คนเราจะอยากถอดถุงยางตอนมีเซ็กซ์ไปทำไม?
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด จะเป็นความไม่สนใจหรือด้วยความรู้สึก ความเสี่ยงของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์นั้นมีอยู่มากทั้ง 2 ฝ่าย แต่แล้วทำไมในการมีเพศสัมพันธ์ ผู้ชายจำนวนหนึ่งถึงยืนยันที่จะรับความเสี่ยงนั้น บางครั้งรับความเสี่ยงโดยไม่ได้รับการยินยอมจากคู่นอนของตัวเอง และหลายๆ ครั้งก็ถึงขั้นถอดถุงยางระหว่างปฏิบัติกิจอยู่ หรือที่เราเรียกว่า Stealthing ซึ่งการกระทำลักษณะนี้ยังเข้าข่ายว่าเป็นล่วงละเมิดทางเพศที่ผิดกฎหมายในหลายๆ ประเทศด้วย
บ่อยครั้งเหลือเกินที่มันเกิดขึ้นจากผู้ชายที่เราคาดไม่ถึงว่าจะทำ ไม่ว่าจะเป็นคนใกล้ตัว คนดังที่ไม่ได้ดูมีพิษภัย ผู้ชายที่ดูจะมีมุมมองก้าวหน้ากว่าคนอื่นในหลากหลายประเด็น หรือแม้แต่คนรักของเราที่เราเชื่อและไว้ใจ ควบรวมกันไปแล้วไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงทางกาย และความหลากหลายของผู้กระทำที่เป็นไปก็ได้ เหตุผลของการกระทำเช่นนั้นอาจจะลึกลงไปมากกว่าความคิดเห็นทางการเมืองและประเด็นสังคม ลึกลงไปกว่าความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด หรือภาพตัวตนที่คนคนหนึ่งแสดงอออกมา
อาจลึกลงไปยังแนวคิดเกี่ยวกับเพศและความเป็นชายที่ได้รับการปลูกฝังโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว
มีงานวิจัยที่อาจหาคำอธิบายความเชื่อมโยงดังกล่าวชื่อ The Relationship Between Masculinity Ideology, Condom Attitudes, and Condom Use Stage of Change: A Structural Equation Modeling Approach โดย เซธ โนอาร์ (Seth Noar) และ แพทริเซีย โมโรคอฟฟ์ (Patricia Morokoff) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนาและโรดไอแลนด์ตามลำดับ
งานวิจัยนี้เป็นการหาความเชื่อมโยงระหว่างอุดมคติของความเป็นชายกับมุมมองและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ถุงยางอนามัย แต่นอกจากการทดลองแล้ว ผู้วิจัยได้มีการรวบรวมข้อมูลในหลากหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเป็นชายในอุดมคติและผลของมันต่อแง่มุมต่างๆ ในชีวิตของผู้ชายอีกด้วย
งานวิจัยนี้ยกคำอธิบายของอุดมคติความเป็นชาย (Masculinity Ideology – MI) ผ่านการศึกษาทางจิตวิทยาสังคมโดย โจเซฟ เพล็ก (Joseph Pleck) นักวิจัยจาก Wellesley College Center for Research on Women เล่าว่าอุดมคติดังกล่าววาง ‘ความเป็นชาย’ ตั้งไว้บน 3 เสาหลักคือสถานะ (Status) ความถึกทน (Toughness) และการต่อต้านความเป็นหญิง (Anti-Femininity) โดยผู้วิจัยยังกล่าวต่อว่า “ความกลัวและการหลีกเลี่ยงความเป็นหญิงนั้นมักโดนมอง (โดยนักวิจัยหลายราย) ว่าเป็นแรงผลักดันลักษณะความเป็นชายอื่นๆ ที่เหลือ”
ลักษณะเหล่านั้นแม้จะดูเป็นเรื่องที่กว้างและจับต้องได้ยาก แต่บ่อยครั้งเมื่อให้เราหลับตาและลองนึกดูว่า ‘ผู้ชาย’ มักโดนสอนให้เป็นยังไง ลักษณะที่ ‘ควรจะเป็น’ เหล่านั้นมีการแทรกซึมของ 3 เสาหลักอยู่เสมอ ความถึกทนในการเป็นลูกผู้ชายต้องไม่ร้องไห้ สถานะของการต้องทำหน้าที่ช้างเท้าหน้า โดยทั้ง 2 อย่างมักมาพร้อมความนึกคิดจางๆ ที่ไม่ได้ถูกพูดออกมา หรือไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคิดอยู่ว่า “เพราะนั่นคือเรื่องที่ผู้หญิงทำ/ไม่ทำ” และนั่นคือสิ่งที่อธิบายว่าการต่อต้านความเป็นหญิงคือแรงขับลักษณะความเป็นชาย
และก่อนจะไปในเรื่องถัดไป การอธิบายเกี่ยวกับอุดมคติความเป็นชาย ไม่ได้หมายความถึงการเหมารวมว่าผู้ชายทั้งหมดมีลักษณะแบบที่กล่าวไปข้างต้น แต่อุดมคติความเป็นชาย คืออุดมคติที่บอกว่าผู้ชายควรต้องมีลักษณะแบบใด เป็นอุดมคติที่โดนปลูกฝังและส่งต่อกันผ่านค่านิยมสังคมโดยรอบ ทั้งผ่านการศึกษา ประเพณี สื่อ ฯลฯ และการผิดออกไปจากนี้คือลักษณะที่ไม่ดีพอ ซึ่งในความเป็นจริง อุดมคติเหล่านั้นก็ไม่อาจไปถึงได้เลยด้วยซ้ำ
ทว่าเรื่องนี้จะไปเกี่ยวข้องกับการใช้ การไม่ใช้ และการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ถุงยางอนามัยและเซ็กซ์ได้ยังไง? คำตอบอยู่ในผลสรุปของการวิจัย โดยวิธีการเก็บข้อมูลนั้นทำผ่านแบบสอบถาม 3 ประเด็นนั่นคือ สเกลชี้วัดความยึดในความเป็นชายตามขนบ หรือ (Male Role Norms Scale – MRNS) มุมมองต่อถุงยางอนามัย หรือ (Condom Attitudes – CA) และขั้นการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ถุงยางอนามัย หรือ (Condom Use Stage of Change – SOC) แล้วหาจุดเชื่อมโยงของทั้ง 3 ประเด็นในกลุ่มตัวอย่าง
อุดมคติความเป็นชาย คืออุดมคติที่บอกว่าผู้ชายควรต้องมีลักษณะแบบใด
เป็นอุดมคติที่โดนปลูกฝังและส่งต่อกันผ่านค่านิยมสังคมโดยรอบ
ทั้งผ่านการศึกษา ประเพณี สื่อ ฯลฯ และการผิดออกไปจากนี้คือลักษณะที่ไม่ดีพอ
ผลการวิจัยพบว่า ยิ่งกลุ่มตัวอย่างยึดโยงกับอุดมคติความเป็นชายมาก ก็จะยิ่งมีมุมมองแง่ลบต่อถุงยางอนามัยมากขึ้นไปด้วย และมุมมองแง่ลบต่อถุงยางอนามัยก็ยังเชื่อมโยงไปสู่ความพร้อมที่ลดลงในการใช้ถุงยางอนามัยอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ ผลการวิจัยบวกเข้ากับการรวบรวมงานวิจัยในประเด็นใกล้ๆ กันก่อนหน้าพบว่า บทบาททางเพศมีอิทธิพลต่อมุมมองและพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ซึ่งบทบาทเพศชายตามขนบนั้นมักนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยงต่อโรค
และนั่นไม่ใช่โดยตั้งใจ ใครจะไปอยากติดโรคติดต่อผ่านเพศสัมพันธ์ล่ะ? แต่เพราะบริบทโดยรอบของมัน ตัวอย่างเช่น ความเชื่อว่าการทำให้คนคนหนึ่งตั้งครรภ์นั้นสามารถยืนยันความรู้สึกของความเป็นชายได้ ฉะนั้นจะโดยรู้หรือไม่รู้ตัว ผู้ชายจำนวนหนึ่งจึงมักมองข้ามการมีเซ็กซ์โดยใช้ถุงยางอนามัยหรือการคุมกำเนิด บวกเข้ากับความเชื่อมโยงระหว่างอุดมคติความเป็นชายกับการมีความสัมพันธ์จริงจังและลึกซึ้งต่ำกว่า นำไปสู่ความเชื่อว่ายิ่งมีคู่นอนมากจะยิ่ง ‘แมน’ ความเสี่ยงต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์นั้นจึงยิ่งพุ่งสูง
แล้วทำไมจะปฏิเสธไม่ได้? คงเป็นคำถามที่ผุดขึ้นมา ในเมื่อการมีเพศสัมพันธ์นั้นคือการทำข้อตกลงระหว่างคู่นอน แปลว่าข้อตกลงในการมีเพศสัมพันธ์นั้นควรจะถูกตั้งโดยคู่นอนจริงหรือไม่? ซึ่งควรจะเป็นเช่นนั้น แต่ก็มีปัจจัยอื่นอีกที่ในงานวิจัยเรียกว่า บททางเพศสัมพันธ์ (Sexual Script)
“บททางเพศสัมพันธ์เป็นข้อตกลงว่าปฏิสัมพันธ์ระหว่างชายกับหญิงในการมีเพศสัมพันธ์ครั้งหนึ่งๆ ควรจะเป็นยังไง” ผู้วิจัยเขียน โดยเปรียบเทียบมันกับบทบาททางเพศ ซึ่งในขณะที่ผู้ชายถูกบอกว่าควรทำหน้าที่เป็น ‘ผู้รุก’ (Aggressor) ผู้หญิงมักอยู่ในฐานะ ‘ผู้ห้ามปราม’ (Limit Setter) แต่ในเชิงการปฏิบัติ ผู้วิจัยชี้ชัดว่าการกระทำที่จำเป็นในการจะหยุดหรือห้ามการกระทำใดๆ ในการมีเพศสัมพันธ์นั้น ขัดเข้าอย่างจังกับบทบาททางเพศที่ผู้หญิงได้รับจากสังคม การห้ามจึงมักไม่เกิดขึ้นจากความไม่กล้าและไม่สามารถจะห้ามได้
กล่าวโดยรวมคือ หนึ่งในหนทางในการเพิ่มการมีเซ็กซ์ที่ปลอดภัยระหว่างชายกับหญิงที่เพ่งไปยังรากสุดของปัญหา คือการตั้งคำถาม ปรับแปลง และขยับขยายรูปแบบและความหมายของความเป็นชายที่เรารู้จักกัน ในขณะที่มันพูดง่ายกว่าทำ แต่การทำเช่นนั้นนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในแง่บวกสำหรับทุกคนในสังคม และนั่นรวมไปถึงผู้ชายด้วย
บทบาททางเพศมีอิทธิพลต่อมุมมองและพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ซึ่งบทบาทเพศชายตามขนบนั้นมักนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยงต่อโรค
เวลาเราพูดถึงการเปลี่ยนแปลงในอุดมคติของความเป็นชาย เราไม่ได้หมายถึงการลบล้างความเป็นชาย แต่คือการปรับมันเพื่อขยับขยายความหมายและปลายทางให้เป็นผลบวกต่อคนในสังคมมากขึ้น และนั่นรวมไปถึงตัวผู้ชายที่ใกล้และไกลอุดมคติด้วย หากเราแต่ละคนมองโดยพินิจจริงๆ แล้ว ไม่ว่าเราจะยืนอยู่ตรงไหน สิ่งที่เราน่าจะเห็นด้วยกันได้คือ ความเป็นชายนั้นกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นปัญหาแน่ๆ สิ่งที่เราไม่เห็นด้วยในกันและกันเป็นปัญหาตรงไหน แต่ที่แน่ๆ ความเปลี่ยนแปลงควรต้องเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
หนึ่งในข้อเสนอว่า ปัญหาของความเป็นชายในปัจจุบันคืออะไรนั้น เป็นหนทางและปลายทางที่มักนำไปสู่ความทุกข์โศกให้กับทุกคน ผู้ชายที่ไกลอุดมคติรู้สึกไม่มีที่ยืนที่แท้จริงในกลุ่มก้อนไหนในสังคม ผู้ชายที่วิ่งไล่ให้ตัวเองเข้าใกล้อุดมคติเพราะคำมั่นสัญญาว่ามันจะนำความเติมเต็มมาให้กับพวกเขา ก็พบเข้ากับความผิดหวังและคับแค้นเมื่อสังคมปัจจุบันเบือนหน้าหนีอุดมคตินั้นๆ ในหลายกรณี ความคับแค้นก็นำไปสู่สิ่งอื่น อย่างการวิ่งไปหาฝั่งอนุรักษนิยมสุดโต่ง ยิ่งไปกว่านั้นคือ การใช้ความรุนแรง
เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2566 ข่าวการเสียชีวิตของ จีจี้ – สุพิชชา ปรีดาเจริญ เน็ตไอดอลและเจ้าของเพจ ‘เรื่องของจี้’ เป็นที่พูดถึงกันในหลายประเด็น หนึ่งในนั้นคือพฤติกรรมของแฟนเก่า อิคคิว – นตท. ภูมิพัฒน์ ชัยวณิชยา ที่มีพฤติกรรมรุนแรงในอดีตต่อแฟนสาวทั้งทางคำพูดและการกระทำ โดยพบร่างทั้งคู่อยู่ด้วยกัน ซึ่งร่างของจีจี้เองพบร่องรอยกระสุนที่ถูกยิงที่ศีรษะ
จากการตรวจสอบผ่านโพสต์จากสตอรี่ในแอปอินสตาแกรมพบว่า อิคคิวออกปากต่อต้านขบวนการเฟมินิสต์ และชื่นชอบแอนดรูว์ เทต (Andrew Tate) อินฟลูเอนเซอร์ผู้โปรโมตความเป็นชายสุดขั้ว (หลายๆ คนเรียกว่าชายแท้) และมีการเสนอแนวคิดเช่น “ผู้หญิงเกิดมาเพื่อมีลูกมีครอบครัว” หรือการบอกว่าผู้ชายมีหน้าที่ที่ต้องทำเยอะกว่าผู้หญิง และผู้หญิงมีมุมอ่อนแอมากกว่า
ไม่ใช่ว่าผู้ชายทุกคนที่อยากอยู่ใกล้อุดมคติความเป็นชายต้องเป็นเช่นนี้ แต่ในกรณีนี้ที่ไปสุดทาง สามารถเห็นผลของมันได้อย่างชัดเจนว่า 3 เสาหลักที่มีนั้นนำไปสู่โศกนาฏกรรมได้อย่างแท้จริง ซึ่งต้องขอย้ำว่านี่ไม่ใช่กรณีเดี่ยวๆ ที่เราจะบอกได้ว่า “คนดีๆ ก็มีตั้งเยอะ” เพราะไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงในครัวเรือน หรือเหตุการณ์กราดยิงที่จากสถิติ ผู้ชายแบบเดียวๆ กันมักเป็นผู้ลงมือ พฤติกรรมรูปแบบดังกล่าวนั้นฉายซ้ำนับครั้งไม่ถ้วนทั่วโลกและในระดับที่ใหญ่เล็กต่างกันไป แต่จุดเริ่มต้นของมันนั้นคือสิ่งเดียวกัน
การไม่ใส่ถุงยางอนามัยไม่จำเป็นว่าเราจะถูกตีตราให้กลายเป็นคนที่รุนแรงหรือกดทับผู้อื่นโดยตั้งใจ แต่ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ ทั้ง 2 ตัวอย่างที่กล่าวไปทำให้เห็นว่าการกระทำนั้นนำภัยมาสู่ใครสักคนได้
และจุดเริ่มที่จะป้องกันมันได้นั้นอยู่ที่การมองความเป็นชายใหม่ด้วยมุมที่วิพากษ์ต่อมันมากยิ่งขึ้น
อ้างอิงข้อมูลจาก