ในยุคหนึ่งเด็กผู้ชายมักจะบ้ามวยปล้ำ สมัยที่เดอะร็อคยังคงเป็นนักมวยปล้ำอาชีพก่อนจะผันตัวมาเป็นนักแสดง เรามักมีนักปล้ำขวัญใจอย่าง Tripple H อันเดอร์เทกเกอร์ ไปจนถึงน้าติง นักพากย์คนดังที่เด็กๆ ในยุคหนึ่งรู้จักกันเป็นอย่างดี
ปัจจุบันไม่แน่ใจว่าเด็กผู้ชายยังดูมวยปล้ำกันอยู่รึเปล่า แต่บ้านเราเองก็มีเวทีมวยปล้ำเล็กๆ ที่จัดนักมวยปล้ำมาปล้ำหมุนเวียนกันกลางเมืองชนิดที่ให้เราได้เห็นกันอย่างใกล้ชิด ถึงแม้จะเป็นเวทีเล็กๆ นักมวยปล้ำที่มาลงปล้ำก็คละเคล้ากันไประหว่างนักมวยปล้ำที่ดูเป็นมืออาชีพและมือสมัครเล่น แต่ขนบหรือวิธีการปล้ำก็ดูจะยังคงรักษาการปล้ำอย่างที่เราคุ้นเคยในเวทีระดับโลก เรายังได้เห็นการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายธรรมะและอธรรม เห็นการแสดงเทคนิคท่วงท่าและความเจ็บปวดของนักกีฬา เห็นการละเมิดกฎของเวลา การทำร้ายกรรมการ ไปจนถึงการเล่นกับผู้ชมคนดู
กีฬามวยปล้ำถือเป็นกีฬาที่ต่างไปจากกีฬาประเภทเดียวกัน เช่น มวย หรือยูโด มวยปล้ำเป็นกีฬาที่เราดูโดยที่เข้าใจว่าส่วนหนึ่งของมวยปล้ำเป็นเรื่องของการแสดง ไม่ใช่เรื่องของเทคนิกหรือการฝึกฝนเพื่อดูผลว่าใครจะมีฝีมือมากกว่า มวยปล้ำเป็นเรื่องของเรื่องราวและลักษณะเฉพาะของนักมวยปล้ำแต่ละคนที่เราจะติดตามเอาใจช่วย หรือลุ้นให้คนๆ นั้นโดนลงโทษอย่างสาสม
ในโลกสมัยใหม่ ดูเหมือนว่านักจิตวิทยาไปจนถึงนักวิชาการจะไม่ค่อยชมชอบมวยปล้ำเท่าไหร่นักเพราะมักไปเพ่งเล็งว่ามวยปล้ำมักมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กๆ เป็นกลุ่มที่ได้รับอิทธิพลเรื่องความรุนแรงได้ง่าย ในขณะที่นักคิดเช่นโรร็อง บาตส์ (Roland Barthes) มองมวยปล้ำในมิติของวัฒนธรรมในฐานะ ‘มหรสพ’ ที่คล้ายกับการละครในอดีต การแสดงที่แสดงถึงค่านิยมสำคัญ เช่น ‘ความยุติธรรม’ ค่านิยมที่เราต่างปรารถนาจะเห็นไม่ว่าจะในยุคไหนก็ตาม
มวยปล้ำกับความรุนแรง?
งานศึกษาร่วมสมัยพยายามตอบคำถามว่าในที่สุดแล้วมวยปล้ำส่งเสริมความรุนแรงหรือไม่ งานศึกษาส่วนใหญ่ค่อนข้างมองมวยปล้ำไปจนถึงความรุนแรงในโทรทัศน์ในแง่ลบ การเก็บข้อมูลของงานศึกษามักสำรวจในเด็กวัยเรียน และผลที่พบคือ เด็กๆ ที่ดูมวยปล้ำมักเกิดอาการอยากจะปล้ำ อยากจะลองท่ากันเกิดขึ้น และหลายครั้งการ ‘เล่นกัน’ นั้นก็อาจนำไปสู่การบาดเจ็บได้บ้าง ซึ่งก็มีงานศึกษาเช่นในงานจากสาขาวิทยาศาสตร์การกีฬาที่ University of Wisconsin-Stout บอกว่าบางครั้งวิธีคิดและวิธีการเก็บข้อมูลก็อาจจะไม่ค่อยเป็นธรรมรึเปล่า ในขณะที่ตัวงานศึกษาก็ไม่มีงานขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับตัวกีฬาเองมาช่วยคัดง้าง
บ้านเราเอง จากการสัมภาษณ์ครอบครัวที่มาชมมวยปล้ำของ Gatoh Move มวยปล้ำกลายเป็นกีฬาที่ครอบครัวพากันมาดู เป็นกิจกรรมที่พ่อแม่และลูกเล็กๆ ใช้เวลาร่วมกัน ทางครอบครัวให้ความเห็นว่าไม่กังวลเรื่องความรุนแรง เพราะพยายามย้ำกับเด็กๆ ว่าเป็นเรื่องของเกมกีฬาและบางส่วนเป็นเรื่องของการแสดง ในขณะที่พฤติกรรมการลองเล่นมวยปล้ำกันเองเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอน ประเด็นเรื่องความปลอดภัยและขอบเขตของการเล่นจึงเป็นสิ่งที่ต้องควบคุมอย่างเคร่งครัด
มวยปล้ำกับความเจ็บปวดและความยุติธรรม
ในหนังสือ Mythologies ของบาตส์ บทว่าด้วยมวยปล้ำถือเป็นอีกหนึ่งบทที่โด่งดังและถูกพูดถึงบ่อยที่สุดบทหนึ่ง แม้ว่าบาตส์จะพูดถึงมวยปล้ำในช่วงทศวรรษ 1900 ในฝรั่งเศส แต่ดูเหมือนว่ามวยปล้ำจากสมัยนั้นถึงปัจจุบันก็ยังคงองค์ประกอบเดียวกันอยู่ คือมีเรื่องของการแสดง การแบ่งฝ่าย-ดีฝ่ายร้าย การแหกกฎ และการเอาคืน
บาตส์บอกว่ามวยปล้ำทำหน้าที่เหมือนเป็นมรสพ (spectacle) แบบที่การละครโบราณทำ มวยปล้ำเป็นกีฬาที่ได้เห็นความเจ็บปวด ความบิดเบี้ยวของร่างกาย และเรื่องของนักปล้ำ มวยปล้ำเต็มไปด้วยการให้ความหมายนับตั้งแต่รูปลักษณ์ ท่าทาง และพฤติกรรมของนักมวยปล้ำ นกมวยปล้ำบางคนดูเป็นตัวร้าย ชอบละเมิดกฎกติกา ไม่มีความเป็นลูกผู้ชาย
องค์ประกอบสำคัญของมวยปล้ำจึงอยู่ที่ ‘ความยุติธรรม’ บาตส์ชี้ให้เห็นว่าประเด็นเรื่องการจ่าย ‘เอาคืน’ หรือการได้รับผลของการกระทำเป็นแกนสำคัญในกีฬามวยปล้ำ คล้ายๆ ว่า บนเวทีมวยปล้ำ กฎของสังเวียนและกรรมการอาจจะไม่ศักดิ์สิทธิ์เท่าไหร่ เราเห็นกรรมการถูกทุบ เห็นนักมวยปล้ำร้ายๆ เอาเปรียบด้วยเล่ห์เพทุบายต่างๆ แต่สุดท้ายแล้วนักมวยปล้ำตัวร้ายก็มักจะได้รับการตอบแทนเอาคืนอย่างสาสม ซึ่งคนดูเองก็มักจะโห่ร้องให้มีการลงโทษอย่างสาสมเสมอ
บนพื้นที่ของการแสดงและมหรสพ มวยปล้ำในฐานะความบันเทิงกำลังสะท้อนโลกและความปรารถนาของพวกเราต่อโลกใบนี้ เราต่างเข้าใจว่าโลกเต็มไปด้วยกฎเกณฑ์และผู้คนที่ละเมิดกฏ แต่เราเองก็ยังหวังใจว่า ‘ความยุติธรรม’ นั้นยังมีอยู่จริง แม้ว่าในสังคมนี้ความยุติธรรมอาจจะหายไปแล้ว แต่การได้เห็นความยุติธรรมที่แม้จะเป็นเพียงการแสดงบนสังเวียนแค่ชั่วครู่ชั่วยาม การได้เห็นความยุติธรรมที่เป็นจริงก็ถือเป็นความพึงพอใจและความสมปรารถนาของเราอย่างหนึ่ง
มวยปล้ำจึงไม่ใช่การที่เราบริโภคความรุนแรง กล้ามเนื้อ หรือหยาดเหงื่อของนักปล้ำเท่านั้น แต่บนสังเวียนที่เรารู้ว่ามันคือการแสดงหนึ่ง อย่างน้อยๆ สังเวียนนั้นก็กำลังให้ความหมายบางอย่างที่เราปรารถนา ความหมายที่อาจจะหาได้ยากแล้วในโลกแห่งความจริง
อ้างของข้อมูลจาก
“The World of Wrestling” ใน Mythologies