“เราไม่อยากเล่าเรื่องเควียร์แล้วก็เป็นวาทกรรมเดิมๆ ว่าต้องแบบนี้แบบนั้น เพราะมองว่าความเป็นเควียร์ในแต่ละสังคม แต่ละวัฒนธรรมมีความแตกต่าง เราเข้าใจว่าความเป็นเควียร์ในสังคมไทยก็เป็นแบบหนึ่งที่ต่างจากเวอร์ชั่นตะวันตก แล้วพอเป็นมุสลิมไทย เรื่องนี้มันจะถูกซ่อน และดำรงอยู่ในความหมายอื่นด้วย”
Otherwise Inside คือนิทรรศการภาพถ่ายที่เล่าเรื่องราวของเควียร์ในสังคมมุสลิม ถึงแง่มุมที่ต้องปกปิดตัวตนและถูกสังคมผลักให้กลายเป็นคนนอก ผลงานภาพถ่ายในโครงการวิจัยของ สมัคร์ กอเซ็ม ที่ทำงานวิจัยภาคสนามทางมานุษยวิทยาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อทำความเข้าใจถึงความเป็นเควียร์ของคนในพื้นที่ นิทรรศการจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 19 กรกฎาคม – 16 สิงหาคม 2561 ณ WTF Gallery and Cafe
Young MATTER คุยกับสมัคร์ กอเซ็ม เจ้าของงานวิจัยความเป็นเควียร์ในสังคมมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถึงที่มาและแนวคิดที่ตั้งใจถ่ายทอดในนิทรรศการนี้
Young MATTER : จากเดิมที่เป็นแค่งานสนามทางมานุษยวิทยา เขียนเป็นวิทยานิพนธ์อย่างเดียว อะไรเป็นจุดเริ่มต้นที่อยากทำให้บันทึกภาพถ่ายอย่างจริงจัง และนำรูปถ่ายมาทำเป็นนิทรรศการ
ตัวผมเองก็เป็นมุสลิมแต่ไม่ได้เป็นคนในพื้นที่ ฉะนั้นมันก็จะมีความเป็นคนนอกคนในอยู่พอสมควร จึงต้องใช้เวลาเพื่อให้ชุมชนเข้าใจว่า 1 ปีที่ผ่านมา เราฃทำเรื่องอะไร ก็ถือเป็นการลองว่าทำเรื่องนี้แล้วมันเป็นไปได้ไหม เพราะถ้าไปเรียนต่อแล้วทำประเด็นนี้ คำถามที่จะต้องเจอแน่ๆ คือ ethics และเรื่องการเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ เรื่องเควียร์ในสังคมมุสลิม ถ้าเราไปถามเขาตรงๆ เขาจะบอกว่ามันไม่มีเรื่องนี้หรอก ไม่มีความหมาย เป็นความคิดที่เอามาจากข้างนอก เราก็เลยอยากเข้าไปทำความเข้าใจทั้งโปรเจกต์นี้ อยากรู้ว่า ความเป็นเควียร์ซ่อนหรือทำงานอยู่ตรงไหนบ้างของสังคม
Young MATTER : Otherwise Inside ในความหมายของคุณคืออะไร
คอนเซ็ปต์เรื่อง Otherwise เป็นคอนเซ็ปต์ทางมานุษยวิทยา เราเลยลองเอาคำนี้มาเป็นคอนเซ็ปต์งานว่า มันตั้งคำถามหรืออธิบายประเด็นเรื่องเควียร์ได้มากน้อยแค่ไหน เหมือนการทำวิจัยที่เราต้องกำหนดว่าใช้คอนเซ็ปต์อะไร และคอนเซ็ปต์นี้เป็นเครื่องมือให้เราเข้าใจเรื่องเควียร์ได้แค่ไหน ในบริบทสามจังหวัดที่ดูเหมือนเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้สื่อสารกับข้างนอกมาก เราเลยเอาคำนี้มาใช้แล้วลองดูแต่ละคนแต่ละกลุ่ม ตอนเริ่มทำแผนวิจัยเรื่องนี้ เราจะแยกเป็นช่วงวัย ซึ่งเราพยายามจะบอกว่าในช่วงวัยต่างๆ คนที่เป็นเควียร์แต่ละคนก็ต้องดีลกับสถานการณ์ในชีวิตที่ไม่เหมือนกัน
อย่างเช่นโมนาลิซ่า (หนึ่งในแบบ) ที่ยังเรียนมหาวิทยาลัยอยู่ ก็อาจรู้สึกว่ารอวันหนึ่งที่เรียนจบ ย้ายมาทำงานหาดใหญ่หรือกรุงเทพฯ ก็อาจคงรู้สึกเป็นตัวเองขึ้นมาหน่อย ตอนนี้คุณอาจต้องเซฟตัวเองเพราะเป็นนักศึกษาอยู่ แต่พอวัยหนึ่งที่คุณออกมาทำงาน คุณจะรู้สึกว่าได้ออกมาใช้ชีวิตความเป็นเควียร์อย่างที่ตัวเองไม่สามารถเป็นได้ แต่พอถึงวัย 40 ที่คุณต้องกลับมาดูแลครอบครัว คุณจะไม่สามารถเป็นตัวเองได้ และคุณจะรู้สึกว่าถูกสังคมคอยกำหนดให้คุณต้องอยู่ในครรลอง คุณจะเจอคำถามประมาณว่า ทำไมไม่แต่งงาน ทำไมไม่มีลูก ฉะนั้นเราจะเห็นคนที่เป็นเควียร์ในวัย 40 กลับไปดูแลพ่อแม่ และแต่งงาน
เราไม่อยากเล่าเรื่องเควียร์แล้วก็เป็นวาทกรรมเดิมๆ ว่าต้องแบบนี้แบบนั้น เพราะมองว่าความเป็นเควียร์ในแต่ละสังคมแต่ละวัฒนธรรมมีความแตกต่าง เราเข้าใจความเป็นเควียร์ในสังคมไทยก็เป็นแบบหนึ่งที่ต่างจากเวอร์ชั่นตะวันตก แล้วพอเป็นมุสลิมไทย เรื่องนี้มันจะถูกซ่อน และดำรงอยู่ในความหมายอื่นด้วย
Young MATTER : ทำไมภาพถ่ายในนิทรรศการนี้ถึงเน้นไปที่ การผลิตสร้าง ‘Bromance’ หรือวัฒนธรรมรุ่นพี่รุ่นน้องที่เอื้อให้เพศวิถีในสังคมลื่นไหล
มันดูเป็นประเด็นที่พูดไม่ยาก ถ้าพูดในสังคมอื่นๆ แต่พอเริ่มพูดในสังคมมุสลิมจะเป็นเรื่องที่เซนซิทีฟนิดนึง แต่เราดึงประเด็นนี้ขึ้นมาเพราะเกิดจากประสบการณ์ส่วนตัวของเราที่เคยเรียนศาสนา ถ้าคุณอยู่ในโรงเรียนศาสนาหรือสังคมมุสลิมที่ค่อนข้างแน่นแฟ้น การแบ่งแยกทางเพศมันค่อนข้างสูง ในทางสังคมศาสตร์มันจะเกิดสังคม homosociality คือสังคมที่มันมีแต่ผู้ชายล้วนๆ การแบ่งแยกทำให้คนหาทางออก หรือจัดการกับความใคร่ของตัวเองในแบบต่างๆ บางคนใช้ศาสนาในการควบคุมหรือจัดการตัวเองได้ แต่บางคนก็ใช้วิธีคลุกคลีอยู่กับเพศเดียวกัน
ในตอนแรกก็เคยรู้สึกว่าเราคิดไปเองหรือเปล่า มันอาจจะเป็นแค่สิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับเราแต่นำมาใช้อธิบายทั้งหมดไม่ได้จริงๆ แต่พอไปอยู่ในพื้นที่ก็จะมีเรื่องที่ค่อยๆ เล่าออกมา อย่างเช่นน้องคนหนึ่งที่เป็นมุสลิมแต่ไม่สามารถเอาเรื่องนี้ไปคุยกับอาจารย์ที่เป็นมุสลิมได้ ต้องเอามาคุยกับอาจารย์ที่เป็นไทยพุทธ เขาก็มาปรึกษาว่าเขาอยู่กับบัง พี่ชายคนหนึ่ง คบกัน บอกว่าเป็นพี่น้องกัน คบกันแบบแฟนกันนั้นแหละ แต่วันหนึ่งพอเขาบอกว่าคบเป็นแฟนกันไหม เขาก็โดนปฏิเสธ เพราะมันจะถูกมองชัดเจนว่าเป็นเรื่องของความรัก ซึ่งยังไม่ถูกพัฒนาให้เป็นความรักได้
ความเป็น bromance มันไม่ได้มาจากบ้านเรา เป็นคำที่ถูกใช้ในวัฒนธรรมอื่น แต่เราก็มีความใกล้กันเยอะกับ brotherhood ของมุสลิม
Young MATTER : นอกจากภาพถ่าย อะไรคือไอเดียของวิดีโอ The Day I Became ที่ฉายในงานนี้
เราได้ reference งานมาจากหนังอาหรับเรื่อง The Day I Became A Woman เป็นเรื่องของวันที่ถูกกำหนดว่าเธอไม่ใช่เด็กผู้หญิงอีกแล้ว ห้ามเล่นกับผู้ชาย ต้องคลุมผม เราสนใจเรื่องนี้เพราะว่าเวลาเราพูดถึงเรื่องความเป็นเพศในสังคมมุสลิม โดยเฉพาะที่เราคุยกับ น้องไกนา (นามสมมติ) เขาบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา เขาไม่ได้รู้สึกตั้งคำถาม หรือมีปัญหากับความเป็นเพศ เพราะเขาก็มองข้ามมันไปแล้ว แต่สิ่งที่ผลักเขาคือโครงสร้างทางสังคม เรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ จนกระทั่งน้องเขาออกจากศาสนาเพราะรู้สึกว่ากรอบเรื่องเพศไม่สามารถไปด้วยกันได้กับศาสนาที่เขาเคยนับถือ
Young MATTER : จากการลงพื้นที่และการทำนิทรรศการนี้ คุณเห็นอะไรในโลกของเควียร์ในสังคมมุสลิม
นี่อาจจะเป็นคำถามที่เราตั้งไว้ แต่เราก็ยังหาคำตอบไปเรื่อยๆ เราแบ่งเป็นช่วงวัยในแต่ละคน เพราะรู้สึกว่าแต่ละคนเจอสถานการณ์ไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่พอจะอธิบายได้ คือคนที่เป็นเควียร์ส่วนใหญ่จะออกไปอยู่ที่อื่น แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าการที่คุณออกไปอยู่ที่อื่นคุณเจออะไรมาบ้างในสังคมที่คุณอยู่มาก่อน
หลายๆ ครั้งที่เราเจอคนในพื้นที่แล้วเขาสงสัย เขาถามว่าเราทำเรื่องอะไร ทำทำไม คุณให้จะคนยอมรับเรื่อง LGBT ในสังคมมุสลิมเหรอ ให้ศาสนายอมรับเหรอ แต่เขาไม่ได้มองว่า คุณน่าจะเข้าใจเขาหน่อย คุณน่าจะให้พื้นที่เขาหน่อย เพื่อที่จะอยู่ในศาสนาได้ คือทุกคนต่อรองในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ผมเชื่อว่ามุสลิมบางคนข้างในก็ struggle อยู่พอสมควร ฉะนั้นเขาก็อยากจะเกาะอะไรบางอย่างที่ทำให้เขาอยู่ในชุมชนได้ เพราะเขาก็ไม่ได้อยากอยู่ข้างนอกเสียทีเดียว แต่สังคมก็ผลักเขาอยู่พอสมควร
Young MATTER : โลกของเควียร์แบบไหนที่คุณอยากเห็น และนิทรรศการนี้ช่วยสร้างความเข้าใจและเป็นบันไดไปสู่สิ่งที่คุณอยากเห็นได้อย่างไร
อยากเห็นสังคมที่เปิดใจ ไม่ใช่แค่เรื่องเพศอย่างเดียว เหมือนในสามจังหวัดที่คุณก็ต้องเปิดใจอยู่กับคนที่นับถือศาสนาที่แตกต่าง วัฒนธรรมที่แตกต่างของเขา ซึ่งจริงๆ เป็นรากฐานของปัญหาหลายๆ เรื่องที่ยังอยู่ในภาคใต้ คนอาจจะโฟกัสที่ความรุนแรงกับรัฐ แต่มันยังมีปัญหาอื่นอีกมาก เรื่องเควียร์เป็นเพียงหนึ่งในนั้น ที่อาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่สุดด้วยซ้ำไป เราอยู่ในสังคมที่มีความแตกต่าง คุณต้องยอมรับหรือทำความเข้าใจว่า มีคนหลายกลุ่ม ที่ไม่ได้เป็นแบบเดียวอย่างที่เขามอง
ทำไมเราถึงต้องมานั่งเล่าเรื่องพวกนี้ เราไม่ได้แค่ต้องการเปิดประเด็น แต่เราพยายามถ่ายทอดเรื่องราว ภาพต่างๆ เป็นภาพที่พวกเขาก็เห็นนั่นล่ะ แต่อาจไม่เคยตั้งใจมอง เพราะพวกเขาอยู่รอบๆ ตัวเรา ไม่ใช่แค่ในสังคม แต่อาจอยู่ในครอบครัวคุณด้วยเหมือนกัน