สิงหาจึงเป็นวันที่ต้องเลือกว่าจะอยู่กับอนาคตที่เราเลือกได้ หรืออนาคตที่เขาเลือกให้
‘7 สิงหาคม’ ถ้าไม่ได้บังเอิญตรงกับวันคล้ายวันเกิดใครก็คงเป็นวันธรรมดาสามัญอีกวันหนึ่ง แต่เดี๋ยวก่อน
‘7 สิงหาคม’ ปีนี้ไม่ใช่แค่วันธรรมดาอีกต่อไป เพราะเป็น ‘วันลงประชามติ’ ว่าเราจะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่รับ
ยิ่งใกล้วันเข้ามาแต่หลายคนก็รู้สึกว่าเรื่องมันไกลตัวจัง ตกลงการลงประชามติไกลตัวอย่างที่คิดจริงไหม
ก็พอรู้ว่าถ้าโหวตรับร่างฯ จะเป็นยังไง แต่ถ้าออกเสียงไม่รับร่างฯ ล่ะ จะถึงขั้นประเทศชาติขาดโอกาสพัฒนาอย่างที่เขาขู่กันมาหรือเปล่า? ไม่ต้องทนคิ้วขมวดอีกต่อไป The MATTER อาสาทำให้คิ้วที่ขมวดเป็นปมใหญ่ค่อยๆ คลายลง
The MATTER ได้รับเกียรติจากตัวจริงเสียจริงอย่าง ศาสตราจารย์ ดร.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาพูดคุยกันแบบลงลึกเรื่องการลงประชามติที่ใกล้เข้ามาและชวนให้คิ้วขมวดกันทั้งเมือง
แต่ถ้ากลัวเจาะลึกไม่จุใจพอ อยากได้แบบกว้างและหลากหลายด้วย เราก็ชวน 2 นักกฎหมายรุ่นใหม่ที่สละเวลามาคุยไปพร้อมๆ กัน ทั้ง เป๋า ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw เว็บกฎหมายที่ข้อมูลแน่นปึ้กแต่อ่านเข้าใจง้ายง่าย และ รังสิมันต์ โรม นักกิจกรรมคนสำคัญจากขบวนการประชาธิปไตยใหม่ หรือ NDM
จะรออะไร ไปฟังความคิดเห็นของพวกเขาให้จุใจแบบ 3in1 กัน
The MATTER : อะไรที่ไกลตัว หรือรู้สึกว่าไม่ค่อยเกี่ยวกับตัวเองก็มักจะอยู่นอกเหนือความสนใจของเราเป็นธรรมดา ศ.เกษียร เป๋า และโรม อยากฝากอะไรถึงคนที่คิดว่า โอ๊ยย ลงประชามติอะไรทำไมมันไกลตัวเราจัง?
ศ.เกษียร : มันใกล้ตัวขนาดรายการทีวีทุกวันตอนหกโมงเย็นและทุกศุกร์ตอน 2 ทุ่มกว่านี่แหละ ถ้าคิดว่าชอบดูรายการบังคับพิเศษนี้ไปอีก 20 ปีก็ควรไปโหวตรับ แต่ถ้าไม่ชอบและอยากได้ดูรายการอื่นบ้างก็
อย่ารับ
The MATTER : อื้อหือ แค่อาจารย์เกษียรก็จี๊ดแล้ว ใกล้ตัวไม่ใกล้ตัวล่ะ ก็พูดกันอยู่ทุกวี่ทุกวันขนาดนี้ ฟังบ้างนะ อย่าเอาแต่ปิดทีวีหนีสิ (ยิ้มอ่อน มองแรง)
The MATTER : เจอรุ่นใหญ่ไปแล้ว แล้วรุ่นใหม่ล่ะ อยากบอกอะไรถึงคนที่มองว่าการลงประชามติมันไม่น่าเกี่ยวกับชีวิตเราขนาดนั้น
เป๋า : คนที่กำลังต้องใช้สมาธิทำมาหากินอยู่ อาจมองไม่เห็นว่าการทำประชามติจะส่งผลอย่างไรกับชีวิต ความขัดแย้งทางการเมืองจะส่งผลอย่างไรกับชีวิต แต่เราก็พอเข้าใจได้ว่าวิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองตลอดเวลาที่ผ่านมาอย่างน้อยก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและส่งผลต่อชีวิตทุกคนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นความพยายามที่จะแก้ปัญหาและออกจากความขัดแย้งที่เคยมีมา ซึ่งคนจะเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ได้หรือไม่ ก็ฝากให้ศึกษาดูคร่าวๆ ศึกษาบทสรุปนิดหน่อยก็พอเข้าใจได้ ไม่ต้องถึงกับอ่านทั้งฉบับทุกมาตรา
แล้วหากเห็นว่าร่างนี้ดีก็ไปโหวตรับ ถ้าเห็นว่าร่างนี้แก้ปัญหาอะไรไม่ได้ หรืออาจจะสร้างปัญหาเพิ่ม ก็โหวตไม่รับได้เช่นกัน
libertarianism.org
โรม : จริงๆ เรื่องการลงประชามติ คือ การที่ประชาชนจะได้พูดได้ตัดสินใจว่าจะเอายังไงดีกับอนาคต หลายครั้งที่เราได้ดูโทรทัศน์แล้วเห็นโพลสำนักนู้นสำนักนี้อ้างการสำรวจประชาชนต่างๆ นานาทั้งๆ ที่พวกเรา หรือพวกคุณก็เป็นประชาชนเหมือนกัน แต่ทำไมถึงไม่มีใครมาถามเลยว่าเราคิดยังไงบ้าง
นี่จึงเป็นโอกาสที่จะได้พูด ได้ตัดสินใจว่าจะเอายังไง มันอาจจะเป็นสิทธิในการไม่ไปลงคะแนนนะ แต่สุดท้ายหากคุณไม่ทำอะไร นอนอยู่เฉย ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นต่อจากนั้นคุณก็ต้องอยู่กับมัน วันที่ 7 สิงหา จึงเป็นวันที่ต้องเลือกว่าจะอยู่กับอนาคตที่เราเลือกได้ หรืออนาคตที่เขาเลือกให้ ประชาชนเท่านั้นเป็นผู้ตัดสิน
The MATTER : คมจนยืมไปใช้แทนมีดได้ก็คำพูดโรมนี่แหละ The matter ขอโควทให้เน้นๆ อีกทีว่า “วันที่ 7 สิงหา จึงเป็นวันที่ต้องเลือกว่าจะอยู่กับอนาคตที่เราเลือกได้ หรืออนาคตที่เขาเลือกให้ ประชาชนเท่านั้นเป็นผู้ตัดสิน”
The MATTER : เอ แล้วที่เขาว่ากันว่าการโหวตโน ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้เสียเวลาบ้างทำให้ประเทศชาติไม่พัฒนาบ้างนี่จริงไหม?
โรม : ไม่จริงเลย เพราะ อย่างแรกการโหวตเยส หรือรับร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ทำให้ประเทศไทยเดินหน้าได้เร็วขึ้น เนื่องจากกว่าจะมีการเลือกตั้งก็ใช้เวลาเร็วที่สุดก็คือปีครึ่งนับจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ที่สำคัญเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญได้ทำให้ประเทศไทยถอยหลังไปกว่าเดิม เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้วางกลไกที่จะสืบอำนาจของ คสช. ผ่านองค์กรอิสระ และ ส.ว.
เป๋า : ถ้าโหวตโน เพราะคนที่โหวตรู้สึกว่าไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เป็นสิทธิโดยชอบธรรมตามระบอบที่คนจะไปโหวต ส่วนผลหลังจากนั้นจะเสียเวลาหรือเปล่า จะทำให้เลือกตั้งช้าหรือเปล่า ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผลการลงประชามติอย่างเดียว ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองและคสช.ด้วย
ถ้าคนโหวตโนด้วยจิตใจบริสุทธ์ เพราะไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ คงไม่ได้ทำให้ประเทศไม่พัฒนา ตรงกันข้าม เมื่อประชาชนมีความเข้าใจ มีความคิดเห็น และรู้จักใช้สิทธิของตัวเองร่วมกำหนดอนาคตประเทศ ก็มีแต่จะทำให้ประเทศชาติพัฒนาขึ้น
The MATTER : ยังอยู่ที่คำถามเดิม อาจารย์เกษียรคิดว่าการโหวตโนนี่ทำให้ประเทศ เสียเวลา และไม่พัฒนาจริงไหม?
ศ.เกษียร: ประเทศไทยเสียเวลา 10 ปีที่ผ่านมาและไม่พัฒนาไปไหนเพราะไม่สามารถแสวงหาระเบียบอำนาจที่เป็นที่ยอมรับของฝ่ายต่างๆ ที่ขัดแย้งกันอย่างกว้างขวางได้
ที่ไม่เป็นที่ยอมรับเพราะแนวทางต่างๆ ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาล้วนปฏิเสธอำนาจเสียงข้างมากตามหลักพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยสากล และเอาอำนาจเสียงข้างน้อยมากำกับควบคุมชักเชิดเสียงข้างมากแทน ทำให้แนวทางและระบอบต่างๆ ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาขาดความมั่นคง เพราะไม่เป็นที่ยอมรับของเสียงข้างมากและประชาคมนานาชาติคู่ค้าและคู่ลงทุนของเรา
รวมถึงไม่อาจแก้ไขความขัดแย้งแก่งแย่งอำนาจระหว่างเสียงข้างน้อยกลุ่มฝ่ายต่าง ๆ กันเองได้ว่าใครควรจะเป็นใหญ่และเป็นพลังนำ (ระหว่างตุลาการ, กองทัพ, เอ็นจีโอ, พลังมวลชนจัดตั้งฝ่ายขวา, ข้าราชการเกษียณที่กุมองค์กรอิสระทั้งหลาย ฯลฯ)
การโหวตโนคือการปฏิเสธที่จะเดินทางย่ำซ้ำรอยเก่าที่พิสูจน์แล้วว่าผิดพลาดในรอบ 10 ปี ทางออกใหม่ใดๆ ที่จะมั่นคง ไม่เสียเวลาและพัฒนาประเทศได้ ต้องเริ่มจากยอมรับอำนาจเสียงข้างมากและปกป้องสิทธิของเสียงข้างน้อย ไม่ใช่กลับตาลปัตรบิดเบือนประชาธิปไตยไปให้อำนาจกับเสียงข้างน้อยและล่วงละเมิดสิทธิของเสียงข้างมากแทนดังที่ผ่านมา
The MATTER : ใครที่คิดว่าโหวตโนไปแล้วจะทำให้ชักช้าเสียเวลาบ้างล่ะ ประเทศไม่พัฒนาบ้างล่ะ ก็ลองพิจารณาความเห็นอันหลากหลายด้านบนเอา หรือถ้าจะเห็นแย้ง ก็ถกเถียงกันอย่างสุภาพและมีเหตุผลกันเถอะ ยังไงก็ดีกว่าเชื่อๆ ตามๆ กันไปแบบไม่คิดเลยเนอะ
The MATTER : โหวตรับร่างก็พอนึกภาพกระบวนการออก แต่สมมตินะสมมติถ้าเราโหวตโนกัน แล้วผลประชามติออกมาว่าประชาชนไม่รับร่างฯนี้ แล้วจะเกิดกระบวนการอะไรขึ้นต่อจากนั้นล่ะ? เริ่มกันที่คำตอบแบบเข้าใจง๊ายง่ายสไตล์ iLaw ก่อนเลย
เป๋า: คสช. ยังไม่บอกว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น เมื่อคสช.ยังไม่บอก เราเลยยังไม่รู้อนาคตแน่นอน เหมือนว่าตอนนี้เขากุมอำนาจอยู่แล้ว อนาคตอะไรๆ ก็ขึ้นอยู่กับพวกเขา
จริงๆ แล้วไม่ว่าจะร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน อำนาจก็อยู่ที่เขาอยู่ดี แม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติ ก็ไม่แน่ว่าทุกอย่างจะเดินไปตามโรดแมปที่คสช.ประกาศไว้ วันนึงเขาอาจจะเปลี่ยนใจแล้วก็แก้รัฐธรรมนูญใหม่อีกก็ได้ ตราบใดที่เขายังอยู่ในอำนาจ
The MATTER : แล้วถ้าว่ากันด้วยหลักการล่ะ ถ้าเราโหวตโนกันไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง?
ศ.เกษียร : กระบวนการที่จะเกิดขึ้นย่อมถูกกำหนดโดย คสช.ในฐานะที่กุมอำนาจรัฐอาญาสิทธิ์อยู่ ไม่ใช่ฝ่ายประชาชนหรือผู้ลงประชามติไม่รับร่างเสียงข้างมาก และฐานะที่กุมเกม กุมกติกาอย่างเป็นฝ่ายกระทำของคสช.ย่อมไม่เปลี่ยน ตราบที่คสช.ยังกุมอำนาจรัฐอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (ชั่วคราว 2557)
อย่างไรก็ตาม หากผลประชามติออกมาว่าประชาชนไม่รับร่างอย่างชัดเจน ต่อให้คสช.กุมเกมกติกาและอยู่ในฐานะได้เปรียบเพราะมีอำนาจอาญาสิทธิ์ ก็ต้องรับฟังและปรับกระบวนการที่จะทำต่อไปให้สนองตอบมติเสียงไม่รับข้างมากบ้างไม่มากก็น้อย
ทั้งนี้เนื่องจากจุดอ่อนสำคัญที่สุดของระบอบอำนาจปัจจุบันคือความชอบธรรม ที่คสช.จัดให้มีประชามติร่างรัฐธรรมนูญก็เพื่อแสวงหาความชอบธรรมจากเสียงประชาชนมารองรับระเบียบอำนาจที่จะสร้างขึ้นอย่างถาวร หากเสียงประชาชนออกมาตรงข้ามกับที่คสช.คาดหวัง คสช.ก็จะถูกกดดันให้หาทางสนองตอบบ้างเท่าที่ไม่กระทบผลประโยชน์พื้นฐานของตนเพื่อไม่เป็นการบ่อนเบียนฐานความชอบธรรมที่พร่องอยู่แล้วให้หลุดลุ่ยเหลวเป๋วไปกว่านี้
เท่าที่รองนายกฯวิษณุ เครืองามเคยอธิบายเรื่องนี้ก็คงมีการเตรียมร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่อาจผสมผเสร่างบวรศักดิ์ ร่างมีชัยและข้อเสนอของคสช.เข้าด้วยกัน ร่างนั้นคงต่างจากร่างมีชัยไปบ้าง
อาจ ‘ดีขึ้น’ ในบางแง่ แต่แง่อื่นอาจ ‘แย่ลง’ที่แน่ๆ ก็คือร่างใหม่นี้ย่อมไม่ขัดต่อผลประโยชน์และแนวทางพื้นฐานของคสช. นั่นแปลว่าร่างใหม่ก็คงมีปัญหาความชอบธรรมพื้นฐานด้านประชาธิปไตยอยู่ดี แต่มันจะอยู่ภายใต้แรงกดดันของมติมหาชนเสียงข้างมากที่แสดงออกมาจากประชามติแล้ว
The MATTER : เอ ถ้าอำนาจสิทธิ์ขาดอยู่ที่ คสช. ขนาดนี้ แถมร่างใหม่ก็อาจจะมีปัญหาความชอบธรรมพื้นฐานด้านประชาธิปไตยอยู่ดี แล้วแบบนี้ฝั่งนักกิจกรรมอย่างโรมจะว่ายังไง?
โรม : ในส่วนนี้เรามีกระบวนการต่อเนื่องแน่นอน เพราะ เรามองว่า การโหวตโนครั้งนี้มันไม่ได้แค่หมายถึงไม่เอาร่างรัฐธรรมนูญที่ คสช. ทำขึ้นมาเท่านั้น แต่ประชาชนต้องสามารถเป็นผู้กำหนดอนาคตของตัวเอง โดยการเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญได้ด้วย ส่วนกระบวนการจะเป็นแบบไหน ทาง NDM จะเสนออีกครั้งในช่วงเดือนกรกฎาคม ตอนนี้ขออุบไว้ก่อน
The MATTER : การให้รับๆ ร่างฯไปก่อนแล้วค่อยแก้ทีหลังล่ะ เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน?
ศ.เกษียร : ร่างรัฐธรรมนูญมีชัยได้วางกลไกมาตรการพิเศษทำนองด่านอรหันต์ที่ทำให้รัฐธรรมแก้ไขยากเย็นแสนเข็ญไว้ถึง 4 ชั้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในรัฐธรรมนูญฉบับใดของไทย
The MATTER : 4 ด่านอรหันต์ปราบเซียนที่ว่านี้มีอะไรบ้าง?
ศ.เกษียร : นอกเหนือจากเสียงข้างมากปกติของสองสภาแล้ว
1. การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องได้เสียง 1 ใน 3 ของวุฒิสภา ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั่วไปของพลเมืองและในช่วง 5 ปีแรกล้วนคัดสรรโดยคสช.
2. ต้องได้ 20% ของเสียงพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
3. หากเป็นการแก้ไขประเด็นสำคัญเช่นหมวดพระมหากษัตริย์หรือลักษณะพื้นฐานของระบอบ ต้องผ่านประชามติ
4. หากมีเสียงข้างน้อยในสองสภาสงสัยว่าเข้าข่ายข้อ 3 อาจรวบรวมรายชื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจซ้ำอีกครั้ง
สรุปคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้วางหมากไว้ยากยิ่งเป็นพิเศษในทางกติกาและคงเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ
เป๋า : ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ออกแบบมาให้แก้ไม่ได้อยู่แล้ว ไม่ใช่แก้ยาก แต่กลไกออกแบบมาให้หากมีคนกลุ่มหนึ่งไม่เห็นด้วย ก็แก้ไม่ได้เลย ดังนั้น คนที่คิดว่ามีความรู้และศึกษาร่างมาระดับหนึ่ง หากยังบอกว่าควรจะรับไปก่อนแล้วแก้ทีหลัง ก็น่าจะเป็นคนที่กำลังโกหกเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของตัวเอง
โรม : ผมว่ามุขเดิม ไม่มีอะไรใหม่ สุดท้ายเอาเข้าจริงมันแก้ไม่ได้ รัฐธรรมนูญปี 50 กลไกป้องกันการแก้รัฐธรรมนูญยังไม่เข้มข้นขนาดนี้ยังแก้ไม่ได้เลย นี่กลไกป้องกันการแก้เข้มข้นมาก ไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะแก้ได้
The MATTER : สิทธิจะลงเสียงว่ารับหรือไม่รับก็เป็นเรื่องส่วนบุคคลกันไป แต่ถ้าใครจะมาบอกว่า เอาน่า รับๆ ไปก่อนแล้วแก้ทีหลัง The MATTER อนุญาตให้เอาลิงค์บทความนี้ไปแปะให้เขาอ่านได้จ้ะ ไม่หวง (ยิ้มอ่อน)
The MATTER : คิดว่ายังมีอะไรที่คนไม่รู้หรือเข้าใจผิดเกี่ยวกับการลงประชามติครั้งนี้?
เป๋า : มีเยอะมากๆ คนไม่รู้ว่า สามารถลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อใช้สิทธินอกเขตได้ และคนไม่รู้ว่าถ้าอายุ 18 ปีบริบูรณ์ ก่อนวันที่ 7 สิงหาคม ก็มีสิทธิลงคะแนนได้แล้ว
ที่น่ากังวล คือ คิดว่าคนจำนวนมากไม่รู้ว่าการลงประชามติ มี 2 คำถาม และคำถามที่สองเขียนเอาไว้ยืดยาว เข้าใจยาก เหมือนพยายามจะซ่อนความหมายที่แท้จริงว่า ให้ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรีได้ ถ้ากระแสการตื่นตัวเป็นแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คงมีคนจำนวนมากเดินเข้าคูหาโดยไม่รู้ว่ามีคำถามที่สอง และอาจไปตัดสินใจในคูหา ซึ่งไม่รู้ว่าจะเข้าใจคำถามที่ยืดยาวนี้หรือเปล่า
อีกเรื่องที่อาจจะมีคนเข้าใจผิด คือ หากร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านจะได้เลือกตั้ง ซึ่งไม่ผิดเสียทีเดียว แต่ตามที่บทเฉพาะกาลเขียนไว้ หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านก็ได้เลือกตั้งอย่างเร็ว สิ้นปี 61
ศ.เกษียร : 2 เรื่อง คือ 1. คสช.ทำประชามติหนนี้เพื่อแสวงหาความชอบธรรมให้ระเบียบอำนาจตามร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไม่กล้าให้รณรงค์ประชามติอย่างเสรีเต็มที่ กะอีแค่อย่างไม่ค่อยเสรีเท่ากับประชามติ คปค.ปี 2549 ก็ยังไม่กล้า สะท้อนว่าคสช.มั่นใจประชาชนว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญน้อยกว่า และระแวงเสียงไม่รับมากขึ้นกว่าคปค.สมัยสิบปีก่อนมาก
2. ลงประชามติไม่ใช่เพียงรับ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่มันเป็นการลงประชามติรับ ไม่รับระเบียบอำนาจ คสช.ซึ่งมาเป็นแพ็คเกจเดียวกับร่างรัฐธรรมนูญและกินเวลายาวนานไปข้างหน้าอีก 5-20 ปีทีเดียว (1 ชั่วอายุคน)
จุใจพอหรือยัง? ถ้าครบกว่านี้ก็คงเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับเต็มแล้วล่ะ ซึ่งก็อย่าลืมหามาอ่านทำความเข้าใจใช้วิจารณญานตัวเองกันอีกที เพราะแค่งบจัดพิมพ์ร่างฯก็ปาเข้าไป 58 ล้านบาทถ้วนแล้ว ส่วนจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย จะรับหรือไม่รับก็อย่าลืมถกเถียงกันอย่างสุภาพและมีเหตุผล แล้วอย่าลืมออกไปลงคะแนนเสียงกันในวันที่ 7 สิงหาคมที่จะถึงนี้ด้วยนะ นายกฯจะได้ไม่เสียใจที่อุตส่าห์พูดซ้ำๆ ออกทีวีคนเดียวตั้งหลายวัน อิอิ