ในเมื่อเขาเล่ากันว่า ‘พรรคพลังประชารัฐ’ นี่แหล่ะ จะเป็นฐานทางการเมืองสำคัญที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้สืบทอดอำนาจทางการเมือง ให้ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีกหลายปี
ดังนั้น ทันทีที่สมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งของพรรคพลังประชารัฐนัดมาประชุมกันช่วงบ่ายโมงของวันเสาร์ที่ 29 ก.ย. เพื่อเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดแรก ที่อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘วันก่อตั้งพรรค’
ในฐานะสื่อมวลชน เราจึงอดไม่ได้ที่จะขอเข้าไปสังเกตการณ์ เพื่อจะได้สำรวจตรวจสอบว่าจะเป็นอย่างที่ ‘เขาเล่าว่า’ จริงหรือไม่
งานมีขึ้นที่ IMPACT เมืองทองธานี ซึ่งด้วยอารมณ์ความรู้สึกของผู้ร่วมก่อตั้ง ก็คงจะหวังให้พรรคนี้สร้าง impact ต่อการเมืองไทย จนได้จัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งสมปรารถนา
ก้าวแรกที่เดินไปถึงสถานที่จัดงาน เราสัมผัสได้ถึงการจัดระเบียบอย่างเข้มงวด โดยมีทีม รปภ. ทรงผมขาวสามด้าน และออร์กาไนเซอร์มืออาชีพคอยกำกับ จนอดกระซิบกับเพื่อนนักข่าวด้วยกันไม่ได้ว่า – ราวกับเวลาที่คนสำคัญของรัฐบาล คสช. ไปร่วมงานอีเว้นต์นอกสถานที่ต่างๆ เลยทีเดียว – ก็แน่ล่ะ, พรรคนี้เขามีคนในรัฐบาลชุดปัจจุบันมาร่วมเป็นสมาชิกตั้งหลายคน
สื่อมวลชนราว 200-300 ชีวิต ถูกพาไปลงชื่อ ตรวจกระเป๋า และต้องคอยอยู่ระยะเวลาหนึ่ง ก่อนจะได้รับอนุญาตให้เข้าไปในห้องประชุม
ลำดับของงานเป็นไปตามแบบแผน ไม่มีอะไรน่าสนใจมากนัก เพราะหลังเปิด VTR เล่าความเป็นมาของพรรค (ที่ไม่ได้มีเบื้องหลังการก่อตั้งพรรคนี้อย่างที่ใครบางคนอยากเห็น เช่น ใครไปพบใครที่ทำเนียบรัฐบาล ชายผมขาวใส่แว่นมีบทบาทมากน้อยแค่ไหน ฯลฯ มีแต่การพูดถึงสิ่งที่พรรคนี้จะทำอย่างกว้างๆ)
ขณะที่บริเวณที่จัดงาน ก็เต็มไปด้วยโลโก้ของพรรค รูปรังผึ้งลายธงชาติ พร้อมสโลแกน ‘โลกเปลี่ยนเราต้องปรับ’ กับ ‘ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทย’
หลัง VTR ฉายจบ สื่อก็ถูกเชิญออกนอกห้องประชุม เพื่อให้สมาชิกพรรคได้คุยกันต่อ ทั้งเรื่องโลโก้ ชื่อย่อ อุดมการณ์ นโยบาย และที่สำคัญคือรายชื่อคณะกรรมการบริหารพรรคชุดก่อตั้ง 25 คน ที่ก็ต้องชมเพื่อนสื่อสำนักอื่นๆ ที่เช็คข้อมูลมาได้ตรงเป๊ะชนิด 100% โดยมี 4 รัฐมนตรี – อดีต กปปส. – ตัวแทนกลุ่มพลังชล – ตัวแทนกลุ่มสามมิตร รวมอยู่ด้วยตามโผ
สำหรับรายชื่อน่าสนใจ มีอาทิ
- อุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เป็นหัวหน้าพรรค
- สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นรองหัวหน้าพรรค
- สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เป็นเลขาธิการพรรค
- กอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกฯ เป็นโฆษกพรรค
- พรชัย ตระกูลวรานนท์ อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นเหรัญญิกพรรค
- วิเชียร ชวลิต อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นนายทะเบียนพรรค
- อิทธิพล คุณปลื้ม จากกลุ่มพลังชล เป็นผู้อำนวยการพรรค
- อนุชา นาคาศัย จากกลุ่มสามมิตร เป็นกรรมการบริหารพรรค
- พงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ (หลานของสุริยะ) จากกลุ่มสามมิตร เป็นกรรมการบริหารพรรค
- ณัฎฐพล ทีปสุวรรณ อดีตแกนนำ กปปส. เป็นกรรมการบริหารพรรค
เวลาผ่านไปชั่วโมงเศษ สื่อมวลชนก็ถูกเชิญกลับเข้าห้องประชุมอีกครั้ง เพื่อชมไฮไลต์ คือการส่งมอบเสื้อจากชวน ชูจันทร์ ผู้ที่ไปยื่นจดทะเบียนจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐกับ กกต. (และยืนยันมาตลอดว่าพรรคนี้ไม่ใช่ ‘นอมินีของ คสช.’) ต่อให้อุตตมมาสวมใส่ และอุตตมก็นำเสื้อพรรคไปสวมให้กับกรรมการบริหารพรรคชุดแรกจนครบทุกคน
ก่อนที่พิธีกรภายในงานจะชวนให้สมาชิกชุดก่อตั้งของพรรคที่มาร่วมประชุมราว 300 คน ร่วมกันโบกธง – ที่ใช้สีน้ำเงินเป็นหลัก – จากนั้นอุตตมจึงได้โอกาสกล่าวเปิดใจเป็นครั้งแรกในฐานะ ‘หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ’
อุตตมเริ่มต้นกล่าวถึงอุดมการณ์ของพรรค 7 ข้อ ได้แก่ 1) ยึดมั่นประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข 2) เป็นสถาบันทางการเมือง มุ่งพัฒนาประชาธิปไตยวิถีไทย 3) น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ 4) ก้าวข้ามความขัดแย้ง 5) สร้างสังคมที่เป็นธรรม ยึดหลักนิติรัฐ 6) ลดความเหลื่อมล้ำ และ 7) เตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21
ก่อนจะเล่าถึงแนวทางดำเนินการของพรรคอย่างคร่าวๆ
“พรรคนี้มีเจ้าของร่วมกัน พรรคนี้ไม่ได้เป็นของคนใดคนหนึ่ง และอีกไม่นานเกินรอ เราจะเปิดตัวคนที่สนใจมาร่วมงานกับเรา มาทำงานเพื่อชาติ มาออกแบบนโยบายที่เหมาะสมกับคนไทย ..เราจะเป็นพรรคที่จะก่อตั้งแบบถาวร ไม่ใช่เฉพาะกิจ”
โดย รมว.อุตสาหกรรม ยืนยันว่าจะยังไม่ลาออกจากตำแหน่งทันที แต่ถึงเวลาที่เหมาะสม (ที่ไม่ได้บอกว่าเมื่อใด) ก็จะเลือกสวมหมวกใบเดียวคือพลังประชารัฐ
เท่าที่สังเกต อุตตมซึ่งนิยามตัวเองว่าเป็น ‘นักวิชาการ’ ยังพูดบางช่วงแบบตะกุกตะกัก แถมแอบเรียกเสียงฮือฮาได้ครั้งหนึ่ง เมื่อพูดผิดว่าพรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคพลังประชาชน
หลังการเปิดใจเสร็จสิ้น สมาชิกพรรคพลังประชารัฐที่เป็นรัฐมนตรีทั้ง 4 คนก็ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน โดยยืนยันว่า ณ ขณะนี้จะเสนอชื่ออุตตมเป็น candidate นายกฯ ของพรรค แต่กว่าจะเลือกตั้งจริงก็อีกนาน ถึงเวลานั้นค่อยมาคุยกันอีกว่าจะเสนอชื่อใครเป็น candidate นายกฯ บ้าง แล้วจะเป็นคนในหรือคนนอก พร้อมกับยืนยันว่า พวกตนไม่ใช่คนของ คสช. แค่ไปทำงานร่วมกับ คสช. ในรัฐบาลเท่านั้น
เมื่อถามว่า สามารถเรียกแกนนำพรรคนี้ว่าเป็น ‘กลุ่มเพื่อนสมคิด’ ได้หรือไม่ เพราะทั้ง 4 รัฐมนตรีต่างก็เป็นคนใกล้ชิดกับสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ว่าที่รองหัวหน้าพรรคก็ตอบมาสั้นๆ ว่า คงจะเรียกเช่นนั้นไม่ได้ เพราะตนเป็นลูกศิษย์ ไม่ใช่เพื่อน “แต่ท่านสมคิดก็ถือเป็นที่ปรึกษาทางใจของพวกเรา”
เมื่อถามว่า คิดว่าจะได้ ส.ส.กี่ที่นั่ง และจะได้เป็นรัฐบาลชุดต่อไปหรือไม่ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ ว่าที่เลขาธิการพรรคก็ตอบว่า “คงจะตอบตอนนี้ไม่ได้ เพราะถ้าให้ตัวเลขมากไป เดี๋ยวพวกคุณก็หาว่าผมโม้” ก่อนจะหัวเราะและแยกย้ายกันเดินทางกลับ
ปิดพิธีการเบิร์ดเดย์พรรคพลังประชารัฐ ไว้ท่ามกลางคำถามมากมายที่ยังไม่มีคำตอบ หรือมีคำตอบทำนองว่า “ไว้ถึงเวลาแล้วจะบอก”
สรุป สาระสำคัญจากงานก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ
ที่ชัดเจนแล้ว
- 4 รัฐมนตรีของรัฐบาล คสช. เข้ามาเป็นกรรมการบริหารพรรค
- ไม่ลาออกจากรัฐมนตรี รอเวลาที่เหมาะสม
- กปปส. พลังชล สามมิตร เข้าร่วม
- ลุยเลือกตั้งแน่นอน ส่งผู้สมัคร ส.ส. ครบ 350 คน
ที่ยังไม่ชัดเจน
- คนอื่นๆ ใน ครม.ที่จะมาร่วมพรรคหรือไม่ แค่บอกว่าในอนาคตมีอีกแน่
- ช่วงเวลาที่ลาออกรัฐมนตรี บอกแค่ถึงเวลาแล้วจะบอก
- แม้ยืนยันว่า จะไม่ใช่ทรัพยากรของรัฐเอาเปรียบพรรคอื่นๆ แต่ก็ยังไม่บอกวิธีการ
- candidate นายกฯ 3 คนของพรรค จะมีใครบ้าง มีประยุทธ์ไหม (ถ้าตอนนี้เสนอชื่ออุตตม อนาคตค่อยมาคุยกัน)
ที่มาภาพหน้าปก
– Thai News Pix