เห็นประกาศภาคใหม่ของการ์ตูนดิสนีย์ที่เคยชอบในวัยเด็กก็ตื่นเต้นขึ้นมา หรือฟังเพลงโปรดสมัยวัยรุ่นทีไรก็รู้สึกเหมือนถูกปลอบประโลมจิตใจ อยากกลับไปเป็นเด็กอีกครั้งจัง
เราโตเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวตอนไหน ไม่มีใครตอบได้ อาจจะเป็นตอนที่เปลี่ยนจากการใช้ดินสอไปเป็นปากกา หรือตอนเปลี่ยนน้ำจิ้มข้าวมันไก่จากน้ำจิ้มหวานเป็นน้ำจิ้มเผ็ด ไม่แน่ก็เป็นตอนก้าวสู่โลกแห่งการทำงานครั้งแรก บางทีก็อาจจะเป็นตอนที่มีความมั่นคงทางการเงิน คำตอบนั้นหลากหลายไปตามบริบทของชีวิตแต่ละคน
การโตเป็นผู้ใหญ่นั้นหนักเกินจะรับไหว
จากงานวิจัย ผู้คนส่วนใหญ่บอกว่าปัจจุบันพวกเขาไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่สักนิด จนกว่าจะถึงช่วงอายุ 29 ปี โดยการซื้อบ้าน แต่งงาน มีลูก ทำประกันชีวิต และรับเงินบำนาญ ทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองเหมือนผู้ใหญ่ ในขณะที่การอยู่บ้านของพ่อแม่ การพึ่งพาพ่อแม่ในเรื่องการเงิน เกมคอมพิวเตอร์ ภาพยนตร์สำหรับเด็ก และการ์ตูน ทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองเหมือนเด็ก
ในยุคที่ภาระหน้าที่ต่างๆ ทำให้เราเติบโตได้ช้าลง กว่าเราจะเรียนจบมหาวิทยาลัยก็ใกล้จะวัยยี่สิบกลางแล้ว ยังต้องตะเกียกตะกายหางานทำในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำอย่างต่อเนื่องอีก กว่าจะเติบโตในสายงาน ไม่รู้ว่าตอนนั้นจะอายุเท่าไหร่ ตัดภาพไปที่รุ่นพ่อแม่ของเรา ที่พออายุช่วงยี่สิบกลางก็มีทุกสิ่งพร้อมใช้ชีวิต
เมื่อการเติบโตเป็นผู้ใหญ่นั้นยากเหลือเกิน หลายคนก็อยากย้อนกลับไปเป็นเด็ก ดั่งคำพูดที่ว่า “ตอนเป็นเด็ก เจ็บที่สุดก็แค่หกล้ม” เพราะไม่มีเรื่องการเงินให้ต้องเครียด ไม่ต้องทะเลาะกับเพื่อนร่วมงานทุกวัน ไม่ต้องรู้สึกโดดเดี่ยวยามที่ปัญหาถาโถมมา ไม่ต้องแบกความหวังที่ทุกคนเอามาฝากไว้ การเป็นผู้ใหญ่มันเจ็บอะไรขนาดนี้
สิ่งที่เคยชอบในวัยเด็ก จะกลายเป็นที่พักใจที่ดีที่สุด
การนึกย้อนกลับไปในช่วงเวลาที่เราเป็นเด็กไม่ใช่แค่ความทรงจำ แต่เป็นความรู้สึกที่ฝังรากลึกลงในใจของเรา เราไม่ได้จดจำแค่เหตุการณ์ แต่เราฝังความรู้สึกลงในเหตุการณ์บางอย่างในอดีต เราฝังความรู้สึกมีความสุขที่เกิดขึ้นเวลาใส่แผ่นดีวีดีการ์ตูนเรื่องโปรดเข้าไปในเครื่อง เราฝังความรู้สึกอบอุ่นใจเวลาที่แม่ทำอาหารจานโปรดมาปลอบใจเราหลังจากที่เราหกล้มเข่าถลอก
บางครั้งเราก็ฝังมันเอาไว้ในสิ่งของจิปาถะ สถานที่ หรือแม้แต่กลิ่น เราฝากชิ้นส่วนของตัวเราเอาไว้ในสิ่งรอบตัวของเราอยู่เสมอ และเมื่อเวลาผ่านไป สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นความทรงจำที่อยู่ในใจให้เราหวนนึกขึ้นมา ตามหลักแล้ว การหวนนึกถึงวัยเด็กนั้นจะสร้างทั้งอารมณ์ด้านบวกและอารมณ์ด้านลบ ทั้งมีความสุข ความรู้สึกเชื่อมโยงกับผู้คน ความรู้สึกขอบคุณ ความหวัง แต่ก็สร้างความรู้สึกเหงา ความรู้สึกสูญเสียได้เช่นกัน จะพูดว่ามันเป็นความหวานปนขมก็ไม่ผิดนัก แต่ความหวานนั้นจะกลบความขมจนเราแทบไม่ค่อยรู้สึก
นั่นเป็นคำตอบว่าทำไมเราย้อนดูการ์ตูนเก่า เล่นเกมเก่า หรือดูสื่อบันเทิงที่ทำให้นึกถึงยุคที่เราเติบโตมา เพราะว่าสิ่งเหล่านั้นมีผลกับใจของเรา ในสหรัฐฯ หนุ่มสาวมิลเลนเนียลไม่เขินที่จะนั่งดู Disney Channel ในช่วงดึก ที่ทางช่องหยิบเอาซิทคอมเก่ามารีรันอีกครั้ง แม้แต่ผู้บริหารของ Nickelodeon ยังคิดทบทวนเรื่องการนำการ์ตูนเก่ากลับมาฉายด้วย
ยิ่งเป็นเพลงโปรดในความทรงจำ ยิ่งมีพลัง
แม้ว่าจะมีเพลงใหม่ออกมาเยอะแค่ไหน เราก็ยังมีเพลงโปรด (ซึ่งมักจะเป็นเพลงในช่วงที่เราเป็นเด็กหรือวัยรุ่น) ครองพื้นที่พิเศษในใจ แบบไม่มีเพลงใหม่เพลงไหนมาแทนที่ได้อยู่เสมอ
จากการทดลองหลายต่อหลายครั้ง นักวิจัยได้ค้นพบว่าผู้เข้าทดลองส่วนใหญ่มักบอกว่าตัวเองรู้สึกดีเมื่อได้ฟังเพลงที่เคยฟังมาก่อน และคะแนนที่มีให้เพลงที่ได้ฟังจะยิ่งสูงขึ้นเมื่อเพลงนั้นไปกระตุ้นความทรงจำบางอย่างในอดีต ทำให้พวกเขาอารมณ์ดีขึ้น ในทางวิทยาศาสตร์เป็นเพราะศูนย์อารมณ์ของสมองจะทำงานมากขึ้นเมื่อได้ฟังเพลงที่คุ้นเคย
การทดลองของ Tilburg University ในเนเธอร์แลนด์พบว่าการฟังเพลงที่คุ้นเคย ไม่ใช่แค่ทำให้เรารู้สึกถึงความอบอุ่นในอดีตเท่านั้น แต่ทำให้ร่างกายเราอบอุ่นขึ้นได้จริง ส่วนการทดลองของ North Dakota State University ที่ทดลองกับชาวอังกฤษ ชาวดัชต์ และชาวอเมริกัน ด้วยการเปิดเพลงฮิตในอดีต และให้ผู้เข้าทดลองอ่านเนื้อเพลง หลังจากนั้น ผู้เข้าทดลองล้วนพูดตรงกันว่าพวกเขารู้สึก ‘ได้รับความรัก’และรู้สึก ‘ชีวิตมีคุณค่า’ ขึ้นมาหลังจากได้ฟังเพลงและอ่านเนื้อเพลง
จากการทดลองนั้นสรุปได้ว่า การหวนนึกถึงเรื่องราวในอดีต หรือเรื่องราวในตอนเด็ก ทำให้เรารู้สึกถึงการมีชีวิตอยู่ มันทำให้เรารู้สึกมีคุณค่า มีความหมาย และยังมีงานวิจัยอื่นที่แสดงให้เห็นว่าคนที่หวนระลึกถึงอดีตบ่อยจะมีความสามารถในการรับมือกับความตายได้ดีมากขึ้นด้วย
เรื่องราวในอดีต ทำงานอย่างไรกับใจเรา
นอกจากการหวนนึกถึงอดีตจะทำให้เรารู้สึกมีคุณค่ามากขึ้น เรายังจัดการกับเรื่องราวในชีวิตได้ดีขึ้นอีกด้วย เมื่อเรากลับไปสัมผัสกับความทรงจำเก่าๆ ที่มีความหมาย เราจะสามารถจัดลำดับเรื่องราวในชีวิตได้ดียิ่งขึ้น
จากการทดลองอีกชิ้นหนึ่งที่ให้ผู้เข้าทดลองใช้เวลาในการเขียนถึงความทรงจำในอดีต ทำให้พวกเขารู้สึกเปิดกว้าง และรู้สึกมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น ดังนั้นการหวนนึกถึงอดีตทำให้ผู้คนมีแรงบันดาลใจที่ผลิตชิ้นงาน (ที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์) อย่างมีคุณภาพมากขึ้นด้วย
ประโยชน์ของการนึกถึงเรื่องเก่าๆ นั้นแตกต่างกันไปตามอายุ นักจิตวิทยาของ University of Surrey พบว่าการนึกถึงเรื่องเก่าจะเกิดขึ้นบ่อยในหมู่คนหนุ่มสาว จากนั้นลดลงในวัยกลางคน และเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงวัยชรา เธอกล่าวว่าการหวนระลึกจะช่วยให้เรารับมือกับความเปลี่ยนแปลงในชีวิตได้ดีขึ้น ซึ่งคนหนุ่มสาวมักพบกับความเปลี่ยนแปลงบ่อย ไม่ว่าจะเป็นการย้ายไปอยู่ไกลบ้าน เริ่มงานใหม่ เปลี่ยนงาน พวกเขาก็จะหวนระลึกถึงเรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้นที่บ้าน สัตว์เลี้ยงของพวกเขา และเพื่อนเก่าๆ อยู่เสมอ
ทุกคนคงมีความทรงจำพิเศษ เพลงพิเศษ และหนังเรื่องพิเศษที่อยู่ลึกๆ ในใจ ไม่ว่านึกถึงขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ช่วยให้วันแย่ๆ มันหม่นหมองน้อยลงใช่ไหมล่ะ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Krittaporn Tochan