ตามที่ได้เขียนไปก่อนหน้านี้แล้วว่าผมได้เปลี่ยนสถานะมาเป็นพ่อลูกอ่อน เลี้ยงลูกอยู่ที่ญี่ปุ่น โดยช่วงนี้อาศัยอยู่ที่บ้านพ่อตาแม่ยายไปก่อน เพราะช่วงเดือนแรกๆ ของการเลี้ยงลูกนี่มันชวนเหนื่อยจริงๆ ครับ ดีที่ครอบครัวทางฝ่ายภรรยาคอยช่วยเป็นกองหนุนตรงนี้ด้วยเลยจัดว่างานเบาลงหน่อย
และพอมีลูกเอง ก็ยิ่งหาข่าวหรือข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกและสิทธิประโยชน์ รวมถึงการสนับสนุนต่างๆ ของทางการ เพราะแต่ละประเทศก็มีระบบของเขาเองนั่นล่ะครับ แน่นอนว่าการดูข่าวเกี่ยวกับเด็ก บางครั้งก็เจอคดีที่ชวนเศร้ามาก อย่างเดือนก่อนที่มีคดีพ่อทำร้ายร่างกายลูกสาวตัวเองที่อายุแค่ 10 ขวบจนเสียชีวิตอย่างน่าเศร้า เป็นเรื่องที่เผยให้เห็นถึงปัญหาของกระบวนการดูแลเด็กของทางการในแต่ละท้องที่ว่าส่งข้อมูลไม่ถึงกันดี แต่อย่างน้อยก็ยังมีข่าวดีหน่อยว่า ญี่ปุ่นเพิ่งผ่านกฎหมายให้การลงโทษด้วยการทำร้ายร่างกาย แม้จะทำโดยผู้ปกครอง ก็เป็นสิ่งผิดกฎหมาย
แต่ข่าวที่สะเทือนใจในหลายๆ แง่ และได้กลายเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในสังคมก็คือ ผลการพิจารณาคดีที่เกิดขึ้นเมื่อปลายปีก่อน ที่แม่ลูกอ่อนคนหนึ่ง จับลูกชายอายุ 11 เดือนของตัวเองฟาดลงพื้นสองครั้ง แม้จะส่งโรงพยาบาลทัน แต่สุดท้ายเด็กก็เสียชีวิตในอีกสองสัปดาห์ถัดมา และผลการตัดสินคดีคือ คนเป็นแม่ต้องจำคุกเป็นเวลา 3 ปี 6 เดือน แต่กลับกลายเป็นว่า มีเสียงเรียกร้องขอความเห็นใจให้กับคนเป็นแม่ เหตุผลก็เพราะเธอคือคุณแม่ของแฝดสาม
คดีนี้ก็เผยให้เห็นปัญหาของการเลี้ยงเด็กในสังคมญี่ปุ่นในแง่มุม
ที่หลายๆ คนอาจจะไม่เคยคิดมาก่อน ซึ่งพออ่านรายละเอียดแล้ว
ก็พอจะเข้าใจได้อยู่เหมือนกันครับ
ขนาดตัวผมเองเป็นพ่อมือใหม่ที่มีครอบครัวฝ่ายภรรยาคอยช่วย แต่หลายๆ ครั้งก็คิดว่าเหนื่อยไม่เบา ทั้งการต้องตื่นมาให้นมทุกสามชั่วโมง เสร็จแล้วก็ต้องกล่อมนอน ทำเป็นลูปแบบนี้วนไปเรื่อยๆ ไม่มีหยุด ในขณะเดียวกัน ก็ต้องนั่งทำงานเขียนงานแปลของตัวเองไปด้วย ช่วงที่งานเร่งๆ ก็เล่นเอาหมดสภาพ ยิ่งบางครั้งลูกร้องไม่ยอมหยุด ก็ไม่ได้ทำอย่างอื่น ต้องคอยกล่อมให้นอน ตัวเองง่วงก็ต้องทนไปก่อน ขนาดลูกคนเดียวมีคนคอยช่วย ยังเหนื่อยขนาดนี้เลยครับ
สำหรับรายละเอียดของคดีนี้คือ ในเดือนมกราคมปี ค.ศ. 2017 หลังจากที่เข้ารับการรักษาอาการมีบุตรยากมาระยะหนึ่ง ตัวคุณแม่ก็คลอดลูกแฝดสาม ซึ่งทั้งสามมีน้ำหนักเบากว่ามาตรฐาน หลังคลอด ก็ได้พาลูกกลับบ้านเกิดของตัวเอง แต่ว่าพ่อแม่ก็ประกอบธุรกิจร้านอาหารของตัวเอง ไม่สามารถช่วยดูแลแบ่งเบาอะไรได้ สุดท้ายก็กลับมาอยู่กับสามีที่บ้านของตัวเองในช่วงเดือนพฤษภาคม ฝ่ายสามี แม้จะลางานเพื่อมาเลี้ยงดูบุตรเป็นเวลาครึ่งปี แต่ด้วยความไม่ชินกับหน้าที่ ดูแลเด็กไม่ได้ เปลี่ยนผ้าอ้อมก็ไม่เรียบร้อย สุดท้าย ภาระทั้งหมดเลยตกอยู่ที่ตัวคนเป็นแม่
ซึ่งการเลี้ยงแฝดสามด้วยตัวคนเดียว เป็นภารกิจที่หนักหนากว่าที่คิด เล่นเอาเธอแทบไม่ได้นอน พอสามีพึ่งไม่ได้ก็ยิ่งกดดันหนัก แม้จะมีเจ้าหน้าที่สวัสดิการรัฐเข้าไปช่วยดู และให้คำแนะนำเรื่องสถานที่ฝากเลี้ยงเด็กชั่วคราวได้ แต่เธอก็ไม่สามารถที่จะพาลูกทั้งสามคนไปปรึกษาได้ และก็เกิดเหตุขึ้นก่อน
คืนวันที่ 11 มกราคม 2018 เมื่อมีแค่เธอกับลูกอยู่บ้าน เพราะว่าตัวสามีติดงานกะดึก ลูกชายคนกลางของเธอร้องขึ้นมา ซึ่งทำให้เธอมีอาการคลื่นเหียนจนอยากอาเจียน ทำให้เธออุ้มลูกขึ้นมา และขว้างลงพื้นห้อง และเมื่อลูกยังร้องต่อ เธอก็อุ้มขึ้นมาขว้างลงพื้นอีกครั้ง โดยให้การกับตำรวจว่า “รู้สึกโล่งขึ้น” แต่เมื่อรู้สึกตัว เธอก็รีบโทรเรียกรถพยาบาล และพยายามปั๊มหัวใจลูกระหว่างรอรถมา ซึ่งหลังจากนั้นก็ตามที่ได้เขียนไปแล้วว่า ลูกชายเธอได้รับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลาสองสัปดาห์แต่ก็เสียชีวิตในภายหลัง
เธอยังให้การในภายหลังทั้งน้ำตาว่า “รักลูกมาก และไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากความจริงว่าลูกเป็นคนสำคัญของเธอ เสียใจจริงๆ ที่ทำให้ลูกคนกลางที่ไม่ได้มีความผิดอะไรต้องเจ็บปวด และพรากอนาคตไปจากลูกตัวเอง” ซึ่งศาลก็ตัดสินให้เธอต้องจำคุกเป็นเวลา 3 ปี 6 เดือน
เพราะว่าถึงแม้ในตอนนั้นเธอจะมีอาการซึมเศร้าอยู่
แต่ก็ถือว่ามีสติ ตัดสินใจได้ และการขว้างลูกลงพื้น
สองครั้งก็ถือว่ามีเจตนาและเป็นอันตราย
เมื่อรายงานข่าวออกมา ก็มีเสียงของชาวเน็ตจำนวนไม่น้อยที่ ไม่ได้เห็นด้วยกับสิ่งที่เธอกระทำลงไป แต่ถึงอย่างนั้นก็สามารถเข้าใจเธอได้ จนมีการเปิดแคมเปญใน change.org ขอให้เธอได้ชดใช้ความผิดไปด้วยและเลี้ยงลูกที่เหลืออีกสองคนไปด้วยการรอลงอาญา ซึ่งสื่อก็ได้ไปสัมภาษณ์คุณแม่ของลูกแฝดหลายต่อหลายคน แต่ละคนก็บอกว่า เข้าใจได้ และเชื่อว่าเธอไม่ได้อยากทำเช่นนั้นหรอก แต่ว่าสำหรับคุณแม่ที่มีลูกแฝดหรือมีลูกหลายคนแล้ว เกือบทุกคนนั้นก็เคยเกิดความรู้สึกว่า “ถ้าไม่มีลูกคงดีกว่านี้” ขึ้นมาบ้างกันเกือบทุกคน
ผมนั่งดูรายการข่าวที่ไปสัมภาษณ์คนเขียนการ์ตูนในทวิตเตอร์เล่าประสบการณ์การเลี้ยงลูกแฝดสามแล้วก็หนักใจแทนครับ ตัวอย่างง่ายๆ คือ ถ้ามีลูกคนนึง ก็ต้องตื่นมาให้นมลูกทุก 3 ชั่วโมง ให้นมลูกครั้งนึงก็ประมาณครึ่งชั่วโมง จากประสบการณ์ผมเองคือ แม่ให้นมลูกประมาณ 20 นาที แล้วผมก็ชงนมผงให้เสริมตามอีกประมาณ 15 นาที รวมล้างขวดนม ตบหลังให้ลูกเรอ กล่อมลูกให้นอนต่อ ก็ปาไปรวมๆ เกือบชั่วโมงครับ ได้ไปพักสองชั่วโมงแล้วก็วนลูปเดิม ที่สำคัญคือ เด็กไม่ได้นอนได้ทันทีหรอกครับ บางทีกล่อมแทบตายก็ไม่นอน ร้องตลอด สุดท้ายก็ต้องกล่อมกันไปสองชั่วโมงจนให้นมรอบต่อไป ไม่ได้พักกันเลย
แล้วถ้าเป็นแฝดสามล่ะครับ สภาพจะเป็นอย่างไร ให้นมคนนึงเสร็จก็ต้องกล่อมก่อนพาอีกคนมาให้นม วนเป็นลูปแบบแทบไม่ได้พัก แม่ในข่าวก็บอกว่า แทบไม่ได้นอน อย่างมากก็วันละ 1 ชั่วโมง จนเป็นโรคซึมเศร้า ในขณะที่แม่คนอื่นก็เล่าว่า ตอนลูกคลอดใหม่ๆ ก็รักลูกนั่นล่ะ แต่พอเลี้ยงไป ทำอะไรวนลูปแบบนี้ไปเรื่อย ความรู้สึกมันก็เริ่มหายไป กลายเป็นเหมือน ‘หน้าที่’ เสียมากกว่า ทำงานไปตามระบบสายพานจนเริ่มด้านชา
ไม่ใช่แค่ความรู้สึกที่มีต่อลูกนะครับ แต่รวมถึงความรู้สึก
ที่มีต่อเรื่องต่างๆ ด้วย เรียกได้ว่า กลายเป็นหุ่นยนต์ที่
ทำหน้าที่เลี้ยงลูกเท่านั้น
และการมีลูกสามคนพร้อมกัน ทำให้เรื่องที่ง่ายดายสำหรับคนอื่นกลายเป็นเรื่องยาก ตัวอย่างง่ายๆ คือการพาลูกออกไปข้างนอก เช่นพาไปหาหมอ ถ้าเกิดต้องพาไปด้วยตัวคนเดียวแล้ว ก็เป็นงานช้างเลยครับ เพราะว่าวิธีการเดินทางด้วยรถสาธารณะ ก็ต้องใช้รถเข็นเด็กสำหรับแฝดสอง ให้ลูกสองคนนั่ง ส่วนอีกคนนึงก็อุ้มเอา และถ้าไปเจอบันได ก็ต้องพับรถ จูงลูกสองคนลงไปก่อน อีกคนก็งอแงรอ แล้วเดินกลับไปพาลูกอีกคนลงมา แล้วค่อยเดินกลับไปเอารถเข็นที่หนักประมาณสิบกิโลลงมา แค่บันไดเฉยๆ ก็ต้องเดินวนสามรอบ
หรือถ้าจะใช้รถยนต์ กฎหมายของญี่ปุ่นเขาก็บังคับให้ติดเบาะนั่งสำหรับเด็กในรถ ดังนั้น ก็ต้องติดให้ครบกับลูกทั้งสามคน ซึ่งก็ไม่ใช่เงินน้อยๆ ยังไม่นับว่าสภาพของคนเป็นแม่ว่าจะขับรถไหวรึเปล่า ยิ่งตอนช่วงแบเบาะ เวลากล่อมให้ลูกนอน คนนึงร้องขึ้นมา อีกสองคนก็ร้องตาม กล่อมคนนึงได้ อีกสองคนก็ร้องอีก ตื่นอีก เป็นลูปวนไปมา เล่นเอาเครียด จนไม่แปลกอะไรที่แม่ที่มีลูกแฝดสามจะเป็นโรคซึมเศร้าเอาได้ง่ายๆ
แม้จะมีหน่วยงานคอยช่วยเหลือ แต่ก็อย่างที่บอกไปว่า บางคนก็ไม่สามารถแม้กระทั่งไปปรึกษา กลายเป็นคดีที่ทำให้ปัญหาของการเลี้ยงดูเด็กในสังคมญี่ปุ่นที่หลายคนอาจจะไม่เคยนึกมาก่อนเด่นชัดขึ้น ไม่ใช่แค่ปัญหาเด็กเกิดน้อย หรือปัญหาสถานรับเลี้ยงเด็กไม่พอ แต่การให้การสนับสนุนครอบครัวที่มีลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีพิเศษเช่นแฝดสามนั้นก็ยังไม่เพียงพอ
ปัญหาเรื่องหนึ่งที่น่าหนักใจคือ ทัศนคติที่มีต่อการมีลูก การเลี้ยงเด็กอ่อน และเรื่องของการทำงาน ในสังคมญี่ปุ่นให้ค่ากับการทำงานนอกบ้านเพื่อหาเงินเลี้ยงครอบครัวมาก อย่างที่ทราบกันว่าชาวญี่ปุ่นบ้างานกันแค่ไหน แต่พอเป็นเรื่องของการทำงานในบ้านแล้วกับไม่ได้รับการยกย่องอะไรนัก แน่นอนว่าคนเราก็ต้องทำงานเพื่อหาเงินมาใช้ชีวิต แต่การทำงานในบ้านเช่นการเลี้ยงเด็กสักคนให้เป็นสมาชิกของสังคมที่ดีได้ กลับไม่ได้รับการตีความว่ามีค่าอะไร
ยังดีที่ญี่ปุ่นมีความพยายามจะกระตุ้นให้พ่อช่วยเลี้ยงเด็ก
ด้วยการอนุญาตให้ฝ่ายพ่อเด็กลางานเพื่อเลี้ยงดูลูกได้
แต่สุดท้ายมันก็อาจจะไม่ได้มีผลอะไรมากนัก
อย่างที่โรงพยาบาลที่ครอบครัวผมฝากท้อง ก็จะมีนิตยสารแจกฟรีวางไว้เยอะครับ และส่วนหนึ่งก็เป็นนิตยสารแนะนำว่าคุณพ่อมือใหม่ควรทำอะไรบ้าง และในเล่มก็มีแนะนำแนวทางการลาเพื่อมาเลี้ยงดูบุตร โดยเฉพาะกับครอบครัวที่ทำงานทั้งคู่ แต่เอาเข้าจริงๆ กับสังคมการทำงานแบบญี่ปุ่น ก็มีปัญหาเรื่องนี้ไม่น้อย เพราะบางคนพอขอลามาดูบุตร ก็ถูกมองว่าถ่วงคนอื่นในที่ทำงาน กลับมาจะทำงานต่อได้ดีไหม ยิ่งถ้าฝ่ายสามีพักมาช่วยเลี้ยงลูก ไม่ใช่แค่ที่ทำงาน แต่หลายครั้ง คนรอบตัวหรือชาวบ้านก็มองแปลกๆ บางคนก็คิดง่ายๆ ว่า ดีจัง ได้ลาพักสบายๆ เพราะทัศนคติของคนญี่ปุ่นยังติดอยู่ที่ว่า ‘ผู้หญิงควรอยู่บ้าน ผู้ชายควรจะทำงานหาเงิน’ พอไม่ได้เป็นตามนั้นก็เลยมองด้วยสายตาแปลกๆ กันนั่นล่ะครับ และบางคนถึงลามาแต่ก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้ อย่างเช่นพ่อของแฝดสามนั่นเอง
ถ้าญี่ปุ่นอยากจะสนับสนุนให้คนมีบุตรให้มากขึ้น การให้เงินสนับสนุนหรือบริการสิทธิประโยชน์ต่างๆ อาจจะไม่เพียงพอ แต่ควรสร้างสังคมที่มีทัศนคติยินดีกับการมีลูก มากกว่าจะมองว่าเสียบุคลากรในการทำงานไป และควรจะสร้างเครือข่ายให้ความช่วยเหลือที่ดีขึ้น เท่าที่ดูแนวทางแก้ปัญหา บางเมืองก็มีการจัดสมาคมให้แม่ที่มีลูกแฝดมารวมตัวกันช่วยเล่าเรื่องราวความลำบากและแนวทางแก้ไขกัน ก็ถือว่าช่วยได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ก็ควรจะให้การสนับสนุนแม่ที่มีลูก ไม่ใช่มองเพียงแค่ว่าควรสนับสนุนพ่อบ้านที่ออกไปทำงานหาเงินเพียงอย่างเดียว ซึ่งการรักษาสมดุลตรงนี้ก็ลำบากเอาเรื่องนะครับ แต่ถ้าญี่ปุ่นอยากจะรักษาสถานะของประเทศตัวเองให้ได้ ก็คงต้องปรับหาแนวทางใหม่ๆ ด้วย ดูตัวอย่างของเยอรมันที่จำกัดเวลาทำงานไม่ให้มากเกินก็ได้ จะเห็นว่าการพัฒนาเศรษฐกิจก็สามารถไปพร้อมกับพัฒนาคุณภาพชีวิตได้เหมือนกันครับ
ส่วนคดีที่เกิดขึ้น มองย้อนไปก็ได้แต่รู้สึกเศร้าครับ เด็กที่เสียไปก็น่าสงสาร ตัวแม่ที่ก่อคดีด้วยความรู้สึกชั่ววูบก็น่าสงสาร ลูกอีกสองคนทีเหลือจะโตมาอย่างไร ใครจะเป็นคนดูแลต่อ และดูแลได้ยาวนานแค่ไหน ส่วนตัวพ่อของเด็กที่ก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาจะเป็นอย่างไร คิดแล้วก็ได้แต่รู้สึกเศร้าครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก