ทุกคืนวันปาร์ตี้ หลายวงเหล้าคงท่วมไปด้วยเรื่องเศร้า บางวงก็เอาอีกแล้ว มาอีกแล้ว เรื่องร้าวๆ เรื่องเดิม บางทีก็เป็นเราเองที่ขุดเอาเรื่องร้าวรานเดิมๆ กลับมาเล่าใหม่ ที่เล่าไปก็เจ็บไป ร้องไห้ไป
บางคนบอกว่า ถ้าเป็นแผลก็อย่าไปจับมัน ปล่อยให้เวลาเยียวยารักษาไป แต่บางครั้งการค่อยๆ เปิดปากแผลแผลในหัวใจ ค่อยๆ กลับไปเจ็บ กลับไปทำความเข้าใจ ทบทวนเรื่องราว ความรู้สึก ซึ่งการกลับไปร้าวซ้ำๆ อาจเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จิตใจอันซับซ้อนของเรารับมือและซ่อมแซมหัวใจที่เสียหาย
ในทางจิตวิทยา ซิกมุนต์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) พูดถึงแนวคิด ‘Repetition compulsion’ คำอธิบายที่อธิบายว่าทำไมคนที่ผ่านเหตุการณ์เจ็บปวดบางอย่างมา บางครั้งถึงมีพฤติกรรมพาตัวเองกลับไปสู่เหตุการณ์นั้นซ้ำๆ หรือกระทั่งฝันถึงเหตุการณ์ร้าวรานเก่าๆ แง่หนึ่งของการนำตัวเองกลับไปเจ็บเป็นเสมือนการที่จิตใจของเราหยิบเอาบทเรียนเก่าๆ มาเรียนรู้เพื่อรับมือต่อไป
รู้ว่าเจ็บ ยิ่งต้องหัดเจ็บบ่อยๆ
ฟรอยด์เป็นนักจิตวิทยาที่ให้ความสำคัญกับความเจ็บปวด วิธีการที่เราจัดการกับบาดแผล ความรู้สึก ฟรอยด์พูดถึง repetition compulsion คือการที่เราอาจกลับไปสู่ความเจ็บปวดเดิมซ้ำๆ ไว้ในบทความปี 1920 ชื่อ Beyond the Pleasure Principle ฟรอยด์พูดถึงการทำหรือเล่นซ้ำเหตุการณ์ร้าวๆ ในหลายกรณี ซึ่งเขาตั้งข้อสังเกตว่า เป็นกระบวนการที่จิตใจของเราเล่นซ้ำเพื่อเรียนรู้รับมือกับสถานการณ์ร้าวรานบางอย่าง
เคสหนึ่งที่ฟรอยด์สังเกตเห็นคือ ความฝัน เราต่างเคยฝันถึงเหตุการณ์เจ็บปวดบางอย่าง กรณีที่ฟรอยด์พูดถึงคือการที่คนไข้เคยประสบอุบัติเหตุ แต่คนไข้มักฝันถึงเหตุการณ์เดิมๆ ซ้ำๆ ส่วนหนึ่งฟรอยด์อธิบายว่าเป็นกระบวนการที่เราค่อยๆ เล่นซ้ำภาพความเจ็บปวดเพื่อค่อยๆ ยอมรับเหตุการณ์นั้น หรือพฤติกรรมการเล่นของเด็กๆ ที่ฟรอยด์สังเกตว่า เด็กมักโยนของเล่นออกจากเปล แล้วก็จะร้องไห้โยเย พอได้ของกลับไปก็โยนกลับมาใหม่ ฟรอยด์บอกว่า การที่เด็กทำแบบนี้ซ้ำๆ เป็นเหมือนการที่เด็ก ซ้อมรับมือกับความรู้สึกสูญเสีย (จิตใจเด็กน้อยมันจะซับซ้อนขนาดนั้นเชียว!?)
แนวคิดของฟรอยด์อาจเป็นข้อเสนอและข้อสังเกตจากยุคสมัยหนึ่ง แต่ประเด็นที่เราเล่นซ้ำเพื่อเปิดแผล การเปิดแผล เจ็บซ้ำๆ เพื่อเรียนรู้เข้าใจและสุดท้ายอาจจะเจ็บน้อยลงก็ฟังดูเข้าท่า บางครั้งการเล่า การขุดอดีตขึ้นมาก็เป็นการระบายอะไรบางอย่าง หรือหลายครั้งที่เราเติบโตขึ้น ความเจ็บปวดเล็กๆ ที่เราเคยคิดว่าใหญ่โตเมื่อหลายปีก่อน วันนี้เราพอเจ็บถี่ๆ เข้า เรื่องเจ็บๆ ที่เคยคับฟ้าก็อาจจะเป็นเรื่องขี้ปะติ๋วไปแล้ว
เล่าไปเล่ามา เอ้า เข้าใจเฉยเลย
มนุษย์เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่เล่าเรื่อง เราเล่าเรื่องราวต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจ การเล่าเรื่องของเราแต่ละครั้งเต็มไปด้วยความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ พูดด้วยภาษาง่ายๆ นึกสภาพเวลาที่เราหรือเพื่อนฟูมฟาย เล่าเรื่องรักร้าว แม้ว่าตัวเรื่องจะเป็นโครงเรื่องคล้ายๆ เดิม แต่ทุกครั้งที่เรื่องถูกขุดมาเล่าใหม่ หลายครั้งที่ความทรงจำ หรือมุมมองบางมุมถูกปัดฝุ่นหรือทำความเข้าใจใหม่
‘เออ ตอนนั้นเขาพูดอย่างนั้นเว่ย’… ‘มันโอเคหรอวะ’… ‘เออ แต่เขาก็โอเคนะ’ … นั่นไง แม้ว่าเรื่องราวเหตุการณ์จะเป็นเรื่องเดิม แต่หลายครั้งที่เรื่องนั้นถูกเล่าขึ้นมาใหม่ รายละเอียดบางอย่างก็ถูกนำขึ้นมาไฮไลต์ใหม่ บางครั้งก็มองเหตุการณ์เดิมนั้นในมุมมองที่ต่างออกไป หลายครั้งเข้ก็ามีลักษณะของการพยายามทำความเข้าใจ- และความเข้าใจ ก็ย่อมนำไปสู่การปล่อยวางและก้าวผ่านเหตุการณ์เจ็บปวดใจนั้นไปได้
มีการศึกษาการเล่าเรื่องเศร้าหรือเรื่องที่มีผลกระทบทางความรู้สึกของจิตใจ จาก Goethe University ประเทศเยอรมันตีพิมพ์ในปี 2011 ทดลองให้กลุ่มตัวอย่างเล่าเรื่องราวในชีวิตประจำวันที่ส่งผลกับความรู้สึกทั้งโกรธ เสียใจ สุขใจ และหลังจากผ่านไป 3 เดือน ก็ให้กลับมาเล่าเรื่องเดิมใหม่ ผลคือ การเล่าเรื่องราวในสามเดือนต่อมา กลุ่มทดลองค่อนข้างแยกตัวเองออกจากเหตุการณ์นั้นๆ มีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาน้อยลง รู้สึกเข้าใจและเอาตัวเองออกจากความยุ่งเหยิงนั้น เรื่องที่เคยเป็นเรื่องเชิงลบ มีแนวโน้มที่เราจะมองและทำความเข้าใจในทางบวกมากขึ้น
คล้ายว่าๆ ท่าทีที่เรามองและเล่าเรื่องแย่ๆ มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนไปตามกาล เราจะเล่ามันโดยสังเขปมากขึ้น รู้สึกเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นน้อยลง งานศึกษาของ Goethe University ยังค่อนข้างจำกัด คือกลุ่มตัวอย่างได้เล่าเรื่องราวที่ปะปนทั้งดีและร้าย เรื่องที่ถูกนำมาเล่าเป็นเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวัน และมีการให้เล่าเก็บข้อมูลแค่สองครั้ง แต่โดยรวม งานศึกษานี้ทำให้เห็นว่า มนุษย์เราใช้การเล่าเรื่องที่สัมพันธ์กับการทำความเข้าใจและยอมรับกับอารมณ์ความรู้สึกและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต
สองสามทุ่มแล้ว เรื่องเศร้าของเราพร้อมแล้วรึยัง ถ้าเราหรือเพื่อนคนไหนเตรียมร้องไห้ เล่าเหตุการณ์ร้าวรานอีกครั้ง คนเป็นเพื่อนก็ทำใจหน่อย ถือซะว่าเป็นส่วนหนึ่งของการพยายามทำใจรับมือ แต่ถ้ายิ่งเล่า ยิ่งจมปลัก อันนี้ก็ไม่เข้าข่ายเนอะ เล่าแล้วทำความเข้าใจ อย่าอยู่กับความเศร้านานเกินไปจะดีกว่า
อ้างอิงข้อมูลจาก
researchconference.kps.ku.ac.th