เขียนชื่อของเราสอง คล้องแม่กุญแจ จากนั้นก็โยนลูกกุญแจลงน้ำ!
จากกรณีที่มีนักท่องเที่ยวคู่รักทำการสลักชื่อของตัวเองลงบนกำแพงโคลอสเซียม ใจกลางกรุงโรม ประเทศอิตาลี เราก็อดไม่ได้ที่จะสงสัยต่อว่า เพราะเหตุใด มนุษย์เราจึงชอบสร้างวัตถุหลักฐานให้เป็นดั่งพยานแห่งความรัก
วัยเด็กเราใช้น้ำยาลบคำผิด เขียนข้อความ ฉัน หัวใจ ต่อด้วยชื่อของคนที่ชอบ ลงบนโต๊ะเรียนหรือประตูห้องน้ำ ก่อนที่ในวัยรุ่นถึงผู้ใหญ่ เราก็อาจชวนคนรู้ใจไปคล้องกุญแจแห่งรักตามจุดแลนด์มาร์กสำคัญทั่วโลก
สิ่งที่น่าสนใจคือจุดเริ่มต้นของการล็อกแม่กุญแจบนสะพาน แถมยังต้องโยนลูกกุญแจทิ้งลงแม่น้ำนั้นมาจากไหน ใครเป็นคนเริ่ม วัฒนธรรมนี้ส่งผลอย่างไรบ้าง แล้วอะไรทำให้คู่รักหลายคู่จึงยังโปรดปรานแนวทางนี้อยู่จวบจนปัจจุบัน
กุญแจแห่งความรัก แท้ที่จริงก็คือแม่กุญแจธรรมดาๆ ที่คู่รักนำมาคล้องไว้ตามจุดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรั้ว สะพาน อนุสาวรีย์ หรือแม้แต่ต้นไม้ โดยคู่รักส่วนมากจะสลักอักษรย่อของชื่อหรือเขียนข้อความสั้นๆ ไว้บนแม่กุญแจเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ ต่อด้วยการทำตามครรลองคือโยนลูกกุญแจทิ้งไป พร้อมอธิษฐานให้รักของเราเป็นนิรันดร์เฉกเช่นแม่กุญแจที่ไม่มีวันถูกเปิดตลอดกาล
ตลอดระยะเวลาหลายสิบปี สะพานแห่งรักซึ่งคู่รักใฝ่ฝันจะไปคล้องกุญแจมากที่สุดคือที่ปงเดซาร์ (Pont des Arts) สะพานซึ่งพาดผ่านลำน้ำแซนแห่งมหานครปารีส ด้วยชื่อเสียงเรียงนามของสะพาน ประกอบกับการที่ปารีสได้รับยกย่องว่าเป็นเมืองที่โรแมนติกที่สุดในโลก จึงไม่แปลกหากหลายคนจะหลงเข้าใจว่า กระแสการคล้องกุญแจเริ่มต้น ณ แดนน้ำหอมแห่งนี้ ทั้งที่ในความเป็นจริงต้นกำเนิดของการล็อกรักนี้มาจากประเทศเซอร์เบียและอิตาลีต่างหาก
ย้อนกลับไปเมื่อปี 1914 ไม่นานก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 1 จะเริ่มต้น ใจกลางเมือง Vrnjačka Banja ประเทศเซอร์เบีย ชายหนุ่มนามเรลยา (Relja) ตกหลุมรักกับนักเรียนสาวที่ชื่อนาดา (Nada) ทั้งคู่นัดพบกันที่สะพาน Most Ljubavi ทุกคืนด้วยความเชื่อที่ว่า อีกฝ่ายคืออีกครึ่งของใจที่อยากให้อยู่ด้วยกันไปตลอดชีวิต
แต่แล้วความรักก็มีเหตุให้พลัดพราก เมื่อเรลยาจำต้องไปร่วมรบในสงคราม และทำได้เพียงให้สัญญากับหญิงสาวว่าเขาจะกลับมา ทว่ามันกลับกลายเป็นคำมั่นที่เขาไม่มีวันทำตามได้
ในระหว่างออกรบ ชายหนุ่มมีรักครั้งใหม่กับหญิงสาวในเมืองเล็กๆ ของประเทศกรีซ เขาไม่เคยหวนคืนมายังประเทศบ้านเกิดอีกเลย ทิ้งให้นาดาที่ทราบเรื่องต้องทุกข์ใจจนล้มป่วย และในที่สุด เธอก็ตรอมใจจนเสียชีวิตโดยลำพังไม่นานหลังรับรู้ข่าวร้าย
เรื่องราวของนาดาทำให้สาวชาวเมืองคนอื่นๆ กังวลว่า ภาวะสงครามอาจทำให้ความรักของตนไม่มั่นคงเช่นเดียวกัน พวกเธอจึงรวมตัว สลักชื่อของตัวเองและคนรักลงบนแม่กุญแจ ก่อนจะนำไปคล้องไว้บนสะพานที่ดานาและเรลยานัดพบ คล้ายเป็นการแก้ชงด้วยไม่อยากให้ความสัมพันธ์ต้องจบลงอย่างน่าเศร้า นับเป็นครั้งแรกที่การคล้องกุญแจแห่งรักบนสะพานถูกบันทึกไว้บนหน้าประวัติศาสตร์
บรรดาแม่กุญแจบนสะพาน Most Ljubavi ดูจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเหล่าสะพานรักทั่วโลก ทว่าหลังสงครามโลกสงบลง ผู้คนก็เลิกแก้เคล็ดด้วยวิธีการดังกล่าว สะพานกลางเมืองกลับมามีสถานะเป็นสะพานธรรมดาอีกครั้ง จนกระทั่งกวีชาวเซอร์เบียอย่าง เดซานก้า มัคซิโมวิช (Desanka Maksimović) แต่งบทกวีว่าด้วยเรื่องราวของสะพาน ช่วยให้ตำนานแม่กุญแจและความโรแมนติกยังมีลมหายใจต่อไป แต่มันก็ถูกพูดถึงแค่ในประเทศเซอร์เบียเพียงเท่านั้น
จุดเริ่มต้นจริงๆ ของประเพณีนี้ถูกเชื่อว่ามาจากนักเขียนชาวอิตาลีที่ชื่อเฟเดริโก มอชชา (Federico Moccia) ผู้เขียน ‘I Want You’ หนังสือที่เล่าเรื่องคู่รักผู้ทำการล็อกกุญแจไว้ตรงเสาโคมไฟของสะพานมิลวิโอ (Ponte Milvio) ที่มีอายุมาตั้งแต่สมัยกรุงโรม
หนังสือของมอชชาได้รับความนิยมจนถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ และไม่นานหลังจากที่หนังออกฉาย เสาโคมไฟของสะพานก็เสียหายเพราะเหล่าคู่รักมากมายแห่มาทำตามตัวละครในเรื่อง แต่ความเสียหายของสะพานก็ไม่อาจต้านทานความต้องการของคนมีแฟนได้ เพราะทั้งเขาและเธอต่างพากันนำกุญแจไปคล้องที่สะพานอื่นๆ ต่อ ถึงขั้นที่รัฐบาลต้องออกมาตรการปรับเงินผู้ที่คล้องกุญแจตามเสาหรือสะพานเป็นเงิน 50 ยูโร
นับแต่นั้น วัฒนธรรมดังกล่าวก็แพร่กระจายไปยังประเทศอื่นๆ ในยุโรป ลุกลามมายังเอเชีย และในที่สุดก็เป็นที่นิยมไปทั่วโลก มีกระแสแรงในระดับที่ก่อปัญหาให้กับสะพานหลายแห่ง จนรัฐบาลในประเทศต่างๆ เริ่มขอความร่วมมือประชาชนให้หยุดการถ่วงสะพานให้หนักกว่าที่เป็นด้วยแม่กุญแจสลักชื่อ
วัฒนธรรมการคล้องกุญแจบนสะพานกลายเป็นเรื่องที่ถูกวิพากย์วิจารณ์อย่างหนักตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา โจนาธาน โจนส์ (Jonathan Jones) นักวิจารณ์แผนกศิลปะจากสื่อ The Guardian กล่าวว่า การคล้องกุญแจบนสะพานเป็นการกระทำที่โง่เขลาไม่ต่างจากการปีนภูเขาโดยทิ้งซองขนมไว้บนยอด หรือการตามหาชายหาดที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ที่สุด แต่จงใจทิ้งมวนบุหรี่ไว้บนผืนทรายนั้น
“บอกตามตรง นี่ไม่ใช่เรื่องที่โรแมนติก มันเป็นการทำลายล้างที่ป่าเถื่อนและหยิ่งยโส มันกำลังสร้างขยะไปพร้อมๆ กับโจมตีความงดงามที่ผู้คนควรจะได้เห็นจากการไปเที่ยวปารีสหรือกรุงโรม”
ประเด็นดังกล่าวลุกลามใหญ่โต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนมิถุนายน ปี 2015 เมื่อทางการปารีสสั่งห้ามนักท่องเที่ยวนำกุญแจมาคล้องที่ปงเดซาร์ หนึ่งในสะพานที่คู่รักเดินทางมาสร้างหลักฐานพยานรักมากที่สุด โดยเจ้าหน้าที่ชี้แจงว่า สะพานปงเดซาร์มีความเสี่ยงที่จะได้รับความเสียดายจากการรับน้ำหนักของแม่กุญแจที่หนักถึง 45 ตัน อีกทั้งปัญหามลพิษทางน้ำก็รุนแรงมากขึ้น เพราะถูกรบกวนโดยลูกกุญแจวันละหลายพันดอก
ทางการของเมืองฟลอเรนซ์และเวนิสเองก็มีความเห็นไม่ต่างกัน โดยสภาของเมืองกล่าวว่า ประเพณีนี้สร้างปัญหาต่อทัศนียภาพ ทั้งยังทำให้เกิดรอยขีดข่วนและรอยบุบของโลหะบนสะพานด้วย
ขณะที่ในเมืองวินนิเพก ประเทศแคนาดา ผู้หญิงคนหนึ่งก็เคยได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการขี่จักรยานข้ามสะพานที่เต็มไปด้วยแม่กุญแจ แล้วเคราะห์ร้ายถูกกุญแจเกี่ยวแขนจนล้มและต้องเย็บมากถึง 21 เข็ม
ปัญหาทั้งหมดที่ว่ามาคงพาให้หลายคนตั้งคำถามว่า ทำไมวัฒนธรรมคล้องกุญแจจึงยังได้รับความนิยมอย่าเหนียวแน่น ซึ่งเว็บไซต์ Kenyalogue ได้เผยเหตุผลที่น่าสนใจเอาไว้ 5 ข้อ
- สายน้ำไม่ไหลย้อนกลับ – การโยนลูกกุญแจลงแม่น้ำหมายความถึงสิ่งที่ไม่อาจทวงคืนหรือแก้ไข เท่ากับว่าแม่กุญแจที่ล็อกแล้วจะคงอยู่ที่นั่นตลอดไป และคู่รักมากมายก็หวังให้ความสัมพันธ์ของตัวเองเป็นแบบนั้นเช่นกัน
- ยึดโยงกับผู้คนในอดีต – เนื่องจากนี่เป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมาเป็นระยะเวลานาน จึงสมเหตุสมผลที่คู่รักหลายคู่จะอยากดำเนินรอยตาม
- เป็นกระแส – ปฏิเสธไม่ได้ว่าการกระทำนี้เป็นที่นิยมในระดับโลก ดังนั้นต่อให้ไม่เชื่อหรือไม่เข้าใจที่มา หลายคนก็อยากทำตามเพราะเห็นว่าใครๆ ก็ทำกัน เป็นกระแสที่ดูน่าสนุก
- เชื่อว่าโรแมนติกจริงๆ – มีสิ่งของหลากหลายที่มนุษย์ใช้สื่อความหมายว่าห่วงใย จึงไม่แปลกหากการสลักชื่อของตัวเองลงบนโลหะและผนึกไว้ที่ไหนสักที่จะเป็นหนึ่งในวิธีที่โปรดปราน เพราะนั่นจะทำให้ชื่อของเราทุกคู่คงอยู่ที่นั่นไปตลอดกาล แม้ตัวเราจะไม่อยู่แล้ว…ไม่รู้แหละว่าส่งผลเสียรึเปล่า แต่ในมุมหนึ่ง มันก็ดูจะโรแมนติกจริงๆ
- สร้างประวัติศาสตร์ – “อะไรจะดีไปกว่าการทิ้งมรดกและสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นต่อไปในเรื่องความรัก” เราไม่แน่ใจว่าใครเป็นคนกล่าวประโยคนี้ แต่กุญแจนับล้านที่ประดิษฐานอยู่ทั่วโลกก็ชี้ชัดว่าหลายคนเห็นด้วยกับข้อความข้างต้น
ก็คงต้องรอดูต่อไปว่า กระแสคล้องกุญแจบนสะพานจะคงอยู่อีกนานแค่ไหน และแม้จะมีหลายแห่งออกมาประกาศห้าม ทว่าก็มีหลากสถานที่สร้างใหม่ที่มีจุดประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่ของกองทัพกุญแจโดยเฉพาะ
ดังนั้น จริงๆ แล้วธรรมเนียมนี้อาจไม่ใช่เรื่องแย่ ขอแค่เราเลือกคล้องให้ถูกที่ถูกทางก็เท่านั้น
อ้างอิงจาก