เมื่ออาทิตย์ลับขอบฟ้า ความมืดมิดเข้าทดแทนในบันดล ผู้ล่าออกตระเวนหากินโดยอำพรางกายภายใต้ความมืด บัดนี้ภายนอกเป็นสถานที่สุดอันตราย โชคดีที่บรรพบุรุษของพวกเรามีถ้ำไว้หลบลี้หนีผู้ล่า แต่การจะผ่านค่ำคืนนี้ก็ช่างทรมานเหลือเกิน ความวิตกกังวลเปลี่ยนแปลงเป็นพลังสร้างสรรค์ ผนังถ้ำจึงกลายเป็นผืนผ้าใบแผ่นใหญ่ ให้บรรพบุรุษของเราแต่งแต้มสีสัน สร้างรูปทรงเป็นเรื่องราวสะท้อนชีวิต ภาพเขียนฝาผนังโบราณ จึงเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า แม้มนุษย์จะเผชิญความท้าทายรุมเร้าแค่ไหน พวกเราก็ไม่เคยถอดทิ้ง ‘ความคิดสร้างสรรค์’ (creativity) เป็นอันขาด แล้วก็ยังช่วยเยียวยาให้พวกเราผ่านช่วงเวลาที่เลวร้ายได้บ้าง
ช่วงนี้คนรอบข้างคุณอาจผุดงานอดิเรกใหม่ๆ มานั่งทำเพื่อผ่านพ้นช่วงเวลาการกักตัวอยู่บ้านอันแสนน่าเบื่อ บางคนอาจกลายเป็นนักต่อโมเดล เป็นแม่ครัวพ่อครัวสมัครเล่น (ไหนๆ ก็ไปนั่งกินไม่ได้แล้วนี่) หรือปัดฝุ่นทักษะศิลปะกลับมาอีกครั้งหลังจากไม่ได้วาดๆ เขียนๆ อะไรมาเป็นสิบปี กลายเป็นว่าการอยู่บ้านก็ไม่ได้ช่วยให้ประหยัดขึ้นอย่างที่คิด เพราะเรากำลังหมกมุ่นช้อปปิ้งออนไลน์รายวันเพื่อซื้องานอดิเรกเหล่านี้มาชุบชูหัวใจ เผลอๆ อาจแพงกว่าค่าใช้จ่ายตอนไปทำงานอีก
การกักตัว (isolation) ทำให้เรามานั่งทบทวนทักษะของตัวเองหรือเปล่า? มันคงคล้ายกับมนุษย์ในอดีตที่ได้นั่งคิดและมองสรรพสิ่งในมือตัวเองอย่างพิจารณา สรรพสิ่งต่างๆ สามารถเป็นอะไรได้มากกว่านั้นไหม หินที่เป็นมากกว่าหิน ไม้ที่เป็นมากกว่าไม้ บรรพบุรุษมนุษย์จึงเห็นรูปแบบที่ไม่เคยปรากฏในตาเนื้อของเขามาก่อน รูปแบบที่เติมต่อขึ้นในจินตนาการเท่าที่พัฒนาการสมองจะมอบให้ได้ มันคือ ความคิดสร้างสรรค์ที่จะกรุยทางอนาคตอีกล้านๆ ปี และเป็นหมุดหมายสำคัญที่กำหนดอัตลักษณ์ความเป็นมนุษย์ได้แจ่มชัดที่สุด
มีหลายทฤษฎีกล่าวว่า หากคุณอยากทำงานสร้างสรรค์ดีๆ คุณจำเป็นต้องกักตัวอยู่คนเดียวบ้างถึงจะเกิดแรงบันดาลใจ แต่ในความเป็นจริงการกักตัวเองก็ไม่ได้เป็นแหล่งแรงบันดาลใจเสียทั้งหมด ความสันโดษเป็นเพียงช่วงหนึ่งของกระบวนการคิดอย่างสร้างสรรค์ (creative thinking) เท่านั้น แม้สังคมเราจะมีนักสร้างสรรค์มากมายที่นิยมกักตัวทำงานอย่าง นิโคลา เทสลา (Nikola Tesla), อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein), โมทซาร์ท (Mozart) และปาโบล ปิกาโซ (Pablo Picasso) บุคคลเหล่านี้เป็นไอคอนนักสร้างสรรค์ที่กักตัวทำงานอยู่เงียบๆ ก่อนจะโชว์ผลงานจนสั่นสะเทือน แต่สำหรับพวกเรานั้นการกักตัวอยู่ตลอดเวลาไม่ได้พาเราไปเจอสิ่งใหม่ๆ ก็ยากจะสร้างสรรค์อะไรออกมา
มีการท้าทายที่ค่อนข้างหนักข้ออยู่สักหน่อยเพื่อชิงรางวัล 100,000 ดอลลาห์สหรัฐในปี ค.ศ.2018 โดยทดสอบว่า มนุษย์อยู่ในสภาวะกักกันตัวได้นานแค่ไหน ผลปรากฏว่านักเล่นโป๊กเกอร์อาชีพชาวสหรัฐอเมริกานามว่า รีช อลาติ (Rich Alati) ท้าว่าเขาสามารถอยู่คนเดียวได้นานถึง 30 วัน แถมเพิ่มว่าจะอยู่มืดๆ คนเดียวอีกด้วย
รีช อลาติ อยู่ในห้องมืดแคบๆ ที่มีเพียงเตียง ตู้เย็น ห้องน้ำ และเสบียงเพียงพอให้เขามีชีวิต 30 วันเท่านั้น ช่วง 10 วันแรกในการกักตัวผ่านไปด้วยดี รีชมีความมั่นใจเต็มเปี่ยมด้วยความสามารถในการจัดการตัวเอง แต่เมื่อล่วงเข้าสู่วันที่ 20 ชายผู้นี้ขอร้องให้ยุติการกักตัว และขอรับเงินเพียง 62,000 ดอลลาห์เท่านั้นสำหรับความพยายาม แม้ตัวเขาเองที่มั่นใจว่าจะสามารถทำได้ แต่การกักตัวอย่างโดดเดี่ยวนั้นโบยตีสติสัมปชัญญะของมนุษย์เกินไป
ทำไมการกักตัวอยู่คนเดียวถึงสร้างผลกระทบต่อพวกเราเสียขนาดนั้น อาจจะเป็นเพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมอย่างยิ่งยวดตั้งแต่ในวิวัฒนาการของเรา มนุษย์จะมีชีวิตรอดได้จำเป็นต้องการข้อมูลจากสรรพสิ่งรอบข้างทั้งสิ่งแวดล้อมและผู้คนที่เราไปเผชิญ ความรู้สึกนึกคิดของเราถึงจะตกผลึก ในโลกนี้มีหลายอาชีพที่ต้องทำคนเดียวอย่างโดดเดียว นอกจากการเป็นศิลปินแล้ว เรายังมีอาชีพอย่างนักสังเกตการณ์ นักเก็บข้อมูล และนักวิจัยที่ต้องทำงานนานเป็นเดือนๆ อย่างเดียวดาย เช่น นักวิจัยที่ประจำสถานีแอนตาร์กติกา ในขั้นตอนสมัครนั้นคุณต้องยอมรับสิ่งที่ท้าทายที่สุดในงาน คือการอยู่อย่างเปลี่ยวเหงา ซึ่งมีคนเพียงน้อยนิดที่จะทำสำเร็จ
การกักตัวนานๆปรับเปลี่ยนรูปแบบการนอน (sleep cycle) ของเรา ทำให้ฮอร์โมนที่ควบคุมการนอนหลับอย่าง เมลาโทนิน (melatonin) และ suprachiasmatic nucleus (SCN) ทำงานอย่างสับสนไม่รู้ว่าเวลาไหนควรเข้าสู่ภาวะ active คุณอาจรู้สึกง่วงนอนอยู่ตลอดเวลา ไม่สดชื่น คิดอะไรไม่แจ่มแจ้ง หรือใช้เวลานานในการทำอะไรให้สำเร็จ
ดังนั้นการจะรักษาความคิดสร้างสรรค์ในขณะที่ถูกกักกันคือการหาสมดุลระหว่างการอยู่คนเดียวและการนำตัวเองไปในสภาพแวดล้อมใหม่ไม่จำเป็นต้องไปไหนไกลเกินบ้าน เรามาดูกันว่าเราสามารถจัดการชีวิตภายใต้การกักตันให้เกิดภาวะความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไรบ้าง โดยทุกอย่างมีข้อแม้ว่า เริ่มต้นต้องให้ง่ายเข้าไว้ก่อน
จำกัดเวลาเข้าสู่โลกออนไลน์
การจำกัดเวลาใช้สมาร์ทโฟนอาจเป็นวิธีเบื้องต้นเพื่อเรียกความคิดสร้างสรรค์คืนมา แม้ช่วงนี้เราจำเป็นต้องติดตามข่าวสารอยู่เสมอ แถมรัฐเองก็ขยันอัพเดตรายวันปรับนู้นเปลี่ยนนี่ แต่การรับข้อมูลแบบหว่านระเบิดปูพรมก็ทำให้คุณเหนื่อยล้า สมองไม่สามารถจัดการกับข้อมูลหลากหลายที่ถาโถมมาทีเดียวได้ เรียกว่าภาวะ Cognitive fatigue สมองไม่สามารถเรียบเรียงข้อมูลใหม่ในสมอง และนำไปสู่การสูญเสียความทรงจำระยะสั้น (short term memories) แม้คุณจะรับข้อมูลมาก แต่สมองไม่ได้บันทึกเก็บไว้เลย ดังนั้นอาจต้องกำหนดเวลาเพื่อเข้าถึงสมาร์ทโฟนในแต่ละวัน ไม่ให้รบกวนกิจกรรมสร้างสรรค์ที่คุณทำอยู่
โปรเจ็กต์ไม่เห็นต้องใหญ่โต
กิจกรรมสร้างสรรค์ที่คุณเริ่มต้นจะทำ ให้ลองเริ่มจากสิ่งที่ง่ายก่อน ทำได้เลย และสามารถทำให้เสร็จโดยใช้เวลาไม่นาน สามารถกลับมาทำเพิ่มเติมได้อีกครั้ง ระหว่างที่คุณกำลังเรียนรู้ทักษะใหม่หรือรื้อฟื้นทักษะเดิม มันจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะเผชิญความล้มเหลวในการเรียนรู้ ช่วงนี้อาจจะต้องปราณีตัวเองให้ยอมรับความผิดพลาดบ้าง แล้วปล่อยให้การลองผิดลองถูกนำทางไปเรื่อยๆ งานที่คุณทำมันอาจจะมีหน้าตาขี้เหร่จนน่าอายที่จะโพสต์ลงกลุ่มในโซเชียลมีเดีย แต่ก็คงเป็นชิ้นแรกๆ เท่านั้น ให้ผลงานแต่ละชิ้นที่คุณทำค่อยๆ สร้างอาณาจักรเล็กๆ ขึ้นมา อย่าลืมว่านี่เป็นกิจกรรมเพื่อที่คุณจะพัฒนาตัวเองจากการกักตัวที่ยาวนาน โลกของคุณที่พยายามสร้างจึงไม่ต้องสมบูรณ์แบบ
เปลี่ยนมุมทำงานบ้าง
ทุกครั้งที่คุณนั่งทำงานก็มักจะชินกับการนั่งจุดเดิมๆ เป็นเวลาหลายปี นี่จึงเป็นโอกาสดีที่จะปรับเปลี่ยนมุมทำงานใหม่ อาจขยับที่ทางให้ใกล้กับหน้าต่างบ้าง เพื่อให้แสงธรรมชาติเข้ามาในพื้นที่สร้างสรรค์ของคุณ แสงธรรมชาติเหล่านี้มีประโยชน์กว่านาฬิกาบนข้อมือของคุณเสียอีก เพราะมันช่วยให้คุณเห็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมภายนอก ตั้งแต่กลางวันจรดกลางคืน มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่วิวัฒนาการมาพร้อมกับการรับรู้แสง ที่ทำให้คุณมีชีวิตที่ไปตามนาฬิกาชีวภาพ (circadian rhythm) แสงสว่างช่วยให้คุณไม่คร่ำเคร่งกับสิ่งที่ทำนานเกินไป ธรรมชาติจึงเป็นตัวบ่งบอกที่ดีที่สุด
การทำงานสร้างสรรค์ก็ไม่ได้จำเป็นต้องปิดตัวเอง อาจมีบ้างบางเวลาที่คุณต้องการสร้างความส่วนตัว แต่การได้นั่งทำงานในพื้นที่ที่มีคนอื่นอยู่ด้วย ก็ให้ความรู้สึกเป็น office vibe คล้ายการทำงานในสำนักงานที่คุ้นเคยและคิดถึง มีสักมุมหนึ่งที่คุณนั่งทำงานในขณะที่สามารถเห็นคนอื่นๆ ในสายตา ช่วยให้ทำงานสร้างสรรค์ไปพร้อมๆกับพูดคุยสารทุกข์สุกดิบ บ่ายๆ วันนี้อาจอยู่มุมหน้าบ้าน อีกวันอาจขยับไปอีกที่เพื่อสร้างความหลากหลายของสภาพแวดล้อม ช่วงนี้หลายคนฮิตปลูกต้นไม้ในบ้าน คุณอาจหาต้นไม้ที่มีรูปทรงแปลกตาน่าสนใจขนาดพอเหมาะเพื่อเพิ่มบรรยากาศในห้องให้ดูสดชื่นขึ้น
ให้อิสรภาพกับตัวเอง และปราณีต่อความล้มเหลวของผู้อื่น
ก่อนหน้านี้เราทำงานโดยมีการตั้งเป้าหมาย KPI ที่ต้องทำให้เสร็จ มีกำหนดส่งงานที่รัดกุม และหลายงานไม่อนุญาตให้คุณล้มเหลว แต่งานสร้างสรรค์ไม่ควรอยู่ในกรอบนี้ มันควรเป็นอิสระจากเส้นตายทั้งหมด ปล่อยให้ความคิดสร้างสรรค์ของคุณไหลไปเรื่อยๆ ภายใต้สถานการณ์บีบบังคับทุกคนรู้ดีว่าไม่มีใครสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้ออกมาเป็นชิ้นโบว์แดง เพราะทุกคนมีเรื่องที่ต้องจัดการและมีภาระทางใจด้วยกันทางนั้น เมื่อคุณยอมรับความล้มเหลวขณะเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ ก็ควรที่จะยอมรับความล้มเหลวของผู้อื่นด้วย อย่าพยายามหาเรื่องตำหนิงานสร้างสรรค์ของคนอื่นที่ดูผิดพลาดในสายตาคุณ เช่น หากเพื่อนคุณพยายามโชว์ผลงานในเฟซบุ๊ก แม้มันจะไม่ใช่งานที่สมบูรณ์ คุณก็ควรแสดงออกถึงการสนับสนุนให้เขาทำต่อไป ไม่ใช่หาข้อตำหนิเพื่อบั่นทอนกำลังใจในการสร้างสรรค์
ผู้เริ่มต้นทุกคนมักเผชิญหน้ากับความไม่น่าแน่ใจและกลัวความผิดพลาด (fear and uncertainty) ที่คุณไม่จำเป็นต้องย้ำเตือนพวกเขาหรอก ปล่อยให้เขาได้แสดงออกทางศักยภาพ เฝ้าดูพวกเขาสร้างสรรค์สิ่งใหม่พร้อมๆกับบอกกล่าวโปรเจคใหม่ส่วนตัวของคุณที่ทำร่วมกันช่วงนี้ แชร์ประสบการณ์ที่คุณพบขณะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่หรูหรา แต่มันทำให้ครองสติในช่วงวิกฤตได้
ทุกคนล้วนเผชิญข้อจำกัดในการสร้างสรรค์งาน ซึ่งในสถานการณ์กักตัวอันแสนยาวนาน ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันเป็นสิ่งจำเป็นในกระบวนการสร้างสรรค์ หากเราไม่ได้คาดหวังความสมบูรณ์แบบจากการเรียนรู้ เราจะยิ่งมีอิสระในการลองผิดลองถูกใหม่ๆ ที่คุณทำได้ทุกวัน ไม่แน่เมื่อทุกอย่างกลับมาปกติ คุณอาจค้นพบตัวตนใหม่ที่ซุกซ่อนอยู่ก็ได้ และมันอาจทำให้คุณชอบตัวเองมากขึ้นมาอีกระดับ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Creativity enhancement through flotation isolation
Interplay of Creativity and Giftedness in Science