ช่วงราวๆ ปี 2548 กระทรวงศึกษามีการออกกฎห้ามการลงโทษด้วยการตี การ ‘หักไม้เรียว’ ในครั้งนั้นเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในหมู่ผู้ใหญ่ยุคไม้เรียวสร้างคน ยุคสมัยที่เชื่อว่าความเข้มงวด การลงโทษ เป็นกระบวนการสำคัญในการหล่อหลอมเด็กๆ ถ้าไม่ทุบไม่ตีซะบ้านจะควบคุมกันได้อย่างไร ตีกันมาเป็นสิบปีแล้ว
ล่าสุด สถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกา (American Academy of Pediatrics) ออกมาอัพเดตคำแนะนำตั้งแต่ปี 1988 ความว่า ต่อไปนี้แนะนำให้พ่อแม่หาทางในการะกระตุ้นดูแลลูกๆ ด้วยวิธีอื่นที่ไม่ใช่การตี ถือเป็นคำแนะนำของแพทย์ที่สำคัญต่อผู้ปกครองว่าการตีลูกเป็นแนวทางที่ควรงดเว้น กรณีการออกมาเตือนดังกล่าวอ้างอิงจากงานศึกษาอย่างยาวนาน ผลการศึกษาส่วนใหญ่ได้ผลค้านกับความเชื่อเรื่องไม้เรียวสร้างคน ในอีกทางหนึ่ง ความรุนแรงกลับนำไปสู่ผลเชิงลบมากกว่าเชิงบวก
ในสหรัฐฯ เองมีการแบนการตีในหลายรัฐ แต่ก็ยังมี 19 รัฐที่อนุญาตให้ตีเด็กในโรงเรียนได้ เคยมีกรณีผู้ปกครองชาวเท็กซัสฟ้องร้องเรื่องการตีเด็กจนเกิดเป็นกฎว่าครูที่จะลงมือตีเด็กได้ต้องเป็นเพศเดียวกันเท่านั้น สำหรับบ้านเราเอง แม้ว่าตามระเบียบกระทรวงยกเลิกการตีไปเรียบร้อยแล้ว แต่เราก็มักจะได้ยินข่าวการลงโทษแบบสาหัสกับนักเรียนกันอยู่เรื่อยๆ และแน่นอนว่าความเชื่อเรื่องการใช้ ‘ไม้แข็ง’ ในการกำกับดูแลเด็กๆ ก็ยังคงเป็นความเชื่อที่หยั่งรากอยู่ในสังคมไทย
รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี
แนวคิดเรื่องการตีเพื่อสั่งสอน ดัดนิสัย เป็นความเชื่อและกิจกรรมที่ยอมรับกันทั่วโลก เราเห็นการใช้ความรุนแรงตั้งแต่สมัยที่มีทาส ในช่วงศตวรรษที่ 18 กะลาสีมีการใช้ไม้แบนๆ เพื่อตีชาวเรือที่แอบหลับในช่วงอยู่ยาม ต่อมาในอเมริกาก็มีการเฆี่ยนทาสเพื่อสร้างรอยหมายไว้บนร่างกาย หลักฐานหนึ่งพบว่านักเรียนชาวไอริสเป็นนักเรียนกลุ่มแรกๆ ที่ถูกตี—ด้วยข้อหาที่ไม่ถอดหมวก ราวศตวรรษ 1920 ฝรั่งเศสเริ่มใช้ไม้เรียวและเรียกว่าเป็นไม้แห่งความยุติธรรม (bâton de justice)
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา การอบรมสั่งสอนและการใช้ไม้เรียวถือเป็นวิธีการที่ใช้และเชื่อกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก จนกระทั่งนักวิจัยเริ่มตั้งข้อสงสัยถึงผลกระทบของความรุนแรงที่กระทำในนามของความหวังดีว่า ในที่สุดผลของความรุนแรงจะนำไปสู่ผลเชิงบวกได้จริงๆ หรือ คำตอบค่อนข้างไปในทางลบ
คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิเด็ก (Committee on the Rights of the Child) นิยามการลงโทษทางกาย (physical punishment) ว่าเป็นการลงโทษที่แรงโดยมีเป้าประสงค์เพื่อสร้างความเจ็บปวดหรือความไม่สบายใจ โดยหลักแล้วเกี่ยวข้องกับการตี ไม่ว่าจะด้วยการฟาด การตบ และการหวด อาจจะด้วยมือเปล่าหรืออุปกรณ์ เช่น หวาย เข็มขัด รองเท้า ช้อนไม้ นอกจากการตีแล้วยังหมายรวมถึงการลงโทษด้วยความรุนแรงต่างๆ เช่น หยิก ตบหู ดึงผม ทั้งหมดนั้นก็เพื่อทำให้เด็กอยู่ในภาวะที่ลำบากไม่สบาย
นอกจากการลงโทษเพื่อความเจ็บปวดทางกายแล้ว คณะกรรมการยังพูดถึงเป้าหมายในความรู้สึก เช่น การลงโทษเพื่อเป็นการประจาน การทำให้อับอายด้วยวิธีต่างๆ
จากการตีกันเพื่อปราม เพื่อให้หลาบจำ พอมีการแยกแยะเป้าประสงค์และผลที่คาดหวังว่าจะเกิด การเฆี่ยนตีด้วยความรุนแรงที่เราอาจจะเคยรู้สึกว่าขำๆ อาจจะเป็นเรื่องที่ขำไม่ออกเท่าไหร่ และจะว่าไป การสั่งสอนด้วยการขีดเส้นด้วยความกลัวก็ฟังดูไม่ค่อยดีเท่าไหร่
20 ปีสู่การเลี้ยงดูไร้ความรุนแรง
ในรายงานชื่อ ‘บทเรียน 20 ปีของการลงโทษเด็กด้วยความรุนแรงทางกาย’ จากการสำรวจรวบรวมงานศึกษานับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990s มาจนถึงก่อนปี 2000 นักวิจัยพบว่าเด็กที่เผชิญกับการลงโทษด้วยความรุนแรง ไปจนถึงเด็กที่รับรู้และอยู่ในระบบการลงโทษมีความสัมพันธ์กับความรุนแรงในเด็ก งานศึกษาพบว่าการลงโทษสัมพันธ์กับสุขภาพจิต ภาวะกระทบกระเทือนทางร่างกาย ผลเชิงลบกับความสัมพันธ์ในครอบครัว ไปจนถึงส่งผลสืบเนื่องถึงความรุนแรงในครอบครัวเมื่อตอนโตขึ้น
นอกจากงานศึกษาในสหรัฐฯ แล้ว งานศึกษาในแคนาดาเองก็ได้คำตอบในทำนองเดียวกัน คือพบว่าการตบและตีเด็กส่งผลสัมพันธ์กับความผิดปกติทางจิตใจ เช่น ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล ไม่มีความสุข และสิ้นหวัง ส่งผลทั้งในเด็ก ในวัยรุ่น และส่งผลสืบเนื่องไปจนถึงในวัยผู้ใหญ่ นอกจากสภาวะจิตใจแล้ว ผลกระทบของการทุบตีเด็กยังเชื่อมโยงกับการใช้ยาเสพติดและการติดเหล้าด้วย
จากความสนใจและงานวิจัยที่ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ในหลายประเทศก็เลยเริ่มเพ่งเล็งและสนับสนุนให้ลด ละ เลิก การลงโทษเด็กด้วยการทุบตีและความรุนแรง นอกจากในสหรัฐฯ ที่ล่าสุดมีการประกาศแนวทางจากกลุ่มแพทย์ ในประเทศเช่นแคนาดาเองก็พยายามส่งเสริมการเลี้ยงดูเด็กโดยไม่ต้องตี มีแคมเปญเช่น การตีเจ็บกว่าที่คุณคิด (Spanking hurts more than you think) และบอกกับผู้ปกครองว่าให้หาวิธีการสร้างวินัยในเชิงบวก
แง่หนึ่งเมื่อวิทยาการของเราพัฒนาขึ้น เราเริ่มเข้าใจความซับซ้อนและความเปราะบางของมนุษย์ไปจนถึงพัฒนาการที่ก่อตัวขึ้นของเด็กๆ เราเข้าใจว่าประสบการณ์วัยเด็กเป็นพื้นที่สำคัญในการหล่อหลอมตัวตนในวัยผู้ใหญ่ ดังนั้นคำว่ารักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี แนวคิดที่มองว่าเด็กควรจะต้องถูกกำกับด้วยความรุนแรงอาจเป็นแนวคิดที่แบนราบ อย่างน้อยๆ เด็กน้อยก็ไม่น่าจะใช่วัว และเราเองก็ไม่ได้คาดหวังให้เด็กโตขึ้นมาแล้วมีศักยภาพเท่าๆ กับวัว หรือปศุสัตว์ เมื่อเราต้องดูแลสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อน เราก็อาจจะต้องใช้วิธีการที่ซับซ้อนด้วย
ความสำคัญอีกข้อคือ การที่เราจะลงมือกระทำโดยมีคำว่าความหวังดีเป็นที่ตั้ง ถ้าการกระทำนั้นเป็นเรื่องของการทำร้ายกัน การให้เหตุผลในการทำร้ายกันด้วยความหวังดีก็อาจจะไม่ค่อยดีเท่าไหร่
อ้างอิงข้อมูลจาก