226,284 รายคือจำนวนแรงงานลาวที่ทำงานในไทยในเดือนตุลาคม พ.ศ.2566 มองเผินๆ อาจดูไม่น่าตกใจนักเมื่อเทียบกับประชากรไทย แต่ถ้าเทียบกับประชากรลาวที่ 7.57 ล้านคน ตัวเลขนี้บอกว่าทุกคนลาว 100 คน จะมีเกือบ 3 คน (2.99 คน) ที่จะเข้ามาทำงานในไทย
ขึ้นต้นมาแบบนี้ไม่ใช่คนไทยควรกลัวว่าจะถูกแย่งงาน เพราะเรามีตัวเลขการว่างงานในอัตราที่ต่ำมาก (ถ้ายึดตามข้อมูลรัฐ) และงานที่คนลาวเข้ามาทำมักไม่ใช่งานที่คนไทยอยากทำเสียเท่าไหร่
คำถามคือ ทำไมหลายคนถึงอยากมาทำงานที่ประเทศไทย?
“ถ้าทำงานที่ลาว เราได้ค่าแรงแค่ 1,200,000 – 1,800,000 กรีบ/ เดือน (ประมาณ 2,000 – 3,000 บาท/ เดือน) ยังมีค่าเดินทาง ค่าน้ำ ค่าไฟอีก มันใช้จ่ายไม่พอ” น้ำฟ้า (นามสมมติ) แม่เลี้ยงเดี่ยววัย 28 ปีที่เราพบในกลุ่ม ‘คนลาวหางานในไทย’ เล่าให้เราฟังทางโทรศัพท์
ลาวกำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจในระดับที่สาหัส หนี้สาธารณะของลาวสูงถึง 122% ของ GDP อยู่ในระดับที่ World Bank เรียกว่า ‘วิกฤต’ เงินภาษีที่เอาไปลงทุนในเมกะโปรเจ็กต์แบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อมเมืองคุนหมิงในประเทศจีน กับเมืองเวียงจันทน์ในลาว และนโยบายแบตเตอรี่แห่งเอเชียก็ดูเหมือนจะไม่เวิร์ค เงินเฝ้อระดับเห็นแล้วตาลาย และค่าเงินบาทที่อ่อนยวบเยียบจนฟอร์บบอกไว้เมื่อเดือนมิถุนายนว่าต่ำเตี้ยเป็นอันดับ 4 ของโลก
ในความเปราะบางและไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ คนลาวมีชีวิตอยู่กันอย่างไรและทำไมเมืองไทยถึงกลายเป็นเป้าหมายของพวกเขา
คนลาวในลาว
น้ำฟ้าอาศัยอยู่กับพี่สาวและลูกชายวัย 8 ขวบในกรุงเวียงจันทน์ของลาว เธอเคยผ่านงานมาหลากหลายทั้งพนักงานเสิร์ฟตามร้านอาหาร, ร้านขายเสื้อผ้า และเคยลงทุนในธุรกิจเครื่องสำอาง แต่ล้มเหลว
น้ำฟ้าเล่าว่าค่าครองชีพที่ลาวใกล้เคียงกับเมืองไทย ข้าวจานหนึ่งตกอยู่ประมาณ 50 – 60 บาท ค่าไฟเดือนละ 200 บาท ส่วนค่าที่พักอาศัยเป็นโชคดี เพราะเธออาศัยอยู่ในบ้านที่เป็นมรดกตกทอดจากตาและยาย
“ทุกวันนี้ใช้เงินประมาณ 4,000 – 5,000 บาท/เดือน ข้าวเปล่าจานนึงประมาณ 20 บาท แต่ถ้าจะกินอิ่มมื้อนึงประมาณ 100 กว่าบาท เท่าๆ กับไทยเลย” น้ำฟ้าพูดด้วยเสียงเบาหวิว “เราต้องประหยัด ถ้าเงินไม่พอก็ต้องไปเก็บผัก หาปูหาปลาในไร่กินไปวันๆ”
ลาวเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงที่สุดในโลก รายงานจาก World Bank เมื่อเดือนกันยายนระบุว่าอัตราเงินเฟ้อในลาวสูงขึ้น 36% เทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่ 54% ของครัวเรือนยังมีรายได้เท่าเดิมหรือลดลง
สาเหตุที่ลาวเผชิญเงินเฟ้อรุนแรงขนาดนี้ ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ โดยเฉพาะความขัดแย้ง รัสเซีย-ยูเครน ที่ปั่นป่วนราคาพลังงานจนทำให้ลาวเผชิญปัญหาขาดแคลนพลังงานในปี 2022 แต่อีกปัจจัยที่สำคัญมากคือ ความอ่อนแอของค่าเงินลาวที่ทำให้การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมีราคาทะยานขึ้น (ข้อมูลวันที่ 28 พ.ย. เวลา 21.54 น เงิน 1 ดอลลาร์มีค่าเท่ากับ 20,664 กีบ)
อาจพูดได้ว่าน้ำฟ้า เป็นภาพสะท้อนคุณภาพชีวิตของชนชั้นแรงงานในลาว ทำงานหนักแต่เงินเดือนไม่พอ ชักหน้าถึงหลัง น้อยเกินกว่าจะฝันถึงความรื่นรมย์ด้วยการท่องเที่ยวพักผ่อน
“มันไม่ค่อยได้ไปเที่ยวไหนหรอก เงินมันไม่พอ ใช้จ่ายก็ไม่พอแล้ว ในลาวแพงทุกอย่างอยู่ที่ไหนก็แพง” เธอพูด
ความหวังหนึ่งเดียวของน้ำฟ้าตอนนี้คือโอกาสเข้ามาทำงานในไทย เมืองที่เธอเชื่อว่า “ที่น่าเที่ยวเยอะและอาหารอร่อย” เต็มไปด้วยโอกาสในชีวิต เช่นเดียวกับเพื่อนของเธอที่ได้แต่งงานกับคนไทย
“ทำงานอะไรก็ได้ ล้างจานก็ได้ แค่ขอให้มีเงินไปเลี้ยงครอบครัว” เธอคาดหวังรายได้เท่าไหร่ เราถามเธอ “แล้วแต่นายจ้างจะจ้าง เท่าไหร่ทำได้ งานหนักงานเบา เราไม่ทิ้งงาน”
สุดปลายทางที่เธอฝันไว้ น้ำฟ้าอยากเปิดร้านเสริมสวยในประเทศไทย และถ้าเป็นไปได้ เธออยากให้ลูกชายย้ายมาอยู่และมาเรียนที่เมืองไทย เพื่อให้เธอหมดห่วงและให้ทั้งคู่ได้มีเวลาอยู่ด้วยกัน
ตอนนี้ น้ำฟ้ายังคงติดตามโพสต์หางานในกลุ่มเฟซบุ๊กอยู่ตลอด รอคอยโอกาสที่จะได้เข้ามาทำงานในประเทศไทย
คนลาวในไทย
สำหรับคนลาว การมาทำงานในไทยเป็นทั้งโอกาส ความยากลำบาก และความสูญเสียในเวลาเดียวกัน
พี่แววพนักงงานเสิร์ฟร้านอาหารเวียดนามอายุ 30 ปีเล่าให้ฟังว่า เธอเข้ามาทำงานในไทยครั้งแรกตอนอายุ 14 ปี ตอนนั้นแม่ของเธอบอกให้เธอเลิกเรียนหนังสือ ไปทำงานที่ไทย และส่งเงินกลับมาให้ที่บ้านซึ่งมีอาชีพเป็นชาวนา เธอเก็บกระเป๋าแล้วเข้ามาทำงานในโรงงานแถวมหาชัย ก่อนปลิวไปตามแรงลม สมัครเป็นแม่บ้านแถวย่านบางแค ดูแลผู้สูงอายุแถวคลองเตย ขายก๋วยเตี๋ยว เสื้อผ้า ก่อนมาจบที่ร้านอาหารเวียดนามแห่งหนึ่งย่านห้วยขวาง
“พี่เข้าเมืองไทยตั้งแต่อายุ 14 ปี ตอนนี้อยู่มา 16 ปีแล้ว อยู่เมืองไทยนานๆ ทีถึงกลับบ้าน อยู่ที่นู้นมันหางานไม่ยากหรอก แต่ค่าแรงขั้นต่ำมันน้อยไม่พอกิน ได้ประมาณ 3,000 บาทต่อเดือนเท่านั้นเอง ตอนนี้พี่ก็ไม่มีเพื่อนที่นู้นเลย เพราะเพื่อนรุ่นเดียวกันเข้ามาทำงานที่นี่กันหมด” พี่แววเล่าให้เราฟัง
ทุกวันนี้พี่แววอาศัยอยู่สามีคนลาวที่มีอาชีพคนขับรถ ทั้งคู่มีลูกชาย 1 คนที่อาศัยอยู่ที่ลาวกับพ่อ และแม่ของเธอ เธอเล่าว่าเธอส่งเงินกลับบ้าน 4,000 – 7,000 บาทต่อเดือน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของลูกและพ่อแม่ ทำให้เงินเดือนที่ไม่มากมายนักอยู่แล้วจัดสรรยากลำบากขึ้นไปอีกในย่านใจกลางกรุงเทพฯ
“พี่ใช้เยอะ จ่ายเยอะกว่าเงินที่ได้มา ถ้าเงินไม่พอก็ต้องเบิกกินก่อน ส่งกลับบ้านเต็มที่ก็ 4,000 – 7,000 บาท/ เดือน ถ้าส่งเยอะกว่านี้อไม่ไหว อยู่เมืองไทยต้องกิน ต้องใช้ ต้องจ่ายค่าเช่า” พี่แววเล่า
สภาพเศรษฐกิจในเมืองใหญ่บีบรัดทางเลือกพี่แววให้ส่งลูกวัย 5 ขวบกลับไปอยู่กับพ่อและแม่ที่ลาว เธอห่วงว่าถ้าลูกยังอยู่ที่ไทย ต้องมีหนึ่งในสองคนลาออกจากงาน และทำให้รายได้ของครอบครัวลดลงจนไม่พอใช้
“คิดถึงลูกมาก นานๆ ที 2-3 ปีจะได้กลับไปหาเขาสักครั้ง ตอนนี้เขา 5 ขวบแล้ว เราต้องหาเงินส่งให้เขาทำพาสปอร์ต เขาจะได้มาเที่ยวที่นี่และพอโตเป็นหนุ่มจะได้มาทำงานที่ไทย” พี่แววพูดถึงอนาคตของลูก
พี่แววไม่ใช่คนลาวคนเดียวที่มีงานทำ และลงหลักปักฐานมั่นคงในไทย เพชรพวิไล นามมะวงศ์ หรือป้าติ๊ก แม่บ้านประจำคอนโดแห่งหนึ่งวัย 52 ปีก็ยอมรับว่า เธอเข้ามาทำงานในไทยได้ 10 กว่าปีแล้ว เพราะงานที่ลาวนั้นได้เงินน้อยเมื่อเทียบกับที่ไทย เธอยกตัวอย่างน้องสาวที่เป็นครูและได้เงินเดือน 3,000 บาท/ เท่านั้น แถมบางครั้งยังออกล่าช้ากว่าปกติไปหลายเดือน
“ทำงานร้านอาหารที่ลาวได้ 3,000 – 4,000 บาทต่อเดือน แต่มาเป็นแม่บ้านที่ไทยได้เป็น 10,000 บาทต่อเดือน รายได้มันดีกว่าเยอะ” ป้าติ๊กเล่า
นอกจากงานที่ไทยจะทำให้เธอลืมตาอ้าปากได้ ส่วนหนึ่งยังถูกใช้ส่งกลับบ้าน 1,000 – 2,000 บาทต่อเดือน และอีกส่วนสำหรับเสียลูกชายคนสุดท้องให้เรียนวิชาแพทย์ ซึ่งเธอเล่าว่าอีก 2 ปีลูกชายก็จะเรียบจบและเป็นหมอเต็มตัวแล้ว
แล้วเธอมีแผนจะกลับไปอยู่ที่ลาวไหม? ป้าติ๊กส่ายหน้าแล้วหัวเราะ ก่อนพูดว่าตอนนี้เธอมีสามีเป็นคนไทยและคงไม่กลับไปลาวอีกแล้ว
ลาวมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
องค์กรการเงินระดับประเทศกำลังจับตาดูวิกฤติเศรษฐกิจในลาว และเอามือประสานกันที่หน้าอก ขอร้องไม่ให้เศรษฐกิจลาวล่มสลายตามศรีลังกาไป
หนี้สาธารณะในลาวเพิ่มขึ้นมากจาก 2 โครงการเมกะโปรเจ็กต์ หนี้ก้อนแรกเกิดขึ้นในปี 2013 เมื่อจีนให้ลาวกู้เงิน 1.9 พันล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางราง สำหรับรถไฟเชื่อมเมืองคุนหมิงกับเวียงจันทน์ ซึ่งรัฐบาลลาวมองว่าเป็นโอกาสที่จะเปลี่ยนจากประเทศแลนด์ล็อก (ไม่มีทางออกสู่ทะเล) สู่แลนด์ลิงก์เปลี่ยนลาวเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค
แต่เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทางการลาวออกมายอมรับว่า “ประเทศลาวยังไม่มีปริมาณสินค้าที่เพียงพอที่จะส่งออก (สู่จีน)” ทำให้ทางรถไฟสายนี้ถูกใช้ส่งสินค้าทางเดียวจากจีนเข้าสู่ลาวคล้ายเปิดตลาดใหม่ให้สินค้าจีนเสียมากกว่า แต่ก็ไม่ใช่แย่ไปเสียหมด เพราะขบวนรถไฟคันเดียวกันนี้ก็ขนนักท่องเที่ยวจากจีนเข้ามาสู่ลาวเช่นกัน
(The MATTER เคยทำคลิปรีวิว ‘รถไฟลาว-จีน’ จากหลวงพระบางสู่เวียงจันทน์ เข้าไปดูได้ที่: https://www.youtube.com/watch?v=yaJX9SrrcB4)
หนี้ก้อนใหญ่อีกก้อนมาจากนโยบายแบตเตอรี่แห่งเอเชีย ซึ่งถูกตั้งคำถามว่า เป็นการทำลายสายน้ำเพื่อแลกกับก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำตามแนวแม่น้ำโขงให้ผลตรงข้าม เพราะปริมาณโรงไฟฟ้าที่สวนทางกับความต้องการ ทำให้ลาวต้องแบกรับหนี้ 5 พันล้านดอลลาร์ และต้องยอมกินน้ำใต้ศอกเมื่อในปี 2021 บริษัทผลิตไฟฟ้าประจำชาติลาวต้องยอมขายสัมปทานกว่าครึ่งในการผลิตและส่งออกไฟฟ้านาน 25 ปีให้กับบริษัทจีน
ไม่ผิดสักนิดเลย ถ้าจะเป็นการบอกว่าลาวเสียทั้งขึ้นทั้งล่อง ทั้งพลาดโอกาสในการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดแถมยังสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขง ผืนน้ำที่ดูแลพันธุ์สัตว์น้ำอย่างน้อย 1,148 สปีชีส์ และมอบชีวิตให้ผู้คนตั้งแต่ทิเบตจนถึงภาคใต้สุดของเวียดนาม
แม้ IMF ประเมินว่าลาวจะมีหนี้สาธารณะสูงกว่า 100% ไปอีกอย่างน้อย 7 ปีข้างหน้า แต่ในมุมของนักวิเคราะห์หลายคนรวมถึง Mariza Cooray นักเศรษฐศาสตร์ของศูนย์พัฒนาอินโดแปซิฟิกเชื่อว่า เศรษฐกิจลาวจะไม่ล่มสลาย เพราะเจ้าหนี้รายใหญ่อย่างจีนไม่ต้องการให้เกิดภาพแบบนั้นขึ้น
“จีนไม่ต้องการให้ทุกประเทศที่เข้าร่วมโครงการ 1 Belt 1 Road เห็นความสูญเสียใดๆ” เธอกล่าวต่อ “มันคือเป้าหมายอันดับหนึ่งของจีน และมันเป็นเหตุผลว่าทำไมจีนอยากเจรจาเรื่องหนี้โดยตรงกับประเทศลูกหนี้”
Cooray กล่าวว่าลาวต้องเปลี่ยน ‘ปรัชญา’ ในการคิดเรื่องเศรษฐกิจทั้งหมด เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้เหมือน ‘ขุดหลุมฝังตัวเองลึกลงไปเรื่อยๆ’
การเมืองลาวและความกลัว
ไม่มีใครยอมตอบ เมื่อผมถามถึงปัญหาการเมืองในลาว…หนึ่งในนั้นบอกผมว่าเขา “กลัว”
ถึงแม้ประเทศลาวจะมีการเลือกตั้งทุก 5 ปี โดยให้ประชาชนในประเทศเลือกผู้แทน 1 คนในพื้นที่ตัวเองเข้าไปในสภาแห่งชาติเพื่อโหวตและตรวจสอบนายกฯ อย่างไรก็ตาม ลาวถูกวิพากษ์วิจารณ์เสมอไปว่าไร้ซึ่งสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและไม่มีประชาธิปไตย
Freedom House ให้คะแนนเสรีภาพในลาวไว้ที่ 13/ 100 คะแนน จัดอยู่ในกลุ่มประเทศไร้เสรีภาพ เพราะพรรคประชาชนลาวปฏิวัติครอบงำการเมืองแต่เพียงพรรคเดียวไม่มีคู่แข่ง กดขี่เสรีภาพประชาชน และปิดปากสื่อมวลชน โดยมีหลายกรณีที่สะท้อนความรุนแรงทางการเมืองลาวได้ชัดเจน เช่น การอุ้มหาย สมบัด สมพอน นักเคลื่อนไหวรางวัลแมกไซไซเมื่อปี 2012, การลอบสังหาร แจ็ค- อนุซา หลวงสุพม นักเคลื่อนไหวที่ถูกยิงกลางกรุงเวียงจันทน์เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา หรือ การลี้ภัยไปฝรั่งเศสของ โจเซฟ อัคระวง
พูดได้ว่าภาพความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในลาว ไม่ต่างจากกรณีการอุ้มหายที่เกิดขึ้นในไทยมากนัก และอาจพูดได้ว่ารุนแรงและโฉ่งฉ่างกว่าด้วยซ้ำ
‘อำนาจมักจะฉ้อฉล และดังนั้น อำนาจเบ็ดเสร็จก็จะฉ้อฉลอย่างเบ็ดเสร็จไปด้วย (Power tends to and absolute power corrupt abolutely)’ สำนวนของ ลอร์ด แอคตัน (Lord Acton) สะท้อนภาพวิกฤตการเมืองที่นำไปสู่เศรษฐกิจในลาวได้เป็นอย่างดี
ไม่มีใครตอบได้ว่าลาวจะรอดพ้นจากวิกฤตทางการเมือง และเศรษฐกิจในตอนนี้ได้อย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่แน่ใจคือ คนลาวยังต้องเผชิญชีวิตที่ขมขื่นและมองว่าการเดินทางมาทำงานที่ไทยคือทางรอด ไปอีกนาน
อ้างอิงจาก: