In a relationship with งาน
ช่วงที่ผ่านมา หลายคนอาจจะรู้จักคำว่า presenteeism กันไปแล้ว กับพนักงานดีเด่นที่แม้จะเจ็บป่วย ท้องเสีย อ้วกแตกแค่ไหนก็ยังแบกสังขารมาทำงานได้ แต่ล่าสุดมีการค้นพบความทุ่มเทในการทำงานรูปแบบใหม่ ที่จะมาเปลี่ยนวิถีการทำงานของมนุษย์เงินเดือนจนรู้สึก burnout ง่ายมากขึ้น
หลายปีที่ผ่านมา มีงานวิจัยที่พบพฤติกรรมการทำงานที่คล้ายกัน แต่มีข้อแตกต่างเพียงเล็กน้อย นั่นก็คือการที่พนักงานใช้เวลาว่างที่ควรจะมีเพื่อทำงาน อย่างวันหยุดที่ควรจะพักผ่อน ลาป่วย ไปเที่ยว สังสรรค์กับเพื่อน หรืออยู่บ้านดูแลครอบครัว แต่พวกเขากลับเอางานมานั่งทำ หรือพกงานไปไหนมาไหนด้วย เพราะกลัวทำไม่ทันหรือรู้สึกผิดที่ต้องตัดขาดจากงาน จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘leaveism’
คำว่า leaveism ถูกใช้ครั้งแรกในปี ค.ศ.2013 โดย เอียน เฮสเคธ (Ian Hesketh) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแลนแคสเตอร์ ซึ่งเขาได้สำรวจพฤติกรรมการลางานของลูกจ้าง แล้วก็พบว่าลูกจ้างบางคนอยู่ในภาวะ leaveism หรือมีลักษณะดังนี้
- ใช้วันลาประจำปีเพื่อหยุดพักฟื้นอาการป่วย
- นำงานกลับไปทำที่บ้าน เนื่องจากไม่สามารถทำให้เสร็จในเวลางานได้
- ทำงานในระหว่างเวลาพักผ่อนหรือช่วงวันหยุด
จึงไม่แปลกที่เราจะไม่เคยสังเกตเห็น leaveism ในออฟฟิศเลย เพราะมันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเวลาที่เราอยู่ข้างนอกหรือลาพักผ่อน แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังตอบอีเมลหัวหน้า รับสายลูกค้า หรือนั่งพิมพ์เอกสาร แทนที่จะจิบกาแฟ ดูหนัง หรือเดินช้อปปิ้ง มีรายงานจาก Deloitte พบว่า กว่า 51% ของลูกจ้างมีการทำงานนอกเหนือเวลาที่ตกลงไว้ และยังสังเกตเห็นว่า กว่า 70% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่มีแนวโน้มว่าจะมีภาวะ presenteeism ก็มีภาวะ leaveism เช่นกัน
ปัจจัยที่เอื้อให้เกิดปรากฏการณ์นี้นั่นก็คือ ‘เทคโนโลยี’ มองแวบแรก พฤติกรรมนี้อาจจะดูไม่มีปัญหาและเป็นเรื่องธรรมดาในวิถีการทำงานสมัยใหม่ แต่ความจริงมันคืออันตรายของเทคโนโลยีที่เอื้อให้คนเราเชื่อมต่อกันได้ 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเรื่องยากที่เราจะปิดกั้นหรือ disconnect ตัวเองออกจากงาน จึงทำให้สมดุลระหว่าง ‘ชีวิต’ กับ ‘การทำงาน’ เปลี่ยนแปลงไป และกลายเป็นการรวมสองสิ่งนี้เข้าด้วยกันแทน
จากการสำรวจเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลจำนวน 1,000 คน ซึ่งเป็นตัวแทนของลูกจ้าง 4.6 ล้านทั่วประเทศอังกฤษ มีถึง 87% ที่เผยว่าเทคโนโลยีส่งผลกระทบต่อการตัดขาดตัวเองออกจากชั่วโมงงาน โดยเฉพาะลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการรับสายโทรศัพท์หรือการตอบรับอีเมล
นอกจากนี้ ก็มีสาเหตุอื่นๆ ประกอบกัน เช่น ‘ความกังวล’ เกี่ยวกับความมั่นคงของงาน กลัวตัวเองจะโดนไล่ออก หรือถูกหักเงินเดือน ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้พนักงานจำนวนมากจะต้องใช้ชีวิตอยู่กับภาระงานที่เยอะเกินไป แสดงความทุ่มเทให้กับเจ้านายเห็น และถึงแม้จะเจ็บป่วยหรือเกิดเรื่องฉุกเฉินกับครอบครัว พวกเขาก็ไม่กล้าที่จะแจ้งกับทางบริษัทหรือปลีกตัวออกมา
ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของบริษัทที่จะต้องเข้ามาช่วยจัดการปัญหาก่อนจะสูญเสียบุคลากรเก่งๆ ไป ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานอย่างยืดหยุ่น ลดความคาดหวังในตัวพนักงานลง เปิดอกรับฟัง และทำให้การลาป่วยหรือลาไปพักผ่อนของพวกเขาไม่ใช่เรื่องที่ต้องมานั่งรู้สึกผิด
หากปล่อยให้วิถีการทำงานเช่นนี้ยังคงดำเนินต่อไป ก็อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับความ productive ในการทำงานของพนักงานบริษัท และการสร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบผิดๆ จนกลายเป็นปัญหาในระยะยาวได้
อ้างอิงข้อมูลจาก