อายุเท่าไหร่แล้ว? คบกับแฟนมาตั้งนาน…จะแต่งงานรึยัง?
เจอหน้ากันนี่ก็ถามกันจังเลย ว่าจะแต่งงานกันรึยัง อายุ 30 แถมคบกันมาได้ซักพักมันจะต้องลงหลักปักฐาน สร้างครอบครัวที่มั่นคงแล้วหรือเปล่า แต่เอาจริงทุกวันนี้ก้มหน้าก้มตาทำงาน กินใช้ให้รอดไปวันๆ ยังลำบากเลย แต่งงานอะไรยังนึกไปไม่ถึง ไม่นับคนที่แม้แต่แฟนก็ยังไม่มี ซึ่งก็มีอีกถมไป
จะแต่งงานเมื่อไหร่ดี? ดูเหมือนแนวคิดเรื่องการสร้างครอบครัวในฐานะการมีชีวิตที่สมบูรณ์จะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา คนรุ่นพ่อรุ่นแม่เราก็พูดเสมอว่า “เด็กสมัยนี้แต่งงานช้า” เมื่อก่อนนี้สำหรับสาวๆ พออายุซัก 25-28 ปีนี่ก็ออกเรือนกันไปหมดแล้ว ดังนั้นพอเห็นใคร 30 แล้วยังโสดเลยฟังดูเป็นเรื่องน่าตกใจสำหรับคนรุ่นพ่อแม่อยู่บ้าง
ทุกวันนี้ไม่ใช่แค่บ้านเราที่ผู้คนแต่งงานกันช้าลงเรื่อยๆ เราอยู่ในยุคที่ ‘การแต่งงาน’ ดูจะไม่ใช่เป้าหมายสำคัญเท่ากับเมื่อก่อนอีกแล้ว เรามีชีวิตที่วุ่นวายไปกับอะไรอีกมากมายจนลืมเรื่องการลงหลักปักฐาน เราอาจจะยังรักอิสระ รักความท้าทายอื่นๆ ทั้งการงานและความสุขรูปแบบอื่นๆ ในชีวิต แถมเรายังมีเทคโนโลยีที่ช่วยเรื่องการเจริญพันธุ์ ทำให้การแต่งงานไม่ถูกจำกัดด้วยกรอบเวลาว่าต้องรีบแต่งเพราะไม่งั้นจะแก่เกินจะมีลูกได้
แถม ‘ครอบครัว’ ในยุคปัจจุบันยังมีความหลากหลายมากขึ้น เราอาจมีคนรักแต่ไม่อยากมีลูก ไปจนถึงเรามีครอบครัวที่มีความหลากหลาย มีครอบครัวของคนรักเพศเดียวกัน ซึ่ง…ตัวเลขอายุของการแต่งงานเพื่อเริ่มสร้างครอบครัวดูจะ ‘ช้า’ กว่าครอบครัวแบบดั้งเดิมพอสมควร
โสดกันเยอะขึ้น…โสดกันนานขึ้น
ทุกๆ 5 ปี สหประชาชาติ (U.N.) สำรวจข้อมูลเกี่ยวกับผู้หญิงใน 197 ประเทศทั่วโลก รายงานรอบปี 2010-2015 พบแนวโน้มการเจริญพันธุ์ที่ลดลงเรื่อยๆ และพบว่าค่าเฉลี่ยอายุของการแต่งงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คือในปี 2010 ผู้หญิงมีแนวโน้มจะแต่งงานที่อายุ 20 ปี และค่าเฉลี่ยค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนมาในปี 2015 ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะแต่งงานตอนที่อายุเฉลี่ย 25 ปี ตัวเลขที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นในทำนองเดียวกันปรากฏในผู้ชายเช่นกัน คือผู้ชายมีแนวโน้มจะแต่งงานเฉลี่ยที่อายุ 29 ปี ความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากความก้าวหน้าของผู้หญิงที่เข้ารับการศึกษาระดับสูงและเข้าทำงานช้ากว่าเมื่อก่อน – ก็นึกสภาพว่ากว่าจะเรียนจบ ทำงาน ก็ขอใช้ชีวิต ก่อนอะเนอะ
ข้อมูลสำรวจอีกชุดหนึ่งจาก U.N. เจ้าเดิมที่คราวนี้เก็บข้อมูลว่าคู่แต่งงานทั้งหลายในแต่ละประเทศโดยเฉลี่ยแล้วจะแต่งงานกันตอนอายุเท่าไหร่ พอฟังค่าเฉลี่ยแล้วชายหนุ่มหญิงสาววัย 30 ก็ใจชื้นได้เพราะอันดับสูงสุดคือเยอรมัน เฉลี่ยแต่งงานตอนอายุ 33 ตามมาด้วยบราซิลและญี่ปุ่นที่แต่งงานกันตอนอายุราวๆ 30 ปี ส่วนบ้านเราอยู่ในอันดับ 6 แต่งงานกันตอนอายุ 26 โดยประมาณ
จากระดับโลกมาสู่บ้านเรา รายงานสุขภาพคนไทยประจำปี 2559 บอกว่า ‘Gen Y แต่งงาน-มีลูกลดลง อยู่คนเดียวมากขึ้น’ โดยรวมแล้วก็อย่างที่เราคุ้นๆ กันคือ คนรุ่นใหม่มีอัตราการแต่งงานและความต้องการมีลูกลดลงเพราะว่าต้องการอิสระในการใช้ชีวิตและผู้หญิงยุคใหม่ก็พึ่งพาตัวเองได้ ไม่ต้องมีสามีหรือลูกก็ได้
สำหรับคนที่ยังโสดและอายุชักจะก้าวหน้าไปเรื่อยๆ แล้วสงสัยว่า เอ๊ะ เราจะยังทันไหมกับการแต่งงาน งานศึกษาจาก University of Utah ทำการเก็บข้อมูลว่า คู่แต่งงานที่แต่งกันตอนไหนมีแนวโน้มที่จะอยู่ยืนยาวไม่หย่าร้างกันง่ายๆ ผลคือช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะลงหลักปักฐานแล้วฐานนั้นจะมั่นคงคือช่วงอายุที่ 28 และ อายุ 32
อะ ใครที่ 30 แล้ว ก็สบายใจขึ้นเนอะ แต่ว่า ถ้าเป็นครอบครัวแบบใหม่ที่ไม่ต้องกังวลเรื่องการมีลูกมีเต้า ค่าเฉลี่ยอายุของการแต่งงานในคู่รักเพศเดียวกัน โดยเฉลี่ยจะลงหลักปักฐานกันก็โน่นเลย 46 ปี
คนรักเพศเดียวกัน แต่งงานกันเมื่อไหร่-เพราะอะไร
ในมิติของการเป็นคู่รักและการแต่งงาน พอเราพูดถึงคนรักเพศเดียวกันก็ดูจะเป็นการแต่งงานในอีกมิติไปเลย คือโอเค การเป็นคู่รักก็มีแหละ แต่อาจด้วยการแต่งงานที่เพิ่งมาถูกกฎหมายและการที่คู่รักเพศเดียวกันไม่ได้ถูกกำหนดโดยกรอบเวลาของการมีลูก หรือสร้างครอบครัวขนาดนั้น จากการศึกษาคู่แต่งงาน LGBTQ ในอเมริกาพบว่าคู่แต่งงานเกย์จะแต่งงานกันที่อายุเฉลี่ย 46 ปี และในเลสเบี้ยนอยู่ที่ 36 ปี
การแต่งงานคือการเลือกลงหลักปักฐานกับคนอีกคน คือการเริ่มชีวิตคู่ที่มี ‘ความเป็นทางการ’ โอเค อนาคตต่อจากนี้จะมีอีกคนหนึ่งในชีวิตอย่างจริงจังที่สุดแล้วนะ สำหรับการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน ในสวีเดนเป็นประเทศที่อนุญาตให้คู่ครองเพศเดียวกันรับบุตรบุญธรรมได้ตั้งแต่ปี 2002 มีการสำรวจแล้วพบว่า เหตุผลที่คู่เกย์และเลสเบี้ยนแต่งงานกันอย่างเป็นทางการนั้นมีเหตุที่ต่างกันอยู่บ้าง สำหรับคู่รักชายจะแต่งงานกันเพื่อแชร์ทรัพย์สินต่างๆ กันอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนในเลสเบี้ยนจะแต่งงานกันเพื่อการรับดูแลลูกบุญธรรมมากกว่า
จากอายุของการแต่งงานในชายหญิงที่มากขึ้น การครองตัวเป็นโสดที่มีความหมายโยงกับอิสรภาพและรูปแบบชีวิตสมัยใหม่ ไปสู่การแต่งงานที่ไม่ถูกกำหนดด้วยอายุและเหตุผลที่หลากหลายของการลงหลักปักฐานในการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน ดูเหมือนว่าด้วยค่านิยมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้เรามีทางเลือกในการกำหนดเส้นทางชีวิตของเราเองที่มีความเฉพาะตัวมากขึ้น
เราอาจไม่ต้องกังวลเรื่องอายุที่มากขึ้นเพราะสังคมคาดหวังให้เราแต่งงาน เราอาจเลือกผลิตทายาทด้วยเทคโนโลยีหรือการรับอุปการะเด็กๆ ที่มีความต้องการซักคน หรือเราอาจจะเลือกเส้นทางที่สนุกไปกับอิสรภาพในชีวิตไปก่อน สุดท้ายแล้ว ‘อายุ’ และ ‘สถานะการแต่งงาน’ อาจไม่ได้สำคัญเท่ากับการเลือกวิถีชีวิตที่เหมาะกับตัวเราเอง
30 แล้วยังไม่ได้แต่งงานเลย? ก็ยังไม่พร้อม เลยยังไม่อยากไง