“สถาบันตุลาการเป็นองค์กรการเมืองหนึ่ง”
หากนำวลีนี้ไปพูดเมื่อสัก 20 ปีก่อน หลายๆ คนอาจจะแปลกใจ เพราะมักเชื่อกันว่า ศาลตัดสินคดีใดๆ ด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม เป็นกลางไม่เลือกข้าง ว่าไปตามพยานหลักฐานเท่านั้น แต่หลังจากศาลเข้ามาแสดงบทบาททางการเมืองมากขึ้น นับแต่เกิดเหตุการณ์ ‘ตุลาการภิวัฒน์’ ในปี 2549 ทัศนะของผู้คนต่อองค์กรที่มีจุดขายคือความยุติธรรมนี้ ก็เริ่มแปรเปลี่ยนไป
The MATTER ไปคุยกับ สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เขียนหนังสือชื่อ ‘เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน’ ที่ชี้ให้เห็นถึงบทบาทของสถาบันตุลาการท่ามกลางวิกฤตการเมืองไทยตลอดทศวรรษหลัง
“ผมไม่เชื่อว่าคำวินิจฉัยของอำนาจตุลาการมันเป็นอำนาจที่บริสุทธิ์ แต่มันเป็นอำนาจที่ถูกเจือไปด้วยความเห็นส่วนตัว จุดยืนทางการเมือง โอเค อาจจะมีหลักวิชาอยู่บ้าง แต่มันก็ถูกเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขโดยเงื่อนไขหรือปัจจัยอื่น” คือคำยืนยันจากอาจารย์สมชาย ที่มองว่าคนในฝ่ายตุลาการย่อมมีอารมณ์ ความรู้สึก มีทัศนะ มีจุดยืนทางการเมืองเป็นธรรมดา แต่ปัจจัยที่จะทำให้สถาบันนี้เที่ยงตรงอยู่ได้ คืออำนาจตรวจสอบจากสังคม – แม้ยุคปัจุจบันจะทำเช่นนั้นได้ยากอยู่สักหน่อย
ฝ่ายตุลาการลงมาเล่นการเมืองฝ่ายคำพิพากษาจริงไหม ลองอ่านบทสัมภาษณ์นี้แล้วพิจารณากันดู
The MATTER: ทำไมอาจารย์ถึงใช้ชื่อหนังสือเล่มใหม่ว่า ‘เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน’ มันสะท้อนสถานการณ์อะไรของประเทศไทยในปัจจุบัน
งานเขียนของผมช่วง 3-4 ปีหลัง พยายามจะฉายให้เห็นภาพว่า สถาบันตุลาการก็คือ ‘สถาบันทางการเมือง’ อีกองค์กรหนึ่ง ที่ผ่านมาในสังคมไทย สิ่งที่เรียกว่าอำนาจตุลาการมักไม่ค่อยถูกมองว่าเป็นสถาบันทางการเมือง แต่มักถูกมองว่าเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ตัดสินข้อพิพาทต่างๆ โดยคล้ายว่า เราเป็นกลาง เราใช้หลักวิชา เราอยู่พ้นไปจากความขัดแย้ง เราเป็นตัวแทนของอำนาจที่ศักดิ์สิทธิ์ ผมเข้าใจว่าสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างน้อยก่อนปี 2550 ความรู้สึกแบบนี้ยังปกคลุมอยู่
แต่ผมเชื่อมานานแล้วว่า สถาบันตุลาการเป็นองค์กรทางการเมืองชนิดหนึ่ง คือองค์กรทางการเมืองไม่ได้หมายความว่าไปเลือกข้างทางการเมือง แต่หมายความว่าเวลาที่องค์กรตุลาการทำหน้าที่ชี้ขาดในเรื่องต่างๆ มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับหลักวิชา ตรรกะ หรือเหตุผลทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับหลายๆ เรื่อง เช่น ภูมิหลัง การศึกษา จุดยืน ศาสนา ความเข้าใจเรื่องเพศ อะไรต่างๆ เหล่านี้ เพราะฉะนั้น
โดยพื้นฐานผมไม่เคยเชื่อว่าองค์กรตุลาการเป็นองค์กรที่ลอยพ้นไปจากสังคม แต่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม มันจึงเป็นไปไม่ได้ที่การตัดสินใจทั้งหมดจะเป็นเรื่องของหลักวิชาล้วนๆ
ที่หนังสือใช้คำว่า ‘เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน’ เพราะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เห็นชัดในสังคมไทยก็คือ เราเห็นบทบาทของตุลาการที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองไทย ซึ่งในที่นี้มีความหมายอย่างเฉพาะเลยคือเข้ามาเกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ การออกนโยบาย การออกกฎหมาย การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การตัดสินการเลือกตั้ง การเอาคนออกจากตำแหน่ง ฯลฯ ในช่วง 10 ปีกว่าๆ องค์กรตุลาการเข้ามาทำหน้าที่นี้ชัดเจนมากขึ้น มันเลยทำให้แต่เดิมที่ปัญหาหลายเรื่องตุลาการจะไม่เข้ามาเกี่ยว แต่ในตอนนี้ ตุลาการจะเข้ามาตัดสินชี้ขาด ในขณะที่สถาบันอื่นๆ โดยเฉพาะสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งขอบเขตอำนาจมันน้อยลง ถูกตัดแข้งตัดขามากขึ้น
เรากำลังอยู่ในข่วงเวลาที่กำลังเป็นแบบนี้ คือมีการเลือกตั้ง มี ส.ส. มีพรรคการเมือง มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่เวลาเกิดปัญหาให้ต้องชี้ขาด ตุลาการกลับเข้ามาทำหน้าที่
The MATTER: อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ตุลาการเข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมืองมากขึ้น
ก่อนปี 2549 ตุลาการยังไม่เข้ามามีบทบาทในทางการเมืองที่เป็นฝ่ายปฏิปักษ์กับสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง แม้ก่อนหน้านี้เรามีศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ยังมีคำตัดสินที่โน้มเอียงไปทางสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลถูกฟ้อง นายกรัฐมนตรีถูกฟ้อง ศาลก็ยังให้การสนับสนุน แต่หลังปี 2549 เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ที่มาพร้อมกับการเกิดขึ้นของสิ่งที่เรียกว่า ‘ตุลาการภิวัฒน์’ ที่อำนาจตุลาการเริ่มเข้ามามีบทบาทในทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัด
แล้วพอเกิดรัฐประหารในปี 2549 รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ถูกออกแบบใหม่ คือเดิม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ก็ยังมีความยึดโยงกับประชาชน ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว.เลือกตั้ง แต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 องค์ประกอบมันเปลี่ยนไป ศาลฎีกาและศาลปกครองกลายเป็นที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่สำคัญ รวมถึงการให้ความเห็นชอบ จากเดิมเป็น ส.ว.เลือกตั้งทั้งหมด ก็เปลี่ยนไปเป็น ส.ว.เลือกตั้ง 76 คน ส.ว.แต่งตั้ง 74 คน คือเห็นได้ชัดว่าอำนาจในการควบคุมตุลาการของฝ่ายประชาชนเริ่มน้อยลง เลยทำให้ฝ่ายตุลาการเขยิบเข้ามามีบทบาทในทางการเมืองและใช้อำนาจที่เป็นปฏิปักษ์ต่อฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งค่อนข้างชัดเจน และเรื่องเหล่านี้ ก็สืบเนื่องต่อมาจนถึงรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560
The MATTER: ผลจากการที่ตุลาการเข้ามากินแดนสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง คืออะไร
ถ้าเราคิดระบอบเสรีประชาธิปไตย ฝ่ายบริหารมีหน้าที่เสนอและผลักดันนโยบายเพื่อขายกับประชาชน เช่น พรรคเพื่อไทยเสนอนโยบายจำนำข้าว พรรคประชาธิปัตย์เสนอนโยบายประกันราคาข้าว ซึ่งก็แล้วแต่ว่าประชาชนจะชอบนโยบายแบบไหน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ศาลเข้ามาตัดสินว่านโยบายจำนำข้าวว่าทุจริต ทำให้ความสามารถในการริเริ่มนโยบายต่างๆ ของฝ่ายการเมืองถูกตัดให้น้อยลง คือเมื่อใดก็ตามที่คุณจะทำนโยบายตอบสนองคนส่วนใหญ่ จะเป็นปัญหาแล้ว ตอนที่คุณเสนอนโยบายจำนำข้าว มันอาจจะมีการขาดทุนอะไรก็แล้วแต่ แต่นี่ก็เป็นนโยบายที่ลงกับเกษตรกร คือเมื่อใดก็ตามที่เป็นนโยบายให้ประโยชน์กับคนจำนวนมาก จะถูกล้มได้ง่าย แต่ถ้าเป็นนโยบายสำหรับคนบางกลุ่มที่เสียงดัง เช่น นโยบายที่ส่งเสริมคน กทม. อย่างการก่อสร้างรถไฟฟ้า กลับทำได้
ระบบการเมืองที่ไม่เปิดให้สถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งทำงานได้ ไปซ้ำเติมปัญหาเหล่านี้ให้รุนแรงมากยิ่งขึ้น อย่างน้อยๆ ถ้าคุณเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง คุณจะไม่เอาเงินไปลงกับเรือดำน้ำ 3 หมื่นล้านบาท แล้วบอกว่าไม่มีเงินจ่ายให้กับสาธารณสุขหรอก แต่ในบางระบบมันทำแบบนั้นได้
The MATTER: หลายคนอาจจะแย้งว่า ในหลายประเทศ ศาลก็เข้ามาตัดสินเรื่องนโยบาย มันเป็นเรื่อง check and balance แล้วของไทยต่างกับประเทศอื่นๆ อย่างไร
(ตอบเร็ว) ต่างกันราวฟ้ากับเหว ศาลในหลายประเทศที่เข้ามาตัดสินในเชิงนโยบายที่เห็นกันอย่างเด่นชัดและถูกเรียกว่าตุลาการภิวัฒน์ (judicial activism) ส่วนใหญ่จะเป็นศาลที่ตีความขยายสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น เรื่องการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน คือการรับรองสิทธิดั้งเดิมของชนพื้นเมือง ศาลมักจะขยายสิทธิให้แม้กฎหมายหรือรัฐธรรมนูญไม่รองรับ
แต่ในเมืองไทย ผมว่าเป็นการที่ศาลโดดลงมาเล่น take side การเมือง คือแน่นอนศาลจะไม่บอกว่าตัวเอง take side แต่ถ้าดูภาพรวม ผมเคยเขียนงานวิจัยเรื่องศาลรัฐธรรมนูญโดยย้อนไปดูคำวินิจฉัยตั้งแต่ปี 2540-2557 ผมพบว่า หลังปี 2550 เป็นต้นมา คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ลักษณะที่เด่นชัดก็คือเราจะสามารถคาดเดาคำตัดสินได้ โดยดูจากว่าใครเป็นคนฟ้อง-ใครเป็นคนถูกฟ้อง
The MATTER: ลักษณะเป็นอย่างไรครับ
ระหว่างปี 2550-2557 เมื่อไรก็ตามที่คนถูกฟ้องเป็นนักการเมืองหรือพรรคการเมืองเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อนั้นมีแนวโน้มที่จะแพ้สูง (เน้นเสียง) คือพูดง่ายๆ ถ้าคุณเป็นรัฐบาล เช่น คุณสมัคร คุณสมชาย คุณยิ่งลักษณ์ ถ้าถูกฟ้อง โอกาสแพ้สูง แต่เปลี่ยนกัน พอคุณอภิสิทธิ์ขึ้นมา โอกาสแพ้จะยาก อันนี้เราจะดูจากผลเลย ไม่ได้ดูตัวข้อพิพาทเลย
คือหมายความว่าสิ่งที่มันพอจะได้คือ เห้ย ลักษณtแบบนี้ มีนักวิชาการฝรั่งบอกว่า นี่มันคือการที่ politicization of the judiciary แปลง่ายๆ ก็คือ ‘ศาลเลือกข้างทางการเมือง’ ซึ่งมันก็คล้ายๆ กับปัจจุบัน พอเราเห็นข้อพิพาทหลายๆ เรื่องที่เข้าไปสู่การพิจารณาของฝ่ายตุลาการ เราพอจะคาดเดาผลได้ แม้ไม่รู้รายละเอียดเลยก็ตาม
The MATTER: เวลาตัดสินคดีใดๆ ศาลมักให้เหตุผลว่าขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน แล้วจะมีช่องตรงไหนให้เลือกข้างหรือตัดสินตามจุดยืนทางการเมืองของแต่ละคนได้
ส่วนใหญ่ศาลจะบอกว่าตัดสินไปตาม 1.ข้อเท็จจริง และ 2.ข้อกฎหมาย ทีนี้พอบอกว่าข้อเท็จจริง เวลาคดีอะไรเกิดขึ้น มันจะมีสิ่งที่เรียกว่าสาระสำคัญคล้ายๆ กัน แม้รายละเอียดอาจจะแตกต่างกันได้ เช่นคดีคุณธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่) กับ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 41 คน สาระสำคัญเป็นเรื่องเดียวกันคือทั้งหมดถูกกล่าวหาว่าถือครองหุ้นบริษัทสื่อ แต่ก็ไปหารายละเอียดที่ต่างกัน กรณีคุณธนาธร กกต.ยื่นมา กรณี 41 ส.ส. ฝ่ายค้านยื่นมา จึงพิจารณาต่างกันได้
คือมันยากที่เราจะเห็นคดีต่างๆ มีข้อเท็จจริงเหมือนกันเป๊ะ 100% แต่ถ้ามันมีสาระสำคัญเหมือนกัน มันควรจะไปในทางเดียวกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้น มันมักจะถูกอธิบายโดยรายละเอียด ว่ามันแตกต่างกัน นี่คือในส่วนของข้อเท็จจริง
และในส่วนของการตีความข้อกฎหมาย ผมคิดว่างองค์กรตุลาการไทยมีปัญหาเรื่องการตีความเยอะมาก บางกรณีตีความตามตัวบทเป๊ะๆ แต่บางกรณีก็ไม่จำเป็นต้องตีความตามตัวบท เช่นคดีคุณสมัคร (สุนทรเวช อดีตนายกฯ) ถูกกล่าวหาว่าเป็นลูกจ้างไปจัดรายการทำกับข้าว ถ้าตีความตามตัวบทเป๊ะๆ คุณสมัครไม่ได้เป็นลูกจ้าง เพราะภาษากฎหมายเขาเรียกว่าการจ้างทำของ ลูกจ้างจะต้องไปทำงานให้เขา เช้า-เย็น มีเวลาที่ชัดเจน มีเงินเดือนที่ชัดเจน แต่กรณีคุณสมัครอยากทำก็ทำ ไม่อยากทำก็ไม่ต้องทำ ทำเสร็จก็จ่ายเงิน อันนี้เรียกว่าจ้างทำของ แต่ในรัฐธรรมนูญก็เขียนว่า ‘นายกฯ ห้ามเป็นลูกจ้าง’ ถ้าตีความเป๊ะๆ ก็ไม่เป็น แต่ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า กรณีนี้เป็นคดีทางการเมืองไม่อาจตีความตามตัวบทอย่างเดียวต้องเปิดพจนานุกรม อ้าว อันนี้ไม่ยึดตัวบท แต่กรณีถือหุ้นสื่อมาเอาตัวบท ไม่ว่าจะทำสื่อจริงหรือไม่ก็ตาม
ถ้าลงไปในรายละเอียดก็จะเห็นปัญหาการตีความที่ไม่มีบรรทัดฐานเยอะแยะเต็มไปหมด
ผมจึงไม่เชื่อว่าคำวินิจฉัยของอำนาจตุลาการมันเป็นอำนาจที่บริสุทธิ์ แต่มันเป็นอำนาจที่ถูกเจือไปด้วยความเห็นส่วนตัว จุดยืนทางการเมือง โอเค อาจจะมีหลักวิชาอยู่บ้าง แต่มันก็ถูกเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขโดยเงื่อนไขหรือปัจจัยอื่น ในหลายประเทศ สิ่งที่สังคมพยายามเพื่อไม่ให้อำนาจตุลาการตีความตามใจชอบก็คืออำนาจตรวจสอบ ผมคิดว่าอันนี้สำคัญ โดยเฉพาะอำนาจตรวจสอบของสังคมที่มีต่อตุลาการ
The MATTER: แล้วอำนาจตรวจสอบฝ่ายตุลาการในเมืองไทยมีอยู่ไหม
มันถูกเขียนไว้เป็นตัวบท แต่โอกาสที่จะใช้ให้เกิดผลจริงมันยากมาก เช่นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีคนไม่เห็นด้วยมากมาย แต่เราสามารถใช้กระบวนการทางรัฐธรรมนูญโต้แย้งได้ไหม โอ้โห มันต้องไปผ่านองค์กรอิสระ แล้วองค์กรอิสระใครตั้งมา ส่วนใหญ่ก็ คสช.ตั้งมา แล้วศาลรัฐธรรมนูญบางส่วน คสช.ก็ยืดอายุให้ แล้วคุณจะไปร้องเรียน อันนี้มันเรียกว่าเป็นองค์กรที่ผลัดกันเกาหลัง เลยทำให้กระบวนการควบคุมตรวจสอบเกิดขึ้นได้น้อยมาก
The MATTER: ในบรรดาศาลทั้งหมด ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ ระยะหลังศาลไหนเข้ามาแสดงบทบาททางการเมืองมากที่สุด
ถ้าถามในแง่การแสดงบทบาทในฐานะ actor ทางการเมือง ปฏิเสธไม่ได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญ จึงเห็นการโดดเข้ามาเป็น actor ในทางการเมืองได้ชัด แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็มีจุดยึดโยงกับอีก 2 ศาล เพราะมีตุลาการมาจากทั้งศาลยุติธรรมและศาลปกครอง ซึ่งอันที่จริง ทั้ง 2 องค์กรก็มีคำวินิจฉัยที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาทางการเมืองอยู่ เช่น คำวินิจฉัยที่รับรองว่าคณะรัฐประหารยึดอำนาจสำเร็จสามารถใช้อำนาจได้อย่างถูกต้องชอบธรรม คือคำวินิจฉัยของศาลฎีกาที่ 45/2496 นี่คือศาลยุติธรรมเป็นคนวางหลักไว้ ศาลปกครองในช่วงหลังมีคดีไปให้วินิจฉัย เช่นเคยมีคำสั่ง คสช.ยกเว้นกฎหมายผังเมือง ก็มีคนไปร้อง ศาลปกครองก็บอกว่านี่คือคำสั่ง คสช. ศาลไม่มีอำนาจเข้าไปแตะ นี่คือการรับรองโดยนัยปฏิเสธ คือไม่ได้พูดว่าคำสั่ง คสช.เป็นกฎหมาย แต่การปฏิเสธไม่รับพิจารณา ก็เท่ากับสแตมป์ให้
The MATTER: สถานการณ์เช่นนี้ยังเปลี่ยนได้ไหม เราสามารถย้อนกลับไปสู่ยุคที่ศาลยังไม่ได้แสดงบทบาททางการเมืองเด่นชัดเช่นก่อนปี 2549 ได้หรือไม่ หรือมันเลยจุดที่จะเปลี่ยนได้มาแล้ว ทุกๆ คนต้องทนอยู่กับสถานการณ่เช่นนี้ต่อไป
องค์กรตุลาการที่จะอยู่ได้อย่างมั่นคง มันต้องมีความเป็นกลางในระดับหนึ่ง เราจะไปศาลเมื่อเราพอจะมองเห็นว่ามันมีความเป็นธรรมอยู่ แต่เราจะไม่ไปศาลหรอก ถ้าเมื่อไรก็ตามที่ ‘กูรู้คำตอบอยู่แล้วว่าจะเป็นยังไง’ ใครจะไปล่ะ ฉะนั้น ในแง่หนึ่งก็เป็นปรากฎการณ์ที่ดี ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์องค์กรตุลาการตลอดทศวรรษที่ผ่านมา เพราะมันทำให้คนเริ่มจะมองเห็น หรือเรียกว่าตาสว่างก็ได้ กับองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการของไทย เพราะก่อนหน้านี้ คนมักจะลังเลหรือไม่กล้าที่จะวิพากษ์วิจารณ์ หรือยังเชื่อว่านี่คืออำนาจบริสุทธิ์ แต่ตอนนี้ไม่ใช่ มันเปลี่ยนไปแล้ว
ถ้าถามผม เฉพาะหน้าสถานการณ์ก็คงเป็นแบบนี้ แต่ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า สถาบันตุลาการต้องมีความเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่เปลี่ยน มันจะไม่อยู่อย่างศักดิ์สิทธิ์ คืออำนาจตุลาการ ความชอบธรรมมีความจำเป็นสูง เมื่อเทียบกับทหาร ทหารยังขายเรื่องความมั่นคงของชาติได้ คำถามคืออำนาจตุลาการคุณขายอะไร ถ้าไม่ใช่ความเที่ยงธรรม ความเป็นอิสระ แล้วเงินเดือนก็มากกว่าเขา แล้วถ้าคุณไม่มีอะไรจะขาย คุณจะมีปัญหาแน่
The MATTER: ลองสมมุติว่าผมอยู่ในองค์กรตุลาการ จะปรับตัวไปทำไม ในเมื่อมีอำนาจขนาดนี้ และได้รับการปกป้อง ได้รับการยกย่อง อะไรคือแรงกดดันที่จะทำให้ผมต้องปรับตัว
ถ้าจากปัจจุบันมันมี 2 เรื่องใหญ่ๆ 1.เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณะ ผู้พิพากษาส่วนใหญ่น่าจะเล่นโซเชียลมีเดีย น่าจะรู้ว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตอนนี้เป็นอย่างไร ตั้งแต่ผมเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2530 เป็นต้นมา ยุคนี้เป็นยุคที่สถาบันตุลาการถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักที่สุด หรือเอาเข้าจริง หลังปี 2475 มา นี่น่าจะเป็นช่วงที่พีคที่สุด ไม่เคยมีช่วงไหนที่สถาบันตุลาการถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางมากขนาดนี้ ซึ่งผมคิดว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์น่าจะทำให้เกิดความตระหนักบางอย่าง
2.คนที่อยู่ในสถาบันตุลาการจำนวนหนึ่ง คิดถึงการปฏิบัติหน้าที่เพื่อความเป็นธรรมของสังคม ต่อให้ไม่มีแรงกดดันจากภายนอก แต่ถ้าเห็นความอยุติธรรมเกิดขึ้น แล้วเราเป็นส่วนหนึ่งในนั้น คุณจะเคารพงานที่ตัวเองทำอยู่ได้อย่างไร ถ้ามันไม่ได้สร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้น บางคดีมันอาจจะ 50/50 แต่บางคดีมันเอียงกะเทเร่ นี่คือการทำลาย ไม่ใช่แค่วิชาชีพ แต่เป็นการทำลายสถาบันหรืออำนาจตุลาการในระยะยาว
อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลว่าจะตระหนักกับเรื่องนี้มากขนาดไหน เราคงไม่สามารถจะไปบีบคอเขาแล้วบอกว่าต้องปรับตัวๆๆ
The MATTER: ทุกครั้งที่มีการรัฐประหาร เรามักเห็นนักกฎหมายจำนวนเข้าไปทำงานให้คณะรัฐประหาร อะไรคือเหตุผลที่พวกเขาทำแบบนั้น
ส่วนใหญ่คนจะพูดถึงผลประโยชน์ ไม่ว่าจะทรัพย์สมบัติลาภยศสรรเสริญ แต่จะจริงหรือไม่จริงไม่รู้ แต่พวกนั้นไม่น่ากลัวเท่าคนที่คิดว่าตัวเองกำลังทำในสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งผมคิดว่าคนจำนวนไม่น้อยที่เข้าไปทำงานกับคณะรัฐประหารตั้งแต่อดีต ไปเป็นเนติบริกรหรืออะไรก็แล้วแต่ คิดแบบนี้
คือถ้าเรายังมีนักกฎหมายแบบนี้ หมายความว่าเมื่อไรก็ตามที่มีรัฐประหารเราก็จะมีเนติบริกร ไม่จำเป็นต้องชื่อวิษณุ มีชัย มันอาจจะมีชื่ออื่นๆ สมชาย วรเจตน์ ต่อมาภายหลังก็ได้ ตราบที่เราคิดว่าสิ่งนั้นเป็นระบอบที่ดีที่เราต้องเข้าไปช่วยเหลือ หรือเข้าไปทำงานให้กับมัน
และส่วนใหญ่ก็คงจะคิดแบบนี้ ผลประโยชน์ต่างๆ เขาอาจจะไม่ได้คิดถึงมันเท่าไร ผมไปอ่านบันทึกของคุณมีชัย (ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ) ความในใจของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ สิ่งที่คุณมีชัยคิดคือ กูเสียสละนะโว้ย กูเสียสละให้กับประเทศชาติ
The MATTER: เพราะการเมืองมันแย่ เราต้องเข้ามาช่วยกันแก้ไข
การเมืองมันแย่ เราต้องเข้ามาออกแบบให้มันดีขึ้น นี่คืออุดมการณ์ที่ครอบงำคนจำนวนไม่น้อย จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่เมื่อมีการยึดอำนาจจะมีคนจำนวนมากตบเท้าไปทำงานให้ ไม่ใช่แค่นักกฎหมาย เพราะเขาคิดว่านี่คือสิ่งที่ถูกต้อง นี่คือความล้มเหลวขั้นพื้นฐานของสังคมไทยเลยว่า เรายังเชื่อมั่นในการรัฐประหารและอำนาจเผด็จการ ทั้งที่เรามีบทเรียนมามากมาย จอมพลสฤษด์ จอมพลถนอม พล.อ.สุจินดา มาจนถึง พล.อ.ประยุทธ์ เราก็มีบทเรียนซ้ำซาก แต่ก็ยังมีคนจำนวนหนึ่งพร้อมจะเข้าไป
The MATTER: เท่าที่สอบเด็กคณะนิติศาสตร์มา เขามองคนเหล่านี้อย่างไร มีคนที่มองเป็นฮีโร่จนอยากเดินตามรอยบ้างไหม
กลางๆ ตอนเขาเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ก็อยู่ในโลกโซเชียลมีเดีย อารมณ์ความรู้สึกโดยรวมก็คงจะคล้ายๆ กับคนรุ่นเดียวกัน คงจะไม่นิยมคนที่มาแนะนำให้อ่านจินดามณี แต่กระบวนการหล่อหลอมในแวดวงกฎหมาย โดยเฉพาะภายหลังจากเรียนจบ อันเนี้ยสำคัญ กระบวนการศึกษาในทางกฎหมายมีแนวโน้มที่จะหล่อหลอมคนให้เป็น conservative สูง
The MATTER: เป็นเพราะอะไร
การเรียนการสอนทั่วไปในโรงเรียนกฎหมายจะบอกเลยว่ามาตรานี้ต้องตีความแบบนี้ ศาลฎีกาเคยตีความแบบนี้ สิ่งที่นักเรียนกฎหมายจะต้องทำคือท่องแล้วจำ ตอบแบบนี้-ถูก ไปตอบแบบอื่น-ผิด ไม่ได้สอนให้คุณ critical นักกฎหมายส่วนใหญ่จึงไม่มีสิ่งที่เรียกว่าการวิพากษ์วิจารณ์ แต่จะบอกได้แค่ว่าการทำแบบนี้ผิดหรือถูกกฎหมายอย่างไร คำพิพากษาของศาลฎีกาว่าอย่างไร อะไรถูก อะไรผิด ถ้าตอบแบบนี้ไปสอบผู้พิพากษาไม่ได้หรอก เพราะฉะนั้นในแง่กระบวนการเรียนการสอน มันทำให้เด็กคิดแบบนี้ คือไม่ถูกกระตุ้นให้คิดอะไรใหม่ๆ แต่ต้องท่องจำๆๆๆ จนกลายเป็นโลกทางความรู้ของเขา โอเค มีฎีกาใหม่ๆ มา ก็จำฎีกาใหม่ๆ
ผมสอนเด็กมา 20 ปี ผมก็พยายามสอนเด็กให้ critical มีการวิพากษ์วิจารณ์ แต่จะเรียกตัวเองว่าไม่ประสบความสำเร็จคงจะไม่ได้ น่าจะบอกได้ว่าค่อนข้างล้มเหลว (หัวเราะ)
The MATTER: การเรียนกฎหมายคือการท่องจำสิ่งที่คนรุ่นเก่าๆ ทำไว้แล้ว
ดังนั้นเวลาเราไปบอกให้วิพากษ์คำพิพากษา มันจะทำให้เด็กรู้สึกว่าต้องยุ่งยากมากขึ้น ต้องอ่านแบบวิจารณ์แล้วไม่เชื่อมัน เอาไปใช้ประกอบวิชาชีพไม่ได้
วิธีการเรียนการสอนแบบที่เกิดขึ้นในเมืองไทยเกือบทั้งหมด ไม่สู้จะฝึกการโต้แย้งหรือการวิจารณ์มากเท่าไร ต่อให้มีโรงเรียนกฎหมายเพิ่มขึ้นอีกสักร้อยแห่งก็จะออกมา pattern เดียวกัน แล้วการยกย่องว่าที่ไหนเก่งก็มักจะใช้เกณฑ์คล้ายๆ กัน มหาวิทยาลัยคุณสอบได้ผู้พิพากษากี่คน ซึ่งการจะสอบได้ ก็ต้องสอนให้ท่องจำ ซึ่งวิชาที่ผมสอนอยู่ คือวิชานิติปรัชญา วิชากฎหมายกับสังคม ผมก็จะปลอบประโลมตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่านี่เป็นวิชาที่สำคัญ เพราะทำให้เด็กเห็นโลกกว้างกว่าตำราเรียน แม้ว่าเด็กจะไม่สนใจก็ตาม (หัวเราะ)
The MATTER: โรงเรียนกฎหมายจึงคล้ายสถานที่ปั้นคนที่คล้ายๆ กันออกมา
เหมือนพิมพ์ให้นักกฎหมายออกมาเป็น block เดียวกัน คือมีแนวโน้มจะเป็น conservative สูง มีแนวโน้มจะอนุรักษ์นิยม จะไม่เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงใดๆ
The MATTER: ดังนั้นที่หวังว่ามันอาจจะเปลี่ยนสักวันหนึ่ง ถ้ามองวันนี้ จะเปลี่ยนได้ไหม
คงยังไม่เปลี่ยนในระยะสั้น มันอาจจะพอมีความหวังเล็กๆ อยู่ เพราะมหาวิทยาลัยหลายแห่ง โดยเฉพาะที่เพิ่งตั้งใหม่ พยายามปรับวิธีการเรียนการสอน เช่นการศึกษากฎหมายในเชิง clinic คือแทนที่จะท่องเฉพาะตัวบท ก็ไปเรียนกฎหมายผ่านข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพราะในโลกความจริงเวลามีคดีเกิดมันพันไปหลายเรื่อง มีความพยายามที่จะบุกเบิกการศึกษา คือเอากรณีปัญหาเป็นตัวตั้ง หรือ problem-based หรือที่ผมพยายามทำอยู่บางส่วน คือศึกษาผ่านทฤษฎีทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์บ้าง คือเริ่มเห็นการปรับตัวบางอย่าง แต่ยังไม่เห็นเป็นกระแสใหญ่เท่าไร
The MATTER: ตอนนี้ก็มีนักกฎหมายใหญ่ที่ตีความกฎหมายอย่างพลิกแพลง เช่น คุณวิษณุ (เครืองาม รองนายกฯ) เวลาไปสอนเด็กๆ มันสร้างปัญหาในการเรียนการสอนกฎหมายหรือไม่
กรณีคุณวิษณุก็เป็นตัวอย่างว่า เวลาคนจะวินิจฉัยอะไรมันสัมพันธ์กับสิ่งอื่นๆ มากกว่าหลักวิชา ถ้าสมมุติคุณวิษณุไม่ได้อยู่ในตำแหน่งนี้ ก็อาจจะพูดกับอีกแบบก็ได้ นี่ก็เป็นตัวอย่างที่ทำให้เราทำความเข้าใจกับการตีความได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นและจุดยืนนี้ก็ไม่ได้มีแค่เรื่องการเมือง แต่ยังเกี่ยวข้องกับปัจจัยอื่นๆ เช่น เวลาพิจารณาคดีข่มขืน คนที่เป็นผู้ชายก็อาจจะมองเนื้อหาคดีอีกแบบ มันเกี่ยวข้องไปหมด ทั้งสถานะ เพศ ระดับการศึกษา ฯลฯ
The MATTER: แต่เวลานี้ เหมือนคุณวิษณุจะมีบทบาทนำในการตีความข้อกฎหมายสำคัญๆ เกือบจะทุกฉบับ
ที่คุณวิษณุมีบทบาทมาก ไม่ใช่เพราะพลังการอธิบายของแก แต่เป็นเพราะพลังอำนาจทางการเมือง ซึ่งผมคิดว่าเมื่อไรก็ตามที่พลังอำนาจทางการเมืองของแกไม่อยู่ บางคำอธิบายก็อาจจะกลายเป็นไร้ค่าไปเลย
เพราะคำอธิบายทางกฎหมายที่จะมีพลังได้มันต้องมีเหตุผล มีตรรกะ ที่คนทั่วไปฟังแล้วรู้สึกว่า เออ มันเป็นแบบนั้นจริงๆ
ลองยกตัวอย่างเช่น ผมเป็นผู้ใหญ่สุดในกองทัพแห่งหนึ่ง ลูกชายไปตั้งบริษัทแล้วรับงานจากกองทัพนั้นๆ ไม่ได้เป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนเลย หรือกรณีแต่งตั้ง ส.ว. เขาไม่ได้เสนอชื่อตัวเขาเอง คนอื่นเสนอ เวลาจะลงมติ คนที่ถูกเสนอชื่อก็เดินออก
คิดว่าเหตุผลแบบนี้จะสามารถดำรงอยู่ได้ต่อไปเหรอถ้าระบอบแบบนี้มันพ้นไป แต่สาเหตุที่คำอธิบายคุณวิษณุมีคนรับไป อาจเพราะเรื่องอำนาจ แต่ไม่ได้มีพลังในตัวมันเอง เพราะถ้ามีพลังในตัวมันเอง แต่ให้คุณวิษณูไม่อยู่ในตำแหน่งสำคัญ คนก็จะเชื่ออยู่ดี เช่นการบอกว่า ‘คนเท่ากัน’ มันมีพลัง ไม่ใช่เพราะทหารเอาปืนมาจี้ แต่เพราะทำให้คนเชื่อว่าทุกคนมันควรจะเท่ากัน ต่อให้จะมีปืนมาจี้หรือไม่ก็ตาม
The MATTER: บรรดานักกฎหมายที่เชี่ยวชาญมากๆ แล้วไปตีความอย่างพลิกแพลง สร้างคุณูปการหรือสร้างปัญหาให้กับประเทศไทยมากกว่ากัน
ในช่วง 5 ปี คสช.ทำอะไรไว้หลายอย่าง แต่สิ่งที่เขาทำซึ่งร้ายแรงมาก คือการทำลายระบบกฎหมายและรัฐธรรมนูญ เพราะมันทำให้หลักการพื้นฐานหลายๆ เรื่องปี้ป่นไปเลย ทั้งเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ธรรมาภิบาล แม้แต่หลักการง่ายๆ ที่ไม่ควรจะถูกละเมิด แล้วก็ไม่มีคนในแวดวงกฎหมายเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่เลย เช่น การแต่งตั้ง ส.ว. ถ้าเปลี่ยน พล.อ.ประยุทธ์เป็นทักษิณ ทักษิณเสนอชื่อน้องตัวเองเป็น ส.ว. ถามหน่อยจะมีคนค้านไหม
ซากปรักหักพังแบบนี้ ถ้าจะบูรณะขึ้นมาใหม่มันต้องใช้เวลา ระบบกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และรัฐธรรมนูญ หลังยุค คสช. มันต้องปฏิสังขรณ์ คือสร้างขึ้นใหม่จากซากเดนที่ถล่มทลายลง มันย่อยยับเลย ระบบกฎหมายที่จะมีไว้ปกป้องคนที่เห็นต่างในสังคมไทย มันพังทลาย
The MATTER: ในแวดวงการเมืองเกิดกระแสว่าคนรุ่นใหม่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลง แล้วในแวดวงตุลาการกับนักกฎหมายมีกระแสแบบนี้ไหม
(ตอบเร็ว) ไม่มี ไม่เห็น เห็นแต่คนที่อยู่รอบนอก แต่ถามว่าจากข้างใน ผมยังไม่เห็น แต่อันนี้ตอบในฐานะคนที่อยู่นอกอำนาจตุลาการ
และที่ยังไม่เห็นเพราะกระบวนการ recruit หรือคัดคนเข้าสถาบันตุลาการ มันเป็นการคัดคนแบบเอาลูกหลานชนชั้นกลางและอำมาตย์เข้ามาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคนเหล่านั้นมีแนวโน้มจะพึงพอใจต่อสถานะที่ตัวเองเป็นอยู่ เพราะการสอบคนเข้าสถาบันตุลาการช่วงหลัง จะมีสนามสอบพิเศษที่เรียกว่าสนามจิ๋ว สนามใหญ่สำหรับพวกจบปริญญาตรี สนามเล็กสำหรับพวกจบปริญญาโทเมืองไทย และสนามจิ๋วสำหรับพวกจอบปริญญาโทเมืองนอก ซึ่งอัตราการสอบผ่าน สนามใหญ่ 0-1% คือน้อยมาก แต่สนามจิ๋ว 33% นี่คือคนที่จบปริญญาโทเมืองนอกที่มีค่าใช้จ่ายหลักล้าน คนที่จะส่งลูกไปได้ต้องเป็นชนชั้นกลางระดับบนขึ้นไป นี่คือคนที่เข้าสู่สถาบันตุลาการในรอบ 5-10 ปีที่ผ่านมา พวกที่จบนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง หรือมหาวิทยาลัยในประเทศก็ไปแย่งเข้าสนามใหญ่ ที่โอกาสได้ไม่ถึง 1%
The MATTER: แปลว่าเราหมดหวังให้สถาบันตุลาการเปลี่ยน
ถ้าเปลี่ยนจากข้างใน ผมคิดว่าไม่มีความหวัง ถ้าจะเปลี่ยนคงต้องพ่วงมากับความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ในสภาวะที่บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น คือต้องมีแรงกดดันจากข้างนอก
ถ้าหวังแรงกดดันจากข้างใน ผมคิดว่าน่าจะเป็นไปได้ยาก