เมื่อพูดถึง ‘ความฝัน’ เรามักนึกถึงงานที่ชอบ สิ่งที่อยากทำ ชีวิตที่อยากเป็น เช่นเดียวกัน ‘ความฝัน’ ของจอมเทียน จันสมรัก และคุณแม่ ก็ไม่ต่างจากหลายคน นั่นคือได้ใช้เวลาทำงานที่รักและสร้างรายได้ด้วยความสามารถของตัวเอง จนออกมาเป็นร้านขายตาข่ายดักฝันร้านเล็กๆ ที่มีชื่อว่า Thitima’s Dream
ถึงอย่างนั้น เส้นทางความฝันของ Thitima’s Dream ไม่ได้ตั้งต้นจากคำถามที่ว่า อยากทำอะไรมากที่สุด แต่เริ่มต้นจากการค้นพบว่าศิลปะเป็นเครื่องมือที่ช่วยเยียวยาอาการป่วยของคุณแม่ให้ดีขึ้น ทำให้ จอมเทียน ได้ก้าวเข้าไปสัมผัสและทำความเข้าใจโลกของผู้ป่วยจิตเภทมากขึ้น จนทลายกำแพงความคิดที่เคยมีและนำไปสู่การพาคุณแม่ออกจากโลกของท่าน ออกมาทำสิ่งที่คุณแม่รู้สึกรัก มั่นใจ และเห็นคุณค่าของตัวเอง
ในขณะที่การสานตาข่ายดักฝันหรือ dream catcher ชิ้นเล็กๆ จะเป็นการทำเพื่อส่งต่อสิ่งของให้ลูกค้าที่สั่งเข้ามา อีกนัยหนึ่งก็เป็นการสาน ‘ความฝัน’ ของตัวคนทำ เพราะนอกจากจะหารายได้ด้วยตัวเองแล้ว ยังทำให้คุณแม่ได้มีโอกาสทำสิ่งอื่นต่อยอดตามความตั้งใจที่เก็บไว้มานานอีกด้วย
The MATTER ได้มีโอกาสพูดคุยกับจอมเทียน ที่มาแชร์เรื่องราวการดูแลคุณแม่และการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือสื่อสารกับผู้ป่วยจิตเภท (schizophrenia) และร่วมคุยกับคุณแม่เกี่ยวกับร้าน dream catcher ที่สะท้อนตัวตน ความรัก ความฝัน และเรื่องราวน่าประทับใจของจอมเทียนและคุณแม่ภายใต้ชื่อร้าน Thitima’s Dream
จุดเริ่มต้นของการนำศิลปะมาใช้รักษาอาการของแม่
จอมเทียนเริ่มเล่าถึงที่มาที่ไปของการบำบัดนี้ว่า “ต้องบอกก่อนว่า schizophrenia เป็นโรคที่แยกย่อยเยอะมาก มีชื่อเฉพาะเจาะจงลงไปอีก โดยคุณหมอวินิจฉัยว่าคุณแม่เป็น paranoid schizophrenia อาการป่วยของคุณแม่เป็นตั้งแต่ก่อนเราเกิด ทราบว่าเคยรักษาที่โรงพยาบาลจิตเวชสามครั้ง คือที่ รพ. รามา และ รพ. สมเด็จเจ้าพระยาตรงคลองสาน พอเราเกิดมาแม่ก็เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอีกสี่ครั้ง คือตอนเราอายุ 9 ขวบ, 14 ขวบ, 22 ขวบ และเมื่อปี 2019 “
“ตลอดชีวิตที่อยู่ด้วยกัน แม่แทบไม่เคยได้รับการรักษาอย่างอื่นนอกจากรับยา ทุกอย่างจะเป็นแพทเทิร์นเดิมคือไปหาหมอ หมอให้ยา ช็อตไฟฟ้า กลับบ้านมาเกิดอาการมึน เดินแทบไม่ได้ มือสั่น ทำงานไม่ได้ ความจำขาดหาย พอสักพักดีขึ้น แม่เริ่มเกลียดยา รู้สึกว่ายาทำให้เขามีความเป็นมนุษย์น้อยลง ไม่สามารถทำอะไรที่อยากทำได้ เพราะยามีผลข้างเคียงเยอะมาก แม่ก็จะหยุดยา ส่วนหมอไม่มีเวลาประเมินอาการ เวลาไปหาหมอ หมอจะถามว่าตอนนี้เป็นยังไงบ้าง กินยาครบไหม”
“การดูแลผู้ป่วยจิตเวชถือเป็นงานยาก ด้วยความที่เราเป็นเด็ก เราก็ดูแลแม่ได้ไม่ดีพอในช่วงแรก เราไม่กล้าบังคับให้กินยา และเขาจะทำทุกอย่าง ทั้งแอบอมยาใต้ลิ้นแล้วคายออก โกหกว่ากินแล้วคายทิ้งทีหลัง แล้วไม่มีใครเข้ามาช่วยดูแม่ด้วย”
“ก่อนหน้านั้นเราหาวิธีดูแลผู้ป่วยจิตเวช แต่ข้อมูลที่หาได้มีน้อยมาก สมัยม.ต้นเราไปหอสมุดแห่งชาติ ก็จะมีแต่หนังสือทางการแพทย์ ตอนเข้ามหาลัยที่พอเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ ข้อมูลก็ไม่ค่อยมีเท่าไหร่ ที่จริงเพิ่งเจอหนังสือต่างชาติมาเล่มเดียวชื่อ Surviving Schizophrenia ซึ่งเป็นหนังสือเล่มแรกที่เราเจอ”
“แต่ก่อนเวลาแม่อาการแย่ ต้องเอาตำรวจมาจับ เพราะแม่จะเริ่มทำร้ายคนอื่น สะสมขยะ ระแวงไปหมดทุกอย่าง พอตอนอายุยี่สิบสอง เราก็ยังดูแลแม่ไม่เก่งเท่าไหร่ แต่มาถูกทางแล้ว เราพยายามไม่บังคับหรือเอาตำรวจมาจับเขาเข้าโรงพยาบาล ตอนนั้นค่อยๆ คุย สังเกตว่าอาการเขาแย่ สุดท้ายค่อยพาเขาเดินไปฉีดยากับเรา แล้วก็เริ่มคิดถึงการทำจิตบำบัดให้แม่ เรารู้แล้วว่าแม่ต้องการอะไรที่มากกว่ายา เพราะเห็นแล้วว่าการพาไปหาหมอ กินยา ฉีดยา ก็จะกลับมาวนลูปเดิม”
จุดเปลี่ยนในการรักษากับการนำศิลปะเข้ามาช่วย
“ตอนนั้นเราเลือกโรงพยาบาลมาก แล้วจบที่พาแม่ไปสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ตรงสายสี่ เป็นโรงพยาบาลจิตเวชเฉพาะทางอีกที่ที่คนรู้จักน้อยกว่า คนไข้จึงน้อยกว่าที่ศรีธัญญาและสมเด็จเจ้าพระยา เราคุยกับหมอว่านอกจากยาแล้ว มีอะไรให้แม่อีกบ้าง หมอบอกว่ามีทำบำบัด เราเลยลองติดตามดู ซึ่งแม่รักษาอยู่ที่นั่นเกือบเดือน แต่ไม่มีกิจกรรมอย่างอื่นให้ทำ ผู้ดูแลบอกว่าจัดไม่ได้ เพราะคนของโรงพยาบาลมีน้อย ไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้ทั่วถึง”
จอมเทียนยังเล่าว่า ตนตัดสินใจรอให้แม่ได้กลับบ้านก่อน ระหว่างนั้นก็เข้าอบรมวิธีดูแลผู้ป่วยก่อนให้กลับบ้าน รวมทั้งปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับการทำกลุ่มบำบัดแยก จึงทราบว่ามีกลุ่มจัดกิจกรรมศิลปะบำบัดอยู่ เริ่มแรกก็ให้คุณแม่ไปเข้าร่วม แต่คุณแม่ไม่ชอบ เพราะได้ทำแต่ของง่ายๆ ทำให้รู้สึกว่าไม่ได้ทำอะไร
เมื่อแฟนจอมเทียนได้เข้ามาช่วยดูแลคุณแม่ ก็ได้เปลี่ยนมุมมองความคิดที่ตนเคยมีต่อคุณแม่ ครั้งหนึ่งแฟนของเธอเอ่ยชมคุณแม่ว่ามีสไตล์ในการทำงานศิลปะ เป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นสิ่งที่จอมเทียนไม่เคยมองเห็นมาก่อนหน้านั้น
“แต่ก่อนเรามองว่าแม่ป่วย ความคิดเห็นของแม่คือความเห็นของคนป่วย เราในฐานะคนปกติ รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ อะไรคือสิ่งที่ดี อะไรที่แม่ควรได้รับ เรามีทิฐิอย่างนั้นมาตลอด ทำให้เราไม่รับฟังความเห็นของแม่สักเท่าไหร่ เหมือนเราปฏิบัติต่อเขาในฐานะคนไม่เท่ากับเรา เพราะเราเห็นเขาเป็นคนป่วยตลอด จนลืมไปว่าเขาเป็นคนเหมือนกับเรา เราจะแยกไม่ค่อยออกว่าการกระทำ ความคิด คำพูดของเขามาจากความเจ็บป่วยหรือมาจากตัวเขาจริงๆ”
“พอแฟนเราเข้ามา ก็เริ่มมาพูดว่า ที่แม่ยูชอบมาทำอันนี้ แม่ยูฉลาดมากนะ ดูฮิปปี้ๆ ซึ่งแต่ก่อนเรามองว่าเขาป่วย แต่พอแฟนมาดู แฟนบอกว่าแม่ยูใช้สีสวยนะ แม่ยูมีสกิลนะเนี่ย เราก็เริ่มเห็นด้วย สมัยเด็ก เราฟังแม่พูดความเห็นอย่างการเมืองก็จะมองว่าแม่ประหลาด หรือทำไมแม่ต้องพูดเรื่องห้ามใช้พลาสติก ทำไมแม่ไม่เชื่อในวัดที่บริจาคเงินเยอะ ตอนนั้นเรามองว่าแม่บ้า พอโตขึ้นมา เราพบว่าแม่ไม่ได้บ้า แม่เองก็มีความคิด และเป็นคนหัวก้าวหน้ามากๆ คนนึง ซึ่งแฟนช่วยให้เราเข้ามาเห็นตรงนั้น เราเริ่มคุยกับแม่มากขึ้น ถามว่าอยากทำอะไรถ้าไม่ไปบำบัด เพราะชีวิตแม่อยู่บ้านเฉยๆ อย่างเดียวไม่ได้ มันจะทำให้เขาแย่ลงเหมือนที่เคยเป็นซ้ำๆ “
ในฐานะคนที่ใช้ชีวิตกับผู้ป่วยจิตเวช จอมเทียนบอกกับเราว่าการดูแลผู้ป่วยจิตเวชคล้ายกับการดูแลเด็ก เพราะต้องออกแบบและวางตารางชีวิตให้ หากิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นและเชื่อมโยงประสาทให้ทำ โดยจอมเทียนเริ่มจากซื้อสมุดระบายสีมาให้คุณแม่ แม้ว่าช่วงแรกคุณแม่จะระบายได้ไม่ค่อยดี เพราะได้รับผลข้างเคียงจากยา แต่เมื่อได้ทำไปสักพักและพูดคุยกันมากขึ้น ก็เห็นได้ว่า คุณแม่มักคิดก่อนว่าจะระบายสีอะไร เลือกใช้สีที่ตรงกับความเป็นจริง และทำได้ออกมาละเอียดขึ้น จากนั้นจึงค่อยพาไปทำกิจกรรมศิลปะอื่นที่ซับซ้อนกว่าเดิม
แน่นอนว่าตนไม่อาจบอกได้ว่านี่คือการทำศิลปะบำบัด หากแต่ศิลปะเป็นกิจกรรมสื่อกลางที่ช่วยให้จอมเทียนได้มีโอกาสคุยกับแม่มากขึ้น และเป็นเหตุผลที่เลือกใช้ศิลปะมาช่วยเยียวยาแม่ก็เพราะ “เรามองว่าการทำอะไรสักอย่างทำให้เราได้มีโอกาสคุยกับแม่ ทำความเข้าใจอารมณ์ ความคิด ความเครียด ผ่านเบื้องหลังงานนั้น ระหว่างวันแม่ต้องไม่นอน เพราะจะยิ่งทำให้ซึมและรู้สึกด้อยค่าในตัวเอง
“นอกจากนี้ คนที่ป่วยมานานจะมีความมั่นใจในตัวเองต่ำ รู้สึกเป็นภาระให้คนที่บ้านมาตลอด ไม่เคยทำงานเองได้ แล้วการพึ่งพาคนอื่นทางเศรษฐกิจตลอดเวลาทำให้รู้สึกต่ำต้อยด้อยค่า ไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่กล้าขออะไร ไม่กล้าซื้อเสื้อผ้าใหม่ ถ้าแม่ได้มีเงินเป็นของตัวเองบ้าง แม่อาจลองกล้าใช้เงินเพื่อตัวเองก็ได้ ก็เลยให้แม่เริ่มทำ dream catcher เป็นหลัก”
เลือกทำ dream catcher เป็นกิจกรรมยามว่าง
“อันที่จริงคนต้นคิดเป็นเรา เพราะสมัยเรียนเคยทำขาย การทำ dream catcher ไม่ยากเลย แค่ถือเป็นของใหม่สำหรับแม่ โดยแม่เรียนจากยูทูป อินสตาแกรม พอทำได้ เราก็เลยขอให้แม่ทำขาย เมื่อขายได้ก็เลยทำมาเรื่อยๆ แต่แม่มีข้อจำกัดอยู่อย่างหนึ่ง คือมักรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง เลยไม่กล้าทำอะไรที่ยากหรือแปลกใหม่ ตอนแรกเราจึงให้แม่เริ่มหัดถักแบบที่แม่กล้าพอที่จะทำได้ ซึ่งเป็นแบบง่ายหรือเล็กๆ น้อยๆ จากนั้นค่อยกระตุ้นให้ทำแบบที่ซับซ้อนขึ้น จนตอนนี้แม่ทำได้ทุกแบบแล้ว” จอมเทียนเล่าให้เราฟัง
สำหรับ จอมเทียน ศิลปะคือสื่อกลางที่ช่วยให้เธอได้สื่อสารกับแม่มากขึ้น ในขณะเดียวกัน คุณแม่ก็ได้สื่อสารกับคนอื่นผ่านชิ้นงานที่ทำ โดยรับรู้ได้ว่าลูกค้าพึงพอใจต่องานที่คุณแม่ทำ หรือแม้แต่เข้าใจสิ่งที่ลูกค้าต้องการได้ ทำให้รู้สึกว่างานของตัวเองมีคุณค่า เรียกคืนความมั่นใจกลับมา รวมทั้งกล้าซื้อของให้กับตัวเองมากขึ้น
“แม้ว่าคุณแม่อาจเกิดอาการใจหายบ้างเมื่อเห็น dream catcher ที่ทำกำลังถูกนำไปส่งให้ลูกค้า แต่ก็เป็นเพราะคุณแม่มักเอา ‘ใจ’ ของท่านไปผูกกับงานอยู่แล้ว อีกมุมหนึ่งทำให้เห็นถึงความรักและความใส่ใจในงานที่ทำทุกชิ้น”
ครั้งหนึ่งจอมเทียนคิดว่าจะเสนอโรงพยาบาลให้ผู้ป่วยมาทำ dream catcher เป็นกิจกรรมยามว่างและหารายได้ แม้ไม่มีทักษะ ก็อาจแยกส่วนแบ่งกันทำ แต่คุณแม่กลับห็นต่างจากลูกสาว แล้วแย้งขึ้นมาว่า ถ้าอย่างนั้นมันก็เป็นระบบโรงงานสิลูก มันเศร้านะ แม่คิดว่าคนคนนึงต้องทำงานเองตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อที่จะได้รู้สึกภูมิใจเวลางานเสร็จสมบูรณ์
วิธีอยู่ร่วมกับผู้ป่วยจิตเวช
“ข้อแรกคือเช็กว่าผู้ป่วยได้สิทธิจากรัฐครบหรือยัง คนดูแลควรคุยกับหมอว่าผู้ป่วยสมควรได้รับสิทธิหรือไม่ กรณีแม่เรา นอกจากได้รับเงินสวัสดิการในฐานะคนชราแล้ว (เดือนละหกร้อยบาท) ต้องได้รับเงินจากรัฐอีกเดือนละ 800 บาท ในฐานะผู้พิการทางจิต โดยสิทธินี้ครอบคลุมการรักษาฟรีทั่วประเทศ ไม่รวมกับสิทธิบัตรทอง 30 บาท แต่ข้อเสียคือ ผู้ป่วยที่รับสิทธินั้นจะเสียสิทธิบางอย่างทางกฎหมาย โดยเขาไม่สามารถเป็นผู้ดูแล ผู้ปกครอง หรือผู้รับมรดกได้ แล้วต้องต่ออายุสิทธิทุกๆ ห้าปี คราวนี้ผู้ป่วยบางรายก็ไม่อยากได้สิทธิต่อให้ป่วยมานานแล้วก็ตาม เพราะเขาต้องดูแลธุรกิจที่บ้าน เราจึงอย่าบังคับให้เขาทำบัตรของผู้พิการทางจิต แต่แจ้งให้เขารู้ว่าเขามีสิทธิได้ส่วนนี้และให้ตัดสินใจเองหรือคุยกับหมอโดยตรง”
“อีกข้อนึงที่ทำได้ยากมาก แต่อยากให้ทุกคนที่มีคนป่วยที่บ้านค่อยๆ ทำดู ก็คือ อย่าลืมว่าคนป่วยที่เราดูแลอยู่ก็เป็นคนเหมือนเราทุกอย่าง เขามีอาการป่วยก็จริง แต่ไม่ใช่ร้อยเปอร์เซ็นต์ของชีวิตเขา บางครั้งเราดูแลคนป่วยมานานๆ จะรู้สึกว่ามีอำนาจเหนือเขา มีสิทธิที่จะไปกำหนดบงการชีวิตเขาทุกอย่าง
“แต่ก่อนเราเคยเป็น มักบอกแม่ว่าต้องใส่ชุดนี้ เพราะจะเหมือนคนปกติ ถ้าใส่ชุดนี้เหมือนคนบ้า คำพูดแบบนี้เหมือนบังคับให้เขาเป็นปกติตามแบบของเรา ซึ่งตัวตนของเขาอาจเป็นแบบนั้นก็ได้ ไม่ได้เกี่ยวกับอาการป่วย มันใช้เวลานานมากกว่าเราจะได้เห็น ได้เคารพแม่ในฐานะคนคนนึง เราคิดว่าการดูแลคนป่วยในฐานะมนุษย์คนนึงที่เท่ากับเราเป็นเรื่องยาก แต่ควรทำให้ได้ ไม่อย่างนั้นคนป่วยที่เราดูแลอยู่จะไม่มีทางรู้สึกเลยว่าตัวเองมีคุณค่าตราบใดที่คนดูแลเขาไม่สามารถมองเขาเป็นคนปกติได้”
ที่มาชื่อ Thitima’s Dream
“คนคิดคือจอมค่ะ ก็สื่อถึงความฝันแบบต่างๆ ซึ่งเป็นความฝันของแม่ รวมถึงลูกค้าที่สนับสนุนวิถีการดำรงชีวิตของเรา” แม่เล่าถึงที่มาที่ไปของชื่อให้เราฟัง
“เป็นร้านของแม่ ถ้าเกิดไม่มีแม่ก็ไม่มีร้าน ตอนคิดชื่อก็เดินไปถามแม่ก่อนว่าอยากให้ร้านขื่ออะไร แม่ก็ตอบว่าไม่รู้ ทีนี้เลยให้แฟนช่วยคิด แฟนก็คิดว่า Thitima’s Dream Fabric แต่มันยาว ลองคิดมาหลายชื่อ จนเอาคำว่า dream catcher มาใส่กับชื่อแม่เลยได้มาชื่อนี้” จอมเทียนช่วยเสริมต่อให้
“dream ส่วนหนึ่งคือความฝันของแม่ที่พึ่งพาดูแลตัวเองด้วยทักษะของเขาเอง อีกนัยหนึ่งก็สื่อถึงตัวเราที่นับว่าเป็นคนป่วยเหมือนกัน มีความผิดปกติทางอารมณ์ เป็นโรคซึมเศร้า และ PTSD เพราะเราจะมีบางอย่างเชื่อมโยงกับความฝัน บางทีความฝันของเรามันแปลก เป็นภาพหลอน เหมือนจริงมาก ซึ่งนี่เป็นอีกความหมายหนึ่งของชื่อร้าน”
นอกจากนี้ จอมเทียนยังเล่าอีกว่า Thitima’s Dream ช่วยให้คุณแม่สื่อสารความคิดออกมาจากมุมมองของคนคนนึง เพื่อสะท้อนว่ารู้สึกอย่างไร มีความคิดอย่างไร รวมทั้งใช้เป็นช่องทางในการทำสิ่งที่ตั้งใจว่าจะทำ นั่นก็คือทำแคมเปญทางสังคม ยกตัวอย่าง แคมเปญบริจาคสมทบทุนประกันตัวช่วยเพื่อนกรณีบางกลอย หรือเปิดรับบริจาคช่วยเหลือชุมชนคลองเตย โดยมอบ dream catcher ของทางร้านให้กับผู้บริจาค เปิดโอกาสให้แม่ได้มีส่วนร่วมกับการเมือง ซึ่งเป็นอีกความฝันหนึ่งที่อยากส่งต่อไปให้ในวันที่ตนพอมีและทำได้
กว่าจะเป็น dream catcher หนึ่งชิ้น
“เริ่มแรกจะถามลูกค้าว่าอยากได้แบบไหน จากนั้นก็คุยและออกแบบร่วมกัน เพื่อดูก่อนว่าแม่จะทำได้จริงไหม แล้วร่างแบบลงกระดาษใบหนึ่ง เพื่อเขียนเป็นบรีฟงานให้แม่”
จอมเทียนเล่าให้เราฟัง ก่อนที่คุณแม่จะเสริมต่อว่า
“แม่เป็นฝ่ายผลิตค่ะ คิดว่าต้องทำอะไรก่อน อะไรหลัง ต้องเริ่มต้นจากอะไร เราจะถามลูกค้าว่าชอบไหม ใช้ได้ไหม ถ้าลูกค้าติงานมาก็จะแก้ไขให้ใกล้เคียงกับที่ลูกค้าติงานมาค่ะ (คุณแม่รู้สึกอย่างไรตอนที่ลูกค้าติงานมาคะ) แม่ก็ฮึดฮัดนิดหน่อย เวลาทำงานเราชอบใส่สไตล์ของตัวเองนะ แต่ลูกค้าไม่ชอบ เราก็แก้ไขได้ ที่สุดงานก็จะออกมาตรงความต้องการของลูกค้า”
เมื่อว่ากันด้วยเรื่องหาจุดร่วมระหว่างสไตล์งานของคุณแม่กับความต้องการของลูกค้า คุณแม่ได้กล่าวว่าตนต้องทำความเข้าใจช่องว่างของวัยและประสบการณ์ความชอบที่ต่างสมัยกัน โดยตนอยู่ในสังคมชีวิตแบบเก่า เจอเทคโนโลยีน้อยมาก แต่ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนสมัยใหม่ อยู่กับเทคโนโลยีมาก เมื่อทำความเข้าใจตรงนี้แล้ว ก็ช่วยให้ทำงานที่ตรงกับลูกค้าได้ ถึงอย่างนั้น ชิ้นงานแต่ละชิ้นก็ยังคงตัวตนและความคิดของคุณแม่อยู่ด้วย โดยคุณแม่กล่าวว่า “แม่ชอบใส่ด้ายเย็บผ้าแต่ละชั้น ใส่ไปนิดๆ หน่อยๆ เพราะงานของเราเริ่มจากด้ายเย็บผ้า กำไลข้อมือเก่าเก็บ ไหมพรมอีกนิดหน่อยเท่านั้นเอง”
การสร้างจุดเด่นของงานให้ตรงใจ
“ตอนแรกเราอยากให้ลูกค้าได้สิ่งที่ชอบและหาอะไรใหม่ๆ ให้แม่ทำ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นแบบทำตามสั่งในตอนเริ่มต้น เคยมีลูกค้าทักมาให้ทำสนูปปี้ ก็มานั่งคุยกับแม่ว่าจะทำออกมาแบบไหนดี หรือล่าสุดมีลูกค้าสั่งมาแปลกสุด ยังไม่ได้บอกแม่ แต่บอกแม่พร้อมกันตรงนี้ คือถามว่าทำเป็นหนังตะลุงได้ไหมคะ (หัวเราะ)”
“จุดเด่นของร้านเราคือ ลูกค้าเลือกสี เลือกแบบที่อยากได้ได้เลย ช่วงแรกลูกค้าสั่งอะไรใหม่ๆ ที่แม่ไม่เคยทำมาก่อน ก็จะเปิดพินเทอเรสแล้วมานั่งดูกับแม่ว่าทำแบบไหนได้ แม่ก็จะบอกว่าทำไม่ได้ แต่สุดท้ายก็ทำออกมาได้
“อีกอย่างนึงคือ ขนนกที่เอามาทำ เราเก็บกันเอง ไม่ได้ใช้ขนนกจากฟาร์มที่เชือดเป็ดเชือดไก่ ลูกค้าบางคนไม่ชอบ เพราะอยากได้ขนฟูๆ ซึ่งเราเองก็พยายามหาว่ามีฟาร์มนกหรือคนที่เลี้ยงนกสวยงาม แล้วผลัดขนเองหรือไม่ มีเพื่อนส่งมาให้บ้าง แต่ไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ จุดเด่นอีกอย่างคือร้านเราลดการใช้พลาสติกด้วย โดยเราไม่ได้ใช้บับเบิ้ล แต่มองหาวัสดุกันกระแทกที่ไม่สร้างขยะแทน dream catcher เหมือนผ้าใบผืนนึงที่เชื่อมโยงกับจิตวิญญาณ และเราจะดีไซน์ยังไงก็ได้ มันจึงทำได้หลายอย่างมาก ไม่ว่าจะดูจากแบบ ศึกษาเพิ่มเติม แล้วถามแม่ว่าหยิบจับสกิลที่มีอยู่มาใส่ในแคนวาสนี้ได้ยังไงบ้าง ถ้ามีเวลาว่างก็จะคิดแบบเองและทำแบบใหม่ดูค่ะ” จอมเทียนอธิบายถึงความพิเศษของร้านของเธอกับคุณแม่
“ส่วนตัวแม่ชอบทำแบบเก่าๆ ซ้ำๆ เพื่อฝึกความชำนาญและความจำด้วย ตอนแรกแม่ดูจากแพทเทิร์น ต้องดูทีละล็อกๆ แต่พอทำไปหนึ่งชิ้น สองชิ้น สามชิ้น สี่ชิ้น ห้าชิ้น จะเริ่มชำนาญ ดูล็อกเดียวของช่อง ก็พอจะทำได้ โดยไม่ต้องดูทั้งหมด” คุณแม่ปิดท้ายกับเรา
ที่สำคัญ จอมเทียนยังพูดถึงการทำ dream catcher ที่เป็นมากกว่าการขายของ แต่ต้องการสร้างความตระหนักรู้ถึงสิทธิและการมีอยู่ของชนเผ่าพื้นเมืองอันเป็นต้นกำเนิดของ dream catcher และไม่อยากให้เป็นการฉกฉวยทางวัฒนธรรม โดยทำการบ้านว่า dream catcher มีต้นกำเนิดมาจากไหน ชนเผ่าใด แล้วใส่รายละเอียดลงไปในเพจ หรือแม้แต่คุยกับลูกค้าโดยตรง เพราะอย่างน้อยการที่ลูกค้าได้นำ dream catcher ไปติดตกแต่งที่บ้าน ก็จะได้เห็นและระลึกเสมอว่าชนเผ่าที่เป็นต้นกำเนิดของสิ่งนี้ยังไม่ได้รับสิทธิและความเท่าเทียมเหมือนกับคนขาวที่บุกรุกเข้าไปในพื้นที่ของเขา
ก่อนจบบทสนทนาสุดท้าย ก็ได้ถามถึงเรื่องแพลนขยับขยายร้านต่อไป โดยคุณแม่กล่าวว่า อนาคตยังอีกไกล ไม่ได้คิดไปไกลขนาดนั้น เน้นทำไปเรื่อยๆ ก่อน ในขณะที่จอมเทียนได้วางแผนขยายพื้นที่ทำงานตามความฝันของคุณแม่ให้โตขึ้นตามร้าน โดยวางแผนซื้อโต๊ะ เก้าอี้ ชั้นวางไหมพรม อุปกรณ์เสริม หรือแม้แต่เก้าอี้โยกไว้ตั้งหน้าบ้านอันเป็นมุมทำงานโปรดของคุณแม่ เพื่อให้แม่ได้ทำงานสะดวกยิ่งขึ้น ทุกอย่างจะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปและพูดคุยกับแม่ด้วย เพื่อช่วยให้เขายอมรับของและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
ในขณะเดียวกัน ก็จัดสรรจำนวนชิ้นงานที่คุณแม่ทำได้ในแต่ละวัน เพื่อสร้าง work-life balance ที่ดี ไม่เกิดความเครียดเกินไป โดยจอมเทียนจะคอยพูดกระตุ้นให้แม่ได้ลองทำอะไรใหม่ๆ อย่างฝึกถ่ายคลิป ทำ TikTok หรือแม้แต่เริ่มเข้ามาจับงานตกลงกับลูกค้ามากขึ้น เพื่อให้คุณแม่เริ่มสื่อสารกับคนอื่น
“คนที่ป่วยและไม่ได้เจอคนมานานจะสื่อสารกับคนยาก ตอนนี้อยู่ในช่วงให้แม่ฝึกเล่นโซเชียลมีเดีย ตอนแรกเอาทวิตเตอร์ให้แม่เล่น แล้วแม่ไม่ชอบ เพราะมันไวไป พอให้แม่เล่นอินสตาแกรม แม่ชอบมาก ตอนนี้แม่เริ่มไปคอมเมนต์บล็อกเกอร์ฝรั่งที่ทำงานฝีมือด้วย
“ในช่วงที่เรายังดูแลเขาได้อยู่ ก็อยากให้เขาดูแลตัวเองมากขึ้นในส่วนที่เขาไหว ถ้าวันหนึ่งเราไปเรียนเมืองนอก แม่จะยังทำงานนี้ต่อไปได้ด้วยตัวเองไหม ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องวางแผนกันค่ะ” จอมเทียนทิ้งท้ายกลับเราเช่นนั้น
.