ช่วงนี้ใครๆ ก็พูดถึงเรื่องผู้นำรุ่นใหม่ จนกลายเป็นประเด็นฮิตในหลายวงสนทนา เวลาที่เราหยิบเรื่องทำนองนี้มาคุยกัน หลายครั้งมันก็เต็มไปด้วยความคาดหวังว่าผู้นำรุ่นใหม่ๆ เหล่านี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมได้ แต่เอาเข้าจริงแล้ว การเมืองมันไม่ได้ใจดีกับใครง่ายๆ หลายคนอาจประสบความสำเร็จ แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ปลิดปลิวไปจากตำแหน่ง หรือตกไปอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากเหมือนกัน
The MATTER ลองรวบรวมลิสต์ของเหล่าผู้นำทางการเมืองรุ่นใหม่ที่น่าสนใจมาให้รู้จักกัน เทียบฟอร์มกันไปเลยว่าใครเด่น ใครดัง ใครที่ถูกทำให้ต้องโบกมือลาจากเวทีการเมือง เผื่ออ่านกันแล้วเกิดแรงผลักดัน อยากไปลงสมัครรับเลือกตั้งกับเค้าดูบ้าง
1. เอ็มมานูเอล มาครง
อายุในวันขึ้นสู่ตำแหน่ง: 39 ปี
สถานะ: ว่าที่ประธานาธิบดีฝรั่งเศส
ว่าที่ประธานาธิบดีฝรั่งเศสผู้อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่การก่อตั้งสาธารณรัฐฝรั่งเศสเมื่อปี 1958 นี่คือนักการเมืองผู้เดินทางสายกลาง และต้องการเสนอทางเลือกใหม่ให้กับประชาชน นอกเหนือไปจากพรรคกระแสหลัก อย่างพรรคฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา ที่ห้ำหั่นแย่งชิงตำแหน่งบนบัลลังค์เหล็กของฝรั่งเศสมายาวนานกว่า 50 ปี
ในวันที่มาครงแถลงชัยชนะจากการเลือกตั้ง เขาให้คำสัญญาว่า จะนำความหวังกลับมาสู่ฝรั่งเศส และสมานรอยแผลของคนในชาติที่เคยเกิดจากความแตกแยกกันอย่างหนักในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสที่อนุรักษ์นิยมและชาตินิยม ที่กำลังโบกสะบัดในการเมืองโลก มาครงเลือกที่จะเอนไปทางเสรีนิยม พร้อมสนับสนุนให้ฝรั่งเศสอยู่ในอียูต่อไป
จากนี้ต้องจับตากันว่าที่ประธานาธิบดีไฟแรงคนนี้ จะทำตามคำสัญญาที่เขาให้ไว้กับมวลมหาประชาชนชาวฝรั่งเศสได้หรือไม่
2. จัสติน ทรูโด
อายุในวันขึ้นสู่ตำแหน่ง: 43 ปี
สถานะ: นายกรัฐมนตรีแคนาดา (สามีแห่งการเมืองโลก)
ทรูโดคือนายกรัฐมนตรีอายุน้อยที่สุดเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์แคนาดา ผู้ท้าชิงรายนี้น่าจะเป็นผู้นำที่มีแฟนคลับร้องกรี๊ดดดดดดด (อนุญาตให้เติม ด.เด็กได้อีกสิบตัว) ใส่มากที่สุดคนหนึ่ง นอกจากหน้าตาอันหล่อเหลาปานเทพบุตรลงมาเกิดแล้ว ยังมีความสามารถทั้งการสอนหนังสือ ความรู้ด้านควอนตัมคอมพิวเตอร์นี่ก็เคยโชว์ออกมาแล้ว ทรูโดชอบร้องเพลงด้วยนะ เต้นรำก็ได้ เซลฟี่กับประชาชนก็บ่อย ขึ้นเวทีชกมวยยังทำมาแล้วเช่นกัน
นโยบายบริหารประเทศของทรูโดเป็นอีกแต้มต่อที่ครองใจประชาชน เขาเคยประกาศว่า พร้อมต้อนรับผู้อพยพทุกคนที่หลบหนีภัยสงคราม เพราะเชื่อว่าความแตกต่างหลากหลายคือความแข็งแกร่ง นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศ โดยคณะรัฐมนตรีชุดแรกมีส่วนผสมของผู้ชายและผู้หญิงเท่ากัน คือ 15-15 แถมทรูโดยังเคยประกาศว่าตัวเองเป็นเฟมินิสต์อีกด้วย
3. อเล็กซิส ซีปราส
อายุในวันขึ้นสู่ตำแหน่ง: 40 ปี
สถานะ: นายกรัฐมนตรีกรีซ
แค่ก้าวแรกสู่สังเวียนนายกรัฐมนตรีของ อเล็กซิส ซีปราส ก็ถือว่าเป็น Introduction to ดราม่าระหว่างกรีซกับอียูอย่างแท้จริง เพราะซีปราสประกาศจุดยืนในทันทีว่า จะไม่ทนกับนโยบายรัดเข็มขัดทางเศรษฐกิจตามเงื่อนไขของอียูอีกต่อไป อย่างที่รู้กันว่า กรีซเป็นประเทศที่เจอกับวิกฤตเศรษฐกิจมายาวนาน จึงต้องหันไปกู้ยืมเงินจากประเทศในยูโรโซนมากอบกู้สถานการณ์ ซึ่งต้องแลกกับนโยบายรัดเข็มขัดตามแนวทางที่เจ้าหนี้กำหนดมาให้
ปี 2015 ซีปราสได้สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ซึ่งสั่นสะเทือนไปทั้งอียู โดยจัดทำประชามติเพื่อชี้ขาดว่า กรีซควรรับข้อเสนอความช่วยเหลือทางการเงินจากอียูหรือไม่ ผลคือประชาชนออกมา Vote No กันกว่า 61% ส่งผลให้หลายคนจับตาว่าจะนำไปสู่การ Grexit หรือการถอนตัวออกจากยูโรโซนของกรีซหรือไม่ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริงก็มีข้อกังวลว่า อาจกลายเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ แต่มาถึงตอนนี้ก็ยังไปไม่ถึงขั้นนั้น เพราะอียูได้ตกลงเพิ่มเงินกู้ให้กับกรีซอีกระลอกแล้ว
4. มัตเตโอ เรนซี
อายุในวันขึ้นสู่ตำแหน่ง: 39 ปี
สถานะ: อดีตนายกรัฐมนตรีอิตาลี
เคยเป็นนักการเมืองที่ถูกจับตามากที่สุดคนหนึ่งของอิตาลี หลังก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งในอายุที่น้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ เฉือนชนะผู้ครองแชมป์เดิมคือ เบนิโต มุสสลินี อดีตผู้นำในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปเพียง 2 เดือน ในช่วงแรกนั้น เรนซีถูกตั้งความหวังว่าจะเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงในการเมืองอิตาลีได้ โดยเขาเองก็ผลักดันนโยบายที่จะปฏิรูปประเทศหลายอย่าง
จุดพลิกผันสำคัญของเรนซี อยู่ที่การทำประชามติเพื่อปฏิรูปรัฐธรรมนูญ โดยเขาต้องการแก้ไขจำนวน ส.ว. จาก 315 รายให้เหลือ 100 ราย เพื่อให้ ส.ส. สามารถทำงานออกกฏหมายได้คล่องตัว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่ฝ่ายที่คัดค้านออกมาโจมตีอย่างหนักว่า มันเป็นการเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายบริหารมากเกินไป สุดท้ายแล้ว ผลการทำประชามติออกมาว่า ประชาชน 70% Vote No ไม่เอาด้วยกับเรนซี ทำให้เขายื่นซองขาวลาออกจากตำแหน่งกับประธานาธิบดีในปลายปี 2016 ตามคำสัญญาที่เคยให้ไว้กับประชาชน
5. เดวิด คาเมรอน
อายุในวันขึ้นสู่ตำแหน่ง: 43 ปี
สถานะ: อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ
คาเมรอน คือนายกรัฐมนตรีอายุน้อยที่สุดในรอบกว่า 200 ปีของอังกฤษ ตัวแทนจากพรรคอนุรักษ์นิยมคนนี้ ได้ปิดฉากการครองอำนาจของพรรคแรงงานที่บริหารประเทศมานาน 13 ปี คนอังกฤษจำนวนไม่น้อยตั้งความหวังว่า คาเมรอนจะสามารถนำการเมืองใหม่ๆ มาให้กับประเทศชาติได้ คาเมนรอนเองก็มีโปรไฟล์ที่น่าสนใจ จบการศึกษาจากทั้งโรงเรียนอีตัน ก่อนได้ปริญญาในสาขา Philosophy Politics, and Economics จากมหาวิทยาลัย Oxford (ที่เดียวกับพี่มาร์คของพวกเรานั่นเอง)
อย่างไรก็ดี คาเมรอนได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อปีที่แล้ว (2016) หลังจากผลประชามติเรื่อง Brexit ออกมาว่า คนในสหราชอาณาจักรส่วนใหญ่ต้องการแยกตัวออกจากอียู คาเมรอนบอกว่า ต้องลาออกเพราะมีจุดยืนในทางที่ต่างออกไป เขาทิ้งคำเปรียบเทียบเอาไว้ว่า ถึงแม้รัฐนาวาแห่งนี้จะยังมีความหวัง แต่ตัวเองไม่เหมาะสมกับตำแหน่งกัปตันอีกต่อไป
6. คิมจองอึน
อายุในวันขึ้นสู่ตำแหน่ง: 27 ปี
สถานะ: ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ, อปป้าคิม
สืบทอดตำแหน่งมาจากคุณลุงคิมผู้พ่อเมื่อปี 2011 ถึงแม้จะอยู่ในตำแหน่งมาแล้วซักพักหนึ่ง แต่ด้วยอายุปัจจุบันที่ราวๆ 33 ปี จึงน่าจะยังนับว่าเป็นผู้นำรุ่นใหม่ได้อยู่ และเป็นหนึ่งในผู้นำประเทศที่อายุน้อยที่สุดของโลกด้วย
ผลงานนับตั้งแต่เดบิวต์ในตำแหน่งผู้นำสูงสุดนั้นมีมากมาย สำนักข่าวต่างประเทศเคยรายงานว่า อปป้าคิมได้สั่งประหารลุงแท้ ๆ ของตัวเองในข้อหาต่อต้านผู้นำสูงสุด ทั้งนี้ เมื่อปี 2014 อปป้าคิมยังเคยลงเลือกตั้ง (ไม่รู้ใช้คำนี้ได้รึเปล่านะ) เป็นประธานฝ่ายนิติบัญญัติ โดยได้เสียงสนับสนุนท่วมท้นเกือบ 100% โดยการโหวตครั้งนี้มีผู้สมัครให้เลือกเพียงคนเดียว แน่นอนว่าคือ อปป้าคิม เดอะวันแอนด์โอนลี่
อปป้าคิมยังได้ทดลองระเบิดไฮโดรเจนที่มีพลังทำลายล้างสูง รวมถึงซ้อมรบแถวๆ ชายแดนอยู่หลายครั้ง จนสร้างความตึงเครียดให้กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ส่งผลให้ประธานาธิบดีลุงทรัมป์แห่งสหรัฐฯ สั่งจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิดชนิดกระพริบตาไม่ได้
7. บักจิโอ เหลียง และ เหยา ไหว-ชิง
อายุในวันขึ้นสู่ตำแหน่ง: 29 และ 25 ปี
สถานะ: ถูกศาลตัดสิทธิ์จากการเป็น ส.ส.
การปฏิวัติร่มของประชาชนชาวฮ่องกง ซึ่งแสดงจุดยืนต่อต้านการครอบงำของรัฐบาลจีน ได้นำไปสู่ปรากฏการณ์ที่คนรุ่นใหม่หลายคนลงสมัครเลือกตั้ง ในจำนวนนั้นมีหลายคนที่ชนะเลือกตั้งได้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ
บักจิโอ เหลียง และเหยา ไหว-ชิง คือว่าที่ ส.ส.รุ่นใหม่จากพรรค Youngspiration โดยมีจุดยืนของเขาชัดเจน คือต้องการให้ฮ่องกงมีสิทธิ์มีเสียง สามารถกำหนดอนาคตของตัวเองได้ อย่างไรก็ตามทั้ง 2 คนถึงแม้จะชนะเลือกตั้งได้แต่สุดท้าย ถูกศาลสูงฮ่องกงตัดสิทธิ์การเป็น ส.ส. เพราะเห็นว่า ไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะดำรงตำแหน่ง จากกรณีที่ทั้ง 2 คนปฏิเสธที่จะกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณว่าจะจงรักภักดีต่อรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ ในพิธีสาบานตนก่อนเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. (ในพิธีกล่าวคำปฏิญาณยังพีคมาก เหยา ไหว-ชิงได้เอาป้ายที่เขียนว่า “Hong Kong is not China” มาวางกลางงานด้วย)
8. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
อายุในวันที่ขึ้นสู่ตำแหน่ง: 60 ปี (ก็ Young At Heart อยู่นะ)
สถานะปัจจุบัน นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.
ส่วนนายกรัฐมนตรีลุงตู่ของเรา ถึงแม้จะเกษียณอายุราชการไปแล้ว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าลุงตู่ Young At Heart แบบสุดๆ แถมร่างกายยังฟิตมาก เห็นได้จากการออกกำลังกายทุกวันพุธ เตะฟุตบอล ล้อมวงตะกร้อ ต่อยมวย ตบวอลเลย์บอลดวลกับระดับทีมชาติ กระทั่งขี่มอเตอร์ไซด์รอบทำเนียบก็ลุยมาหมดแล้ว
ขอให้ลุงตู่สุขภาพแข็งแรงอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ นะฮะ
ข้อมูลจาก
http://www.euronews.com/2017/05/09/young-leaders-around-the-world
http://www.bbc.com/news/av/world-us-canada-35836279/trudeau-ill-keep-saying-im-a-feminist
http://www.bbc.com/news/world-europe-38204189
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1435587940
http://www.independent.co.uk/news/world/asia/kim-jong-un-wins-100-of-the-vote-in-north-korean-elections-9180814.html
http://time.com/4479970/hong-kong-nathan-law-legislature-demosisto-democracy/