‘ไหนงวดนี้ซื้ออะไร’ ‘ใครมีเลขเด็ดมาแบ่งบ้าง’
ข้อความในห้องสนทนาที่เคยเงียบเหมือนป่าช้า กลับมาคึกคักทันตาเห็น เมื่อมีใครสักคนเปิดประเด็นการเสี่ยงโชคขึ้นมา เพราะใครๆ ก็ต่างอยากเป็นเศรษฐีในพริบตากันทั้งนั้น โดยเฉพาะในยุคที่ข้าวของแพงสวนทางกับเงินในกระเป๋า
จะว่าไปโซเชียลนี่แหละที่ทำให้เห็นบรรยากาศสังคมคนเล่นหวย ในทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน อย่างข้อมูลจาก Google Trend ที่บอกว่า 15 ปีที่ผ่านมา คำว่า ‘เลขเด็ด’ ติดคำค้นหายอดฮิต และยังเพิ่มขึ้นปีละ กว่า 18% ถ้าจะสังเกตง่ายๆ ในทวิตเตอร์เองก็มีแฮชแท็กหวยติดอันดับอยู่ทุกเดือน
The MATTER พูดคุยกับคนรุ่นใหม่ที่หันมาเสี่ยงโชคผ่านหวย ด้วยจุดเริ่มต้นที่ต่างกันไป รวมถึงชวนมองว่าการเล่นหวยของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะในวัยทำงาน สะท้อนสภาพสังคมไทยอย่างไร ผ่านมุมมองของ ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หวังหารายได้เสริม
ศูนย์วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค ธนาคารทหารไทย เคยเปิดเผยข้อมูลในปี 2562 ว่าไทยซื้อลอตเตอรี่และหวย เป็นเงิน 2.5 แสนล้านบาท ถ้านึกไม่ออกกว่ามากแค่ไหน ก็ลองนึกว่าเงินก้อนนี้เท่ากับเงินลงทุนโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
แผ่นกระดาษถูกพับจนเล็ก จับจองพื้นที่กระเป๋าสตางค์มุมหนึ่งของ บี (นามสมมติ) ในวัย 26 ปี เป็นประจำทุกเดือน นับตั้งแต่เริ่มมีเงินเดือนเป็นของตัวเอง เพราะนอกจากคาดหวังเงินตอบแทน ความสนุกของการลุ้นก็เป็นรสชาติ “เงินเดือนมันไม่ได้พอขนาดนั้น ความรู้สึกเหมือนอยากหารายได้เสริมละมั้ง”
“ส่วนตัวซื้อแล้วมันเฉียดทุกงวด มีแอบถูกบ้างผ่านหวยใต้ดิน เลยรู้สึกเหมือนเป็นเกมที่เราอยากเล่นให้มันชนะ”
ย้อนกลับไปถึงบริบทที่เติบโตมากับครอบครัวต่างจังหวัด ที่การเสี่ยงโชคโดยเฉพาะหวยใต้ดินเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต “ไม่รู้มาอินตอนไหน ในเมื่อตอนเด็กก็ไม่เข้าใจแม่ว่ามันสนุกตรงไหน” แถม
แม้บีจะเชื่อมั่นว่า ตนเองใช้เงินไปกับการซื้อลอตเตอรี่ในจำนวนที่ไม่มากเกินไป แต่เธอก็ออกปาก “กลัว” ว่าวันนึงเธอจะใช้เงินไปกับมันเกินไป
กับดักแอพพลิเคชั่นเสี่ยงโชค
หากใครเลือกที่จะเสี่ยงโชคผ่านหวยใต้ดิน ก็คงมองหาบรรดาผู้ขายรายย่อยเป็นอย่างแรก แต่ไม่ใช่สำหรับ บอย (นามสมมติ) วัย 24 ปี ที่เลือกซื้อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่สุดแสนจะง่าย และความง่ายนั้นก็เกือบพาเขาหลงทางไปเสียไกล
“เลขอะไรดี” เป็นคำถามยอดนิยมที่ปู่ยาตายายใช้หยอกเล่นกับเด็กมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ซึ่งบอยก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะเติบโตมากับครอบครัวที่ชอบเสี่ยงโชคมาตลอด ทั้งบนดินและใต้ดิน จึงไม่น่าแปลกที่เขาจะรู้สึกคุ้นชิน
“ตอนยังไม่ทำงานเองก็ไม่กล้าที่จะเสี่ยงดวงขนาดนั้น เพราะมันใช้เงินอยู่นะ”
ในช่วงเวลานั้นโลกโซเชียลเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้บอยหลงใหลไปกับการเสี่ยงโชค เพราะมักมีบรรดา‘เจ้าแม่‘ ที่มักมาให้เลข หรือแนะนำวิธีเพิ่มโอกาสในการถูกหวย ทั้งการจุดธูปขอเลขเด็ด การไหว้ ซึ่งบอยก็ไม่เกี่ยงที่จะลองทำตามหากไม่พิสดารจนเกินไป
“มันเข้าถึงกันง่าย โซเชียลมันดัง พอมีคนถูกหวยมาโพสต์ คนเรามีกิเลสก็อยากจะถูกบ้าง”
“ถ้าถูกมามีเงิน” เป็นเป้าหมายเดียวที่ทำให้บอยตัดสินใจเสียงดวงอย่างต่อเนื่อง จากจุดเริ่มต้นที่ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลครั้งละ 1-2 ใบ ก็ขยับมาสนใจหวยใต้ดิน นับตั้งแต่ได้รู้จักการซื้อผ่านแอพพลิเคชั่น
การรู้จักแอพพลิเคชั่น ที่คล้ายกับ ‘เว็บพนัน‘ ดีๆ นี้เอง ที่ทำให้บอยเสียทรงไปพอสมควร “มีช่วงนึงติดมาก เราเล่นไปจนถึงหวยลาว หวยฮานอย หวยหุ้น”
บอยเล่าว่า การเล่นหวยใต้ดินลักษณะนั้น ทำให้เขาสูญเสียเวลาชีวิตไปมาก ด้วยเปิดให้เสี่ยงโชควันละหลายครั้ง โอกาสเสียเงินก็มาตาม “เคยเสีย 6,000-7,000 บาท ในงวดเดียว จากที่สมัยก่อน 400 บาทคือลิมิตสุดแล้ว”
จะนับว่าบอยเป็นคนหนึ่งที่ยังโชคดี ที่สามารถยั้งตัวเองได้ทัน ไม่ถลำลึกไปกับหวยเหล่านั้นนาน แต่ก็ยังไม่คิดที่จะเลิกเสี่ยงโชคอย่างเด็ดขาด
“สมมติว่าเราถูกลอตเตอรี่ 30 ล้าน ก็คงคิดที่จะเล่นต่ออยู่ดี เพราะเห็นผลแล้วว่ามันได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องได้เพิ่มอีก”
เจ้ามือหวยฝึกหัด
ด้วยมีคนรู้จักที่อยู่ในแวดวงนี้ และถือว่าเป็นระดับเจ้ามือหวยรายใหญ่ในจังหวัด ที่จะมีผู้ขายรายย่อยจำนวนมากนำหวยที่ขายได้มาส่งต่อ ทำให้ ‘ปลา‘ (นามสมมติ) ในวัย 25 ปี ได้เข้าไปช่วยงานและร่วมลงทุน คล้ายกับเป็นเจ้ามือหวยฝึกหัดเป็นครั้งแรก
มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจคิดว่าเธอคงพัฒนามาจากการเป็นลูกค้ากระเป๋าหนัก แต่ความจริงแล้วไม่ใช่
ปลาออกปากกว่า เธอเคยเป็นลูกค้าประจำของหวยใต้ดินแค่เพียงช่วง 6 เดือนแรกหลังจากทำงานประจำที่แรกเท่านั้น ซึ่งโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 200-300 บาทต่อครั้ง ซึ่งหวยใต้ดินจะมีกำหนดการออกที่อิงกับสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่มี 2 ครั้งต่อเดือน นั่นเท่ากับปลาเสียไป 400-600 บาทต่อเดือน
สาเหตุที่ทำให้กล้าลงเงินหลักร้อยเช่นนี้ ก็เป็นเพราะการเสี่ยงโชคครั้งแรกของปลานั้นสำเร็จ และได้เงินกลับมาเป็นหลักพัน “ซื้อครั้งแรกแล้วถูก เลยติดใจ”
“ตอนสมัยเรียนแค่ล้อกันขำๆ กับเพื่อน ไม่เคยซื้อกันเลย แต่ตอนมาอยู่ในสังคมคนทำงาน แม่บ้าน ทุกอย่างมันพึ่งโชคชะตาไปหมดเลย”
อย่างไรก็ตามเมื่อซื้อติดต่อกันมาอีกสักระยะ ด้วยจำนวนเงินที่มากขึ้นจนหลายครั้งสูงถึง 500 บาท แต่กลับไม่เคยถูกรางวัลอีกเลย ปลาก็ขยับออกเสี่ยงโชคแค่นานๆ ครั้งเท่านั้น
แต่จังหวะชีวิตในวันที่เธอตัดสินใจลาออกจากการทำงานประจำ ก็พาเธอเข้าไปใกล้ชิดแวดวงหวยใต้ดินที่มากกว่าที่เธอเคยจินตนาการ เมื่อเพื่อสนิทมาชักชวนให้ลองเป็นเจ้ามือหวยใต้ดิน
“ครั้งแรกลงไปแสนนึง คนถูก(หวย)ไม่เยอะ แต่มีตัวใหญ่ถูกหลักร้อย เลยเสียไปประมาณ 40,000 บาท”
ปลาเล่าว่า เธอและเพื่อนไม่ได้ใช้สัญชาตญาณในการตัดสินใจรับซื้อหวยอย่างเจ้ามือหวยรุ่นก่อนๆ ที่ทำมาจนเซียน แต่เธอใช้โปรแกรมเจ้ามือหวย ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่ช่วยประเมินความเสี่ยงเข้ามาช่วย แต่อาจจะเพราะเป็นครั้งแรกที่ลงทุนจึงคาดหวังผลตอบแทนที่สูง ซึ่งมาพร้อมความเสี่ยงที่สูงตาม
เธอไม่รู้หรอกกว่าการเสี่ยงครั้งนี้จะรุ่ง หรือร่วง แต่ปลามองว่าทั้งหมดยังอยู่ในขอบข่ายความเสี่ยงที่เธอยอมรับได้ และวางแผนเอาไว้แล้วว่าหากไม่ประสบผลสำเร็จ เธอก็พร้อมถอนตัวเช่นกัน
ปลายทางของสังคมเหลื่อมล้ำ
อ.ษัษฐรัมย์ ย้ำถึงประเด็นพื้นฐานที่ว่า การเล่นการพนัน หรือการเสี่ยงโชคเป็นเรื่องพื้นฐานของมนุษย์ ไม่เว้นประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งเป็นรสนิยมส่วนบุคคล
แต่ธุรกิจการพนันถือเป็นตัวชี้วัด ที่สัมพันธ์กับเศรษฐกิจภาพรวม “ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง จะมี 3 ธุรกิจที่เติบโตโดยไม่ทันสังเกต คือ การพนัน โรงรับจำนำ และร้านขายยา”
“ในสังคมที่มันเหลื่อมล้ำมากเท่าไหร่ ธุรกิจการพนันก็จะเติบโตมากเท่านั้น”
อ.ษัษฐรัมย์ ระบุว่า เทคโนโลยีที่พัฒนาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้คนเสพสื่อการพนันได้ง่ายขึ้น แต่ปลอดภัยมากขึ้น ผ่านบุคคลหรือแพลตฟอร์มที่เชื่อใจได้
สำหรับความเชื่อที่ว่าคนรายได้น้อยเท่านั้นที่จะเล่นหวย อ.ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า อาจไม่เป็นเช่นนั้น เพราะในความเป็นจริงผู้มีรายได้ประจำต่างหาก ที่มีโอกาสลงทุนกับการเสี่ยงโชคอย่างสม่ำเสมอ เทียบกับผู้มีรายได้น้อยที่อาจมีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องจัดสรรเงินเร่งด่วนมากกว่า
สอดคล้องกับข้อมูลศูนย์วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค ธนาคารทหารไทย ที่กล่าวถึงกลุ่มคนที่มีรายได้สูงกว่า 15,000 บาทต่อเดือน มีการซื้อลอตเตอรี่และหวยเฉลี่ย อยู่ที่ 680 บาทต่อเดือน คิดเป็น 1.2% ของรายได้ ซึ่งมากกว่ากลุ่มคนที่มีรายได้น้อยกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ที่ใช้เงินเฉลี่ยอยู่ที่ 350 บาท คิดเป็น 2.2% ของรายได้
ไม่มีข้อพิสูจน์ว่าแท้จริงคนรุ่นใหม่เลือกที่จะเสี่ยงโชคเพิ่มขึ้นหรือไม่ แต่การที่เศรษฐกิจถดถอยต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนผ่านภาพ ‘ธุรกิจรายย่อย‘ ที่ล้มตายไปช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา อาจบ่งบอกบางสิ่งได้
“ปกติคนธรรมดาคนนึงจะรวยขึ้นมาสำหรับโครงสร้างประเทศไทย มันไม่ใช่คนที่ทำงานปกติ เพราะฉะนั้นคุณก็จะต้องเริ่มทำธุรกิจ ซึ่งกึ่งๆ เหมือนเล่นการพนัน เพราะโอกาสที่จะประสบความสำเร็จจนร่ำรวยอยู่ที่ประมาณ 3% เอง”
อ.ษัษฐรัมย์ อธิบายต่อว่า เมื่อเว้นทางธุรกิจ ที่เคยถูกเชื่อว่าเป็นหนทางเปลี่ยนสถานะง่ายที่สุด ดูยากลำบากขึ้น ก็เพิ่มความเป็นไปได้ที่คนรุ่นใหม่จะพัวพันกับการเสี่ยงโชคมากขึ้น
“สิ่งที่ทำให้คนไทยจนมันไม่ใช่การเสี่ยงโชคหรอก คนจนเพราะนโยบายเศรษฐกิจ ค่าจ้าง รัฐสวัสดิการที่ล้มเหลว”
‘คนรุ่นใหม่เสี่ยงโชคเยอะขึ้นไหม‘ ก็เป็นคำถามที่น่าคิด แต่อ.ษัษฐรัมย์ ยืนยันว่า คงไม่จำเป็นต้องไปแก้ไขพฤติกรรมการเสี่ยงโชคของพวกเขา แต่เน้นที่ “ทำให้เขามีค่าจ้างที่เป็นธรรม สวัสดิการพื้นฐานที่ดี แล้วการเสี่ยงโชคทุกอย่างก็จะอยู่บนความสมดุลของมันเอง”