นานแค่ไหนแล้วที่ไม่ได้ติดต่อกับเพื่อนสมัยมัธยมหรือสมัยมหา’ลัย ทั้งที่เคยสนิทกันมาก แต่จู่ๆ ก็เกิดเคลือบแคลงใจว่าพวกเรายังเหมือนเดิมกันอยู่หรือเปล่า ที่แน่ๆ เราไม่เคยลืมพวกเขาหรอก เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่รู้จะโทรหรือทักไปหาด้วยเรื่องอะไร ชวนคุยก็ไม่เป็นอีก อยากเป็นคน keep in touch เก่งๆ บ้างจัง
เวลาเห็นเพื่อนลงรูปไปเที่ยวด้วยกันเป็นแก๊ง นัดแฮงเอาต์ที่คาเฟ่ทุกสุดสัปดาห์ ในใจก็รู้สึกอิจฉาปนน้อยใจที่เขาไม่ได้ชวน แต่ทำยังไงได้ล่ะ ก็เราเล่นไม่ติดต่อใครในนั้นเลยมาเป็นปีๆ แล้วนี่นา แม้จะเห็นความเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดียอยู่ตลอดเวลา กดไลค์ให้กันทุกโพสต์ ดูสตอรี่ทุกอันที่ลง แต่กลับไม่มีบทสนทนาใดที่บ่งบอกว่าเรายังสนิทกันอยู่
มีจริงๆ นะ คนที่ ‘คงความสัมพันธ์’ กับคนรอบข้างไม่เป็น แม้ในใจจะรู้สึกแคร์ขนาดไหนก็ตาม
นักมานุษยวิทยาและนักจิตวิทยาจาก University of Oxford โรบิน ดันบาร์ (Robin Dunbar) กล่าวว่า การที่มนุษย์พยายามรักษาความสัมพันธ์นั้นมี ‘ข้อจำกัด’ บางอย่างอยู่ ด้วยทฤษฎีทางมานุษยวิทยาที่ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่าง ‘ขนาดสมอง’ กับ ‘ขนาดเครือข่ายสังคมออนไลน์’ ของแต่ละบุคคล
โรบินได้ทำการสแกนสมองของมนุษย์และเก็บข้อมูลการเชื่อมต่อทางสังคม พบว่า บุคคลทั่วไปสามารถรักษาความสัมพันธ์ทางสังคมได้เพียง 150 คน ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยทั่วไป หมายความว่าถ้าเป็นคนที่ชอบเข้าสังคมหน่อย ก็อาจรักษาความสัมพันธ์ได้มากถึง 200 คน ในขณะที่คนอื่นๆ ที่เข้าสังคมน้อย อาจมีจำนวนใกล้เคียงกับ 100 คน (จากรายงานที่เผยแพร่ใน The New Yorker ปี ค.ศ.2014)
แต่ถึงแม้จะรู้ว่า มนุษย์สามารถคงความสัมพันธ์ได้เพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น แต่ทุกวันนี้โซเชียลมีเดียก็ได้เข้ามา ‘ท้าทาย’ เรามากขึ้น ด้วยคุณลักษณะที่เปิดโอกาสให้ผู้คนติดต่อกันได้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีข้อจำกัดด้านเวลาหรือสถานที่ ทำให้เราสามารถมีเพื่อนได้ง่ายๆ เพียงแค่กด add กด follow กันในเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรืออินสตาแกรม และด้วยคุณลักษณะที่เอื้อต่อการขยายเครือข่ายความสัมพันธ์ให้กว้างขวางมากขึ้น จึงนำไปสู่ ‘คอนเนคชัน’ หรือ ‘ผลลัพธ์ทางธุรกิจ’ ที่ดีขึ้นด้วย คำว่าเพื่อนเลยแตกออกเป็นหลากหลายมิติ ทำให้การปล่อยให้ความสัมพันธ์จืดจางลง อาจส่งผลให้เราสูญเสียประโยชน์ทางธุรกิจได้ด้วยเช่นกัน
“สิ่งที่ทำให้เฟซบุ๊กประสบความสำเร็จก็คือ มันทำให้เราเห็นความเคลื่อนไหวของผู้คนที่เราอาจไม่ได้ติดต่อหรือเจอกันในชีวิตจริงแล้ว” โรบินกล่าว แต่ถึงอย่างนั้น การได้ติดต่อสื่อสารแบบเห็นหน้ากันย่อมทำให้มิตรภาพยั่งยืนมากกว่า เพราะเราได้ ‘แชร์ประสบการณ์’ ร่วมกัน ได้หัวเราะด้วยกัน ได้ร้องไห้ด้วยกัน ได้กระโดดโลดเต้นด้วยกัน ได้กินอะไรอร่อยๆ ด้วยกัน ซึ่งมันดูเป็นธรรมชาติมากกว่าในโลกออนไลน์เยอะ
ถึงแม้ในโซเชียลมีเดียจะมีปุ่มไลก์ ปุ่มแชร์
หรือทำให้เห็นว่าช่วงนี้เพื่อนอินซีรีส์เรื่องเดียวกับเราอยู่ก็ตาม
แต่สิ่งที่โซเชียลมีเดียให้ไม่ได้ ก็คือ
การได้แชร์ประสบการณ์ร่วมกันอย่างเป็นธรรมชาตินี่แหละ
และถึงแม้จะรู้ดีว่า เราไม่สามารถรักษาทุกคนในชีวิตไว้ได้ แต่สำหรับคนที่เราแคร์จริงๆ เราก็คิดไม่ออกอยู่ดีว่าจะติดต่อพวกเขายังไงให้ดูเป็นธรรมชาติที่สุด แถมยังรู้สึกผิดบ่อยๆ ที่ไม่ได้โทรหาหรือทักแชทไปเลย โดยเฉพาะช่วงโรคระบาด COVID-19 ที่การสื่อสารแบบตัวต่อตัวแทบจะเป็นไปได้ยากมากๆ และทุกอย่างย้ายมาอยู่ในโลกเสมือนจริงแทน การแชต การคอมเมนต์ การกดไลก์ การวิดีโอคอล การตอบสนองอะไรสักอย่างกับโพสต์ของอีกฝ่ายอยู่เสมอ จึงกลายเป็นคำจำกัดความของคำว่า keep in touch ในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม ก็ถือว่าการคงความสัมพันธ์กับคนรอบข้างในสมัยนี้สะดวกสบายมาก เมื่อเทียบกับสมัยก่อนที่ต้องแลกมาด้วยต้นทุนมหาศาล ค่าโทรศัพท์แพงหูฉี่ โทร 1 นาทีโดนไป 3 บาท ส่ง 1 ข้อความโดนไปอีก 5 บาท แทบไม่ต้องพูดถึงโทรทางไกลเลย
แต่ก็นับว่าเป็นดาบสองคมอยู่เนืองๆ เพราะเมื่อเกิดความสะดวกสบาย สามารถติดต่อกันเมื่อไหร่ก็ได้ ‘ความคาดหวัง’ จากอีกฝ่ายก็เพิ่มขึ้นตามมาด้วย การเพิกเฉยต่อแจ้งเตือนต่างๆ ทำให้พวกเขาเข้าใจว่าเป็นไปด้วยความตั้งใจ ตั้งใจที่จะไม่ตอบ ตั้งใจที่จะเมินข้อความ ทั้งๆ ที่บางคนอาจไม่สันทัดในการสื่อสารบนโลกออนไลน์เท่าไหร่นัก
ยังไม่รวมถึงคนที่เห็นแจ้งเตือนแต่เผลอตอบในใจ แล้วลืมเข้าไปตอบจริงๆ คนที่ชอบใช้เวลาอยู่กับตัวเองมากกว่าที่จะแชร์ความรู้สึกกับคนอื่น หรือคนที่รู้สึก ‘ท่วมท้น’ เวลาเห็นแจ้งเตือนเยอะๆ ไม่รู้จะเริ่มตอบยังไง ไม่รู้จะตอบใครก่อนดี หรือไม่รู้จะต่อบทสนทนาอะไรหลังจากนั้น แถมยังคาดเดาน้ำเสียงของอีกฝ่ายไม่ได้ด้วยว่าเขารู้สึกอะไรอยู่ รู้สึกวิตกกังวลไปหมด การสื่อสารแบบเจอหน้า พบปะตัวต่อตัว จึงเหมาะสำหรับบางคนมากกว่า
ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม บางคนถึงขั้นมองว่านี่เป็น ‘ข้อบกพร่อง’ ขนาดใหญ่ของตัวเองก็ว่าได้ ที่ไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์กับใครไว้ได้เลย และกำลังจะสูญเสียคนสำคัญในชีวิตไปทีละคน ด้วยความที่เข้าหาใครก่อนไม่เก่งเท่านั้นเอง
แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราเป็นคนที่แย่อะไร และการกลับไปปะติดปะต่อกับคนที่เราทำหล่นหายระหว่างทาง ก็สามารถทำได้ทุกเมื่อ ขอแค่เรารวบรวมความกล้าและละทิ้งความกังวลเหล่านั้นไปได้ ที่ผ่านมา เรามักจะเผลอคิดเสมอว่าถ้าเขากับเราสนิทกันจริง กลับมาคุยกันกี่ครั้งก็คงเหมือนเดิมนั่นแหละ แต่สำหรับบางคน การที่เราแสดงออกตรงๆ ว่ายังแคร์ ยังคิดถึง ยังสนิทสนมกันอยู่ สำคัญกับความรู้สึกพวกเขามากกว่า แต่ก็เข้าใจได้ว่าที่เราไม่ได้ติดต่อไปก่อน อาจเป็นเพราะเขาไม่ติดต่อเรามาก่อนเช่นกัน และนั่นก็เป็นสถานการณ์ที่ต้องเดาใจกันอยู่นานพอสมควร กว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเริ่มทักไปก่อน
ซึ่งถ้าเราแคร์พวกเขาจริงๆ คงไม่มีวิธีไหนดีไปกว่า ‘การแสดงออก’ อีกแล้ว เพื่อไม่ให้สูญเสียคนที่เราแคร์ไปด้วยความเข้าใจผิด และยังคงความสบายใจของตัวเองไว้ได้อยู่ อย่างน้อยๆ ลองอธิบายกับพวกเขาดูก่อนว่า ในทางจิตใจเรายังรู้สึกใกล้ชิดกับพวกเขาเสมอ แม้จะไม่ค่อยได้พูดคุยกันเท่าไหร่ก็ตาม และการไม่ได้พูดคุยนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่อยาก เพียงแต่นั่นไม่ใช่ธรรมชาติของเราเท่านั้นเอง เพื่อย้ำถึงความสำคัญและสร้างความเข้าใจที่ดีระหว่างกันและกันไปด้วย และคิดว่าคนที่แคร์เรากลับก็คงพร้อมจะเข้าใจอย่างแน่นอน
แต่สำหรับใครที่รู้สึกว่าที่กล่าวมาไม่ใช่วิธีที่เป็นตัวเองสักเท่าไหร่ การพูดตรงๆ ไปอาจจะชวนเขินอายไปนิด การ ‘เนียน’ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยกระชับมิตรได้อีกครั้งเช่นกัน ยิ่งโลกโซเชียลมีเดียยิ่งง่ายเลยล่ะ แค่เนียนๆ ไปคอมเมนต์โพสต์ที่เขาแชร์ หรือสตอรี่ไอจีที่เขาลง ก็ทำให้เราไม่ต้องคิดคอนเทนต์ไปชวนคุยให้รู้สึกฝืน ซึ่งการที่เราได้แสดงความสนใจที่มีร่วมกัน จะช่วยทำให้เรากับเขากลับมาพูดคุยกันเหมือนเดิม ราวกับไม่เคยหายไปไหนเลย
และสถานการณ์ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ อย่างโรคระบาด COVID-19 นี้ ก็เปิดโอกาสให้เราได้ทักไปถามไถ่สารทุกข์สุกดิบของคนที่ไม่ได้คุยกันมานาน ได้แสดงความเป็นห่วงเป็นใยกันอย่างธรรมชาติ “เป็นไงบ้าง?” “สบายดีมั้ย?” “ช่วงนี้โอเคหรือเปล่า?” “อย่าลืมรักษาตัวด้วยนะ” ลงท้ายด้วย “เป็นห่วงมากๆ” ซึ่งก็ดูไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนัก แต่ก็ไม่ต้องถึงขั้นพูดคุยทุกวัน หรือกดดันตัวเองมากไปจนรู้สึกเหนื่อยใจนะ
การที่เราห่วยในเรื่อง keep in touch ไม่ได้ทำให้เรากลายเป็นคนที่ห่วยไปด้วยหรอกนะ ไม่เป็นไรเลย หากเราไม่สามารถรักษาทุกคนไว้ในชีวิตได้ และไม่สามารถเป็นทุกอย่างให้กับทุกคนได้ตลอดเวลา แค่อย่าลืมว่า เราสำคัญสำหรับใครบางคนหรือคนบางกลุ่มเสมอ อย่าลืมติดต่อหาพวกเขาบ้างล่ะ
อ้างอิงข้อมูลจาก