เวลาในชีวิตส่วนใหญ่ของพวกเราต่างถูกใช้ไปกับการศึกษาเล่าเรียน ทั้งจากในหลักสูตรและนอกห้องเรียน เพราะชีวิตคือการเรียนรู้ยังไงล่ะ แต่การศึกษาเป็นปัญหาเรื้อรังของคนไทยที่พูดกันมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่นักเรียนมัธยมที่ผลการสอบ PISA รั้งท้าย ไปถึงขั้นมหาวิทยาลัยที่ต้องเรียนเพื่อนำความรู้มาใช้จริง แต่กลับพบว่านายจ้างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่านักศึกษาจบใหม่ทำงานไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องจับมาเทรนก่อนอยู่ดี
สรุปแล้วในยุคที่ทุกคนสามารถหาความรู้ได้เอง ตัวนักศึกษาต้องการการเรียนการสอนแบบไหนกันแน่ แล้วปัญหาของระบบการศึกษาทุกวันนี้ที่ทำให้สถาบันครูอาจารย์ถูกสั่นคลอนอย่างหนัก ผู้สอนควรจะต้องปรับตัวไปทางไหนเพื่อจะตามกระแสโลกและความต้องการของผู้เรียนได้ทัน Young MATTER ได้สำรวจความเห็นจากนักศึกษามหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนทั้งหมด 30 คน จากหลากมหาวิทยาลัยหลายคณะเพื่อเป็น ‘ตัวอย่าง’ ที่อาจจะตรงหรือไม่ตรงกับความคิดของอีกหลายๆ คนก็ได้
แต่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งเสียงเล็กๆ ที่น่าจะทำให้เราเห็นภาพอะไรหลายๆ อย่างได้ชัดขึ้น
และเนื่องจากนี่เป็นอีกครั้งที่บางความเห็นอาจเสี่ยงต่อการกระทบกระทั่งกับสถาบันต้นสังกัด เราจึงสามารถเปิดเผยข้อมูลของกลุ่มตัวอย่างได้เพียงบางส่วนเท่านั้น
อะไรที่มากกว่าอ่านตามสไลด์/หนังสือ/ชีท
หัวข้อแรกที่นักศึกษาหลายคนพูดตรงกันคือ อาจารย์ไม่ควรอ่านตามสไลด์หรือหนังสือเพียงอย่างเดียว อย่าง กุลธิดา นักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพบอกกับเราว่า “บางทีการยกเคสตัวอย่างจากวิดีโอหรือภาพต่างๆ มันก็แทนตัวหนังสือได้เหมือนกัน อาจารย์บางคนพูดตามหนังสือจนไม่น่าสนใจ นักศึกษาก็ไม่อยากฟัง เพราะสุดท้ายไปอ่านเองก็รู้เรื่องเหมือนกัน” ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของตัวอย่างจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ “อาจารย์ที่พูดตามสไลด์ทำให้ความอยากเข้าเรียนของเราลดลง เพราะรู้สึกว่าอ่านเองก็ได้ แต่ในทางกลับกันถ้าอาจารย์สอนเพิ่ม มีตัวอย่าง มีอะไรให้เราจด ก็จะทำให้เรามีสมาธิกับการเรียนมากขึ้น”
ทักษะในการพูด
นอกจากจะไม่พูดตามสไลด์แล้ว อาจารย์ที่กลุ่มตัวอย่างต้องการยังต้องมีความสามารถในการถ่ายทอดวิชาความรู้ให้น่าสนใจด้วย หนึ่งในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักเรียนทุน College of Engineering, Purdue University มีความเห็นว่า “ครูต้องถ่ายทอดความน่าสนใจให้นักเรียนเข้าใจได้ เด็กจะได้อยากเรียน เหมือนเวลาฟังเพื่อนที่ไปดูหนังแล้วมาโม้ให้เราฟัง ที่พูดจนเราแทบอยากจะลุกไปดูเดี๋ยวนั้นเลย ครูต้องเป็นแบบนั้น” เช่นเดียวกันกับ ปิง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “ครูต้องมีทัศนคติในทางบวก มีอารมณ์ขัน แล้วก็สาระนิดๆ อารมณ์แบบทอล์กโชว์ คือต้องมีศิลปะในการพูด เราไม่ชอบพวกที่พูดเวิ่นเว้อ พูดไปเรื่อย อาจารย์ควรเข้าใจธรรมชาติเด็ก ดุบ้าง ชมบ้าง คุยเล่นบ้าง เคยเจออาจารย์ที่พูดแบบกวนๆ แต่มีสาระดี แบบนั้นก็ชอบมาก”
จัดเตรียมการสอน
นักศึกษาบางส่วนก็อยากให้อาจารย์เตรียมพร้อมก่อนมาสอน ทั้งในด้านสื่อการสอนและความตั้งใจ นนท์พัท นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม กล่าวว่า “ชอบครูที่มีความเตรียมพร้อมทางด้านสื่อการเรียนการสอน มี data ขนาดย่อมๆ ที่สามารถสร้างภาพให้เราเข้าใจและเห็นภาพได้เลย ตรงเวลา ตอบข้อข้องใจของเราได้แบบตรงไปตรงมาไม่เบี่ยงประเด็น” ซึ่งก็เป็นไปในทางเดียวกันกับ กัญญ์ชนิศา นักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ “เราชอบอาจารย์ที่มีความตั้งใจที่จะมาสอน เตรียมตัวมาดีๆ คือเราจะดูออกว่าอาจารย์แบบไหนที่ตั้งใจจริง”
มีความเป็นธรรม
อีกหนึ่งในคุณสมบัติที่นักศึกษากลุ่มตัวอย่างของเราต้องการ คืออาจารย์ที่มีมาตรฐานชัดเจน และไม่ทำให้นักศึกษารู้สึกว่าลำเอียง เบียร์ นักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คนหนึ่งได้ให้ความเห็นว่า “ชอบอาจารย์ที่เป็นธรรมกับนักเรียนทุกคน คอยแนะนำอยู่ข้างๆ ไม่ทำให้เรารู้สึกว่า ทำไมอาจารย์ไปโต๊ะนั้นบ่อยจังแต่พอเราอยากได้คำแนะนำบ้างก็ไม่เห็นมา” เช่นกันกับ กรกต จากมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม “อยากได้ครูที่มีมาตรฐานชัดเจน ทำทุกอย่างเป็นไปตามกฎกติกา แต่ไม่ใช่ว่าจะเคร่งเกินจนเครียด ขอแบบเป็นกันเองแต่มีเหตุผลก็พอแล้ว”
เต็มใจช่วยเหลือ
ความมีเมตตา พยายามเข้าใจถึงปัญหาของเด็กและช่วยเหลืออย่างเต็มใจก็เป็นสิ่งที่กลุ่มตัวอย่างของเราต้องการ เหมือนอย่าง โยทะกา นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ให้ความเห็นว่า “ครูที่เราอยากเรียนด้วย ต้องเป็นคนที่ยินดีจะตอบทุกคำถามที่เราสงสัย มีอาจารย์คนหนึ่งเราเคยไปถามตอนจบคาบ คำตอบที่ได้คือคุณฟังที่ผมสอนไม่รู้เรื่อง ผมไม่ตอบคำถามนะครับ ถ้าคุณตั้งใจฟังคุณไม่มีทางไม่เข้าใจหรอก หลังจากนั้นเราเกลียดวิชานั้นไปเลย” สอดคล้องกับความเห็นของกลุ่มตัวอย่างจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นว่า “ไม่ต้องถึงขนาดยิ้มแย้มเฮฮาก็ได้ แต่อยากให้เข้าใจเหตุผลว่าทำไมเด็กถึงทำแบบนี้ และค่อยๆ คิดหาทางแก้ปัญหาอย่างใกล้ชิดและใส่ใจ”
ให้มากกว่าความรู้ในตำรา
ส่วนสำคัญที่สุดที่ทำให้ความรู้จากอินเทอร์เน็ตไม่สามารถทดแทนอาจารย์ตัวจริงในห้องเรียนได้ คือการบอกเล่าประสบการณ์ รวมไปถึงทักษะต่างๆ ลภัส นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล มีความเห็นว่า “ครูที่ดีไม่ใช่แค่สอนในเนื้อหาของรายวิชา แต่ยังสอนทักษะหลายๆ อย่างในการใช้ชีวิตให้ประสบความสำเร็จ” เช่นเดียวกับ นภสร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่เธออยากฟังประสบการณ์ของอาจารย์ เพื่อเตรียมความพร้อมในอนาคต “ครูที่สอนสิ่งที่อยู่นอกหนังสือ เช่น การเล่าประสบการณ์การทำงานในบริษัทต่างๆ ทำให้เราได้รู้มากกว่าคนอื่นๆ”
อัปเดตข้อมูลอยู่เสมอ
เพราะช่องทางการเข้าถึงความรู้ต่างๆ ในปัจจุบันไม่ได้ปิดกั้นอยู่แค่ในหนังสือ ทีวี หรืออยู่ข้างนอกห้องเท่านั้น การมาถึงของอินเทอร์เน็ตส่งผลให้เด็กมีความรู้มากขึ้นได้ไม่สิ้นสุด หากต้องการที่จะรู้อะไรก็สามารถรู้ได้เลยทันที ดังนั้นในยุคที่อะไรๆ ก็เร็วไปหมด อาจารย์จึงควรที่จะอัปเดตข้อมูลอยู่เสมอ เพื่อให้ความรู้เป็นปัจจุบัน “ต้องหาความรู้เพิ่มเพื่อที่จะมาบอกนักเรียน ชอบเวลาที่มีเรื่องที่เรากับครูก็ไม่รู้ด้วยกันทั้งคู่ พอครูให้นักเรียนกลับไปหา แล้วตัวเองก็ยังกลับไปหาด้วย แล้วค่อยมาดีเบตกันอีกครั้ง” กิต นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒกล่าว
สอนการประยุกต์ใช้มากกว่าการท่องจำ
แม้เราจะยังตกอยู่ในวังวนการศึกษาประเภทที่ต้องท่องจำเพื่อการสอบ แต่การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ก็เป็นเรื่องจำเป็น และก็เป็นอีกหนึ่งในสิ่งที่ความรู้บนอินเทอร์เน็ตไม่สามารถให้ได้มากเท่ากับในห้องเรียน ศีล นักศึกษาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลบอกว่า “การปฏิบัติสำคัญมากกับปิรามิดการเรียนรู้ เราเรียนอนาโตมีตอนปีสองก็ต้องผ่าอาจารย์ใหญ่จริงๆ เรียนแลปก็ต้องได้ทำจริงๆ พอมาปี 4-6 ก็จะเปลี่ยนจากแลปเป็นคนไข้ ซักประวัติ ตรวจร่างกาย ให้คำปรึกษาเราก็ต้องฝึกคุยกับคนไข้เพราะต้องอธิบายขั้นตอนการรักษา อธิบายทางเลือกต่างๆ รวมถึงการแจ้งข่าวร้าย มันค่อนข้างเป็นศิลปะมากเลย” ไม่ใช่แค่เพียงหมอเท่านั้นที่การปฏิบัติสำคัญ กลุ่มตัวอย่างจากคณะนิเทศศาสตร์ก็จำเป็น “การเรียนรู้ที่จำเป็นที่สุดก็คือการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ ถัดจากการสอนทฤษฏีให้เด็กเห็นภาพก็ควรให้เด็กได้ลองทำจริง และเมื่อปฏิบัติออกมาแล้วก็อยากได้ฟีดแบกด้วยว่าสิ่งที่ทำมันออกมาดีเลวมากน้อยเพียงใด เพื่อที่เราจะได้เอามาปรับใช้ต่อไป”
อาจารย์ที่ยังจำเป็นในยุคที่ทุกคนสามารถหาความรู้ด้วยตัวเองได้ จากกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจมา The MATTER จึงสรุปผลออกมาได้ 8 ข้อดังนี้
1. ไม่อ่านตามสไลด์/หนังสือ/ชีท
2. มีทักษะในการพูด
3. จัดเตรียมการสอน
4. มีความเป็นธรรม
5. เต็มใจช่วยเหลือ
6. ให้มากกว่าความรู้ในตำรา
7. อัพเดทข้อมูลอยู่เสมอ
8. สอนการประยุกต์ใช้มากกว่าการท่องจำ
สิ่งเหล่านี้คือ ‘ความคาดหวัง’ จากเหล่านักศึกษาต่ออาจารย์ผู้สอน ซึ่งเราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ‘ผู้ให้’ ที่เราเคารพนับถือรองลงมาจากพ่อแม่ บางคนกลับไม่ได้เป็นผู้ให้อย่างที่เราเรียกกัน ขณะที่อินเตอร์เน็ตสามารถตอบได้ทุกข้อสงสัยที่คาใจเรา มันจึงไม่แปลกที่จะเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้เรียนและผู้สอน ยิ่งในยุคที่อินเทอร์เน็ตเป็นทางเลือกสำคัญ อาจารย์ควรจะเป็นผู้ให้ทั้งความรู้และความรู้สึกที่ดีในการเรียนแก่พวกเขา เพราะสุดท้ายแล้วมันก็วิน-วินกันทั้งคนเรียนที่จะได้อะไรมากไปกว่าแค่เรียนในตำราที่จะหาอ่านเองเมื่อไหร่ก็ได้ และตัวอาจารย์เองก็ยังมีคุณค่าในฐานะผู้ที่ให้ความรู้อย่างแท้จริง