การทำงานที่ขยับย้ายมาอยู่ที่บ้าน ฟังดูเหมือนจะเป็นของหวานสำหรับคนทำงาน แต่เอาเข้าจริงเรากลับต้องเริ่มวันด้วยการประชุมไป คอยถามตอบจับใจความ ไม่ให้เราตกขบวนเนื้อหาใดๆ คอยดูขนมปังที่ปิ้งไว้ ในเตา แมวที่คอยตะกายขาเมื่อถึงเวลาอาหาร ค้นอีเมลที่ถูกถามหาในตอนประชุม ยังไม่นับคนที่ต้องทำหน้าที่ผู้ปกครอง คอยดูแลเด็กๆ ไปพลาง ทำงานไปพลาง ที่ชวนให้ปวดเศียรเวียนเกล้าขึ้นอีกเป็นกอง ความวุ่นวายนี้มันเกิดจากการทำงานที่บ้านหรอ? ไม่ใช่หรอก เกิดจากการพยายามทำทุกอย่างในเวลาเดียวกัน (แล้วคิดว่าทำได้) ต่างหาก
เมื่อทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกัน โดยเฉพาะในที่ทำงาน ช่างรู้สึกว่าเราเนี่ย เป็นชาว multitasking มือฉมัง ทำงานไป ทำอย่างอื่นไป แล้วทุกอย่างมันราบรื่นอย่างที่ใจคิดหรือเปล่า? Multitasking จึงเป็นเหมือนมายาคติในการทำงานและใช้ชีวิต ว่าถ้าหากสามารถทำงานพร้อมๆ กันหลายอย่าง จะทำให้เราดูเป็นคนเก่ง ที่สามารถจัดการอะไรๆ ได้ดี และยังประหยัดเวลามากกว่าการทำทีละอย่างด้วย จนเชื่อว่าการทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกัน คอยสลับไปทำนั่นที ทำนี่ที จะช่วยให้สมองของเรากระฉับกระเฉงขึ้น เมื่อตกหลุมพรางนั้น เราเลยเอาทุกอย่างมากองรวมกันและจัดการมันในทีเดียว จนกลายเป็นว่าเราไม่สามารถทำอะไรได้สมบูรณ์แบบอย่างที่เคยทำสักอย่าง ทำไมเราถึงทำแบบนั้นไม่ได้กัน?
นั่นเพราะสมองของเราไม่ได้รองรับการทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกัน แล้วได้ผลดีเหมือนตอนทำทีละอย่างมาตั้งแต่แรกแล้ว ผลการศึกษาจาก University of Sussex เอาผู้เข้าร่วมทดลองมาใช้ device หลายๆ อย่างพร้อมๆ กัน และพาเข้าเครื่อง MRI เพื่อสแกนสมอง พบว่าคนที่เป็นชาว multitasking เนี่ย พบว่าความหนาแน่นของสมองส่วน Anterior cingulate cortex (ACC) ลดน้อยลงไปมาก ซึ่งสมองส่วนนี้ ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ การตัดสินใจ เราจึงต้องมาพิจารณาสิ่งนี้กันใหม่อีกครั้ง
โดยเฉพาะการทำงานที่บ้าน ที่เรามีหน้าที่ มีบทบาทที่งอกขึ้นมาใหม่อยู่เสมอ ตอนอยู่ออฟฟิศ เรายังคงมีบทบาทเพียงอย่างเดียว คือ คนทำงาน แต่เมื่ออยู่บ้านเราต้องมีบทบาทหน้าที่ที่เลี่ยงไม่ได้อย่าง งานที่ย้ายจากออฟฟิศมา งานบ้านที่ค้างเติ่ง หรือแม่ที่ต้องคอยตอบคำถามเด็กๆ ไปพร้อมๆ กับการทำงาน หลายคนจึงจำต้องสวมวิญญาณชาว multitasking เพื่อทำหน้าที่ของพนักงานให้ดีและทำหน้าที่ที่บ้านให้พร้อมเช่นกัน การทำงานที่บ้านจึงไม่ใช่เรื่องง่ายและอาจทำให้ความโปรดักทีฟหดหายจากภาระหน้าที่ที่เพิ่มขึ้นนี้
แม้เราจะเชื่อว่าเราทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกันได้ แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเราจะทำมันได้ดี (โดยเฉพาะ เทียบกับตอนทำทีละอย่าง) บทความวิชาการเรื่อง ‘Task switching in patients with prefrontal cortex damage’ โดย โจชัว รูบินสไตน์ (Joshua Rubinstein) เจฟฟรี่ อีแวนส์ (Jeffrey Evans) และ เดวิด เมเยอร์ (David Meyer) ตีพิมพ์ใน Journal of Cognitive Neuroscience ปีค.ศ. 1994 ได้ให้ข้อมูลว่า การสูญเสียสมาธิ ความสนใจ คือ ปัญหาของการทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกัน โดยเฉพาะในตอนที่เราต้องสลับ task ไปมา ทำอันนั้นแล้วกันไปทำอันนี้ แม้ระยะเวลาของการสลับจะเป็นเพียงเสี้ยววินาที ไม่ได้ทิ้งช่วงนาน ก็ทำให้เราสูญเสียความสนใจไปได้เหมือนกัน และยิ่งสลับไปทำอย่างอื่น สลับมาทำสิ่งเดิม ก็ไม่สามารถมีสมาธิได้เท่าเดิมแล้ว นั่นเพราะเราเกิด mental blocks ในสมองของเรา แล้วสิ่งนี้นี่แหละ ที่ทำให้เราสูญเสียช่วงเวลาโปรดักทีฟของเราไป
ปัจจัยที่ทำให้ multitasking กลายเป็นความน่าปวดหัว นอกจากการทำหลายอย่างพร้อมกัน จนต้องสลับความสนใจไปมาแล้ว เรื่องของความซับซ้อนใน task ที่ทำอยู่ก็มีผลเช่นกัน รวมถึงรูปแบบการทำงานที่แบ่งเป็น mental tasks และ physical tasks มาดูตัวอย่างแล้วอาจจะเห็นภาพมากขึ้น mental tasks ไม่ซับซ้อน อย่าง เย็นนี้กินอะไร ฟังเพลงอะไรดีนะ แบบซับซ้อน อย่างการตัดสินใจเรื่องสำคัญ คิดเรื่องงานอย่างจริงจัง ส่วน physical tasks ที่ไม่ซับซ้อน อย่าง การพับผ้า ล้างจาน อาบน้ำ แบบซับซ้อน อย่าง ขับรถ ใช้อุปกรณ์การช่าง
แต่พอใช้ชีวิตจริง เราไม่ได้มีเวลามานึกได้ว่าสิ่งนี้ซับซ้อนหรือไม่ เวลาเลือกจะทำอะไรพร้อมๆ กัน อาจจะเผลอเอากิจกรรมซับซ้อนกับซับซ้อนมาเจอกัน มันคงไม่มีปัญหาอะไรหากเราคิดว่าวันนี้กินอะไรดี ไปพร้อมๆ กับตอนอาบน้ำ แต่ถ้าหากกิจกรรมซับซ้อนมาเจอกัน อย่างการทำงาน ตอบอีเมลขณะขับรถ คงไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนัก หากเราเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกันในบางครั้ง ลองเลือกกิจกรรมอย่างระมัดระวัง ไม่ให้กิจกรรมซับซ้อนมาเจอกัน จนกลายเป็นกิจกรรมทุลักทุเลแทน
แม้จะไม่แนะนำให้จับปลาหลายมือ แต่ถ้าหาก task มันเยอะ เกินกว่าจะปล่อยเบลอไปได้ ลองมาดูกันว่า เราจะ multitask ยังไงไม่ให้พัง
จับคู่กิจกรรมให้เหมาะสม
เรื่องเดียวกันกับความซับซ้อนที่บอกไปข้างต้น หากมีความจำเป็นต้องทำจริงๆ ลองจับคู่สิ่งที่ทำได้ง่ายๆ กับสิ่งที่ซับซ้อนไว้ด้วยกัน หรือเอาสิ่งที่ง่ายๆ มาคู่กับงานง่ายเหมือนกัน อาจทำให้เราเสร็จหลาย task ในเวลาที่สั้นลงและได้หลายงานมากขึ้น โดยที่ไม่ลดคุณภาพลงเท่าไหร่นัก และอย่าลืมระมัดระวังไม่ให้เอางานซับซ้อนมาคู่กัน จนกลายเป็นพังทั้งคู่
จัดลำดับความสำคัญให้ดี
แม้ทำงานนี้อยู่ แล้วมีอะไรมาแทรก ลองพิจารณาก่อนว่าสิ่งที่แทรกมานั้น มีความจำเป็นต้องทำตอนนี้เลยหรือเปล่า ถ้าทั้งสองอย่างสนับสนุนกัน เกี่ยวข้องกัน อาจช่วยให้เราไม่ต้องเปลี่ยนสมาธิจากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่งอย่างกระทันหัน แต่ถ้าหากมันไม่ได้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน หรือไม่ได้เป็นเรื่องเร่งด่วนมากนัก เก็บ task นี้ไว้ในลิสต์ แล้วทุ่มเทสมาธิกับงานตรงหน้าก่อนจะดีกว่า
ไม่ให้มีสิ่งรบกวนจะดีกว่า
ท่ามกลางความวุ่นวายของ task ที่ล้นมือ ที่เราต้องคอยประเมินว่าอะไรจับคู่กับอะไรได้ สิ่งนี้ด่วนหรือไม่ หรือเอาไว้ก่อน เราอาจจะต้องใช้สมาธิที่มากยิ่งขึ้นกว่าปกติ จะดีกว่าไหมหากเราไม่มีสิ่งรบกวนรอบข้างให้สมาธิแตกกระเจิง ปกติแล้ว หากเราทำงานเพียงอย่างเดียว เราอาจจะพอเหลือพื้นที่สำหรับการฟังเพลงคลอไปด้วย ดูทีวีไปพลาง แต่ถ้าหากต้องเข้าโหมด multitasking แล้ว ลองจัดการให้เราได้ทำงานในพื้นที่ส่วนตัว ไม่มีใครตามตัว ไม่มีเสียงรบกวน เพื่อให้เราได้ใช้สมาธิไปกับงานหลายๆ อย่างในมือ
การทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกัน (แบบให้ได้ดีทุกอัน) ไม่ใช่ฟังก์ชั่นที่ร่างกายเรารองรับอยู่แล้ว แต่หากมีความจำเป็นต้องทำจริงๆ ลองเลือกกิจกรรมคู่กันอย่างเหมาะสม ไม่ให้เป็นภาระสมอง ลองทำอะไรให้เสร็จสมบูรณ์อย่างมีคุณภาพสักหนึ่งอย่าง น่าจะดีกว่าเราถือ task ไว้มากมาย แต่ไม่มีสิ่งไหนเสร็จสมบูรณ์
อ้างอิงข้อมูลจาก