กฎหมาย คือเครื่องมือที่จะสร้างให้เกิดความยุติธรรมในสังคม แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในสังคมไทยเรากลับรู้สึกว่า กฎหมายกลับถูกใช้กลายเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ
หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศในปลายเดือนพฤศจิกา ปีที่ผ่านมา ว่าพร้อมบังคับใช้กฎหมายทุกมาตรา ซึ่งหมายถึงการนำ ม.112 มาใช้อีกครั้ง เราได้เห็นการสั่งฟ้อง การออกหมายแก่ประชาชนมากมาย ซึ่งล่าสุด ก็มี 4 นักกิจกรรมที่ถูกฝากขัง และไม่ให้ประกันตัวจากคดีนี้แล้ว
ในภาวะที่กฎหมาย เสมือนกลายเป็นเครื่องมือในการจัดการผู้เห็นต่าง ‘ทนายจูน ศิริกาญจน์ เจริญศิริ’ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ก็เล่าให้เราฟัง ถึงความไม่ปกติของการใช้กฎหมาย ม.112 ในคราวนี้ ทั้งในแง่การพยายามเข้าไปควบคุมความรู้สึกคน การตีความ จนนำไปสู่กระแสการ #ยกเลิกม112 ที่เกิดขึ้นนี้
ทนายจูนมองว่า แนวโน้มสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในปีนี้ ในไทยจะเป็นอย่างไรบ้าง
สิ่งที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรับมืออยู่ตอนนี้ ตั้งแต่ต้นปีมา ก็จะมีในเรื่องของที่มีการจับกุมน้องนักศึกษาของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ ที่ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มที่จัดการชุมนุมประท้วงรัฐบาลตั้งแต่ช่วงกรกฎาคมมา จากปีที่แล้ว ซึ่งมีการจับกุมแล้วก็มีการแจ้งข้อหา ม.112 มีการเอาตัวน้อง โดยอ้างว่าจะส่งไปควบคุมตัวที่ ตชด.ภาค 1 ซึ่งอยู่ในพื้นที่ปทุมธานี แต่โดยหลักแล้วตามกฎหมายก็ควรควบคุมตัวไว้ที่สถานีตำรวจ เราก็เลยเห็นว่าสถานการณ์เริ่มต้นปีมาเนี่ย ไม่น่าจะต่างจากสถานการณ์เมื่อปีที่แล้ว
อันที่สอง คิดว่าสถานการณ์ในปีนี้ เรื่องการแสดงความคิดเห็นในเรื่องของการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่ภายใต้กรอบกฎหมายรัฐธรรมนูญ และเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น จะมีการพูดที่เข้มข้นขึ้น มีการแสดงออกในหลายๆ รูปแบบที่เข้มข้นขึ้น
ประเด็นที่สาม น่าจะเป็นเรื่องของสถานการณ์ที่ตอนนี้เราอยู่ภายใต้ COVID-19 ซึ่งทั่วโลกก็อยู่ภายใต้สถานการณ์เดียวกัน แต่รัฐไทยเนี่ยได้ใช้กฎหมายพิเศษ คือสถานการณ์ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ประกาศมาตั้งแต่มีนาคมปีที่แล้ว มาจนถึงวันนี้ก็ยังมี พ.ร.ก. ตัวนี้อยู่ ซึ่งหมายความว่า รัฐบาลก็น่าจะอ้างเรื่อง COVID-19 และขยายตัว พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อ ทั้งที่จริงๆ แล้ว เราเข้าสู่ปีที่สองที่จะต้องจัดการกับโรคนี้ รัฐบาลน่าจะต้องพิจารณาในส่วนอื่นได้แล้วว่าไม่ควรใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังมีความคุ้มกันให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งปกติ หากเจ้าหน้าที่ทำการละเมิดต่อประชาชน แล้วเราจะไปตรวจสอบเขา เราสามารถไปศาลปกครองได้ แต่พออยู่ภายใต้พ.ร.ก.นี้ เราไปที่ศาลปกครองไม่ได้ ต้องไปฟ้องที่ศาลแพ่ง ซึ่งมันจะเพิ่มภาระให้กับประชาชนในการตรวจสอบ
อันที่สี่ก็คือ แม้ว่าเราจะเห็นว่า น่าจะมีความเข้มข้นในเรื่อง ม.112 และเรื่องสถานการณ์ COVID-19 ที่ถูกเอามาอ้างเพื่ออยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่คนจะไม่ทนแล้ว ซึ่งเราก็จะเห็นปรากฏการณ์ที่คนจะออกมาแสดงความไม่พอใจ ทั้งการแสดงความคิดเห็นทางออนไลน์ การออกมาชุมนุม ซึ่งคิดว่าแนวโน้มปีนี้เราจะเห็นหลายๆ กลุ่ม ที่ไม่ใช่แค่กลุ่มที่มีข้อเรียกร้องเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับการเมืองเสียทีเดียว ออกมาร่วมบนถนนมากขึ้น
อย่างเช่น ช่วงต้นปี เราจะเห็นกลุ่มที่ไปรวมตัวเรียกร้องกันที่หน้าสภา ไม่ว่ากลุ่มแรงงาน กลุ่มที่เกี่ยวกับเบี้ยของผู้สูงอายุ หรือว่าเรื่องของประกันสุขภาพ ประกันสังคมต่างๆ เพราะฉะนั้น แค่เดือนเดียวเนี่ย เราจะเห็นแล้วว่ามีแบบนี้ออกมา
สี่ข้อที่พูดมามันจะมีผลอย่างไรกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ถ้ายังเป็นรัฐบาลชุดนี้อยู่ เราจะมองเห็นว่า 5-6 ปีที่ผ่านมา เขามีวิธีการตอบโต้ จัดการกับการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ด้วยการปราบปราม ทั้งในการใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นเหมือนเดิม มีการจับกุม ควบคุมตัว ดำเนินคดี และเมื่อปลายปีที่แล้ว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาก็ออกมาพูดเองว่า “จะบังคับใช้กฎหมายทุกมาตรา” ที่เราก็ได้เห็นว่า ม.112 ได้กลับมา
เพราะฉะนั้น ปีนี้น่าจะเป็นปีที่ภาระทางคดีที่เกิดจากฝั่งรัฐ ที่มาไล่แจ้งความดำเนินคดีกับประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่เห็นต่างจะยังดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น และกว้างขวางขึ้น หมายความว่ามันจะกระจายไปในต่างจังหวัดด้วย
ถ้าไม่ควรใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทนายจูนมองว่า ควรจะเป็นอย่างไรดี
จริงๆ แล้วเนี่ย มันมีการทบทวนว่าตอนที่ใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินในช่วงแรกที่อ้างเรื่อง COVID-19 ตอนนั้นทั่วโลกตื่นตระหนก ไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไร หลายประเทศก็เลือกใช้กฎหมาย ที่มันสามารถจำกัดการเคลื่อนที่ของคน ไม่ให้คนมาแออัด รวมตัว เขาก็เลยใช้มาตรการที่หลายคนก็เรียกว่า ‘ยาแรง’
นั่นก็คือ หนึ่ง มีเคอร์ฟิว จำกัดเวลาเข้า-ออกสถานที่ต่างๆ เพื่อไม่ให้คนมารวมกัน และสอง จากที่ตอนนั้นมีภาวะขาดแคลนทั้งเรื่องหน้ากาก เจลล้างมือต่างๆ ที่เป็นสิ่งพื้นฐานในการดูแลสุขอนามัยของประชาชน รัฐก็เลยใช้วิธีเอา พ.ร.ก.นี้มาควบคุมไม่ให้ขายเกินราคา และสามคือ ควบคุมการเคลื่อนที่หรือว่าปิดพื้นที่ ที่มีคนติดเชื้ออาศัยอยู่ในนั้น ไม่ให้เขาออกมา
แต่พอเราผ่านความตระหนกมาสักระยะแล้ว เราก็มาดูกันว่า จริงๆ ทุกมาตรการที่รัฐบาลใช้ สามารถทำได้ภายใต้กฎหมายปกติ อย่างเช่น พ.ร.บ.โรคติดต่อ ที่มีอำนาจให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจัดการเรื่องนี้อยู่แล้ว หรือแม้แต่เรื่องการจัดการคนเข้า-ออกประเทศ ดังนั้น หากรัฐมีสติ ตั้งต้นด้วยข้อมูลพื้นฐานว่าจริงๆ แล้วทุกอย่างสามารถผ่อนคลายกลับมาใช้กฎหมายปกติได้ ทั่วโลก และประชาชนเรียนรู้ หลายคนก็กลับมาใช้ชีวิตปกติ เพราะฉะนั้น พ.ร.ก.ฉุกเฉินมันไม่ได้ฉุกเฉิน และไม่จำเป็นแล้ว
แต่การออกคำสั่งต่างๆ ที่มันมาจำกัดสิทธิเราในขณะเดียวกัน มันมาในช่วงที่เราเห็นว่ามาตรการที่รัฐเลือกใช้อย่างเข้มข้นที่สุดในพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นเรื่อง ‘ห้ามชุมนุม’ ในลักษณะแออัด แต่ก็มีต่อท้ายด้วยว่าหรือในลักษณะที่เป็นการยุยงปลุกปั่น ซึ่งอันนี้กลายเป็นเอาเรื่องทางการเมือง หรือการที่ประชาชนเขาออกมารวมตัวกัน และแสดงความไม่พอใจต่อการบริหารหรือนโยบายของรัฐ ก็จะถูกเหมารวมเป็นว่า คุณออกมาชุมนุมแล้วเป็นภัยเสี่ยงต่อการระบาดของโรค COVID-19 อีกทีหนึ่ง
ซึ่งก็ประจักษ์ว่าหลังจากนั้น กลุ่มที่โดน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ห้ามชุมนุม กลายเป็นกลุ่มคนที่ออกมาประท้วงรัฐบาล ตั้งแต่ปลายกรกฎาคมเป็นต้นมา จนถึงปลายปีที่แล้ว ประมาณ 280 กว่าคน ซึ่งนี่ยังไม่รวมถึงช่วงที่เขายกระดับเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินพิเศษร้ายแรง ในช่วงกลางเดือนตุลาคม ที่สลายการชุมนุมโดยใช้กำลัง มีการฉีดน้ำ มีคนได้รับบาดเจ็บ ซึ่งในตอนนั้นมันได้เพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ ในการสามารถจับกุม และสามารถเอาไปควบคุมตัวไว้ที่ ตชด.ได้เลย
สิ่งที่น่ากลัวคือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมันทำให้กฎหมายพิเศษในเรื่องความฉุกเฉินถูกใช้เป็นเรื่องปกติ และสังคมทั่วไปก็รู้สึกว่าตนไม่ได้รับผลกระทบอะไร แต่ในทางกฎหมาย มันเป็นเรื่องที่ซีเรียสมาก เพราะเมื่อคุณเอาภาวะพิเศษมาบังคับใช้ไปเรื่อยๆ มันกลายเป็นรัฐสามารถทำอะไรตามอำเภอใจได้ เพราะการตรวจสอบจากกฎหมายมันน้อยลง
ทนายจูนพูดถึงการที่จับคนไปที่ ตชด. การจับไป ตชด. มันแตกต่างจากการจับแบบปกติอย่างไร
ถ้ามีการจับกุมในคดีปกติ หรือแม้กระทั่งคดีการเมือง เรียกว่าเป็นข้อหาอาญา เจ้าหน้าที่ตำรวจที่จับในท้องที่ที่เกิดเหตุ ต้องนำตัวผู้ถูกจับไปทำบันทึกจับกุม เหมือนเราจับแล้ว ถ้าไม่มีหลักฐานก็จะไม่รู้ว่าจับใคร และจับทำไม
กฎหมายเลยมีว่า สิทธิของผู้ถูกจับคืออะไรบ้าง ซึ่งเขามีสิทธิที่จะแจ้งญาติ เพื่อน โทรหาทนาย และตำรวจจะต้องแจ้งเขาว่า มาจับเขาเรื่องอะไร และสุดท้าย เพื่อประกันสิทธิว่าไม่ใช่การจับโดยอำเภอใจ โดยไม่ใช่อำนาจของตำรวจ หรือโดยผิดกฎหมายเนี่ย ก็ต้องเอาไปที่สถานที่ที่เป็นทางการ ซึ่งก็คือสถานีตำรวจ
อย่างเช่น การชุมนุมตรงแยกปทุมวัน ตรงนั้นก็ต้องไป สน.ปทุมวัน หรือพื้นที่ต่างๆ ก็จะมีสถานีตำรวจที่รับผิดชอบพื้นที่นั้นๆ อยู่ อย่างน้อยเราคุ้นเคยกับสถานที่ ประชาชนทั่วไปยังมีสิทธิที่จะเข้าถึงได้ แม้ว่าช่วงหลังตำรวจเขาจะเอารั้วมาตั้ง และเข้าถึงยากขึ้น
แต่พอไปที่ ตชด.ภาค 1 อย่างแรกเลยคือมันไกลมาก และสภาพกายภาพมันก็เหมือนค่ายทหาร ซึ่งในช่วงแรกทนายเป็นกลุ่มเดียวที่เข้าได้ เพื่อน หรือญาติเขาไม่อนุญาตเลย หรือขนาดทนายที่เข้าได้ ยังต้องจอดรถริมถนน ต้องถูกจดชื่อ ถูกตรวจสอบว่าเป็นทนายจริงหรือเปล่า และเขาก็จะถามเรากลับมาว่า เป็นทนายของใคร ซึ่งมันก็เป็นปัญหาหนึ่ง เพราะบางครั้งเรารู้ว่ามีคนถูกจับ เรามาเป็นทนาย แต่เรายังไม่รู้เลยว่าใครถูกจับบ้าง ชื่ออะไรบ้าง เขาจะพยายามสร้างขั้นตอนที่เป็นอุปสรรคกว่าที่เราจะเข้าถึง และสร้างความหวาดกลัวด้วย
กว่าเราจะเข้าไปได้ ก็ต้องขึ้นรถตู้ของเขาเข้าไปอีกระยะหนึ่ง ไปถึงห้องประชุมใหญ่ ซึ่งพอเข้าไป ทนายก็ถูกห้ามใช้มือถือ ถ้าจะใช้ต้องออกมาพื้นที่ที่จัดไว้ กึ่งๆ เหมือนจะยึดมือถือทนาย เพื่อไม่ให้เผยแพร่ออกไปข้างนอก ซึ่งญาติก็จะพยายามติดต่อผ่านเรา เราก็ต้องคอยออกมาติดต่อประสานงานกับข้างนอก สเต็ปมันเยอะมากกว่าการไปสถานีตำรวจ อันนี้ก็เป็นอุปสรรคที่เกิดขึ้นโดยไม่จำเป็น และเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถูกจับในกระบวนการอาญา
ทั้งในการจับคนมา มันอาจมีใครก็ไม่รู้ถูกจับมาด้วยก็ได้ และสภาพที่เขาถูกจับมา เราเจอเคสที่มือถือเขาก็ถูกเก็บไป เขาถูกรัดข้อมือ แล้วไม่สามารถติดต่อญาติ หรือเพื่อนได้ ทนายที่สามารถช่วยได้ ก็ไม่มีมือถือกับตัว นี่คือสภาพที่เกิดใน ตชด. เพราะฉะนั้น จริงๆ มันควรเป็นประเด็นที่สังคมน่าจะมองเห็นว่า มันคือปัญหาที่คนไม่ถูกนำตัวไป สน. มักยากต่อการเข้าถึง ประชาชน หรือสื่อไม่รู้เลยว่าข้างในเป็นอย่างไร คนก็ไม่มั่นใจว่ากระบวนการจะโปร่งใส และทนายเองเรามีหน้าที่ไปประกันสิทธิของผู้ที่ถูกจับ ของผู้ต้องหาเท่านั้นเอง เราไม่ได้ไปเป็นภัยต่อรัฐ
ที่เห็นทิศทาง ที่เริ่มพาคนไป ตชด. เยอะขึ้น เริ่มเป็นกระบวนการที่ไม่ปกติเพิ่มมากขึ้นอย่างนี้ มันสะท้อนให้เห็นอะไรบ้าง
สะท้อนให้เห็นว่า รัฐมองการออกมาประท้วงของประชาชนเป็นเรื่องที่เป็นภัยความมั่นคงของรัฐบาล เพราะว่ามาตรการที่ใช้ ค่อนข้างเป็นมาตรการทางความมั่นคงพิเศษ ที่เราจะเห็นการใช้ในลักษณะใกล้เคียงกันคือ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งผ่านมา 17 ปีแล้ว ก็ยังอยู่ภายใต้ทั้งกฎอัยการศึก ทั้งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วก็ พ.ร.บ.ความมั่นคง ที่สามารถเอาคนโดนจับไปค่ายทหาร และขยายเวลาควบคุมตัวได้ถึง 37 วันก่อนเข้าสู่กระบวนการอาญาปกติ และอ้างว่าเพื่อจัดการความรุนแรงระดับภัยต่อความมั่นคงต่อประเทศ
แต่เราเห็นว่าโมเดลนี้ มันถูกนำมาใช้กับสถานการณ์ทางการเมืองที่ต่อต้านรัฐบาล เราจึงเห็นว่าปีนี้ สถานการณ์จะยิ่งรุนแรงขึ้น หมายความว่าเจ้าหน้าที่พร้อมที่จะจับคนเยอะๆ ได้ เพราะพื้นที่ของ ตชด.มันกว้างกว่า สน.ทั่วไป โดยเรามองว่า เป็นการเตรียมการของรัฐจริงๆ ในการใช้ ตชด.ภาคหนึ่ง ตั้งแต่ช่วงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง ทั้งไม่ใช่แค่ที่นี่ ยังมีค่ายทหารอีกสองแห่งที่ชลบุรี ที่ประกาศไว้สำหรับควบคุมตัวบุคคลได้
แต่ ณ ตอนนี้ เราก็โต้แย้งกันว่ายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงไปแล้ว แต่ทำไมยังใช้ ตชด.ภาค 1 อยู่ ทั้งๆ ที่ต้องพาไป สน.ตำรวจแบบสภาวะปกติ ซึ่งนั่นหมายความว่า รัฐมอง และเตรียมการอยู่เสมอ ว่าพร้อมที่จะกวาดจับคนเป็นจำนวนมาก เพื่อเอาไปสู่พื้นที่ที่เข้าถึงความช่วยเหลือจากทนาย และสาธารณะได้ยากขึ้น
หลังจากพ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง เจ้าหน้าที่ รวมถึงนายกฯ เองได้ประกาศว่า “พร้อมใช้กฎหมายทุกมาตราในการจัดการ” เราเห็นอะไรบ้างจากการที่เขาออกมาพูดกับเราแบบนี้
จริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่ซีเรียสมากที่บุคคลที่เป็นผู้นำทางการเมือง ผู้นำรัฐบาลออกมาพูดในลักษณะที่มอบนโยบาย การพูดแบบนี้เป็นเหมือนการส่งข้อความ ส่งสัญญาณ ไม่ได้แค่กับกลุ่มผู้ชุมนุม ว่าถ้าคุณออกมาแบบนี้ ต่อไปนี้เราจะใช้ปราบปราม แต่มันทำให้คนที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาขององคาพยพต่างๆ เขาก็จะรู้สึกว่า ถ้าบางเรื่องเขาไม่ได้ปฏิบัติ หรือจัดการ เพราะเห็นว่าไม่ถูก จะทำให้เขาจะโดนอะไรไปด้วยหรือเปล่า
ทั้งการที่พูดว่า ‘บังคับใช้กฎหมายทุกมาตรา’ เป็นเรื่องที่ล่วงล้ำอำนาจตุลาการมากไป สมมติถ้าวันหนึ่งนายกรัฐมนตรี หรือผู้มีอำนาจที่สูงกว่านั้น ออกมาพูดว่าพรุ่งนี้เราจะหยุดใช้มาตรานี้ และหลังจากนั้นเราไม่เห็นคดีมาตรานี้อีกเลยในสารระะบบ ไม่เห็นในชั้นตำรวจ ชั้นอัยการ หรือชั้นศาล หากอยู่ในศาลแต่ศาลไม่ลงโทษมาตรานี้ หมายความว่ากระบวนการนี้ ปฏิบัติตามคำสั่ง คำแนะนำ หรือนโยบายอื่นที่มากกว่าตัวบทกฎหมายใช่หรือไม่
อันนี้เป็นสิ่งที่ชวนมองว่ามันเป็นเรื่องที่ผิดปกติมากๆ เพราะฉะนั้น สิ่งที่คนในรัฐบาลออกมาพูด นอกจากจะเป็นการส่งสัญญาณว่าเราจะรุนแรง มันยังทำให้คนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมปฏิบัติลำบาก แทนที่สิ่งที่เขาจะยึดถือตามกฎหมาย แต่นี่เขาอาจต้องมาคิดว่า ถ้าไม่ทำในแนวทางตรงนั้น มันจะมีผลดีผลร้ายอย่างไรกับเขา
พอรัฐบาลประกาศว่าพร้อมใช้กฎหมายทุกมาตรา เราก็เห็น ม.112 ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง สิ่งที่มันเปลี่ยนไปในครั้งนี้ จากที่ใช้ในครั้งก่อนมีอะไรบ้าง
สิ่งที่เราเห็นเลย ม.112 มันถูกใช้จนเฟ้อ แต่ในขณะที่เราเห็นว่าถูกใช้เกลื่อน มันกลับถูกใช้เพื่อทาร์เก็ตบางกลุ่ม กลุ่มที่มีความเห็นทางการเมืองเซ็ตหนึ่ง ยิ่งชัดว่า เป็นการเอา ม.112 มาใช้กับกลุ่มคนที่มีความเห็นต่างทางการเมือง ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ
เราเห็นว่านอกจากจะเป็นการใช้เพื่อมาสกัดการชุมนุม เพราะว่ามันเป็นการใช้ในการจัดการกับข้อความ เนื้อหา การปราศรัย การแสดงออกที่เกี่ยวกับหนึ่งในข้อเรียกร้องเรื่องของการปฏิรูปสถาบัน มันเหมือนกลายๆ ว่ารัฐยอมรับเหมือนกันว่ามันมีปัญหาจริงหรือเปล่า ถ้ามันไม่มีปัญหาจริง คุณก็ปล่อยให้คนมีความเห็น วิพากษ์วิจารณ์กันได้
ทั้งเรายังมองว่าในการชุมนุมช่วงที่ผ่านมา มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ เยาวชนร่วมเยอะ มันก็เลยส่งผลให้คนที่ถูกดำเนินคดี 112 มีคนที่อายุน้อยลง มีคนที่อายุต่ำกว่า 18 ปีประมาณ 3 คน แล้วคนที่โดนในรอบใหม่ ณ ตอนนี้ประมาณ 55 คน ภายในระยะเวลาแค่ไม่กี่เดือน มีทั้งแกนนำ และไม่ใช่แกนนำ แต่เป็นกลุ่มที่ออกมาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หรือสถานการณ์การชุมนุม เช่น อ่านแถลงการณ์เป็นภาษาเยอรมนีหน้าสถานทูตเยอรมนีก็โดน หลายคนก็เลยเป็นคนหน้าใหม่ และเรียกได้ว่าความหลากหลายของกลุ่มที่โดนมากขึ้น
หมายความว่า ม.112 ถูกใช้กับคนที่หลากหลายมากกว่าเดิม และหลายคนอาจไม่คุ้นชินกับการถูกกฎหมายนี้กดปราบ มันก็ทำให้การที่เขาถูก ม. 112 กลายเป็นเรื่องที่เขาอาจตกใจ หวาดกลัวอยู่แรกๆ แต่เขา push back มีปฏิกิริยาที่ทำให้เขามั่นใจว่า ฉันไม่ได้ทำอะไรผิด ฉันมาในเจตนาที่ต้องการนำเสนอความคิดเห็น แต่บังเอิญว่าความคิดเห็นของฉันเป็นในแนวทางที่จะติเพื่อก่อ หรือการวิพากษ์วิจารณ์ แต่ในท้ายที่สุดก็คือ ฉันมาในนามของเจเนอเรชั่นนี้ ที่อยากจะให้ประเทศมันเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี ให้เห็นอนาคต เราเห็นเลยว่า 112 ที่ถูกนำมาใช้ตรงนี้ สร้างความกลัวได้ไม่เท่ากับในยุคสมัยก่อน
เราเห็นทางปฏิบัติที่แตกต่างไปบ้าง อย่างในยุค คสช. ช่วงนั้นมีการใช้ศาลทหาร ประชาชนที่เข้าไปจะอยู่ภายใต้การจัดการของทหาร ซึ่งปกครองประเทศด้วย การจะไปสู้ ม.116 หรือ ม.112 ในศาลทหารจึงเป็นอะไรที่น่ากลัว ทั้งคนที่โดน คนที่ช่วย และสังคมก็ไม่อยากจะยุ่ง ช่วงหลัง 5 ปีภายใต้คสช. ถ้าเราจำไม่ผิด คนที่โดน ม.112 จะอยู่ประมาณ 160 กว่าคน แล้วเราพบว่า มันเป็นภาวะที่ลงโทษรุนแรงมาก เราจะเห็นคำพิพากษาที่น่าตกใจในช่วงนั้น คือตัดสินกันที 60-70 ปีเลย
ปัญหาของ ม.112 ทั้งในตัวกฎหมาย และตัวการบังคับใช้ เป็นอย่างไรบ้าง
ตัว ม.112 เองใครไปแจ้งความร้องทุกข์ก็ได้ เพราะความผิดไม่ใช่ความผิดส่วนตัว ไม่เหมือนการหมิ่นประมาทบุคคลอื่น มันเป็นเรื่องของรัฐ ความผิดกับรัฐ มันกลายเป็นเรื่องกลั่นแกล้งกันก็มี ใครไม่ชอบขี้หน้ากัน ญาติพี่น้อง พ่อไปแจ้งความลูกก็มี มันเกิดภาวะที่ใช้ความรู้สึก ความศรัทธาของมวลชนมากมาย ในการไปจัดการคนที่อาจแค่ไม่เห็นด้วยบ้าง หรือเรียกง่ายๆ ว่าคนนึงรัก แต่คนนึงไม่รัก เรื่องความรักมันอยู่ข้างใน เป็นองค์ประกอบนึงของมนุษย์ แต่กฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่ถูกนำไปใช้อย่างผิดเพี้ยน คือพยายามเข้าไปควบคุมถึงขั้นมโนสำนึกว่า ห้ามไม่รักนะ ห้ามไม่เคารพนะ
ในยุค คสช. พอโดนดำเนินคดี โดนจับ แล้วส่วนใหญ่ช่วงนั้นจะมีทหารเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะว่า คสช.ให้อำนาจทหารสามารถเข้ามานั่งในการสอบสวนได้ด้วย จะเห็นว่ามันเกิดปรากฏการณ์นอกเครื่องแบบทหาร ไปเยี่ยมตามบ้านของคนที่มีความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์หรือเปล่า แล้วก็มีการให้เซ็นคำตกลงหรือ MOU ว่าคุณจะไม่แสดงความคิดเห็นแบบนี้ จะไม่ไปชุมนุม หรือจะไม่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบัน
ตอนนั้นจะมีสิ่งที่คนเรียกกันติดปากว่า ‘เข้าค่ายทหารเพื่อปรับทัศนคติ’ ซึ่งอันนี้ก็เป็นอีกมาตรการหนึ่งที่เกิดอย่างเข้มข้นในยุค คสช. ที่เขาให้อำนาจทหารในการจับกุมควบคุมตัวได้ถึง 7 วัน พวกที่โดน ม.112 ตอนนั้น ก็โดนผ่านกระบวนการต้องขึ้นศาลทหาร การขอประกันตัวชั่วคราวในช่วงก่อนจะขึ้นศาล หรือสืบพยาน ก็มักจะถูกปฏิเสธโดยศาลจะให้เหตุผลว่า เป็นคดีที่ร้ายแรง มีโทษหนัก ถ้าให้ประกันตัวแล้วจะหลบหนี
เมื่อคุณถูกควบคุมตัวอยู่นานมาก ตั้งแต่เข้าค่ายทหาร พอถูกส่งตัวมาตำรวจ และศาลก็ยังไม่ให้ประกันตัว ซึ่งคุณสามารถถูกควบคุมตัวได้นาน 84 วัน กว่าที่จะฟ้องขึ้นศาล มันทำให้คนตัวเล็กตัวน้อยเหนื่อย ในขณะเดียวกันมันก็จะมีวาทกรรมที่บอกว่า ‘ก็สำนึกสิ รับสารภาพไหม’ เพราะถ้ารับสารภาพ โดยทางปฏิบัติส่วนใหญ่ศาลก็จะลดให้ครึ่งนึง ตามประสาชาวบ้านเหมือนได้ส่วนลด 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หลายครั้ง คนที่สนับสนุน ม.112 จะมองว่า พวกที่โดนลงโทษทำผิดจริง เพราะว่าเขาสารภาพ
แต่จริงๆ ในกระบวนการ กว่าที่คนจะรับสารภาพมันมีอะไรมากกว่านั้น การที่คุณไม่ได้รับการปล่อยตัวให้ออกไปอยู่กับครอบครัว กับญาติเพื่อสู้คดี ถูกจำคุกอยู่นานกว่าจะขึ้นศาล ความหวังมันเริ่มถดถอยลง คุณไปอยู่โดยที่ไม่รู้เลยว่าคนข้างนอกคิดถึงคุณหรือเปล่า มันคือการกระทำต่อจิตใจของคน ทั้งเขามีมุมมองว่า พอเขามาโดนคดีนี้ สังคมจะมองเขาเป็นคนทรยศ ไม่จงรักภักดีหรือเปล่า ถ้าสู้คดีต่อไป ไม่รู้มันจะจบเมื่อไหร่ ถ้าโดนลงโทษ ก็อาจถูกจับคุกอีก หรือสู้ฉันรับสารภาพไปเลยในวันแรกที่ขึ้นศาล ศาลท่านจะได้เมตตาลดโทษให้
เป็นที่มาว่าหลายคดีเป็นการรับสารภาพโดยที่แม้กระทั่งทนายเองก็ไม่สามารถบอกได้ว่า ที่รับสารภาพเพราะเขาทำผิดจริง มันมีปัจจัยอื่นอีกมากมายที่ทำไมคนๆ หนึ่งต้องรับสารภาพไป
แล้วปัญหาของโดยตัวกฎหมาย ม.112 เลย ส่วนแรก เรื่องการตีความ ในตัวกฎหมายบัญญัติไว้ว่า ‘ผู้ใดดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย’ ซึ่งถ้าดูแค่สามคำนี้ ดูหมิ่นเนี่ยมันไม่ใช่หมิ่นประมาทใช่ไหม เพราะฉะนั้น มันก็ไม่ควรอยู่ด้วยกันหรือเปล่า และคำว่าอาฆาตมาดร้ายเนี่ย แบบไหนคืออาฆาตมาดร้าย มันมีปัญหาตรงที่กฎหมายอาญามันต้องชัดเจนเพียงพอจะทำให้ประชาชนทั่วไปรู้ว่า ถ้าเขาทำแบบนี้มันจะผิดกฎหมาย แต่นี่คือ ไม่รู้ และเปิดช่องให้เกิดการตีความ
ทั้งปกติเขาจะไม่ให้โทษหมิ่นประมาทมีโทษทางอาญา เพราะการพูด การแสดงความเห็น หรือทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ความรุนแรงไม่ถึงขั้น หากเทียบกับทำร้ายร่างกาย หรือว่าเป็นโทษที่รุนแรงถึงขั้นแค่พูดแล้วจับเขาไปขังคุก
ซึ่งประเทศที่เจริญแล้ว เขามีกฎหมายหมิ่นประมาท แต่โทษเขาจะเป็นโทษปรับ หรือถ้าเป็นอาญาก็จำคุกไม่กี่เดือน รวมถึงมีข้อต่อสู้ทางกฎหมายได้ว่า ถ้าสิ่งที่เราพูดมันเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ต้องรับโทษ แต่พอเป็น ม.112 เราไม่มีส่วนของการต่อสู้ตรงนี้ แม้สิ่งที่เราวิพากษ์วิจารณ์ หรือพูดอาจจริง และเป็นประโยชน์มากๆ ต่อประเทศชาติ
ส่วนที่สองคือส่วนโทษ โทษคือ ขั้นต่ำ 3 ปี -15 ปี มันเป็นปัญหาที่ขัดกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอยู่แล้ว ถ้ามองว่าควรมีโทษจำคุกอยู่ แต่ 15 ปีมันเยอะไปไหม กับโทษที่เทียบเท่ากับการทำร้ายร่างกายคนหรือเปล่า หรือคดีอาญาอุกฉกรรจ์หรือเปล่า
กรณีที่เราเห็นว่า โหย ทำไมโทษสูงจังเลย 60-70 ปี เป็นเพราะว่าเขาสั่งฟ้องทุกกรรมเลย อย่างคุณป้าอัญชันก็โดนจากการอัปโหลด 29 คลิปเสียง อัยการทหารสั่งฟ้องหมดทุกคลิป คลิปละกรรม ถ้าสมมติศาลลงโทษต่ำสุดคือ 3 ปี เอา 29 คูณ 3 เข้า นั่นคือเหตุผลที่มันออกมา 87 ปี เคสคุณป้าเกิดในยุคคสช. คุณป้าก็ตัดสินใจรับสารภาพ ลดครึ่งนึง ก็เหลือประมาณ 43 ปีกับ 6 เดือน
ศาลพิพากษา จำคุก ‘อัญชัญ ปรีเลิศ’ จำเลยคดี ม.112 เป็นเวลา 87 ปี แต่ลดโทษเหลือ 43 ปี 6 เดือน
มันเป็นปัญหาของกฎหมายด้วยนะ ไม่ใช่แค่ปัญหาที่บอกว่ากฎหมายดีอยู่แล้ว คุณไปแก้ที่คนปฏิบัติเถอะ หรือคุณไปแก้ที่เจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมาย แต่ถ้ามันยังมีกฎหมายยังอยู่ ศาลก็ไม่สามารถลดโทษลงกว่า 3 ปีได้แล้ว เพราะกำหนดขั้นต่ำไว้ เคสป้าอัญชันทำให้เห็นเลยว่า ต้องแก้ ม.112 ถ้าคุณไม่แก้ มันกลายเป็นคนมองเห็นทางออกอยู่แค่ทางเดียว ก็คือต้องยกเลิก คือรัฐที่ไม่ตอบสนองต่อเสียงของประชาชนอย่างนี้ มันทำให้บีบให้ประชาชนไม่มีทางเลือก แล้วก็ไปเลือกในจุดประสงค์หรือคำตอบสุดท้ายของเขา
หรือแม้กระทั่งเคสของคุณไผ่ ดาวดิน จากการแชร์โพสต์ BBC News ซึ่งมีคนแชร์กันสี่พันคน แต่ไผ่โดนคนเดียว อันนี้มันทำให้เห็นว่า 112 เป็นอาวุธที่มีอานุภาพที่ยังอยู่ในมือของรัฐที่เขาจะเลือกใช้เป็นมาตรการที่รุนแรง ที่เขาคิดว่าหยุดได้แน่นอน มันเป็นความลำบาก เป็นภาระในทุกๆ ด้านของคนที่โดนมาตรา 112 จนมีหลายคนต้องรับสารภาพ บางคนต้องรับโทษ ถ้าทำดีหน่อย ก็จะได้อภัยโทษ ออกมาเร็วหน่อย
นี่เป็นการสร้างหนทางของรัฐไทย ให้มองว่าถ้าเป็นเด็กไม่ดี เด็กดื้อ วิพากษ์วิจารณ์พ่อแม่ปู่ย่าคุณในบ้าน นี่คือสิ่งที่คุณจะโดนนะ และนี่คือเมตตาแล้วนะ แล้วเดี๋ยวถ้าทำตัวดีก็อาจได้ออกเร็วนะ มันก็วนอยู่อย่างนี้
แต่พอมาในยุคนี้ไม่เหมือนเดิมแล้ว หนึ่งคือคนที่โดนไม่ใช่คนที่เป็นประชาชนธรรมดา คุณลุงคุณป้า ที่ไม่รู้จะสื่อสารปัญหาของตัวเองออกมาอย่างไร เป็นคนรุ่นใหม่ที่เขามีเทคโนโลยีในมือ ซึ่งมันสอดคล้องประสานกับปรากฏการณ์ทั่วโลก ที่เราเห็นการต่อสู้เรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยอยู่ในหลายๆ ที่
ไม่ใช่แค่นำกลับมาใช้อีกครั้ง แต่รัฐเป็นผู้ฟ้องเองด้วย
จริงๆ เราเห็นตั้งแต่รัฐประหารแล้ว ที่เป็นการใช้กระบวนการทางกฎหมาย หรือรัฐเอง มาฟ้องปิดปาก ไม่ให้กระทำการพูด หรือวิพากษ์วิจารณ์ต่อต้านรัฐ แต่เพียงแค่ตอนนั้นสังคมไม่ได้ตั้งคำถามมาก หลังรัฐประหาร กรณีนักศึกษาออกมาชุมนุม ก็เป็นเจ้าหน้าที่รัฐทั้งนั้นที่เป็นผู้ฟ้อง ตำรวจ ทหาร เป็นคนไปแจ้งความ ซึ่งตอนนั้น ต่างประเทศจะเรียกว่า Strategic lawsuit against public participation (SLAPP) ในต่างประเทศมีปัญหามาก เพราะเกิดกรณีเช่น ชุมชนไปประท้วง หรือต้องการจะมีส่วนร่วมในนโยบายบางอย่างที่มามีส่วนในพื้นที่ของเขา โดยเอกชน บริษัทควบคุมไม่ได้ ถึงขั้นไปฟ้องร้อง เพื่อให้ชุมชนมีภาระ และหยุด จะได้ไม่สร้างปัญหาให้เขา
ของไทยตอนแรกคนไม่ได้โฟกัส เพราะมองว่าเป็นรัฐ ไม่ใช่เอกชน แปลว่าเขาต้องไปทำผิดอะไรบางอย่าง รัฐจึงมาฟ้อง แต่ตอนนี้เราเห็นแล้วว่า ตัวละครหลักในการละเมิดคนเป็นรัฐ โดยเฉพาะถ้าเรามองในเรื่องทางการเมือง หนึ่งคือคุณอยู่ในอำนาจ และสองคุณใช้กฎหมายให้ได้เปรียบทางการเมือง ในการสกัดกั้นฝ่ายค้าน หรือฝ่ายตรงข้าม
ถ้าพูดในแวดวงการเมือง เราก็เห็นมาตลอดว่า พรรคที่ไม่ใช่พรรคที่สนับสนุน คสช. มาสืบทอดอำนาจ เขาโดนคุกคามไม่ว่าจะเป็นในทางกฎหมาย มีการยุบพรรค หรือให้ ส.ส.ของพรรคไม่ผ่านคุณสมบัติ ถ้าเรามองย้อนกลับคือรัฐทำทั้งนั้น ภาวะแบบนี้ เราเรียกมันว่า ‘การเหลิงในอำนาจ’ ตั้งแต่ทหารขึ้นมามีอำนาจ เพราะทหาร คสช. ทำจนผู้ใต้บังคับบัญชา หน่วยงานรัฐ และเจ้าหน้าที่รัฐเห็นว่า ก็ทำได้ เพราะทหารก็ไล่ฟ้องคน และก็ไม่ได้รับผลอะไร จากการที่ไล่ฟ้องมั่ว หรือกลั่นแกล้งประชาชน เราก็เลยเห็นว่ามีคดีในประเภทนี้เยอะขึ้นเรื่อยๆ จากการมองว่ารัฐบาลทำได้
คำว่ารัฐมันไม่ได้ผูกอยู่กับรัฐบาลเดียว และรัฐมีหน้าที่ปกป้อง คุ้มครอง เคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน นอกจากมีหน้าที่นี้แล้ว ยังมีหน้าที่ขั้นต่ำทางมโนสำนึก และศีลธรรมด้วยว่า คุณเป็นคนที่ถืออำนาจแทนประชาชน มารับใช้ประชาชน คุณต้องไม่มาละเมิดประชาชนเสียเอง แต่ตอนนี้รัฐกลับมาละเมิดประชาชนเสียเอง
เราไม่ไม่ได้บอกว่ารัฐไม่มีสิทธิฟ้อง หากถูกวิจารณ์เสียหาย แต่มันมีความไม่เท่ากันของฐานอำนาจอยู่ คุณเป็นรัฐบาล มีศักยภาพ มีทรัพยากร อย่างเช่น ถ้าสมมติมีคนบอกว่าคุณทำนโยบายนี้ๆ มันคอร์รัปชั่น หรือผิด คุณมีเครื่องมือที่จะชี้แจง ทำความเข้าใจกับประชาชน หรือเปิดเผยข้อมูลออกมาว่าจริงหรือไม่จริง แต่เราไม่เห็นเลย
สิ่งที่เราเห็นคือ การดำเนินคดีเลย เราเลยเห็นว่า ไม่ใช่แค่ คสช. ทหาร แต่หน่วยงานอื่นๆ ก็มีทัศนคติแบบนี้ คือถ้ามีคนพูดถึงหน่วยงานคุณ วิพากษ์วิจารณ์คุณ จะเป็นเดือดเป็นร้อน ไปฟ้องหมิ่นประมาท หรือฟ้อง พ.ร.บ.คอม เรียกได้ว่า ตั้งแต่ คสช. เข้ามา เป็นการให้ท้าย ให้เหลิงในอำนาจของคนในอำนาจ แทนที่จะเป็นอย่างที่เขาบอกว่า จะเข้ามาปราบปรามคอร์รัปชั่น มันไม่ได้เห็นอย่างนั้น แต่เป็นรัฐที่ควรจะปกป้องประชาชน กลับพรากสิ่งนั้นไปจากประชาชนหรือเปล่า
เราเห็นการใช้กฎหมายก็จริง แต่เราเห็นการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียม ที่คนกลุ่มนึงโดน แต่อีกกลุ่มไม่โดน ทั้งๆ ที่มีการปฏิบัติเดียวกัน
เราเห็นเหตุการณ์นี้บ่อยขึ้นจากการที่รัฐจัดการประชาชนตัวเอง ยิ่งพอเป็นประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐ ก็มีการไปคุกคามถึงที่ต่างๆ ข่มขู่ไม่ให้แสดงออก ไปถึงการดำเนินคดี กลับกันสังคมเห็นว่ามันมีความไม่ชอบธรรม เพราะมันใช้กฎหมาย และบังคับใช้กฎหมายอย่างเลือกปฏิบัติ ซึ่งอันนี้เป็นปัญหาที่มองข้ามไม่ได้แล้ว สำหรับรัฐ และกระบวนการยุติธรรม คุณกำลังทำให้ ประเทศมันจะไปสู่การไร้ขื่อไร้แปล เพราะคนไม่ศรัทธา หรือเชื่อมั่นแล้วว่า วันหนึ่งถ้าชีวิตฉันตกอยู่ในความไม่ปลอดภัย จะขอความช่วยเหลือจากตำรวจ เขาจะช่วยไหม ถ้าเขาเห็นว่า เราเคยไปม็อบ
มันเกิดภาวะที่ไม่มั่นใจ ไม่มีศรัทธา และพอเกิดภาวะแบบนี้มากๆ คนก็จะเลือกที่จะไม่เข้าหากฎหมาย กลายเป็นกลับไปสู่การใช้วิธีการธรรมชาติในการจัดการปัญหา ซึ่งจะเลี่ยงความรุนแรงไม่ได้ คนก็จะรู้สึกว่า ต้องปกป้องตัวเอง เพราะรัฐไม่ดูแล และทำไมถึงมองว่ารัฐไม่ดูแล เพราะช่วงที่รัฐบาลนึงมีอำนาจ เขาก็ดูแลแต่กลุ่มคนของตัวเอง ไม่ดูแลอีกกลุ่ม รัฐบาลใหม่มา ก็ดูแลแต่ฐานของตัวเอง ซึ่งรัฐบาลมาแล้วอาจจะไป แต่กระบวนการยุติธรรม และความเชื่อมั่นของความยุติธรรรมมันต้องยังอยู่
ตั้งแต่ คสช.เข้ามา ศูนย์ทนายเราใช้คำว่า เข้ามาทำลายระบบนิติรัฐฯ ระบบที่กฎหมายควรจะเป็นใหญ่ หมายความว่าไม่ได้ขึ้นอยู่กับใครเป็นคนใช้ หรือใครถูกบังคับใช้ และมันจะต้องมุ่งในการที่จะตรวจสอบอำนาจรัฐโดยมิชอบ โดยเฉพาะ การมาละเมิดสิทธิประชาชนของตัวเอง แต่ที่ผ่านมาเกือบ 7 ปี มันพังทลาย
กฎหมายการเป็นเครื่องมือหนึ่งของรัฐไปแล้ว
ตั้งแต่เราเรียนกฎหมายมา คนก็จะบอกว่ากฎหมายไม่ใช่ความยุติธรรมโดยตัวมัน แต่เป็นเครื่องมือที่จะสร้างให้เกิดความยุติธรรม ซึ่งมันก็เป็นอะไรที่เราก็ยึดมั่นมา ไม่ว่าจะเป็นทนาย อัยการ ผู้พิพากษา หรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือพนักงานของรัฐที่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมถึงคุณจะต้องเป็นนักกฎหมายที่ต้องรู้ด้วยว่าเจตนารมย์ของกฎหมาย ที่อาจจะไม่ได้เขียนอยู่ในมาตรามันคืออะไร และสำคัญที่สุดในยุคสมัยนี้ คุณต้องนำไปใช้ในทางที่เป็นประโยชน์กับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ใช่รู้ว่ามีเครื่องมืออะไร และใช้มันจัดการกับสิทธิขั้นพื้นฐานประชาชน
ประชาธิปไตยของทุกประเทศไม่มีอะไรที่เพอร์เฟ็กต์ อาจมีช่วงที่อ่อนแอ หรือหลุดเส้นทางออกไปบ้าง แต่ประเทศไหนที่มีโครงสร้างถ่วงดุลอำนาจ การตรวจสอบรัฐ การคุ้มครองสวัสดิภาพความปลอดภัยของประชาชนที่ไปด้วยกัน มันจะไม่หลงทิศหลงทาง แต่ประชาธิปไตยในไทย มันยังไม่สุกงอม แม้จะมีเลือกตั้ง แต่ทหารก็ยังคุมหมดเลย ของเราเลยเรียกว่าเป็นระบอบกึ่ง
การต่อสู้เรื่องนี้มันจะอีกยาว และเราจะเห็นว่าในภาวะแบบนี้ กลุ่มที่ต้องการที่จะกุมอำนาจตัวเอง และมีอำนาจมาเป็นผู้ปกครอง มีแนวโน้มจะใช้มาตรการควบคุม และจัดการประชาชนอย่างรุนแรง ซึ่งนอกจากที่เขามีพละกำลังแล้ว เขายังเชี่ยวชาญในการสร้างกฎหมายขึ้นมา หรือใช้กฎหมายที่มีอยู่ มากำราบให้ประชาชนยอมรับ เขาไม่ได้เอามาเพื่อที่จะเอื้อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี
ถ้าเราพูดเรื่องนี้ เราต้องมองที่ระบบ ถ้าระบบดี ใครเข้ามาก็ต้องเป็นไปตามระบบ อย่างเช่นตอนนี้ ตำรวจที่เขาทำหน้าที่ควบคุมฝูงชน หรือจัดการม็อบ เขาก็จะพูดว่าไม่อยากทำเลย แต่นายสั่งมา เราก็มองกลับว่ามันจะทำยังไง ให้มีระบบที่ดี ที่เขาจะคุ้มครองคนตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่ทำตามคำสั่งที่ไม่ชอบธรรม
ซึ่ง ณ ตอนนี้มันไม่มีระบบนั้น ถ้าไม่มีระบบที่มีการตรวจสอบทางกฎหมายได้ดี ศาลอิสระจริงๆ เป็นที่ไว้วางใจของประชาชนได้ว่า จะทำตามหลักกฎหมายจริงๆ
หัวหน้าเราพูดไว้ว่า ในคดี 112 ที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ อาศัยความกล้าหาญของผู้พิพากษาในการตัดสินมาก หมายถึงว่าความกล้าที่จะตัดสินตรงไปตรงมาตามกฎหมาย ตามพยานหลักฐาน แต่อีกภาพนึงมันก็สะท้อนใจว่า ทำอย่างไรเราถึงจะเรียกร้องที่ตัวระบบได้มากกว่าที่ตัวบุคคล ที่ผู้พิพากษาบางคนจะต้องไม่เสี่ยงทำความกล้าหาญเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ทำยังไงให้คนที่อยู่ในกระบวนการจะรู้สึกว่า มั่นใจและมีศักศรีดิ์ ถ้าทำตามกฎหมายอย่างถูกต้อง
แม้ว่าสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยจะยังไม่ดีขึ้น แต่มีแนวโน้มที่ดีว่า ประชาชนตระหนักถึงสิทธิของตัวเอง มากขึ้นเรื่อย
หลังการเลือกตั้ง การละเมิดสิทธิในรูป คสช. และองคพายพ มันยังมีให้เห็นอยู่จนถึงทุกวันนี้ ไม่ได้ถูกเปลี่ยน เสมือน คสช. ไม่ได้จากเราไปไหน เพียงแค่เปลี่ยนตำแหน่งกันไป แพทเทิร์นการใช้อำนาจ ในตอนที่ทหารมีอำนาจยังมีอยู่ และยังถูกทำให้เจ้าหน้าที่ก็ใช้ปฏิบัติการเดียวกันได้ มันก็เลยคงอยู่มาในปัจจุบัน
และสิ่งที่เลวร้ายที่สุด คือเขาทำให้สิ่งที่ผิดปกติ กลายเป็นเรื่องปกติ เช่น แต่ก่อนเราไปประชุม หรืองานแถลงข่าว มันไม่เคยมีตำรวจ หรือว่าทหาร นอกเครื่องแบบมาร่วมงาน ตอนแรกเราก็แปลกใจ แต่ตอนนี้เรากลับมองว่าเป็นเรื่องปกติ ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องน่ากลัว การตื่นตัวเป็นเรื่องที่ดี ที่ตื่นตัวว่านอกจากสิทธิที่เราควรมี มันมีการละเมิดสิทธิในมุมเงียบอยู่ที่ไหนบ้าง
การตื่นตัวมันเชื่อมโยงกับหลายๆ มิติ บางคนอาจจะตื่นตัวในเรื่องการเลือกตั้ง หรือพื้นที่แสดงออกในทางการเมือง แต่ว่ามันก็จะมีผลกระทบในด้านอื่นๆ ด้วย ในการเชื่อมให้เห็นว่า ถ้าการเมือง และประเทศเป็นประชาธิปไตยที่ดี เราจะถูกละเมิดสิทธิน้อยลง เราจะได้รับการคุ้มครองที่ดีขึ้น หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่คุ้มครองเรา จะตอบสนองเรา เพราะเราเป็นคนที่ เป็นผู้ทรงสิทธิที่เขาต้องดูแล เสียงของเราจะมีความหมายมากขึ้น และเราต้องเห็นด้วยว่ามิติอื่นๆ ทั้งเศรษฐกิจ ปากท้อง สุขภาพ การศึกษา เป็นส่วนเดียวกับเรื่องของสิทธิมนุษยชน เราไม่สามารถแยกออกจากกันทั้งหมด
เรามองว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่คนตื่นตัว รู้ว่ามีสิทธิ และหน้าที่ที่เขาจะถูกละเมิดไม่ได้เลย หรือมีสิ่งที่ถ้าประชาชนเริ่มรู้ว่าตัวเองมีสิทธิทางกฎหมาย และสิทธิมนุษยชนแค่ไหน เราจะมีอำนาจในการต่อรองทางการเมืองมากขึ้น กับผู้แทน หรือระบบของเรา และนั่นจะค่อยๆ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้จริง รวมถึงจะทำให้คนที่มีอำนาจ ต้องคิดแล้วคิดอีก ถ้าจะออกนอกลู่นอกทาง ถ้าจะทรมาน หรือกดขี่คนโดยมิชอบ
photo by. Watcharapol Saisongkhroh
cover by. Waragorn Keeranan