เราเดินทัวร์พระวิหารแห่งใหม่ จนมาถึงห้องซีเลสเชียล (Celestial room) เอ็ลเดอร์สุชาติ ไชยชะนะ บอกให้เราลองนั่งเงียบๆ เพื่อไตร่ตรองชีวิต เพราะนี่คือห้องที่ใกล้ชิดกับสวรรค์มากที่สุด
“เมื่ออาทิตย์ที่แล้วมี สส.ป้ายแดงมาเยี่ยมเรา ผมก็พาเขาไปนั่งห้องนั้น สักครู่หนึ่งก็ออกมา ผมก็ถามรู้สึกยังไงครับ เขาบอกว่า พูดตรงๆ นะ ผมไม่อยากออกไปเลย เพราะเดี๋ยวผมจะไปทะเลาะกับที่พรรค มันสันติสุข มันรู้สึกสงบ” เขาเล่า
เดินออกมาภายนอก เอ็ลเดอร์ไชยชะนะชี้ให้ดูลวดลายที่ตกแต่งอาคาร “สถาปัตยกรรมจะซ่อนความเป็นไทยไว้ ลายต่างๆ ที่อยู่ขอบหน้าต่างคือดอกราชพฤกษ์”
นี่คือพระวิหารแห่งที่ 185 ของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย (The Church of Jesus Christ of Latter-day Saints) หรือที่เรียกติดปากว่า มอรมอน (Mormon) ซึ่งเข้ามาไทยอย่างเป็นทางการเมื่อปี 1968 หลังส่งมิชชันนารีเข้ามา 6 คน นับเป็นจุดเริ่มต้นของภาพจำที่คนไทยคุ้นเคยดี คือภาพมิชชันนารีที่ใส่เชิ้ตผูกไทเดินไปตามท้องถนน และเมื่อโน้มน้าวจนมีสมาชิกมากพอ (ปัจจุบันมีอยู่ราว 23,000 คนในประเทศไทย) โทมัส เอส. มอนสัน (Thomas S. Monson) ประธานศาสนจักรคนก่อนหน้านี้ ก็ประกาศให้สร้างพระวิหารที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2015
ตั้งตระหง่านริมถนนเพชรบุรีตัดใหม่ พระวิหารกรุงเทพ ประเทศไทย สร้างเสร็จแล้วในปีนี้ และมีกำหนดทำพิธีอุทิศถวายพระวิหารไว้เพื่อใช้สำหรับงานของพระเจ้าในวันที่ 22 ตุลาคม – นั่นหมายความว่า หลังจากนั้น จะมีแต่สมาชิกศาสนจักรเท่านั้นที่จะเข้าไปได้ ขณะเดียวกัน ก่อนที่จะถึงวันนั้น พวกเขาก็เปิดให้คนทั่วไปเข้าไปเยี่ยมชมได้อย่างเปิดเผย
แต่เมื่อปรากฏในหน้าสื่อ ความสนใจก็มาพร้อมกับคำถาม
และเป็นคำถามที่มาพร้อมกับคำวิจารณ์หรือด่าทออย่างหนักหน่วง
เป็นลัทธิเทียมเท็จ? มีภรรยาหลายคน? รังเกียจกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ?
แบกคำถามมาเต็มอก เรานั่งลงพูดคุยกับ เอ็ลเดอร์สุชาติ ไชยชะนะ ผู้อาวุโสของศาสนจักร ที่มีฐานะเป็นสาวกเจ็ดสิบภาค (เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญรองลงมาจากอัครสาวกสิบสอง ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารระดับเกือบสูงที่สุด รองลงมาจากประธานศาสนจักรอีกทีหนึ่ง) ว่าพวกเขาเป็นใคร เชื่ออะไร และจะตอบข้อสงสัยจากสังคมว่าอย่างไร
ความเชื่อมอรมอน
“เราเชื่อในพระเยซูคริสต์ เหมือนคริสเตียนทั่วๆ ไป” เอ็ลเดอร์ไชยชะนะอธิบาย “ก็แน่นอนครับ เราเชื่อในพระเยซูคริสต์ว่าเป็นพระผู้ช่วยให้รอด เราเชื่อว่ามีพระผู้เป็นเจ้า พระบิดา พระบุตร พระวิญญาณบริสุทธิ์ เป็นผู้เป็นเจ้าสูงสุด เราเชื่อว่าพระคัมภีร์มอรมอน เป็นพระคำของพระเจ้าจริงๆ คู่กับไบเบิล ก็เป็นพยานของพระองค์
“นอกจากนั้นก็เป็นความเชื่อย่อยๆ เช่น เราเชื่อในการเป็นพลเมืองที่ดี ซื่อสัตย์ รักษากฎหมาย สนับสนุนสิ่งที่ดีงาม มีทั้งหมดประมาณ 13-15 ข้อ เป็นหลักความเชื่อรวมๆ”
อย่างไรก็ดี เมื่อเราถามว่า มอรมอนมองตัวเองแยกออกมาเป็นศาสนาหนึ่งเลยหรือไม่ คำตอบคือ ใช่
“ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย เราถือว่าเราไม่ใช่คาทอลิก และก็ไม่ใช่โปรเตสแตนต์ เราเชื่ออย่างนี้ว่า เราคือศาสนจักรดั้งเดิม ที่หายไปสมัยพระเยซูถูกตรึงกางเขน สิ้นพระชนม์ ถูกฟื้นฟูขึ้นมาใหม่”
พวกเขาเชื่อใน โจเซฟ สมิธ (Joseph Smith) ในฐานะศาสดาพยากรณ์ (prophet) ผู้ฟื้นฟูศาสนจักรนั้นขึ้นมา
สมิธ คือ ชาวอเมริกาที่มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 19 ยุคสมัยของความขัดแย้งทางศาสนา เขามีนิมิต หรือได้รับการปรากฏ โดยทูตสวรรค์ที่ชื่อ โมโรไน (Moroni) ซึ่งชาวมอรมอนเชื่อกันว่าเป็นมนุษย์ในทวีปอเมริกาสมัยโบราณก่อนการมาถึงของชาวยุโรป โมโรไนได้บอกกับสมิธให้ขุดแผ่นทองคำซึ่งฝังอยู่กับใกล้บ้านสมิธขึ้นมา ซึ่งบันทึกเรื่องราวการปรากฏตัวของพระเยซูในทวีปอเมริกาช่วง 600 ปีก่อนคริสตศักราช จนถึงช่วง ค.ศ. 400 และให้แปลแผ่นทองคำเหล่านั้น จนออกมาเป็นพระคัมภีร์มอรมอน (Book of Mormon) ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1830 ถือเป็นต้นกำเนิดของศาสนจักรในปัจจุบัน
ถ้าว่ากันตามช่วงเวลาแล้ว มอรมอนก็เป็นศาสนาที่มาช้ากว่าคริสตกาลถึงมากกว่า 1,800 ปี แม้พวกเขาจะย้ำว่าเป็นศาสนาดั้งเดิมของพระเยซูที่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ก็ตาม โดยมีสมิธเป็นประธานคนแรก ซึ่งสถาปนาศาสนจักรขึ้นมาในนิวยอร์ก สหรัฐฯ ก่อนที่ภายหลังจะย้ายถิ่นฐานมาเรื่อยๆ จนสุดท้าย ภายใต้การนำของประธานคนถัดมา คือ บริคัม ยัง (Brigham Young) ก็ปักหลักลงที่ซอลต์เลกซิตี รัฐยูทาห์ ถือเป็นศูนย์กลางของศาสนจักร และมีสมาชิกอยู่เป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ เอ็ลเดอร์ไชยชะนะยังเล่าให้ฟังถึง ‘เอกลักษณ์พิเศษ’ ของมอรมอน ที่แตกต่างจากศาสนาอื่นๆ นั่นคือ สายอำนาจการบริหาร ที่เรียกว่า ‘สายอำนาจฐานะปุโรหิต’ พวกเขาเชื่อว่า ฝ่ายบริหารของศาสนจักรในปัจจุบัน สามารถสืบสาวการมอบอำนาจย้อนกลับไปได้ถึงตั้งแต่สมัยพระเยซู แม้แต่เอ็ลเดอร์ไชยชะนะเอง เขาก็บอกว่า “ผมสามารถไล่ย้อนไปถึงพระเยซูคริสต์ได้เลย ว่าใครเป็นคนวางมือผม”
เรื่องราวที่พวกเขาเชื่อก็คือ พระเยซูเป็นผู้แต่งตั้ง หรือ ‘วางมือ’ เปโตร ยากอบ และยอห์น ให้เป็นส่วนหนึ่งของอัครสาวกสิบสอง ในสมัยคริสตกาล ผ่านมาจนถึงศตวรรษที่ 19 บุคคลทั้งสามก็มาปรากฏต่อ โจเซฟ สมิธ อีกครั้ง เพื่อวางมือ หรือประทานฐานะปุโรหิตให้กับสมิธ
นั่นจึงเป็นที่มาของสิทธิอำนาจ ที่ทำให้กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า อัครสาวกสิบสองของศาสนจักรในปัจจุบัน เชื่อว่ามีความชอบธรรมที่สืบย้อนกลับไปได้ถึงพระเยซู
ตอบข้อวิจารณ์
เมื่อศาสนจักรเริ่มประชาสัมพันธ์ ชักชวนสาธารณะให้เข้ามาเยี่ยมชมพระวิหารแห่งใหม่ กลับเกิดเป็นคำถามข้อใหญ่ๆ ในสังคมไทย ด้วยท่าทีระแวดระวัง ว่านี่คือลัทธิอะไรกันแน่? บ้างก็ว่าเป็น “ลัทธิเทียมเท็จ” “น่ากลัว” หรือไม่ก็เปรียบเทียบกับ ‘ครูกายแก้ว’ หรือ ‘วัดพระธรรมกาย’
“เพราะอย่างนั้นเราถึงต้องเปิดพระวิหารให้คนเข้ามาชม เพื่อจะไม่ให้เขาจินตนาการหรือคิดไปว่า มันทำอะไรกันในนี้ การวิพากษ์วิจารณ์เป็นเรื่องปกติ เพราะว่านิกายต่างๆ เขาก็ไม่ชอบ ตั้งแต่ โจเซฟ สมิธ ไปบอกว่า พระเจ้าบอกว่าศาสนาเหล่านั้นไม่ใช่ของพระองค์ เขาก็ไม่พอใจแล้ว มันก็ใส่กันมาในสมองอยู่อย่างนี้” เอ็ลเดอร์ไชยชะนะอธิบาย หลังเราขอให้พูดถึงฝั่งที่วิจารณ์ศาสนจักร
“ซึ่งเราก็ไม่โต้ตอบ เพราะเราถูกสอนมาว่า อย่าสบประมาทคนที่สบประมาท ก็คือ ให้ความรัก ความเมตตา ถ้าคุณอยากรู้ คุณก็มาสิ เราก็ยินดี เราต้อนรับทุกนิกาย ทุกศาสนา มาหมด เมื่อวานพระสงฆ์ยังมาเลย”
เรายังขอให้เอ็ลเดอร์ไชยชะนะ อธิบายรายประเด็น ถึงข้อสงสัยต่างๆ ที่สังคมตั้งคำถามกับศาสนจักร
บิดเบือนพระคัมภีร์ไบเบิล? “ถ้าพระเจ้ารักมนุษย์จริง พระองค์คงจะไม่หยุดที่ไบเบิลแค่นั้น” เขาอธิบาย “พระคัมภีร์มอรมอนเป็นอีกส่วนหนึ่ง ไม่ได้เพิ่มเติมไบเบิล แต่เป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์
“เหมือนเราเห็นอุบัติเหตุข้างนอก รถชนกัน มีอีกคนบอกว่าเห็นด้วย มันก็ดี เป็นพยานว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นยังไง เพราะฉะนั้น ผมมองว่า ที่จริงแล้ว พระคัมภีร์มอรมอน พระคัมภีร์ไบเบิล คือหลักฐานที่สำคัญที่จะยืนยันว่าพระเยซูคือพระคริสต์ เรามุ่งเน้นอย่างนั้นมากกว่า”
ผู้นำศาสนามีภรรยาหลายคน? เรื่องนี้เขาบอกว่าอธิบายให้ฟังได้ง่ายๆ ว่า “ย้อนไปตั้งแต่ฟื้นฟูศาสนจักรใหม่ๆ ผู้นำเหล่านั้นก็ได้รับการเปิดเผย จากแนวคำสอนที่อยู่ในไบเบิลตั้งแต่สมัยโบราณ ตั้งแต่อับราฮัม ตั้งแต่โนอาห์ ใครต่อใครหลายคน สมัยนั้นก็มีภรรยาหลายคน เราถือว่ามันเป็นบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า เพราะฉะนั้น การเปิดเผยฟื้นฟูขึ้นมา เขาก็ฟื้นฟูทุกอย่างที่เป็นโบราณมา
“แต่พอเวลาผ่านมา ศาสดาคนที่ 3 ชื่อ จอห์น เทย์เลอร์ (John Taylor) เขาก็บอกว่า พระเจ้าเปิดเผยว่า หลักคำสอนนี้ไม่เหมาะสำหรับมนุษย์ในปัจจุบัน มนุษย์รับไม่ได้หรอก มันไม่ถูกต้อง ก็ยกเลิก ก็ไม่มีแล้ว ทุกวันนี้ถ้าใครสอนเรื่องนี้ในโบสถ์ คือ เอาออกจากศาสนจักรนะครับ เราก็ยังมีภรรยาเดียว สามีเดียว เรายึดมั่นเรื่องครอบครัวอยู่อย่างนั้น มันไม่มีแล้ว การปฏิบัตินั้นมันถูกยกเลิกไปแล้ว”
รังเกียจคนรักเพศเดียวกัน? “เพื่อนต่างเพศ ความหลากหลายทางเพศมันมีมากขึ้น ทุกคนอาจจะไปมองว่า รังเกียจพวกเขาหรือเปล่า ที่จริงไม่ใช่เลยนะครับ เราสอนอย่างนี้ว่า ทุกคนเป็นลูกของพระเจ้า แต่ถ้าคุณจะเข้ารับศาสนพิธีต่างๆ คุณจะต้องมีค่าควร ค่าควรแปลว่าคุณต้องรักษาพระบัญญัติ ถ้าคุณมีความหลากหลายทางเพศ คุณชอบเพศเดียวกัน ตราบใดที่คุณไม่ละเมิดพระบัญญัติ คุณก็มีค่าควรที่จะรับพร”
ลัทธิ (cult) มอรมอน?
หลังกลับจากเยี่ยมชมพระวิหาร เรายังไม่ได้คำตอบว่าทำไมมอรมอนจึงถูกผู้คน รวมถึงในไทย มองว่าเป็น ‘ลัทธิแปลกๆ’ หรือ ‘cult’ เราจึงติดต่อไปยัง ศุภวิทย์ ถาวรบุตร ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ตะวันตก เพื่อขอคำอธิบายในเรื่องนี้
คำอธิบายหนึ่งที่พอจะตอบได้ว่าทำไมมอรมอนจึงถูกตั้งคำถาม คือ ‘ระยะห่าง’ (distance) ด้านเวลา ที่ห่างไกลจากต้นกำเนิดของศาสนา ทำให้อ้างความชอบธรรมได้น้อยลง
“เราจะพบว่า ทุกศาสนามันจะมีปัญหาในเชิงประวัติศาสตร์เหมือนกัน คือ คุณจะเห็นว่า ถ้าระยะห่างมันเพิ่ม เครดิตมันจะสวนทาง เพราะมันห่างจากต้นตอของความชอบธรรม” ศุภวิทย์เสนอ “ทุกศาสนามีอายุเป็นพันปีจนถึงปัจจุบัน เพราะฉะนั้น ถ้ามาสมัยนี้ แล้วอยู่ๆ มีนักบวชในศาสนาพุทธ [บอกว่า] เฮ้ย ฉันสำเร็จอรหันต์แล้ว ทำไมคนในโลกปัจจุบันถึงตั้งคำถามล่ะ เบื้องต้นก่อนเลยคือ มันห่างมาเป็นพันปี การเคลมเครดิตในลักษณะแบบนี้ มันจะมีปัญหาในตัวของมันเองมากขึ้น”
อีกปัจจัยหนึ่งซึ่งเป็นคำอธิบายประกอบกัน คือ กระแสความคิดในโลกสมัยใหม่ที่มีความเป็นโลกวิสัย (secular) มากขึ้น มักจะแยกแยะระหว่าง ‘ปกรณัม’ หรือเรื่องราวอภินิหาร ซึ่งอาจถูกหักล้างโดยข้อมูลความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน กับ ‘คำสอน’ ที่ถือว่าเป็นเรื่องคุณธรรม หรือความดีงาม ที่ยังอาจนำมาปรับใช้ได้อยู่
“ถ้าเราแบ่งองค์ประกอบในศาสนาว่า มันมีทั้งส่วนซึ่งเป็นคำสอนและปกรณัม มันจะเริ่มเห็นปัญหาในการจัดวาง เพราะว่าคำสอนอาจเป็นอะไรบางอย่างซึ่งท้ายที่สุดคนพร้อมจะเชื่อ แต่ปกรณัมจะถูกตั้งคำถาม”
ศุภวิทย์อธิบายต่อว่า “ศาสนาที่มันผ่านมาโดยอายุของมัน ก็จะต้องถูกจัดวางเรื่อยๆ ว่า อันนี้มันเป็นส่วนคำสอนนะ คุณเอามาใช้มันก็ดีกับตัวคุณเอง ส่วนปกรณัม สมัยนั้นมันอาจจะเป็นยุคสมัยซึ่งถ้าคุณอยากดึงศรัทธาเข้ามาเยอะๆ เรื่องราวซึ่งล้อมรอบตัวศาสดา มันต้องมีพลัง ในสมัยซึ่งศาสนาต่างๆ มันข่มกันและแข่งกัน ซึ่งสมัยหลังมันไม่มีแล้ว”
ขณะที่ศาสนาถูกจัดวางใหม่โดยลดทอนส่วนอภินิหารลงไป มอรมอนกลับยังคงยึดติดกับองค์ประกอบในด้านนี้อยู่ “ถ้าคุณไปอ่านจะเห็นว่า เวลาเขาพูดถึง โจเซฟ สมิธ ว่าเป็นคนเริ่ม ก็จะมีเรื่องพวกนี้หมดเลย มีนิมิตมาก่อน เสร็จแล้วก็มีเทวทูตมาปรากฏ บอกว่าไปเอาคัมภีร์มาแปลสิ เพราะฉะนั้น คนนี้ก็มีสถานะพิเศษ คือเป็นศาสดาพยากรณ์ ซึ่งวิธีคิดเรื่องศาสดาพยากรณ์ เรื่องเทวทูต อะไรพวกนี้ จริงๆ มันก็คืออยู่ในพระคัมภีร์เก่า (Old Testament)
“มันมีความสวนกระแสตรงนั้น และมันต้องอิงกับเรื่องเหล่านี้ว่า คนนี้เคยมีเทวทูตมาเผยพระองค์ต่อหน้าแล้วสั่งให้ทำอะไรบางอย่าง แต่การมาพูดลักษณะนี้ในศตวรรษที่ 19 ขณะที่ตัวศาสนามีอายุมาเป็น 2,000 ปี มันต้องมีคำถามแน่นอนว่า เราเชื่อได้แค่ไหน ไม่ได้บอกว่าเขาโกหกนะ คนภายนอกก็รู้สึกว่า เรื่องนี้มันปาฏิหาริย์เกินไปหรือเปล่า เพราะทิศทางของการนับถือศาสนา มันต้องการปาฏิหาริย์น้อยลง”
“ความเป็นลัทธิแปลกๆ มันเกิดจากความที่ว่า ถ้าเทียบกับสังคมกระแสหลักภายนอก คนจะเชื่อเรื่องนี้ยากมาก ผ่านมา 2,000 ปีแล้วยังเชื่อว่าคนนี้เป็นศาสดาพยากรณ์ มันเชื่อยากมาก เพราะฉะนั้น มันก็เลยกลายเป็นคนกระจุกเดียวที่ไปนับถือ ก็เลยดูกลายเป็นลัทธิแปลกๆ”
รับมืออย่างมีวุฒิภาวะ
อย่างไรก็ดี ศุภวิทย์ชี้ด้วยว่า ศาสนาซึ่งเน้นส่วนของการแสดงอภินิหารอย่างมอรมอน ก็ยังมีผู้นับถืออยู่ (สถิติปี 2022 ของศาสนจักร ระบุว่า มีสมาชิกทั่วโลกอยู่ราว 17 ล้านคน) นั่นแปลว่า พวกเขามองว่าศาสนาเติมเต็มอะไรบางอย่างในจิตใจของพวกเขา และไม่จำเป็นว่าจะต้องถูกสังคมกีดกันหรือมองว่าเป็นสิ่งที่รับไม่ได้
“ก็มีบางกลุ่มผู้ปฏิบัติทางศาสนา ซึ่งเขาดึงเรื่องนี้มาเป็นเรื่องสำคัญว่า ศาสดาได้รับปาฏิหาริย์จากพระผู้เป็นเจ้าโดยตรง มาแสดงนิมิต มีเทวทูตมาบอกว่าต้องแปลคัมภีร์นี้ มันก็อาจดึงคนส่วนหนึ่งซึ่งมองไปทางนั้นว่า อันนี้ฉันรู้สึกว่าเป็นการเปิดเผยพระวจนะที่แท้จริง มันก็ยังมี พูดง่ายๆ มันก็จะมีฐานของผู้เคารพนับถือตามวิถีทางนั้นอยู่”
“การที่มันเกิดมอรมอนขึ้นมาได้ ก็ต้องมีคนเห็นเหมือนกันแหละว่า มีจุดที่เขารู้สึกว่า ถ้าเขาไขว่คว้าหรือทำไปตามนั้น มันอาจจะเติมเต็มเขาในเชิงความรู้สึก”
คำถามสำคัญคือ เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไรในสังคมที่มีความเชื่อต่างกัน? ศุภวิทย์เสนอถึงการรับมืออย่างมีวุฒิภาวะ (maturity) ในสังคมตะวันตก ซึ่งผ่านยุคสมัยของความขัดแย้งทางศาสนาจนเป็นสงครามนับร้อยปี (โดยเฉพาะระหว่างนิกายคาทอลิกและโปรเตสแตนต์) ถึงที่สุดก็ตระหนักได้ว่า ‘ไม่มีใครเอาชนะใครได้’ ประกอบกับการเปลี่ยนผ่านมาสู่ยุคสมัยใหม่ ซึ่งยึดติดกับเรื่องศาสนาน้อยลง ท้ายที่สุด สิ่งที่พวกเขาทำกับนิกายแยกย่อยก็คือ ‘ปล่อย’ ตราบเท่าที่ไม่ผิดกฎหมาย หรือไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น
“สังคมอเมริกันเป็นตัวอย่างว่า เขาก็เปิด มีลัทธิยิบย่อย หรือบ้าๆ บอๆ บูชาอะไรที่เราไม่รู้จักเลย อยู่เต็มไปหมด” ศุภวิทย์เล่าต่อ
“เขายึดถือหลักว่า นอกจากเรื่องศาสนามันไม่สามารถผูกขาดความจริงว่าของฉันเท่านั้นที่ถูกแล้ว มันไปพร้อมกับไอเดียของความเป็นรัฐโลกวิสัย (secular state) สมัยใหม่ว่า ก็ในเมื่อมันชี้กันไม่ได้แล้วว่าใครถูก ใครต้องเป็นฝ่ายชำระคำสอนของใคร ถึงที่สุดคุณต้องปล่อย เพราะโดยหลักของเสรีภาพในสังคมยุคใหม่ก็คือ คุณมีสิทธิทำตามความเชื่อของคุณได้ ตราบที่มันไม่ไปละเมิดคนอื่น และไม่ได้ไปกระทบต่อกฎหมายบ้านเมือง”
“ถ้าศาสดามอรมอนบอกว่า เขาเคยเห็นนิมิต คุณจะไปบอกได้ไงว่าเขาโกหก เพราะคุณไม่ได้อยู่ด้วย ณ ตอนนั้น เขาเห็นจริงๆ หรือเปล่าเราก็ไม่รู้ คนเชื่อ เขาอาจจะเชื่อตามนั้น ถ้าสังคมมีวุฒิภาวะก็คือ โอเค มีคนเชื่อ แต่เราไม่เชื่อ คุณเชื่อในกรอบของคุณ หนึ่ง ไม่ระรานคนอื่น สอง ต่อให้เชื่อแล้ว ไม่ได้สร้างปัญหาสังคม ไม่กระทบต่อบรรทัดฐาน กฎหมายของสังคม ก็ต้องปล่อยไป”