ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในสถาบันการศึกษากลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา จากแฮชแท็ก #ศิลปินชายท่านหนึ่ง ที่บอกเล่าเรื่องราวการล่วงละเมิดทางเพศในศิลปากร ซึ่งส่งแรงกระเพื่อมให้คนหันมาสนใจปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย โดยมีผู้เสียหายหลายคนตัดสินใจออกมาบอกเล่าสิ่งที่ตนเองพบเจอ ทั้งจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ คณะมัณฑนศิลป์ คณะโบราณคดี และคณะอักษรศาสตร์ และเป็นที่น่าตกใจว่ามีการล่วงละเมิดทาเพศเกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง และนอกจากนี้ในบางคดีผู้ก่อเหตุยังเป็นคนเดิมที่กระทำอย่างซ้ำๆ
เว็บไซต์ callisto มีสถิติที่บอกกับเราว่าในอเมริกามีรายงานว่าผู้กระทำผิดฐานล่วงละเมิดทางเพศ มักเกิดขึ้นจากผู้กระทำคนเดิมๆ โดยผู้กระทำหนึ่งคนมักก่อเหตุอย่างน้อย 6 ครั้ง
นอกจากนี้รายงานจากปีค.ศ. 2010 ในอังกฤษ พบว่า 68% ของนักเรียนนักศึกษา พบกับการล่วงละเมิดทางเพศทั้งทางวาจาและทางร่างกาย
ในไทยเอง มีงานวิจัยจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ที่สำรวจการล่วงละเมิดทางเพศในมหาวิทยาลัยเมื่อปี พ.ศ. 2554 พบว่ามีผู้ถูกกระทำกว่า 27,000 ราย
สถิติเหล่านี้เป็นการตอกย้ำว่าปัญญหาการล่วงละเมิดทางเพศไม่ใช่ปัญหาเล็กๆ และเรื่องนี้ไม่ควรมองข้าม ยิ่งกับสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยที่ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้เรียน การออกมาตรการหรือการดูแลปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศควรเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญ
ถึงอย่างนั้นในรายงานของ The Guardian บอกกับเราว่าการร้องเรียนปัญหาหาการล่วงละเมิดทางเพศในมหาวิทยาลัยนั้นทำให้ผู้คนเสียเวลาไปอย่างมาก และมักไม่ได้เกิดการแก้ไขใดๆ ตามมา รวมถึงการบอกเล่าของผู้ถูกกระทำที่ต่างออกมาบอกเป็นเสียงเดียยวกันว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้เข้ามาช่วยเหลือหรือปกป้องผู้เสียหายอย่างที่ควรจะทำ
เราชวนไปสำรวจและเข้าใจปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในมหาวิทยาลัยผ่านคำบอกเล่าของผู้ถูกกระทำ และวิธีการป้องกันไม่ให้เรื่องนี้เกิดขึ้นซ้ำๆ เพื่อยุติการล่วงละเมิดทางเพศในสถาบันการศึกษา
ฟังเสียงของคนถูกคุกคาม
หลังจาก #ศิลปินชายท่านหนึ่ง และ #คณะ02 กลายเป็นที่พูดถึงมากขึ้น ก็มีผู้ถูกกระทำซึ่งเป็นทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันในรั้วสถาบันศิลปากรออกมาพูดถึงปัญหาและสิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญกันหลายคดี ซึ่งพวกเธอได้เล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรวมไปถึงสภาพจิตใจที่ยังเป็นบาดแผลมาจนทุกวันนี้
โดยการกระทำที่เกิดขึ้นมีทั้งนักศึกษาที่เป็นผู้กระทำ รวมไปถึงอาจารย์ที่ก็กลายเป็นผู้กระทำเสียเอง โดยมีทั้งในรูปแบบแอบถ่ายในห้องน้ำ ไปจนถึงการลวนลาม
โดยผู้ถูกกระทำทุกคนต่างหวาดกลัวกับการเล่าเรื่องราวเหล่านี้ออกไป เพราะในสังคมที่มักจะโทษผู้ถูกกระทำ ทำให้พื้นที่ปลอดภัยของพวกเธอหดเล็กแคบจนไร้ที่ยืนในสังคม
“เราไม่ได้บอกให้ใครรู้ถึงสภาพจิตใจของเราเลย เราใช้เวลารักษาตัวเองกับความหวาดกลัวนี้ถึง 5 ปี ต้องบอกก่อนว่า “ความหวาดกลัว เมื่อคุณตื่น คุณสามารถจัดการสมองให้หยุดคิดได้ แต่เมื่อคุณหลับ คุณจะควบคุมความฝันไม่ได้เลย”….และนั่นคือระยะเวลา 5 ปี ของเรา ทั้งในตอน ตื่น และ หลับ สุดท้าย มันค่อยๆจางไปตามกาลเวลา”
นี่คือหนึ่งในความรู้สึกของผู้ถูกกระทำจากการล่วงละเมิดทางเพศในรั้วมหาวิทยาลัยที่เขียนผ่านสเตตัสเฟซบุ๊กของเธอเอง ซึ่งจะเห็นได้ว่านี่ไม่ใช่ปัญหาเพียงเล็กน้อยที่สถาบันการศึกษาจะมองข้ามไปได้ เพราะการล่วงละเมิดทางเพศส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้ถูกกระทำเป็นอย่างมาก และใช้เวลาในการเยียวยาอย่างยาวนาน รวมไปถึงหลายครั้งที่ความรู้สึกหรือความกลัวที่เกิดขึ้นก็อยู่กับผู้ถูกกระทำตลอดไป
ส่วนอีกหนึ่งเสียงที่ออกมาบอกเล่าเรื่องราวการล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นก็ได้เปิดเผยผ่านสเตตัสเฟซบุ๊กของเธอเองว่า
“ในคืนเกิดเหตุเราก็ขอมานอนหอเพื่อนซึ่งก็คือเพื่อนที่สนิทกันไปหอกันบ่อยๆ แต่วันนั้นเพื่อนผู้หญิงไม่อยู่ เหลือแต่ #ศิลปินชายท่านหนึ่ง เวลานั้นก็ดึกมากแล้วไม่มีที่ให้ไป และเราก็เหนื่อยและเพลียมากๆ เราก็นอนที่นั่นแบบไม่ได้คิดอะไร เพราะด้วยไว้ใจว่าเป็นเพื่อนที่สนิทกัน เราก็หลับและมีความรู้แบบสะลึมสะลือกึ่งหลับกึ่งตื่น แล้วก็สัมผัสได้ว่ามีอะไรมาลูบคลำบริเวณหน้าอกและส่วนต่างๆของร่างกาย และรับรู้ถึงเสียงลมหายใจที่เข้ามาใกล้ นอกจากที่เราจะไม่มีแรงขัดขืนและเราก็รึสึกกลัวก็เลยแกล้งหลับแล้วให้ #ศิลปินชายโรคจิตท่านหนึ่ง เสร็จสมอารมณ์หมายด้วยตัวเอง เราก็สติหลุดไปซักพักหนึ่ง พอตั้งสติได้ก็รีบออกไปจากห้อง เหตุการณ์นั้นยังฝังอยู่ใจ”
“และเราก็ไม่กล้าที่จะเอาเรื่องนี้มาพูดกับใครเพราะรู้สึกอับอาย ”
ในอีกคดีหนึ่งที่เกิดขึ้นและถูกบอกเล่าตามมาหลัง #ศิลปินชายท่านหนึ่ง คือเรื่องความปลอดภัยของนักศึกษาด้วยกันเอง หลังจากผู้เสียหายรายหนึ่งได้บอกเล่าผ่านสเตตัสเฟซบุ๊กของเธอว่า ถูกนักศึกษาชายร่วมคณะแอบถ่ายในห้องน้ำ ซึ่งคดีนี้มีผู้เสียหายกว่า 10 ราย โดยเราได้พูดคุยกับเธอเพิ่มเติม และเธอเล่าให้ฟังว่าเธอรู้สึกโกรธและไม่เข้าใจว่าทำไมคนอื่นๆ ภายในคณะถึงมองข้ามปัญหานี้
“เราถูกแอบถ่ายตั้งแต่ตอน ปี 1 ช่วงพ.ศ.2560 จนเราขึ้นปี 4 (พ.ศ.2564) เราก็เพิ่งมารู้ว่ามีผู้เสียหายรายอื่นๆ อีกจากคนที่เคยแอบถ่ายเรา และมีผู้เสียหายรวมกันเกือบ 10 คน เรารู้เรื่องนี้มาจากเด็กคณะอื่น ที่เล่าต่อๆ กันมาประหนึ่งว่าเป็นข่าวลือ ส่วนนี้ทำให้เรารับไม่ได้ เราโกรธ เราผิดหวัง เราเสียใจ เราโกรธเพื่อนพี่น้องในสังคมคณะทุกคนที่รู้ข่าวนี้ และเคยทำพฤติกรรมกล่าวโทษเรากับเพื่อนตอนปี 1 อาทิ พูดว่าเรากับเพื่อน ‘บิดเบือนเรื่องราว’ ‘กุเรื่องขึ้นมา เพราะอยากดัง’ ‘ตอแหล’ ‘หลอนไปเองว่าโดนแอบถ่าย’ เราโกรธทุกคนที่เคยปกป้องผู้กระทำผิดในวัน นั้น แต่พอพิสูจน์ได้ว่าผู้กระทำผิดจริง ก็ไม่เห็นมีใครออกมาพูด ไม่มาติดต่อชี้แจงอะไรพวกเราเลยเป็น ระยะเวลา 4 ปี”
ผู้ถูกกระทำนั้นต้องแบกรับกับความรู้สึกต่างๆ มากมาย และยิ่งกับสังคมที่ไม่เข้าใจและโทษเหยื่อ ยิ่งเป็นการปิดประตูไม่ให้คนที่พยายามออกมาบอกเล่าปัญหาได้มีเสียง มีตัวตน และพวกเธอต้องงทนอยู่กับสภาพจิตใจที่ไม่มีใครมาเยียวยา ซึ่งนี่ยิ่งทำให้ผู้ถูกกระทำเลือกปิดปากมากกว่าออกมาบอกเราสิ่งที่เกิดขึ้น และยิ่งเป็นการทำให้เหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศพุ่งสูงขึ้น เมื่อไม่มีใครรับฟังเสียงของผู้ถูกกระทำ
และนอกจากการกระทำที่ผู้ก่อเหตุเป็นนักศึกษาแล้ว ก็มีคดีที่ผู้กระทำเป็นอาจารย์ ซึ่งหนึ่งในผู้เสียหายได้เล่าผ่านสเตตัสเฟซบุ๊กของเธอว่า
“เราโดนอาจารย์ผู้ชายต่างชาติที่สอนภาษาอังกฤษในคณะของเราลวนลามทางเพศ(sexually assaulted) โดยอาจารย์ท่านนี้ได้จับ แตะร่างกายเราหลายครั้งโดยที่เราไม่ได้ยินยอม เราได้แจ้งทางอาจารย์ที่ปรึกษาไปเรียบร้อย อาจารย์ได้ดูแลเรื่องให้และแนะนำให้เราเขียนจดหมายเพื่อส่งให้คณบดีสำหรับการจัดตั้งคณะกรรมการสอบสวน เราและเพื่อนที่อยู่ในเหตุการณ์อีก 3 คนได้ถูกสอบสวนเรื่องที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นอาจารย์ได้โทรมาบอกว่าทางมหาวิทยาลัยได้เรียกอาจารย์ท่านนั้นเข้ามาคุย แต่อาจารย์ท่านนั้นไม่ยอมเข้ามา สุดท้ายแล้วอาจารย์ท่านนั้นได้ตัดสินใจไม่ต่อสัญญาและหมดอายุงานไปโดยไม่โดนอะไรเลย ออกไปแบบประวัติโปร่งใส กลับกันเราเองที่เป็นเหยื่อ ต้องแบกรับเรื่องทั้งหมดนี้ไว้”
ซึ่งเมื่อเราได้คุยเพิ่มเติม เธอได้บอกกับเราว่า
“คณะโบราณคดีและจิตรกรรมไม่ใช่กรณีแรกๆ ที่เกิดขึ้น หลังจากที่เราออกมาพูดก็ได้มีรุ่นพี่อีกมากมายทักมาหาเรา พร้อมเล่าถึงเรื่องที่เกิดขึ้นตอนยังเป็นนักศึกษา ทุกคนล้วนเป็นเหยื่อของอาจารย์ต่างชาติท่านนั้นมาก่อน หลายคนบอกกับเราว่าไม่กล้าที่จะออกมาพูดเพราะกลัวผลกระทบที่จะตามมาทั้งในด้านการเรียนที่อาจารย์ท่านนั้นเป็นคนดูแล ด้านการงานในอนาคต และร้ายแรงที่สุดคือกลัวว่าจะถูกทำร้ายร่างกาย ”
นี่คือเหตุผลว่าทำไมการตั้งคำถามว่าผู้ถูกกระทำไม่ยอมร้องเรียนไม่ควรเกิดขึ้น เพราะนอกจากสภาพจิตใจแล้วผู้ถูกกระทำยังต้องเผชิญกับความกลัวต่างๆ ดังนั้นแล้วคำถามจึงอยู่ที่ว่ามหาวิทยาลัยมีการป้องกันหรือมีสถานที่รับเรื่องเหล่านี้อย่างไร เตรียมพร้อมแค่ไหน และมีมาตรการจัดการ สืบสวนและดำเนินการอย่างไร เพื่อให้ความั่นใจกับผู้ถูกกระทำ?
ปัญหาของ สถาบันที่เพิกเฉยและ victim blaming
จากสถิติจากเว็บไซต์ Calisto บอกไว้ว่าคนที่ออกมาดำเนิคดีหรือแจ้งความมีเพียง 12 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งเราอาจต้องมองย้อนกลับไปที่ต้นทางว่าอะไรทำให้ผู้เสียหายไม่สามารถร้องเรียนหรือแจ้งความได้
จากเฟซบุ๊กของผู้ถูกกระทำรายหนึ่งได้บอกเล่าให้ฟังว่าตอนนี้มีผู้เสียมากกว่า 10 ราย ที่ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมและการเยียวยาจากผู้กระทำผิด รวมไปถึงพวกเธอได้แจ้งความไป 2 ปีแล้ว และยังไม่ได้รับความยุติธรรมใดๆ จากกระบวนการทางกฏหมาย และที่สำคัญคือพวกเธอได้ร้องเรียนไปยังมหาวิทยาลัยและพบว่ามหาวิทยาลัยตั้งใจปกปิดเรื่องราวที่เกิดขึ้นเพื่อรักษาชื่อเสียงของสถาบัน
นอกจากนี้การปฏิบัติตัวของอาจารย์บางท่านและผู้เกี่ยวข้องภายในมหาวิทยาลัยยังเป็นการกระทำที่ลดทอนความรู้สึกของเหยื่อ รวมไปถึงทำให้เกิดการโทษเหยื่อและนำไปสู่ rape culture ได้
หนึ่งในผู้เสียหายเล่าให้เราฟังถึงการจัดการปัญหาจากทางมหาวิทยาลัยที่ยังมองไม่เห็นความรุนแรงของการล่วงละเมิดทางเพศ จนทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกว่าตนเองโดดเดี่ยว
“ในห้องสอบสวน เคสที่ 1 ตอนปี พ.ศ.2560 คณาจารย์ที่ตัดสินคดีพูดกับเราว่า “เพื่อนบอกว่าเพื่อนไม่ได้ทำ เราเป็นเพื่อนกัน ให้อภัยเพื่อนได้ไหม” นับเป็นคำพูดที่ไม่สมควรถูกกล่าวออกมาจากปากผู้บริหารระดับสูง”
“เท่ากับว่าทางคณะ ‘ไม่ได้ใส่ใจ’ ความรู้สึกและให้ความช่วยเหลือนักศึกษาผู้เสียหายเลย”
อีกกรณีหนึ่งที่เกิดขึ้น ผู้ถูกกระทำเล่าให้เราฟังว่า
“นอกจากทางคณะจะไม่ช่วยเหลือใดๆ อย่าง เป็นรูปธรรมและยั่งยืนแล้ว ยังพูดกับเราว่า ต้องการอะไรจากการโพสต์เรื่องนี้ เพราะเรื่องจบไปแล้ว คนกระทำก็ถูกไล่ออกไปแล้ว และคณะไม่เคยนิ่งเฉยกับเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะติดกล้องวงจรปิดใหม่ถึงจับผู้กระทำที่ได้ก่อเหตุครั้งล่าสุดได้ และทางคณะพาผู้เสียหายรายอื่นๆ ไปแจ้งความดำเนินคดีแล้ว”
จากคำบอกเล่าของผู้ถูกกระทำ ทำให้เห็นว่ายังมีความไม่เข้าใจความรู้สึกและปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศที่ไม่สามารถแก้ปัญหาที่ปลายเหตุได้ แต่ต้องออกนโยบายที่เป็นประโยชน์เพื่อรักษาความรู้สึกและเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้ถูกกระทำ
ซึ่งเหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ไม่กี่กรณี เพราะในขณะที่อีกคดีที่เกิดขึ้น ยังพบว่ายังมีการโทษเหยื่อ (victim blaming) อยู่ด้วย
“ในห้องสอบสวนมีอาจารย์สามคนที่สอบสวน อาจารย์สองคนที่สอบสวนเราเข้าใจเราและถามคำถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ แต่มีอาจารย์ท่านหนึ่งได้ถามถึงการแต่งตัวของเรา ภายหลังทางคณะได้ออกแถลงการณ์ว่าคำถามดังกล่าวถูกถามขึ้นเพื่อตรวจสอบความจริงเท่านั้น แต่เรามองว่าคำถามนี้เป็นการ victim blaming จึงไม่เหมาะสมอย่างมากค่ะ”
และยิ่งไปกว่านั้น แม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ขึ้นซ้ำๆ แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขจากทางมหาวิทยาลัย โดยยังคงเกิดเหตุขึ้นซ้ำๆ และมีเพียงการแจ้งเตือนผ่านกลุ่มไลน์ของนักศึกษาด้วยกันเองที่ให้ป้องกันตัวหรือระวังตัวกับการล่วงละเมิดทางเพศ
เราได้ไปพูดคุยกับหนึ่งในอาจารย์จากมหาวิทยลับศิลปากร ถึงรากของปัญหาที่เกิดขึ้น โดยอาจารย์ให้ความเห็นว่า
“เรื่องนี้เริ่มตั้งแต่การสร้างค่านิยมผิดๆ ผ่านรูปแบบกิจกรรมที่
ทำตามๆ กันมาจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง กิจกรรมรับน้องมีผลอย่างมาก”
“หลายคนอาจจะบอกว่าการรับน้องมันก็มีข้อดีอยู่ มีส่วนที่สร้างสรรค์ ฝึกทักษะในการทำกิจกรรมเป็นกลุ่ม รู้จักรุ่นพี่เพิ่มขึ้นทำให้มีช่องทางในสายอาชีพมากขึ้น ก็อาจจะมีส่วน แต่การอ้างความชอบธรรมในตัวกิจกรรมก็ใช้กับรุ่นน้องทั้งหมดทุกคนไม่ได้ และก็ไม่จำเป็นที่จะต้องพิสูจน์กันด้วยกิจกรรมนี้เพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะกิจกรรมที่เกิดยามวิกาล ในพื้นที่ลับๆ ทั้งหลาย ในหลายกรณีเราปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่ามีสถานการณ์เอื้อต่อการใช้อำนาจจากรุ่นพี่เพื่อคุกคามทางเพศ รุ่นน้องบางคนอาจจะสนุกด้วย แต่คนที่ไม่สนุกด้วย มีท่าทีปฏิเสธก็จะโดนกดดันต่างๆ นานาจนส่งผลกระทบให้เกิดปมในจิตใจของรุ่นน้อง บางคนทนไม่ไหวต้องลาออก บางคนต้องทนทุกข์ตลอดจนเรียนจบก็มีอยู่จริงๆ”
“ไม่กี่วันมานี่เพิ่งเห็นแบบสำรวจในระบบออนไลน์เรื่องการคุกคามทางเพศในมหาวิทยาลัย ผมละอายใจกับตรงนี้มาก แต่ก็ต้องยอมรับอย่างเจ็บปวดว่าคณะที่ตัวเองสอนติดชาร์ตอันดับหนึ่งทิ้งอันดับสองไม่เห็นฝุ่น นี่ล่ะครับแบบสำรวจออกมาหลังจากเป็นข่าว ผมคิดว่าเราต้องมาขบคิดกันอย่างเร่งด่วนนะว่าจะจัดการอย่างไรให้มีกระบวนการทั้งป้องกัน ทั้งร้องเรียนให้มากขึ้นหลากหลายช่องทาง สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้โดนล่วงละเมิด โดยไม่ต้องให้เค้าออกมาเปิดเผยด้วยตัวเองแล้วยิ่งได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจต่อไปอีก”
หยุดการล่วงละเมิดในมหาวิทยาลัยไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อม
แม้ว่าหลายคนจะออกมาพูดว่าการล่วงละเมิดทางเพศเป็นปัญหาจากนิสัยของผู้กระทำ แต่แท้จริงแล้ว ระบบที่ดีสามารถป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศ และเยียวยารักษาจิตใจของนักศึกษาที่อยู่ภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยได้ ซึ่งนี่คือเรื่องเร่งด่วนที่มหาวิทยาลัยในไทยต้องตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ให้มากขึ้น
เราขอหยิบยกตัวอย่างแนวทางการแก้ไขปัญหามาให้ดูกัน
the 1752 Group คือกลุ่มที่ออกมารณรงค์เรื่องการยุติการล่วงละเมิดทางเพศในมหาวิทยาลัยซึ่งเขาเสนอให้รัฐบาลอังกฤษ ออกกฎหมายให้ทุกมหาวิทยาลัยต้องมีการสืบสวนสอบสวนต่อการล่วงละเมิดทางเพศอย่างจริงจัง เมื่อเกิดเหตุการณ์ผิดปกติ แม้ว่าผู้กระทำจะจบการศึกษาหรือออกจากสถาบันไปแล้ว นอกจากนี้ยังต้องมีการลงลายลักษณ์อักษรส่งถึงสถาบันใหม่หรือสถานที่ทำงานเพื่อแจ้งให้ทราบถึงการการะทำของผู้ก่อเหตุ เพื่อป้องกันการหนีคดีและไปก่อเหตุซ้ำในที่ใหม่
ในส่วนของหน่วยงาน Office for Students ของอังกฤษได้ออกข้อควรปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในมหาวิทยาลัย โดยมหาวิทยาลัยควรเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้เสียหายได้รับการร้องเรียนอย่างสบายใจ รวมถึงผู้เสียหายควรได้รับการอธิบายถึงการแก้ไขปัญหาและการลงโทษผู้กระทำอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งตอนนี้มีการวางแผนว่าในอนาคตหากมหาวิทยาลัยไหนไม่ทำตามข้อปฎิบัตินี้อาจมีบทลงโทษตามมา
ส่วนในไทยเอง มหาวิทยาลัยที่มีความพยายามในการแก้ปัญหาเป็นที่แรกคือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เข้าร่วมโครงการสร้างกลไกความเป็นธรรมทางเพศ โดยมีการวางยุทธศาสตร์ แผนงาน และกิจกรรมที่จะป้องกันไม่ให้การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศและความรุนแรงทางเพศ
โดยในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้กล่าวไว้ว่า “กลไกที่มหาวิทยาลัยสร้างขึ้นนี้มีความครอบคลุม ทันสมัย เท่าทันความซับซ้อนของปัญหา กล่าวคือ คณะกรรมการประกอบด้วยความหลากหลายของเพศภาวะ อายุ สถานะทั้งผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักศึกษา ความเชี่ยวชาญ อาทิ ด้านสิทธิและความเป็นธรรม ด้านนิติศาสตร์ ด้านสังคมศาสตร์ ด้านเพศภาวะ เพศวิถี และสุขภาพ และที่สำคัญคือมีกรรมการที่มาจากหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัย อาทิ สมาคมเพศวิถีศึกษา องค์การสหประชาชาติ เป็นต้น นอกจากนั้นอนุกรรมการฯ ที่เกิดขึ้นต่อจากนี้จะมีหน้าที่สอบสวน แสวงหาข้อเท็จจริง ดำเนินการเสนอให้มีการคุ้มครองฉุกเฉินผู้ถูกกระทำ เช่น มีห้องพักฉุกเฉินในการแยกผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ การเยียวยาผู้ถูกกระทำ และส่งต่อผู้กระทำและผู้ถูกกระทำให้มีการพัฒนาศักยภาพให้กลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้”
การแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดทาเพศในมหาวิทยาลัยไม่ใช่แค่การออกแถลงการณ์ แต่ต้องแสดงความจริงงใจในการแก้ปัญหา เห็นความเป็นรูปธรรม และมีนโยบายที่ชัดเจน โดยสิ่งเหล่านี้เริ่มทำได้ทันที หากมหาวิทยาลัยใส่ใจกับความรู้สึกของนักศึกษาอย่างแท้จริง
อ้างอิงข้อมูลจาก