กลางดึกในเดือนมีนาคม นักศึกษาหญิง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกรุ่นพี่ล่วงละเมิดทางเพศในหอพัก เธอขัดขืนและเอาตัวรอดจากสถานการณ์นั้นได้
ก่อนที่จะตัดสินใจบอกเล่าเรื่องราวนี้ให้กับมหาวิทยาลัยได้รับทราบ เพื่อเรียกร้องให้รุ่นพี่คนดังกล่าวได้รับบทลงโทษ
แต่สังคมไทยก็มักฉายหนังซ้ำ เพราะหลังจากที่เธอเปิดเผยเรื่องนี้ให้กับสาธารณะผ่านโลกออนไลน์ ความเห็นมากมายพุ่งเข้ามาในกล่องคอมเมนต์ เนื้อหาในเชิงก่นด่าด้วยสำเนียงที่คุ้นตา โทษว่าเธอคือต้นเหตุเสียเองเพราะ ‘ไม่รักนวลสงวนตัว’ และ ‘ไม่ดูแลตัวเองดีพอ’ อย่างไรก็ตาม คำกล่าวโทษเหล่านั้น ไม่ได้ทำให้เธอคิดว่าต้องหยุดพูด หรือหยุดต่อสู้กับค่านิยมที่สร้างความชอบธรรมให้กับการข่มขืน
The MATTER ชวนนักศึกษาผู้นี้มาคุยกันถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น ในฐานะเหยื่อที่ถูกกระทำจากทั้งตัวบุคคลและทัศนคติของสังคมนั้น เธอมอง ‘วัฒนธรรมการข่มขืน’ ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้อย่างไร และเราจะออกจากปัญหาที่ว่านี้ได้หรือไม่
หลังจากเกิดเหตุการณ์ขึ้นมา เราจัดการกับความรู้สึกของตัวเองยังไง
เราไม่ได้สะเทือนใจแบบฝันร้าย ลำพังตัวเหตุการณ์ไม่ได้ผลกระทบกับเราเท่าไหร่ พูดกันตามตรงว่าทัศนคติกับกระแสสังคมหลังจากนั้น มันทำให้เรารู้สึกโดดเดี่ยวและรู้สึกแย่มากกว่า
ราคาที่ต้องจ่ายในการออกมาพูดในเรื่องแบบนี้มีอะไรบ้าง
ด้วยความที่รุ่นพี่คนซึ่งกระทำผิดต่อเราเป็นเพื่อนกลุ่มเดียวกัน เพื่อนเค้าก็คนมาเบลมเราว่า เราใจดำ ถ้าเป็นไปได้ก็ควรจะคุยกันสองคนให้มันจบตรงนั้น ไม่ควรจะเอาเรื่องต่อ เค้าก็ค่อนข้างไม่พอใจคนที่มาสนับสนุนให้เราเอาเรื่องถึงที่สุด ทั้งที่มันเป็นสิทธิของเรา อันนี้เป็นสิ่งที่เรารู้สึกแย่ในตอนแรก เพราะเราไม่นึกว่า เพื่อนในกลุ่มเดียวกันจะเลือกข้างไปฝั่งคนที่ทำผิดขนาดนั้น ทั้งที่เราไม่ได้ทำอะไรผิดเลย และเราก็เป็นคนเสียหาย
คนที่เลือกยืนข้างฝ่ายที่กระทำ เค้าให้เหตุผลว่าอะไร
เค้าบอกว่าคนที่ทำสำนึกผิดแล้ว จะเอาอะไรอีกแค่ไหนถึงจะเรียกว่าความยุติธรรมที่เราพอใจ คือเค้าเอาสองเรื่องนี้มารวมกัน แต่เรามองว่ามันคนละเรื่องกัน
ถึงแม้เค้าจะสำนึกผิด เราก็ยังมีสิทธิที่จะดำเนินการของเราต่อไป เค้าเลือกที่จะเยียวยาเพื่อนตัวเอง มากกว่าที่จะทำให้มันเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เราคิดว่าพอเกิดเหตุแบบนี้ สิ่งที่ต้องทำคือมาดูว่ามันถูกรึเปล่า ถ้ามันไม่ถูกเค้าก็ควรสนับสนุนให้เราดำเนินการ แล้วสุดท้ายคือ ถ้าเกิดว่าคนๆ นั้นที่ทำผิดเค้าจะรู้สึกแย่ถึงขั้นไหนเนี่ย เราไม่ห้ามเลยที่จะให้เพื่อนเข้าไปเยียวยา หรือว่าเข้าไปปลอบ แต่การเยียวยามันต้องมาหลังจากกระบวนการแบบที่ทำให้มันเป็นเรื่องถูกต้อง
เพราะอะไรถึงออกมาต่อสู้เป็นเรื่องถึงระดับมหาวิทยาลัย
เราอยากให้บทเรียนกับเค้าที่เป็นรูปธรรมชัดเจน มากกว่าแค่ความรู้สึกผิด จะรู้สึกผิดรึเปล่านั้น เป็นเรื่องที่เค้าต้องลงโทษตัวเอง เราคิดอยู่เสมอว่า ถ้าเราไม่เอาเรื่อง ไม่ทำอะไรซักอย่าง ในอนาคตก็อาจจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกก็ได้ แล้วเค้าอาจใช้เคสของเราไปมองว่า ถ้าทำอะไรแบบนี้อีก คนอื่นก็คงจะเงียบแบบเรา
ใช้เวลาตัดสินใจนานไหมว่าจะลุกขึ้นมาสู้
ใช้เวลานานเหมือนกันนะในช่วงที่ตัดสินใจว่าให้มหาวิทยาลัยดำเนินการ แต่ถ้าเป็นหลังจากที่มีคำสั่งออกมาแล้วโพสต์ลงเฟสบุ๊คและเปิดพับบลิค ไม่ได้คิดนานเท่าไหร่ เพราะมองว่ามันเป็นสิ่งที่เราควรจะต้องพูด
แต่ก็มีหลายคนที่ยอมจะเงียบต่อไปนะ
เค้าคงกลัวทัศนคติแย่ๆ อย่างการออกมาเบลมเหยื่อว่า เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงรึเปล่า จากที่เราอ่านมา สถิติของคนที่โดนข่มขืนหรือโดนละเมิดทางเพศนี่ส่วนใหญ่มาจากคนใกล้ตัวทั้งนั้น คือมันไม่ได้เหมือนในละคร ที่มีคนออกมาจากข้างทางแล้วก็ฉุดเราไปข่มขืน แต่มันเป็นคนที่เราไว้ใจ พอเป็นแบบนั้น เราก็คงไม่ได้คิดถึงขั้นว่าจะ ตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงรึเปล่า พูดอีกแง่ก็คือ สมมติว่ามีเพื่อนต่างเพศไปกินเบียร์ ไปติวหนังสือ ซึ่งที่ผ่านก็ไม่เห็นมีอะไรเลย
ณ เวลานั้น เราไม่ได้คิดว่าเราเอาตัวเองเข้าไปสถานการณ์เสี่ยง ถึงแม้มันจะพูดง่ายว่า อย่าทำแบบนั้นแบบนี้สิ แต่ในความเป็นจริงมันทำได้ยากและเป็นปัญหาอยู่เหมือนกัน
หลังจากที่ตัดสินใจโพสต์เรื่องนี้ในโลกออนไลน์ ตกใจไหมกับฟีดแบคที่ได้รับ
พูดถึงรวมๆ ทั้งสองด้านทั้งด้านดีและด้านแย่นะ เราไม่คิดว่าคนจะให้ความสนใจในโพสต์เราขนาดนี้ มีคนมาชื่นชม คิดว่าเรากล้าหาญ มันสะท้อนให้เห็นว่า ความคิดเรื่องการเปิดเผยเรื่องการข่มชืน มันเป็นสิ่งที่ล้าหลัง เค้าคิดว่าเรากล้าหาญแข็งแกร่งมาก แต่เรามันเป็นเรื่องธรรมดา อยากให้มันเป็นเรื่องเฉยๆ ไม่ได้คิดว่าต้องใช้ความกล้าหาญอย่างยิ่งใหญ่ อยากให้มองว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนมีสิทธิจะพูดได้
ส่วนด้านลบก็คิดอยู่แล้วว่าต้องมี ไม่ได้ผิดคาดเท่าไหร่ แต่ก็เห็นชัดเจนขึ้นว่ามีคนคิดแบบนี้อยู่จริงๆ แต่เราเชื่อว่าสังคมมันเปลี่ยนแปลงได้ และก็ต้องก้าวข้ามสิ่งแบบนี้
บางคนบอกว่า ถ้าเราดูแลตัวเองดีพอ ไม่เอาตัวเองเข้าไปในสถานการณ์เสี่ยงก็จะไม่เจอเรื่องแบบนี้หรอก คิดยังไงกับเหตุผลทำนองนี้
เรารู้สึกว่ามนุษย์เกิดมาแล้วถูกทำให้คิดว่า ตัวเองต้องตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งถ้าคิดแบบนั้นมันหมายความว่า คุณไม่มีสิทธิใช้ชีวิตได้ตามใจคุณเลยหรอ แทนที่เราจะมาพูดกันเรื่องสิทธิกันให้ชัดเจนว่า คุณไม่ควรไปทำเรื่องแบบนี้กับคนอื่น กลับกลายเป็นว่า งั้นก็ไม่ต้องออกไปข้างนอกดีกว่า ไม่เมาดีกว่า ไม่ยอมให้ผู้ชายขึ้นห้องดีกว่า เรามองว่ามันไม่สมเหตุสมผล
ถ้าเค้ายืนยันว่า อยากเตือนเราด้วยความหวังดีมากกว่าล่ะ ฟังขึ้นไหม
การบอกให้ป้องกันตัวเองมันทำได้ เราไม่ได้ห้าม แต่การที่พูดอะไรแล้วทำให้เหยื่อเค้ารู้สึกผิดเนี่ย มันเป็นสิ่งที่แย่ เช่น กล้าเมาแล้วกล้าเอาตัวเองไปนอนห้องผู้ชายขนาดนั้นได้ยังไง คือเรามองว่าเป็นทัศนคติที่แย่ แต่ถ้าจะป้องกันโดยการเตือนกันว่า อย่ากลับค่ำมากนักมันอันตราย อย่างนี้โอเค
ทัศนคติแบบที่โทษความผิดให้กับเหยื่อ มันมีปัญหาอะไรบ้าง
มันทำให้เหยื่อโดดเดี่ยวและรู้สึกผิดที่ต้องออกมาพูด ซึ่งไม่ควรจะรู้สึกแบบนั้นเลย เพราะเราไม่ได้ทำอะไรผิด มันไม่ยุติธรรมตั้งแต่แรกอยู่แล้ว การที่ออกมาพูดว่าเราตกเป็นเหยื่อของการถูกล่วงละเมิดทางเพศ แต่กลับมีคนมาด่าเรา ทั้งที่เราไม่ได้ทำอะไรผิด มันก็ยิ่งไม่ยุติธรรมกันเข้าไปใหญ่
อะไรที่ทำให้หนักใจมากกว่ากัน ระหว่างเรื่องราวที่ถูกกระทำในตอนแรก กับ ทัศนคติที่โยนความผิดมาให้กับเราในฐานะผู้ถูกกระทำ
หนักใจกับทัศนคติที่เบลมเหยื่อมากกว่า ลำพังเหตุการณ์ไม่ได้มีผลกระทบอะไรกับเราขนาดนั้น เราไม่ได้ฝันร้ายหรือพูดแล้วน้ำตาคลอ พอเวลาผ่านไป เราก็รู้สึกว่ารับมือได้ เราสามาถพูดได้ว่าโดนอะไรมาบ้าง สิ่งที่ทำให้เราเหนื่อยใจและล้า คือทัศนคติหรือการเบลมเหยื่อมากกว่า
ถ้ามองในภาพที่ใหญ่ขึ้น ความเชื่อแบบที่โยนความผิดให้กับเหยื่อ มันสะท้อนอะไรได้บ้างในสังคมเรา
มันสะท้อนว่าเรายังไม่เข้าใจเรื่องสิทธิกันดีพอ ถึงแม้หลายคนอาจคิดว่าเราโลกสวยเกินไป แต่ในเมื่อเราออกมาพูดถึงเรื่องนี้ เราต้องต่อสู้ไปให้ถึงอุดมคติที่ว่า ถึงแม้เราจะแต่งกายยังไง หรืออยู่ในสถานการณ์แบบไหน คุณก็ไม่มีสิทธิที่จะมายุ่งกับเนื้อตัวร่างกายของเรา เราอยากพูดให้มันไปถึงจุดนั้น
แล้วเราจะเดินออกจากปัญหานี้กันอย่างไร
ในฝั่งที่เป็นผู้ถูกกระทำต้องเข้มแข็ง และกล้าที่จะเอาเรื่องกับเค้า มันมีช่องทางที่คุณสามารถทำได้ เช่น การแจ้งความ หรืออย่างกรณีเราที่สามารถให้มหาวิทยาลัยเอาผิดทางวินัยได้ อีกอย่างหนึ่งคือ ถ้าคุณต้องการที่จะสื่อสาร คุณต้องทำให้สังคมเข้าใจว่าคุณไม่ผิด คุณไม่จำเป็นจะต้องอาย คุณยังสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้
คิดว่าควรมีใครรับผิดชอบกับวัฒนธรรมหรืออคติแบบนี้ไหม
สื่อมีผลอย่างมากเลย อย่างละครหลังข่าวที่ทำให้เห็นว่า นางร้ายหรือคนที่ดูแรงๆ เปรี้ยวๆ แต่งตัวโป๊ เมา หรือว่ามีนิสัยสำส่อนทางเพศ พอมันปรากฏตามสื่อก็มีคนดูเห็นด้วยว่า ก็สมควรแล้วที่คนแบบนี้จะได้รับบทลงโทษเป็นการข่มขืน ทั้งที่เรื่องแบบนี้มันไม่ควรเกิดขึ้นกับใครเลยก็ตาม ไม่ว่าเค้าจะมีศีลธรรมสูงส่ง เป็นคนดี คนเลว มีหน้าตาแบบไหนก็ไม่ควรถูกกระทำ
ถ้ากฎหมายมีบทลงโทษรุนแรงจะช่วยแก้ปัญหาได้ไหม
นอกเหนือจากตัวบทกฎหมาย มันคือกระบวนการในการดำเนินการ ตอนแรกที่เราไม่เลือกแจ้งความก็เพราะเราไม่เชื่อมั่นในกระบวนการ ไม่เชื่อว่ามันจะช่วยเยียวยาความรู้สึกเราไ้ด้จริงๆ เรากลัวว่า ถ้าเราไปแจ้งความเราจะต้องเจอกับตำรวจ หรือเจอกับคำถามแย่ๆ เช่น ทำไมนอนกับผู้ชาย ทำไมวันนั้นถึงเมา ถ้าอย่างนั้นสมยอมรึเปล่า ชอบคอกันไหม กิ๊กกันไหม คือเรากลัวทัศนคติแบบนั้น
เรารู้สึกว่า มันสามารถพัฒนาไปได้ ถ้าคุณให้ความสำคัญกับกระบวนการแบบนี้มากพอ เคยมีคนมาบอกเราว่า เดี๋ยวนี้ถ้าจะไปแจ้งความผิดเกี่ยวกับเรื่องเพศต้องมีผู้หญิงเป็นคนรับแจ้ง การสืบสวนสอบสวนก็ต้องมีตำรวจหญิง และมีคำถามที่ไม่ทำให้คนรู้สึกผิด แต่เราก็ยังไม่รู้ว่ามันพัฒนาไปจริง หรือมันเป็นแค่สิ่งที่เค้าเล่าต่อกันมา ก็เลยไม่เชื่อมั่น
พอไม่เชื่อมั่นก็เลยหันไปดำเนินการผ่านทางมหาวิทยาลัยแทน แล้วอย่างนี้มหาวิทยาลัยมีวิธีจัดการอย่างไรบ้าง
ตอนแรกเราไปปรึกษากับอาจารย์ที่สอนกฎหมายอาญาก่อน ว่าเราควรจะทำยังไง ถ้าเราแจ้งความมันจะเป็นผลดีกับตัวเราไหม ตอนนั้นรู้สึกว่า เราจะต้องเป็นคนที่แบกรับภาระในการดำเนินการอยู่คนเดียว แต่คนทำที่ทำผิดก็หายไปเฉยๆ กลายเป็นว่า ถ้าเราจะจัดการอะไรซักอย่างนึง มันต้องลุกขึ้นมาต่อสู้กับความรู้สึกตัวเอง รวมถึงกระแสจากเพื่อนรอบข้าง เรารู้สึกว่า ถ้าไปแจ้งความแล้วมันจะมีผลอะไรต่อเค้ารึเปล่า
อาจารย์ก็แนะนำว่า ให้ไปดำเนินการลงโทษทางวินัยตามช่องทางของมหาวิทยาลัย เราเลยไปทำเรื่องไปที่คณะ หลังจากนั้นคณะก็ตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยขึ้นมา เรียกเราและผู้ชายคนนั้นไปสอบด้วย หลังจากนั้นก็พิจารณาลงโทษออกมาแล้วส่งไปมหาวิทยาลัยให้อนุมัติคำสั่งนั้น
แต่ระยะเวลามันนานมาก เราดำเนินการไปตั้งแต่หลังจากเกิดเหตุอาทิตย์นึงคือปลายๆ มีนาคม แล้วคำสั่งเพิ่งออกมาวันที่เราโพสต์ลงเฟสบุ๊ค (เดือนสิงหาคม) คือมันรวมระยะเวลากว่า 4 เดือนด้วยกัน
เราค่อนข้างไม่โอเคเท่าไหร่ ความที่มันเป็นระบบราชการ ต้องทำเป็นขั้นเป็นตอน เรารู้สึกว่าตัวมหาวิทยาลัยอาจจะไม่ได้แอคทีฟพอ อย่างการดองเรื่องไว้ ไม่ได้รีบทำอะไรให้มันเสร็จ รวมถึงตั้งกรรมการสอบซึ่งอยู่ในกระบวนการที่นานมาก เข้าใจว่ามันจะต้องหาคนที่เหมาะสม หรือว่าคนที่ไว้ใจที่จะวินิจฉัยความผิด แต่มันก็นานสำหรับเรา ตลอดระยะเวลานั้น เราต้องเป็นฝ่ายต้องโทรตามตลอด เพื่อสอบว่ากระบวนการไปถึงขั้นไหนแล้ว
ถ้าไม่ตามไปเร่งรัดเรื่องเอง คิดว่าต้องรอบทสรุปนานกว่านี้ไหม
คิดว่าคงนานกว่านี้ เพราะเรารู้สึกว่า เราโทรตามแล้ว เราแจ้งทางรองคณบดีไป หลังจากนั้นเค้าก็ส่งให้คณะดำเนินการ ตลอดเวลาที่เราตามเรื่อง เราไม่รู้ว่าต้องไปตามกับใคร ปรากฎว่ารองคณบดีเค้าก็ไม่รู้เรื่องอะไรแล้ว เพราะเรื่องมันไปอยู่กับอีกหน่วยงานแล้ว มันกลายเป็นว่าคนที่รับเรื่องไม่ใช่คนที่อยู่ในกระบวนการตรงนั้น
นี่เป็นปัจจัยนึงรึเปล่า ที่ทำให้เวลามีเคสแบบนี้ขึ้นมาแล้วนักศึกษาไม่รู้จะไปพึ่งพาใครในมหาวิทยาลัย
เราเอาเรื่องนี้ไปเล่าให้เพื่อนฟัง เพื่อนก็บอกว่า เคสเรามันไม่ใช่เคสแรก มันเคยมีแบบมากมายนับไม่ถ้วน แต่ผู้หญิงเลือกที่จะเงียบ เพราะส่วนหนึ่งคือเค้าไม่รู้จะพึ่งใคร
อยากให้มหาวิทยาลัยมีบทบาทในการช่วยเหลือเหยื่อ หรือว่าเยียวยาเหยื่อมากกว่านี้ คือมีบทบาทในเชิงแอคทีฟบ้าง ควรจะมีไกด์ไลน์ว่ามีเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ว่าเราสามารถพึ่งใครได้บ้าง เราสามารถดำเนินการในทางไหน มีอาจารย์คนไหนบ้างที่เราสามารถเข้าไปคุยได้
คิดว่าบทลงโทษทางวินัยที่ผู้กระทำเค้าได้รับ มันเหมาะสมไหม
เรายอมรับในบทลงโทษที่เค้าได้รับมากกว่า แต่ถ้าถามว่ายุติธรรมสำหรับเราไหม เราว่ามันไม่มีทางยุติธรรมสำหรับคนที่ต้องตกเป็นเหยื่อ คือ เราต้องต่อสู้กับทัศนคิตแย่ๆ ของหลายคน มันไม่ใช่ร่างกายที่เค้ามาแตะต้องตัวเรา มันเป็นความเสียหายทางจิตใจที่เรารู้สึกแย่ คือเรามองว่ามันไม่ยุติธรรม แต่เราก็ยอมรับผลการตัดสินของมหาวิทยาลัยตรงนั้น
ในฐานะเหยื่อผู้ถูกกระทำคนนึง อยากบอกไปถึงเหยื่อคนอื่นๆ อย่างไรบ้าง
ถ้าเราเงียบมันก็ยิ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการข่มขืนขึ้นในอนาคต เราไม่รู้หรอก ว่าคนที่ทำความผิดเค้าสำนึกผิด ณ ตอนนั้นไหม ถ้าเกิดเค้าไปทำแบบนี้กับคนอื่น แล้วผู้หญิงเลือกจะไม่เอาเรื่อง มันก็กลายเป็นว่าเค้าสามารถทำแบบนี้ได้อีก
การข่มขืนมันเป็นเรื่องที่แย่ แต่พอมันเกิดมาแล้ว คุณก็ยังสามารถสื่อสารให้สังคมได้รับรู้ มันก็จะเป็นการดีกว่าไหม ถ้าเราจะออกมาพูดให้ทุกคนรู้ว่าปัญหาคืออะไร และควรแนะนำว่า ถ้าเกิดเหตุการณืแบบนี้ว่าควรทำอย่างไรต่อไป
สุดท้ายแล้ว สังคมควรมองเหยื่อให้ถูกต้องด้วยมุมมองแบบไหน
สังคมควรจะยืนอยู่ข้างเหยื่อ ไม่ให้เหยื่อรู้สึกโดดเดี่ยวก่อนเป็นอันดับแรก แน่นอนว่า มันรวมถึงการไม่ทำให้เหยื่อรู้สึกผิด อย่างที่เราตั้งแฮชแท็กว่า #standwithvictims คืออยากขอให้คุณเลือกที่จะยืนอยู่ข้างเค้า การอยู่ข้างตรงนี้มันหมายความว่า คุณให้กำลังใจเค้า อยากให้เค้ากล้าออกมาพูด
ท้ายที่สุดแล้วก็อยากให้เคารพการตัดสินใจขอเค้า เพราะเค้าคือคนที่ต้องแบกรับทุกอย่าง