ดูเหมือนว่า เครื่องมือสำคัญในการคำนวณ จำนวน ส.ส. ในระบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือ MMA จะไม่ใช่ ‘เครื่องคิดเลข’ แต่เป็น ‘โปรแกรม Microsoft Excel’ เพราะด้วยสูตรคำนวณจำนวน ส.ส.อันสลับซับซ้อน ต่อให้คุณเป็นเจ้าของเหรียญทองคณิตศาสตร์โอลิมปิกก็อาจจะหัวร้อนได้ ถ้าต้องมาคำนวณว่าแต่ละพรรคจะได้ ส.ส.กี่คนกันแน่
จากคะแนนดิบที่ กกต.ประกาศออกมา มีบัตรดี 35.53 ล้านใบ และมีพรรคที่ได้รับคะแนนถึง 77 พรรค โดยมี 5 พรรคที่ได้คะแนนหลักล้านขึ้นไป ประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ 8.43 ล้านเสียง พรรคเพื่อไทย 7.92 ล้านเสียง พรรคอนาคตใหม่ 6.27 ล้านเสียง พรรคประชาธิปัตย์ 3.95 ล้านเสียง และพรรคภูมิใจไทย 3.73 ล้านเสียง
อย่างที่เรารู้กันว่า ตามระบบเลือกตั้ง MMA การคำนวณ ส.ส. จะมาจาก 2 ทาง ประกอบด้วย
1.) ส.ส.เขต รวม 350 คน คือผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดในเชตเลือกตั้งนั้นๆ ทั้ง 350 เขต
2.) ส.ส.บัญชีรายชื่อ รวม 150 คน ที่ให้นำบัตรดีมาหาร 500 เพื่อคำนวณจำนวน ส.ส.พึงมี จากนั้นให้นำจำนวน ส.ส.พึงมี ไปลบ ส.ส.เขต เพื่อนำไปหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ ของพรรคนั้นๆ
ซึ่งกรณีตาม 2.) ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร หาก ส.ส.เขตของบางพรรคไม่ได้มีมากเกิน ส.ส.พึงมี หรือที่เรียกว่าเกิดกรณี overhang
หากนำจำนวนบัตรดี 35.53 ล้านใบ (หักคะแนนของพรรคที่ไม่ส่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ) ไปหาร 500 จะได้คะแนนเสียงเฉลี่ยต่อ ส.ส.พึงมี 1 คน จะอยู่ที่ 71,057 เสียง
ตามสูตร พรรคพลังประชารัฐ ส.ส.พึงมี 118 คนเศษ (ได้ ส.ส.เขต 97 คน) พรรคเพื่อไทย ส.ส.พึงมี 111 คนเศษ (ได้ ส.ส.เขต 137 คน) พรรคอนาคตใหม่ ส.ส.พึงมี 88 คนเศษ (ได้ ส.ส.เขต 30 คน) พรรคประชาธิปัตย์ ส.ส.พึงมี 55 คนเศษ (ได้ ส.ส.เขต 33 คน) และพรรคภูมิใจไทย ส.ส.พึงมี 52 คนเศษ (ได้ ส.ส.เขต 39 คน)
อย่างที่เห็นว่า พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.เขต เกิน ส.ส.พึงมี จึงเกิดกรณี overhang ที่ต้องไปปรับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ กระจายไปทุกพรรค ได้ให้ยอดรวม 150 คน
ปัญหาเกิดขึ้นมา เมื่อสูตรคณิตศาสตร์ถูกเขียนไว้ในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 เป็น ‘ภาษากฎหมาย’ ด้วยถ้อยคำกำกวม เปิดช่องให้ตีความได้กว้างขวาง
จนเมื่อสื่อมวลชนสำนักต่างๆ รวมถึงนักวิชาการ นำถ้อยคำที่ว่าไปตีความเพื่อคำนวณจำนวน ส.ส.ของแต่ละพรรค จึงได้ผลออกมาไม่เหมือนกัน และได้สูตรในการคำนวณหลักๆ ถึง 3 สูตร
1.) สูตรแรก นำ ส.ส.พึงมี – ส.ส.เขต ให้ได้ตัวเลขที่ใช้เพื่อคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ / เอาเฉพาะจำนวนเต็ม (ไม่รวมทศนิยม 4 หลัก) ไปปรับค่า overhang ให้ได้ 150 / นับจำนวนเต็มเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อก่อน / ส่วนที่เหลือให้คิดจากค่าเฉลี่ยทศนิยม 4 หลักที่มากที่สุด นำมาเติมจนครบ 150 คน
ผลการคิดคะแนนแบบนี้ จะทำให้มีพรรคได้ ส.ส. รวม 16 พรรค ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 137 คน พรรคพลังประชารัฐ 118 คน พรรคอนาคตใหม่ 87 คน พรรคประชาธิปัตย์ 54 คน พรรคภูมิใจไทย 52 คน พรรคเสรีรวมไทย 11 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 11 คน พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 คน พรรคประชาชาติ 6 คน พรรคเพื่อชาติ 5 คน พรรครวมพลังประชาชาติไทย 5 คน พรรคชาติพัฒนา 3 คน พรรคพลังท้องถิ่นไทย 2 คน พรรคเล็กๆ ได้ ส.ส. 1 คน รวม 3 พรรค
ถ้าจะเทียบให้พอเห็นภาพ ตามสูตรนี้ ขั้วไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ และพรรคพลังปวงชนไทย (ไม่นับรวมพรรคเศรษฐกิจใหม่ที่แสดงท่าทีไม่ค่อยชัดเจนนัก) จะมี ส.ส.รวมกัน 137+87+11+6+5+1 = 247 เสียง
2.) สูตรที่สอง ใช้ ส.ส.พึงมี – ส.ส.เขต ให้ได้ตัวเลขที่ใช้เพื่อคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ / เอาเฉพาะตัวเลขที่ใช้เพื่อคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ของพรรคที่ได้เกินค่าเฉลี่ยคะแนนเสียงต่อ ส.ส.พึงมีหนึ่งคน (ต้องได้เสียงอย่างน้อย 7.1 หมื่นเสียง) ไปปรับค่า overhang ให้ได้ 150 / นับจำนวนเต็มเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อก่อน / ส่วนที่เหลือให้คิดจากค่าเฉลี่ยทศนิยม 4 หลักที่มากที่สุด นำมาเติมจนครบ 150 คน
ผลการคิดคะแนนแบบนี้ จะทำให้มีพรรคได้ ส.ส. รวม 16 พรรค ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 137 คน พรรคพลังประชารัฐ 117 คน (ลดลงจากสูตรแรก 1 คน) พรรคอนาคตใหม่ 84 คน (ลดลงจากสูตรแรก 3 คน) พรรคประชาธิปัตย์ 54 คน พรรคภูมิใจไทย 52 คน พรรคเสรีรวมไทย 11 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 11 คน พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 คน พรรคประชาชาติ 7 คน (เพิ่มจากสูตรแรก 1 คน) พรรคเพื่อชาติ 5 คน พรรครวมพลังประชาชาติไทย 6 คน (เพิ่มจากสูตรแรก 1 คน) พรรคชาติพัฒนา 3 คน พรรคพลังท้องถิ่นไทย 2 คน (เพิ่มจากสูตรแรก 1 คน) พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 คน พรรคเล็กๆ ได้ ส.ส. 1 คน รวม 2 พรรค
3.) สูตรที่สาม ใช้ ส.ส.พึงมี – ส.ส.เขต ให้ได้ตัวเลขที่ใช้เพื่อคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ / เอาตัวเลขที่ใช้เพื่อคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อของทุกพรรค (ทั้งจำนวนเต็ม+ทศนิยมทั้ง 4 หลัก และไม่ตัดเอาเฉพาะพรรคที่ได้เสียงเกินค่าเฉลี่ยคะแนนเสียงต่อ ส.ส.หนึ่งคน หรือต้องได้เสียงอย่างน้อย 7.1 หมื่นเสียงออก) ไปปรับค่า overhang ให้ได้ 150 / นับจำนวนเต็มเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อก่อน / ส่วนที่เหลือให้คิดจากค่าเฉลี่ยทศนิยม 4 หลักที่มากที่สุด นำมาเติมจนครบ 150 คน
ผลการคิดคะแนนแบบนี้ จะทำให้มีพรรคได้ ส.ส. รวม 27 พรรค ประกอบด้วยพรรคเพื่อไทย 137 คน พรรคพลังประชารัฐ 116 คน (ลดลงจากสูตรแรก 2 คน) พรรคอนาคตใหม่ 80 คน (ลดลงจากสูตรแรก 7 คน) พรรคประชาธิปัตย์ 52 คน (ลดลงจากสูตรแรก 2 คน) พรรคภูมิใจไทย 51 คน (ลดลงจากสูตรแรก 1 คน) พรรคเสรีรวมไทย 10 คน (ลดลงจากสูตรแรก 1 คน) พรรคชาติไทยพัฒนา 10 คน (ลดลงจากสูตรแรก 1 คน) พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 คน พรรคประชาชาติ 7 คน (เพิ่มจากสูตรแรก 1 คน) พรรคเพื่อชาติ 5 คน พรรครวมพลังประชาชาติไทย 5 คน พรรคชาติพัฒนา 3 คน พรรคพลังท้องถิ่นไทย 3 คน (เพิ่มจากสูตรแรก 1 คน) พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 คน (เพิ่มจากสูตรแรก 1 คน) และพรรคเล็กๆ ได้ ส.ส. 1 คน รวม 13 พรรค
ตามสูตรนี้ ขั้วไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จะมี ส.ส.รวมกัน 137+80+10+7+5+1 = 240 เสียง
แม้ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. จะยังปฏิเสธให้ความชัดเจนว่า แล้วสูตรในการคำนวณประกาศผลเลือกตั้ง ส.ส.จะใช้สูตรใดกันแน่ ระหว่างสูตรที่ 1 ที่ 2 หรือที่ 3
แต่ก่อนหน้านี้ ก็เคยมีผู้บริหารสำนักงาน กกต. ส่งไฟล์ pdf วิธีการคำนวณ ส.ส. ให้กับสื่อมวลชน เพื่อใช้คำนวณจำนวน ส.ส.เบื้องต้น ประกอบการรายงานผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการแบบ real time ในคืนวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา
ที่ถ้าดูตามข้อมูลที่ปรากฎในไฟล์ pdf ดังกล่าว ดูเหมือนว่า กกต.จะใช้วิธีคำนวณ ส.ส. ตามสูตรที่ 3 มากกว่า
ซึ่งหาก กกต.เลือกใช้สูตรนั้นจริง จะทำให้มีพรรคต่างๆ ได้ ส.ส.มากถึง 27 พรรคด้วยกัน และบางพรรคที่นั่ง ส.ส. ทั้งที่ได้คะแนนเสียงทั่วประเทศเพียง 3 หมื่นกว่าคะแนน ‘ไม่ถึงครึ่ง’ ของค่าเฉลี่ยคะแนนเสียงต่อ ส.ส.หนึ่งคน ที่ต้องได้เกิน 7.1 หมื่นเสียงด้วยซ้ำ (ขณะที่บางพรรคต้องใช้คะแนนเฉลี่ยเป็นแสนต่อ ส.ส. 1 คน)
ถ้าที่สุดแล้ว กกต.ใช้สูตรนี้จริง ก็ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า เหตุใดบางพรรคได้คะแนนเสียงน้อยมาก แต่ยังได้ที่นั่ง ส.ส.อยู่
เช่นเดียวกับการที่บางพรรคได้จำนวน ส.ส.จากบัญชีรายชื่อ จนมี ส.ส.รวมทั้งหมด มากกว่า ส.ส.พึงมี ซึ่งเป็นคำถามว่าจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 91(4) หรือไม่
แต่สูตรคำนวณ ส.ส.อันซับซ้อนทั้งหมด อาจต้องถูกลบล้างและนำมาคำนวณใหม่ เพราะ กกต.ยังมีดาบที่ใช้เพื่อเปลี่ยนผลการเลือกตั้ง นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า ใบเหลือง ใบส้ม และใบแดง หากพบหลักฐาน ‘อันควรเชื่อได้ว่า’ ผู้สมัครายใดทุจริตการเลือกตั้ง
ถึงเวลานั้นโปรแกรม excel ต้องถูกเปิดขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อคำนวณต่อไปว่า ที่สุดแล้ว แต่ละพรรคจะได้ ส.ส.พรรคละกี่คน แล้วขั้วสนับสนุนหรือไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ฝ่ายไหนมีจำนวนเสียงในสภาฯ มากกว่ากัน