‘Revenge is a dish best served cold’
เรามีคำที่พูดเกี่ยวกับการแก้แค้นว่า ‘การแก้แค้นเป็นอาหารที่ต้องเสิร์ฟตอนที่มันเย็นแล้ว’ …ถ้ามีคำแนะนำว่าเราจะแก้แค้นอย่างไรให้มีประสิทธิภาพแบบนี้ แปลว่าการล้างแค้นเป็นอะไรที่ ‘ชอบธรรม’ หรือทำได้ – ถ้าจำเป็น ถ้าจะล้างแค้นใคร จงทำใจให้เย็น ค่อยๆ วางหมากอย่างเบามือ และรอผลอย่างเย็นใจ
การล้างแค้นแบบที่สร้างขบวนการเอาซีอิ๊ว น้ำมัน รวมพลังกันไปเทใส่เอกสาร ใส่งาน ให้มันพัง! นี่แน่ะ! ให้แกทำงานไม่ได้ เทไปก็คงจะถลึงตา หัวเราะสะใจเหมือนกับฉากในละครหลังข่าว แบบนี้น่าจะถือว่าเป็นการล้างแค้นที่เสิร์ฟอย่างร้อนฉ่า เป็นการล้างแค้นกันระดับตาต่อตา ฟันต่อฟัน ทำร้ายชั้นใช่มั้ย ชั้นจะทำลายข้าวของการงานแก แต่สุดท้ายก็ดั๊นมีกล้องวงจรปิดและดูเหมือนจะรู้ตัวคนทำเรียบร้อย
‘การล้างแค้น’ ดูจะเป็นเรื่องของ ‘คนเจ้าคิดเจ้าแค้น’ แม้หลักธรรมคำสอนแทบทุกศาสนามักพูดเรื่องการให้อภัย แต่ในอารยธรรมกรีกมีเทพีชื่อ Nemesis นางเป็นตัวแทนของ ‘ความโกรธที่ชอบธรรม’ หน้าที่ของนางคือเป็น ‘ความยุติธรรม’ รูปแบบหนึ่ง ถ้าพูดอย่างบ้านเรานางก็ทำหน้าที่เป็น ‘กรรม’ ที่สนองกับการกระทำของคนๆ นั้นอย่างสาสม
การล้างแค้นจึงเป็นอะไรที่อิหลักอิเหลื่อ โดยทั่วไปแล้วเราก็ไม่อยากเป็นคนผูกใจเจ็บ แต่โลกและผู้คนก็ใช่จะสวยงามและยุติธรรมกับเราไปซะทุกเรื่อง การแก้แค้นจึงมีความซับซ้อน เป็นกระบวนการที่ทั้งหวานทั้งขมในตัวเอง มีงานศึกษาพบว่าการแก้แค้นส่งผลแง่บวกต่อสมอง แต่ในระยะยาวแล้วความแค้นหรือการแก้แค้นอาจจะไม่ได้ดีขนาดนั้น
การล้างแค้นกับความสุขในสมอง
‘การแก้แค้นมีรสหวาน’ เราชอบความหวาน แต่ก็อย่างที่เราเข้าใจ ของอร่อยเคลือบน้ำตาลทั้งหลายมันส่งผลลบในระยะยาว ถ้าพูดในระดับการทำงานของสมอง ดูเหมือนว่าการแก้แค้นจะส่งผลต่อสมองไม่ต่างอะไรกับการกินของอร่อยๆ คืออร่อย มีความสุขเมื่อลงมือทำแล้วค่อยมาทุกข์ใจภายหลัง นึกถึงเวลาที่เราแก้แค้นใครได้สำเร็จ ตอนลงมือทำก็มีความสะใจดี แต่ซักพักก็จะทิ้งความรู้สึกแย่ๆ เอาไว้
การศึกษาของนักวิจัยชาวสวิสจาก University of Zurich แสดง ‘ความหวาน’ ของการแก้แค้นที่มีชื่อเสียงชิ้นหนึ่ง งานศึกษานี้ให้คนเล่นเกม แล้วมีการสร้างคนทำผิดแล้วให้กลุ่มตัวอย่างพิจารณาว่าจะแก้แค้นยังไงดี ในตอนที่กลุ่มตัวอย่างกำลังครุ่นคิดคณะนักวิจัยก็ทำการสแกนสมองไปด้วย ผลคือพบว่า การคิดถึงการล้างแค้นกระตุ้นสมองส่วนให้รางวัลที่เรียกว่า ‘Dorsal striatum’ เป็นส่วนที่จะถูกกระตุ้นเวลาที่เราคิดถึงความสุขฟินๆ ต่าง เช่น เซ็กซ์ การกินอาหารอร่อยๆ การได้เงิน ดังนั้นการล้างแค้นจึงเป็นกระบวนการที่กระตุ้นส่วนให้รางวัลของสมอง การที่เรารู้สึกได้ลงโทษจัดการคนอื่นจากสิ่งที่คนนั้นกระทำจึงทำงานเสมือนเป็นการให้รางวัลอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าเรามองมนุษย์ในแง่การอยู่ร่วมกันเป็นสังคม การที่สมองของเรามีการทำงานตอบสนองให้รางวัลกับการ ‘จัดการความยุติธรรม’ ก็ถือเป็นวิวัฒนาการที่น่าประทับใจทีเดียว
Francis Bacon นักวิทยาศาสตร์คนสำคัญในประวัติศาสตร์บอกว่าคนที่คิดเรื่องการล้างแค้นก็รังแต่จะเปิดแผลตัวเองให้สด ในขณะที่คนที่ไม่สนใจการแก้แค้น แผลนั้นก็จะเยียวยาและหายไปในที่สุด (A man that studieth revenge, keeps his own wounds green, which otherwise would heal, and do well)
แต่งานวิจัยดังกล่าวก็ดูแค่การเริ่มครุ่นคิดถึงการล้างแค้น นอกจากนั้นยังมีงานศึกษาที่เกี่ยวกับการล้างแค้นที่ได้กระทำลงไปแล้ว งานศึกษาชื่อความลักลั่นของการแก้แค้น (The Paradoxical Consequences of Revenge) สร้างสถานการณ์ขึ้นมาชุดหนึ่งแล้วแบ่งคนออกเป็นสองกลุ่ม ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายที่ได้แก้แค้นลงโทษอีกฝ่ายได้สำเร็จ ซึ่งผลของการศึกษาเลยได้ดังชื่อ คือในทางความรู้สึกแล้วคนที่ลงมือแก้แค้นกลับรู้สึกแย่กว่าคนที่ได้รับการลงโทษ
การล้างแค้นกับปัญหาของความยุติธรรม
จากปัญหาของการล้างแค้นที่ดูเหมือนจะไม่ได้ส่งผลดีนักในระยะยาว นักคิดและนักจิตวิทยาจำนวนหนึ่งพยายามหาทางออกและแยกแยะว่า เฮ้ย การแก้แค้นกับความยุติธรรมอาจจะไม่ใช้เรื่องเดียวกันก็ได้
หนึ่งในข้อโต้แย้งที่น่าขบคิดคือ การแก้แค้นเริ่มต้นด้วยอารมณ์ ในขณะที่ความยุติธรรมเริ่มต้นด้วยเหตุผล นึกภาพของเทวีแห่งการแก้แค้นกับเทวีแห่งความยุติธรรม องค์แรกเต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด แต่องค์หลังปิดตาทั้งคู่ด้วยผ้าและสงบเยือกเย็น แต่ตามท้องเรื่องกรีก เทวีแห่งการล้างแค้นเป็นลูกสาวของความยุติธรรมนะ
แต่ก็มีนักวิจัยบางคน เช่น นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Stanford บอกว่า โอเคการล้างแค้นมันมีความปรารถนา (passion) เป็นตัวขับดันให้เราลงมือแก้แค้นก็จริง แต่ก็ไม่ได้มีหลักฐานว่าอารมณ์จะอยู่เหนือความเป็นเหตุเป็นผล (rational) ไปซะทั้งหมด นักวิจัยบอกว่าในการแก้แค้นของเรามันมีเรื่อง ‘ความสมเหตุสมผล’ เท่าๆ กับการใช้อารมณ์ เช่น การชั่งตวงวัดความหนักหนาของการแก้แค้นกับความรู้สึกที่ตัวเองแลกลงไป ยิ่งเราล้างแค้นรุนแรงมากขึ้นเราก็จะรู้สึกแย่เยอะขึ้น ตรงนี้เองนักวิจัยมองว่ามันก็คือกระบวนการที่เป็นเหตุเป็นผลที่ตัวเราจัดการแลกเปลี่ยนลงไปอยู่เสมอ
หรือในอีกด้าน แนวคิดเรื่อง ‘ความยุติธรรม’ ในยุคสมัยใหม่กับในยุคกลาง อาจจะไม่เหมือนกันซะทีเดียวก็ได้
แต่ปัญหาสำคัญของการล้างแค้น ซึ่งอาจจะเป็นนามหนึ่งของความยุติธรรมยุคโบราณ ปัญหาของมันคือการเป็นปัญหาที่ไม่รู้จบ ฉันฆ่าพ่อแก แกฆ่าพ่อฉัน กลายเป็นฆ่าล้างโคตรกันจนกระทั่งจะจบได้ก็ต่อเมื่อมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถึงแก่หายนะไป
ในโลกสมัยใหม่ การล้างแค้นที่ทำลายล้าง (destructive) จึงเป็นอะไรที่อาจจะไม่จำเป็นต่อชีวิตนัก
การแก้แค้นอาจเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ อาจเป็นส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการและอยู่ใน DNA ของเรา ‘การคิดคำนวณ’ ที่เกิดจากความแค้นและการอยากสร้างสมดุลความเป็นธรรมให้กับโลก อาจเป็นส่วนหนึ่งของ ‘สติปัญญา (intelligence)’ แต่ในขณะเดียวกันการแก้แค้นโดยตรงอาจนำไปสู่ความขัดแย้งและการทำลายล้างไม่รู้จบซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยไปด้วยกันกับแนวคิดของโลกสมัยใหม่เท่าไหร่
ถ้าพูดอย่างโลกสวยๆ แทนที่เราจะใช้ความแค้นไปสู่การทำลายล้าง เราอาจจะใช้ความแค้นเป็นแรงผลักเพื่อสร้าง (constructive) ได้ไหม โลกสวยๆ หน่อย ก็แทนที่เราจะเอาน้ำกรดไปสาดใส่หน้า ก็อาจจะนำไปสู่การทำงานของตัวเองให้ดีแทน ทำตัวเองให้เก่งและโดดเด่นเฉิดฉายเอาชนะในเกมให้จนได้
หรือถ้าจะเลือกเส้นทางการล้างแค้นจริงๆ ก็อาจจะต้องทำอย่างใจเย็น ซีอิ๊วน้ำมันอาจจะโฉ่งฉ่างไปหน่อย จะแก้แค้นก็ต้องทำให้ลึก และรอให้เย็นก่อน