การเลือกตั้งใกล้เข้ามาทุกขณะ ท่ามกลางความคาดหวังว่าคนรุ่นใหม่จะออกมาใช้สิทธิกันเยอะๆ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง แม้จะมีผู้ใหญ่บางคนปรามาสว่า เด็กมันก็เลือกตามกระแส เลือกเพราะหน้าตา เท่านั้นแหล่ะ
ในสถานการณ์เช่นนี้ The MATTER ไปเจอสเตตัสบนเฟซบุ๊กของหญิงสาวคนหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะเธอเล่าถึงประสบการณ์ไปร่วมการชุมนุมทางการเมืองตลอด 13 ปีที่ผ่านมา ทุกสี ทุกข้าง ตั้งแต่ยังเรียนอยู่ชั้นประถม จนปัจจุบันเรียนจบออกมาทำงานแล้ว
และเมื่อเจอตัว ยิ่งได้คุยกัน ยิ่งพบว่าเธอมีอะไรที่น่าสนใจ เราจึงขอสัมภาษณ์เพื่อนำความคิดหนึ่งใน ‘คนรุ่นใหม่’ มาถ่ายทอดให้ ‘คนรุ่นก่อน’ ได้ลองอ่านกัน เพื่อจะได้รู้ว่า หนุ่มสาวยุคนี้-ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกระทำของบรรดาผู้ใหญ่ ก็ศึกษา สัมผัส และเข้าใจความขัดแย้งทางการเมืองไทยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ไม่แพ้คนที่มีอายุมากกว่าเลย เพียงแต่พวกเขาอาจมีวิธีคิดและวิธีแก้ปัญหาอีกรูปแบบหนึ่ง
เธอมีชื่อว่า ‘อลิน จารุอมรจิต’ – อายุ 24 ปี – ผู้บอกว่า ตัวเองเคยโดนเรียกว่า ‘สลิ่มเสื้อแดง’ – และกำลังจะได้ใช้สิทธิ เลือกตั้ง ส.ส.เป็นครั้งแรกของชีวิต ในวันที่ 24 มี.ค.นี้
The MATTER: อยากให้แนะนำตัวเอง
ตอนนี้ อายุ 24 เรียนจบสถาปัตย์ แต่ไม่ได้ทำงานสถาปัตย์ เป็นฟรีแลนซ์รับจัดงานคอนเสิร์ต
The MATTER: เคยมีส่วนร่วมทางการเมืองอะไรบ้าง เล่าให้ฟังหน่อย
ตั้งแต่ตอนที่มีม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ปี 2549 เราอยู่ประมาณ ป.5 ที่บ้านไปชุมนุมก็พาเราไปด้วย ซึ่งตอนนั้นเรายังไม่รู้เรื่องหรอก เขาบอกว่ารัฐบาลทักษิณ (ชินวัตร) โกงนะ เราก็พยายามจะเข้าใจ เรื่องขายหุ้น เลี่ยงภาษี FTA แต่มันยากเกินไปกว่าที่เราจะเข้าใจ แต่เราก็ได้ไปดูงิ้วธรรมศาสตร์ คือมันตลกมาก บันเทิงมาก ทำให้เรารู้สึกอินกับสิ่งที่โจมตีทักษิณอยู่ตอนนั้น จนเราก็เป็นส่วนหนึ่งที่พอเขาพูดว่า ทักษิณ.. เราก็ ออกไป! อะไรเงี้ย (หัวเราะ) แต่เราไม่เคยซื้อผ้าคาดหัวกู้ชาติ ไม่ค่อยพร็อพเขาเท่าไร
หลังจากนั้น พอทักษิณประกาศยุบสภา ก็เหมือนจะให้มีเลือกตั้งใหม่ ที่บ้านเราก็ไม่ได้ไปแล้ว เพราะคิดว่า ก็โอเค ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ให้ประชาชนตัดสิน แต่อยู่มาวันหนึ่งก็มีการรัฐประหารขึ้น ซึ่งพื้นเพเดิมที่บ้าน แม่เป็นเด็กธรรมศาสตร์ ก็ไม่ชอบการที่ทหารเข้ามาแทรกแซงการเมืองอยู่แล้ว เพราะผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ เราก็เลยรู้สึกว่า มันไม่ใช่แล้ว รัฐประหารทำไม เพื่ออะไร แล้วตอนนั้นก็เหมือนแกนนำพันธมิตรฯ ก็เริ่มเรียกร้องเอานายกฯ พระราชทาน มันเริ่มไม่ใช่แค่จะเอาทักษิณให้มีความผิด หรือให้เอาทักษิณออกไปแล้ว มันใหญ่กว่านั้นแล้ว เราก็เลยรู้สึกว่า มันไม่โอเค
The MATTER: หลังจากนั้นเห็นว่า เคยไปม็อบเสื้อแดง ม็อบเสื้อหลากสีด้วย
บ้านเราอยู่แถวรามคำแหง เขามาชุมนุมอยู่แถวราชมังคลากีฬาสถาน ก็มีพาเหรด มีขี่มอเตอร์ไซค์มาแถวๆ คอนโด เราก็สนใจว่า เห้ย ประท้วงอะไรกัน ก็เริ่มโตแล้วอยู่มัธยม ก็เริ่มอยากรู้อยากเห็นว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วที่บ้านก็ไม่ได้มีทีวีของทั้ง 2 สี ก็อ่านข่าวในทวิตเตอร์ เราก็อยากรู้ว่าในม็อบมันเป็นแบบที่เขานำเสนอข่าวกันจริงหรือเปล่า แล้วเขาพูดอะไรกัน มันมีแจกตังค์จริงไหม เราอยากรู้ไง ก็เลยไปม็อบเสื้อแดง เพื่อดูว่าเขาชุมนุมกันเรื่องอะไร ก็เข้าใจกันว่า อ๋อ เหมือนตอนนั้น รัฐบาลอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) ขึ้นมาโดยไม่ชอบธรรม เพราะมีการตัดสิทธิพรรคพลังประชาชน ทำให้ฝ่ายเสื้อแดงรู้สึกไม่พอใจ
แต่ช่วงหลังๆ มันน่ากลัวมาก เพราะมันมีที่เขาเรียกว่ากองกำลังไม่ทราบฝ่าย คือพอมีคนที่สามมาทีไร มันก็วุ่นวาย เราเห็นภาพที่มีคนตาย มีคนโดนยิงในวัด มีคนตายกลางถนน มีพยาบาลอาสาตาย ที่เรารู้ เพราะรู้จักกับพ่อเขา เห็นลูกตัวเองตายในทวิตเตอร์ พ่อเขาก็บอกว่าลูกเป็นพยาบาลอาสา ไปทุกม็อบ
คือเรารู้สึกมันโหดร้ายเกินไป แล้วก็ยังไม่มีใครต้องรับผิดชอบกับเรื่องนี้ แล้วเรื่องนี้ก็อินถึงขั้นโกรธแกนนำเลยนะ คือหักหลังประชาชนมากๆๆ เลย คือทำให้เรารู้สึกเลยนะว่า ประชาชนเหมือนเป็นเบี้ย แล้วเขาก็เล่นกันอยู่ข้างบนนั้น ว่าเขาจะเอายังไง เขาจะทำอะไร
ต่อมา ยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) ขึ้นมาเป็นนายกฯ แล้วมี พ.ร.บ.เซ็ตซีโร่ มันก็ยิ่งตอกย้ำว่า เขาดีลกันข้างบนหมดเลย แล้วประชาชนที่สู้เพื่ออุดมการณ์ของฝ่ายต่างๆ แทบไม่มีค่าอะไรเลย เราก็ไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.เซ็ตซีโร่นี้ เราก็ไปม็อบนกหวีดซึ่งแบบว่า ตอนนั้นมันก็มีศิลปินมาเล่นดนตรี แล้วก็แจกเบียร์ฟรีด้วย คือเป็นม็อบที่ชิลมาก แล้วมีร้านอาหารเจ้าดังนู่นนี่นั่นมาแจกอาหารเต็มไปหมด
แต่พอหลังจากที่ยิ่งลักษณ์ประกาศเอา พ.ร.บ.นี้ออกไปและยุบสภา แต่เขาก็ยังชุมนุมต่อ เราก็ไม่เอาด้วยแล้ว เพราะเรามีจุดยืนแค่ไม่เอา พ.ร.บ.เซ็ตซีโร่เท่านั้น ก็เลยไม่รู้ว่าเขาต้องการอะไร พึ่งมาจากคลิปสัมภาษณ์ของจอห์น วิญญู และกับดาราคนหนึ่งที่ไปร่วมม็อบ กปปส. เราดูจนจบเลยนะ แล้วก็รู้สึกได้ว่า เห้ย! คุณยังไม่รู้เลยว่าตัวเองต้องการอะไร (หัวเราะ) แล้วเป็นเรื่องที่เราอยากรู้มาตลอด คิดว่าคุณจะให้คำตอบเราได้ แต่คุณก็ตอบมาแค่ว่า ไม่รู้เหมือนกัน แค่ไม่ไว้ใจ ซึ่งมันไม่พอ…
The MATTER: ประสบการณ์จากการที่ไปสารพัดม็อบ เราได้อะไรจากไปมีส่วนร่วมทางการเมืองตรงๆ
มันทำให้เราเห็นว่า การถ่ายทอดของสื่อมันสำคัญมาก ในการกำหนดอะไรให้กับม็อบๆ นั้น ตัวอย่างเช่น ม็อบเสื้อแดงจะดูน่ากลัวมาก ดูรากหญ้า หรืออะไรต่างๆ ซึ่งพอเราไปจริงๆ มันก็เหมือนกันหมด มันก็มีคนนั่งตามม็อบ มีของขาย มีอาหารแจก ซึ่งถ้าไม่นับการสลายการชุมนุม การม็อบมันไม่ได้น่ากลัว สิ่งที่น่ากลัวคือการปิดถนน ที่มันกระทบต่อพื้นที่ตรงนั้นๆ แต่บรรยากาศมันไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น
แล้วเราก็จะตลกกับการพูดปลุกปั่นของแกนนำต่างๆ ว่าคนนี้จะมามุกไหน จะมีวาทกรรมอะไรใหม่ๆ มีคำอะไรมาโจมตีฝ่ายตรงข้าม มีแต่งเพลง มีนู่นมี่นี่ เราชอบดู ชอบสังเกต ก็รู้สึกว่าถ้าต่อๆ ไปจะมีม็อบ ถ้าปัญหามันคือมันต้องปิดถนน มันรบกวนเศรษฐกิจ ทำให้ภาพดูไม่มั่นคง เราลองจัดพื้นที่ ถ้าไม่พอใจอะไรก็มาประท้วงกันตรงนี้ มันก็จะดูไม่น่ากลัวนะ อารมณ์เหมือนไปคอนเสิร์ต แต่เป็นการทำเพื่ออุดมการณ์อะไรบางอย่าง เช่น เราไม่พอใจเรื่องการตัดผม การใส่ชุดนักเรียน ก็มาประท้วงกันตรงนี้ ก็น่าจะโอเคนะ
The MATTER: ไม่รู้สึกว่า การที่คนออกมาม็อบเป็นเรื่องแปลก เป็นเรื่องขัดแย้ง เพียงแค่จัดที่จัดทางให้มัน
ใช่ เพราะคนเราอยู่ในสังคมมันต้องเกิดการ debate กันอยู่แล้ว เหมือนทำงานกลุ่มก็ต้องมีการเสนอความเห็น มีคนส่วนน้อย คนส่วนมาก
มันเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว ถ้าไม่มีอ่ะจะแปลกมาก จะเห็นด้วยกับทุกๆ เรื่องที่รัฐบาลทำได้จริงๆ เหรอ
The MATTER: เห็นว่าเขียนเล่าประสบการณ์การไปม็อบต่างๆ ลงเฟซบุ๊กส่วนตัว และมีคนแชร์ไปไกลมาก เลยอยากถามว่าทำไมจึงตัดสินใจเขียนเรื่องนี้ ในยุคที่หลายๆ คนเลี่ยงจะแสดงออกเรื่องการเมือง
การเมือง.. อาจจะพูดแย่ๆ ก็ได้ เหมือนความบันเทิง สำหรับเรา elite นักการเมือง หรือคนที่มีอภิสิทธิ์ต่างๆ เหมือนเป็นดาราที่เราสามารถพูดเรื่องของเขาได้ ถ้าไม่หมิ่นประมาทเขา การเมืองไม่เหมือนศาสนาหรือจะต้องเคารพ จนพูดอะไรไม่ได้
เรามีเพื่อนคนหนึ่งที่ไม่สนใจการเมืองเลย แต่จู่ๆ มันก็ทักมาตอนตี 5 ว่าไม่ไหวแล้วมึง กูเครียดมากเลย ติดตามการเมืองมาหลายวันแล้ว นอนไม่หลับ คุยกับคนที่บ้านกับแฟนก็ไม่เข้าใจ แล้วได้ข้อมูลมาอย่างหนึ่ง แต่ก็ยังมีอีกเยอะมากๆ ที่ต้องไปหา ต้องไปรู้ ต้องไปอ่าน เราก็สงสารเพื่อน แล้วก็คิดว่ามีอีกกี่คนที่ตกอยู่ในสภาพนี้
อย่างเราติดตามมาตลอด ก็พอรู้เรื่องราว ตัวละครไหนเป็นใคร แต่คนที่ไม่เคยรู้เลย เป็นเรื่องยากมาก 13 ปี ยิ่งกว่า Game of Thrones ถึง 8 ภาค เราก็เลยรู้สึกว่าอยากจะเล่าในมุมมองของเรา เพื่อให้เพื่อนในรุ่นหรือคนใกล้ตัวฟัง แต่มันไปไกลมากเลยนะ ซึ่งเราก็ไม่คิดว่ามันจะไปไกลขนาดนี้
เราชอบดูฟีดแบ็ก อ่านทุกคอมเม้นต์ แล้วก็ไปตามดูว่า คนที่แชร์เขาพูดอะไรกันบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่ก็บอกว่าอ่านเป็นความรู้ เพลินๆ ทบทวนอดีต แต่ก็มีคนเข้ามาโจมตี ก็เป็นประสบการณ์แปลกๆ ดี
แต่เราก็เป็นคนที่โดนโจมตีตั้งแต่เด็ก เช่น เคยไปพูดเรื่องเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่น ก็ถูกด่าว่าเป็นพวกหัวตะวันตก หัวฝรั่ง ล่าสุดก็ถูกด่าว่าเป็นสลิ่มเสื้อแดง คือไม่ใช่เสื้อแดงปกตินะ เท่มากเลยนะ จนต้องไปเซิร์ชกูเกิ้ลว่ามันคืออะไร คือเราโดนโจมตีอยู่แล้ว จากคนที่ไม่รู้จัก จึงไม่จำเป็นจะต้องเอาความรู้สึกไปผูกตรงนี้ แต่เราก็ฟังนะว่าเขาโจมตีเรื่องอะไร
The MATTER: รู้สึกอย่างไรในฐานะเป็นคนรุ่นที่โตมากับความขัดแย้งตลอด 13 ปีที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีส่วนในการสร้างความขัดแย้ง
รู้สึกว่าเราได้บทเรียน เราก็ไม่รู้หรอกว่า ยุคไหนมันทุกข์กว่ากัน แต่เราได้บทเรียนอย่างหนึ่ง คือตั้งแต่เด็กๆ เราเห็นผู้ใหญ่ ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างหนึ่งไป unfriend เพื่อน block เพื่อน เราก็คิดว่า อุดมการณ์ทางการเมืองนี่มันทำให้เพื่อนที่คบกันมาสิบกว่าปี เลิกคบกันได้จริงๆ เหรอ ซึ่งตรงนี้เรามีจุดยืนที่แตกต่างออกไป เพื่อนก็คือเพื่อน แล้วบางทีมันสำคัญกว่าอุดมการณ์ทางการเมืองด้วย
เพราะอุดมการณ์ทางการเมือง มันเป็นทัศนคติที่ต้องมีเพื่อจะใช้ชีวิตในฐานะพลเมืองก็จริง แต่การใช้ชีวิตในฐานะมนุษย์ ในฐานะคนๆ หนึ่ง เรื่องมิตรภาพมันสำคัญกว่า ตรงนี้ถือเป็นจุดยืนอย่างหนึ่งของเราเลยว่าจะไม่ unfriend เพื่อน เพราะเขาคิดต่างจากเรา แล้วเราจะคุยกับเขาด้วยซ้ำว่าคิดยังไง
มันก็เลยรู้สึกว่า จากเหตุการณ์ความขัดแย้งที่ผ่านมา มันทำให้บทเรียนเราว่า อะไรคือสิ่งที่เราควร mind อะไรคือสิ่งที่เราควรพูด ซึ่งกระแสโซเชียลมีเดียในตอนนี้ มันดีมากเลยนะ ยกตัวอย่างเช่นที่มีกระแส #SaveThanathorn แต่เขาก็พูดนะว่า อย่าออกมาม็อบกัน เดี๋ยวจะเป็นข้ออ้างว่ามีความวุ่นวาย แล้วอาจเป็นเหตุให้ไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นได้
คือรู้สึกว่าคนสมัยนี้มันทัน แล้วก็ไม่ได้โดนวาทกรรมแค่จะด่ากันกลวงๆ แต่มันอยากรู้จริงๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น ใช้การวิเคราะห์จริงๆ ซึ่งเรารู้สึกว่าส่วนหนึ่งเกิดจากความขัดแย้งที่ผ่านมา มันถูกป้ายสีด้วยถ้อยคำรุนแรงเสียมากกว่าเหตุผลที่เอามาคุยกัน คนรุ่นนี้ก็เลยรู้สึกว่ามันน่าเบื่อแล้ว เอาเหตุผลมาคุยกันดีกว่า
The MATTER: ทำไมคนรุ่นใหม่ถึงควรจะมาสนใจการเมือง
อันนี้สมมติเลยนะ วัยรุ่นหลายๆ คนดื่มสุรา จะจ่ายขวดเท่าไร โคตรการเมืองเลย คนสูบบุหรี่ ที่ค่าบุหรี่ขึ้น มันคือนโยบายของรัฐทั้งนั้น และเกี่ยวข้องโดยตรงกับพวกเรา จะจ่ายเท่าไร เรื่องอาหารการกินและภาษีต่างๆ
และสิ่งที่เราว่ามันสำคัญมากๆ ก็คือการคมนาคม เพราะเราเป็นคน กทม. และต่อให้เรามีรถ ต่อให้เรามีเพื่อนที่รวยมาก สุดท้ายก็ไปใช้ชีวิตบนถนนเดียวกันอยู่ดี ต่อให้จะนั่งเบนซ์หรือนั่งมอไซค์ เรารู้สึกว่านี่มันคือเรื่องนโยบาย และด้วยความที่เราเรียนสถาปัตย์ เราเรียนเรื่องความเข้าใจในผังเมืองมาหลายๆ อย่าง ว่า กทม.มีปัญหาผังเมืองและรถติดมันเกิดจากอะไรกันแน่
อย่างสมมติเราไม่รู้อะไรเลย แล้วไปฟังดาราพูดบอกว่า รถติดเกิดจากนโยบายรถคันแรก ถ้าเราไม่คิดอะไร เราก็จะเชื่อตามนั้น แต่ทีนี้ เราก็จะมาดูว่ารถติดมันเกิดจากอะไรกันแน่ เพราะทุกคนต้องเข้าและออกจากเมืองในเวลาเดียวกัน เพราะ กทม.เป็นเหมือนไข่ดาว หรือบางพื้นที่มันก็ติดทั้งๆ ที่ไม่น่าจะติด เช่น หน้า RCA หรือนานา ตอนกลางคืน แต่เพราะความถี่ในการใช้รถมันเยอะ คือเราควรจะมีระบบคมนาคมที่เป็นสาธารณะที่ดีได้แล้ว เพราะต่อให้รวยแค่ไหนสุดท้ายก็มาติดอยู่บนถนนเดียวกันอยู่ดี และการแก้ปัญหาระยะยาวจากสิ่งที่เละเทะทั้งหมด มันควรจะสร้างโครงข่ายคมนาคมให้เข้าถึงได้
ยกตัวอย่างเช่น เราอยู่แถวบางกะปิ เรือคลองแสนแสบสำหรับเรามันเวิร์กมาก ตั้งแต่ตอนเด็กๆ เลย ใช้นั่งไปสยามแค่ 17 บาท 25 นาทีถึง ไม่ต้องไปรถติด แต่ความแย่ของมันก็คือ คลองมันไม่สะอาด เครื่องยนต์มันเสียงดังมาก เหม็นมาก และควันดำมาก และเรือมันไม่ปลอดภัย ซึ่งทั้งหมดมันแก้ไขได้ มันปรับปรุงได้ ขึ้นราคาอีกนิดก็ได้ เป็นทางเลือกให้หลายๆ คนกล้าใช้มันมากขึ้น
เราก็เลยรู้สึกว่าสิ่งหนึ่งที่เราให้ความสำคัญเวลานี้คือเรื่องคมนาคม และเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราถึงจะต้องมาสนใจเรื่องการเมือง เพราะมันเป็นเรื่องที่เรากำหนดด้วยตัวเองไม่ได้ เราไปสั่งเปลี่ยนเรือคลองแสนแสบเองไม่ได้ คือเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องไปผลักดันทางนโยบาย
ยังมีเรื่องอื่นๆ อีกเช่น เด็กที่เรียนอยู่ เป็นหลักสูตรของโรงเรียน การบังคับเรียน การให้ความรู้ต่างๆ การสอนเข้ามหาวิทยาลัย ทุกอย่างมันมาจากนโยบายภาครัฐเท่านั้น ซึ่งเราควรจะมีส่วนเลือกมันได้
The MATTER: ผู้ใหญ่บางคนบอกว่า เด็กๆ ไม่ได้เลือกผู้แทนเพราะสนใจนโยบายอะไรหรอก แต่เลือกเพราะหน้าตาดี เพราะกระแส ส่วนตัวมองว่ายังไง
ส่วนตัวเลยนะ #ฟ้ารักพ่อ เขาไม่ได้หล่อสำหรับเรา เห็นหน้าตอนแรกที่ยังไม่รู้จักอะไร ก็คิดว่าหน้าเหมือนตัวโกงในหนังจีน พอมันมีกระแสขึ้นมา มันอาจจะมีหลายคนมองว่าเขาดูดีหรือเขาหล่อ แต่มันอาจจะเป็น viral เพื่อสนับสนุนเขา กระทั่งคนที่ติดแฮชแท็ก #ฟ้ารักพ่อ ก็คงจะไม่ได้คิดว่าธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ) หล่อ หน้าตาดีขนาดนั้น แต่ด้วยอุดมการณ์ หรือคำปราศรัย ที่ทำให้คนอยากสนับสนุน
เราเชื่อว่าไม่มีใครเลือกเพราะหน้าตาหรอก เพราะถ้าเลือกด้วยหน้าตา เราจะเลือกไอติม (พริษฐ วัชรสินธุ์) ที่หล่อมาตั้งแต่รุ่นน้าแล้ว ซึ่งรุ่นนั้น แม่ๆ ป้าๆ เราก็กรี๊ด ทุกคนกรี๊ดอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) หมดเลยตอนนั้น แต่พอถึงตอนนี้ ทุกคนก็พูดถึงธนาธรในเชิงเม้าท์ สนุกๆ
แต่พอถึงจังหวะที่เราต้องเลือกจริงๆ เราเชื่อว่าคนรุ่นนี้ยังไงก็ดูเรื่องนโยบาย เพราะมันคือสิ่งที่เขาจะมีส่วนได้ส่วนเสียมากที่สุด เพราะถ้าเลือกเพราะหน้าตา เลือกอภิสิทธิ์ก็ได้นะ เลือกไอติมก็ได้นะ เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่จริง
The MATTER: หลายคนบอกว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการปะทะกันระหว่างคนต่างรุ่น คนรุ่นใหม่เลือกอย่างหนึ่ง คนรุ่นก่อนเลือกอีกอย่าง
ถ้าดูคนใกล้ตัวก็น่าจะเป็นอย่างนั้นนะ
พูดถึงตอนนี้ เราก็ยังคิดอยู่เลยว่าจะเลือกใคร แต่มันมีเรื่องนึง ตลกมาก เรามีเพื่อนคนนึงที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย อย่างวันที่ 8 ก.พ. มีการเสนอชื่อทูลกระหม่อมอุบลรัตนฯ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติ แต่เพื่อนก็บอกว่า ได้ข่าวว่า princess จะมาลงพรรคอนาคตใหม่เหรอ ..ไปเอามาจากไหน หลุดมาจากอีกโลกนึงเลย ก็เลยต้องไปนั่ง lecture ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ ต้องเลือกยังไง มันเกิดอะไรขึ้นกับกฎกติกา เราก็รู้สึกว่ามันมีคนจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจ แต่ขวนขวายที่จะเข้าใจมัน
ประเด็นก็คือ อยู่มาวันหนึ่ง เพื่อนก็ทักมาบอกว่า แม่ของเขาจะเลือกลุงตู่ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เราก็ถามไปว่าทำไม เพื่อนก็บอกว่า แม่รักพรรคประชาธิปัตย์นะ แต่ที่ไม่เลือก เพราะถ้าลุงตู่เป็นนายกฯ ไม่มีฝ่ายค้าน ทำอะไรก็ทำได้เลย ไม่ต้องมารีรอพิจารณาอะไร เพื่อนก็บอกว่า เคยเข้าใจมาตลอดว่าไม่มีใครชอบลุงตู่ เพิ่งรู้วันนี้ว่าแม่ของตัวเองเป็นสาวกลุงตู่ (หัวเราะ) ก็น่าจะเป็นความต่างระหว่าง generation
The MATTER: สมมติเราต้องคุยเรื่องการเมืองบนโต๊ะกินข้าว จะทำอย่างไรให้คน 2 รุ่น สามารถคุยเรื่องนี้กันได้
เป็นคำถามที่ยากมาก เพราะเราไม่ค่อย get ความสัมพันธ์ของครอบครัวอื่นๆ ว่าพูดคุยอะไรกันได้บ้าง แต่แบบบ้านเรา อยู่กับพ่อ ก็คุยกันได้ทุกเรื่อง เลือกอะไร ยังไง ทักไปถามผู้สมัคร ส.ส.ที่ลงแต่ละคนในเขตเรา แล้วเอามาให้พ่อช่วยดูว่าจะเลือกใครดี เราก็เลยไม่แน่ใจว่าคนที่คุยไม่ได้ มันควรจะเป็นยังไง
The MATTER: หรือควรจะหยิบขึ้นมาคุยไหม?
ถ้าเป็นแต่ก่อน เราคงตอบได้อย่างเร็วมากเลยนะว่า ควรหยิบขึ้นมาคุย เปิดรับ ทำความเข้าใจกัน แต่มันก็ค่อนข้างอุดมคติ เพราะเราเห็นหลายๆ ครอบครัวที่ความสัมพันธ์ไม่ได้เป็นแบบนั้น เราก็เลยไม่แน่ใจว่าการรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์ในครอบครัวมันโอเคกว่าหรือเปล่า อันนี้ก็ไม่แน่ใจ
The MATTER: หลายคนบอกว่า การเลือกตั้งไม่เท่ากับประชาธิปไตย
ทำไมอ่ะ
The MATTER: พี่ก็ไม่รู้เหตุผลของพวกเขาเหมือนกัน
เอ้า
The MATTER: เลยอยากจะมาถามว่า ในมุมมองของเรา การเลือกตั้งสำคัญอย่างไรกับสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตย
มันง่ายมากเลยนะ คือถ้าไม่เลือกตั้งแล้วเราจะเป็นประชาธิปไตยได้ยังไง การเลือกตั้งก็คือการ vote ว่าจะส่งใครเป็นตัวแทนเข้าไปสภาเพื่อจะพิจารณานโยบายต่างๆ เพราะถ้าโดยอุดมคติแล้ว เราทุกคนจะต้องมา vote กันในทุกๆ นโยบาย ซึ่งมันเป็นไปไมได้อยู่ในทางปฏิบัติ จึงต้องส่งตัวแทนเข้าไปในสภา มันก็ย่อมเป็นกระบวนการที่สำคัญอันหนึ่งอยู่แล้ว คนที่บอกว่า การเลือกตั้งไม่ใช่ประชาธิปไตย เออ มันทำไม เพราะอะไร
The MATTER: คนบางกลุ่มเคยพูดว่า การเลือกตั้งในเมืองไทยก็เป็น ‘ประชาธิปไตย 4 วินาที’ เท่านั้นแหล่ะ คือเราจะได้มีส่วนร่วมแค่ตอนไปลงคะแนนในคูหาเท่านั้น เราเชื่อแบบนั้นไหม
ไม่นะ สมมติพรรคอนาคตใหม่มาเป็นรัฐบาล เราก็จะเห็นคนพูดว่า ถ้าเลือกพรรคอนาคตใหม่วันนี้แล้วมันแย่ อีก 4 ปีก็ได้เลือกตั้งใหม่ แล้วระหว่างนั้นกระแสในโซเชียลฯ มันสามารถกดดันได้ด้วยซ้ำ ในเหตุการณ์ต่างๆ ที่เป็นไปว่าพรรคการเมืองควรจะปรับตัวหรือให้ความสำคัญกันอะไร เช่น กัญชา ก่อนหน้านี้เรารู้สึกว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่จะถูกกฎหมาย แต่มันเกิดการผลักดันจากภาคเอกชน จนที่สุดก็ออกมาเป็นนโยบาย
มันคือสิ่งที่เราสามารถผลักดันให้เกิดขึ้นได้ มันไม่ใช่ประชาธิปไตย 4 วินาที มันคือสิทธิ์ มันคือพลังของเรา ที่จะสนับสนุนหรือต่อต้านสิ่งที่ดีหรือไม่ดี
The MATTER: แต่คนบางกลุ่มก็จะพูดว่า รอ 4 ปีกว่าจะเลือกตั้งใหม่ ประเทศชาติก็เสียหายไปแล้ว
แล้วเราจะเอายังไงถ้าไม่รอ? คือเราก็งงอย่างนึงนะ ลุงตู่อยู่มาจะ 5 ปีแล้ว มันก็มีตัวเลขบอกว่าแย่หมดทุกอย่าง ทั้งคอร์รัปชั่น ทั้งการใช้งบ เราเห็นข่าวการซื้อเรือดำน้ำ ซื้อรถถัง เราไม่เห็นการทำอะไรให้ดีขึ้นเลยเพื่อให้เท่าทันกับโลก
5 ปีที่ผ่านไป มันเสียเวลาไปแล้ว ซึ่งเราเสียเวลาไปแล้วกันคนๆ นี้ พรรคนี้ หรือฝ่ายนี้ เพราะฉะนั้นเราก็ควรจะเลือกคนใหม่ เพื่อให้โอกาสเขามาทำ
ถ้าจะบอกว่า รอ 4 ปี ประเทศชาติก็จะเสียหาย ไม่ต้องรอถึง 4 ปีหรอก แค่ปีแรก ยิ่งคนโหวตมากเท่าไร คนรุ่นใหม่ก็ยิ่งจับผิดมาก ถ้าทำอะไรพลาด ทำอะไรไม่ดี มันเกิดกระแสอยู่แล้ว มันไม่ใช่แบบเขามาปกครองอยู่ฝ่ายเดียวเหมือนที่ผ่านมา