หลายปีที่ผ่านมา ‘โรคจิตเวช’ ได้รับการพูดถึงในวงกว้าง หากใครอยู่ในภาวะอารมณ์หม่นเศร้าจนกระทบชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เรื่องแปลกแล้ว หากจะไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล
แม้ว่าการหาหมอไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่การต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะกับโรงพยาบาลรัฐบาลแล้ว ทั้งทำบัตร นัดหมาย ซักประวัติ ตรวจเบื้องต้น ฯลฯ บ้างนานเป็นเดือน บ้างนานหลายเดือน หลายคนเลยล้มเลิกความคิดในการรักษาไป
ด้วยเห็นถึงข้อจำกัดดังกล่าวผ่านประสบการณ์ตรง กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ จึงตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพจากทันตแพทย์ มาเป็นผู้ประกอบการของแพลตฟอร์มชื่อว่า Ooca เป็นการใช้วีดีโอคอลมาลดขั้นตอนต่างๆ ให้ ‘ผู้ต้องการคำปรึกษา’ ได้เจอกับ ‘ผู้ให้คำปรึกษา’ ทั้งจิตแพทย์และนักจิตวิทยาได้ง่ายยิ่งขึ้น ทั้งคนต้องการคลายความเครียดในใจ หรือตรวจคัดกรองเบื้องต้นโดยผู้เชี่ยวชาญ
Ooca เริ่มต้นแพลตฟอร์มครั้งแรกเดือนตุลาคม 2560 เป็นช่องทางให้คำปรึกษาแบบใหม่ที่ได้รับความสนใจพอสมควร แต่ด้วยการตั้งราคาที่สมเหตุสมผลตามต้นทุนจริง ผู้เข้าใช้แพลตฟอร์มเลยจำกัดเฉพาะกลุ่มคนที่มีกำลังจ่ายไหว
“เราคิดเรื่องให้คนจำนวนมากเข้าถึงมาตลอดนะ” ขณะเล่าถึง Ooca กัญจน์ภัสสรพูดถึงความตั้งใจของตัวเอง
เวลาผ่านไป แพลตฟอร์มวีดีโอคอลของ Ooca มีคนเข้ามาใช้งานพอสมควร ประกอบกับการนำแพลตฟอร์มเข้าไปให้บริการในบริษัทเอกชน ซึ่งถือเป็นรายได้หลักขององค์กรก็ว่าได้ งานทั้งสองแบบได้ทำให้หน้าบ้าน-หลังบ้านมีความพร้อมมากยิ่งขึ้น กระทั่งเกิดการต่อยอดไปยังกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ ตามความตั้งใจ
เธอตัดสินใจนำสิ่งที่คิดไปคุยกับเทใจ เพื่อให้เกิดการระดมทุนอย่างเป็นระบบ พูดคุยกับอาจารย์แพทย์ที่ทำงานร่วมกัน และกำหนดกลุ่มเป้าหมายคือนักศึกษามหาวิทยาลัย กระทั่งเกิดเป็นโครงการชื่อ Ooca : Wall of Sharing
แม้ว่าเบื้องหน้าคือการให้คำปรึกษาผ่านวีดีโอคอลเช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่โครงการนี้กำลังทำ หาใช่เพียงเพิ่มช่องทางในการพบผู้ให้คำปรึกษา แต่ยังเป็นการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยในการสำรวจปัญหาทางจิตใจที่นักศึกษาไทยกำลังเผชิญอีกด้วย
The MATTER: โครงการ Wall of Sharing เกิดขึ้นได้ยังไง
ตอนเริ่มทำ Ooca เราไม่ได้คิดว่าตัวเองจะเป็นสตาร์ทอัพ หรือต้องเป็นอะไร เราเห็นปัญหาในการเข้าถึงคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต การเข้าหา นัดยาก นัดลำบาก กว่าจะได้เจอหมอก็นาน แล้วคุณค่าของการเจอกันคือการได้คุย การได้แลกเปลี่ยน แล้วได้รับการสะท้อนเพื่อแก้ปัญหาข้างใน ขั้นตอนทั้งหมดมีความลำบาก ถ้าเราตัดขั้นตอนเหล่านั้นออกไป เอาให้เหลือเฉพาะคุณค่าที่มนุษย์อยากได้ น่าจะทำได้หรือเปล่า ตอนนั้นคิดง่ายๆ เลย คิดโดยไม่ได้มองโมเดลธุรกิจหรือความยั่งยืน เราใช้เทคโนโลยีได้ งั้นก็วีดีโอคอลไง แต่ความยากหลังจากนั้น เราจะทำยังไงให้สิ่งที่ทำอยู่ได้ยาวๆ
เราเคยเห็นโมเดลที่หมอมาตอบฟรีนะ แต่แบบนั้นอยู่ได้สักพัก เป็นข่าว เป็นกระแส แล้วสุดท้ายค่อยๆ หายไป ถ้าเราอยากให้ช่วยเหลือคนแล้วอยู่ได้ในระยะยาว ควรต้องคิดให้รอบว่าจะบาลานซ์ทั้งสองฝั่งยังไง คนไข้ได้แก้ปัญหา หมอได้รับค่าตอบแทน แน่นอนว่าใครๆ ก็อยากช่วย เป็นความสุขในวิชาชีพ แต่เขาจะอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีเงินหล่อเลี้ยง เวลาในชีวิตทุกคนมีจำกัด แล้วแต่จะเอาเวลานั้นไปทำอะไร คุณจะบีบบังคับหมอให้มาทำงานฟรีเหรอ เราว่าแบบนั้นไม่ยั่งยืนนะ
ไม่ใช่หมอทุกคนที่ร่ำรวย บุคลากรทางการแพทย์มีหลากหลาย ต้องบอกว่าหมออยู่ได้บนพื้นฐานความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างดี บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตมีหลายแบบ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา ทั้งจิตคลินิกและจิตการปรึกษา แต่ละประเภทก็มีบทบาทงานไม่เหมือนกัน มีแหล่งที่มาของรายได้ไม่เหมือนกัน
เราทำ Ooca ก็อยากให้สิ่งนี้เข้าถึงคนอื่น แต่ต้องทำให้อยู่รอดก่อน ขณะเดียวกัน เราคิดเรื่องให้คนจำนวนมากเข้าถึงมาตลอดนะ แต่ทำยังไง ขั้นต้นต้องอยู่ได้ก่อน
Ooca มีพาร์ทที่ให้คนทั่วไปมาใช้บริการ และอีกพาร์ทที่เป็นรายได้หลักของเรา คือนำแพลตฟอร์มเข้าไปในบริษัทเอกชน เป็นเครื่องมือให้ฝ่ายบุคคลของบริษัทใช้ทำความเข้าใจและดูแลพนักงาน เราจะไม่เปิดเผยตัวตนและปัญหาของพนักงาน มันแสดงให้เห็นแหละ แต่ไม่ได้ลงรายละเอียด เพื่อไม่ต้องมโนไปเองว่าแผนกนั้นแผนกนี้มีปัญหาอะไรกัน
การทำแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมา ทำให้เราเข้าให้บริการกับมหาวิทยาลัยได้ ถ้าเราไม่มีแพลตฟอร์มนี้ เราจะต่อยอดไป Wall of Sharing ไม่ได้เลย การเข้ามหาวิทยาลัย เราจะดูแลเด็กยังไง จะรู้ได้ยังไงว่าเด็กควรได้รับสิทธิ เป็นเด็กสังกัดมหาวิทยาลัยนี้จริงๆ จะมีระบบยืนยันตัวตนยังไง จะมีระบบเฝ้าระวังการเกิดเหตุอันตราย การอยู่ดีๆ เอาเซอร์วิสไปให้ฟรี ก็ควรออกมาเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่าเซอร์วิสเฉยๆ นั่นก็คือ Data ซึ่งแพลตฟอร์มที่ทำกับเอกชน ทำให้เราสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ Ooca เริ่มแพลตฟอร์มครั้งแรกตุลาคม 2560 หลังจากนั้นก็แพลนว่าจะทำกับองค์กรต่อ แล้วค่อยเกิดเป็น Wall of Sharing
The MATTER: คุณมองว่าการจะช่วยสังคม อย่างน้อยต้องมีความพร้อมทางการเงินก่อน เลยใช้เวลากับการทำ Ooca สำหรับคนทั่วไป และที่ใช้ในองค์กรต่างๆ ในช่วงแรก
ไม่ใช่แบบนั้น แต่เราต้องมีโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) มีทรัพยากรที่พร้อมด้วย ไม่ใช่มีเงินอย่างเดียว ถ้าจะทำให้มหาวิทยาลัยตั้งแต่แรก ไอเดียยังอยู่แค่ในกระดาษเลย มันต้องค่อยเป็นค่อยไป
The MATTER: ตอน Ooca เริ่มให้บริการคนทั่วไปและองค์กรไปสักระยะ คุณขยับไปสู่ Wall of Sharing ยังไง
เราไปคุยกับเทใจ (https://taejai.com/th/) ในเรื่องการรับบริจาค เพราะบริจาคผ่านเทใจขอคืนภาษีได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ คุยอยู่เป็นปีเลยนะ เราอยากให้แพลตฟอร์ม Ooca เข้าถึงคนมากขึ้น ทำยังไงให้คนไม่มีเงินได้ใช้ ตอนนั้นมีคนพูดว่า “ถ้าคนไหนอยากสนับสนุน เป็นสปอนเซอร์ได้ไหม” เออ ก็เหมือนจะได้นะ หลังจากนั้นเราเล่นอินเทอร์เน็ตแล้วไปเห็นบทความเกี่ยวกับร้านพิซซ่าในอเมริกา ร้านให้คนเร่ร่อนกินฟรี หลังจากนั้นคนเร่ร่อนไปทำงาน มีเงิน แล้วกลับมาให้คนอื่นต่อ โดยเขียนโพสต์อิทแปะไว้ ใครต้องการพิซซ่าเอาไปได้เลย เขาจ่ายล่วงหน้าไว้แล้ว
มันคือ pay it forward ร้านนั้นเลยเต็มไปด้วยโพสต์อิท ทุกคนมาร่วม pay it forward งั้นเราเอาแบบนี้บ้างดีกว่า โปรเจกต์เลยชื่อว่า Wall of Sharing
เราไม่ได้อยากเปิดให้ Wall of Sharing เป็นบริการฟรีทั้งหมด เพราะในขั้นตอนต่างๆ มีค่าใช้จ่ายพอสมควร ไม่สามารถแบกไปได้ตลอด ขณะเดียวกัน แพลตฟอร์มของเราก็ไม่สามารถดูแลนักศึกษาในทุกช่วงของเขาได้ เลยตกลงกับทางมหาวิทยาลัยว่า ดูแลด้วยกันนะ เราเป็นตัวเสริมนะ เด็กๆ อยากใช้ก็วีดีโอคอลได้เลย แต่ถ้าคำปรึกษาของเขาสะท้อนว่าอาจเกิดเหตุวิกฤต เราจะแจ้งเตือนไปหาทางมหาวิทยาลัย
The MATTER: คนทุกข์ใจตั้งเยอะแยะ ทำไมถึงเลือกกลุ่มเป้าหมายเป็นนักศึกษา
เริ่มจากเรานี่แหละ ตอนเป็นนักศึกษา เราเข้าใจปัญหาการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ตอนทำ Ooca ก็หลังจากเรียนจบแค่ไม่กี่ปีเอง เรานึกถึงตัวเอง ถ้าอยู่ในสภาพนั้น ใครจะมาช่วย นักศึกษาที่ไม่มีใครคุยด้วย มันว้าวุ่นใจ ทำยังไงก็ไม่รู้ ไปหาหมอก็ลำบาก ส่วนเรื่องข่าวต่างๆ ของนักศึกษาในประเทศไทยมาทีหลัง เราเริ่มจากตัวเองก็จริง แต่ต้องแบ็คอัพด้วยข้อมูล โอเค ปัญหามีอยู่จริง มีกลุ่มคนที่เผชิญปัญหา เคยตัดสินใจฆ่าตัวตาย ทั้งสำเร็จและไม่สำเร็จ แต่โปรเจกต์นี้คิดมาสักระยะแล้ว ไม่ได้เกิดจากว่ามีข่าวแล้วถึงมาทำ
อีกอย่างคือการเลือกกลุ่มเป้าหมายเป็นนักศึกษา เราไม่ได้ทำงานแค่ให้คำปรึกษาแล้วจบ แต่สามารถทำงานให้ครบลูปได้ ทั้งให้คำปรึกษาได้ ถ้าเกิดเหตุฉุกเฉิน ก็สามารถแจ้งเตือนให้อาจารย์รับรู้ เกิดการช่วยเหลือต่อไปได้ด้วย
(ศรีสุมาลย์ ศาสตร์สาระ – ผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรมเพื่อสังคมของ Ooca) อีกเหตุผลที่คุณหมอเคยพูด คือเรื่องความยั่งยืนในการให้ความช่วยเหลือ เวลาช่วยเหลืออะไรใคร เราก็หวังให้เกิดความยั่งยืน ถ้าในระบบมหาวิทยาลัย วันนี้เราขอบริจาคในจุดตั้งต้นได้ แต่วันต่อไปมหาวิทยาลัยเห็นความสำคัญของระบบบริการนี้ เขาอาจหางบประมาณมาดูแลนักศึกษาต่อได้เอง
The MATTER: ขั้นตอนการทำงานเป็นยังไง
มหาวิทยาลัยแรกที่คุย คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เขาเจอเราในงานสตาร์ทอัพ เลยได้คุยกันว่าจะเป็นไปได้ไหมถ้าจะให้นักศึกษาได้ใช้บริการ เลยเกิดการทำ MOU ให้ชัดเจน เราก็ไปทำระบบให้พร้อม ต้องแก้เยอะอยู่พอสมควร ต้องปลั๊กอินกับเทใจ เชื่อมต่อเงินบริจาค มีการส่งข้อมูล คนนี้บริจาคมา ข้อความนี้ส่งมา รวมถึงการไปแก้แบ่งผลตอบแทนให้คุณหมอด้วย ก็ต้องคุยว่าขอลดราคาลง 80 เปอร์เซ็นต์ได้ไหม แต่จะรีเทิร์นผลตอบแทนกับเคสทั่วไปมากขึ้น แล้วก็มาดูเรื่องทุนสนับสนุน ถึงยอดหรือยัง ถ้าน้อยเกินไป เราเปิดทั้งมหาวิทยาลัยเป็นหมื่นคน ก็ให้บริการไม่ไหว ต้องมีทุนเข้ามาประมาณนึงก่อน เราคุยกับทางสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ตอนนี้เซ็น MOU กันไปแล้ว ถ้าตอนนี้เลย เงินบริจาคที่เข้ามาทางเทใจ น่าจะเพียงพอสำหรับมหาวิทยาลัยแรก ทีมทำงานของมหาวิทยาลัยรับทราบแล้ว ระบบพร้อมแล้ว ก็ไปคุยกันภายในว่าจะเริ่มเมื่อไร
The MATTER: ตอนแรกพูดเรื่องความยั่งยืน การขอรับบริจาค ลดราคาหมอ อาจไม่ใช่โมเดลที่ยั่งยืนหรือเปล่า
ต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงมันเยอะ ค่าบริหารจัดการ ค่าหมอหรือนักจิตวิทยา เงินบริจาคถือว่าน้อยกว่ามาก ซึ่งทาง Ooca สามารถรับผิดชอบส่วนที่เหลือได้ ปีนี้ก็ลองวิธีนี้แล้วกัน อยากให้คนที่เห็นด้วยมาสนับสนุน อย่างน้อยขอเริ่มปีแรกไปก่อน ถ้าปีต่อไป มหาวิทยาลัยเห็นประโยชน์ อยากให้เด็กได้ใช้ เขาอาจตั้งงบประมาณมาซัพพอร์ทเอง เราไม่คิดค่าใช้จ่ายของโครงสร้างพื้นฐานอยู่แล้ว มหาวิทยาลัยก็จ่ายค่าบริการของหมออย่างเดียว ซึ่งเป็นค่าบริการที่ลดลงมาพอสมควรแล้วด้วย กลุ่มที่เลือกตอนเริ่มต้นนักศึกษา ด้วยวัยแล้ว เขาก็ควรได้รับสิทธิ์ตรงนี้ ควรจะเข้าถึงบริการนี้ได้
The MATTER: การให้คำปรึกษามีเฉดมากมาย คำแนะนำว่า “อย่าคิดมากสิ” “คนอื่นลำบากกว่าอีก” “สู้ๆ นะ” หลายครั้งไม่ใช่เจตนาไม่ดีด้วย แต่เรากลับรู้สึกแย่ลง คุณมองว่าคำปรึกษาแบบไหนที่เวิร์คกับคนฟัง ระหว่างคุยกับเพื่อนกับการเจอผู้เชี่ยวชาญ มันแตกต่างกันยังไง
การให้คำปรึกษาเป็นศิลปะนะ บางทีประโยคที่มีเจตนาเดียวกัน พูดคนละแบบ ก็ได้ผลลัพธ์แตกต่าง ตอนเราไปหาจิตแพทย์ เพื่อนถามว่าเป็นยังไง พอเล่าไป เพื่อนก็บอกว่า “แก ชั้นเคยพูดบแบนี้ ทำไมไม่ฟังชั้นเลย” แม้ทั้งสองคนจะเจตนาเหมือนกัน แต่พอวิธีการสื่อสารต่างกัน ผลก็ต่างกัน คนที่ฝึกฝนมา เป็นมืออาชีพ จะมีวิธีพูดให้ฉุกคิด แก้ข้างใน เปลี่ยนความคิดได้จริงๆ แต่เอาจริงๆ จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา การเข้าไปคุยเหมือนหาเนื้อคู่นะ คุยแล้วไม่คลิกก็ไม่มีใครผิด แค่รสนิยมไม่ตรงกัน
The MATTER: อย่างคุณเอง รสนิยมของจิตแพทย์เป็นยังไง
ตั้งใจฟัง วิเคราะห์ปัญหาได้ และไม่ยัดเยียด
The MATTER: ตั้งใจฟังต้องเป็นยังไง
การตั้งใจฟัง ทำให้เรารู้สึกได้ว่า เขาใส่ใจ พยายามจะหาทางออกร่วมกัน พยายามจะช่วยจริงๆ พยายามจะเข้าใจว่าเราเผชิญอะไรอยู่ ทำให้มันดีขึ้น เราจะรู้สึกดี
The MATTER: วิเคราะห์ปัญหาล่ะ
วิเคราะห์ปัญหาได้ เราเป็นคนต้องการเหตุและผล การที่ฟังแล้วให้เป็นทฤษฎีบางอย่างออกมา เป็นความรู้ในเชิงจิตวิทยา เราก็ เออๆ อาจจะใช่นะ เราเข้าใจมากขึ้น
The MATTER: ไม่ยัดเยียดล่ะ
ไม่ยัดเยียด การยัดเยียดอาจทำให้เราตีความหมายผิดไป จริงๆ เราไม่ได้รู้สึกแบบนั้น แต่เขาพูดจนเรารู้สึกแบบนั้น เราถูกแสตมป์ว่าเป็นแบบนั้นไปเลย แต่เอาจริงๆ บางคนอาจชอบสไตล์อื่นนะ ทั้งสามอันเป็นส่วนที่เราโอเค
The MATTER: ถ้าเพื่อนบอกว่าหมอคนนี้เก่ง แต่ไปแล้วไม่ชอบเลย เราไม่ใช่ปัญหา เปลี่ยนหมอได้ใช่ไหม
อยากเปลี่ยนก็เปลี่ยน มันดีที่สุด ถ้าเราเจอหมอที่โอเคด้วย คุยกันยาวๆ ถ้าเจอแล้วไม่ได้จริงๆ ก็เป็นสิทธิ์ของเราที่จะเปลี่ยน ฝืนไปก็อึดอัด การหาหมอเป็นสัมพันธภาพอย่างหนึ่ง ถ้าน้องคนนี้ชอบถูกโอ๋มาก เจอหมอโอ๋หน่อยๆ ก็ชอบ แต่ถ้าหมอคนนั้นเป็นสไตล์ดุ ก็ไม่ถูกแนวทางกัน
The MATTER: คาดหวังอะไรกับโปรเจกต์ Wall of Sharing
เราคาดหวังจะเป็นแคมเปญที่เรียกร้องความสนใจจากทุกๆ คน เรื่องสุขภาพจิตมันเกิดขึ้นจริงนะ แม้ว่าสื่อจะบอกขนาดไหน คนที่สนใจก็ประมาณนึง เราอยากบอกกับผู้ใหญ่ในสังคมว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น
The MATTER: เรื่องปัญหาสุขภาพจิตสำคัญยังไง
ถ้าหากไม่สนใจเรื่องสุขภาพจิต มุมนึงในชีวิตขาดไป ถ้าวันนึงสายเกินแก้ คุณอาจไม่สามารถกลับไปแก้ไขได้อีกแล้ว ชีวิตคนเรามีองค์ประกอบหลายอย่าง เรื่องเงิน ครอบครัว ร่างกาย จิตใจ ไม่สามารถสมบูรณ์พร้อมถ้าขาดอย่างใดไป
The MATTER: ในอนาคตอยากให้โปรเจกต์นี้เป็นยังไง
ยิ่งเยอะได้ยิ่งดีค่ะ ปี 2562 โครงการตั้งเป้าที่จะให้คำปรึกษากับนักศึกษาระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยรัฐอย่างน้อย 50,000 คน ปัจจุบันก็มีอีกเป็นสิบมหาวิทยาลัยที่กำลังคุยกัน มาจากหลายจังหวัด แต่มีความล่าช้าในการตรวจเช็คเอกสารทางกฎหมาย การสื่อสารภายใน ซึ่งการทำงานของมหาวิทยาลัยมีขั้นตอนมากมาย เขาต้องคิดให้รอบด้าน Ooca คืออะไร คนอายุเยอะๆ ก็อาจไม่เข้าใจคอนเซ็ปต์ ไม่เข้าใจเครื่องมือนี้ ทำยังไง ช่วยได้ยังไง ผู้บริหารก็มีหลายชั้น แต่ส่วนมากก็เข้าใจแหละ แค่ต้องใช้เวลาคุยหน่อย
อีกเหตุผลที่ทำไมถึงเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย พรบ.สุขภาพจิต บอกว่า อายุต่ำกว่า 18 ต้องมีผู้ปกครองยินยอม วัยของนักศึกษามหาวิทยาลัยเลยเหมาะสมกว่า ไม่ต้องใช้เอกสารยินยอม นอกจากมหาวิทยาลัยแล้ว ตอนนี้มีโรงเรียนมัธยมเข้ามาอยู่นะ แต่ยังคุยกันอยู่ เพราะมีเรื่องยินยอมจากผู้ปกครองด้วย
The MATTER: การได้คุยกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ มองว่าปัญหาของนักศึกษาไทยตอนนี้คืออะไร
เราตอบแทนนักศึกษาตรงๆ ไม่ได้ ถ้าตอบจากประสบการณ์ตรง ก็เรื่องความรักและเรื่องเรียน วนๆ กันไป เราไม่รู้ว่าเด็กแต่ละคนฆ่าตัวตายเพราะอะไร ถ้าจากสถิติบอกว่า หนึ่งเคสฆ่าตัวตายสำเร็จ แปลว่าอีก 33 เคสที่ฆ่าตัวตายไม่สำเร็จ รวมไปถึงเคสอีกไม่น้อยที่ทำสำเร็จแต่ไม่มีรายงาน
(ศรีสุมาลย์ ศาสตร์สาระ) ตามที่เราเข้าไปคุยมา หรือประสานงานผ่านโทรศัพท์ อาจารย์บอกว่า เรื่องสุขภาพจิต มหาวิทยาลัยมีบริการนะ แต่รองรับไม่ไหว และเด็กกล้าเดินมาหาน้อยมาก กรณีที่ลงมือฆ่าตัวตายแต่ช่วยเหลือทัน แบบนี้ยังดีไป แต่นอกจากที่เป็นข่าว ยังมีกรณีฆ่าตัวตายแล้วทำสำเร็จอื่นๆ อีก แต่ผู้ปกครองหรือทางมหาวิทยาลัยปิดข่าว อาจารย์มหาวิทยาลัยนึงบอกว่า เคสนึงที่เกิดขึ้นแล้ว คือเด็กถูกคาดหวังจากครอบครัว ต้องเรียนให้สำเร็จ พ่อแม่อยากให้เรียนหมอ ลูกอยากเรียนศิลปะ คุยกันก็ไม่เข้าใจ ผลการเรียนออกมาดีนะ แต่เกิดความกดดัน
The MATTER: ในฐานะที่เป็นวัยรุ่นที่เคยผ่านความคาดหวัง ความเครียดต่างๆ มา เวลาอ่านข่าววัยรุ่นฆ่าตัวตายสำเร็จ รู้สาเหตุบ้าง ไม่รู้บ้าง คุณเห็นอะไร รู้สึกอะไร
ประสบการณ์ที่ตัวเองเคยเกิด รู้แหละว่าช่วงเวลาเหล่านั้นแย่จริงๆ มันเศร้าที่น้องๆ ต้องจบแบบนั้น เรารู้แหละว่ามหาวิทยาลัยมีอาจารย์ที่ปรึกษา มีระบบรองรับ แต่ถ้าเด็กไม่รู้สึกทัช เขาจะไม่เข้าหา หรือเข้าหาแล้วรู้สึกถูกตัดสินมากขึ้นจากระบบที่มีอยู่ ไปหาอาจารย์ที่ปรึกษาแล้วถูกมองเป็นเด็กเลวๆ คนนึง เราไม่ดีในสายตาเขาอยู่ดี จริงๆ นักศึกษาคนนั้นอาจไม่ได้แย่หรอก แต่พอคนอื่นคิดไปแล้วว่าแย่ ทำแย่ๆ กับเราอีก เลยทำให้แย่จริงขึ้นมา
ในมุมกลับกัน ถ้าเราคิดว่าเด็กดี พูดชม ให้โอกาส ส่งเสริม เด็กที่ไม่ได้เก่งอะไรหรอก การได้รับโอกาสที่ดี สุดท้ายก็อาจเก่งขึ้นมาได้
Photo by Asadawut Boonlitsak
Illustration by Waragon Keeranan
สนับสนุนโครงการ Ooca : Wall of Sharing
คนที่สนใจสนับสนุนโครงการ Ooca : Wall of Sharing สามารถเข้าไปที่ www.wallofsharing.com เพื่ออ่านรายละเอียดเพิ่มเติม และเข้าสู่ขั้นตอนการบริจาคผ่านเว็บไซต์เทใจ (สามารถนำไปหักภาษีได้เต็มจำนวน)
ปัจจุบันยอดของโครงการสามารถสนับสนุนการให้คำปรึกษาในมหาวิทยาลัยได้ 1 แห่งแล้ว คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งถ้าได้ยอดมากขึ้น แพลตฟอร์ม Ooca : Wall of Sharing จะกระจายไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ มากขึ้น นั่นหมายถึง อีกวิธีในการลดปัจจัยเสี่ยงที่นักศึกษาจะจมกับภาวะอารมณ์ของตัวเอง จนต้องเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด
นอกจากการเข้าผ่านระบบของมหาวิทยาลัย นักศึกษาที่สนใจเข้าใช้ได้ฟรีแล้ว!
ตอนนี้ Ooca : Wall of Sharing เปิดโอกาสให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีของรัฐเข้ามาทดสอบระบบใช้บริการปรึกษานักจิตวิทยาได้ผ่านระบบวิดีโอคอล โดยต้องลงทะเบียนขอชื่อใช้งานใน https://bit.ly/2GxCAP6 เมื่อทีมงานตรวจสอบประวัติและถามความยินยอมจากผู้ปกครองแล้ว ก็สามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องรอ MOU ของมหาวิทยาลัย
วิธีการใช้งานแค่โหลดแอป OOCA สมัคร เลือกหัวข้อที่จะปรึกษา ตั้งเวลานัดหมาย และพอถึงเวลาก็ Video Call กับผู้เชี่ยวชาญ ถ้าใครมีคนใกล้ตัวที่ต้องการคำปรึกษา ลองแนะนำ Ooca: Wall of Sharing ให้ลองใช้ได้เลย