“นี่ยืนรอมาเกือบชั่วโมงแล้ว ยังไม่มีรถมาสักคัน”
“เอาจริงๆ นะ ประเทศอื่นเขาพัฒนากันไปถึงไหนแล้ว”
“เหนื่อยใจ แค่รอรถเมล์ก็หมดไปครึ่งชีวิตแล้วเนี่ย!”
ไม่แปลกหรอก ที่เราจะเห็นทวีตหรือสเตตัสเพื่อนบ่นๆ อะไรแบบนี้บ่อยๆ แหม ก็ชีวิตคนที่ต้องพึ่งพาขนส่งสาธารณะ ไหนจะต้องเผื่อเวลารถติด เผื่อเวลารอรถ แถมยังทั้งลุ้นทั้งกดดันว่าจะมีรถมาไหมนะ แล้วจะมาเมื่อไหร่กัน โห.. กว่าจะถึงที่ทำงานที่เรียนได้ทุกเช้า หลอดพลังก็แทบหมดแล้วไหมน่ะ
ในขณะที่บางคนรู้สึกสิ้นหวังแล้วกับขนส่งสาธารณะไทย ยังมีกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่างทีม ViaBus ที่พวกเขาเองก็ต้องตื่นเช้ามาเจอกับสิ่งเหล่านี้ แล้วรู้สึกว่าถึงเวลาสักทีที่ปัญหาควรถูกแก้ไข ไม่ควรมีใครต้องหงุดหงิดหรือเหนื่อยใจเพราะการรออีกต่อไป (ทั้งรอรถเมล์ แล้วก็รอการแก้ปัญหา)
เรานัดเจอกับ ‘อินทัช มาศวงษ์ปกรณ์’ CEO ของ ViaBus และ Co-founder (ธนิษฐ์ ซึ้งหทัยพร และ ธนัทเศรษฐ์ หอวัฒนพันธ์) ซึ่งล้วนเป็นบัณฑิตใหม่จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ พวกเขาใช้เวลาสองปีในการพัฒนาแอพฯ ควบคู่ไปกับการเรียน เพื่อหวังจะช่วยให้คนใช้รถเมล์ ‘รออย่างมีหวัง’ บ้าง
เช้าวันนั้น เราลองใช้แอพฯ เพื่อเดินทางไปยังจุดนัดหมาย การรออย่างมีหวังนี่มันก็คลายความหงุดหงิดไปได้เยอะนะ รวมถึงว่าการได้รับรู้ว่ามีกลุ่มคนรุ่นใหม่ตัดสินใจลงมือช่วยแก้ปัญหา นั่นก็เป็นความหวังจากการไม่รอได้เหมือนกัน
จุดเริ่มต้นในการทำแอพฯ ViaBus ขึ้นมาคืออะไร
ผมตกรถป๊อป (รถประจำทางที่ให้บริการภายในและรอบๆ จุฬาฯ) ตั้งแต่วันแรกที่ผมเข้ามาเรียนเลยครับ ไปเรียนสาย ก็ทำให้รู้สึกว่า ทำไมเราถึงไม่รู้ว่ามันไม่มีรถ แล้วก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่รถจะมา ก็เลยเริ่มทำแอพฯ ‘Chula Pop Bus’ แล้วก็มีคนใช้เยอะมาก ไม่ใช่แค่นิสิตหรือบุคลากร แต่เป็นคนที่ต้องเดินทางผ่านหรือรอบๆ มหาวิทยาลัย เช่นคนที่ทำงานตรงจามจุรีสแควร์ หรือแม่ค้าที่มาขายของที่ตลาดนัดของมหาวิทยาลัย ทีนี้ก็เลยคิดว่าน่าจะขยายต่อไปถึงขนส่งสาธารณะได้
ผมเป็นคนใช้ขนส่งสาธารณะอยู่แล้ว ทั้งรถเมล์ รถตู้ เรือโดยสาร BTS MRT ใช้หมดเลย แล้วก็สงสัยว่าการเข้าถึงข้อมูลระบบขนส่งมันยากจัง แล้วทำไมต้องรอตลอดเลย ทั้งรอรถ แล้วก็รอให้ปัญหาถูกแก้ไข ก็เลยรู้สึกอยากแก้ปัญหานี้เอง
มีการทำงานหรือการสนับสนุนจากภาครัฐ ภาคประชาชน หรือทางมหาวิทยาลัยยังไงบ้าง
ในปี 2558 เราได้เริ่มพัฒนาแอปพลิเคชั่น ViaBus เป็นเวอร์ชั่นทดลอง Beta 1 ซึ่งได้ทดสอบการใช้งานจริงโดยได้รับความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาฯ AIS และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) อย่างต่อเนื่อง เราได้รับความร่วมมือจากขสมก. ให้ทดสอบกับรถเมล์ประมาณ 70 คัน เป็นสายหลักๆ ที่มีจำนวนคนใช้พอสมควร ตอนนั้นมีคนมาร่วมทดสอบประมาณ 2,000 คน เราก็ได้รับฟีดแบคจากภาคประชาชนมาเยอะมาก ว่าอยากให้ปรับปรุงอะไรบ้าง แล้วเราก็มาพัฒนาต่อเป็น Beta 2 ขยายไปยังรถเมล์ร้อยกว่าสาย ประมาณ 2,300-2,500 คัน ทั้งรถของขสมก. และรถร่วมเอกชนบางส่วน โดยได้รับความร่วมมือจาก Traffy(หน่วยงานในNECTEC) รถทุกคันที่ติด GPS ก็ดูได้ว่าแต่ละคันอยู่ตรงไหน เมื่อไหร่จะมา
ตัวแอพฯ เราเน้นเรื่องความง่ายของการใช้งาน เปิดแอพฯ มาเราก็จะเห็นว่าป้ายที่ใกล้เราที่สุดอยู่ตรงไหน มีรถเมล์สายอะไรผ่านบ้าง สายนั้นๆ วิ่งไปไหน แล้วรถเมล์สายนั้นอยู่ตรงไหนบ้าง บางป้ายรถเมล์เราอาจจะเห็นในแอพฯ แต่มองไป อ้าว ไม่มีอยู่บนถนน อันนั้นก็ขึ้นได้นะครับ เพราะเราเก็บข้อมูลจากการใช้งานจริงๆ มา ทั้งลงไปสำรวจพื้นที่และมีการแจ้งจากผู้ใช้ ว่ามันเป็นจุดที่รถจอดและคนขึ้น ถึงไม่มีป้ายอย่างเป็นทางการ
การแก้ไขปัญหาเรื่องขนส่งสาธารณะเป็นหน้าที่ของภาครัฐหรือเปล่า ทำไมที่ผ่านมาถึงมีกลุ่มคนหรือภาคเอกชนลุกขึ้นมาช่วยแก้ปัญหา
ในมุมมองของผมในฐานะผู้โดยสาร ผมมองแค่ว่าทำยังไงการเดินทางของคนธรรมดาแบบเราๆ มันถึงจะง่ายขึ้น ทำยังไงผมถึงจะไม่ตกรถอีก ถ้าผมอยากไปสนามหลวงตอนนี้ ผมจะรู้ได้ยังไงว่าต้องขึ้นรถเมล์สายอะไรไป แล้วเมื่อไหร่รถถึงจะมา มันเป็นบริการสาธารณะ แล้วมันก็มีข้อมูลที่เป็นสาธารณะที่ใครๆ ควรเข้าถึงได้ แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะเข้าถึงยังไง พวกผมก็แค่อยากมีส่วนช่วยพัฒนาตรงนี้
ผมคิดว่าบริการขนส่งสาธารณะของกรุงเทพฯและปริมณฑล เรียกได้ว่ามีครอบคลุมแทบทุกพื้นที่นะ ทั้งรถเมล์ รถตู้ หรือเรือ แต่ปัญหาคือคนไม่รู้ คนไม่มีข้อมูล ผมมองว่าเรามีบริการที่ดีอยู่แล้ว ทำไมคนถึงไม่สามารถเข้าถึงได้ เราจึงพยายามแก้ไขให้ผู้โดยสารเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น วางแผนการเดินทางได้สะดวกขึ้น ก็จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ ไม่ต้องหงุดหงิดกับการรอคอยไปเรื่อยๆ หรือสิ้นเปลืองกับการเดินทางด้วยวิธีอื่นที่แพงกว่า แถมแอพฯ ยังมีภาษาอังกฤษ ช่วยให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติก็วางแผนเดินทางท่องเที่ยวได้สะดวกขึ้น เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกด้วยครับ
ในฐานะที่ทำงานกับข้อมูล มองเรื่องการเปิดและการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะของประเทศไทยยังไงบ้าง
ผมว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศเราค่อนข้างผลักดันเรื่อง Open Data กันค่อนข้างมาก ไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องระบบขนส่งนะ การเปิดข้อมูลยังไงก็เป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว เพราะคนจะได้เข้าถึงได้ ดึงข้อมูลมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ ถ้าพูดถึงเรื่องนี้เมื่อสัก 3-4 ปีก่อน เราอาจจะยังไม่รู้ว่าจะไปหาข้อมูลพวกนี้ที่ไหนเลย
ความท้าทายในการทำงานกับข้อมูลเหล่านี้คืออะไร
เราทำงานกับแอพฯ นี้มาสองปีแล้วครับ หลักๆ คือจะใช้ข้อมูลเหล่านี้มาพัฒนาแอพฯ ยังไงให้มันตอบโจทย์คนใช้ให้ได้ ทำยังไงให้ผู้ใช้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่เข้าใจผิด และเป็นประโยชน์เพียงพอที่จะตัดสินใจหรือวางแผนการเดินทางได้ บวกกับว่าต้องใช้งานง่ายที่สุด
แล้วนอกจากฝั่งผู้โดยสาร เราก็ต้องมองทางฝั่งผู้ให้บริการด้วย ลองคิดง่ายๆ เราอาจจะเคยเห็นรถเมล์ว่างๆ วิ่งผ่านเราไป ผู้ให้บริการก็ไม่ได้อยากให้เกิดขึ้นหรอก แต่มันมีปัญหาเรื่องทราฟฟิก เรื่องความถี่ในการปล่อยรถ ไหนๆ เราทำแอพฯ แล้ว เราก็คิดเผื่อผู้ให้บริการไปด้วย ว่าการจัดการข้อมูลแบบไหนที่มันจะช่วยให้เขาวางแผนปล่อยรถได้ดีขึ้น แล้วมันก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ด้วย เราก็อยากให้มันพัฒนาทั้งระบบไปด้วยกัน
ในฐานะที่เป็นสตาร์ทอัพ มองสถานการณ์ของสตาร์ทอัพในเมืองไทยตอนนี้ว่าเป็นยังไงบ้าง
ผมว่าช่วงสองสามปีที่ผ่านมา คนพูดถึงสตาร์ทอัพในเมืองไทยเยอะมาก มีโครงการสนับสนุนค่อนข้างมาก การเริ่มต้นนี่ไม่ยากเลย แต่ปัญหาอยู่ที่เริ่มด้วยการแก้ไขปัญหาที่ถูกจุดหรือเปล่า เรากำลังทำในสิ่งที่คนต้องการจริงๆ ไหม อย่าง ViaBus เองก็ต้องทดสอบเป็นปีๆ กว่าจะรู้ว่า อะไรที่คนอยากได้ อะไรที่คนต้องการอะไรจริงๆ
เราได้รับการสนับสนุนจาก CU Innovation Hub ทั้งเรื่องของทุนและให้คำแนะนำ (Mentoring) ที่นี่มีโครงการ Siam Innovation District (SID) ที่เปิดให้ใครก็ได้ ที่อยากสร้างนวัตกรรมเข้ามาร่วมโครงการ ตอนนี้ก็มีสตาร์ทอัพหลายรายเลยที่เข้ามาร่วมโครงการนี้
การพัฒนาขั้นต่อไปของ ViaBus คืออะไร
จริงๆ เราอยากให้มันเป็นแอพฯ ที่ครอบคลุมการเดินทางทั่วประเทศไทย ผมอยากเชิญชวนให้ผู้ให้บริการด้านการขนส่งมาร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเรานะครับ เพราะอยากให้การเดินทางระหว่างจังหวัด หรือในพื้นที่อื่นๆ นอกเหนือจากกรุงเทพฯ มันสะดวกขึ้นด้วย
เรามองความสำเร็จของเราไว้ที่จำนวนคนที่เข้ามาใช้บริการแอพฯ และฟีดแบคจากการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ แอพฯ เราจะไม่มีประโยชน์เลย ถ้าไม่ได้ช่วยให้ผู้ใช้เดินทางหรือวางแผนการเดินทางได้ง่ายขึ้น ความสนุกอย่างหนึ่งของพวกเรา คือการอ่านฟีดแบคจากคนใช้ครับ บางคนก็บอกว่าเพิ่มเวลาแต่งหน้าได้นานขึ้น เพราะเขากะเวลาเดินทางได้ บางคนจิบกาแฟได้อร่อยขึ้น เพราะไม่ต้องพะวงเวลาที่รถจะมาถึง ส่วนบางคนนี่มาขอบคุณที่ทำให้เขามีชีวิตดี 4.0 (ฮ่าๆ)
ประเทศไทยจะ 4.0 หรือยังไม่รู้ครับ แต่ถ้ามันมีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและข้อมูลจริงๆ ไม่ว่าจะเรื่องอะไร มันก็น่าจะทำให้ชีวิตคนไทยดีขึ้นได้ครับ