เรื่องหนึ่งที่เรามักเห็นเป็นเรื่องปกติไปแล้วก็คือ ในคำว่า ‘การเมือง’ จะมีคำว่า ‘สมัครพรรคพวก’ หรือคำว่า ‘เพื่อน’ เกลื่อนไปหมด
คุณคิดว่า คนที่เอาของแพงๆ ราคาเป็นสิบๆ ล้านบาท (เช่น – นาฬิกา) ให้ ‘เพื่อน’ สักคนหนึ่งยืม เป็นเพราะเขาเห็น ‘คุณค่าของความเป็นเพื่อน’ ในตัวของอีกคนหนึ่งล้วนๆ โดยไม่มีอย่างอื่นมาเจือปนด้วยกระนั้นหรือ?
ในด้านหนึ่งก็อาจเป็นได้ ถ้าหากความรักใคร่เสน่หานั้นรุนแรงมาก หรือเคยมีเรื่อง ‘ต่างตอบแทน’ กันมามากในอดีต แต่ในอีกด้านหนึ่งก็พึงพิจารณาด้วยว่า การหยิบยืมนั้นสำเร็จขึ้นมาได้ เป็นเพราะมีการพิจารณา ‘ฐานานุรูป’ (หรือสถานภาพ) ของผู้ที่ได้รับการยืมนั้นประกอบกับ ‘ความเป็นเพื่อน’ ด้วยหรือเปล่า
เอาเข้าจริง ระบบอุปภัมภ์ทั้งปวงในโลก ล้วนมีรากฐานกำเนิดมาจากสิ่งที่เรียกว่า ‘เพื่อน’ หรือ ‘สมัครพรรคพวก’ นี่แหละครับ เพราะเราคงไม่อุปถัมภ์ใคร ถ้าเราไม่รู้สึกว่าคนคนนั้นอยู่ใน ‘วงใน’ ของเรา ความรู้สึก ‘เป็นของกันและกัน’ (Sense of Belonging) เป็นสิ่งสำคัญต่อการยึดโยงกลุ่มก้อนหนึ่งๆ เอาไว้เพื่อประชันขันแข่งในเชิงอำนาจกับกลุ่มก้อนอื่นๆ ยิ่งความเป็นกลุ่มก้อนนั้นแน่นหนามากเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องเปิดโอกาสให้การขันเกลียวความสัมพันธ์แบบแน่นหนายิ่งขึ้นเท่านั้น เราจะเห็นว่าในวงการมาเฟียอย่างในภาพยนตร์เรื่อง The Godfather นั้น ความสัมพันธ์เหนือความเป็นสมัครพรรคพวกขึ้นไปอีกจนกระทั่งกลายเป็น ‘ครอบครัวเดียวกัน’ ไปเลย
ความเป็นครอบครัวนี่บางทีก็ดีบางทีก็น่ากลัวนะครับ เพราะคนที่ตั้งตัวเป็นพวก Godfather ของคนอื่นนี่ นอกจากจะต้องเป็นผู้ออกแบบโครงสร้างของ ‘ครอบครัว’ (เช่น แก๊งมาเฟีย กลุ่มธุรกิจ ซึ่งพูดได้อีกอย่างหนึ่งว่าเป็นการ ‘ออกแบบสถาบัน’ ของตัวเอง) หลายคนยังชอบยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือลูกน้อง ด้วยการ ‘ออกแบบชีวิต’ ให้คนเหล่านี้อีก (เช่น จัดการแต่งงานให้ลูกน้อง เป็นต้น) จนลูกน้องหลายคนคิดว่าชีวิตของตัวเองเป็นของหัวหน้าแก๊งไปเลย
แต่คำถามก็คือ เอ๊ะ! พอเป็นแบบนี้ ‘ความเป็นสมัครพรรคเพื่อน’ หรือ ‘มิตรภาพ’ (Friendship) มันจะไม่ขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตยหรอกหรือ?
หลายคนบอกว่า การพิจารณาคุณค่าของประชาธิปไตยในสังคมหนึ่งๆ ว่าดีหรือไม่ดี ต้องไปดูที่เสรีภาพสื่อ ว่ามีมากน้อยแค่ไหน บางคนก็บอกว่าต้องไปดูคุณภาพของนักการเมืองในสังคมนั้นๆ ว่ามีหลักการขันแข็งมั่นคงเพียงใด ในบางสังคมก็วัดความแข็งแรงของประชาธิปไตยจากการดูว่าประชาชนมีความสุขแค่ไหน
แต่กระนั้น ก็มี ‘คำถามเชิงปรัชญา’ มาตั้งแต่กรีกและโรมันโบราณแล้วนะครับ ว่าคำว่า ‘เพื่อน’ กับคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ มันไปด้วยกันได้จริงหรือ
คำถามนี้อาจฟังดูประหลาดๆ หน่อย เพราะในหลักการประชาธิปไตยแบบฝรั่งเศส มันมีคำว่า ‘ภราดรภาพ’ หรือ Brotherhood อยู่ด้วย เมื่อมีภราดรภาพ ก็แปลว่าต้องมีความเป็นเพื่อนอยู่ด้วย เรื่องนี้ มาร์ค เวอร์นอน (Mark Vernon) ผู้เขียนหนังสือ The Philosophy of Friendship ชวนเรามาพิจารณากันอย่างเข้มข้น
เขาบอกว่า หลักการประชาธิปไตยที่สำคัญกว่าภราดรภาพ ก็คือความเท่าเทียม (หรือ Egalitarian Principle) ซึ่งหมายความว่า ประชาธิปไตยจะมองทุกคนในโลกนี้เสมอภาคเท่าเทียมกันหมด ไม่ว่าจะเป็นใครหน้าไหนก็ตาม (โดยเฉพาะความเท่าเทียมในการออกเสียงเลือกตั้ง)
แต่ถ้าเป็น ‘เพื่อน’ ของเราล่ะ?
หลายคนคงรู้จักการทดลองทางความคิดที่เรียกว่า Trolley Problem นะครับ มันคือการลองให้เราสมมติบทบาทว่าเราเป็นคนควบคุมรถรางคันหนึ่งให้แล่นไปตามทาง ถ้ารถรางแล่นไปตรงๆ มันจะชนคนห้าคน แต่ถ้าเราสับราง มันจะชนคนเพียงคนเดียว คำถามก็คือเราจะสับรางไหม (โดยมี Variation ของ Trolley Problem ไปอีกต่างๆ นานานะครับ)
คนจำนวนมากเลือกสับรางไปชนคนคนเดียว จะได้รักษาห้าชีวิตเอาไว้ แต่ถ้าเปลี่ยนโจทย์ไปเป็นว่า คนคนเดียวนั้นเป็นเพื่อนพ้องพี่น้องหรือพ่อแม่ของเรา (หรือแม้กระทั่งเป็นคนที่นับถือศาสนาเดียวกับเรา แต่อีกห้าคนเป็นใครก็ไม่รู้) พบว่าคนจำนวนมากจะเลือกชนคนห้าคนเพื่อ ‘เก็บ’ คนที่เรารู้จักหรือสามารถ identify ตัวเองกับคนคนนั้นได้มากกว่า
คำถามก็คือ – นี่เป็นประชาธิปไตยไหม?
หลายคนอาจคิดว่า มิตรภาพน่าจะเป็น ‘ผลพลอยได้’ ของความเป็นประชาธิปไตย เพราะเมื่อโลกเท่าเทียมกัน ก็น่าจะแลดูสวยงามสดใส เดินไปทางไหนมีแต่เพื่อนมิตรเต็มไปหมด แต่ในความเป็นจริงแล้ว มาร์ค เวอร์นอน บอกว่า ประชาธิปไตยจะปฏิบัติต่อประชาชนทุกคนแบบเดียวกันหมด ทุกคนจะ ‘เท่าเทียมกัน’ ในสายตาของกฎหมาย และมีสิทธิที่เหมือนกันหมดทุกอย่าง โดยเฉพาะสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง
แม้แต่คำว่า ‘สิทธิมนุษยชน’ ก็เหมือนกัน แง่มุมหนึ่งของสิทธิมนุษยชนก็คือการมองคนทุกคนเป็น ‘มนุษย์’ ที่มีความเท่าเทียมเสมอภาคกันเสมอ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ดังนั้น คุณค่าแบบประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนจึงเป็นคุณค่าสากล ทำให้เป็นที่ยอมรับของคนทั้งโลก
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ‘มิตรภาพ’ ก็เป็นคุณค่าสากลอีกอย่างหนึ่งที่คนทั้งโลกยอมรับเหมือนกัน เราอยู่ไม่ได้หรอกถ้าไม่มีเพื่อนที่คอยรับฟังเรา ปรับทุกข์กัน เที่ยวด้วยกัน มีสุขมีทุกข์ด้วยกัน ฝ่าฟันนั่นนี่กันมา แต่การยอมรับว่าใครคนหนึ่งเป็นเพื่อน การบอกว่า ‘เธอคือเพื่อนของฉัน’ ย่อมเท่ากับการ ‘ยก’ คนคนนั้น (ในสายตาของเรา) ให้ ‘เหนือ’ กว่าคนคนอื่น คือทำให้คนคนนั้นมีคุณค่าเหนือกว่าคนอื่นๆ ในสังคม
ดังนั้น เราจึงสามารถทำ ‘บางอย่าง’ ให้กับเพื่อน ในแบบที่มากกว่าทำให้คนอื่นๆ ในสังคมเดียวกันได้ ยิ่งถ้าความสัมพันธ์นั้นเหนือไปกว่าเพื่อนอีก เช่นอยู่ร่วมแก๊งก๊วนเดียวกัน ผูกพันกันมาตั้งแต่เรียนประถมมัธยม เปรี้ยวอมหวานผ่านมาด้วยกัน ก็ย่อมให้ของแพงๆ กันยืมได้ไม่ยาก (ไม่ใช่แค่นาฬิกาด้วยนะครับ) และในทางกลับกัน อีกฝ่ายก็สามารถ ‘มอบมิตรภาพ’ กลับคืนไปให้ได้ด้วยวิธี ทรัพยากร และอำนาจต่างๆ เท่าที่ตนมีอยู่
ในแง่หนึ่ง มิตรภาพจึงเป็นเครื่องมือหล่อเลี้ยงความสัมพันธ์บางอย่างที่ ‘เหนือ’ กว่าความสัมพันธ์ของคนอื่นๆ ในสังคม แต่ปัญหาก็คือถ้าหากคนท่ีเป็นเจ้าของความสัมพันธ์พวกนั้นได้รับ ‘อำนาจ’ ขึ้นมา พวกเขาจะเลือกหล่อเลี้ยงและสถาปนาความสัมพันธ์นั้นๆ ให้อยู่เหนือความสัมพันธ์ของคนอื่นๆ ในสังคมต่อไปหรือเปล่า หรือเขาต้องเลือกต่อรองหรือสละบางส่วนของความสัมพันธ์แบบเพื่อนเดิม เพื่อค้ำจุนและสร้างคุณค่าใหม่ในแบบประชาธิปไตยขึ้นมา
ที่จริง – ต้องถามว่า, คนที่มีอำนาจทั้งหลายในสังคมไทย เคยคิดที่จะถามคำถามนี้ขึ้นมาหรือเปล่าด้วยซ้ำ เพราะเท่าที่เห็น เราจะพบว่าคนจำนวนมากมีอำนาจขึ้นมาได้ก็เพราะฟูมฟักตัวเองอยู่ในกลุ่มความสัมพันธ์แบบนี้นี่แหละ ดังนั้น คำถามเหล่านี้จึงยากจะผุดเกิดขึ้นมาได้
มาร์ค เวอร์นอน บอกว่า ประชาธิปไตยนั้นมอง ‘มิตรภาพ’ ด้วยสายตาที่ก้ำๆ กึ่งๆ อยู่ไม่น้อย เพราะระบบสังคมสมัยใหม่บอกว่าเราต้องแยกชีวิตออกเป็นสองส่วน อย่างแรกคือ ‘ชีวิตส่วนตัว’ (Private Life) กับอีกอย่างคือ ‘ชีวิตสาธารณะ’ (Public Life)
มิตรภาพนั้นสำคัญ เพราะมันหล่อเลี้ยง Private Life ของเราอยู่ลึกๆ เพื่อนคือสิ่งมีชีวิตที่อยู่ใกล้ตัวเรา หล่อหลอมขึ้นรูปเรา เพื่อนจึงเป็นจักรกลสำคัญที่ทำงานกับเรามาตั้งแต่วัยเด็ก แต่ถ้าหากเราจะต้องมารับบทบาทสำคัญใน ‘ชีวิตสาธารณะ’ เช่น มามีอำนาจทางการปกครองต่างๆ เราก็ต้องรู้จัก ‘เติบโต’ เลยพ้นจากการถูกกักอยู่เฉพาะใน Private Life ไม่เอา Private Life มาปะปนกับ Public Life
ปัญหานี้แข็งตัวแนบแน่นอยู่กับบางวงการ บางสถาบัน บางอาชีพ โดยเฉพาะอาชีพที่เข้าไปเรียนตั้งแต่ระดับมัธยม ร่ำเรียนอยู่กับเพื่อนกลุ่มเดียวกันมาจนจบระดับอุดมศึกษา แล้วก็ทำงานร่วมกันมาตลอดชีวิตจนเกษียณอายุ พูดได้ว่าพบปะเจอะเจอแต่คนหน้าเดิมกลุ่มเดิมมาจนตลอดชีวิตเหมือนไม่เคยได้ออกจากโรงเรียนเลย ความเป็นเพื่อนจึงยิ่งฝังแน่นอยู่ในนั้นจนไม่อาจถ่ายถอนออกมาได้ ซึ่งถ้าหากว่าในบั้นปลายไม่ได้มามีอำนาจอะไรก็คงไม่กระไร เพราะสามารถฝังตัวอยู่ใน Private Life ไปจนตายได้ แต่ถ้าหากต้องมามีอำนาจ โดยเฉพาะบางสถาบันที่อยู่แต่กับเพื่อนกลุ่มเดิมมาตลอดอย่างเช่นสถาบันทหาร แล้วก้าวข้ามเรื่องทำนองนี้ไม่ได้ ก็จะเกิดปัญหาเรื่องสมัครพรรคเพื่อนให้เกลื่อนไปหมด (ซึ่งความสัมพันธ์ในหมู่เพื่อนทหารด้วยกันอาจแนบแน่นกว่าคนกลุ่มอื่นๆ ด้วยซ้ำ เพราะร่วมรบร่วมเป็นร่วมตายมาด้วยกัน) จึงอาจ ก่อให้เกิดภาวะที่ในทางปรัชญาเรียกว่า Nepotism ขึ้นมาได้
อีกความขัดแย้งหนึ่งระหว่างประชาธิปไตยกับมิตรภาพ ก็คือปัญหาเรื่อง ‘ความยุติธรรม’
ถ้าเรายังคงใช้การเปรียบเปรยเรื่อง Trolley Problem อยู่ เราก็จะเห็นได้ชัด เพราะหลายคนอาจเกิดคำถามขึ้นเมื่อคนอื่นเลือกช่วยเพื่อนของตัวเองแต่ปล่อยให้คนตายถึงห้าคนว่า – แล้ว ‘ความยุติธรรม’ มันคืออะไรกันแน่
อริสโตเติลบอกว่า ความยุติธรรมคือ Failed Friendship หรือเป็น ‘มิตรภาพที่ล้มเหลว’ เขาอธิบายว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่คนเราต้องหันหน้าไปพึ่งศาลหรือคนอื่นให้ตัดสินพิพากษาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ก็แปลว่าเราไม่เหลือมิตรภาพกับคู่กรณีของเราอีกแล้ว Friendship จึง Failed และที่จริงแล้ว โดยตัวกระบวนการยุติธรรมเอง ก็ต้อง ‘มองข้าม’ เส้นสนกลในหรือความสัมพันธ์ต่างๆ ด้วย ผู้พิพากษาจะมารับโทรศัพท์จากทนายความที่เป็นเพื่อนเก่าร่วมเรียนกันมา แล้วมากระซิบว่า – ขอนะๆ อะไรแบบนี้ไม่ได้เด็ดขาด ดังนั้น Failed Friendship จึงไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับคู่กรณีเท่านั้น แต่ยังต้องเกิดขึ้นกับกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดด้วย คือ ‘มองข้าม’ ความสัมพันธ์ที่เกิดจาก Private Life ไปให้ได้ ไม่อย่างนั้นก็จะไม่อาจบรรลุถึงสิ่งที่เรียกกันว่า ‘ความยุติธรรม’ ได้จริง
สำหรับอริสโตเติล ความยุติธรรมในความหมายนี้จึงเป็น ‘ความดีในทางปฏิบัติ’ (Pragmatic Good) แต่ไม่ได้เป็น ‘ความดีสัมบูรณ์’ (Absolute Good) เพราะมันไม่ได้ดีไปเสียทั้งหมดในทุกมิติ แต่เป็นความดีที่จะช่วยจรรโลงสังคมได้ แม้ว่าจะต้องมีคนเจ็บปวดอยู่ด้วย คือความอยุติธรรมนั้นเจ็บปวดแน่ๆ แต่ต่อให้เกิดความยุติธรรมขึ้นมาจริงๆ ก็ยังต้องมีคนเจ็บปวดอยู่ดี (อย่างน้อยก็ตัวผู้พิพากษาเองนั่นแหละครับ) อริสโตเติลยังบอกด้วยว่า แต่ถ้าผู้คนมีความเป็นอยู่ที่ดี ความขัดแย้งมีน้อยหรือไม่มีเลย ตัวความยุติธรรมก็จะได้รับการเกลี่ยกระจายไปอยู่กับคนทั้งหลาย ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ ความยุติธรรมก็สามารถ ‘ผนึกแน่น’ อยู่กับมิตรภาพได้
แต่สำหรับประชาธิปไตย ความยุติธรรมไม่ใช่แค่ Pragmatic Good เท่านั้น ทว่าประชาธิปไตยต้องการให้ความยุติธรรมเป็น Absolute Good ด้วย มันคือสิ่งที่จะต้องสร้างขึ้นมาให้ได้ และต้องทำให้สำเร็จให้ได้ในทุกภาคส่วนของสังคม ดังนั้น ประชาธิปไตยจึงระแวงสงสัยมิตรภาพอีกนั่นแหละ มีคนบอกว่า สังคมประชาธิปไตยที่มีวุฒิภาวะที่สุด จะต้องเป็นสังคมแบบนิติรัฐ (หรือมีลักษณะ Highly Litigious) ซึ่งตัดสินทุกอย่างตามกฎหมาย เราจะเห็นว่าในสังคมแบบนั้น เรื่องประเภท ‘ศาลเตี้ย’ หรือการรุมประชาทัณฑ์ตามอำเภอน้ำใจของกลุ่มคนที่ผูกพันกันด้วยมิตรภาพหรือความเป็นครอบครัวท้องถิ่นบางอย่าง – จะปรากฏให้เห็นน้อยมาก
มาร์ค เวอร์นอน ถึงกับบอกว่า A litigious culture is one in which friendships struggle to thrive เลยทีเดียว ซึ่งเอาเข้าจริง ก็ย้อนกลับไปมีความหมายคล้ายคลึงกับที่อริสโตเติลบอกว่า ความยุติธรรมคือ Failed Friendship นั่นแหละครับ
สำหรับในไทย ช่วงนี้เราคงเห็นปรากฏการณ์ ‘ดูด’ กันเยอะมาก การดูดที่ว่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยเงินอย่างเดียวนะครับ แต่มันเกิดขึ้นเพราะสายสัมพันธ์ซับซ้อนหลายอย่าง ซึ่งแม้บางคนจะเรียกมันว่าระบบอุปถัมภ์ แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปถึงรากแล้ว เราจะพบว่าเป็น ‘ความเป็นเพื่อน’ นี่แหละ – ที่เป็นฐานสำคัญอย่างหนึ่งของปัญหาทั้งปวง เพราะความเป็นเพื่อน จึงเกิดการลากดึงกันไปสู่เป้าหมายที่คิดว่าดี โดยไม่เคยสงสัยในตัวเองเลยว่ากำลังเป็นเหมือนลูกแกะโง่ๆ ที่กำลังหลงทางอยู่หรือเปล่า
ช่วงนี้จึงเป็นช่วงน่าสนุก ที่เราจะได้ค่อยๆ จับตาดูความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ประชาธิปไตย’ กับ ‘ความเป็นเพื่อน’ ของผู้คนในแวดวงการเมือง ได้เห็นการต่อสู้ต่อรองของสำนึกแบบ Private Life ที่ดิ้นไม่หลุดสลัดไม่ขาดจาก Public Life ได้เห็นการต่อสู้ต่อรองระหว่างการแสร้งรังสรรรค์ Pragmatic Good ที่ไม่แม้แต่จะพยายามไปให้ถึงคุณค่าแบบ Absolute Good
เพลโตบอกว่า เพื่อนที่ดีที่สุด คือผู้ที่เป็น ‘นักแสวงหาความจริง’ (Truth Seekers) ที่เดินทางไปร่วมกัน
คำถามก็คือ ในสังคมประชาธิปไตยไทย – ประชาชนทั่วไปมี ‘เพื่อน’ ในแบบที่เพลโตว่าอยู่บ้างหรือยัง