จะมีสักกี่คนกันที่ไม่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับการพนันเลย เพราะไม่ว่าเวลาที่เราดูหนังออนไลน์โฆษณาเว็บไซต์การพนันออนก็เด้งขึ้นมาแล้ว หรือในงานแต่งงานหลังจากคู่บ่าว-สาวเข้าหอ ก็จะเห็นวงไพ่ย่อมๆ ตั้งขึ้นใต้แสงไฟสลัว และแม้แต่ตอนกลับบ้านที่ต่างจังหวัดเอง หลายคนคงเคยมีโอกาสไปร่วมวงชนไก่กับญาติอยู่บ้าง
ทั้งที่มันเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ทำไมการพนันกลับดูไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราเลย ทำไมคนเราถึงชอบเล่นพนันมากถึงขนาดนั้น
งานวิจัยของมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ชิ้นหนึ่งเคยอธิบายไว้ว่า ทุกครั้งที่เราเล่นพนันโดยไม่ว่าเราจะ ‘ชนะ’ หรือ ‘เกือบชนะ’ สมองของเราจะหลั่งทั้งสารที่ชื่อว่าโดพามีน อันเป็นสารที่ทำให้ร่างกายเรามีความสุขออกมา หรืองานวิจัยอีกชิ้นที่สำรวจนักพนันก็พบว่า ความต้องการชนะกับความสนุกและตื่นเต้น เป็นแรงจูงใจให้เกิดการเล่นพนันมากพอกันเลยทีเดียว
เมื่อการพนันเป็นมากกว่าแค่ความอยากโลภ แต่มันกระตุ้นทั้งความสุขและความท้าทาย และเป็นไปได้ยากเหลือเกินที่จะใช้กฎหมายห้าม ยับยั้ง และกำจัดการเล่นพนันให้หมดไป จึงไม่แปลกนักที่หลังๆ มานี้ เราจะได้ยินข้อเสนอ ‘คาสิโนถูกกฎหมาย’ ที่ให้ภาครัฐเข้าไปเป็นเจ้ามือควบคุมและออกกฎระเบียบเสียเองขึ้นมา
เม็ดงานมหาศาลในธุรกิจคาสิโนถูกกฎหมาย
ความพยายามผลักดันให้เกิดคาสิโนถูกกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมันเคยหยิบถูกขึ้นมาถกเถียงหลายต่อหลายครั้งนับตั้งแต่ยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และล่าสุดคือความพยายามของ มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคไทยศรีวิไลย์ ที่รวบรวมรายชื่อ ส.ส. เพื่อให้จัดตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษา คาสิโนแบบถูกกฎหมาย
เหตุผลหนึ่งที่สนับสนุนข้อเสนอดังกล่าวคือ คาสิโนจะสร้างเม็ดเงินจำนวนมากให้กับประเทศ เพราะมันจะเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวที่ทำให้นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวจีนที่ขึ้นชื่อในความชอบเดิมพันให้ใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้คือกลุ่มหลักในภูมิภาคอาเซียน แทนที่ยุโรปเรียบร้อยแล้ว (ภูมิภาคอาเซียนตอนนี้ มีเพียงบรูไน และไทยเท่านั้นที่ยังไม่อนุญาตให้มีการเปิดคาสิโนอย่างถูกกฎหมาย)
ลองดูรายงานของ Philippines Amusement and Gaming Corporation หน่วยงานของภาครัฐฟิลลิปปินส์ ที่กำกับและออกกฎควบคุมคาสิโนทั้งหมดในประเทศ ที่ได้เผยผลประกอบการของคาสิโนทั่วประเทศในปี 2019 ว่าอยู่ที่ 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นจากปี 2018 ราวร้อยละ 11.65
โดยรายได้ทั้งหมดนี้ ถูกหักเป็นภาษีและนำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสังคมราว 1.14 พันล้านดอลาร์สหรัฐฯ โดยแบ่งออกเป็นหลายส่วน ทั้งเก็บไว้ในกระทรวงการคลัง นำไปแก้ไขปัญหายาเสพติด พัฒนาระบบกีฬา รวมถึงแก้ปัญหาสังคมอื่นๆ
ทางด้านบริษัท Genting Malaysia Berhad ซึ่งเป็นเจ้าของคาสิโนรายใหญ่ในมาเลเซียก็เปิดเผยว่า รายได้ตลอดปี 2019 ของบริษัทอยู่ที่ราว 2.38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เลยทีเดียว
หรืออย่างเขตปกครองพิเศษ มาเก๊า เอง ที่กลายเป็นลาส เวกัสของเอเชีย และมีรายได้ของเมืองมากกว่าร้อยละ 80 จากภาษีที่เก็บจากคาสิโน ซึ่งสูงจนสามารถจัดสวัสดิการต่างๆ ให้แก่ประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ได้ ไม่ว่าจะเป็น การศึกษาฟรี 15 ปี การรักษาพยาบาลฟรี ตลอดจนเงินเดือนให้เปล่าสำหรับประชาชน
นอกจากนี้ ยังไม่ต้องพูดถึงสถานการณ์ในตอนนี้ที่เงินจำนวนมากไหลลงสู่ใต้ดิน ไม่เข้าระบบ ทำให้ภาครัฐเสียผลประโยชน์ รวมถึงพฤติกรรมทุจริตติดสินบินของเจ้าหน้าที่เองด้วย ที่ทำให้แนวคิดคาสิโนถูกนำมาพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทย
อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรมองแต่เม็ดเงินจนลืมเลือนผลกระทบในด้านอื่นๆ ที่แยกไม่ขาดจากธุรกิจประเภทนี้ และหากเราตัดสินใจจะเดินหน้าถกเถียงเรื่องนี้อย่างจริงจัง เราควรศึกษาจากหนึ่งในโมเดลที่ดีที่สุด และนั่นก็คือ ‘สิงคโปร์’
ศึกษาจากตัวแบบที่ดีที่สุด โมเดลสิงคโปร์
รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิกวุฒิสภาและคณบดีวิทยาลัยนวัตรกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิตเสนอว่า ถ้าประเทศไทยต้องการจะเปิดให้มีคาสิโนถูกกฎหมาย เราควรต้องศึกษาจากข้อกฎหมาย แนวคิด และโมเดลของสิงคโปร์
เขาชี้ว่า โมเดลของสิงคโปร์ไปไกลกว่าการทำให้มีคาสิโนถูกกฎหมาย แต่เป็นการลงทุนในธุรกิจรูปแบบ MICE (Meeting, Incentives, Conferencing, Exhibitions) หรือธุรกิจบริการประเภทรองรับการจัดงานสัมนา งานประชุม และแสดงสินค้า ซึ่งต้องมีการลงทุนสร้างทั้งโรงแรม ห้องอาหาร ห้างสรรพสินค้า และมีคาสิโนเป็นเพียงแค่หนึ่งในเครื่องเคียงของอาหารจานใหญ่เท่านั้น
ซึ่งเขากล่าวว่า โมเดลนี้ประสบความสำเร็จถึงขั้น สร้างรายได้ให้สิงคโปร์ระดับแสนล้านบาทต่อปี และอีกทางหนึ่ง ยังทำให้เกิดการจ้างงานระดับที่สูงมากๆ จนส่งผลอีกทอดถึงสถิติอาชญากรรมในสิงคโปร์ให้เหลือต่ำกว่าร้อยละ 1
นอกจากนี้ การเข้าใช้บริการคาสิโนในสิงคโปร์ยังมีมาตรการที่ค่อนข้างรอบคอบ โดยนอกจากมีการเช็ค statement แล้ว ยังมีการคิดค่าธรรมเนียมในการเล่นอยู่ที่ครั้งละ 100 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 2,200 บาท) และรายปีอยู่ที่ 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 22,000 บาท) ซึ่งทำให้ชาวสิงคโปร์จำนวนมากไม่สนใจที่จะเข้าเล่นในคาสิโนเสียเท่าไร
ทางด้าน รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ก็มองว่าสิงคโปร์เป็นโมเดลที่ไทยควรทำการศึกษาเช่นกัน เพราะสิงคโปร์ยังมีการออกกฎหมายให้บุคคลใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบจากการเล่นพนัน อาทิ คนในครอบครัว สามารถฟ้องร้องห้ามไม่ให้บุคคลในครอบครัวเข้าคาสิโนได้ รวมถึงศาลเองก็มีอำนาจในการสั่งเช่นนั้นเช่นกัน
แต่แน่นอนว่าเราไม่สามารถเอาตัวแบบของสิงคโปร์มาทาบลงที่ไทยได้อย่างเหมาะเจาะ เพราะทั้งบริบทสังคม ตลอดจนจำนวนประชากร และขนาดของประเทศผิดกันลิบลับ
‘แต่เงินไม่ใช่ทุกสิ่ง’ ข้อกังวลถึงความพร้อมของสังคมไทย
รศ.ดร.สังศิต มองว่า หากคิดจะเปิดให้คาสิโนถูกกฎหมาย อย่างแรกสุดต้องมีการปฏิรูประบบราชการเสียก่อน ต้องไม่ทำให้มีช่องโหว่ในการแสวงหาผลประโยชน์จากข้าราชการ รวมถึงนักการเมือง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน
ทางด้าน รศ.ดร.นวลน้อย ไม่ขอแสดงความเห็นว่าตอนนี้ประเทศไทยพร้อมหรือยังกับการเปิดคาสิโน แต่เธอชวนให้ตั้งโจทย์กันเสียก่อนว่า
“ถ้าคิดจะทำ (คาสิโนถูกกฎหมาย) ต้องตั้งเป้าให้ชัดเจนว่าทำไปเพื่อลดปัญหาทางสังคม และค่อยๆ ศึกษาดูว่าต้องทำอย่างไร ต้องออกกฎระเบียบอะไรบ้าง”
อย่างไรก็ตาม เธอยังแสดงความเป็นกังวลว่า การเปิดให้มีคาสิโนถูกกฎหมายไม่ได้เท่ากับการลบกลุ่มที่ทำแบบผิดกฎหมายให้หมดไป และตอนนี้ไทยเองยังไม่มีการศึกษาเรื่องนี้กันอย่างรอบด้านมากนัก อีกทั้งระบบการกำกับดูแลกฎหมายก็ยังไม่มีศักยภาพ สังเกตุได้จากการที่เรายังพบเห็นเยาวชนดื่มเหล้า เบียร์เป็นเรื่องปกติ
พชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์ ให้ความเห็นว่า อย่างแรกสุดต้องมีการแก้ พ.ร.บ.การพนัน เสียก่อน เพื่อให้กฎหมายมีความเท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก และที่สำคัญต้องมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อมากำกับดูแลและศึกษาเรื่องการพนันอย่างจริงจัง
เขากล่าวว่า ”มันคงถึงเวลาต้องคุยกันเสียทีว่าใครจะเข้ามาดูแลเรื่องการพนัน ถ้าตกลงจะไฟเขียวให้ถูกกฎหมาย ต้องมีการแก้กฎหมาย แก้ไขระเบียบ แต่ตอนนี้เรายังไม่มีการคุยกันจริงจัง บอกว่าผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรม แต่ก็ไม่มีการแก้ไขกฎหมายอยู่ดี ”
“ถ้าถามใจลึกๆ ผมยังไม่อยากให้มี (คาสิโนถูกกฎหมาย) ในช่วงเวลานี้ เพราะคิดว่าคนไทยยังไม่พร้อม โดยเฉพาะการกำกับดูแลและใช้กฎหมายก็ยังปล่อยปะละเลย ทำให้มีแนวโน้มว่าหากเปิดบ่อนจริงๆ กฎหมายจะหละหลวม และทำให้เด็กและเยาวชนเข้าไปเล่นได้”
อย่างไรก็ตาม ทั้งสามคนต่างเห็นไปในทางเดียวกันว่า ถ้าหากจะมีการตัดสินใจเปิดคาสิโนถูกกฎหมายจริงๆ ในประเทศไทย การตัดสินใจไม่ควรลงมาเป็นนโยบายจากภาครัฐ แต่ควรเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ รวมถึงออกแบบกฎระเบียบในการควบคุม เพราะผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการเปิดบ่อนจริงๆ คือ ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่เปิดคาสิโน
รศ.ดร.นวลน้อย ทิ้งท้ายว่า “ชุมชนและสังคมต้องมีอำนาจในการกำกับควบคุมและออกกฎระเบียบสำหรับคาสิโนในชุมชน เพราะถ้าปล่อยให้กลายเป็นเรื่องธุรกิจอย่างเดียว สังคมต้องหายนะแน่นอน”
อ้างอิง: