เห็นเพื่อนร่วมงานนั่งหลังขดหลังแข็ง ตั้งแต่เช้าก็มาก่อนใคร กว่าจะออกออฟฟิศได้ ก็ล่วงเลยเวลาเลิกงานไปแล้ว ใครๆ ก็ต่างมองว่าเขาช่างโปรดักทีฟ มีแรงพลังตื่นเช้ามาทำงาน ขับเคลื่อนการทำงานได้ทั้งวัน แม้จะเลยเวลางานมาแล้ว เจ้านายก็อยากได้ลูกน้องแบบนี้ ทำงานแบบนี้สิคุ้มเงินค่าจ้าง จนเราเองก็เผลอคล้อยตาม แต่ช้าก่อน ชั่วโมงการทำงานมันผูกอยู่กับความโปรดักทีฟเมื่อไหร่กัน?
โรเบิร์ต โพเซน (Robert Pozen) อาจารย์จาก MIT Sloan School of Management บอกว่ามันเริ่มตั้งแต่ปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) แล้วล่ะ ที่เริ่มมาจับจ้องชั่วโมงการทำงานแล้วมองว่านั่นคือผลงาน แต่มันเริ่มมาใช้ได้ผลกันจริงๆ ในช่วงต้น ค.ศ. 1920 ที่ เฮนรี่ ฟอร์ด (Henry Ford) ผู้ก่อตั้ง Ford Motor Company เริ่มใช้ระบบ assembly line ที่เราจะหาคำอธิบายค่อนข้างยาก แต่ลองนึกภาพโรงงานที่มีเครื่องจักรผลิตชิ้นส่วนหลายๆ ชิ้น วางติดต่อกัน ใกล้เคียงที่สุดน่าจะเป็นคำว่า แนวประกอบการผลิต ที่ต้องผลิตทีละจำนวนมากๆ ในระบบโรงงานของเขา จึงเน้นไปที่จำนวนเป็นหลัก
นั่นหมายความว่า ยิ่งเรายืนประกอบชิ้นส่วนบนสายพานนานขึ้น เรายิ่งผลิตสินค้าได้มากขึ้น และเราจะได้เป็นพนักงานที่มีประสิทธิภาพ นั่นก็อาจจะเป็นวิธีการทำงานที่เหมาะสมสำหรับในตอนนั้น (ซึ่งผ่านมานานเหลือเกิน) แต่สำหรับในยุคปัจจุบันที่แม้แต่สายงานอุตสาหกรรม มนุษย์เองก็ถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์ไปบ้างแล้ว การทำงานของมนุษย์มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งอาชีพที่เพิ่มขึ้นมาตามความเป็นไปของโลก ตามเทคโนโลยี ตามความต้องการของผู้บริโภค รวมไปถึงรูปแบบของการทำงาน ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือการเข้ามานั่งในออฟฟิศเต็มจำนวนห้าวันทำการอีกต่อไปแล้ว
ความยืดหยุ่นในการทำงาน ถือเป็นอีกการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการทำงาน ที่เริ่มใช้อย่างแพร่หลายที่สุดและได้ผลที่สุดในยุคนี้ โพเซนคนเดิม ได้เคยกล่าวไว้ในหนังสือ ‘Extreme Productivity: Boost Your Results, Reduce Your Hours’ ของเขาถึงอีกทางเลือกของการวัดระดับความโปรดักทีฟไว้ว่า “performance objectives with success metrics.” ซึ่งสอดคล้องกับโลกการทำงานที่หันมาจดจ่อกับประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น
ความหมายของการวัดประสิทธิภาพในการทำงาน จากความสำเร็จนั้น แน่นอนว่าเราอาจไม่ได้สนใจชั่วโมงการทำงานบนสายพานอีกต่อไป (คนละอย่างกับเดดไลน์นะ) เพราะแนวคิดนี้ ต้องการให้คนทำงานเนี่ย หันมาใส่ใจว่าเป้าหมายของพวกเขาคืออะไร มากกว่าการยืนทำงานให้ได้นานที่สุด หรือนั่งมองหน้ากันในออฟฟิศจนหมดเวลา แล้วจัดลำดับความสำคัญ ทำความเข้าใจในวิธีการและวัตถุประสงค์ของมัน ทีนี้ก็มารอดูความสำเร็จหลังจากการทำงานเสร็จสิ้น ซึ่งอาจต้องอาศัยเวลาสักสัปดาห์หรือเป็นเดือน
แล้วแนวคิดนี้สำคัญยังไง? เกี่ยวกับเราตรงไหนบ้าง?
เพราะเรากลับมานั่งทำงานที่บ้านกันอีกแล้วน่ะสิ รวมถึงการทำงานแบบ remote ที่เริ่มถูกนำมาใช้ในหลายบริษัท ไม่ว่าจะด้วยนโยบายที่มีมาก่อนหน้านี้ หรือด้วยความจำเป็นของ social distancing ก็ตาม เมื่อเราอยู่บ้าน ไม่มีใครรู้ว่าเราตื่นตอนไหน เราเริ่มเปิดคอมพิวเตอร์ทำงานเมื่อไหร่ เราแอบดูคลิปหมาแมวหรือแอ็ปช้อปปิ้งออนไลน์ในเวลางานหรือเปล่า การจับจ้องในย่างก้าวการทำงานของเราจึงถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง
การนัดประชุมตอนเช้า ถือเป็นอีกกลยุทธของบริษัทที่จะดูว่าเราตื่นมาทำงานที่เวลาปกติหรือเปล่า การสั่งงานแล้วขอภายในหนึ่งชั่วโมง การคาดหวังให้สแตนบายหน้าคอมเพื่อถามตอบประโยคต่อประโยค ไม่ทิ้งช่องว่างไว้ให้ต้องรอ คุยปุ๊บรู้เรื่องปั๊บ เอ แล้วนี่มันควรเป็นเรื่องปกติไม่ใช่หรอ ในเมื่อการทำงานของเรายังคงดำเนินต่อไป แค่ย้ายสถานที่เป็นที่บ้านแทน
ก็ใช่นั่นแหละ เราควรลุกมาทำงานในเวลาปกติ ควรนั่งทำงานตามเวลาให้เหมือนวันทำงาน แต่เรากำลังถูกจับตามองเรื่องชั่วโมงการทำงานมากขึ้นหรือเปล่า หากเราสามารถทำทุกอย่างให้เสร็จเรียบร้อย คุณภาพของงานคงที่ ส่งงานได้ตามเวลา เหมือนตอนอยู่ออฟฟิศ แต่เราหายไปจากหน้าจอสักครึ่งชั่วโมง หรือแอบไปพักผ่อนในเวลางาน สิ่งนี้จะไม่แฟร์กับบริษัทหรือเพื่อนร่วมงานหรือไม่?
จากการพูดคุยกับชาวออฟฟิศหลายคน ที่กลับมาทำงานที่บ้านตามนโยบายของบริษัท หลายที่เริ่มมีวิธีการเช็กชื่อเวลาเข้าออกงานตามเวลาปกติที่เข้าออฟฟิศ มีการเรียกร้องจำนวนงานที่มากขึ้นหรือคุณภาพงานที่มากขึ้น ด้วยเหตุผลที่ว่า เราไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง เราไม่สามารถทำงานบางอย่างได้เหมือนตอนอยู่ออฟฟิศ ควรหาอะไรมาทดแทนสิ่งที่ไม่ได้ทำซะสิ และอีกหลากหลายความชุลมุนที่เกิดขึ้น เมื่อการทำงานที่บ้านยังเป็นของใหม่ และไม่ใช่ว่าทุกที่จะมีนโยบายที่ลงตัวแล้วสำหรับการทำงานไกลหูไกลตาและแสนยืดหยุ่นนี้ culture of trust จึงเป็นอีกเรื่องที่น่าพูดคุยในช่วงนี้
“performance objectives with success metrics.” จึงถูกนำมาทบทวนอีกครั้งว่าช่วงนี้เราจะสามารถวัดกันที่ผลงานได้ไหมนะ หากเราสามารถทำทุกอย่างเสร็จภายใน 6 ชั่วโมง แล้วอีก 2 ชั่วโมงที่เหลือในการทำงาน เราเอาไปพักผ่อนจะได้ไหม? จะถือว่าเอาเปรียบเพื่อนร่วมงานหรือบริษัทหรือเปล่า? หรือเมื่ออยู่ไกลหูไกลตา ชั่วโมงการทำงานควรถูกนำมากวดขันอีกครั้ง
เรื่องนี้ก็ยังไม่มีคำตอบตายตัว ทั้งหมดทั้งมวล ยังคงขึ้นอยู่กับนโยบายและวัฒนธรรมของออฟฟิศนั้นๆ ที่คนทำงานเองจะรู้ดีที่สุดว่าเราทำอะไรได้หรือไม่ได้ แต่สิ่งสำคัญ คือ มันมีความหมิ่นเหม่ของความไว้ใจเกิดขึ้น เมื่อเราไม่ได้อยู่ในออฟฟิศ เราอาจเจอความกดดันทางตรงและทางอ้อม ทั้งเรื่องของจำนวนชั่วโมงการทำงานและคุณภาพของงาน เมื่อต้องทำงานท่ามกลางความกดดันอาจทำให้เราไม่ได้โปรดักทีฟขนาดนั้น แม้จะอยู่ในชั่วโมงการทำงานจนครบก็ตาม
อ้างอิงข้อมูลจาก