เลบรอน เจมส์ (LeBron James) คือนักบาสเกตบอลอันดับ 1 ของโลกในยุคปัจจุบัน ดีกรีแชมป์ NBA ถึง 4 สมัย ทำให้เขากลายเป็นไอคอนของแฟนบาสทั่วโลก และผู้ชายเพียงคนเดียวที่เทียบเคียง กับ ไมเคิล จอร์แดน เทพเจ้าตัวจริงของเกมกีฬายัดห่วงได้
หากแต่ความยิ่งใหญ่ของเลบรอน ไม่ได้หยุดอยู่แค่ในสนามแข่งขัน แต่เขากลายเป็นเสียงของคนจำนวนไม่น้อยในสหรัฐอเมริกา ที่ต่อสู้กับปัญหาการเหยียดสีผิว ความไม่เท่าเทียม และความเหลื่อมล้ำทางสังคม อันนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ของคนในสังคม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือตัวเขาเองเมื่อวัยเด็ก
เลบรอน เจมส์ แสดงความคิดเห็นทางการเมืองของเขาตลอดเวลา หากสิ่งใดที่นักบาสรายนี้เชื่อว่า จะช่วยพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น เขาพร้อมจะพูด และลงมือทำ
แม้จะนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่า นักกีฬาไม่ควรยุ่งกับการเมือง แต่เขาก็ไม่คิดที่จะหยุด อีกทั้งยังแสดงจุดยืนชัดเจนว่า นักกีฬาทุกคนควรใช้เสียง และอิทธิพลที่มี ในการชักจูงผู้คนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง กับการพัฒนาสังคมให้ดียิ่งขึ้น
ชีวิตแย่เพราะการเมืองแย่
ชีวิตของ เลบรอน เจมส์ เกี่ยวข้องกับการเมืองมาตั้งแต่เกิด เพราะแค่การเป็นคนผิวสีในประเทศสหรัฐอเมริกา ชีวิตของชายจากรัฐโอไฮโอ ไม่สามารถหลีกหนี หรือปิดตา กับความจริงที่ว่า สภาพทางการเมืองมีผลต่อเขามากเพียงใด
เลบรอน เจมส์ เติบโตในครอบครัว ที่เป็นเหมือนสเตอริโอไทป์ของคนผิวสีในสหรัฐฯ นั่นคือครอบครัวยากจน คุณพ่อมีประวัติทางอาชญากรรมบ่อยครั้ง และทิ้งครอบครัวไปอย่างรวดเร็ว ส่วนคุณแม่ไม่มีรายได้ เพราะมีลูกตั้งแต่อายุ 16 ปี
เจมส์มีคุณภาพชีวิตวัยเด็กที่ย่ำแย่ อีกทั้งยังอาศัยในย่านเสื่อมโทรมของเมือง การค้ายา และการฆาตกรรมระหว่างแก็ง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเขาตลอดเวลา
นอกจากนี้ ชีวิตของเลบรอนยังขาดโอกาสที่จะเข้าถึงสิทธิพื้นฐานที่เด็กควรได้รับ บางครั้งเขาไม่ได้เข้าเรียนหนังสือ เนื่องจากขาดปัจจัยด้านค่าใช้จ่าย และต้องใช้เวลาว่างไปกับการทำงาน ช่วยหาเงินเข้าสู่ครอบครัว โดยเลบรอนเคยไม่ได้เข้าเรียนนานกว่า 2 เดือน ในช่วงชั้นประถม 4 เพราะที่บ้านไม่มีเงินให้เขาไปโรงเรียน
หาก เลบรอน เจมส์ ไม่มีความสามารถทางด้านกีฬา
เขาอาจเติบโตไปเป็นพ่อค้ายา หรือแกงค์สเตอร์ป่วนเมือง
ตามสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเขา ไม่มีโอกาสได้เรียนจนจบชั้นมัธยม แต่พรสวรรค์ที่ติดตัวเขามา เปลี่ยนชีวิตของเขาไปคนละด้าน
เลบรอนได้โอกาสเข้ารับการศึกษาอย่างต่อเนื่องในฐานะนักกีฬา ซึ่งเขาจริงจังกับมันอย่างมาก เพราะคนผิวสีจำนวนไม่น้อย ไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาแบบตัวเขา
สหรัฐอเมริกาคือประเทศมหาอำนาจของโลก แต่ขณะเดียวกันความเหลื่อมล้ำในประเทศ ถือว่าสูงมากเช่นกัน คนจำนวนไม่น้อย ไม่มีเงินส่งลูกหลานเข้าเรียนหนังสือในโรงเรียนดีๆ หรือการศึกษาที่มีคุณภาพ เพราะขาดรายได้ โดยเฉพาะกับประเทศทุนนิยมสุดโต่งอย่างสหรัฐฯ หากไม่มีเงินโอกาสที่จะได้รับสิ่งดี ๆ เข้ามาในชีวิตเป็นเรื่องที่ยากมาก
โชคร้ายที่พลเมืองส่วนใหญ่ที่ด้อยโอกาส คือพลเมืองชั้นสอง เช่น คนผิวดำ, คนผิวแดง หรือคนพื้นเมืองดั้งเดิม รวมถึงคนเชื้อชายสแปนิช-อเมริกัน (ฮิสแปนิก) นั่นเป็นเพราะสังคมอเมริกัน ไม่ได้ให้ความเท่าเทียมแก่คนเหล่านี้ หลายคนหมดสิทธิ์มีรายได้ที่ดี เพราะหางานที่มีค่าตอบแทนสูงไม่ได้ เนื่องจากสีผิวไม่ใช่สีขาว
เรื่องราวเหล่านี้คือภาพที่ เลบรอน เจมส์ เห็นมาตลอดชีวิต ยิ่งเขากลายเป็นนักบาสที่โด่งดัง ได้เข้าลีก NBA ตั้งแต่อายุ 18 หลังเรียนจบชั้นมัธยม เขายิ่งได้เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมมากขึ้น
ขณะที่ตัวเขาพลิกเป็นมหาเศรษฐีในพริบตา กับการก้าวขึ้นมาเป็นนักกีฬาระดับโลก แต่ชุมชนในวัยเด็กของเขายังคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง หลายคนไม่มีอันจะกิน เด็กไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ คนผิวดำยังคงต้องพบเจอกับการเหยียดสีผิว ซึ่งนำไปสู่ความไม่เท่าเทียมในสังคม
ชีวิตที่ย่ำแย่ในวัยเด็กของเลบรอน สอนให้เขาเห็นความจริงที่ว่า โลกนี้แท้จริงเป็นอย่างไร? มีความเหลื่อมล้ำมากแค่ไหน? ผู้มีอำนาจ และรัฐบาลไม่เคยช่วยอะไรตัวเขา ครอบครัวของเขา หรือคนรอบข้างให้มีชีวิตที่ดีขึ้นได้เลย
ในเมื่อเขามีพลัง มีชื่อเสียงมากพอ สามารถแสดงออกถึงความต้องการของตัวเอง ที่อยากจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดียิ่งขึ้น ตามที่เขาต้องการ และเป็นแรงบันดาลใจแก่ผู้คน ก่อให้เกิดผลกระทบบางอย่างได้จริง
ไม่มีเหตุผลที่จะต้องนิ่งเงียบ หรือปิดปากให้สนิทยอมรับความเหลื่อมล้ำต่อไป เลบรอนขอใช้เสียงที่เขามี สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม
ลงมือพัฒนาสังคม
เลบรอนมีความเชื่อสุดใจว่า หากความเท่าเทียมในสังคมมีมากขึ้น โอกาสที่จะเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ เป็นของคนทุกกลุ่ม ชีวิตความเป็นอยู่ผู้คนก็จะดีมากขึ้น ไม่ต้องมีใครมาลำบากปากกัดตีนถีบ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายแบบเขาในวัยเด็ก
เขาเริ่มต้นที่จะสร้างสังคมในแบบที่ต้องการด้วยตัวเอง ตั้งแต่ยังเป็นเพียงนักบาสดาวรุ่ง โดยในปี ค.ศ.2005 เลบรอน เจมส์ ตั้งองค์กร The LeBron James Family Foundation ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือเยาวชนในเมืองแอ็ครอน รัฐโอไฮโอ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เขาเติบโตมา
โครงการนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่ายของเด็กที่ยากจน ทั้งทุนการศึกษา, ค่าอาหารกลางวันในโรงเรียน เพื่อให้เด็กที่ยากไร้มีโอกาสอย่างเท่าเทียม มีการศึกษาที่ดีในการเติบโตไปสู่ชีวิตที่มีคุณภาพ
ประเด็นด้านการศึกษาคือสิ่งที่ เลบรอน เจมส์ ให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะเขารู้ค่าของความรู้ ชีวิตของเขาประสบความสำเร็จได้เพราะสิ่งนี้ แต่ช่วงหนึ่งในชีวิตของเขา ต้องพลาดโอกาสเรียนหนังสือ เพราะความไม่พร้อมของครอบครัว
ความคิดนี้นำไปสู่การตั้งโรงเรียน “I Promise School”
ของเลบรอน ที่เมืองแอ็ครอน รัฐโอไฮโอ
เพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส ไม่ต้องพบกับเรื่องราวที่ยากลำบากแบบตัวเขา
“ผมรู้จักเด็กเหล่านี้ มากกว่าที่พวกเขารู้จักตัวเองเสียอีก …. ทุกอย่างที่พวกเขาต้องผ่าน ผมรู้ว่ามันเป็นอย่างไร สำหรับผม ผมอยู่ในจุดที่ตัวเองมีทุน มีเงิน ผมรู้จักผู้คน รู้จักโครงสร้างสังคม และรู้จักเมืองนี้ ทำไมผมจะไม่ช่วยเหลือพวกเขา ?” เลบรอน เจมส์ พูดถึงการตั้งโรงเรียน I Promise School ขึ้นมา
นอกจากนี้ เลบรอน เจมส์ ยังเป็นผู้สนับสนุนทุนการศึกษา ให้กับมหาวิทยาลัยแอ็ครอน เป็นจำนวนเงินเกือบ 23 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนนักเรียนที่จบชั้นมัธยมด้วยผลการเรียนดีเลิศ แต่มีปัญหาด้านทุนทรัพย์ ให้สามารถโฟกัสกับเรื่องการเรียน โดยไม่ต้องห่วงปัญหาเรื่องเงิน
ไม่ใช่เแค่เรื่องการศึกษาที่นักบาสเกตบอลรายนี้ทำงานสนับสนุนอย่างหนักหน่วง แต่รวมถึงการต่อสู้เพื่อสร้างความเท่าเทียมทางสีผิว การต่อต้านการเหยียดผิว คือสิ่งที่ เลบรอน เจมส์ ต่อสู้มาตลอด
เลบรอน เจมส์ พูดตรงไปตรงมาผ่านสื่อเสมอ กับประเด็นทางสีผิว ทั้งในเรื่องราวที่เกิดขึ้นภายในวงการกีฬา เช่น กรณีการเหยียดผิวที่เกิดขึ้นโดย โดนัลด์ สเตอร์ริง (Donald Sterling ) อดีตเจ้าของทีมลอสแอนเจลิส คลิปเปอร์ส ใน NBA ที่เคยออกมาพูดเหยียดคนแอฟริกัน-อเมริกัน ซึ่งเลบรอนก็ออกมาโจมตีสเตอร์ริงทันทีว่า บุคคลที่เป็นพวกเหยียดผิว ไม่ควรมีที่ยืนในลีก NBA อีกต่อไป
รวมถึงการเกิดเหตุการณ์เลวร้าย กับคนผิวสี ทั้งกรณีการเสียชีวิตของ ไมเคิล บราวน์ (Michael Brown) ในปี ค.ศ.2014, เอริค การ์เนอร์ (Eric Garner) ในปี ค.ศ.2017 จาค็อบ แบล็ค (Jacob Black) และจอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ในปี ค.ศ.2020 ยอดนักบาสรายนี้คือหัวหอกของการรณรงค์เรียกร้องความเป็นธรรมอยู่เสมอ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการบอยคอตไม่ลงแข่งขันเกม NBA ซึ่งเกิดขึ้นในฤดูกาล ค.ศ.2020 ที่ผ่านมา
ในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี ค.ศ.2020 เลบรอน เจมส์ เป็นอีกหนึ่งบุคคลที่มีชื่อเสียง ที่ปลุกระดมให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ตามความเชื่อของเขาที่มองว่า การเลือกตั้งจะเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาของประเทศ เพราะต้องใช้เสียงของประชาชนเท่านั้น
นอกจากนี้ เลบรอน เจมส์ ไม่เคยปิดบังความคิดเห็นทางการเมือง เขาพูดอย่างตรงไปตรงมาเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุน บารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ และการต่อต้าน โดนัลด์ ทรัมป์ อีกหนึ่งอดีตผู้นำประเทศ ที่เลบรอนเชื่อว่าเป็นพวกคนที่เมินเฉยกับปัญหาการเหยียดผิวในอเมริกา
การเมืองเรื่องของทุกคน
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เลบรอน เจมส์ ได้เปิดศึกวิวาทะ กับ ซลาตัน อิบราฮิโมวิช (Zlatan Ibrahimović) ถึงประเด็นที่ว่า นักกีฬาควรออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองหรือไม่ ? ซึ่ง เลบรอน เจมส์ ยืนยันชัดเจนว่า เขาจะใช้เสียงที่มีอยู่ในสังคม พูดถึงเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมต่อไป
“ผมจะไม่มีทางหุบปากในเรื่องที่มันผิด
ผมส่งเสียงเพื่อคนของผม ผมส่งเสียงเพื่อความเท่าเทียม,
ความยุติธรรมในสังคม, การเหยียดผิว, การสนับสนุน
ให้คนออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เพราะนี่คือสิ่งที่จะผลักดัน
สังคมของเรา” เลบรอน เจมส์ กล่าว
ไม่ว่าจะประกอบอาชีพไหน การเมืองคือเรื่องของทุกคน ดังนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก หากเลบรอนจะออกมาแสดงความเห็น หรือทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าในวงการกีฬา มีความพยายามที่จะแยกเรื่องของ กีฬา กับ การเมือง ออกจากกันเสมอ มีกฎกติกามากมาย ที่พยายามป้องกันไม่ให้ทั้งสองสิ่งเข้ามารวมกัน เช่น การห้ามแสดงออกท่าดีใจที่สื่อถึงประเด็นทางการเมืองในกีฬาฟุตบอล เป็นต้น
ทว่า ที่สหรัฐอเมริกา การพูดประเด็นทางการเมืองของนักกีฬา ดูจะมากกว่าที่อื่น เป็นเพราะสิทธิ เสรีภาพ ในการแสดงของชาวอเมริกัน ที่มีสิทธิ์จะพูดในแบบที่ตนเองคิด จึงทำให้พวกเขากล้าที่จะแสดงความคิดทางการเมืองผ่านคำพูด หรือการกระทำต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา
ไม่ว่าจะเป็นในกรณี BLACK LIVES MATTER ที่นักกีฬาผิวสีจำนวนมากในสหรัฐฯ ร่วมกันจุดประกายจนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้นักกีฬาทั่วโลก เข้าร่วมกับแคมเปญนี้ หรือการนั่งคุกเข่าไม่เคารพธงชาติของ โคลิน แคปเปอร์นิค (Colin kaepernick) อดีตนักอเมริกันฟุตบอลใน NFL เพื่อแสดงเชิงสัญลักษณ์ โจมตีผู้มีอำนาจในสหรัฐฯ ที่เมินเฉยต่อปัญหาการเหยียดผิว
หรือแม้แต่การพูดที่ตรงกันข้าม ดั่งกรณีของ ดรูว บรีส์ (Drew Brees) นักอเมริกันฟุตบอลอีกราย ที่ออกมาโจมตีคนที่คุกเข่าเคารพธงชาติ เพราะมองว่าเป็นการไม่ให้เกียรติประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้เห็นว่าที่สหรัฐฯ ทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพในการพูด และพวกเขากล้าที่จะพูด เพราะว่านักกีฬาทุกคนมีความคิดทางการเมืองเป็นของตัวเอง และเห็นปัญหาต่างๆ ในสังคม ขึ้นอยู่กับว่าจะพูด หรือปิดปากเงียบ
ปัจจุบัน นักกีฬาทั่วโลก โดยเฉพาะนักกีฬารุ่นใหม่หันมาพูดถึงประเด็นทางการเมืองกันมากขึ้น ไม่มีการเงียบยอมจำนนต่อปัญหาอีกต่อไป โดยตัวอย่างที่ดีคือการที่ นักฟุตบอลทีมชาติเมียนมาหลายคน ออกมาพูดโจมตี และแสดงออกทางสัญลักษณ์ ต่อต้านการรัฐประหารที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมา
เลบรอน เจมส์ เป็นเพียงแค่นักกีฬาหนึ่งคนเท่านั้น ที่ต้องการเห็นการเมืองที่ดี เพื่อให้มนุษย์มีคุณภาพชีวิตที่ดี ยังมีนักกีฬาอีกจำนวนมากที่ทำกิจกรรมทางการเมืองเพื่อพัฒนาสังคม ไม่ต่างจากคนอาชีพอื่น เพราะไม่ว่าจะประกอบอาชีพใด ทุกคนสามารถช่วยกันสร้างสังคมที่ดี การเมืองที่ดีได้
เพราะนี่คือประชาธิปไตย ที่อำนาจเป็นของประชาชนทุกคน
อ้างอิงข้อมูลจาก
lebronjamesfamilyfoundation.org
content by Nuttanon Chankwang