ถือว่าเป็นโอกาสสำคัญมากๆ ที่ ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัดนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ได้เดินทางมายัง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมบรรยายพิเศษในหัวข้อ ‘ความสัมพันธ์มาเลเซียและไทย ในบริบทของอาเซียน’
แม้จะเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า ประเทศไทยมีความใกล้ชิดกีบประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในอาเซียน แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยว่าผู้นำท่านนี้ มองความสัมพันธ์ดังกล่าวอย่างไรบ้าง?
The MATTER ตามไปฟังปาถกฐาของ มหาเธร์ เลยอยากมาสรุปให้ทุกคนได้ฟังกัน
มหาเธร์เน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับไทยในการบรรยายครั้งนี้ โดยกล่าวว่า ไทยกับมาเลเซีย มีความสัมพันธ์กันที่ยาวนานมา ตั้งแต่ก่อนที่มาเลเซียจะได้รับเอกราชจากอังกฤษเสียอีก และหลังได้รับเอกราชแล้ว ทั้งสองประเทศก็ได้พัฒนาความสัมพันธ์กันเรื่อยมา
ในช่วงที่มาเลเซียมีปัญหาช่วงจลาจลกับคอมมิวนิสต์ ไทยเองได้เข้ามาช่วยเหลือ ดังนั้นในตอนนี้ จึงเป็นหน้าที่ของมาเลเซียเช่นกันที่จะช่วยเหลือ และยินดีที่จะช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นประเด็นที่ก่อนหน้านี้ มหาเธร์ได้เข้าหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อร่วมพัฒนาความมั่นคงทางชายแดนภาคใต้ระหว่างกัน
นอกจากนี้ มหาเธร์ยังกล่าวถึงความร่วมมือในกรอบของอาเซียน ที่เริ่มต้นจาก 5 ประเทศรวมถึงไทย และมาเลเซียด้วย ซึ่งอาเซียนเป็นองค์กรที่เป้าหมายจัดการความแตกต่างในภูมิภาคด้วยสันติวิธี ซึ่งอาเซียนก็โดดเด่นในการแก้ปัญหาโดยสันติ และทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้สงบสุขมาโดยตลอด และยังมีสมาชิกถึง 10 ประเทศทั่วภูมิภาค ที่ถือเป็นความสำเร็จในการก่อตั้งองค์กรนี้ขึ้นมา
มหาเธร์ ยืนยันว่า ความสัมพันธ์ของไทยและมาเลเซีย โดยเฉพาะในทางภาคใต้ ต้องจัดการปัญหาโดยสันติ และไม่ใช้ความรุนแรง ทั้งยังยกกรณีความขัดแย้งในอดีต ที่เรากับมาเลเซียเกิดข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนอ่าวไทย ซึ่งเราร่วมกันหาข้อยุติได้ด้วยการเจรจาอย่างสันติ ทั้งยังหวังว่าในอนาคต ความสัมพันธ์ของไทยและมาเลเซียจะพัฒนาร่วมกันยิ่งขึ้นไป
หลังจากช่วงบรรยายแล้ว เป็นช่วงที่นายกฯ ของมาเลเซียได้ตอบคำถามกับผู้ที่มาร่วมงาน ซึ่งคำถามก็มีทั้งเรื่องส่วนตัวอย่าง เคล็ดลับการดูแลสุขภาพ และบทเรียนจากการครองตำแหน่งนายกฯ มาถึง 22 ปี ไปจนถึงประเด็นซีเรียสอย่างประเด็น LGBT และความหลากหลายในมาเลเซีย การศึกษา บทเรียนจาก EU และความคาดหวังต่อไทยที่จะเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า
ในด้าน การดูแลสุขภาพ หลังการเข้ารับตำแหน่งนายกฯ มาเลเซียในรอบนี้ ด้วยวัย 93 ปี ทำให้มหาเธร์ยังเป็นผู้นำที่มาอายุมากที่สุดในโลก ท่านแนะนำว่า แม้จะทำงานด้านการเมืองมานาน แต่ตัวเองเป็นคนที่ไม่ค่อยเครียด ทั้งยังไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า ไม่กินอาหารเยอะเกินไปจนอ้วน และยังชอบออกกำลังกาย ชอบสู้คน และชอบตอบคำถาม เพราะทำให้ได้ใช้สมอง และตื่นตัวเสมอ
และเมื่อพูดถึงประสบการณ์ ในช่วงการครองตำแหน่งนายกฯ มาถึง 22 ปี มหาเธร์เล่าว่าการตัดสินใจที่ดีที่สุดในช่วงนั้น คือการรับฟังความคิดเห็นและ ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน รวมถึงเข้าถึงประชา ทั้งยังย้ำด้วยว่าตนไม่ใช่เผด็จการ และเป็นประชาธิปไตย ที่ได้รับคะแนนเสียงส่วนใหญ่จากประชาชนในการเลือกตั้งที่ผ่านมา
อีกหนึ่งคำถามที่น่าสนใจในการบรรยายนี้ คือประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ ที่ในบางรัฐของมาเลเซีย ยังคงมีการลงโทษด้วยกฎหมายชารีอะห์ หรือกฎหมายตามหลักศาสนาอิสลามกับกลุ่ม LGBTQ ซึ่งมหาเธร์ได้ให้ความเห็นถึงประเด็นนี้ว่า ปัจจุบันในโลกมีการพูดถึงเรื่องของความเท่าเทียมมากขึ้น แต่ส่วนตัวแล้ว จนเป็นคนที่ยืดถือในคุณค่าแบบเอเชีย (Asian Value) และมาเลเซียก็ยืดถือคุณค่าบนหลักของศาสนา ซึ่งบางครั้งเอเขีนก็รับคุณค่าของตะวันตกเข้ามาปรับ แต่อาจจะไม่จำเป็นที่เราต้องทำตามเขาทุกอย่าง เราก็มีคุณค่าของเราเอง ใครจะยอมรับเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องของเขา แต่อย่าบังคับให้เราต้องยอมรับทุกอย่าง
ยิ่งไปกว่าเรื่องประสบการณ์ส่วนตัว และประเด็นในมาเลเซียแล้ว ยังมีคำถามที่ถามถึงความร่วมมือในอาเซียน และความคาดหวังที่ในปีหน้านี้ ประเทศไทยจะรับหน้าที่เป็นประธานอาเซียน
มหาเธร์ได้หวังว่า จากตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการร่วมมือของประชากรอาเซียนกว่า 600 ล้านคน เราสามารถร่วมมือกันผลักดันเปลี่ยนจากผู้นำเข้า เป็นผู้ผลิตสินค้าส่งออกเองได้ ซึ่งจะสร้างมูลค่าให้ และผลักดันให้ภูมิภาคนี้เติบโตไปเป็นอย่างมาก โดยได้ยกตัวอย่างญี่ปุ่น ที่ฟื้นตัวเองจากการพ่ายแพ้ในสงครามโลก มาเป็นผู้ผลิตรถยนต์ จนพาเศรษฐกิจของประเทศให้ขึ้นสู่อันดับต้นๆ ของโลกได้
เมื่ออาเซียนถูกเปรียบเทียบกับสหภาพยุโรป (EU) แล้วมหาเธร์ยังได้ตอบว่า ในตอนนี้ ท่านมองว่า EU ไม่ได้เป็นองค์กรที่มีความร่วมมืออย่างสามัคคี และเป็นหนึ่งเดียวมากนัก แต่มีปัญหาภายในมากมาย ซึ่งอาเซียนควรร่วมมือกันด้านเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง แต่ในด้านการเมืองต้องเคารพกันและกัน และต้องไม่กดดันประเทศที่ยังไม่พร้อมเป็นประชาธิปไตยด้วย
ก่อนจบการตอบคำถาม มหาเธร์ยังเน้นย้ำว่าอาเซียนควรพัฒนาความรู้และทักษะ ทั้งประชาชนควรเข้าถึงด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมมากยิ่งขึ้น รวมถึงปรับตัวกับโลกที่จะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง AI หรือหุ่นยนต์ที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ