต่ไม่ได้ดูระเบียบการเลยว่าหลายๆ มหาวิทยาลัยพยายามพัฒนาหลักสูตรให้เข้ากับปัจจุบัน ถ้าน้องยิ่งค้นหาตัวเองมาก เราก็จะมีตัวเลือกมาก
เบื่อไหมกับเวลาที่ระบบการเข้ามหาวิทยาลัยมีปัญหาบ่อยๆ
เว็บ Dek-D คนที่มาทำทีมแอดมิชชั่น เราวางตัวเองเป็นพี่ น้องทุกคนคือน้อง เราก็ต้องช่วยน้อง ตอนพี่มาสมัครเว็บ Dek-D ตอนแรกสมัครตำแหน่งนักข่าว พี่ก็ไม่คิดว่าตัวเองจะต้องมาช่วยน้องแบบนี้ แต่กลายเป็นงานข่าวที่เราทำ ทำมาเพื่อแนะแนวน้อง มันไม่เหมือนสำนักข่าวที่ทำมาเพื่อเผยแพร่ประเด็นต่างๆ
ถามว่าเบื่อไหม ไม่เบื่อ แต่ดีใจมากกว่าที่มีโอกาสได้ช่วย และจะเสียใจที่ทำอะไรไม่ได้เลย ถ้าได้แค่บ่นๆ แต่เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ แต่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ เราต้องเข้าใจน้องๆ ด้วยว่าทุกคนเจอกับระบบใหม่ น้องทุกคนก็อาจจะนอย เฟล เราไม่ได้มีหน้าที่ช่วยทุกอย่างที่น้องต้องการ เราต้องมองในภาพรวม อันไหนมันเหมาะสม และพยายามปลุกไฟ ให้กำลังใจน้องๆ เพราะทุกวันนี้ น้องๆ มาหากำลังใจทางอินเทอร์เน็ต มาหากำลังใจจากพี่ๆ เพราะว่าหลายคนอยู่บ้าน ไม่ได้สร้างกำลังใจให้เค้าเลย อยู่บ้านยิ่งดาวน์ ยิ่งดร็อป เราก็มีหน้าที่ช่วย เดี๋ยวรอบนี้ช่วยจัดอันดับให้ ประเด็นนี้เดี๋ยวพี่ประสานให้ เรื่องนี้เดี๋ยวดูให้แล้วมาอัพเดท
ถามว่าเหนื่อยไหม ตั้งแต่วันที่เว็บล่ม เราก็เหนื่อย และทุกคำถามบางทีมันไม่ใช่ปัญหาที่เราตอบได้ มันก็ไม่ได้อยู่ที่เรา อยู่ที่หน่วยงาน เราก็พยายามไปหาคำตอบให้ พอตอบไม่ได้เราก็รู้สึกแบบ ทำไมช่วยน้องไม่ได้ หรือได้คำตอบที่ไม่เคลียร์ก็จะเครียด
ทำด้านการศึกษา แอดมิชชั่นมานาน มีประสบการณ์อะไรที่น้องๆ หรือผู้ปกครองมาเล่าอะไรให้ฟังบ้าง
ของพี่จะเป็น 2 แนวที่เจอบ่อยๆ แนวแรกจะเป็นแนวให้ช่วยเหลือ พี่ก็เลยรู้สึกว่าการคัดเลือกมันก็ไม่ได้สมบูรณ์ 100% มันยังเป็นการคัดเลือกที่มีช่องโหว่ อย่างน้องคนนึงมาปรึกษาว่า สมัครมหาวิทยาลัยนี้ไป หนูคะแนนมากกว่าเพื่อน ทำไมเพื่อนได้ เราไปถามทางมหาวิทยาลัยให้ เค้าให้เหตุผลว่าเด็กสมัครมาเยอะ พอร์ตฟอลิโอที่ยื่นมาไม่สามารถคัดเลือกได้ เลยไปใช้วิธีการดูคะแนนโอเน็ตรุ่นพี่ น้องก็ถามว่าไม่ได้มีเขียนในระเบียบการทำได้ยังไง มันก็เกิดอะไรที่เราควบคุมไม่ได้ เราก็ช่วยแจ้งไปทางผู้ใหญ่เค้าจะได้ระมัดระวังในปีต่อๆ ไป
อีกอันก็จะเป็นผู้ปกครอง เว็บ Dek-D มีผู้ปกครองโทรมาเยอะ หลายคนจะจะมาถาม ว่าระบบมันเป็นยังไง อยากจะช่วยลูก จะรับ SMS ข้อมูลยังไง จะได้เอาไปบอกลูก ถามกันเยอะมาก แต่ผู้ปกครองส่วนใหญ่จะเป็นแนวดราม่า บางทีติด พ่อไม่ให้ไปเรียน เคยมีเรื่องนึงเด็กติดแพทย์ เอาผลให้พ่อดู พ่อก็เฉยชา ลูกก็งงว่านี่ติดถึงแพทย์แล้ว ภายหลังไปรู้ว่าไม่ใช่แพทย์ในสถาบันที่พ่ออยากให้เรียน พ่ออยากให้เรียนสถาบันที่ตัวเองจบมา ลูกจากที่ดีใจมากก็คือเฟลไปเลย
ล่าสุด น้องคนนึงสอบไม่ติด ก็แคปไปคุยในกรุ๊ปไลน์ครอบครัว คุณพ่อหรือคุณแม่ตอบกลับมาว่า ‘แล้วยังไงต่อ’ มันดูเป็นประโยคสั้นๆ แต่น้องรู้สึกแบบเหมือนถูกทิ้งไว้กลางทาง ประโยคแบบนี้อย่าใช้เลย เด็กสอบไม่ติดแล้ว วินาทีนั้นจะให้เค้าคิดอะไรต่อคือไม่ได้แล้วแหละ ให้เวลาเค้าหน่อย ประโยคแบบแล้วยังไงต่อ จะทำยังไงต่อ มันจะเปิดเทอมแล้ว กลายเป็นเด็กเครียด
มีอีกเรื่องที่น้องคนนึงเล่าให้ฟังว่าสอบไม่ติด ไม่กล้าไปบอกพ่อ เพราะพ่อหวังไว้เยอะ แต่พอไปบอกว่าไม่ติด พ่อบอกว่า ‘ไม่เป็นไร รอบหน้าเอาใหม่’ เค้าจากที่กลัวคือปล่อยโฮเลย เพราะเค้าอยากให้พ่อแม่ภูมิใจ เพราะนี่มันรอบ 3 จะให้รอบ 4 แล้ว เพราะพ่อแม่ก็ส่งเงินมาให้สมัครสอบตลอด น้องก็อยากติด
ทำเรื่องการศึกษาที่เครียดๆ แล้วเครียดตามไหม
ถ้าทำคนเดียวก็อาจจะเครียดนะ แต่ที่เว็บ Dek-D มีเพื่อนๆ ช่วยกัน เราก็จะคุยกันว่าทำไมมันออกมาเป็นแบบนี้ แล้วหน้าที่ของเราคือพอเป็นอย่างนี้แล้ว เราจะทำยังไงให้น้องออกมามีความพร้อมมากที่สุด เราจะไม่ค่อยเครียดเรื่องระบบไม่ดี เพราะเรายอมรับในระดับหนึ่งว่าการเปลี่ยนอะไรมันยาก เราก็พยายามเปลี่ยนโดยทำให้น้องๆ มีความพร้อมที่สุดดีกว่า แต่จะเครียดตอนที่มันเกิดปัญหาแบบเว็บล่ม สมัครไม่ได้ ติด 4 ที่ไม่เรียกตัวสำรอง แบบนี้เราเครียด น้องก็ถามเยอะ เราตอบไม่ทัน เราก็เครียด
เราเคยไลฟ์เด็กดี เรื่องการศึกษานี่แหละ ไม่มีใครกดไลก์เลย ทุกคนกดร้องไห้ คือเป็นไลฟ์ที่ดูมืดมนมาก เราก็พยายามทำให้น้องๆ มีไฟ และไม่ทิ้ง หลายคนติดรอบแรกแล้วก็ดีไป แต่คนติดรอบ 4 รอบ 5 ไม่ได้แปลว่าคุณไม่เก่ง ยังมีรอบที่รอให้น้องๆ และช่วยน้องๆ เข้ามหาลัยอยู่
ถ้าได้ออกแบบระบบการเข้ามหาวิทยาลัย อยากให้เป็นแบบไหน
พี่ตอบไม่ได้เลยนะ ขนาดพี่เคยตั้งกระทู้ถามน้องๆ ใน Dek-D ว่าอยากได้ระบบไหน ก็อยากได้ไม่เหมือนกัน การที่จะทำให้ 1 ระบบถูกใจเด็ก 3 แสนคนพี่ว่ายาก แต่ถ้าจะทำระบบไหนพี่ว่าต้องเป็นระบบที่แฟร์ การเข้ามหาวิทยาลัยมันคือการแข่งขัน ดังนั้นความแฟร์ต้องมาเป็นอันดับ 1 แล้วก็ทำงานกับเด็ก เราต้องเข้าใจเด็กด้วย ไม่ใช่กำหนดมาโหดๆ ที่ไม่เอื้อต่อสภาพจิตใจ พี่ว่าถ้าเด็กต้องมารับอะไรหนักๆ แบบนี้ มันโหดเกินไป อาจจะต้องเข้าใจในตัวเด็กหน่อยว่า ในช่วงเดือนนี้ สภาพจิตใจเค้าเป็นยังไงด้วย
Photo by. Asadawut Boonlitsak