นอกจากพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ยังทรงมีความสนพระราชหฤทัยในศาสตร์และศิลป์อื่นๆ ในด้านภาษาและวรรณคดีเองก็เป็นแขนงวิชาหนึ่งที่พระองค์ท่านทรงเอาพระทัยใส่ ทรงมีงานพระราชนิพนธ์หลากหลายรูปแบบ ทั้งความเรียง นิทาน ตลอดจนพระราชนิพนธ์แปลที่ทรงมีความเจนจัดในภาษาทั้งต้นทางและปลายทาง จนสามารถพระราชนิพนธ์แปลทั้งสำนวนที่เป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ทรงพระราชนิพนธ์งานเขียนไว้ตั้งแต่ครั้งเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ งานพระราชนิพนธ์ชิ้นแรกๆ ของพระองค์นั้นมีผู้ทูลขอให้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องราวต่างๆ พระราชทาน แต่ด้วยพระองค์ทรงเห็นว่าทรงไม่ได้มีความชำนาญใดๆ พอ จึงทรงพระราชนิพนธ์เป็นบันทึกเรื่องราวต่างๆ พระราชทาน คือ ‘พระราชานุกิจรัชกาลที่ 8’ และพระราชนิพนธ์เรื่อง ‘เมื่อข้าพเจ้าจากสยามสู่สวิตเซอร์แลนด์’ ต่อมาเมื่อพระองค์ทรงเห็นว่าภาษาอังกฤษได้กลายมาเป็นภาษาสำคัญ ในเวลาว่างพระองค์จะทรงพระอักษรและทรงพระราชนิพนธ์แปลบทความจากวารสารภาษาต่างประเทศ จนใน พ.ศ. 2537 ทรงแปล ‘นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ’ จาก A Man Called Intrepid งานเขียนของวิลเลียม สตีเวนสัน และในปีต่อมาทรงแปลเรื่องติโต ผลงานประพันธ์ของฟิลลิส ออติ อันเป็นชีวประวัติของนายพลติโต
พระมหาชนกเป็นพระราชนิพนธ์ชิ้นสำคัญที่ทรงค้นคว้าและแปลรวมถึงทรงทำเนื้อหาประกอบต่างๆ เช่น แผนที่ฝีพระหัตถ์ที่แสดงลักษณะภูมิศาสตร์ของเมืองโบราณ ประกอบกับข้อมูลอุตุนิยมวิทยาทิศทางลม นอกจากนี้ยังมีพระราชนิพนธ์เรื่องทองแดง สุนัขทรงเลี้ยงที่ทรงโปรดในแง่ความจงรักภักดี
พระราชานุกิจรัชกาลที่ 8
พระราชานุกิจรัชกาลที่ 8 อยู่ในหนังสือ ‘พระราชานุกิจ’ อันเป็นหนังสือที่พิมพ์พระราชทานในการพระราชกุศล 100 วัน ในงานพระบรมศพพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 พระราชานุกิจ หมายถึงกำหนดเวลาที่พระเจ้าแผ่นดินทรงประพฤติเป็นประจำทุกวันเป็นการส่วนพระองค์โดยไม่เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ในขณะนั้นยังไม่มีพระราชานุกิจในส่วนของในหลวงรัชกาลที่ 8 หม่อมเจ้าหญิงพูนพิสมัย ดิศกุล จึงกราบบังคมทูลขอในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้พระราชนิพนธ์พระราชทาน โดยทรงเล่าถึงพระจริยวัตรของในหลวงรัชกาลที่ 8 ตั้งแต่ตื่นบรรทมเรื่อยไปจนตลอดทั้งวัน
‘ตามปกติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรรทมตื่นเวลาเช้าระหว่าง 8.30 นาฬิกา นอกจากทรงมีพระราชกิจบางอย่าง เช่น เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมกรมกองทหารหรือสถานที่อื่นๆ ก็ตื่นบรรทมเวลาย่ำรุ่ง หรือก่อนย่ำรุ่ง
เมื่อสรงและแต่งพระองค์แล้ว เสด็จมายังห้องพระบรรทมสมเด็จพระอนุชาและสมเด็จพระราชชนนีก่อน แล้วจึงเสด็จเสวยเครื่องเช้าพร้อมกันที่มุขพระที่นั่งด้านหน้าเวลาราว 9.00 นาฬิกา ถึง 9.30 นาฬิกา บางวันทรงพระอักษรหรือตรัสเรื่องต่างๆ กับสมเด็จพระราชชนนี
เมื่อข้าพเจ้าจากสยามสู่สวิตเซอร์แลนด์
‘เมื่อข้าพเจ้าจากสยามสู่สวิตเซอร์แลนด์’ เป็นพระราชนิพนธ์ที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร ‘วงวรรณคดี’ ประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2490 พระราชนิพนธ์ชิ้นนี้เป็นบันทึกเรื่องราวที่พระองค์ทรงพบเจอในขณะเสด็จพระราชดำเนินกลับไปศึกษาต่อในวันที่ 19 สิงหาคม 2489 ความบางตอนแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่พระองค์ได้รับฟัง เช่น การมีพสกนิกรตะโกนว่า “ในหลวงอย่าทรงทิ้งประชาชน” ในพระราชนิพนธ์ชิ้นนี้ทรงมีพระราชปรารภว่า
“รถแล่นฝ่าฝูงคนไปได้อย่างช้าที่สุดถึงวัดเบญจมบพิตร รถแล่นเร็วขึ้นได้บ้างตามทางที่ผ่านมา ได้ยินเสียงใครคนหนึ่งขึ้นมาดังๆ ว่า ‘อย่าทิ้งประชาชน’ อยากจะร้องออกบอกเขาลงไปว่า ถ้าประชาชนไม่ ‘ทิ้ง’ ข้าพเจ้าแล้วข้าพเจ้าจะ ‘ละทิ้ง’ อย่างไรได้ แต่รถวิ่งเร็วและเลยไปไกลเสียแล้ว”
นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ
นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ เป็นพระราชนิพนธ์แปลจากเรื่อง ‘A Man Called Intrepid’ ของเซอร์วิลเลียม สตีเฟนสัน ในหลวงทรงใช้เวลาว่างในการแปลเรื่องดังกล่าวโดยใช้เวลาทั้งสิ้น 3 ปี พระราชนิพนธ์แปลเล่มนี้เล่าเรื่องราวของพวก ‘นายอินทร์’ หรือ Intrepid กลุ่มคนที่ทำสงครามในทางลับช่วงปี ค.ศ. 1939-1945 โดยหากไม่มีกลุ่มนายอินทร์นี้ ฮิตเลอร์อาจชนะสงคราม และโลกอาจไม่เป็นเช่นทุกวันนี้ก็เป็นได้
นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ เป็นเรื่องอิงประวัติศาสตร์ที่มีความสลับซับซ้อน ทั้งยังประกอบขึ้นด้วยข้อความที่เป็นทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชนิพนธ์แปลออกเป็นบทกวีตามต้นฉบับโดยใช้รูปแบบร้อยกรองอย่างไทย เช่น กลอน 6 กลอน 8 และกาพย์ยานี 11
พินิศด้วย อุเบกขา ไม่ว้าหวั่น หทัยมั่น ดุจเทพ เสพย์สวรรค์
วีรบุรุษ ต้องตาย วายชีวัน เช่นเดียวกัน กระจอกน้อย ผล็อยลงดิน
ปรมา-ณูย่อย พลอยสลาย จักรวาล ทําลาย ลงทั้งสิ้น
บัดเดี๋ยวฟอง – ลมเกิด ระเบิดบิน บัดเดี๋ยวภินท์ ภัสม์พัง ทั้งโลกา
นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ, พระราชนิพนธ์แปล หน้า 287
ติโต
ติโตเป็นพระราชนิพนธ์แปลจากหนังสือ Tito ของ Phyllis Auty โดยทรงแปลไว้ในปี พ.ศ. 2519 ตีพิมพ์เป็นเล่มออกจำหน่ายในปี พ.ศ. 2537 ติโต เป็นชีวประวัติของติโตหรือนายโยซิบ โบรซ (Josif Broz) ผู้นำที่รวบรวมยูโกสวาเกียที่ประกอบขึ้นด้วยชาติพันธุ์ต่างๆ ให้เป็นปึกแผ่น และรอดพ้นจากภัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้
“คำว่า การต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติบ้านเมือง ต้องหมายตลอดถึงเสรีภาพของชาวโครแอต สโลวีน เซิร์บ มาร์เซโดเนียน ชิปต้าร์ มุสลิม พร้อมกันหมด ต้องหมายว่าการต่อสู้จะนำมาซึ่งอิสระภาพ เสมอภาค และภารดรภาพ สำหรับทุกชนชาติในยูโกสวาเวียอย่างแท้จริง นี่คือสารัตถ์สำคัญของการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติ” ติโตกล่าวในปี 1942
ติโต, พระราชนิพนธ์แปล หน้า 62-63
พระมหาชนก
“ขอจงมีความเพียรที่บริสุทธิ์ ปัญญาที่เฉียบแหลม กําลังกายที่สมบูรณ์”
พระมหาชนกเป็นเรื่องจากทศชาติชาดก หรือ 10 พระชาติสุดท้ายก่อนจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน โดยในพระชาติของพระมหาชนกว่าด้วยการบำเพ็ญวิริยะบารมี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ทรงสนพระราชหฤทัยในเรื่องพระมหาชนก จึงทรงค้นคว้าและแปล พร้อมทั้งดัดแปลงออกจากฉบับภาษาอังกฤษเพื่อให้อ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น ทั้งยังทรงทำเนื้อหาประกอบต่างๆ เป็นแผนที่ฝีพระหัตถ์พูดถึงที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของเมืองโบราณ ข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยา ทิศทางลม พร้อมการกำหนดวันเดินทางและจุดอัปปางของเรืออับโชค โดยคาดคะเนจากข้อมูลทางโหราศาสตร์ในการประกอบข้อมูล
เรื่องทองแดง
พระราชนิพนธ์เรื่องทองแดงเล่าเรื่องราวของทองแดง สุนัขทรงเลี้ยงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โดยทรงพระราชนิพนธ์เป็นสารคดี 2 ภาษา ไทยและอังกฤษ ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ ชัย ราชวัตร วาดเป็นการ์ตูนเพื่อเผยแพร่ด้วย เรื่องทองแดงเล่าถึงทองแดง สุนัขจรจัดที่ทรงรับมาเลี้ยงไว้