เมื่อเราเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทุกวันนี้ เราอาจไม่ค่อยได้เห็นร่อยรองของปากกาและถ้อยคำสั้นๆ บนหน้ากระดาษจดหมายหรือรูปถ่ายกันสักเท่าไหร่ แต่ทุกครั้งที่เราเห็นข้อความสั้นๆ ลายมือหวัดๆ รอยเลอะ รอยลบ และสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ถูกเขียนไว้จากคนคนหนึ่งถึงคนอีกคนหนึ่ง เราก็จะสัมผัสได้ถึงความรู้สึก และความอบอุ่นบางอย่างที่ไหลล้นออกมาในข้อความเหล่านั้น
ในยุคหนึ่ง ยุคก่อนที่เราจะมีโทรศัพท์ ในสมัยที่เรายังติดต่อกันด้วยจดหมายและการเขียน ดูเหมือนว่าเราทุกคนจะเป็นนักเขียน จดหมายเก่าๆ เป็นหนึ่งในวัตถุแห่งความทรงจำ จดหมายแต่ละฉบับบรรจุไปด้วยเรื่องราว ความรู้สึก และห้วงความคำนึงถึง และแน่ล่ะว่า จดหมายอะไรก็ตาม คงไม่เข้มข้น ยากเย็น และมีความเป็นศิลปะเท่ากับ ‘จดหมายรัก’
มาร์ก ทเวน บอกว่าจดหมายรักเป็นรูปแบบการเขียนที่ซื่อตรงและเสรีที่สุดจากหัวใจและความคิดของมนุษย์ จดหมายรักคือพื้นที่ที่คนคนหนึ่งสามารถส่งข้อความและความรู้สึกได้อย่างไม่มีขีดจำกัด เพราะในจดหมายรักเป็นการสื่อสารระหว่างคนสองคนเท่านั้น
จดหมายรักกับความเป็นศิลปะของการเขียน
ถึงจะเป็นคนจากยุคดิจิทัล หลายคนคงเคยมีประสบการณ์การเขียนจดหมายหรือข้อความสั้นๆ ไปหาคนที่เราแอบชอบ หรือคนที่เรารัก การเขียนความรู้สึกอันล้ำลึกโดยหวังผลบางอย่างจากผู้ที่จะได้อ่านย่อมเป็นเรื่องแสนยาก การลงมือเขียนจดหมายรักเป็นกิจกรรมที่เราต้องลงทุนลงแรง ลงความคิดและเตรียมการอย่างรอบคอบถี่ถ้วน การเขียนจดหมายสักฉบับ เราจะเลือกกระดาษแบบไหน ปากกาสีอะไร ซองไหนจะถูกใจ จะเขียนคำแรกว่ายังไง จบยังไง ใช้คำแต่งประโยคยังไงให้พอดี ให้ประทับใจ เพราะจดหมายนี้ดูจะเป็นถาวรวัตถุและเป็นสักขีพยาน รวมไปถึงเป็นตัวชี้วัดว่าความสัมพันธ์นี้จะได้ไปต่อหรือพอแค่นี้ต่อไป
ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของมนุษย์ จดหมายรักดูจะเป็นหนึ่งในรูปแบบการเขียนที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับวัฒนธรรมการเขียน เราพบจดหมายรักสอดแทรกอยู่ในงานวรรณคดีและงานเขียนโบราณในแทบทุกวัฒนธรรม หนึ่งในจดหมายรักที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุกว่าห้าพันปี จดหมายถูกพบทั้งในคัมภีร์ภควัทคีตาของศาสนาฮินดู ในอารยธรรมเช่น อียิปต์หรือจีนโบราณ การเขียนจดหมายรักดูจะเป็นศิลปะที่ต้องใช้ความสามารถทางการประพันธ์ในระดับสูงและซับซ้อนในตัวเอง เช่น เรามักพบตัวเอกหญิงที่ต้องแต่งงานตามหน้าที่และเขียนจดหมายเพื่อบรรยายความรู้สึกถึงคนรักที่แท้จริง นั่นสิ เราจะเขียนอย่างไรให้ไม่โจ่งแจ้ง ไม่ให้ความหวัง ไม่ตัดรอนแต่ก็ยังส่งผ่านความรู้สึกที่มี กวีในหลายยุคที่พูดถึงศิลปะแห่งความรักจึงมักพูดถึงศิลปะในการเขียนจดหมายรักในฐานะศาสตร์สำคัญแขนงหนึ่ง – ศิลปะของการเลือกใช้ถ้อยคำเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกห้วงลึก
กลยุทธ์ของจดหมายรัก ความจริงใจและคำมั่นชนะทุกอย่าง
เราอยู่ในยุคที่กระแสอนาล็อกกำลังกลับมา และแน่ล่ะว่า ถ้าจะสร้างความประทับใจ การเขียนจดหมายสักฉบับเพื่อแทนใจก็อาจจะเป็นการเอาชนะใจ อย่างที่นักเขียนและผู้คนในหลายสมัยสามารถครองใจฝ่ายตรงข้ามได้ด้วยถ้อยคำ
คำแนะนำเบื้องต้นคือจดหมายรักเป็นการแสดงความรู้สึกเบื้องลึกของเรา อาจไม่จำเป็นต้องเป็นทางการ ต้องสวยหรู แต่คือการส่งผ่านความรู้สึกถึงความรัก ความคิดถึง และการบอกว่าอีกฝ่ายมีความหมายกับเรามากแค่ไหน ในระดับจิตวิทยา เมื่อจดหมายรักเป็นภาคปฏิบัติหนึ่งของความรัก ทฤษฎีเรื่องความรักจึงดูจะเป็นทฤษฎีที่เรานำมาเสริมให้จดหมายสามารถสื่อความรู้สึกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Robert Sternberg นักจิตวิทยาที่สนใจเรื่องความรักเสนอว่า จดหมายรักในอุดมคติคือจดหมายรักที่เจือด้วยองค์ประกอบสำคัญสามส่วนคือ ความชิดใกล้ (intimacy), ความปรารถนา (passion) และคำมั่นสัญญา (commitment) แน่ล่ะว่าเนื้อความในจดหมายย่อมต้องแสดงออกถึงความใกล้ชิด ความรู้สึกเชื่อมต่อและเชื่อมโยงกันระหว่างคนสองคน ในขณะนั้นก็ต้องหยอดลงไปด้วยความปรารถนาอันแรงกล้าและร้อนแรง ก่อนจะเติมสิ่งสุดท้ายคือคำมั่นที่บอกว่าความสัมพันธ์นี้ไม่ใช่แค่เรื่องอารมณ์ความรู้สึกอันรุนแรงและเพ้อฝัน แต่เป็นความสัมพันธ์ที่อยู่บนโลกความจริง เป็นเรื่องอนาคตของเรา
Kelli Taylor เป็นนักวิจัยที่สนใจว่า เอ๊ะ ถ้าเราเข้าใจทฤษฎีจดหมายรัก เราก็อาจจะเข้าใจความรักและรักได้ดีขึ้น เลยเอาทฤษฎีข้างต้นไปลงภาคสนามเพื่อดูว่า กลยุทธ์การแต่งจดหมายรักที่มีพลังและที่คนรักเรามองหาอยู่ตรงไหน Taylor แต่งจดหมายรักหลายรูปแบบโดยให้น้ำหนักไปในแต่ละองค์ประกอบต่างกัน บางฉบับก็เน้นวาทศิลป์เรื่องความชิดใกล้ บางฉบับเน้นความห้าวหาญร้อนแรง บางฉบับเน้นเรื่องความมั่นคงและการให้คำมั่นในระยะยาว – ซึ่งงานนี้เน้นถามไปที่ฝ่ายหญิงในฐานะผู้รับหลักของจดหมายรัก
ผลการทดลองก็ไม่น่าแปลกใจ และอาจช่วยเตือนใจเราในยามรัก คือในความสัมพันธ์ที่ปนเปไปด้วยความใกล้ชิด แรงรัก และคำมั่น การหาจุดสมดุลของทุกอย่างเป็นสิ่งสำคัญ แต่สิ่งที่กลุ่มทดลองให้ความสำคัญมากที่สุดคือนัยสุดท้าย ความที่หมายถึงการมอบคำมั่น เป็นการอุทิศตนเพื่ออนาคตของความสัมพันธ์นี้ด้วยกัน คำมั่นเช่นคำสัญญาที่จะมอบความสุขให้กันนับจากนี้ การจับมือกันต่อไป นับเป็นสิ่งที่สัมผัสและเอาชนะคำหวานซึ้งอื่นได้
การกลับไปทบทวนจดหมายรัก อาจเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ไปสัมผัสภาคปฏิบัติของการรักและความรักในมิติที่ถี่ถ้วน ในโลกที่ทุกอย่างเร็วและเก่าไปอย่างรวดเร็ว กิจกรรมของการค่อยๆ ลงมือเลือกและลงมือเขียนอย่างพิถีพิถันย่อมสะท้อนถึงความรู้สึกของเราที่ค่อยๆ รู้สึกรักและทำให้อีกฝ่ายรักเราอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะเรื่องรักเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เป็นเรื่องที่เนิบช้าและมั่นคง
ทุกวันนี้เราอาจจะไม่ได้เขียนจดหมายรักกันอีก แต่เราก็ยังสื่อสารเพื่อส่งสารจากความรู้สึกไปสู่หัวใจอีกฝ่ายอยู่เสมอ ตรงนี้เองดูเหมือนว่า ศิลปะของการเขียนจดหมายรัก จะไม่ได้หายไปจากกิจกรรมของพวกเราซะทีเดียว
อ้างอิงข้อมูลจาก