หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการ การแก้ไขเพิ่มเติม ‘ร่างกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา’ ประเด็นนี้ก็ได้สร้างเสียงวิจารณ์จากหลายฝ่ายที่กังวลว่า ร่างกฎบับนี้ได้ละเมิดสิทธิการแสดงออกของเด็กนักเรียน รวมถึง มีเนื้อหาที่เข้าข่ายรุกล้ำชีวิตส่วนตัวมากจนเกินไป
ประเด็นหลักๆ ที่กระทรวงศึกษาต้องการแก้ไข มีด้วยกัน 3 เรื่องคือ
- เพิ่มกฎห้ามรวมกลุ่ม มั่วสุม อันน่าจะก่อให้เกิดความไม่สงบ หรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน
- แก้ไขถ้อยคำเรื่อง ห้ามกระทำเกี่ยวกับการแสดงพฤติกรรมทางชู้สาวอันไม่เหมาะสมในที่สาธารณะ โดยตัดคำว่า “ในที่สาธารณะออก” เพื่อเป็นการห้ามโดยไม่จำกัดสถานที่
- แก้ไขลักษณะความประพฤติที่ห้ามกระทำเกี่ยวกับการออกนอกสถานที่พัก เพื่อเที่ยวเตร่หรือรวมกลุ่มอันเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น โดยตัดปรับจากการห้ามทำเฉพาะเวลากลางคืน โดยตัดคำว่า “เวลากลางคืน” ออก เพื่อเป็นการห้ามโดยไม่จำกัดเวลา
แม้ว่ากระทรวงศึกษาจะยืนยันถึงความจำเป็น และความต้องการปรับปรุงกฎที่ว่านี้ให้ทันสมัยมากขึ้น แต่เสียงวิจารณ์ก็ยังดูเหมือนจะยังไม่น้อยลง The MATTER จึงชวน แบม—ธัญชนก คชพัชรินทร์ เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท มาคุยกันถึงความน่ากังวลของกฎที่ว่านี้ พร้อมกับคำถามว่า เด็กไทยในยุคนี้ต้องเจอกับความกดดันในรูปแบบไหนบ้าง?
ทำไมถึงออกมาคัดค้านร่างกฎกระทรวงฉบับนี้
หลักๆ แล้วสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องของคำที่ค่อนข้างกำกวม เขาใช้คำที่กว้างและครอบจักรวาลมาก เช่นคำว่า ‘ศีลธรรมอันดี’ เราไม่รู้ว่ามันไปครอบคลุมถึงไหนบ้าง มันยังตีความได้หลายแบบ ทำให้เราไม่รู้ว่าเขาจะเอาคำนั้นมาใช้เพื่อเล่นงานนักเรียนจนเกินเหตุรึเปล่า มันยังค่อนข้างเข้าข่ายละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งทำอย่างนี้จะทำให้เด็กรู้สึกว่าโรงเรียนมันจะไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับเขา เขาก็จะยิ่งไม่กล้าแสดงออก
คำว่าศีลธรรมอันดีมันมีปัญหาตรงไหน
นิยามของมันค่อนข้างกว้าง เราก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไรบ้าง เป็นศีลธรรมอันดีของใคร ของโลกสากลรึเปล่า หรือว่าเป็นของไทย ซึ่งถ้าเป็นของโลกสากล มันก็อาจจะผิดศีลธรรมอันดีในตัวเองด้วยนะ เพราะมันละเมิดสิทธิการแสดงออกแบบสากล
แต่ถ้าเกิดเราไปเจอผู้ใหญ่แล้วเราไม่ได้นอบน้อม เราก็อาจจะผิดศีลธรรมอันดีของคนไทยก็ได้ ซึ่งมันก็เป็นข้อถกเถียงกันอยู่
เราเข้าใจที่ผู้ใหญ่ที่สนับสนุนร่างกฎกระทรวงฉบับนี้นะ เพราะเขาคงอยากให้เด็กได้อยู่ในลู่ในทาง ไม่ได้ไปมั่วสุม ไม่ไปก่อเหตุทะเลาะวิวาท แต่การออกกฎแบบนี้มันก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาที่จะได้ผลอยู่ดี เพราะเรามีกฎแบบนี้มาตั้งนานแล้วแต่ว่ามันไม่ได้ผล พอมีกฎที่ยิ่งรุนแรงขนาดนี้ เด็กยิ่งรู้สึกว่าเขาโดนกดดัน แล้วมันยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกต่อต้าน เด็กก็จะรู้สึกไม่ไว้ใจกับการที่ต้องบอกความจริง หรือปรึกษาครูในเรื่องต่างๆ
คิดว่าร่างกฎนี้มันจะทำให้เด็กนักเรียนออกไปเคลื่อนไหวยากขึ้นไหม
อันนี้คือสิ่งที่น่ากลัวมากๆ มันเหมือนกับกฎควบคุมการชุมนุมเลย ถ้ากฎกระทรวงนี้ออกไป มันจะเป็นแม่แบบให้กับโรงเรียน แล้วโรงเรียนอาจจะใช้เพื่อไม่ให้เด็กไปร่วมชุมนุม ไม่ให้ออกไปทำกิจกรรมเคลื่อนไหวในที่สาธารณะ เด็กเองก็จะไม่กล้า เพราะเขาอาจจะโดนหักคะแนนความประพฤติก็ได้ เด็กอาจจะเรียนไม่จบ และเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าแต่ละโรงเรียนจะเอากฎนี้ไปปรับใช้อย่างเข้มงวดขนาดไหนบ้าง
อีกประเด็นที่พูดถึงกันค่อนข้างเยอะ คือเรื่องกำหนดพฤติกรรมชู้สาวที่ไม่เหมาะสม ซึ่งฉบับใหม่นี้ตัดคำในที่สาธารณะออกไป
ข้อนี้น่าเป็นห่วง เราเชื่อว่ากฎนี้มันมีชนวนมาจากเหตุการณ์ในสวนลุมพินีที่มีนักเรียนไปมีอะไรกันในห้องน้ำ พอเกิดเสร็จไม่กี่วันก็มีร่างนี้ออกมาเลย
ถ้าเกิดว่ากฎนี้ออกมาเพื่อไม่ให้นักเรียชิงสุกก่อนห่าม หรือแก้ปัญหาท้องก่อนวัย เราคิดว่ามันคือการฝืนธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ได้บอกว่าเด็กทุกคนต้องมีอารมณ์ทางเพศตลอดเวลา แต่การทำแบบนี้มันไม่ช่วยให้ปัญหาลดลง เพราะลองคิดดูว่า ประเทศเราพูดถึงเรื่องนี้กันตลอด เช่น ห้ามมีอะไรกันก่อนเรียนจบหรือก่อนแต่งงาน ขณะที่วัฒนธรรมเราพูดแบบนี้ แต่เด็กเรายังไปสู่จุดนั้นกันเยอะ มันก็หมายความว่า การออกกฎมาไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง
เราควรสอนให้เขาป้องกันตัวเองมากกว่า หรือนำมาพูดเป็นเรื่องที่พูดคุยกันได้อย่างปกติระหว่างครูกับเด็ก มันน่าจะแก้ปัญหาตรงนี้ได้ดีมากกว่า
ตอนนี้คุณออกกฎที่กว้างมาก บอกว่าห้ามมีพฤติกรรมเชิงชู้สาวในที่สาธารณะ แล้วตัดคำว่าสาธารณะออกด้วย เด็กก็จะยิ่งรู้สึกว่า แล้วเราทำอะไรได้บ้าง จับมือได้ไหม กอดได้ไหม การเป็นมนุษย์คนนึงนั้นการแสดงความรักต่อกันมันไม่ใช่เรื่องผิดอะไร กฎแบบนี้มันแก้ปัญหาอะไรไม่ได้
แปลว่ากฎนี้ไม่ควรมีตั้งแต่แรกอย่างนั้นเหรอ
ใช่ ไม่ควรมีตั้งแต่แรก เข้าใจว่าอยากให้เด็กไม่ออกนอกลู่นอกทาง แต่มันแก้ไม่ได้ไง เรามีกฎตรงนี้เป็นจารีตเลยแต่ก็แก้ไม่ได้ ทุกอย่างมันพิสูจน์อยู่แล้วว่ามันแก้ปัญหาไม่ได้ หรือเราจะต้องเปลี่ยนวิธีแก้แบบใหม่ เราเห็นตัวอย่างมาจากอดีตกันแล้ว เราอาจจะต้องเรียนรู้กันบ้างว่าทำแบบนี้ไม่ได้ผล
ถ้าคิดแบบพยายามเข้าใจกระทรวงศึกษาล่ะ คิดว่าเขาต้องการอะไรจากการปรับปรุงกฎที่ว่านี้
ถ้าพูดแบบเข้าใจเขา เขาคงต้องการปกป้องเด็กแล้วหามาตรการควบคู่ไปกับ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก เขาอยากให้เด็กอยู่ในลู่ในทาง ไม่ออกนอกคอก นอกกรอบให้มันหลุดไป เช่น ห้ามไปมีอะไรกัน มั่วสุมยาเสพติด แต่เราไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมเขาถึงใช้คำที่กว้างขนาดนี้ คือถ้าไม่ต้องการให้ยุ่งกับยาเสพติด ก็เขียนไปเลยว่าห้ามมั่วสุมยาเสพติด คือบอกตรงๆ ไปเลย
เป็นไปได้ไหมที่เขาตั้งใจเขียนให้มันกว้างๆ เอาไว้ก่อน
ก็ไม่แน่นะ เขาอาจตั้งใจให้มันกว้างๆ เพื่อนำกฎนี้ไปใช้ในอนาคตได้อย่างสบายใจ โดยอ้างว่ากฎมันสามารถตีความได้อย่างนี้ไง คิดว่าเขาคงอยากควบคุมเด็กได้ ถ้าเกิดว่าปล่อยให้เด็กมีอิสระไป ถึงเวลาคงจะดัดยาก
อย่างล่าสุดตอนที่เคลื่อนไหวคัดค้านร่างกฎกระทรวง เห็นทางกลุ่มใช้สโลแกนเคลื่อนไหวว่า หยุดคิดแทนแล้วให้เราเติบโต อะไรคือประเด็นที่เราอยากสื่อสารผ่านสโลแกนนี้
เราตั้งใจทำให้เขารู้สึกว่าการควบคุมมันไม่ได้แก้ปัญหาที่เขาหวังว่าจะแก้ได้ แล้วมันก็ยังทำให้เด็กไม่ได้เติบโต อย่างที่มนุษย์ในวัยเขาควรจะได้รับ ผู้ใหญ่เขาชอบมองเราเป็นเหมือนกับอะไรสักอย่างที่เราต้องถูกสร้างออกมาให้มันเหมือนๆ กัน
แต่ถ้าเขามองเราเป็นมนุษย์ เราก็จะไม่ถูกห้ามอะไรเยอะขนาดนี้ เขาจะโอเคกับการที่เรามีแฟนตอนเรียน เขาอาจจะโอเคกับการที่เราไม่ได้สอบเข้ามหาวิทยาลัยตรงตามช่วงเวลาทั่วไป คือเขาไม่ได้มองว่าเราเป็นคนที่มีทางเลือก เขามองว่าเราต้องเดินตามขั้นตอนหนึ่ง สอง สาม
คิดว่าการต้องเป็นเด็กที่ดีในนิยามของกระทรวงศึกษา มันมีข้อน่ากังวลอะไรบ้างไหม
ตัวเด็กจะกดดัน ถ้าเกิดว่าคุณพยายามใส่ความพยายามของคุณมากเกินไป บอกให้เด็กทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ผู้ใหญ่ก็ไม่ได้เป็นแบบอย่างที่ดีเหมือนกัน คือมันก็เป็นภาพสะท้อนความเป็นจริง สังคมไทยไม่ได้ดีอย่างที่เขาพยายามปลูกฝังให้เรา เหมือนเขาเห็นว่าสังคมมันเน่า เขาเลยพยายามปลูกฝังให้เราไม่เน่าตามสังคม แต่เขาไม่เคยสอนให้เรามีเกราะป้องกัน
เราพูดเสมอว่าโรงเรียนเป็นภาพจำลองของสังคม แต่จริงๆ แล้วเราไม่เคยได้ลองทำอะไรอย่างที่สังคมปกติเขาได้ทำ เราเคยได้ลองแต่งตัวรึเปล่า ได้ลองมีแฟนอย่างรู้สึกสบายใจได้ไหม การมีแฟนในวัยเรียน ก็มักถูกครูมองว่าทำไมเรารีบจัง ทำไมไม่เรียนก่อน กลับไปตั้งใจเรียนให้พ่อแม่ภูมิใจก่อนไหม มันก็ไม่ได้ทำให้เด็กเรียนรู้ว่าสังคมจริงๆ แล้วเป็นยังไง
คิดว่าวันนี้เราเป็นเด็กดีตามนิยามแบบกระทรวงศึกษาไหม
แบมคงไม่ใช่เด็กดี เมื่อวานเพิ่งไปค้านเขามา (หัวเราะ) เราตั้งคำถามเยอะมาก เขาอาจจะไม่ชอบเด็กที่ตั้งคำถาม เพราะรู้สึกว่าก็ทำตามไปเถอะ จะอะไรเยอะแยะ
ถ้ามองในมุมของผู้ใหญ่ เขาก็อาจจะเป็นห่วง และไม่อยากให้เด็กออกไปไม่วุ่นวายนะ เลยจำเป็นต้องออกกฎหรือตีกรอบแบบนั้น
มันเป็นสิ่งที่เขาพยายามจะทำกับเรา แล้วสะท้อนความคิดของคนในสังคมออกมาว่า เป็นเด็กต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ ต้องเดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด เขามองว่าเด็กไม่มีวิจารณญาณมากพอที่จะตัดสินใจทำอะไรด้วยตัวเองแล้วมันจะเกิดผลดี ซึ่งตรงนี้มันน่าเป็นห่วง เด็กไม่ได้คิดอะไรเองเลย แล้วจะให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพได้ยังไง
เราโดนคิดให้ทุกอย่างแล้ว เด็กจะได้ฝึกการคิดวิเคราะห์ ได้ฝึกตัดสินใจได้ยังไง พอโตขึ้นเขาก็ต้องเรียนรู้ใหม่หมดเลย อยู่ที่โรงเรียนเขาไม่เคยได้ลองทำสิ่งที่คนปกติเขาทำกัน แบบคนในวัยเขาควรได้ลองทำ เราไปออกกฎให้หมดแล้วว่าเด็กต้องเดินตามเส้นที่ถูกขีดมาให้ มันจึงไม่แปลกเลยที่ผลผลิตของการศึกษามันจะมีข้อผิดพลาดเยอะ เพราะเราไม่เคยเรียนรู้หรือได้ตัดสินใจเลย
โลกที่ผู้ใหญ่ขีดเขียนมาให้คือยังไง อยากให้ลองขยายความเพิ่มหน่อย
คือเราพยายามจะสอนให้เด็กเป็นเหมือนๆ กัน ต้องเดินตามกรอบ ตามถนนเส้นนี้ที่ผู้ใหญ่หามาให้เหมือนกัน เราเข้าใจว่ามันคือความเป็นห่วงที่เขาพยายามใส่มาให้ แต่ในโลกปัจจุบันมันอาจจะไม่ได้ผลแล้ว เพราะทุกอย่างมันไปเร็วมาก ในโลกที่เราต้องอยู่ในกรอบๆ เดียวกันทั้งหมด เส้นเดียวกันทั้งหมด มันไม่ได้ทำให้เกิดความหลากหลายขึ้น
คิดยังไงกับประโยคที่ว่าผู้ใหญ่เขาอาบน้ำร้อนมาก่อน
มันก็เป็นประโยคที่จริงนะ แต่ประสบการณ์ของเขามันอาจจะถูกสำหรับเขา แต่ไม่ได้ถูกต้องสำหรับทุกคน เราก็อาจจะฟังไว้ได้ แต่เขาก็คงไม่สามารถบังคับให้เราเชื่อได้ เรารู้สึกว่า ทุกวันนี้ผู้ใหญ่บางคนพยายามที่จะยัดประสบการณ์ของตัวเอง เช่น โลกมันเป็นแบบนี้ ถ้าคุณทำแบบนี้ คุณก็อาจจะพลาดเหมือนเราได้ เขาก็จะด่วนตัดสินไปเลยว่ามันต้องเป็นแบบนั้นแน่ๆ ทั้งที่ความจริงแล้วมันไม่ได้มีแค่คำตอบเดียว มันก็เหมือนกับการทดลองวิทยาศาสตร์ ที่เราทดลองทำอะไรไปแล้วมันก็อาจจะไม่ได้คำตอบเหมือนกันในทุกครั้งก็ได้
อะไรคือความสำคัญของการได้ฝึกเองลองเอง
มันเป็นการเรียนรู้ที่จริงที่สุดแล้ว เรียนจากตำรามันเป็นภาคทฤษฎี แต่พอได้เรียนรู้เอง มันก็ทำให้เรารู้ว่า เราก็ไม่รู้เลยว่าเราอยู่จุดไหนของสิ่งที่เราเรียน เหมือนที่เขาสอนมา โอเคแหละ มันเป็นสิ่งที่ดี เราก็ต้องเรียน แต่ประสบการณ์มันสำคัญมากกว่า มันเป็นสิ่งที่หล่อหลอมตัวตนของเรา
แม้ว่าเลือกไปแล้วมันได้ผลลัพธ์ที่ผิดจากที่หวังไว้
มันก็โอเคนะ จริงๆ แล้วการที่เราผิด เราจะรู้สึกมากกว่า เหมือนกับว่า ถ้าเกิดเราไปทำตามที่เขาบอก เราจะรู้สึกว่างเปล่า ชีวิตดูไม่มีจุดหมาย ปัญหาของเด็กไทยส่วนใหญ่ตอนนี้คือไม่รู้อยากจะเป็นอะไรในอนาคต ไม่รู้ว่าอยากเข้ามหาวิทยาลัยอะไร ไม่รู้ว่าอยากเรียนอะไร สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากวัฒนธรรมที่ผู้ใหญ่พยายามปูทางให้เราตลอดเวลา จนทำให้เด็กไม่รู้ว่าเขามีทางเลือกอะไรเป็นของตัวเองบ้างไหมในสังคมแบบนี้
ฟังดูแล้วเป็นเรื่องใหญ่พอสมควรเลย แล้วอย่างนี้คิดว่าทำไมการศึกษาในภาพรวมๆ ถึงทำให้เราหาตัวเองไม่เจอ
หนึ่งคือทางเลือกน้อยด้วย ทุกวันนี้เด็กไม่ได้มีทางเลือกที่จะเรียนโรงเรียนต่างๆ มากเท่าไหร่ เพราะส่วนใหญ่แล้วแทบทุกโรงเรียนก็จะมีหลักสูตรคล้ายๆ กันหมด ยกเว้น โรงเรียนอินเตอร์หรือหลักสูตรพิเศษ แต่สำหรับโรงเรียนรัฐที่ขึ้นอยู่กับกระทรวงมากๆ เขาก็ต้องทำตามสิ่งที่กระทรวงบอก หลายอย่างก็กดดันให้เด็กเป็นเด็กเหมือนๆ กัน เราควรส่งเสริมให้เด็กแต่ละคนเป็นอย่างที่เขาต้องการมากกว่า
คิดว่าการได้ลองผิดลองถูก มันสำคัญอย่างไรกับการเติบโตของเด็ก
เราอยู่ในยุคที่เราสอนจากตำราอย่างเดียวไม่ได้ มันต้องเข้าไปเรียนรู้และมีประสบการณ์กับมันเอง เช่น สอนว่าอย่าแต่งตัวขาสั้นหรือสายเดี่ยวนะ เด็กก็คงไม่เข้าใจ ในสังคมข้างนอกมันก็ไม่มีใครแนะนำเขาได้ โรงเรียนอาจจะลองให้เขามีสิทธิเลือกอะไรบางอย่างตั้งแต่อยู่ที่โรงเรียน
ในโรงเรียนตอนนี้ เรามีโอกาสได้ลองผิดลองถูกมากแค่ไหน
น้อย ถ้ามีอยากมีอิสระอย่างสบายใจ เราก็คงต้องเป็นอย่างที่เขาบอก ก็คืออยู่ในวันเรียนก็ต้องเรียน เรียนอย่างเดียว ไม่ต้องไปเที่ยว ไม่ต้องมีแฟน ไม่ต้องออกความคิดเห็นทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น
ถามว่าเราทำสิ่งที่อยู่นอกเหนือกรอบได้ไหม เราก็ทำได้ แต่มันจะผิดกับความต้องการที่ผู้ใหญ่อยากให้เราเป็น แล้วเราก็จะถูกสังคมกดดันค่อนข้างเยอะ ดังนั้น มันไม่ใช่เสรีภาพที่เรารู้สึกสบายใจ แต่เรารู้สึกว่า การที่เราจะมีอิสระเราต้องต่อสู้กับค่านิยม และความคิดของสังคม
คือเราไม่ได้บอกว่าผู้ใหญ่หรือเด็กทุกคนเป็นเหมือนกัน คือก็มีคนที่ชอบอยู่ในกรอบหรือกฎระเบียบเหมือนกัน
ตอนนี้เราเริ่มถูกมองว่าเป็นแอคทิวิสต์แล้ว กังวลอะไรไหม
เราก็ไม่กล้าเรียกตัวเองเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน ในเมืองไทยยังดูเป็นคำที่น่ากลัวนิดนึง เราก็กังวลกับความคิดของคนในสังคมที่สะท้อนกลับมา ในความเห็นตามข่าวต่างๆ ก็จะมีคนมาเขียนว่า เป็นเด็กวัยเรียนจะมายุ่งเรื่องนี้ทำไม รอเรียนจบไปเป็น ส.ส. เป็นนักการเมืองค่อยมายุ่งนะ หรือไม่ก็กลับไปช่วยพ่อแม่ขายของไป มาหาเสรีภาพทำไม คือคนไทยหลายคนไม่ได้เห็นความสำคัญของสิทธิเสรีภาพ
เราเคยถามเพื่อนว่าสิทธิเสรีภาพนี่สำคัญไหม เพื่อนก็บอกว่าไม่สำคัญ เพราะเราไม่เคยมีมันอยู่แล้ว ไม่มีก็อยู่ได้ ชินแล้ว ไม่จำเป็นต้องมี คือมันน่าเจ็บปวดนะ เด็กอายุ 17 เท่าเราแต่เขารู้สึกสิ้นหวังกับเรื่องเสรีภาพ อะไรที่หล่อหลอมให้คนลืมเลือนความสำคัญของมันไป เราไม่ได้ถูกปลูกฝังกันว่า มนุษย์ควรมีเสรีภาพ และเราทุกคนเกิดมาแล้วควรเป็นอิสระ แต่เราถูกสอนว่าต้องสร้างชื่อเสียงเพื่อให้โรงเรียนภูมิใจ มันเลยน่าเป็นห่วงว่าทัศนคติของเรามันไม่ได้สนับสนุนเรื่องสิทธิเสรีภาพ เด็กที่เป็นผลผลิตของสังคมก็ต้องมารับช่วงต่อกับสิ่งเหล่านี้
เท่าที่คุยกันมา ดูแล้วแบมเป็นคนที่ขี้สงสัยเหมือนกัน คิดว่าความสงสัยมันสำคัญยังไงบ้าง
การตั้งคำถามสำคัญมาก เมื่อก่อนเราทำอะไรไปธรรมดา ใช้ชีวิตปกติ กลับบ้าน ดูละคร เล่นเกม ไม่ได้ตั้งคำถามเลยว่าแล้วชีวิตเรามีมาเพื่ออะไร อะไรคือคุณค่าของชีวิต การตั้งคำถาม หรือเป็นเด็กขี้สงสัยมันจะช่วยให้ความคิดของเรามันลึกซึ้งมายิ่งขึ้น ไม่ใช่ว่าเรียนไปแล้วท่องจำอย่างเดียว
อะไรคือจุดเปลี่ยนของตัวเราที่หันมาตั้งคำถามกับสังคม
ตอนนั้นไปอังกฤษแล้วไปลงเรียนวิชาการเมืองตามเพื่อน เป็นพวกมาลากไป ก็ลองเรียนกับเขาบ้าง แล้วครูที่นู่นก็ถามมาว่า เธอคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับไหนของประเทศเธอดีที่สุดหรอ เราก็ตอบไม่ได้
เราเลยรู้ว่าที่ผ่านมา การศึกษาเราสอนแค่ให้เรารู้ว่า รัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุดของประเทศ เราก็ตอบได้แค่นี้แหละ แต่เขาไม่ได้สอนให้เราเรียนรู้ไปมากกว่านั้น เช่น รัฐธรรมนูญปี 2540 มันดียังไง มันให้สิทธิเสรีภาพกับคนเยอะขนาดไหน จากนั้นเราก็เลยอยากลองศึกษาเรื่องต่างๆ มากขึ้น เรารู้สึกว่ามันเป็นมิติใหม่มาก พอยิ่งเรียนเรื่องรัฐศาสตร์ มันก็ไม่ใช่การท่องจำอย่างเดียว แต่มันคือการไปดูว่าฐานคิดใต้การกระทำต่างๆ นั้นคืออะไรบ้าง
วันนี้โรงเรียนให้โอกาสเราได้ตั้งคำถามแค่ไหน
โอเคแหละ ครูเปิดโอกาสให้เราได้ถามช่วงท้ายคาบเรียน แต่เราคิดว่ากระบวนการแบบนี้มันเริ่มต้นช้าไป โรงเรียนควรจะให้เด็กได้ฝึกแสดงออกทางตัวตนตั้งแต่ยังเล็กๆ ไม่ใช่เพิ่งมาเริ่มทำตามตอนมัธยมปลายแล้ว ถ้าเขาปลูกฝังให้เราได้พูดได้แสดงออกตั้งแต่เด็กก็น่าจะดีกว่านี้
อะไรคือเรื่องแรกๆ ที่อยากเปลี่ยนแปลงในการศึกษาบ้านเรา
อยากเปลี่ยน mindset ก่อน ซึ่งมันก็ยากมากเพราะมันทำภายในปีสองปีไม่ได้ มันต้องยาวกว่านั้น มันเป็นการต่อสู้กับวัฒนธรรมและความคิดของคน อย่างที่เราออกมาสู้กับกฎกระทรวงฉบับนี้ หลายคนก็มองว่าเราก้าวร้าว ไม่รู้หน้าที่ของตัวเอง ซึ่งจริงๆ แล้วเราไปห้ามตรงนี้มันไม่ได้แก้ปัญหาได้จริง เขามองว่าเด็กต้องทำหน้าที่ของเด็กก็คือเรียนเท่านั้น ห้ามไปทำอย่างอื่น คือเราไม่ได้ให้เด็กเดินตามเส้นทางที่เขาอยากไป เราสนับสนุนให้เขาเป็นคนแบบที่ผู้ใหญ่ต้องการเท่านั้น
ถ้าเป็นรูปธรรมหน่อย เราอยากให้รัฐกระจายอำนาจให้กับโรงเรียนมากขึ้น เพื่อไม่ให้สังคมเราต้องเหนื่อยกับการแก้ปัญหาทีละเรื่อง
การศึกษาไทยแค่เรื่องความคิดก็ปวดหัวแล้ว ไหนจะเรื่องหลักสูตร กฎระเบียบ และอีกหลายอย่างที่ควรแก้ไขมาก แต่ถ้ามีการกระจายอำนาจ โรงเรียนก็จะมีสิทธิออกแบบหลักสูตร หรือกฎระเบียบของตัวเอง โดยที่เรามีมาตรฐานเป็นกลางๆ ไว้อันนึงก็พอแล้ว ตอนนี้ทุกอย่างมันมาจากศูนย์กลางมาก เราก็น่าจะได้โรงเรียนที่หลากหลายมากขึ้น เด็กก็จะมีทางเลือกมากขึ้น ที่ผ่านมาเด็กเราเลือกไม่ค่อยได้ จะทำอะไรก็เหมือนกันไปหมด
แล้วคิดว่าบทบาทของผู้ใหญ่ควรเป็นไงดี
ผู้ใหญ่น่าจะปล่อยลงบ้าง ยุคนี้มันไม่ได้เหมือนยุคก่อนๆ แล้วที่เขาสามารถถูกควบคุมได้ แล้วเขาก็รู้สึกว่ามันดี แต่ยุคนี้อะไรๆ มันไปเร็วมาก จะให้ไปเชื่อฟังอย่างเดียวเด็กก็เรียนรู้ไม่ทัน เด็กต้องได้มีโอกาสหาความรู้เอง ต้องได้เรียนรู้ที่จะตั้งคำถาม ต้องลอง ต้องได้ล้มมันถึงจะเข้าใจ
ซึ่งวันนี้ไม่ปล่อยให้เด็กล้มเลย เด็กไม่กล้าล้ม ไม่กล้าทำอะไรทั้งนั้น ชีวิตขอแค่อยู่ในโซนปลอดภัยที่สุด
การถูกปล่อยให้ได้ล้มเองสำคัญแค่ไหน
ถ้าเราไม่ล้ม เราก็อาจจะไม่รู้ก็ได้ว่าเราต้องการอะไร เรารู้สึกว่า ตอนที่เราเริ่มที่จะมีเป้าหมายในชีวิต เริ่มมีความฝัน มันเป็นหลังจากช่วงเวลาที่เราผิดหวังกับอะไรบางอย่างมา ตอนนั้นเหมือนเราได้เรียนรู้ตัวเองมากขึ้นจากความผิดหวัง ที่มันเป็นเรื่องที่เราต้องทำอะไรสักอย่าง
ถ้าเราไม่ได้ล้มเลย ทำตามกระแสสังคมไปเรื่อยๆ เราเดินไปตามที่เขาบอกเรื่อยๆ ตัวตนของเราก็จะเป็นไปตามที่สังคมต้องการ เราดูละคร เราก็มีตัวตรไปตามละคร ดูหนังก็เป็นไปตามหนัง เราก็ไปเรื่อยๆ ไม่ได้รู้สึกว่าเราต้องเป็นตัวของตัวเอง ใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ
ทุกวันนี้การศึกษาไทยไม่ได้ปล่อยให้เราล้ม แต่เราไปล้มกันเองในสังคมข้างนอก เราไม่ได้ลองผิดพลาดในเรื่องของประสบการณ์การทำงาน หรือผิดพลาดในเรื่องอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องกับการเรียน
ทำให้เวลาเราไปอยู่ในสังคมจริงๆ เราก็จะไม่ได้เรียนรู้สิ่งที่เราควรจะเรียน คือเราต้องไปเรียนรู้เองใหม่ทั้งหมด มันล้มช้าไปแล้ว สุดท้ายก็อาจจะแย่กว่าเดิม