การโกหกเกิดขึ้นได้จากหลายเจตนา ทั้งปิดบังความผิด บิดเบือนความจริง ถนอมน้ำใจ หรือเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว แต่บางครั้งการโกหกที่เกิดขึ้นโดยที่ไม่ได้มีเจตนาจะทำร้ายใคร เพียงแค่ผู้พูดต้องการที่จะลบ ‘ปมในใจ’ ของตัวเองก็เท่านั้น
การโกหกเป็นพฤติกรรมทั่วไป ที่มนุษย์ใช้เพื่อจุดประสงค์บางอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง แม้กระทั่งการโกหกเพื่อถนอมน้ำใจอีกฝ่าย หรือ white lie ที่ดูเหมือนจะเป็นการโกหกเพื่อความสบายใจของอีกฝ่าย ไม่มีพิษภัยอะไร แต่สุดท้ายก็เป็นไปเพื่อความสบายใจของตัวเองอยู่ดี
และก็ยังมีการโกหกอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งถึงแม้ผู้พูดจะไม่มีเจตนาจะทำร้ายใครก็ตาม แต่มันได้สะท้อนถึงความผิดปกติและสิ่งที่อยู่ในจิตใจของตัวเขาเอง หรือที่เรียกว่า ‘การโกหกตัวเอง’
อาการหลอกตัวเองที่ไม่ได้หลอกแค่ตัวเอง
อาการ ‘หลอกตัวเองหรือโกหกตัวเอง’ หรือ Pathological Lying (บางครั้งเรียกว่า Pseudologia Fantastica หรือ Mythomania) เป็นอาการที่คนคนหนึ่งสร้างเรื่องโกหกหรือสร้างอีกตัวตนหนึ่งขึ้นมา เช่น โกหกว่าตัวเองจบจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง ทำงานในบริษัทใหญ่โต ไปเที่ยวต่างประเทศทุกเดือนโดยใช้รูปจากอินเทอร์เน็ต โกหกว่าตัวเองหน้าตาดีโดยใช้รูปดารา หรือโกหกว่าตัวเองเป็นโรคร้ายแรง เพื่อให้ได้รับความสนใจหรือการดูแลจากคนรอบข้าง
ซึ่งสาเหตุของการหลอกตัวเอง มักจะเกิดจาก ‘ปม’ ในอดีตที่ทำให้คนคนนั้นมีความผิดปกติทางจิต เช่น ซึมเศร้า ขาดความมั่นใจในตัวเอง หรือย้ำคิดย้ำทำ จึงทำให้เขาพยายามลบปมที่เกิดขึ้น ด้วยการสร้างเรื่องราวให้ตัวเองสบายใจหรือรู้สึกดี
“อย่างแรกต้องบอกก่อนว่า มันเป็นแค่กลุ่มอาการหนึ่งที่เกิดจากปมทางจิต แต่ยังไม่ถูกบรรจุว่าเป็นโรคทางจิตเวช ซึ่งอาการนี้มักจะเกิดจากปมในอดีต เช่น ถูกทำร้ายร่างกายตอนเด็ก ถูกทารุณกรรมไม่ว่าจะทางกายหรือทางคำพูด ถูกข่มขืน หรือไม่ได้รับความรัก การดูแลใส่ใจ ความสนใจ แล้วรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ไม่มีความสำคัญ ทำให้คนนั้นต้องสร้างเรื่องขึ้นมาใหม่ เพื่อกลบปมในใจ และให้คนอื่นคิดว่าตัวเองมีดี ทั้งที่ไม่เป็นความจริง” นพ.ณัฐพล พิพัฒฐาดร แพทย์เฉพาะทาง สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น อธิบาย
แล้วการหลอกตัวเองแตกต่างจากการโกหกทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวันยังไง? ปกติการโกหกทั่วไปมักเกิดขึ้นจากเจตนาบางอย่างหรือเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งเมื่อโกหกแบบนี้ไปเรื่อยๆ จะไม่สามารถหยุดโกหกได้ หรือที่เรียกว่าโกหกจนเป็นนิสัย (compulsive lying) และสร้างความเสียหายต่อผู้อื่นที่ถูกโกหก แต่การหลอกตัวเองนั้นเกิดขึ้นโดยที่คนนั้นอาจไม่มีเจตนาใดๆ มากไปกว่าการเรียกร้องความสนใจ หรือเพิ่มคุณค่าในตัวเองให้กลายเป็นที่ยอมรับในสังคม ไม่ได้ต้องการทำร้ายหรือเอาเปรียบใคร
เมื่อถามถึงความร้ายแรงและผลกระทบของอาการ นพ.ณัฐพล กล่าวว่า อาการนี้ยังไม่ถือว่าเป็นอาการที่รุนแรงมากนัก เพราะยังไม่ถึงขั้นกอบโกยเอาผลประโยชน์จากใคร หรือทำให้ใครเสียหาย แต่ในอนาคตเรื่องที่โกหกอาจขยายใหญ่ขึ้นเรื่องๆ เช่น อดีตดาราที่โกหกว่าตัวเองไปแสดงหนังฮอลลีวูด แล้วสุดท้ายคนจับได้ ก็จะส่งผลเสียต่อผู้ที่โกหกเอง
แต่ในกรณีที่ส่งผลเสียต่อผู้อื่นก็มีเช่นกัน ดร.รพีพงค์ ยังวราสวัสดิ์ นักจิตบำบัด โรงพยาบาลจุฬาเวช เสริมว่า บางครั้งการโกหกอาจส่งผลกระทบในวงกว้าง อย่างกรณีไลฟ์โค้ชบางคนที่สร้างภาพลักษณ์หรือโปรไฟล์ให้ตัวเองดูดีกว่าความเป็นจริง แล้วนำภาพลักษณ์นั้นไปใช้เพื่อได้รับการยอมรับจากผู้คน ในกรณีนี้ก็จะเกิดผลกระทบกับผู้อื่นได้
และอีกข้อถกเถียงหนึ่งในกลุ่มนักวิจัยหลายคนก็คือ อาการหลอกตัวเองอาจเกิดขึ้นจาก ‘ความผิดปกติทางบุคลิกภาพ’ (personality disorders) ด้วย ซึ่งได้แก่ Borderline Personality Disorder (BPD) Narcissistic Personality Disorder (NPD) และ Antisocial Personality Disorder (APD) โดยบุคคลที่มีความผิดปกติแบบ APD หรือเป็นโรคต่อต้านสังคม มีแนวโน้มจะสร้างเรื่องโกหกขึ้นเพื่อความพึงพอใจของตัวเอง
ในขณะที่บุคคลที่มีความผิดปกติแบบ BPD หรือผิดปกติทางบุคลภาพแบบก้ำกึ่ง (มีอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ หุนหันพลันแล่น) และบุคคลที่มีความผิดปกติแบบ NPD หรือเป็นโรคหลงตัวเอง มีแนวโน้มที่จะสร้างเรื่องโกหกขึ้นมาเพื่อบิดเบือนความจริงให้เป็นไปตามที่พวกเขาอยากให้เป็นหรืออยากรู้สึก โดยเฉพาะคนที่เป็น NPD ที่ต้องการความรักและการปฏิบัติที่ดีจากคนรอบข้างมากเป็นพิเศษ
“ตัวเราจะมีเราในเวอร์ชั่นที่สาธารณะสัมผัสได้ แล้วก็ตัวเราในเวอร์ชั่นที่เป็นตัวเราจริงๆ ความผิดปกติทางบุคลิกภาพก็อาจมีส่วน เพราะบางทีเรามีบุคลิกภาพที่สังคมไม่ยอมรับ เราจึงจะต้องปรับตัว ปรับบุคลิกภาพ ซึ่งบางทีก็ใช้การโกหก” ดร.รพีพงค์ กล่าว
ดร.รพีพงค์ เพิ่มเติมว่า พฤติกรรมนี้คือการปรับตัวเพื่อการอยู่รอดของมนุษย์ เมื่อทำบ่อยๆ ก็จะเริ่มเกิดความเคยชิน และความน่ากลัวก็คือเขาจะเริ่มแยกไม่ออกว่าเรื่องไหนคือเรื่องจริง เรื่องไหนคือเรื่องโกหก โดยเริ่มจากโกหกในเรื่องเล็กๆ ก่อน แล้วค่อยๆ ขยายไปถึงเรื่องใหญ่ พอมันลุกลามแล้วแก้ไขไม่ได้ หรือเกินจากความเป็นจริงของเขามากเกินไป ก็จะเกิดเป็นความเครียด ความกลัว กลัวว่าคนจะจับได้ แล้วก็ต้องสรรหาเรื่องมาโกหกเรื่อยๆ
ความกดดันในสังคมทำให้คนหลอกตัวเอง
มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และจะรู้สึกดีเมื่อตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม จึงทำให้พวกเราอยากเป็น ‘ที่ยอมรับ’ ของคนรอบข้างอยู่เสมอ ซึ่งรูปแบบของการเข้าสังคมในปัจจุบันก็มีความแตกต่างไปจากในอดีต เนื่องจากการเข้ามาของ ‘โซเชียลมีเดีย’ ที่ผู้คนติดต่อสื่อสารกันง่ายขึ้น ได้พบปะกันง่ายขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้เกิดการเปรียบเทียบทางสังคม (social comparison) ง่ายขึ้นด้วยเช่นกัน
เราไม่รู้ตัวหรอกว่าเราเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา เพียงแค่เลื่อนหน้าฟีดก็เห็นคุณภาพชีวิตของผู้อื่น จนอดคิดไม่ได้ว่าเรามีอะไรที่มากหรือน้อยกว่าเขาบ้าง และท้ายที่สุดก็นำไปสู่ความพึงพอใจในตัวเองที่ต่ำ หรือปมในใจว่าเรา ‘ขาด’ บางอย่างที่ทำให้รู้สึกเข้ากับคนสังคมไม่ได้
“สภาพสังคมในปัจจุบันมีการแข่งขันสูง
เลยเกิดเป็นความกดดันให้คนบางคน
ยอมเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองเพื่อความอยู่รอด”
ด้วยเหตุนี้ หลายคนจึงสร้างตัวตนที่สมบูรณ์แบบขึ้นมา เพื่อเติมเต็มในส่วนที่ตัวเองขาด และก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไรที่จะทำบนโซเชียลมีเดีย เพียงแค่ปรับเปลี่ยนรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่สามารถทำได้แค่จรดปลายนิ้วมือลงบนหน้าจอมือถือเท่านั้น
มีผลการศึกษาหนึ่ง ที่สำรวจคนหาคู่ออนไลน์จำนวน 80 คน พบว่า 2 ใน 3 ของผู้เข้าร่วม โกหกว่าตัวเองน้ำหนักน้อยกว่าความเป็นจริง 3 กิโลกรัม หรือมากกว่านั้น และมีผลการศึกษาที่ใหญ่ขึ้น โดยสำรวจคนอังกฤษจำนวน 2,000 คน พบว่า ผู้ชายกว่า 43% ยอมรับว่าพวกเขาแต่งเรื่องโกหกเกี่ยวกับชีวิตของตัวเองบนโลกออนไลน์
“บางคนสร้างบุคลิกภาพขึ้นมาใหม่ หรือเคสที่เจอเยอะๆ นั่นก็คือสร้างฐานะทางการเงิน โดยที่เขาไม่ได้มีฐานะที่ดีอย่างที่โลกโซเชียลเห็น” ดร.รพีพงค์ เสริม “self-esteem หรือความพึงพอใจในตัวเองก็มีส่วน เราทุกคนจะมีคุณค่าที่แท้จริงของตัวเองอยู่ แต่สังคมอาจมองไม่เห็น ทำให้เราพยายามเติมคุณค่าเข้าไปมากขึ้น”
กลายเป็นข้อสรุปได้ว่า พฤติกรรมการสร้างเรื่องเหล่านี้อาจมีที่มาจากค่านิยมหรือความกดดันในสังคม ที่ส่งผลให้ทุกผู้คนคิดว่าตัวเองจะต้องหน้าตาดี หุ่นดี กินหรู อยู่แพง ชีวิตเพอร์เฟ็กต์ ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุน้อยๆ เท่านั้น ถึงจะกลายเป็นที่ยอมรับของคนหมู่มาก
รับมืออย่างไรถ้าจับได้ว่าโดนโกหก
แม้เวลาถูกใครสักคนโกหก ความเชื่อใจของเราต่อคนนั้นย่อมแตกสลายตามไปด้วย แต่ถ้าเราเข้าใจต้นตอและเจตนาว่าเขาไม่ได้ตั้งใจหลอกลวง หรือคาดหวังผลประโยชน์บางอย่างจากเรา เราอาจเปลี่ยนจากความโกรธ ความไม่พอใจ ให้เป็นการยอมรับและความเข้าใจ เพื่อจะได้จัดการกับสถานการณ์นั้นได้ดีขึ้น เพราะยังไงซะ ตราบใดที่เราไม่ได้รับผลกระทบอะไรจากเรื่องที่เขาสร้างขึ้นมา เราก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องนี้
“เขารู้อยู่แล้วว่าตัวเองกำลังโกหก แต่เขาจะรู้สึกเดือดร้อนจนถึงขั้นอยากจะมารักษาหรือเปล่าเท่านั้นเอง” นพ.ณัฐพล เสริม
ถึงแม้ความรุนแรงของอาการนี้จะยังอยู่แค่ในระดับตัวบุคคล เช่น ทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ เสียชื่อเสียง เสียสัมพันธภาพ แต่ถ้าเป็นคนใกล้ตัวเราที่สามารถพูดคุยได้ หรือเป็นคนที่เราแคร์ เราอาจลองพูดคุยกับเขาถึงข้อเสียของการสร้างเรื่องโกหก รวมไปถึงผลกระทบหลังจากที่โดนจับได้ เพราะลึกๆ แล้วผู้ที่โกหกรู้ตัวตัวเองดีว่ากำลังสร้างเรื่องโกหกอยู่ และมีผลการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ พบว่า 13% ของคนจำนวน 623 คน ระบุว่าพวกเขาเป็นคนหลอกตัวเอง หรือรู้ตัวว่าตัวเองกำลังสร้างเรื่องโกหกอยู่ เพราะฉะนั้น การพูดคุยเพื่อโน้มน้าวให้คนเหล่านี้ไปพบผู้เชี่ยวชาญอาจไม่ใช่เรื่องยากนัก
ดร.รพีพงค์ แนะนำว่า การโน้มน้าวให้คนที่เป็น pathological liar ยอมรับความจริงนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะเขาอยู่ในโลกแฟนตาซีที่เขาสร้างขึ้นมาเอง บางครั้งอาจลองใช้บุคคลหรือสิ่งที่เขาเชื่อมาเป็นเหตุผล ซึ่งต้องค่อยๆ ใช้เวลาในการปรับตัวไป โดยที่คนรอบข้างคอยสนับสนุน หรือเติม self-esteem ให้เขารู้สึกว่าเขามีคุณค่าที่แท้จริงอยู่ในตัว เพื่อให้เขากล้าที่จะยอมรับตัวเอง และเผชิญหน้ากับความเป็นจริงมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ทางที่ดีที่สุดคือการแนะนำให้คนนั้นไปพบจิตแพทย์หรือทำจิตบำบัด เพื่อรักษาปมในใจ โดยกระบวนรักษาที่เน้นปรับพฤติกรรม หรือ (Cognitive Behavioral Therapy : CBT) จะช่วยให้เขารู้สึกถึงข้อดีที่มีอยู่ในตัวเอง และรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การลดลงของพฤติกรรมการโกหก หรือถ้าหากมีโรคทางจิตเวชควบคู่ เช่น โรคซึมเศร้า โรคจิต ที่ส่งผลให้คนนั้นเชื่อสิ่งที่ไม่มีจริง หลงผิด หรือเห็นภาพหลอน ก็อาจจะมีการใช้ยารักษาเข้ามาควบคู่ด้วยเช่นกัน
“เรื่องที่น่ากังวลคือโลกสมัยนี้จะทำให้ทุกคนพยายามโกหก และความน่ากลัวก็คือมันจะเกิดการสะกดจิตในทางจิตวิทยาสังคม เห็นคนนี้โกหกได้ เราก็โกหกได้ กลัวว่าวันหนึ่งสังคมจะมีค่านิยมแบบนี้ โดยเฉพาะในโลกทุนนิยมแบบปัจจุบัน” ดร.รพีพงค์ กล่าวทิ้งท้าย
ทุกวันนี้เป็นเรื่องง่ายมากที่เราจะตกเป็นเหยื่อความแฟนตาซีที่คนอื่นสร้างขึ้น หรือกลายเป็นคนสร้างโลกแฟนตาซีนั้นขึ้นมาเอง เพราะสภาพสังคมที่บีบให้คนอยากหลบหนีจากความเป็นจริง ทำให้เรามักจะตั้งคำถามกับสิ่งที่เรามีอยู่โดยไม่รู้ตัว และบางครั้งก็ทำให้เราอยากเพิ่มเติมอะไรบางอย่างเข้าไป เพื่อให้ตัวเองกลายเป็นที่ยอมรับของคนรอบข้าง
อ้างอิงข้อมูลจาก