กระทะเป็นเครื่องครัวที่เห็นกันอยู่ทุกวันตามบ้าน อาหารผัดทอดทั้งหลายก็มักจะต้องผ่านกระทะ ตอนนี้บ้านเราก็มีกระทะระดับเซเลบที่หรูหราระดับเคลือบด้วยหินอ่อนเงินหินอ่อนทองหลายๆ ชั้น แต่อนิจจาล่าสุด กระทะบรรดาศักดิ์หนึ่งแถมหนึ่งเหล่านี้กลับกำลังเผชิญหน้ากับ ‘วิกฤติศรัทธา’ โดนครหาตั้งแต่ว่า แกน่ะมันไม่ได้แพงจริง ซึ่งแบรนด์ก็บอกว่ามันคนละรุ่นจ้า เรื่อยมาจนถึงเหล่านักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์ที่ลงมาร่วมวง ขุด สับ เจาะ (จริงๆ นะ) เจ้ากระทะซูเปอร์สตาร์ เพื่อค้นหาว่าความหรูหราควรค่าที่ว่าน่ะมันจริงสมที่โฆษณา หรือชุบตัวมาได้หนาสมที่ประกาศไว้แค่ไหน
กระทะ – เครื่องใช้ที่เราประดิษฐ์ขึ้นเพื่อวางบนไฟ เป็นสิ่งที่เราใช้เพื่อปรุงอาหารต่างๆ ให้สุกและรับประทานได้ ดูเหมือนว่าหลังจากที่เราค้นพบไฟแล้ว กระทะก็เป็นอีกหนึ่งประดิษฐกรรมที่ทำให้เราศิวิไลซ์ขึ้น จากการเอาไม้เสียบเนื้อแล้วลนไฟ นำไปสู่ศิลปะการปรุงอาหารที่หลากหลายขึ้น แต่ก็นั่นแหละ พอมีกระทะแล้ว ก็เกิดปัญหาอาหารติดกระทะ มนุษย์เราก็ง่วนอยู่กับการแก้ปัญหาทั้งในการผลิตกระทะที่ใช้งานได้ ทนทาน และมีประสิทธิภาพ (หรือในอีกความหมายว่าทอดแล้วอาหารจะไม่ติด)
ประวัติศาสตร์ย่นย่อของกระทะ
ไม่มีกระทะจะผัดยังไง มนุษย์เรารู้จักใช้ไฟตั้งแต่ยุคหิน แต่กว่าที่จะสร้างอุปกรณ์ที่นำความร้อนได้ มนุษย์เราก็ต้องมีเทคโนโลยีในการผลิตโลหะก่อน ยุคเมโสโปเตเมียเป็นยุคที่มักอ้างอิงกันว่าเป็นสมัยที่มีกระทะใช้กันแล้ว ความก้าวหน้าสำคัญของยุคนี้คือเทคโนโลยีในการผลิตเครื่องใช้จากทองแดง(copper) ซึ่งแน่ล่ะ นอกจากสามารถเอาทองแดงมาผลิตเป็นอาวุธแล้ว ทองแดงที่ทนความร้อนย่อมสามารถเอามาใช้ปรุงอาหารในครัวเรือนได้
หลังจากยุคโลหะที่มนุษย์สามารถหลอมและตีโลหะมาใช้เป็นสิ่งต่างๆ ได้แล้ว พวกอารยธรรมโบราณก็มีกระทะเป็นของคู่ครัวมาโดยตลอด ในสมัยกรีกและโรมันโบราณก็มีกระทะใช้กันอย่างแพร่หลายแล้ว แต่ลักษณะของกระทะไม่ได้มีหูจับเหมือนสมัยนี้เพราะสมัยนั้นไม่มีเตาทำอาหาร กระทะโบราณจะเป็นเหมือนแผ่นเหล็กที่มีหูจับและขาสามขาเอาไว้วางบนถ่านหรือไฟร้อนๆ มีการค้นพบกระทะเก๋ๆ ของทหารโรมัน โคเรียคิงในสมัยนั้นอาจจะไม่เน้นการไม่ติดกระทะ แต่เน้นที่การพกพาสะดวก พาไปสนามรบได้ ดังนั้นจึงมีการพบซากกระทะที่หูจับสามารถพับได้
‘กระทะที่ไม่มีขา’ หรือกระทะที่หน้าตาแบบที่เราชินๆ คือกระทะก้นแบนมีหูจับจึงเป็นสิ่งที่มาหลังจากที่เตาทำอาหารแพร่หลายในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา
เจ้าแห่งกระทะที่ไม่ติดต้องปี 1954
พอมีเตาไฟแล้ว มีกระทะที่มาใช้กับเตาแล้ว โจทย์สำคัญต่อไปคือจะผลิตกระทะเคลือบที่ทนทานและกันติดได้ยังไง จากเทคโนโลยีในการผลิตโลหะมาสู่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเคมี บริษัท ทีฟาล (TEFAL) เป็นเจ้าแรกที่จดสิทธิบัตรกระทะเคลือบในปี 1954 ชื่อของทีฟาลมาจากคำสองคำคือเทฟลอน (Teflon) กับอลูมิเนียม (Aluminium)
ทางทีฟาลบอกว่า จริงๆ แล้วการค้นพบสูตรสารเคลือบกันติดที่เอามาใช้ในอุปกรณ์ทำอาหารเป็นการค้นพบโดยบังเอิญ คือตอนแรกเทฟลอนเป็นสิ่งที่ Marc Grégoire วิศวกรที่หน่วยวิจัยทางยานอวกาศชาวฝรั่งเศสใช้เทฟล่อนเพื่อทำให้ของที่หล่อจากแม่พิมพ์ไฟเบอร์กลาสไม่ติดพิมพ์ การใช้ดังกล่าวดันไปรู้ถึงหูภรรยาพี่แกเข้า เมียแกเลยบอกว่า ทำไมเธอไม่เอาไอ้เทฟลอนอันนี้ไปเคลือบบนอลูมิเนียมเพื่อทำเครื่องครัวและกระทะที่อาหารจะไม่ติดดูสิ
กระทะขึ้นชื่อในสมัยโรมัน
ไม่ต้องเคลือบหินอ่อนเงินหินอ่อนทอง หรือเทฟล่อน 2,000 ปีก่อนหน้านี้ในโรมันโบราณก็มีแหล่งผลิตและกระทะที่เคลือบเพื่อป้องกันอาหารติด ทำกันเป็นโรงงาน อารมณ์ประมาณซื้อครกหินต้องอ่างศิลา
กระทะและอุปกรณ์การปรุงอาหารในสมัยนั้นใช้เครื่องปั้นดินเผา อารมณ์ประมาณหม้อดินเผาบ้านเรา ในตำราอาหารชื่อ De Re Coquinaria มีการพูดถึงกระทะประเภทหนึ่งชื่อ Cumanae testae หรือ Cumanae patellae แปลได้ว่ากระทะจากเมือง Cumae ในตำราอาหารบอกว่า ถ้าจะทำสตูว์ไก่เนี่ยนะ ต้องใช้กระทะจากเมืองนี้เท่านั้นถึงจะออกรส
เจ้ากระทะวิเศษจากนคร Cumae ก็มีความปริศนามาจนกระทั่งปี 1975 จนกระทั่งนักโบราณคดีชื่อ Giuseppe Pucci ออกมาเสนอว่าเจ้ากระทะเนี่ยมันคือศิลปะการผลิตเครื่องปั้นแบบชาวปอมเปอี ซึ่งจะโดดเด่นที่การเคลือบภายในภาชนะด้วยสีแดงที่มีลักษณะป้องกันการติด อารมณ์แบบโคเรียคิง นักวิชาการบอกว่าการเคลือบสารสีแดงอย่างหนาที่ทำให้อาหารไม่ติดทำให้กระทะนี้เหมาะอย่างยิ่งในการปรุงอาหารจำพวกเนื้อสัตว์
หลังจากข้อสันนิษฐานของ Giuseppe นักโบราณคดีจาก University of Naples ก็ไปขุดพบสถานที่ที่เหมือนโรงงานผลิตเครื่องครัวเคลือบสีแดงที่ว่าในเมือง Cumae แถมยังพบซากหม้อซากไหที่เคลือบสีแดงในพื้นที่อีกจำนวนกว่า 50,000 ชิ้น
จากกระทะเคลือบ 7 ชั้น ไปสู่กระทะดินเผาเคลือบสีแดงในยุคสองพันปีก่อน เจ้าเครื่องครัวเล็กๆ ดูจะเป็นอีกหนึ่งผลผลิตและเครื่องมือสำคัญที่มนุษย์เราสร้างสรรค์พัฒนาขึ้น และแน่ล่ะเจ้ากระทะต่างๆ นี้ก็เป็นส่วนหนี่งที่ทำให้ศิลปะและวัฒนธรรมของเรางอกงามต่อไป
เหมือนเช่นในสองพันปีก่อน ที่สตูว์ดีต้องทำจากกระทะสีแดง