“พระมหาชนกทำไร ทำไร ว่ายน้ำ กี่วันกี่คืนไม่รู้อ่ะ นะ เรื่องความเพียรเหมือนกับรัฐบาลคสช. เราว่ายน้ำอยู่ ประเทศต้องถึงฝั่ง ตัวเองถึงฝั่งด้วย จะได้นำพาคนอื่นเขาปลอดภัยด้วยไง”
ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของประเทศ ประโยคข้างต้นของท่านนายกรัฐมนตรีที่กล่าวออกมาสดๆ ร้อนๆ เมื่อวานนี้ก็ต้องเข้าหูจนได้ ตามประสาคนดังสายฮิปที่ขยันผลิตคำพูดชิคๆ ออกมารายวัน พูดปุ๊ป คนก็โควทมาแชร์ปั๊ปอย่างล้นหลาม
เพื่อให้เป็นการเสพข่าวอย่างรู้รอบ รู้ลึก ครบทุกด้าน The MATTER อาสาพาไปพบกับตัวจริงเสียงจริงด้านวรรณกรรมเพื่อคุยเรื่องวรรณคดีในพุทธศาสนาอย่างเรื่องพระมหาชนก รวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่ทำไม้ ทำไมคนเดี๋ยวนี้ชอบเอาเรื่องราวในวรรณคดีมาใช้กันแบบงงๆ จัง
ขอเสียงปรบมือรัวต้อนรับ ‘อาจารย์อาทิตย์ ศรีจันทร์’ หรืออาจารย์ดราฟ นักวิชาการด้านวรรณกรรมและอาจารย์
The MATTER : ก่อนอื่นเลยเราต้องเปิดทางให้กับคนที่ไม่เคยอ่าน ‘พระมหาชนก ‘มาก่อน อาจจะงงๆ ว่าท่านนายกท่านพูดถึงอะไร รบกวนอาจารย์เล่าเรื่องย่อๆ ให้นิดนึงสำหรับคนที่ไม่เค้ย ไม่เคยอ่านพระมหาชนกเลย เรื่องราวว่าด้วยอะไร
อ.อาทิตย์ : คือพระมหาชนกเนี่ย ในเบื้องต้นที่สุดคือ เป็นชาดกหนึ่งในสิบพระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ก่อนที่จะมาประสูติเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่ง 10 พระชาติสุดท้าย เป็นพระชาติที่สำคัญที่สุดจากบรรดาชาดกหลายร้อยเรื่อง
ชาดกแต่ละเรื่องเอาเข้าจริงๆ ก็คือนิทานที่พระพุทธเจ้าทรงเล่าให้คนอื่นฟังเพื่อเป็นการสอนพระธรรมน่ะ ทีนี้ 10 พระชาติสุดท้าย เราก็จะรู้จักกันในชื่อว่า’ทศชาติชาดก’
ในแต่ละเรื่องเองก็มีบารมี คุณธรรมหรือความโดดเด่นที่แตกต่างกัน แต่โดยทั่วไปคนจะให้ความสนใจและความสำคัญกับพระชาติสุดท้ายก็คือพระเวสสันดร ที่เรียกกันว่า ‘มหาชาติ’ เพราะเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือเป็นพระชาติที่รวบรวมเอาบารมีทุกอย่าง (ที่เรียกว่า ทศบารมี) เข้าไว้ด้วยกัน
The MATTER : อ้อ พระมหาชนกก็เป็นพระชาติหนึ่งในทศชาติชาดกล่ะสิฮะ?
อ.อาทิตย์ : พระมหาชนกเป็นพระชาติในลำดับที่ 2 ในทศชาติชาดก ต้องไล่ไหม ขี้เกียจอ่ะ เอาสูตรไปท่องแล้วกัน เต ชะ สุ เน มะ ภู จัน นา วิ เว
The MATTER : โอ้โห งานท่องคาถาทศชาติชาดกก็มา น้องๆ ม.6 จำไว้ท่องสอบโอเน็ตไว้เพิ่มคะแนนเผื่อ สทศ.เฉลยข้อสอบผิดก็ดีงามไปอีกแบบ (อุ้ย…) กลับมาที่พระมหาชนกกันเถอะอาจารย์
อ.อาทิตย์ : ในพระมหาชนกชาดกนั้น เป็นการแสดงให้เห็นถึงการบำเพ็ญ วิริยะบารมีของพระโพธิสัตว์ เรื่องราวก็มีอยู่ว่า พระมหาชนกเป็นลูกของพระอริฏฐชนก กษัตริย์แห่งกรุงมิถิลา
ทีนี้ แกก็ตั้งน้องชายเป็นอุปราช ชื่อว่า โปลชนก ไอ้พวกขุนนางน่ะ มันไปใส่ร้ายพระโปลชนก ไปเพ็ดทูลพระอริฏฐชนกว่าพระโปลชนกแกคิดไม่ซื่อ พระอริฏฐชนกก็สั่งขังพระโปลชนก พระโปลชนกก็เลยตั้งจิตอธิษฐานและหนีไปได้
ต่อมาพระโปลชนกแกก็เอาคืน ยกทัพมารบ สรุปพระอริฏฐชนกสิ้นพระชนม์ในสนามรบ พระเทวีซึ่งกำลังทรงครรภ์ ก็หลบหนีออกไปนอกเมืองได้ด้วยความช่วยเหลือของท้าวสักกราชหรือพระอินทร์นี่แหละ จากนั้นพระเทวีก็ไปอยู่เมืองกาลจัมปะ มีพราหมณ์รับอุปถัมภ์เป็นน้องสาว
ต่อมาพระชนกก็ประสูติ พอโตขึ้นพระชนกรู้ความจริง ก็คิดจะไปค้าขายตั้งตัวแล้วเอาพระราชสมบัติคืน จึงล่องเรือไปค้าขายที่สุวรรณภูมิ ก็คืออุษาคเนย์เรานี่แหละ
ไคล์แมกซ์ของเรื่องอยู่ตรงนี้ คือระหว่างทางเจอพายุ เรือล่ม เรือแตก ทุกคนในเรือตายหมด พระชนกตัดสินใจว่ายน้ำจนกว่าจะถึงฝั่ง ว่ายอยู่ 7 วัน 7 คืน นางเมขลา (นางฟ้าที่ชอบล่อแก้วนั่นแหละ ฟ้าแล่บแปร้บๆ น่ะฝีมือเธอ) ก็มาช่วยอุ้มไปถึงเมืองมิถิลานครโน่น
แต่ตอนนั้นพระโปลชนกสวรรคตพอดี เหลือแต่พระราชธิดาคือ สิวลีเทวี ก่อนสวรรคตทรงตั้งปริศนาเรื่องขุมทรัพย์ทั้งสิบหกไว้สำหรับผู้จะขึ้นครองราชย์ต่อไป แต่ไม่มีผู้ใดไขปริศนาได้ เหล่าอมาตย์จึงได้ประชุมกันแล้วปล่อยราชรถ ราชรถก็แล่นไปยังที่มหาชนกบรรทมอยู่ เหล่าอมาตย์จึงเชิญเสด็จขึ้นครองราชย์และอภิเษกกับสีวลีเทวี ทรงไขปริศนาต่างๆ ได้ และทรงครองราชสมบัติโดยธรรม
ต่อมาก็มีเรื่องต้นมะม่วงอีกน่ะนะ คือ มันก็ไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญของชาดกนี้ เพราะแก่นเรื่องที่สำคัญคือเรื่องความเพียรที่พระมหาชนกว่ายน้ำในมหาสมุทร 7 วัน 7 คืน ถือเป็นการบำเพ็ญวิริยบารมี ซึ่งเป็นหนึ่งในบารมีสิบประการของพระพุทธเจ้า
The MATTER : อื้อหือ มาเต็มมาก เรียกว่าฟังอาจารย์อาทิตย์อันนี้อันเดียวอยู่ คุยเรื่องพระมหาชนกกับคนอื่นเขารู้เรื่องแน่นอน เอ แล้วการที่ท่านนายกฯเปรียบว่า คสช. เหมือนพระมหาชนกต้องพาตัวเองและประเทศชาติไปให้ถึงฝั่งในทางวรรณคดีมันควรว่ายังไงฮะ
อ.อาทิตย์ : ในพระชาตินี้ พระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีที่เรียกว่า ‘วิริยะบารมี’ ซึ่งถ้าไปดูพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม โดยท่าน ปอ. ปยุตโต. นะครับ ก็หมายถึง “ความเพียร ความแกล้วกล้า ไม่เกรงกลัวอุปสรรค พยายามบากบั่นอุตสาหะ ก้าวหน้าเรื่อยไป ไม่ทอดทิ้งธุระหน้าที่”
ทีนี้ต้องถามพลเอกประยุทธ์น่ะครับ ว่าแกกำลังเพียรทำอะไร ทุกวันนี้มันใช่หน้าที่แกหรือไม่ คือหน้าที่การบริหารประเทศนี่ ไม่ใช่เรื่องของทหารไงครับ ทหารไม่มีความรู้ในเรื่องพวกนี้ จะหาว่าผมกล่าวหาก็ไม่ได้นะครับ นี่ธนาคารแทบจะไม่มีดอกเบี้ยเงินฝากแล้วนะครับ ยังไม่นับการถูกเลิกจ้างของแรงงานจำนวนมาก อีกทั้งการบริหารประเทศมันมีเรื่องสิทธิมนุษยชนอีก แหม่ ผลงานดีๆ ทั้งนั้น
สิ่งที่ควรเพียรพยายามนี่หมายถึงหน้าที่ของตัวเองด้วยนะครับ ถ้าจะบอกว่า เข้ามาแล้ว ต้องทำให้เต็มที่ ไม่กลัวอุปสรรค มีความพยายามบากบั่น อุตสาหะ ปัดโธ่ ก็ใครเขาให้ท่านเข้ามาทำล่ะครับ ท่านใช้กำลังยึดอำนาจมานะครับ เข้ามาสู่อำนาจก็ไม่ถูกแล้ว มันไม่ชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตย จะทำอะไรให้มันถูกมันก็เป็นไปไม่ได้
ต้องไม่ลืมนะครับ ตอนพระมหาชนว่ายน้ำอยู่กลางมหาสมุทร 7 วัน 7 คืน นี่ พระมหาชนกไม่บ่นสักคำ ก้มหน้าก้มตาว่ายไป พลเอกประยุทธ์และคสช. นี่ผมเห็นด่าสื่อทั้งวัน ด่านักวิชาการทุกวัน โมโหปรี๊ดแตกทุกวัน โดนวิจารณ์การทำงานก็หงุดหงิด นี่ถ้าพวกท่านมีความพยายามอย่างพระมหาชนกจริงๆ ผมคงไม่ต้องนั่งดูท่านโมโหทุกวี่ทุกวันหรอก มันเสียสุขภาพจิตผม
มันไม่ใช่ว่าผิดฝาผิดตัวนะครับ แต่มันไม่ใช่เรื่อง ปัดโธ่
The MATTER : ปัดโธ่! ถ้าลุงตู่อยากชวนไปปรับทัศนคติ สามารถติดต่อของที่อยู่อาจารย์อาทิตย์จาก The MATTER ได้โดยตรง (ลาก่อยอาจารย์) เอ แล้วสุดท้ายตามชาดกพระมหาชนกสามารถพาคนรอดขึ้นฝั่งได้ทั้งหมดจริง ๆ หรอ
อ.อาทิตย์ : แกรอดคนเดียวครับ (The MATTER : อ้าว แล้วกัน!) ที่พลเอกประยุทธ์บอกจะพาชาติขึ้นฝั่ง ปัดโธ่ ก็ท่านมาใช้กำลังฉุดพวกผมลงมหาสมุทรไปเองนะครับ ว่ายน้ำก็ไม่แข็ง ว่ายไม่เป็น ถ้าท่านยอมรับตรงๆ ว่าข้าพเจ้าจะพาท่านไปตาย ผมยังใจชื้นกว่านี้
The MATTER : ฮืออ ร้องไห้หนักมาก กลัวจมน้ำหรอครับ? เปล่าครับ กลัวโดนจับ! เราไปที่เรื่องวรรณกรรมๆ กันต่อดีกว่า อาจารย์คิดยังไงที่ปัจจุบันนี้คนชอบเอาเรื่องราวในวรรณคดีมาเทียบกันแบบงง ๆ เช่น การ Romanticize ว่าจริง ๆ ทศกันฐ์รักนางสีดามากกว่าพระรามอีก
อ.อาทิตย์ : คือไม่ได้รู้สึกอะไรในทางลบ คิดว่าเป็นเรื่องที่ดีครับ เพราะอย่างน้อยก็แปลได้ว่าวรรณคดีมันยังมีคนอ่านอยู่ ไม่ว่าจะอ่านในฐานะอะไรก็ตาม มันช่วยตอบคำถามผมมานานนับสิบปีว่าผมเรียนวรรณคดีไทยมาทำไม
แต่ทีนี้ การโต้เถียง โต้แย้งกัน มันก็เป็นคนละเรื่อง คนละประเด็นกัน ผมคิดว่าวรรณคดีไทยต้องถูกอ่านได้หลายๆ แบบ อย่าไปอ่านแค่แบบเดียว อย่าไปอ่านอย่างเดียวว่าวรรณศิลป์มันคืออะไร อลังการศาสตร์ของวรรณคดีไทยคืออะไร การใช้คำ ความเปรียบ ภาพพจน์เป็นอย่างไร ให้วรรณคดีไทยมันรับใช้ชีวิตคนอ่านเถอะครับ ดีที่สุดเลย
แต่ก็ยืนยันว่า การถกเถียงกันจนหน้าดำคร่ำเครียดเป็นคนละเรื่องกับการที่วรรณคดีไทยถูกเอามาเปรียบเทียบแบบงงๆ ก็วิจารณ์และอภิปรายกันไปครับ
The MATTER : แล้วในทางวรรณคดีมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ไหม ทศกัณฐ์ดีกับนางสีดาจริงเหรอ?
อ.อาทิตย์ : ในประเด็นที่ว่า โรแมนติไซส์วรรณคดีนั้น มันก็เป็นความฝันหวานของผู้อ่านจำนวนไม่น้อยแหละครับ เหมือนพวกแฟนฟิคอะไรแบบนั้น อย่างเช่น ทศกัณฐ์รักนางสีดามากกว่าพระรามจริงไหม ในตัวเรื่องมันไม่ได้บอกอะไรแบบนั้นไง นี่คือเรื่องของการตีความละ ซึ่งจะเห็นด้วยหรือไม่ ก็ไปเถียงกัน
สำหรับผม ทศกัณฐ์มันหน้ามืดครับ มันจะเอานางสีดาทำเมียอย่างเดียวเลย มันไม่ได้รักโรแมนติคห่าเหวอะไรขนาดนั้น นางสีดานี่ลูกสาวทศกัณฐ์นะครับ นางเกิดมา นางก็ร้องว่า “ผลาญราพณ์ๆๆๆ” ซึ่งแปลว่าฆ่ายักษ์ๆ ทศกัณฐ์แม่งเอาไปลอยน้ำเลยครับ อีกอย่างโหรก็ทำนายว่าเป็นกาลกิณีด้วย ทีนี้ ดันหน้ามืด ใครเตือนอะไรไม่ฟัง กูจะเอาอ่ะ กว่าจะคิดได้ก็ตายห่าเสียแล้ว
ทศกัณฐ์นี่นะ เป็นยักษ์ชั้นสูง ยักษ์ไฮโซ คือแกเป็นตระกูลพรหมน่ะ แล้วก็มักมากในกามแท้ๆ เลย ไม่เลือกเลย ทั้งสัตว์เล็ก สัตว์ใหญ่ คน อมนุษย์ ยักษ์ นางฟ้า โอย สารพัด
ส่วนพระรามนี่นะ บอบบางเหลือเกิน ดูเหมือนจะเข้มแข็ง นางเบญกายลอยทวนน้ำมาหลอกว่านางสีดาตาย แกร้องไห้จนเป็นลม แล้วไปดูเถอะ พระรามน่ะ ไม่เคยเจ็บตัวสักที มีแต่น้องชายน่ะ (พระลักษณ์) รับแทนตลอดเลย
The MATTER : ความโรแมนติคหดตัวไป 19 ระดับ เพราะรามเกียรติ์เวอร์ชั่นไทย ทศกัณฐ์เป็นพ่อนางสีดาจ้ะ แล้วอย่างนี้ในฐานะคนเป็นอาจารย์ อาจารย์คิดว่าการเอาวรรณคดีมาใช้แบบไม่รู้อิโหน่อิเหน่มันมีผลดี ผลเสียอย่างไร
อ.อาทิตย์ : อย่างที่บอกไปแล้ว ผมเฉยๆ ว่ะ ในแง่นึงมันอาจจะดีด้วย เพราะก็แปลว่ายังมีคนอ่านอยู่ นี่ไม่ได้คิดว่าการที่คนอ่านวรรณคดีไทยมันจะช่วยทำให้วัฒนธรรมไทย วรรณศิลป์ของไทยยังไม่ตายยังคงดำรงอยู่นะ ไม่เกี่ยว แต่มันแปลว่า วรรณคดีมันสามารถปรับตัวตามยุคสมัยได้ แปลว่ามันยังเวิร์คอยู่น่ะครับ
The MATTER : นั่นสิเนอะ การที่มีคนพูดถึงแปลว่ายังมีคนอ่าน แล้วอาจารย์อยากบอกอะไรกับคนที่สนใจในวรรณคดีเหล่านี้ เพราะในสายตาคนรุ่นใหม่ก็รู้สึกว่าทำไม้ทำไมมันดูเข้าถึงยากจัง
อ.อาทิตย์ : สิ่งที่ผมคิดว่าต้องเพิ่มเติมคือการวิจารณ์ครับ ที่ผ่านมาเราเรียนและอ่านวรรณคดีไทยกันแบบชื่นชมน้ำหูน้ำตาไหล วิจารณ์กันมั่งก็ได้ ส่วนจะวิจารณ์ผิดถูกยังไง นั่นอีกประเด็นนึง คือผมยืนยันในการถกเถียงอ่ะ มันต้องวิจารณ์กัน ซัดกันด้วยความคิด
The MATTER : สุดท้ายอาจารย์คิดว่ายังมีอะไรที่คนชอบเอาไปใช้ ไปเทียบแบบงงๆ อีกประเภทที่ว่า แกๆ แกเข้าใจผิดอ่ะ (เช่น นางวันทองอาจจะไม่ได้สองใจนะ ขุนแผนไม่ได้เจ้าชู้หรอก โมราก็ไม่ได้ฆ่าผัวว่ะ อะไรทำนองนี้)
อ.อาทิตย์ : มันก็มีหลายเรื่องนะ เอาเรื่องที่ผมรำคาญสุดๆ คือ ความเป็นกุลสตรีไทยที่มักอ้างอิงกับนางเอกวรรณคดีไทยนั่นแหละ นี่คุณรู้ไหม นางเอกวรรณคดีไทยจำนวนมากเลยนะครับที่เสียตัวก่อนแต่งงาน มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรตามมาตรฐานปัจจุบัน
The MATTER : คุณพระ! นี่เราเข้าใจผิดมาตลอดเหรอเนี่ย?
อ.อาทิตย์ : คุณจะนับพระเพื่อนพระแพงเป็นนางเอกวรรณคดีไทยไหมล่ะ สองนางนั่น แย่งผัวชาวบ้านนะครับ ทำเสน่ห์เรียกผู้ชายมาสมสู่ในบ้าน แถมตอนที่เสียตัวนี่ก็เด็กมากๆ ด้วย อ่ะ อย่างน้อยขนอวัยวะเพศก็ยังไม่ขึ้นเลยนะครับ
The MATTER : งานบทอัศจรรย์ก็มา เรื่องนางในวรรณคดีนี่น่าสนุกมาก มีเรื่องไหนที่อาจารย์อยากนำเสนออีก
อ.อาทิตย์ : เรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์ เทวดานี่มาอุ้มพระสมุทรโฆษไปมีเพศสัมพันธ์กับนางพินทุมดีนะครับ ชื่อเช่อไม่ถามสักคำ ได้กันแล้ว เสร็จกิจ เทวดาอุ้มพระสมุทรโฆษกลับไป ทั้งคู่ตื่นมาด้วยความมึนงง
ทวาทศมาสโคลงดั้นนี่ลองไปอ่านนะครับ ‘พี่’ ในเรื่องนี่จับหน้าอก ‘น้อง’ แบบบทเว้นบทเลยนะครับ
วรรณคดีทั้งสามเรื่องที่ผมยกตัวอย่างนะ สองเรื่องแรก วรรณคดีสโมสรยกย่องให้เป็นยอดของลิลิตและคำฉันท์ตามลำดับ ส่วนเรื่องที่สามโบราณคดีสโมสรให้การยกย่องนะครับ
คือครูบาอาจารย์วรรณคดีมาอ่านที่ผมให้สัมภาษณ์ ท่านก็ด่าผมจนหูชานั่นแหละครับ แต่แหม ผมอ่านวรรณคดีด้วยวิธีแบบพวกท่านมาจนผมเบื่อแล้วอ่ะครับ อีกอย่าง ความพยายามในการสร้างคุณค่าและมาตรฐานทางศีลธรรมให้แก่ผู้คนในสังคมโดยใช้วรรณคดีเป็นตัวอ้างอิงนี่ผมก็รำคาญเหมือนกันน่ะครับ
The MATTER : จากพระมหาชนก ไล่เรื่อยมาจนทศกัณฐ์ ถึงนางในวรรณคดี ยาวไปถึงบทอัศจรรย์และวิพากษ์ วิจารณ์วรรณคดี เรียกว่าคุยกับ อ.อาทิตย์ ศรีจันทร์ คนเดียว ครบ ดีงามจริงๆ
ที่เขาว่าคนไทยอ่านหนังสือไม่เกิน 8 บรรทัดเห็นจะไม่จริง (อ่านบทสัมภาษณ์นี้จบก็เกิน 8 บรรทัดมาสิบตลบแล้ว) เพราะอย่างน้อยเราก็ดูมีความสนใจแบบเฉียดๆ มาทางวรรณคดีอยู่ไม่น้อย แต่ไหนๆ ก็เฉียดมาใกล้ทั้งที จะเป็นนายกหรือประชาชนก็ลงมืออ่านฉบับเต็มกันบ้าง หรือลองค้นคว้าหาฉบับวิจารณ์ ฉบับวิเคราะห์ ฉบับสรุปอ่านประดับความรู้และช่วยกันตั้งคำถามหน่อยก็ยังดี เปรียบวรรณคดีทั้งทีจะได้ไม่อึกอักๆ
โดยเฉพาะวรรณคดีทางพุทธศาสนา อย่างพระมหาชนก ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงคุณค่าหาอะไรเปรียบมิได้ ควรค่าแก่การอ่าน ศึกษาและน้อมนำมาปฏิบัติอย่างถ่องแท้
อ้างอิงข้อมูลจาก