เชื้อไวรัสไม่เลือกเวลา ผู้คน หรือสถานที่ในการติด แต่ในทางกลับกัน ฐานะทางสังคม วิถีชีวิต อาชีพการงาน ข้อจำกัดทางสังคมต่างๆ กลับมีส่วนอย่างมากในการกำหนดความเป็น ความตาย ตลอดจนวิธีการรับมือของผู้ได้รับเชื้อไวรัส
ยิ่งในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำซ่อนอยู่ในทุกมิติ และถ่างกว้างจนแทบฉีกอยู่แล้วอย่างสังคมไทย คำกล่าวดังกล่าวดูเหมือนจะถูกพิสูจน์แล้วว่ามีความจริง อย่างไม่ผิดเพี้ยนไปมากนัก
ภาพการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในชุมชนคลองเตย กำลังสะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในทุกด้านและทุกมิติของสังคมไทย จนทำให้การควบคุม ดูแล และเยียวยาโรคภายในชุมชนเป็นสิ่งที่ทำได้อย่างจำกัดจำเขี่ยและไม่เต็มประสิทธิภาพ
ซึ่งนานาสาเหตุที่ทำให้การควบคุมโรคของพวกเขาไม่ง่ายเหมือนเช่นที่ใครหวังไว้ รวบความเป็นคำง่ายๆ ได้ว่า ‘ยากจน’ เท่านั้นเอง..
สถานการณ์ในชุมชนคลองเตย
จากข้อมูลของสำนักงานเขตคลองเตย พื้นที่เขตคลองเตยประกอบไปด้วยชุมชนทั้งหมด 39 ชุมชน แบ่งเป็นพื้นที่ชุมชนแออัด 21 ชุมชน มีประชากรรวมทั้งหมด 88,673 คน และมีพื้นที่ทั้งหมด 881.93 ไร่
ขณะที่สถานการณ์ล่าสุด (4 พฤษภาคม) มีการรายงานว่าพื้นที่ชุมชุนคลองเตยเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 โดยถึงขณะนี้มีผลยืนยันว่าพบผู้ติดเชื้อสะสมแล้ว 304 ราย และเสี่ยงสูงอีกนับพันราย
ทางด้าน พล.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่า กทม. เผยผ่านเฟซบุ๊กว่า ขณะนี้ได้จัดให้มีการตรวจเชิงรุกในพื้นที่ 1,000 รายต่อวัน และเตรียมจัดหาวัคซีนจำนวน 50,000 โดสเพื่อฉีดให้กับประชากรเสี่ยงสูงในพื้นที่ พร้อมประกาศผ่านสื่อว่า กทม. อยู่ในกระบวนการจัดหายาฟาวิฟิราเวียร์เพิ่มจำนวน 600,000 เม็ด และเตรียมแจกให้ผู้ป่วยทุกคนคนละ 50 เม็ด เพื่อกันไม่ให้เชื้อลงปอด
ก่อนผู้ว่า กทม. จะทิ้งวลีเด็ดสร้างความเชื่อมั่นให้คนในพื้นที่ว่า “ไม่เกิน 14 วัน จะตัดวงจร Cluster คลองเตยได้แน่นอน แต่ประชาชนต้องช่วยกัน”
บ้านหลังน้อย คนอาศัยเยอะ
ขณะที่มีข่าวว่าคนมีเงินหนีการระบาดของไวรัสจากเมืองกรุง ไปเปิดห้องสวีทริมหาด ด้านชาวชุมชนคลองเตยคงได้แต่นั่งมองตาปริบๆ สวมหน้ากาก หมั่นใช้เจลล์ล้างมือ และระมัดระวังตัวท่าที่ทำได้ภายใต้ข้อจำกัดนับประการ
สิทธิชาติ อังคสิทธิศิริ ประธานชุมชนคลองเตยล็อค 1- 2-3 เล่าถึงสภาพที่อยู่อาศัยของชาวชุมชนคลองเตย ภายในบ้านหลังน้อย พวกเขาต้องอยู่ร่วมกันชนิดหัวชนหัวและขานอนก่าย ซึ่งทำให้การแพร่เชื้อภายในบ้านเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงได้ยาก
“สภาพชุมชนเราแออัด ไม่เหมาะกับการกักตัวในบ้าน รอบแรกให้กักตัวในรถ รอบนี้ให้กักตัวในบ้าน สุดท้ายติดกันทั้งบ้าน ชุมชนเราไม่เหมือนเมืองข้างนอก มันไม่มีห้องส่วนตัว ไม่มีรั้วรอบขอบชิด ชุมชนเราเนี่ยบ้านหลังเล็กๆ อยู่กัน 4-5 คน บางหลังขนาด 3×2 เมตรอยู่กันตั้ง 3-4 คน และจะให้กักตัวอย่างไร ห้องน้ำก็ใช้ร่วมกัน”
โดยก่อนหน้านี้ที่มีข่าวว่าชายคนหนึ่งหลังรู้ว่าตนเป็นผู้ติดเชื้อ COVID-19 เลือกกักตัวเองอยู่ในรถยนต์ส่วนตัว เพราะกลัวว่าจะนำเชื้อไปติดภรรยาและลูกซึ่งอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน ก็เป็นลูกบ้านในชุมชนคลองเตยล็อค 1-2-3 ของเขาเช่นกัน
“ผมว่าทุกคนหวาดผวากันหมด มันเหมือนอยู่แบบไม่มีเป้าหมายว่าภาครัฐจะเข้ามาตรวจเมื่อไร มาแล้วจะได้ตรวจหรือเปล่า วันนี้ได้คิว 200 คน แย่งคิวแปปเดียวก็หมด ถ้าประกาศว่าใครเสี่ยง ทุกคนเขาก็เสี่ยงกันหมด ผมเข้าใจความรู้สึกของชาวชุมชนนะครับ มันเสี่ยงหมดทุกคน”
ภายในชุมชนคลองเตยล็อค 1-2-3 มีสภาพเป็นชุมชนแออัด โดยมีประชากร 8,325 คนเป็นอย่างน้อย ในพื้นที่ 41.5 ไร่ โดยสิทธิชาติเขาเล่าถึงสถานการณ์ภายในชุมชนตอนนี้ว่า จนถึงเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา ภายในชุมชนของเขาได้รับโควตาการตรวจไปทั้งหมด 280 คน มีผู้ติดเชื้อไปแล้ว 11 ราย และน่าจะอีกมาที่ยังไม่แสดงอาการและอยู่ในสถานะผู้ติดเชื้อแอบแฝง
อยู่บ้าน หยุดเชื้อ หิวตาย
ขณะที่ภาครัฐมีนโยบายให้อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ รณรงค์ให้บริษัทเอกชนและหน่วยงานของรัฐ หันมาใช้ระบบการทำงานจากบ้าน หรือ Work From Home รวมถึงคำเสนอเชิงบังคับจากหน่วยงานภาครัฐให้ผู้ที่เสี่ยงต่อการติดโรค กักตัวดูอาการตัวเอง 14 วัน โดยปราศจากมาตรการเยียวยา ซึ่งในความเป็นจริงของพื้นที่คลองเตย วิถีชีวิตพวกเขาซับซ้อนและการทำงานที่บ้านไม่ใช่เรื่องง่าย จนเรียกได้ว่าเป็นไปไม่ได้เลย
“พี่เชื่อว่าคนในชุมชนคลองเตยเกินกว่า 60-70 เปอร์เซนต์ เป็นคนหาเช้ากินค่ำ กินรายวัน รับจ้างรายวัน เพราะฉะนั้น ถ้าหยุดงานเขาเดือดร้อนแน่ๆ ไม่เหมือนคนที่กักตัวทำงานจากที่บ้าน ถึงไม่ได้ออกไปไหน ก็ยังมีเงินเดือนจ่ายเข้ามา ดังนั้น ถ้าจะให้เขากักตัวโดยไม่ช่วยอะไรเขาเลย มันเป็นไปไม่ได้”
เพ็ญวดี แสงจันทร์ ผู้อำนวยการมูลนิธิดวงประทีป เล่าถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคลองเตยว่า พวกเขาส่วนมากไม่ใช่พนักงานประจำ รายได้ของพวกเขาเป็นแบบวันต่อวัน ไม่มีหลักประกันอะไร ฉะนั้นถ้าวันใดที่พวกเขาไม่ไปทำงาน ย่อมหมายถึงไม่มีรายรับ และเมื่อไม่มีรายรับก็เท่ากับไม่มีอาหารตกถึงท้อง
และยิ่งในสภาพเศรษฐกิจถดถอย การงานหายากกว่างมเข็มในมหาสมุทร ปัญหายิ่งซับซ้อนมากขึ้น เพราะบางคนเลือกที่จะไม่บอกใครว่าตัวเองติดเชื้อ ยอมเอาชีวิตเข้าแลก มากกว่าให้ตัวเองตกงาน จนความหิวโหยกัดกินครอบครัว
“ตอนนี้ชาวบ้านต้องรับศึก แต่ปัญหาคือถ้าต้องรับศึกไปถึง 7-14 วัน จะกักเขาไม่อยู่แล้ว เพราะเขาต้องทำมาหากิน ดังนั้น พี่กลัวว่าคนที่ยังไม่ตรวจจะไม่ยอมตรวจแล้ว เพราะกลัวว่าเดี๋ยวป่วยแล้วจะตกงาน ทำมาหากินไม่ได้ ซึ่งยิ่งหนักเลย เพราะจะแพร่เชื้อ
“มีสายนึงโทรมาและบอกว่าสามีเขาติดเชื้อ เขาจะขอมาอยู่ที่วัดสะพาน (ศูนย์พักพิงก่อนส่งตัวผู้ป่วยในพื้นที่) แต่จะไม่ไปโรงพยาบาล เพราะกลัวว่าสามีจะถูกไล่ออกจากงาน เขากินค่าแรงรายวัน บ้านที่พักก็อยู่กับนายจ้าง และเพิ่งได้งานไม่นาน พอเราคุยว่าอย่างไรก็ต้องส่งตัว เขาวางสายหนีไปเลย”
ประธานมูลนิธิดวงประทีปกล่าวว่า ทางทีมงานในชุมชนคลองเตยกำลังพยายามผลักดันให้ภาครัฐจ่ายเงินช่วยเหลือสำหรับผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพราะสำหรับคนกลุ่มนี้ การติดเชื้อรอบนึงอาจหมายถึงชีวิตที่ตกลงไปในเหวลึกกว่าเดิม
“ตอนนี้เรากำลังจะเรียกร้องกับภาครัฐว่า คุณต้องมาช่วยเรื่องเงินเยียวยา เพราะหนึ่งอย่างไรเขาก็ต้องออกไปทำงานหาเงิน สองมีคนอีกกลุ่มที่ไม่บอกเราเลยว่าเขาติดเชื้อหรือไม่ เพราะกลัวตกงาน เลยพยายามจะรักษาตัวเอง ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็เสี่ยงต่อการแพร่ได้”
แต่คงจำกันได้ เมื่อช่วงต้นปี 2564 ที่ผ่านมา นพ.ทวีสิน วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. เคยพูดถึงเรื่องการเยียวยาไว้ว่า
“เมื่อใดก็ตามที่ ศบค. ประกาศว่าเป็นการล็อคดาวน์ นั่นหมายความว่า คำสั่งนี้ทำให้กระทบต่อปัญหาทางเศรษฐกิจ การหารายได้ของทุกท่าน และต้องมีการเยียวยา ซึ่งเป็นภาระของภาษีเงินของคนทั้งประเทศ”
แปลความอย่างเอาเนื้อล้วนๆ ได้ว่า ตราบใดที่ไม่มีประกาศล็อคดาวน์ จะไม่มีการจ่ายเงินเยียวยาให้กับประชาชน
ภาครัฐยิ่งเชื่องช้า ยิ่งซ้ำเติมคนยากจน
มาเรียม ป้อมดี ประธานชุมชนพัฒนาใหม่ ในพื้นที่ชุมชนคลองเตย เล่าให้ฟังว่า ภายในชุมชนของเธอขณะนี้ลูกบ้านได้รับการตรวจหาเชื้อแล้วทั้งหมด 450 ราย และมีผู้ติดเชื้อ 11 ราย โดยก่อนหน้าที่จะมีภาคประชาสังคมและภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือเหมือนตอนนี้ เธอเล่าว่า
“เชื่อไหม ช่วงแรกไม่มีใครยอมมารับเคสผู้ป่วย ต้องทิ้งไว้ตั้ง 5 วัน เราติดต่อไป 1668 อะไรต่อมิอะไร แต่ขอโทษนะ ไม่รับเราสักเบอร์ วันนั้นเรานั่งร้องไห้เลย ไม่มีใครมาช่วยเหลือลูกบ้านเราเลย เราก็เลยโทรหาคุณต่าย (สุชัย พงษ์เพียรชอบ เป็นที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม.) นั่นแหละถึงมีการประสานเข้ามาช่วยเหลือ แต่ทีแรกเราบอกเลยว่าเราน้ำตาตกใน”
มาเรียมเล่าต่อว่า แม้จะเริ่มมีการช่วยเหลือจากหลายภาคส่วน แต่เธอและทีมงานยังต้องรับผิดชอบในงานบางส่วน อาทิ การทำความสะอาดที่อยู่อาศัยของผู้ป่วยหลังถูกรับตัวไป ซึ่งต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงต่อชีวิตและค่าใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์ต่างๆ
“ตอนนี้เราขาดหน้ากากผ้า ถุงมือยาง และเราอยากได้ชุดเวลาส่งผู้ป่วยมาก เพราะตอนนี้เวลาผู้ป่วยออกจากบ้าน เราและทีมงานก็ไปพ่นแอลกอฮอล์ทำความสะอาดที่บ้าน ผู้ป่วยออกตรงนี้ เราก็พ่นตรงนี้ ตอนนี้เราใช้เสื้อกันฝนนะคะ แต่จะหมดอยู่แล้ว เพราะใช้ส่งเคสนึงก็ต้องทิ้งและ อีกเคสก็ต้องทิ้งและ”
ทางด้านชุมชนคลองเตยล็อค 1-2-3 เองก็ต้องทำหน้าที่เช่นเดียวกัน โดยประธานชุมชนเล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะมีความช่วยเหลือจากภาคประชาสังคม พวกเขาต้องลงขันออกเงินกันเอง เพื่อซื้ออุปกรณ์สำหรับกำจัดเชื้อโรคภายในบ้านของผู้ป่วย รวมถึงต้องสำรองเงินจ่ายค่าของอุปโภค บริโภคให้แก่ผู้กักตัวก่อน เพื่อต่อชีวิตให้กับเพื่อนในชุมชน
“ส่วนมากจะเป็นเงินส่วนตัวของผม มีเงินของเพื่อนฝูงมาช่วยกันบ้าง แต่พักหลังพอเป็นข่าวเริ่มมีคนนำข้าวสาร อาหารแห้งมาบริจาค ทางมูลนิธิหรือผู้ใหญ่ใจดีก็นำข้าว ถุงยังชีพ มาให้ มันก็ลดต้นทุนไปได้ แต่ของบางอย่าง เช่น แพมเพิร์ส นม มันก็ต้องใช้เงินส่วนตัวเพราะไม่มีคนบริจาค”
“ผมอยากให้ช่วยเรื่องข้าวสาร อาหารแห้ง ของอุปโภค บริโภค ของใช้จำเป็นให้กับผู้ที่กักตัว เพราะตอนนี้ถ้าสมมุติติด 1 คน ก็ต้องกักตัวอีก 4-5 คน มันก็ต้องมีของจำเป็นต้องใช้ทุกวัน นอกจากนี้ก็พวกอุปกรณ์ ชุดป้องกัน น้ำยา ให้กับทีมที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือคนในชุมชน ซึ่งถ้าทีมนี้ติดไม่ต้องกลัวเลยว่าใครจะมาทำงาน และอาจจะไปแพร่ให้คนอื่นอีกก็ได้ ”
วัคซีนต้านโรคร้ายแรงที่สุด
ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง เราก็ได้แต่หวังว่าการแพร่ระบาดในชุมชนคลองเคยจะจบลงอย่างรวดเร็วที่สุด เหมือนที่ พล.อ.อัศวิน ขวัญเมืองผู้ว่า กทม. ให้คำมั่นไว้ และหวังอีกว่าชุมชนแออัดอื่นๆ อีก 642 ชุมชนในกรุงเทพฯ จะไม่ได้มีโอกาสเผชิญสภาพเช่นเดียวกับชุมชนคลองเตย
แต่หากพูดกันไปไกลกว่านั้น การหยุดการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในชุมชนคลองเตยเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น เพราะตราบใดที่ยังไม่มีการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพอย่างกว้างขวางและทั่วถึง ชุมชนแออัดอื่นๆ อีก 642 ชุมชนในกรุงเทพฯ ก็ยังอยู่ในสถานะเสี่ยงและอาจลงเอยไม่ต่างจากชุมชนคลองเตย
และนอกจากวัคซีนกำจัดโรคร้ายอย่าง COVID-19 แล้ว สังคมไทยน่าจะต้องการวัคซีนอีกชนิดสำหรับรื้อร้างระบบโครงสร้างสังคม เศรษฐกิจ และกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เพื่อสร้างบันไดทางโอกาสต่อเติมส่วนสูงให้คนยากจนมีเท่าเทียมคนฐานะอื่นในสังคม เพื่อหลุดพ้นจากความยากจนและอิหลักอิเหลื่อทุกด้านของชีวิต
ซึ่งสารตั้งต้นวัคซีนที่ว่านั่น ไม่ใช่อะไรอื่นไกลชนิดต้องข้ามทะเลไปเจรจาเลย เพราะมันคือข้อเรียกร้องจากทั่วทุกสารทิศในสังคมไทยต่อ ‘รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน’
FACT BOX:
สำหรับผู้ที่อยากให้ความช่วยเหลือชุมชนคลองเคย อาทิ เข้าไปบริจาคข้าวของเครื่องใช้จำเป็น สามารถติดต่อมูลนิธิดวงประทีป หรือเพจคลองเตยดีจัง
มูลนิธิดวงประทีป: 0-2671-4045-8 หรือผ่านเพจเฟซบุ๊ก ‘มูลนิธิดวงประทีป’
คลองเตยดีจัง: 06-3446-9545 หรือเฟซบุ๊ก ‘คลองเตยดีจัง’
ปล: หากติดต่อผ่านมูลนิธิดวงประทีป โปรดโทรไปก่อนเข้าบริจาค เพราะทางมูลนิธิไม่มีที่เก็บข้าวของบริจาคเป็นกิจลักษณะ จึงเกรงว่าจะทำให้ของบริจาคเสียหาย
อ้างอิง:
https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E/146028
ข้อมูลชุมชนคลองเตย สำนักงานเขตคลองเตย
https://www.khaosod.co.th/covid-19/news_5660116
https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2082658