ช่วงนี้ไม่มีเวลาให้ตัวเองเอาเสียเลย ตื่นเช้ามานอกจากจะปิดนาฬิกาปลุกแล้ว ก็เริ่มเช็กอีเมล แอปพลิเคชั่นที่เอาไว้สื่อสารในการทำงานต่างๆ เพื่อดูว่าเช้านี้เรากำลังจะไปเจออะไรที่ออฟฟิศกันนะ เริ่มทำงานกันตั้งแต่ลืมตาตื่นมา จนนอกเวลางานก็ยังต้องคอยสื่อสารกันเรื่องงานไม่จบไม่สิ้น work ไร้ balance เริ่มคืบคลานเข้ามาหา มาทวงคืนเวลาให้กับตัวเอง ให้เราได้ใช้เวลานั้นเพื่อเราเองอย่างมีประสิทธิภาพกันเถอะ
เรื่องของ work-life balance แม้จะพูดกันจนเอียนปัญหานี้ก็ยังไม่จางหายไปไหนอยู่ดี สารพัดวิธีที่จะปรับเวลาชีวิตให้มีความสมดุลระหว่างงานและเวลาส่วนตัว ถูกนำเสนอเพื่อเป็นหนทางไปสู่ความสงบหลังเลิกงานและความเบิกบานในตอนเช้า แต่ล่าสุดไปเจอบทความที่แนะให้แก้ปัญหานี้ด้วยการทำลายกำแพงระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวด้วย workcation คือ การเที่ยวไปทำงานไปมันเสียเลย (กุมหัว) ที่เราอาจเอาไว้แนะนำในครั้งต่อไป แต่ที่พูดถึงขึ้นมาก็เพราะว่า สิ่งนี้มันช่วยยืนยันได้ว่า งานและชีวิตส่วนตัว ยังไงเป็นปัญหาที่ยังคงอยู่เสมอ ไม่ว่าเราจะงัดไม้เด็ดมาต่อกรกับมันกี่กระบวนท่าแล้วก็ตาม
เราเลยอยากเสนออีกกระบวนท่ามาแก้เผ็ด work ไร้ balance ที่เราเองก็ไม่อาจรับประกันได้ว่ามันจะได้ผล 100% แต่อยากเสนอไว้เป็นเหมือนทางเลือกให้ได้เลือกใช้เอาตามความเหมาะสม เพราะวิธีนี้ค่อนข้างจะยืดหยุ่นและไม่ยุ่งยาก นั่นคือการเปิด ‘Monk Mode’ ในตอนเช้าก่อนไปทำงาน ซึ่งเป็นเทคนิคจาก คาล นิวพอร์ต (Cal Newport) ศาสตราจารย์จาก Georgetown University ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการทำงานอย่าง Deep Work ที่จะช่วยให้เราหาความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว ด้วยเวลาเพียง 90 นาทีก่อนไปทำงาน
โดย Monk Mode นั้น ความหมายโดยทั่วไป คือ ช่วงเวลาที่เราจะโฟกัสกับการฝึกหรือการทำอะไรสักอย่าง อย่างแน่วแน่ ตั้งใจ ไม่มีอะไรมารบกวน เปรียบเปรยเหมือนกับพระที่ตัดกิเลสจนไม่สนใจเรื่องทางโลกนั่นแหละ และในหนังสือ Deep Work นั้น แนะนำให้เราหยิบเอา Monk Mode มาใช้กับชีวิตการทำงาน ด้วยการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สงบ ไม่มีการรบกวนจากแจ้งเตือนทั้งหลาย ไม่มีการเช็กข่าวสารจากโลกภายนอก ตั้งแต่เช้าจนถึงบ่าย แต่นั่นเป็นไปไม่ได้สำหรับทุกคนใช่มั้ยล่ะ? บรูซ เดสลีย์(Bruce Daisley) นักเขียนและผู้ให้คำปรึกษาด้านการทำงาน ได้แนะนำถึงวิธีใช้ Monk Mode ไว้ใน BBC อย่างน่าสนใจ โดยให้เรากำหนดเวลาพักผ่อนอย่างเพียงพอ ตื่นเช้ามากขึ้น เพื่อเผื่อเวลาให้กับตัวเองไว้ 90 นาทีก่อนออกไปทำงานแทน (ค่อยดูเป็นไปได้สำหรับชีวิตชาวออฟฟิศขึ้นมาหน่อย) แล้วเราจะทำอะไรกับเวลาเหล่านั้นน่ะหรอ?
เอาไปใช้เวลากับตัวเองน่ะสิ
จริงๆ วิธีที่ดีที่สุดตามแบบต้นฉบับ Deep Work นั้นคือ Meditation ให้เราได้ใช้เวลาไปกับการสร้างสมาธิ แบบไม่มีเสียงดนตรีคอยขับกล่อม เสียงธรรมชาติ แอมเบียนต์ต่างๆ ที่เราคุ้นเคยว่ามันสร้างสมาธิได้ดีก็ต้องงดไว้ก่อน (งดที่แปลว่างดจริงๆ) เพื่อให้สอดคล้องกับคอนเซ็ปต์ในตอนแรกที่เล่าไปในตอนแรก ว่าเราจะไม่มีอะไรมารบกวนเราทั้งนั้น แต่เราก็เข้าใจว่าการนั่งสมาธิอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีสำหรับทุกคน หากใครคิดว่าวิธีนี้เวิร์ก สามารถเอาไปใช้ได้แบบไม่มีปัญหา แต่สำหรับใครที่ไม่สะดวกจะนั่งดื่มด่ำ self reflection เราสามารถเอาเวลา 90 นาทีนั้นไปทำอย่างอื่นได้เช่นกัน
Productivity Planning ตั้งใจทำอะไรจดไว้แบบนั้น
หากเป็นคนพลังล้นเหลือ ไอเดียล้นหลาม มาเริ่มต้นวันมาด้วยการมองสิ่งที่เราจะโฟกัสในวันนี้ ด้วยการจดโน้ตกันดีกว่า วิธีง่ายๆ อุปกรณ์น้อย ไม่มีอะไรยุ่งยาก ไม่ว่าจะเรื่องงาน ความผ่อนคลาย ได้ทั้งนั้น ไม่จำเป็นว่าเราจะต้องพุ่งเป้าไปที่การทำงานเพียงอย่างเดียว เพราะจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จนั้น อยู่ที่ว่าเราได้ทำสิ่งที่เราอยากทำหรือเปล่าต่างหาก
อยากจะตั้งเป้าว่าวันนี้อยากโฟกัสที่การฟังเพลงเพื่อผ่อนคลาย อยากเลิกงานแล้วได้ไปกินขนมร้านโปรด กลับบ้านไวเพื่อมีเวลาให้กับเพื่อนรักสี่ขาที่รอที่บ้านมากขึ้น อะไรก็ได้ทั้งนั้น จดไว้สัก 3-5 สิ่งที่จะโฟกัสในวันนั้นในช่วงเริ่มต้นของวัน แล้วอย่าลืมลงมือทำแต่ละอันด้วยล่ะ
พอหมดวันแล้วมาติ๊กดูว่า วันนี้เราได้ทำสิ่งที่ลิสต์ไว้ได้กี่อันกันนะ ได้ครบหมดเลยหรือเปล่า เพื่อเป็นพลังให้ตัวเองตอนจบวัน โดยเฉพาะวันเหนื่อยๆ หรือเจอเรื่องแย่ๆ การได้ทำแค่ 1-2 อย่างที่อยากทำก็ช่วยให้วันนั้นไม่แย่ไปเสียหมดแล้ว หรือจะในวันที่รู้สึกว่าเรามีพลังจังเลย จนเราทำได้ครบทุกข้อ ยิ่งเป็นการ cheer up ตัวเองยิ่งขึ้นว่าเราทำทุกสิ่งที่ตั้งใจไว้ได้ด้วยนะ แม้สุดท้ายแล้วหากไม่ได้ทำอะไรสักอย่างเลย อย่างน้อยเราก็ยังดีที่รู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร การเลือกสิ่งที่จะโฟกัสในแต่ละวันจึงเป็นการเริ่มต้นวันได้ดีอีกวิธีเลยล่ะ
หายใจให้เต็มปอด ด้วยสูตร 4-7-8
แม้การหายใจเป็นกิจกรรมที่เราทำอยู่ทุกวินาที แต่ว่าไม่เคยให้ความสนใจไปที่มันโดยตรงกันสักเท่าไหร่ แต่การฝึกลมหายใจ เป็นอีกสิ่งสำคัญที่ต้องโฟกัสในโยคะ และการออกกำลังกายแบบอื่นด้วย ลองมาฝึกหายใจให้เต็มปอด ด้วยการออกกำลังทางลมหายใจกันดูบ้าง เพราะมันส่งผลถึงความผ่อนคลาย อารมณ์ การนอน และการแลกเปลี่ยนเปลี่ยนอ็อกซิเจน
เริ่มจากเราควรนั่งหรือนอนอยู่ในท่าผ่อนคลาย (มากที่สุดเท่าที่สถานที่จะเอื้ออำนวย) ค่อยๆ หลับตา หรือลืมตาไว้ก็ได้ตามสะดวก (แต่การกลับตาจะช่วยให้เรามีสมาธิกับการกำหนดลมหายใจมากกว่า) หายใจช้าๆ จนกว่าจะรู้สึกว่ามันเป็นจังหวะและร่างกายรู้สึกผ่อนคลายไปกับมันมากขึ้น สูดให้เต็มปอดด้วยสูตร 4-7-8 หายใจเข้า นับ 1-4 อย่าเพิ่งหายใจออก หยุดลมหายใจค้างไว้ นับ 1-7 หายใจออกนับ 1-8 ลองทำแบบนี้ซ้ำเรื่อยๆ ร่างกายจะผ่อนคลายมากขึ้น หายใจเต็มปอด รู้สึกปลอดโปร่งมากขึ้น ไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไรให้ยุ่งยาก เพียงแค่ฝึกลมหายใจให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย ความเครียดลดลงแล้ว วิธีนี้ สามารถใช้ตอนก่อนนอน เพื่อให้หลับง่ายขึ้นได้อีกด้วย สามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ที่หนังสือ Breathing: The Master Key to Self Healing ของ Dr. Andrew Weil
อาจลองหาวิธีอื่นๆ ที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเรา อาจจะเป็นออกกำลังกายเบาๆ โยคะ หรืออ่านหนังสือเล่มโปรด กิจกรรมใดๆ ก็ตามที่เราไม่ต้องจับโทรศัพท์แล้วคอยกังวลกับแจ้งเตือนที่ถาโถมเข้ามา จนเราเอาแต่คิดถึงเรื่องงานตั้งแต่ยังไม่ก้าวขาออกเดินทาง ในตอนเริ่มต้น อาจจะยังไม่เข้มงวดกับตัวเองมากนัก อาจใช้เวลาเพียงแค่ 30 นาที แล้วค่อยๆ ปรับเอาไปใช้ตามความเหมาะสม
อ้างอิงข้อมูลจาก