(1)
ดูเหมือนว่า ‘fake news’ จะเป็นวาระและทิศทางสำคัญที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้รัฐบาลชุดนี้ ประกาศอย่างหนักแน่นว่าจะทำสงครามด้วย รวมถึงจะกำจัดให้สิ้นซากให้ได้ โดยใช้เครื่องมือที่เข้มข้น ทั้งการสร้างเว็บตรวจสอบ ‘ศูนย์ตรวจข่าวปลอม’ http://antifakenewscenter.com ที่เพิ่งเปิดขึ้นเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว และการใช้มาตรการทางกฎหมาย ด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จัดการกับผู้ที่ปล่อยข่าวปลอม
ที่ผ่านมา มีผู้ที่ตั้งข้อสังเกต ‘นิยาม’ ของข่าวปลอมมามากแล้ว ว่าคืออะไร และแบบไหน ถึงจะเรียกข่าวปลอม ขณะเดียวกัน ก็สาธยายวิธีตรวจสอบข่าวปลอมแบบหยาบๆ เพื่อกระตุ้นให้บรรดาผู้รับสารทั่วโลกตื่นตัว ไม่ตกเป็นเหยื่อของการแชร์ข้อมูลผิดๆ
นอกจากนี้ บรรดาบริษัทโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ก็หวาดระแวงมากขึ้น ตั้งทีมมอนิเตอร์ใกล้ชิดขึ้น เพราะถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการแพร่กระจาย fake news จนทำให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง โดยเฉพาะพวก ‘ขวาตกขอบ’ ได้รับชัยชนะมาแล้วในหลายประเทศ
แน่นอน วิธีการดังกล่าวถูกส่งผ่านมายังประเทศไทย ทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง 24 มี.ค.ที่ผ่านมา นอกจาก fake news จะแพร่สะพัดแล้ว ยังกลายเป็นเครื่องมือใหม่ที่ทั้งผู้มีอำนาจรัฐ และฝ่ายตรงข้ามเรียกข่าวที่ตัวเองไม่ถูกใจ ไม่พอใจ ว่าเป็น fake news แม้ว่าข่าวนั้นจะยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ หรือข่าวนั้นจะมีมูลความจริงอยู่บ้างก็ตาม
คนที่เริ่มต้นวิธีการนี้ไม่ใช่ใครอื่น หากแต่เป็นผู้นำโลกเสรีอย่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ใช้คำว่า fake news ในการจำกัดเสรีภาพสื่อ ด้วยการกล่าวหาทุกเรื่องที่โจมตีเขาว่าเป็น fake news
นิยามของคำดังกล่าว กลายเป็นเรื่อง ‘การเมือง’ โดยสิ้นเชิง เพราะระยะหลัง fake news ไม่ได้เป็นเรื่องที่ fake โดยสมบูรณ์แบบ แต่ถูกปรุงแต่ง โดยการเอาข่าวเก่ามายำ พาดหัวให้หวือหวา เขียนด้วยสำนวนดุเดือด หรือใช้รูปที่ไม่เกี่ยวข้อง แต่เนื้อหากลับมีส่วนทั้งความจริงและไม่จริงผสมปนเปกัน นั่นแปลว่า คนทำ fake news ก็ปรับตัวเองให้ ‘เนียน’ มากขึ้น และมีวิวัฒนาการเกินกว่าที่ศูนย์ anti fake news ของรัฐจะปรับตัวได้ทัน
(2)
แล้วทั่วโลก กำลังพูดถึง fake news ว่าอย่างไร?
ปี ค.ศ. 2018 นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน และมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ระบุว่าผู้ที่อายุเกิน 60 ปี และเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม—สนับสนุนทรัมป์ มีความเป็นไปได้มากกว่าที่จะแชร์ข่าวลวง เมื่อเทียบกับผู้ที่สนับสนุนพรรคเดโมแครต ในการเลือกตั้งปี ค.ศ. 2016
ขณะเดียวกัน ในช่วง ‘หัวเลี้ยวหัวต่อ’ ในการชุมนุมต่อต้านจีนที่ฮ่องกง บรรดา fake news จากจีนแผ่นดินใหญ่ก็ทำงานกันอย่างแข็งขัน หลายแอคเคาท์ผุดขี้นมาในช่วงการชุมนุม ระบุว่ากลุ่มผู้ชุมนุม มีกลุ่ม ‘ISIS’ สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง และที่ขาดไม่ได้ คือการโยงการชุมนุมเข้ากับการเมืองระหว่างประเทศ กล่าวหาประธานาธิบดีทรัมป์ว่าไปสนับสนุนม็อบฮ่องกงเสียเอง
นั่นทำให้ทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊ก (ซึ่งถูกแบนในจีนแผ่นดินใหญ่) ต้องทำงานกันอย่างแข็งขัน ทวิตเตอร์ต้องแบนมากกว่า 900 แอคเคาท์ ในช่วงต้นๆ ของการชุมนุม ขณะที่เฟซบุ๊กปิดเพจไปอีก 7 เพจ และ 3 กรุ๊ป ซึ่งมีผู้ติดตามรวมหลายหมื่นคน โดยผู้บริหารเฟซบุ๊กให้สัมภาษณ์เองว่าพบความเชื่อมโยงกับเจ้าหน้าที่จีนแผ่นดินใหญ่ในการทำเพจเหล่านี้
ปีเตอร์ ปามีรานเซฟ นักเขียนชาวอังกฤษที่เกิดในโซเวียต ให้นิยามของข่าวปลอม ในหนังสือชื่อ This Is Not Propaganda: Adventures in the War Against Reality ไว้ว่าฟังก์ชั่นของ fake news ในปัจจุบัน ไม่ได้มีไว้เพื่อให้ผู้รับสารเชื่อและคล้อยตาม แต่คือทำให้ผู้รับสาร ‘ไขว้เขว’ ซึ่งต่างจากหลักการ ‘โฆษณาชวนเชื่อ’ หรือ propaganda ในอดีตชัดเจน
สมัยก่อน propaganda อาจเกิดขึ้น เพื่อให้ ‘เชื่อ’ ในตัวผู้นำที่แข็งแกร่งประเภท “เชื่อผู้นำ ชาติพันภัย” หรือเพื่อบอกว่าโลกภายนอกนั้นน่ากลัว คอมมิวนิสต์นั้นเลวร้าย หรือทุนนิยมนั้แต่ fake news ในปัจจุบันนั้น กำลังบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก สิ่งที่อยู่รอบตัวเรานั้น แสนจะเปราะบาง และข่าวที่เกิดขึ้น เรื่องที่อยู่รอบตัวนั้น ไม่มีใครรู้ว่า ‘ความจริง’ คืออะไร ในฐานะที่คุณเป็นแค่คนตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่ต้องต่อสู้กับความวุ่นวายใน ‘โลกมืด’ นั้น ไม่มีอะไรที่ดีไปกว่าการมีผู้นำที่เข้มแข็ง และเชื่อถือได้
(3)
ปามีรานเซฟ บอกว่า วิธีการแบบนี้ คนที่ใช้แล้วได้ผลคนแรกคือ ประธานาธิบดี วลาดีมีร์ ปูติน ในช่วงที่กำลังฟื้นฟูความแข็งแกร่งของรัสเซีย หลังจากโซเวียตล่มสลายไป 10 กว่าปีก่อนหน้า แน่นอน รัสเซียยุคปูตินไม่ได้เข้มแข็งเหมือนกับสมัยโซเวียต และ propaganda แบบเดิมก็ไม่ได้ผลอีกต่อไป เพราะค่านิยมคอมมิวนิสต์และบทบาททางสังคมนั้นใช้ไม่ได้แล้ว ส่วนระบอบทุนนิยม-ประชาธิปไตยนั้น ทำให้เกิดผู้นำ ‘อำนาจนิยม’ ที่เข้มแข็งได้ยาก จึงไม่มีวิธีอะไรที่ดีไปกว่าการ ‘กล่อมเกลา’ แบบใหม่ ด้วยวิธีแบบนี้
แล้วปูตินก็ส่งต่อวิธีแบบนี้ไปยังตะวันตก เริ่มต้นที่ Brexit ส่งต่อไปยังการเลือกตั้งอเมริกา ก่อนจะไปยังประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก
เพื่อให้เห็นว่า ณ ศตวรรษที่ 21 ประชาธิปไตย มีแต่ความวุ่นวาย เต็มไปด้วยปัญหาเศรษฐกิจ ประชาธิปไตย เต็มไปด้วยการคอร์รัปชัน เพื่อทำอย่างไรก็ได้ ให้คน ‘ศรัทธา’ ในประชาธิปไตยน้อยลง ซึ่งแน่นอน สิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก ปามีรานเซฟ บอกว่าปูตินทำสิ่งนี้ได้สำเร็จ โดยมีบรรดาโซเชียลมีเดียทั้งหลายเป็นตัวช่วยที่แข็งขัน
กว่าคนเหล่านี้จะรู้ตัว เราก็ได้ประธานาธิบดีอย่างทรัมป์ อย่างโรดริโก้ ดูเตอร์เต้ หรือมีนายกรัฐมนตรีอย่างบอริส จอห์นสัน ที่แม้จะเทียบกับคนอื่นๆ ในประวัติศาสตร์ไม่ได้ แต่ผู้คนในอเมริกา ในฟิลิปปินส์ หรือในอังกฤษ ต่างก็บอกว่า พวกเขา ‘น่าจะ’ เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในโลกอันวุ่นวายและเปราะบางใบนี้
(4)
ล่าสุด ทวิตเตอร์เพิ่งประกาศว่าจะไม่รับโฆษณาทางการเมือง ส่วนเฟซบุ๊ก ก็ประกาศว่าจะ ‘สกรีน’ โฆษณา ข่าวสาร ที่เกี่ยวกับการเมืองมากขึ้น ขณะที่รัฐบาลไทยถูกกล่าวหาว่าตามจับเฉพาะ ‘ปลาซิวปลาสร้อย’ ที่แชร์ข่าว แชร์ทวิตที่กล่าวหารัฐบาล แต่ไม่เคยสนใจจัดการกับองค์กรสื่อหรือขบวนการขนาดใหญ่ที่เปิดเพจ ทำตัวเป็นสำนักข่าว มีจำนวนผู้ติดตามที่น่าสงสัย แล้วแชร์ข่าวที่มีที่มาอย่างชอบมาพากลอยู่เป็นประจำ
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะทุกประเทศในอาเซียนต่างก็อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน คือพอ fake news กลายเป็นวาระที่ทั่วโลกให้ความสนใจและตื่นกลัว ทุกประเทศในภูมิภาคนี้ก็ ‘กระโดดงับ’ ด้วยการออกกฎหมาย หรือหาวิธีคุมเข้ม ไม่ใช่ด้วยวิธีอื่น แต่ด้วย ‘อำนาจรัฐ’
นั่นเป็นวาระที่ ‘ไปไกล’ กว่าในสหภาพยุโรป หรือในสหรัฐอเมริกามาก
ปี ค.ศ. 2018 Freedom House จัดอันดับเสรีภาพการใช้อินเตอร์เน็ตของทุกประเทศในอาเซียนว่าล้วนอยู่ในกลุ่ม Partly Free และ Not Free สิงคโปร์ได้คะแนน 41/100 (100 คือแย่ที่สุด) ประเทศที่ขึ้นชื่อว่า ‘เจริญ’ ที่สุดในภูมิภาคนี้ก็ยังอยู่ในกลุ่ม Partly Free ซึ่งสิงคโปร์เพิ่งออกกฎหมายต่อต้าน fake news โดยให้อำนาจรัฐเพิ่มเติมในการตรวจสอบข้อความในโลกออนไลน์ ส่วนไทยอยู่ในกลุ่ม Not Free ด้วยคะแนน 65/100 จาก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ และการใช้อำนาจรัฐคุกคามชาวเน็ต
fake news ในประเทศแถบนี้ จึงทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะไม่ได้ทำให้เชื่อเฉพาะความ ‘เปราะบาง’ ของโลกนี้เท่านั้น แต่ยังเสริมความแข็งแกร่งของบรรดาผู้นำอำนาจนิยม ด้วยกฎหมาย ด้วยการใช้อำนาจรัฐ และยังต่ออายุของระบอบนี้ออกไปอีกด้วยการสยายอำนาจรัฐออกไป สยบทุกความเคลื่อนไหวในการต่อต้านด้วยการโยนให้เป็นเรื่อง fake news ให้หมด
(5)
ในอเมริกา นักวิชาการและหน่วยงานรัฐ พยายามโปรโมตให้คนออกจาก ‘Echo Chambers’ หรือแปลแบบหยาบๆ คือ “ออกจากกะลา” ไปมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่คิดต่างมากขึ้น คุยกับผู้คนที่มีความคิดเห็นแตกต่าง รับสื่อที่หลากหลายมากขึ้น เพิ่มเติมจากการมีความรู้เท่าทันสื่อ หรือหมั่นตรวจสอบข่าวปลอม ผ่านหลายสำนักข่าว ไม่ใช่เชื่อแค่สิ่งที่ประธานาธิบดีพูดหรือเชื่อเฉพาะข่าวจากสำนักข่าวที่ตัวเองนิยมชมชอบ ผู้คนที่ตัวเองติดตามเท่านั้น
เพราะ fake news ที่เกี่ยวกับการเมือง จะไม่สามารถแพร่กระจายได้ไกล หากผู้รับสารมีความเข้มแข็ง ตั้งใจหาข้อมูลเพิ่มเติม และตรวจสอบทุกครั้งก่อนแชร์
จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีบทสรุปว่าวิธีของอเมริกาได้ผลจริงหรือไม่ แต่ก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีกว่าการขยายอำนาจรัฐไปลิดรอนเสรีภาพสื่อหรือไปไล่จับประชาชนที่แชร์ข่าวปลอม
ส่วนประเทศแถวนี้ น่าเสียดายที่ยังไม่มีบทสรุปเกี่ยวกับ fake news เพราะความเกลียด ความกลัว ยังถูกส่งต่อซ้ำๆ เพื่อส่งเสริมให้ใครคนใดคนหนึ่งเป็น ‘ผู้นำ’ ส่วนผู้ที่อยู่ตรงข้ามเป็น ‘ปีศาจ’ ที่ต้องหวาดกลัวอยู่สม่ำเสมอ
นั่นทำให้เรายังไม่สามารถออกจากสังคมที่อุดมไปด้วยข่าวปลอมได้ เพราะข่าวปลอมในประเทศแถบนี้ต่างก็ส่งเสริมบารมีผู้นำให้แข็งแกร่งขึ้น โดยที่ผู้คนจำนวนมากยังไม่รู้ตัว
อ้างอิงข้อมูลจาก