เชื่อไหมว่า เศษผ้าเล็กๆ ที่เกินมาจากเสื้อผ้าที่เราสวมใส่นั้น ก่อให้เกิดมูลค่าได้หากนำมาดัดแปลงตกแต่งใหม่ แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ คุณอาจช่วยโลกลดมลภาวะได้มากกว่าเดิมถ้านำเศษผ้าเหลือมาหมุนเวียนใช้ใหม่ก่อนปล่อยให้มันกลายเป็น ‘ขยะ’ แล้วถ้าเป็นสเกลที่ใหญ่ขึ้นมากว่านั้นอย่างผ้าเหลือในโรงงานล่ะ เราจะลดการสร้างขยะไปได้มากแค่ไหนกัน
และนี่ก็คือสิ่งที่ moreloop ได้เดินหน้าสร้างมันให้เกิดขึ้นในยุคที่ธุรกิจ fast fashion กลายเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม เพราะ moreloop ได้นำสิ่งที่เรียกว่า surplus fabraic ในการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง และสร้างรายได้ให้กับแบรนด์
พล-อมรพล หุวะนันทน์ และ แอ๋ม-ธมลวรรณ วิโรจน์ชัยยันต์ สองซีอีโอรุ่นใหม่ไฟแรงแห่ง moreloop พื้นที่ตัวกลางในการเสาะหาและจับคู่ materials ผ้าชั้นดีที่เหลือจากกระบวนการผลิตของโรงงานทำเสื้อผ้าสำเร็จรูป มาขายต่อให้กับกลุ่มคนที่จะนำไปแปรรูปใช้งานต่อไป ในมุมมองคนภายนอก moreloop คือธุรกิจที่ผสมผสานหลักการสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกัน ก็ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างแพลตฟอร์มของตัวเองได้อย่างดีเยี่ยม
ที่สำคัญ เพียงแค่สองปีกว่าๆ กลุ่มคนเล็กๆ เหล่านี้ก็พาชื่อ moreloop ไปอยู่บนเวทีระดับโลกอย่าง SEED Awards เวทีรางวัลสำหรับองค์กรที่ทำธุรกิจเน้นสร้างความยั่งยืนและพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว The MATTER ได้มีโอกาสพูดคุยกับสองซีอีโอเกี่ยวกับเรื่องราวการทำแบรนด์ มาดูกันว่า moreloop เดินทางมาอย่างไรบ้าง
moreloop จุดเริ่มต้นจาก pain และ passion
คุณแอ๋ม เล่าถึงเส้นทางการทำแบรนด์ที่เริ่มต้นจากคำสองคำคือ pain และ passion เดิมทีเธอเป็นทายาทรุ่นสองของโรงงานผลิตและส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป รวมทั้งเคยทำแบรนด์ของตัวเอง ปัญหาที่มองเห็นจากการทำอุตสาหกรรมนี้จึงหนีไม่พ้นของเรื่องผ้าเหลือใช้จากกระบวนการผลิตที่มีเป็นจำนวนมาก
“เวลาโรงงานผลิตเสื้อผ้าแต่ละล็อต ก็จะสั่งผ้าเผื่อเหลือหรือสูญเสียไว้อยู่แล้ว ซึ่งบางครั้งเราอาจไม่ได้ใช้ผ้าส่วนนั้น การเข้ามาช่วยงานที่บ้านทำให้เห็นว่ามันมีผ้าเสียเหลือจากกระบวนการผลิตเยอะมาก นี่เลยเป็นจุดหนึ่งที่เราอยากแก้
“พอมาเจอพี่พลและมีโอกาสได้ไปคุยกับโรงงานประมาณ 20-30 โรงงาน ก็ได้คำตอบว่าโรงงานเกือบ 90% มีผ้าเหลือจากกระบวนการผลิตเสื้อผ้าเหมือนกัน” การลงพื้นที่และพูดคุยกับคนในแวดวงธุรกิจเดียวกัน หรือแม้แต่ประสบการณ์ตรงที่รับรู้เกี่ยวกับกระบวนการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ก็ยิ่งทำให้เห็นว่าอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปนั้นมีผ้าเหลือเป็นจำนวนมาก
“moreloop จึงสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยแก้ pain point ของคนทำธุรกิจผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ไม่ได้จะมาเอาเปรียบพวกเขา จึงทำให้ได้รับการตอบรับที่ดีจากฝั่งโรงงานที่มีของเหล่านี้เหลืออยู่”
ในขณะเดียวกัน คุณพลเริ่มต้นการทำ moreloop จาก passion โดยตั้งใจว่าอยากสร้างบางสิ่งที่เปลี่ยนแปลงสังคมที่เป็นอยู่ นี่เองที่เป็นจุดทำให้คุณพลตัดสินใจลาออกจากงาน แล้วทบทวนว่าความรู้ ความสนใจ และประสบการณ์ที่ตัวเองมีนั้นจะนำมาทำธุรกิจแบบไหนที่ตอบโจทย์ passion ตัวเองได้
“ผมเชื่อในยุคใหม่ที่เป็นยุคการทำธุรกิจสตาร์ทอัป คิดว่านี่จะทำให้เราสร้างธุรกิจบางที่ช่วยแก้ปัญหาระดับใหญ่ได้จริง”
เหตุผลอีกอย่างที่ทำให้คุณพลตัดสินใจลงมาทำธุรกิจของตัวเองอย่างเต็มตัว ก็คือความสนใจเรื่องการบริหารจัดการของเสียและสิ่งแวดล้อม “ส่วนตัวผมสนใจเรื่องขยะอยู่แล้ว รู้สึกว่ามันเป็นปัญหาใหญ่เข้าขั้นวิกฤติ ซึ่งเรารับรู้มาตั้งแต่เด็กๆ”
ทั้งสองอย่างนี้ จึงเป็นสารตั้งต้นที่ทำให้คุณพลเริ่มมองว่าจะทำธุรกิจแบบไหนที่แก้ปัญหาขยะได้ อีกทั้งระดับปัญหาดังกล่าวก็ถือว่าเป็นเรื่องค่อนข้างใหญ่ แน่นอนว่าโอกาสที่มาพร้อมกับวิธีแก้ปัญหานั้นก็ต้องยิ่งใหญ่ด้วยเช่นกัน
รูปแบบธุรกิจที่แก้ปัญหาระยะยาว
เมื่อพูดถึงแนวทางการแก้ปัญหาที่ว่านั้น คุณพลและคุณแอ๋มต่างคิดหาทางออกที่ตอบโจทย์ทั้งในเรื่องการบริหารจัดการขยะได้จริง รวมทั้งเป็นทางออกที่ช่วยต่อยอดธุรกิจอย่างสร้างสรรค์
คุณพลเริ่มต้นเล่าว่า ขยะมีหลายประเภท แบ่งเป็น post consumer waste และ industrial waste การจำแนกประเภทขยะแบบนี้จะทำให้หาวิธีแก้ปัญหาหรือจัดการขยะแต่ละประเภทได้อย่างเหมาะสม
“คราวนี้ผมได้ไอเดียอย่างหนึ่งว่า คนที่คิดหา solutions กำจัดขยะประเภท post consumer สำเร็จ เขามีวิธีหาตลาดบางอย่างขึ้นมา ที่ทำให้รู้สึกว่า ‘ขยะ’ จะไม่ใช่ขยะหากเรามองมันเป็น materials สักอย่างหนึ่ง”
ถึงอย่างนั้น การตีตลาดแก้ปัญหาขยะประเภท post consumer ก็มีธุรกิจหลายเจ้าเข้าไปลงเล่นมากมาย คุณพลจึงอยากลองตีตลาดทำ solutions แก้ปัญหาขยะในแวดวงอุตสาหกรรมแทน โดยดูว่าคนมองว่า ‘อะไร’ คือขยะบ้างในบริบทดังกล่าว อีกทั้งเมื่อได้ค้นคว้าข้อมูล ก็พบว่าขยะประเภทนี้มีเยอะมากเป็นเท่าตัวเมื่อเทียบกับขยะเหลือทิ้งจากการบริโภคด้วยซ้ำ
“ตอนแรกยังไม่ได้เจาะจงว่าจะแก้ปัญหาขยะผ้าเสียนะ แต่บังเอิญเจอน้องแอ๋มที่ทำเสื้อผ้าอยู่ และเขาก็เห็นว่าเราเคยรับรางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันโครงการสตาร์ทอัปก่อนหน้านี้ ซึ่งทำโปรเจกต์เกี่ยวกับ marketplace ตอนนั้น (คุณแอ๋ม) เลยติดต่อมาสอบถามข้อมูล”
ทั้งนี้ คุณแอ๋มเล่าเสริมว่า จริงๆ แล้ว ตนอยากพูดคุยเรื่อง marketplace กับคุณพลก่อน ไม่ได้ตั้งใจว่าจะมาสร้างธุรกิจ moreloop ทว่า จากบทสนทนาครั้งนั้น ก็ทำให้ได้เห็นแนวคิดของอีกฝ่าย จนนำมาสู่การชักชวนทำ marketplace ตัวกลางจำหน่ายผ้าสต็อกจากโรงงานนั่นเอง
การทำ marketplace เป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้นำผ้าเหลือจำนวนมากไปใช้ต่อได้อย่างเกิดประโยชน์และไม่ปล่อยทิ้งเป็นของเสีย โดยคุณแอ๋มกล่าวว่า คุณภาพของผ้ามีอายุการใช้งานจำกัด หากไม่นำมาใช้ในระยะเวลาที่เหมาะสม ก็ต้องนำไปกำจัดทิ้งเมื่อเสื่อมสภาพ ซึ่งเผาทิ้งหรือทำลายด้วยวิธีที่ก่อให้เกิดมลพิษ moreloop จึงช่วยต่อวงจรหมุนเวียนทรัพยากรชั้นดี เพราะเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนมากมายได้เข้ามานำผ้าเหลือเหล่านั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ แทนที่จะปล่อยเสื่อมสภาพและทำลายไปอย่างเสียเปล่า
“แพลตฟอร์ม marketplace คือสนามทดลองไอเดีย เพราะเราไม่ได้มีเงินทุนเยอะ การเริ่มต้นจากตรงนี้จึงเป็นช่องทางที่เราลงทุนน้อยที่สุดแต่ทำให้เกิดการมองเห็นได้มากที่สุด อีกอย่างวิธีนี้ทำให้เราวางตัวเองในฐานะตัวกลางที่เสาะหาหรือจับคู่วัตถุดิบผ้าเหลือมาจำหน่ายให้ตรงความต้องการของลูกค้า โดยที่เราไม่ต้องลงทุนซื้อเหมาผ้าจากโรงงานมาก่อน
“สมมุติลูกค้าบอกว่าอยากทำเสื้อผ้าแนวนี้ ควรใช้ผ้าแบบไหน เราก็จะดูว่าระบบ marketplace ของเรามีผ้าอะไรที่ตรงโจทย์บ้าง จากนั้นก็จะแนะนำเขาไป”
นอกจากทำหน้าที่เสาะหาวัตถุดิบที่ใช่แล้ว moreloop เองก็ยังแตกโมเดลธุรกิจแบบ B2B โดยรับผลิตสินค้าให้กับองค์กรต่างๆ ตามโจทย์ที่ได้รับมอบหมาย เช่น ทำยูนิฟอร์ม ครีเอตของขวัญของที่ระลึก เป็นต้น แน่นอนว่านี่ก็เป็นอีกทางที่ทำให้พวกเขาได้หยิบจับวัตถุดิบที่มีอยู่ในคลังออกมาใช้ได้อย่างหลากหลาย
เปลี่ยนผ้าเหลือให้เป็น material
หนึ่งในความท้าทายที่น่าสนใจก็คือ จะทำอย่างไรให้คนมองผ้าเหลือเป็นของที่ต่อยอดได้ แรกเริ่มที่ได้ยินว่าต้องมาขายผ้าเหลือ คุณพลเองก็ยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ ในแนวทางไหน จนกระทั่งได้มาเห็นและสัมผัสของจริง นั่นเองที่ทำให้กระบวนการสร้าง material จากผ้าเหลือเริ่มชัดเจนขึ้น
“พอเข้าไปที่โรงงาน ก็ได้เห็นว่าผ้าเหลือที่ว่านั้นเป็นผืนผ้าที่มีขนาดใหญ่นะ เป็นม้วนๆ ซึ่งตรงกับที่เราเคยคิดก่อนหน้านี้เรื่องกำจัดขยะเลยว่า ‘ขยะ’ จะเป็นขยะหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับใครมองมันแบบไหน เมื่อเราจะเริ่มทำของบางอย่าง ต้องเริ่มปรับเปลี่ยนหรือจัดการให้ดูสวยงามเป็นระเบียบ พอทำได้สำเร็จแล้ว มันก็จะไม่ใช่ขยะอีกต่อไป แต่จะกลายเป็นตลาดที่ทุกคนเข้ามาเห็นของเหล่านั้น ตอนแรกมันอาจเป็นภาระของคนที่มี แต่หลังจากผ่านเปลี่ยนแปลงแล้ว มันกลายเป็นสวรรค์ของคนที่อยากได้ผ้าเหล่านี้”
นอกจากนี้ คุณแอ๋มยังกล่าวว่า “จริงๆ แล้ว คนที่นำมาผ้าเหลือมาใช้ต่อไม่ได้ว่าผ้าเป็นขยะ โรงงานก็ไม่ได้มองผ้าเหลือเป็นขยะ แต่ถ้าเราไม่ใช้ในเวลาที่เหมาะสม มันจะกลายเป็นขยะ moreloop จึงเข้ามาแก้ปัญหาจุดนี้
“คนที่นำผ้าเหลือมาขายนั้นก็ได้ขายในมูลค่าที่ดี เพราะเราไม่ได้ซื้อในราคาขยะ และหลังจากนั้นเราไม่ได้เรียกผ้าเหล่านี้ว่า dead-stock แต่เรียกว่า surplus fabric หรือผ้าส่วนเกิน มันแค่เกิน แต่ไม่ได้ตาย”
นอกจากคิดหาวิธีเปลี่ยนผ้าส่วนเกินให้นำไปใช้ต่อได้มากที่สุดแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ การสร้างมุมมองใหม่ต่อผ้าส่วนเกิน คุณพลเล่าว่าอยากปรับความคิดของผู้คิดที่มีต่อคำว่า ‘ขยะ’ โดยคิดว่าการเปลี่ยนมุมมองคือวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด แน่นอนว่ากระบวนการหรือกลไกเปลี่ยนผ้าเหลือจากการผลิตของโรงงานช่วยลดมลภาวะที่เกิดจากการทำลายผ้าส่วนเกินได้อยู่แล้ว ในขณะเดียวกัน การสร้างการรับรู้อย่างที่แบรนด์ทำอยู่นี้ก็ทำให้คนได้รับข้อความหรือเกิดความคิดใหม่ๆ ที่นำไปสู่การหาวิธีแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์และยั่งยืน
“เพราะการแก้ปัญหาจริงๆ มันคือการแก้ที่ความคิดหรือมุมมองของคนมากกว่า เปลี่ยน mindset คนได้พร้อมกันเยอะๆ ทุกคนก็จะสร้างพฤติกรรมการบริโภคไปในทางที่เปลี่ยนไปด้วย”
ต้นแบบธุรกิจ circular economy
อย่างที่รู้กันดี การสร้างความยั่งยืนนั้นได้คือหมุนเวียนทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและไม่สิ้นสุด คุณพลเล่าถึงการสร้างความยั่งยืนนั้นไว้อย่างน่าสนใจ โดยทำทุกอย่างเหมือนเป็นการเสาะหาวัตถุดิบสำคัญแทน ตั้งแต่เริ่มเปลี่ยนชื่อผ้าเหล่านั้นจากที่เรียกว่า waste space กลายมาเป็นแบรนด์ชื่อ moreloop ปรับภาพลักษณ์ รวมทั้งสื่อสารออกไปว่าสิ่งเหล่านี้เปี่ยมด้วยคุณภาพ ความยั่งยืน และความหลากหลาย
“ผมมองว่าถ้าอยากให้ถ้าอยากให้เขาสัมผัสถึงคุณภาพของวัตถุดิบ เราก็ต้องผลิตออกมาเป็นสิ่งที่เขาเข้าใจ อย่างผ้าถ้าใช้มือจับ เขาก็อาจไม่รู้ว่าจะนำไปใช้ยังไง แต่พอเราลองนำผ้าไปตัดเป็นเสื้อแล้วนำไปออกบูธขาย ก็ขายดี
“วัตถุดิบเหล่านี้จึงต้องอยู่ในรูปแบบที่คนทั่วไปเข้าใจด้วย พอเราผลักดันออกไปแล้ว ก็สะท้อนคุณภาพของวัตถุดิบออกมาในรูปของสินค้าที่นำไปใช้ได้จริง”
หากว่ากันถึงอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปแล้ว ผู้ประกอบการในไทยก็วางโมเดล circular economy อยู่บ้าง แต่ moreloop นำมาทำในเชิงรวมวัตถุดิบแบบใหญ่ โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลกับอินเตอร์เน็ตมาปรับใช้ เพื่อสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่
“สิ่งที่ทำใหเราแตกต่างจากธุรกิจในแวดวงเดียวกันนี้ คือ moreloop ทำหลายอย่าง ทั้งเป็นตัวกลางจำหน่ายวัตถุดิบ รับงานผลิตผลิตภัณฑ์ให้กับองค์กร รวมทั้งสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นมา สิ่งที่ทำให้ฉีกจากที่อื่นเลย ก็คือเราสามารถแมตช์ให้กับองค์กร ทำให้องค์กรยอมรับความ uniform ที่ไม่ uniform ของ moreloop เพราะหลายคนอาจรวบรวมวัตถุดิบผ้าที่หาได้แล้วทำแบรนด์เอง หรือในต่างประเทศก็แค่นำวัตถุดิบเหล่านั้นมาขายต่อ ในขณะที่เราทำแบบ upcycle ให้กับองค์กรได้ด้วย”
จากสตาร์ทอัพ สู่รางวัลระดับโลก
หากพูดถึงความท้าทายและการเติบโตอีกขั้นของแบรนด์นั้น ต้องยอมรับว่า moreloop เดินทางอย่างก้าวกระโดด โดยเข้าร่วมแข่งขันเวที SEED Awards โครงการส่งเสริมองค์กรท้องถิ่นผสมผสานนวัตกรรมการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระดับโลกภายใต้การก่อตั้งของโครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ (UN Environment) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN)
แน่นอนว่า moreloop ก็ได้รับเลือกให้ชนะรางวัล SEED Low Carbon Awards 2021 โดยคุณแอ๋มยังได้รับเกียรติให้เป็น keynote speaker ในพิธีมองรางวัลเมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมาด้วย
คุณแอ๋มเริ่มเล่าย้อนกลับไปเมื่อสองปีที่ผ่านมาที่ได้ทำงานต่างๆ อยู่ตลอด แม้ว่าในช่วงปีที่ผ่านมาประสบกับภาวะโควิด แต่ก็ไม่หยุดมองหาโอกาสท้าทายขีดจำกัดของตัวเอง จึงมองหางานประกวดต่างๆ จนมาเจอเวทีนี้ และตัดสินใจสมัครเข้าร่วม รวมทั้งตั้งทีมสำหรับลงแข่งขันโดยเฉพาะ
“ส่วนตัวแนะนำว่าต้องเตรียมทีม และเก็บบันทึก performance หรือข้อมูลต่างๆ ไว้เสมอ เพราะดาต้าเหล่านี้ทำให้เรานำไปใช้เป็นข้อมูลแสดงถึงผลลัพธ์การทำงานของแบรนด์ได้จริงๆ
“นอกจากนี้ องค์กรต้องพร้อมระดับหนึ่ง เพราะเวทีนี้จะช่วย incubate องค์กร และชักนำคอนเน็กชันเข้ามาหามากขึ้น เวทีนี้จึงไม่ใช่แค่พื้นที่ทดลองไอเดีย แต่เหมาะกับองค์กรที่พร้อมต่อยอดไปสู่สเกลงานี่ใหญ่ขึ้น ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เหมาะกับ moreloop ปัจจุบันเรากำลังพัฒนาระบบต่างๆ และคาดหวังว่าเมื่อโปรแกรมเริ่มต้นแล้ว เราจะมีโอกาสได้รองรับสิ่งใหม่ที่ใหญ่กว่าในประเทศ”
เรียนรู้สู่การลงมือทำ
หากพูดถึงการทำงานสตาร์ทอัปแล้ว คุณแอ๋มก็ได้เล่าถึงบรรยากาศการทำงานภายในองค์กร ที่ทำให้เราได้เห็นและเข้าใจหลังบ้านของคนทำงานจริงได้ดีทีเดียว
“ต้องบอกก่อนว่า moreloop เพิ่งมีสมาชิกทีมเพิ่มขึ้นมาไม่นาน โดยก่อนหน้านี้แอ๋มกับพี่พลจะช่วยลงมือทำกันเป็นหลัก การทำงานในองค์กรจะทำงานแบบ multi-tasking แล้วก็เริ่มต้นทำทุกอย่างเอง วิธีการทำงานอาศัยความเชื่อใจกันของพาร์ทเนอร์ภายในทีม
“คนในทีมจึงต้องเป็นคนที่อินเรื่องนี้พอสมควร อย่างน้อยต้องเข้าใจว่าธุรกิจเราคืออะไร การนำเสนอไอเดียหรือแคมเปญต้องล้อไปกับแกนหลักของ circular economy รวมทั้งทำให้ธุรกิจเติบโตได้จริงๆ เราลงทุนน้อยมาก และพยายามใช้ทรัพยากรที่มีให้ได้ศักยภาพมากที่สุด”
นอกจากนี้ คุณพลเสริมว่า “ในฐานะ Lean Startup เราพยายามสร้างสิ่งหนึ่งขึ้นมา แล้วเรียนรู้ว่าระบบที่สร้างขึ้นมาเวิร์กหรือไม่ ถ้าไม่เวิร์กก็จะกลับไปสร้างใหม่ งานหลักๆ จึงมีสองอย่าง คือ งาน operate system และงาน building ทำให้มันมีวิวัฒนาการตลอดเวลา หากระบบเสถียรแล้ว ก็จะปล่อย เพราะยิ่งธุรกิจโต ก็จะยิ่งมีปัญหาที่ทำให้เราต้องสร้างระบบใหม่ๆ ขึ้นมาตอบสนองหรือผ่อนแรง”
แน่นอนว่า moreloop ยังมีแพลนทำโปรเจกต์ในอนาคตมากมาย เพราะคุณพลและคุณแอ๋มเห็นว่าการเดินทางมาถึงตอนนี้เป็นเพียงลูปแรกเท่านั้น แต่ยังมีลูปอีกลายลูปที่พวกเขาต้องต่อยอดสิ่งใหม่ๆ เสมอ