แต่งตัวโป๊เอง? ตบมือข้างเดียว จะดังเหรอ? ผู้หญิงเองก็ไม่ธรรมดา
กลายเป็นหนังม้วนเดิมฉายซ้ำแทบทุกครั้ง เมื่อเกิดเหตุล่วงละเมิดทางเพศ ข้ออ้างโยนความรับผิดชอบให้ผู้เสียหาย มักเป็นเสียงดังขึ้นลอย ๆ และโซเชียลมีเดียก็กระพือให้ข้อความเหล่านี้ชัดเจนขึ้น ทั้งที่มีการศึกษาบางส่วนหักล้มมายาคติเหล่านี้มานับครั้งไม่ถ้วน
The MATTER มีโอกาสพูดคุยกับ ปณิธี บราวน์ อ.ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ ถึงเหตุที่มายาคติรายล้อมปัญหาการข่มขืน ยังคงงอกงามในสังคมไทย พร้อมชวนสำรวจผลการศึกษาที่ช่วยหักล้างมายาคติกล่าวโทษเหล่านี้
ไม่ใช่เพียงหญิงและชาย แต่ผู้มีเพศวิถีที่หลากหลายทุกคน มีสิทธิในเนื้อตัวร่างกายที่รัฐต้องให้ความคุ้มครอง ใครจะมาละเมิดไม่ได้ คือใจความหลักที่ต้องการย้ำเตือนตลอดการสนทนา
‘อิสระของการมีสัมพันธ์ทางเพศ’
เป็นสิทธิพิเศษของผู้ชายที่มีมากกว่า
ก่อนจะไปดูที่มาที่ไปของมายาคติการข่มขืนในสังคมไทยนั้น พื้นฐานจำเป็นต้องเข้าใจปัญหาตั้งต้น ตามความเห็นของ อ.ปณิธี ที่มองว่า “รากมาจากการควบคุมพฤติกรรมทางเพศ”
เมื่อการข่มขืน การล่วงละเมิดทางเพศ หรือพฤติกรรมทางเพศของผู้หญิงไทยส่วนใหญ่ ยังถูกกำกับและควบคุมภายใต้ ‘ระบบชายเป็นใหญ่’ จึงส่งผลให้ ‘อิสระของการมีสัมพันธ์ทางเพศ’ เป็นสิทธิประโยชน์ที่ผู้ชายมีมากว่าผู้หญิง ไปพร้อมกับการควบคุมพฤติกรรมทางเพศของผู้หญิงเอาไว้ ทำให้เกิดมาตรฐานซ้อนเรื่องเพศ
“ผู้ชายมีประสบการณ์ทางเพศได้ ยิ่งเจนโลกจะได้ดูเป็นชายแท้ ในขณะที่ผู้หญิงที่ดี ความสัมพันธ์ทางเพศที่สังคมยอมรับควรเกิดขึ้นภายใต้การแต่งงาน”
นอกจากนี้ภายหลังการแต่งงานก็ควรมีสัมพันธ์เพียงเฉพาะกับสามีตนเอง หากมีความสัมพันธ์นอกเหนือการแต่งงาน จะถูกตีตราเชื่อมโยงกับการผิดศีลธรรมโดยทันที ในทางกลับกันหากเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวเปลี่ยนเป็น ชาย ‘มีชู้’ จะถูกตั้งคำถามถึงความสามารถในการเลี้ยงดู หากยังรับผิดชอบการเงินและการดูแลได้ ก็จะกลายเป็นเรื่องปกติทันที
“สังคมไทยยังควบคุมพฤติกรรมทางเพศของผู้หญิงอยู่เยอะ แค่อยู่ก่อนแต่ง ท้องตอนเรียน ไม่มีใครอยากบอกหรอก”
“แต่งตัวแบบนี้เอง”
มายาคติต่อการเปิดเผยเนื้อตัว
การกล่าวโทษเหยื่อผ่านหลายมิติ ซึ่งที่คลาสสิคสุดๆ หนีไม่พ้น ‘การแต่งตัวโป๊’ ที่กลายเป็นมายาคติลำดับแรกที่ถูกพูดถึงในทุกยุคสมัย “ก็เธอไปแต่งตัวเปิดเผยเนื้อตัว ร่างกายแบบนี้เอง ก็สมควรแล้วที่จะโดน”
เหตุที่ทำให้สองประเด็นนี้มีความสัมพันธ์กัน อ.ปณิธี ชี้ว่าไม่อาจปฏิเสธระบบคิดจากค่านิยมชายเป็นใหญ่ไปได้ ด้วยความคาดหวังที่ว่า ผู้หญิงจำเป็นต้องปกป้องตนเอง ด้วยการไม่นำพาตัวไปอยู่ในสถานการณ์เสี่ยง “ไปอยู่ในที่เปลี่ยวเอง ไปอยู่กับผู้ชายสองต่อสอง แล้วพาตัวเองไปตรงนั้นทำไม”
ข้อมูลของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เพิ่งเปิดสู่สาธารณะไม่นานนี้ ชี้ว่า ไทยมีสถิติความรุนแรงต่อผู้หญิงสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยผู้หญิงถูกละเมิดทางเพศ ถูกกระทำความรุนแรงทางร่างกายหรือจิตใจ ไม่น้อยกว่า 7 คนต่อวัน และมีสถิติผู้หญิงที่เข้ารับการบำบัดรักษา แจ้งความร้องทุกข์ประมาณปีละ 30,000 คน
โดยอีกหนึ่งข้อพิสูจน์หนึ่งที่ยืนยันว่าทุกคนมีความเสี่ยงไม่ต่างกัน คือ การศึกษาเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศย้อนหลังไป 13 ปี ผ่านข่าวกว่า 1.7 หมื่นข่าว ของกฤตยา อาชวนิจกุล จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล ที่เปิดเผยต่อสาธารณะในปี 2557
ระบุว่าประมาณ 68% เป็นข่าวเกี่ยวกับการข่มขืน ซึ่งพบว่าเหยื่อมีอายุตั้งแต่ 8 – 105 ปี ในสถานที่เกิดเห็นต่างๆ กัน แสดงให้เห็นว่า คนทุกวัย ทุกอาชีพ ทุกระดับการศึกษา สามารถถูกข่มขืนได้หมด ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการแต่งตัว
“ผู้หญิงดีๆ ที่ไหนเขาออกไปเดินดึกๆ “
มายาคติหญิงไม่ดี
การแบ่งแยก ‘หญิงดี’ และ ‘หญิงไม่ดี เป็นมายาคติที่ตีคู่กันมา เพราะการแต่งตัวมิดชิดเป็นหนึ่งข้อบ่งชี้ของการเป็นหญิงดีในสายตาสังคมไทย
“หญิงดีต้องอยู่ในบ้าน ดึกๆ กลางคืนอย่าออกไปไหน” ด้วยมุมมองเช่นนี้ทำให้เกิดขั้วความคิดแบ่งแยกที่มองผ่านการแต่งกาย พฤติกรรมทางเพศ ไปจนถึงการใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ
เมื่อเป็นเช่นนี้ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ข่มขืน มายาคติของผู้หญิงไม่ดี จะถูกจับมากล่าวโทษเหยื่อโดยทันที สอดคล้องไปกับคำกล่าวอ้างของผู้กระทำ ที่มักให้เหตุผลว่าเป็นเพราะผู้เสียหายมีพฤติกรรมล่อตาล่อใจ
อ.ปณิธี ยังสะท้อนความเห็นว่า สังคมมักให้ความสนใจกับการข่มขืน ต่างกับการล่วงละเมิดทางเพศที่อาจยังไม่ค่อยตระหนักว่าเป็นเรื่องใหญ่ “ไม่เป็นไรยังไม่โดนข่มขืน แค่สัมผัสเนื้อตัว”
นอกจากนี้หลายคนยังต้องเผชิญกับการถูกล่วงละเมิดทางเพศด้วยวาจา นี่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศวิถี ซึ่งความยากคือการไม่ชัดเจนของพฤติกรรมเหล่านั้น
“ไม่แจ้งความเอง”
มายาคติต่อการใช้สิทธิทางกฎหมาย
“สิทธิในเนื้อตัวร่างกายที่รัฐต้องให้ความคุ้มครอง ไม่ต่างกับเราไปเดินตอนกลางคืนแล้วมีคนมาตีหัวกระชากสร้อย”
การละเมิดเรื่องทรัพย์แม้จะอยู่บนหลักคิดเดียวกันกับการละเมิดเรื่องเพศ แต่ อ.ปณิธี ระบุว่า ความละเอียดอ่อนแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ด้วยติดขัดปัญหาเดิมของการถูกควบคุมพฤติกรรมทางเพศของผู้หญิง
ยังไม่ต้องพูดไปถึงการถูกข่มขืน เพียงแค่การมีสัมพันธ์ทางเพศนอกเหนือการแต่งงาน อย่างการอยู่ก่อนแต่งที่ไม่ใช่เรื่องใหม่ในปัจจุบัน แต่หากไม่ใช่คนสนิทก็ยากที่จะเปิดเผยต่อสังคม
“การที่จะให้ลุกขึ้นมาพูด มาบอกไม่ง่าย ถูกใช้กำลังขืนใจ บังคับ ข่มขู่ ให้มีเพศสัมพันธ์ด้วย มันกระทบกระเทือนจิตใจ จะให้พูดมันคิดหนัก แล้วยังรวมถึงผลในระยะยาวในวันที่ต้องการสร้างครอบครัวใหม่”
สิ่งที่น่ากลัวกว่านั้น คือ หากผู้กระทำมีโอกาสให้คุณ หรือให้โทษกับเหยื่อได้ อย่างการเป็นเจ้านาย ผู้ปกครอง ก็จะยิ่งเกิดปัญหาทับซ้อนเรื่องความสัมพันธ์ทางอำนาจ ทำให้ไม่กล้าที่จะออกมาเรียกร้องสิทธิทันทีทันใด
นี่ยังไม่ได้หมายรวมถึงขั้นตอนการสอบสวน ที่พนักงานสอบสวนโดยส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย และธรรมชาติของการสืบพยานจำเป็นต้องถามโดยละเอียด จึงไม่แปลกที่เหยื่อจะตั้งกำแพงในการพูดคุย เพราะความอึดอัดใจ จนเป็นที่มาของคำเปรียบที่ว่า ‘คล้ายถูกข่มขืนซ้ำแล้วซ้ำอีก’
สำหรับความผิดเกี่ยวกับเพศ ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 ได้มีการกำหนดนิยามคำว่าข่มขืนกระทำชำเราเป็นลายลักษณ์อักษร ว่ากระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น
นั่นหมายความว่า หากมีการใช้วัตถุอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศของ ก็จะถือเป็นเพียงความผิดฐานอนาจาร ซึ่งมีโทษต่างกัน
“ลูกน่ารักจัง ขอหอมหน่อย”
“ไปให้ลุงกอดหน่อยเร็ว”
ปลูกฝังความเข้าใจสิทธิในร่างกายแต่ยังเล็ก
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ลุงป้าน้าอา อาจเกิดอาการมันเขี้ยวเมื่อมีลูกหลานน่ารักๆ ช่างออดอ้อน จนอดแสดงความรักไม่ได้ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องตระหนักไปควบคู่กัน คือ ความสะดวกใจของเด็ก
หลายครั้งพ่อแม่เองลืมตระหนักถึงประเด็นนี้ เมื่อลูกเกิดกลัวคนแปลกหน้า ก็มักคะยั้นคะยอต่อ เพราะเห็นว่าผู้ใหญ่แสดงออกด้วยความเอ็นดู ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมไทยต้องเปลี่ยน ด้วยการสอนถึงสิทธิในเนื้อตัวของเขา
“ถ้ารู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่อยากให้คนแปลกหน้าแม้กระทั่งญาติมากอดมาหอมเขา เขามีสิทธิปฏิเสธ และสอนเขาว่าถ้าหนูไม่ชอบก็ไม่ต้องลูก”
ย้อนไป 8 ปีก่อน ถ้าใครพอจำได้มีเหตุฆ่าข่มขืนเด็กหญิงบนรถไฟ จนทำให้คนชื่อเสียงหลายคนร่วมกันรณรงค์ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ให้ผู้ที่ก่อเหตุข่มขืนต้องรับโทษ ‘ประหารชีวิต’ ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ยังมีการโต้เถียงว่าเหมาะสม หรือเพิ่มโอกาสของการถูกฆ่าปิดปากหรือไม่
จากฐานข้อมูลการจับกุมคดีอาญาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในปี 2563 พบว่าในฐานความผิดเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย และเพศ กรณีข่มขืนกระทำชำเราที่มีการรับแจ้ง เกิดขึ้น 1,210 คดี และสามารถจับกุมผู้กระทำได้ 1,340 ราย
“การเพิ่มโทษอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หลาบจำ” อ.ปณิธี อธิบายตามหลักการทางสังคมวิทยาว่า การกำหนดพฤติกรรมของคนทำได้ 2 รูปแบบ คือ การกำหนดจากภายนอก ผ่านความเข้มงวดของกฎหมาย ที่ลงโทษรุนแรงและเสมอกัน ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม
อีกแบบหนึ่ง คือ การกำหนดพฤติกรรมจากภายใน ด้วยวิธีปรับทัศนคติ ตั้งแต่การปลูกฝังในระบบการศึกษา ที่สอนให้คนมีความรับผิดชอบเรื่องเพศ ซึ่งทั้งสองส่วนต้องปฏิบัติอย่างสมดุลกัน
สุดท้ายแล้วความคิดที่ว่าสังคมไทยมีความก้าวหน้า ทุกเพศวิถีมีความเท่าเทียมกัน ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กัน ใครจะมี friends with benefits ก็แล้วแต่สะดวกใจ แต่เอาเข้าจริงความไม่เท่าเทียมทางเพศยังฝังรากลึก ซึ่งมายาคติการข่มขืนเป็นเพียงหนึ่งตัวอย่าง ที่ชี้ให้เห็นว่า “สังคมยังไม่ได้เปลี่ยนอย่างที่เราถูกทำให้เชื่อ” เท่านั้นเอง