ปวดตับปวดไตกันไปตามๆ กัน หลังจากที่ปวงชนชาวไทยได้รับชมมิวสิควิดีโอชวนคนไทยไปลงประชามติตัวใหม่จากทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง เอ็มวีที่ว่าก็กลายเป็นประเด็นร้อนและกลายเป็นทอล์กออฟเดอะไทยยิ่งกว่าการเดบิวเอ็มวีเพลงค่ายใดในแผ่นดิน (เวอร์ไปหน่อย)
ประเด็นที่เถียง? ก็ไม่เชิงเพราะเท่าที่เห็นจากท่าทีของผู้ชม ไม่ว่าจะภาคไหนๆ ก็ค่อนข้างมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่าเนื้อร้องบางส่วนของเอ็มวีมี อคติ หรือที่รุนแรงก็คือมีนัยของการดูหมิ่นประชากรภาคเหนือและอีสาน ทางผู้แต่งและต้นสังกัดออกมาอธิบายว่า ไม่ได้มีเจตนาที่จะแบ่งแยกหรือมีอคติใดๆ (ต้องการจะพูดกลางๆ แค่บังเอิญว่าเนื้อเพลงที่บอกว่าอย่าโดนชักจูงอะไรนั่นมันบังเอิญไปอยู่ท่อนของภาคอีสานกับเหนือเท่านั้นเอง) ส่วนหน่วยงานต้นสังกัดก็บอกว่าไม่เห็นเป็นสาระอะไร อย่าอ่อนไหวกันเกินไปสิไทยแลนด์
ในทางวัฒนธรรมการวิจารณ์ มีงานเขียนสำคัญชิ้นหนึ่งคือ มรณกรรมของประพันธกร (The Death of Author) ของโรลองด์ บาร์ตส์ (Roland Barthes) ชื่อภาษาไทยฟังดูเข้าใจยาก คือบาร์ตส์เสนอว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่งานเขียนใดๆ ถูกผลิตออกมาสู่สาธารณชนแล้ว มันก็เป็นสิทธิของผู้อ่านที่จะอ่านตีความเพื่อทำความเข้าใจตัวบทหรือผลงานนั้นๆ ได้อย่างอิสระ
ถ้าขุดลึกลงไปอีกนิดว่าบาร์ตส์กำลังพูดถึงอะไร คือความเชื่อในการตีความหรือวิจารณ์งานในยุคเก่าก่อนนั้นมีลักษณะที่ผูกติด ‘ความหมาย’ ต่างๆ เข้ากับตัวผู้แต่ง ประมาณว่าผู้แต่งเจตนาจะพูดอะไร แค่ไหนนะ ซึ่งก็แปลว่าความหมายต่างๆ ของตัวบทถูกกำกับโดยผู้แต่ง ซึ่งบาร์สต์บอกว่า ไม่จริงนะจ๊ะ ถ้าไปยึดติดกับเจตนาของผู้แต่งเธออาจจะหลงทางก็ได้ เพราะแง่หนึ่งคือเราไม่มีวันรู้เจตนาที่แท้จริงของผู้แต่งได้เลย กับในอีกด้านหนึ่งบาร์ตส์บอกว่าบางเรื่อง เช่น อคติ ความเชื่อ หรือความหมายต่างๆ ที่ถูกผลิตออกมาเป็นตัวบท ไอ้ความคิดความเชื่อที่โผล่ขึ้นมามันเป็นเรื่องที่พ้นไปจาก ‘เจตนา’ ของผู้แต่งไปแล้ว (ภาษาวิชาการเรียกว่า ‘มายาคติ’ (Myth))
กรณีของเพลงนี้ก็เป็นปรากฏการณ์แบบเดียวกัน คือ ผู้สร้างงานบอกว่า เฮ้ย ไม่ได้ตั้งใจ แค่บังเอิญ แต่ว่าผู้ชมกลับพร้อมใจกันรับรู้ไปในทางเดียวกัน คือสัมผัสได้ว่าในเอ็มวีอันนี้มันไปตอบสนองเอาความเชื่อโดยเฉพาะอคติทางการเมืองของสังคมไทย ความเชื่อที่ว่าคนเหนือและคนอีสานเป็นกลุ่มคนที่โดนชักจูงได้ง่ายจากนโยบายประชานิยม หรือซื้อเสียงอะไรทำนองนั้น
ทำไมจึงเป็นแบบนั้น
The MATTER จึงทดลองวิเคราะห์ภาษาของเพลงนี้ดู
ความไทยสี่ภาค
เป็นอะไรที่เวรี่เก๋ คือพอจะสร้างเพลงเพื่อพูดกับคนทั่วประเทศ เลยต้องสร้างฟอร์แมตสี่ภาคในเพลงเดียว ทันสมัยชวนให้นึกถึงเพลงแฟนจ๋าของพี่เบิร์ด ความเก๋ชิคอีกอย่างคือการมีนักแสดงหมู่มวลจำนวนมากมาย ทั้งร้อง เต้น เล่นดนตรี ชูไม้ชูมือ เก้อบ้าง ไม่เก้อบ้าง บางคนก็เป่าขลุ่ยไป สีซอไป เดินเรียงแถวโยกตัวไปตามจังหวะดูน่ารักน่าชัง ไม่นับความงงของการตัดฟุตเทจของการเปิดตัวที่มีภาพของกกต. ยืนเรียงหน้ากระดานยิ้มแฉ่งกับหนุมานมาเปิดงาน ตัดสลับไปมา มีความคอลลาจและโพสโมเดิร์น ระหว่างมิวสิควิดีโอและวีดิทัศน์แนะนำองค์กรอย่างน่าพิศวง
กลับมาที่การแบ่งช่วงเนื้อร้องออกเป็นภาคทั้ง 4 ก็มีความน่าสนใจเพราะใช้นักร้องสี่ท่านอันถือว่าเป็นตัวแทนของภาคทั้งสี่ภาค เริ่มจากภาคกลาง อีสาน เหนือ และใต้ การวางโครงเนื้อเพลงตามลำดับนี้ก็สามารถอ่านนัยของความหมายเชิงลึกได้
ภาคกลางที่เหมือนจะหายไป? : เสียงของส่วนกลาง?
ถ้าฟังเนื้อเพลงแบบผ่านๆ จะสามารถจับภาคหลักๆ ได้ สามภาค คือ ภาคอีสาน เหนือ และใต้ เป็นต้นไป ส่วนภาคกลางนั้นมีลักษณะเหมือนช่วงเกริ่นนำซึ่งต่างกับเนื้อร้องของสามภาคต่อมาที่มีลักษณะของการ ‘พูดคุย’ กับผู้ฟังภาคต่างๆ โดยตรง ในขณะที่เนื้อเพลงส่วนของภาคกลางนั้น มีการใช้ภาษาที่เป็นทางการ เป็นลักษณะของการให้ข้อมูล มีนัยของการสั่งสอนเล็กน้อย รูปประโยคที่ใช้ก็เกือบจะเป็นประโยคคำสั่ง (ต้องรักกันนะ ต้องร่วมมือกันนะ) คือการบอกว่ารัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร มีหน้าที่อย่างไร และสังคมควรเป็นไปอย่างไร ก่อนที่จะปิดท้ายว่าให้ปวงชนทั้งหลายใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจนะจ๊ะ
การใช้ภาษาและน้ำเสียงกับภาคกลางนี้ก็น่าจะสามารถตีความได้ว่าเป็นน้ำเสียงของ ‘ส่วนกลาง’ คือน้ำเสียงของรัฐที่กำลังพูดกับประชาชนโดยทั่วไปในทั่วทุกภาค ไม่ได้มีลักษณะของการพูดกับประชากรของภาคกลางหรือกรุงเทพมหานครเป็นการเฉพาะเหมือนกับเนื้อเพลงในส่วนต่อๆ ไป
เหนือ-อีสาน คือความบังเอิญสองครั้ง?
พอมาถึงเพลงช่วงต่อมา ก็สามารถแบ่งช่วงเนื้อร้องออกเป็น 3 ช่วง ตรงนี้เองที่ตัวเพลงเริ่มหันมาพูดกับผู้ฟังอย่างจริงจัง ในแง่ของกลวิธีทางการประพันธ์เรียกว่าการ เรียกขาน (address) คือจากที่ร้องลอยๆ มาตั้งแต่แรกว่าเออ 7 สิงหา กำลังจะเกิดอะไรขึ้น ประชากรทั้งหลายควรทำอะไร ทีนี้ก็เริ่มหันหน้า สะกิดไปที่ประชาชนแต่ละภาคแล้วว่า เอ้าฟังนะ เธอควรทำอะไร ซึ่งไอ้การแบ่งออกเป็น 3 ช่วงก็มีนัยที่น่าขบคิด เพราะมีลักษณะสลับฟันปลา คือ พูดกับคนอีสาน คนใต้ และจบด้วยภาคเหนือ แต่เนื้อความที่พูดกับคนอีสานและคนเหนือกลับมีเนื้อหาไปในทำนองเดียวกัน
ตรงนี้ผู้แต่งบอกว่า ก็แต่งไปแล้วบังเอิญไอ้ช่วงที่บอกว่าอย่าให้ใครมาชักจูงมาหลอกมาชี้นำเนี่ย มันดันไปตกที่ช่วงของภาคอีสานกับภาคเหนือ พอดิบพอดีเป๊ะ แถมยังพอดีกับความจริงทางการเมืองที่ภาคเหนือและภาคอีสานเป็นฐานเสียงของ ‘กลุ่มอำนาจเก่า’ เข้าไปอีก
มีความบังเอิญถึงสองครั้งแน่ะ
ซึ่งนี่แหละ คิดดูว่าพอร้องๆ อยู่ดีๆ หันมาพูดกับคนอีสาน ด้วยภาษาอีสานว่า ‘พี่น้องอีสานบ้านเฮา อย่าให้ใครเขาชี้ซ้ายชี้ขวา ใช้สติพิจารณา เนื้อหาถ้อยความ หลักการสำคัญ’ คือบั่บ ฮัลโหลพี่น้องเสร็จก็สั่งสอนเลยว่า นี่ อย่าให้ใครมาชี้นำนะแกร มีสติ มีวิจารณญาณเยอะๆ หน่อย รู้จักรู้ทันชาวบ้านบ้าง ไปลงประชามติด้วยเนอะ แค่นี้เนอะ
เสร็จก็หันไปแหลงใต้ แต่อ้าว ไหง หันไปพูดกับคนใต้เนื้อความกลายเป็นชื่นชมว่า โอ้ย คนใต้นี้รักประชาธิปไตย รักเสรี ชื่นชมดีงาม จบไม่ทันไรหันมาอู้กำเมืองกับชาวเหนือ กลายเป็นกลับมาสั่งสอนอีกแล้ว แล้วเนื้อหาบทเทศนาเหมือนที่พูดกับคนอีสานเป๊ะ คืออย่าให้คนมาหลอกนะ รู้จักเรียนรู้ติดตาม รัฐธรรมนูญต้องเป็นที่ตั้ง (อ่าว นี่ตกลงชวนไปโหวตเฉยๆ หรือชวนโหวตรับด้วยเนี่ย)
คือสารกับความหมายมันออกมาโคตรชัดแบบนี้ แยกเป็นภาคๆ แต่ละภาคก็พูดเหมือนสอน แถมใช้ภาษาถิ่นอีก คือ พี่พูดกับคนภาคนั้นๆ อยู่แหละครับ ถ้าพูดแบบสนิทๆ ก็ สอนว่าให้ใช้สมองหน่อย คือถ้ารัฐไม่ได้มีอคติสมมติฐานอะไรมาแต่ต้น เนื้อเพลงก็ไม่ต้องเน้นมาขนาดนี้มั้ยอะเนอะ